วันที่ 16 พฤษภาคม 2024

WTTC คาดปีหน้าท่องเที่ยวโลกขยายตัว 3.8% ส่วนไทยขึ้นไปอยู่ที่ 10 ภายใน 10 ปี

People unity news online : เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 เว็บไซต์ voathai.com รายงานว่า สมาคมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลก หรือ WTTC (World Travel & Tourism Council) คาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะขยายตัวต่อเนื่องปีหน้าที่อัตรา 3.8% เทียบกับการเติบโต 3.3% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งดีกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน

เมื่อปีที่แล้ว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ 7.6 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 10.2 ของขนาดเศรษฐกิจโลก และเงินจากภาคการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 30 ของรายได้การส่งออกจากการบริการ

ภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในอัตราร้อยละ 8.3 คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะได้แรงหนุนจากความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวจีน

WTTC ประเมินว่า ไทยน่าจะเป็นประเทศที่มีการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวสูงอันดับ 10 ของโลกในช่วง 10 ปีจากนี้

สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก ซีอีโอและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ WTTC นาย David Scowsill บอกกับช่องโทรทัศน์ CNBC เมื่อต้นสัปดาห์ว่า “ความพยายามจำกัดการเดินทางเข้าสหรัฐฯของประชาชนบางประเทศโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ซึ่งกำลังเผชิญจากปัจจัยลบที่มาจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้นอยู่แล้ว”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 เว็บไซต์ voathai.com รายงานว่า การท่องเที่ยวในหลายประเทศของกลุ่มอาเซียนกำลังขยายตัว โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจากชนชั้นกลางและระดับรายได้ที่สูงขึ้นรวมทั้งจากการขยายตัวของบริการสายการบินต้นทุนต่ำด้วย

แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า การขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วนี้สร้างปัญหากดดันต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และเตือนให้รัฐบาล รวมทั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศอาเซียน ให้ความสนใจกับคุณภาพและการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ตนต้องการ มากกว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยว รวมทั้งเน้นนโยบายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย องค์การ World Travel and Tourism Council หรือ WTTC คาดการณ์ว่าบทบาทของการท่องเที่ยวที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้น 5.6 % ในช่วง 10 ปีข้างหน้า คิดเป็นมูลค่ากว่า 528,000 ล้านดอลลาร์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ช่วยจ้างงานทั้งโดยตรงและทางอ้อม สำหรับผู้คนราว 32 ล้านคนในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย

ส่วนบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน CLSA ก็ชี้ว่า มีโอกาสการลงทุนมากมายที่รออยู่ในภาคการท่องเที่ยว นับตั้งแต่โรงแรมและที่พักตากอากาศ ไปจนถึงระบบคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่มาพร้อมการขยายตัวของการท่องเที่ยว คือบุคลากรและระบบสนับสนุนที่เพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ช่วยรองรับนักท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวของจีนที่เดินทางออกนอกประเทศได้เพิ่มขึ้นถึง 700% ในช่วง 15 ปี คือจาก 10 ล้านคนเมื่อปี 2543 มาเป็น 78 ล้านคนในปี 2558

และสำหรับของไทยนั้น คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจาก 32 ล้านคนในขณะนี้เป็น 50 ล้านคนภายในปี 2564 เช่นกัน

People unity news online : post 25 มีนาคม 2560 เวลา 14.51 น.

WHO เตือนประชากรโลกเผชิญ ‘มลพิษทางอากาศ’ รุนแรง โดยเฉพาะประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง

People Unity News : 5 เมษายน 65 เมื่อวันจันทร์ (4 เม.ย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าประชากรโลกเกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 99 สูดอากาศที่มีมลพิษเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

แม้ปัจจุบันเมืองมากกว่า 6,000 แห่งใน 117 ประเทศจะเฝ้าติดตามคุณภาพอากาศ แต่ประชาชนในเมืองเหล่านั้นยังคงสูดดมอนุภาคขนาดเล็กและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับอันตราย โดยประชาชนในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางเผชิญผลกระทบดังกล่าวสูงสุด

องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และใช้มาตรการอันเป็นรูปธรรมอื่นๆ เพื่อลดมลพิษในอากาศ โดย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ชี้ว่าราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูง ความมั่นคงทางพลังงาน และการเร่งรับมือความท้าทายจากมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เน้นย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการก้าวสู่โลกที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลงเร็วขึ้น

อนึ่ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะพีเอ็ม2.5 (PM2.5) สามารถแทรกซึมเข้าปอดและกระแสเลือด ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีความเกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหอบหืด

องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อมที่ป้องกันได้สูงเกิน 13 ล้านราย ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจำนวน 7 ล้านราย

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก แนะนำการสร้างระบบและเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและราคาย่อมเยา ซึ่งเหมาะสมกับคนเดินเท้าและคนขี่จักรยาน การลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพทางพลังงาน การจัดการขยะของเสียที่ดีขึ้น การลดการเผาขยะทางการเกษตรและกิจกรรมวนเกษตรบางส่วนอย่างการผลิตถ่านไม้ เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศและสุขภาพ

Advertisement

โลกจับตา “ผู้นำสหรัฐฯ – จีน” พบกันครั้งแรก 6-7 เม.ย.นี้

People unity news online : 6 เมษายน 2560 เว็บไซต์ voathai.com รายงานบทวิเคราะห์โลก ว่า นักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนอาจใช้ความสำคัญทางเศรษฐกิจชี้ให้เห็นว่า จีนอาจช่วยให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้ตามคำขวัญของทรัมป์ ในระหว่างที่ประธานาธิบดี สี จิน ผิง ของจีน และประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จะพบกันเป็นครั้งแรกสัปดาห์นี้ ที่สถานตากอากาศของครอบครัวทรัมป์ Mara-a-Logoในรัฐฟลอริด้า

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ผู้นำสหรัฐฯออกคำสั่งฝ่ายบริหารสองฉบับ เรียกร้องให้มีการทบทวนเรื่องการขาดดุลการค้า และให้คำมั่นว่าจะตอบโต้ประเทศที่รัฐบาลกรุงวอชิงตันเห็นว่าค้าขายอย่างไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ

แม้จะไม่มีการกล่าวถึงจีนอย่างเฉพาะเจาะจง แต่เป็นที่ทราบดีว่าประธานาธิบดีทรัมป์ตำหนิจีนเรื่องการค้าและค่าเงินหลายครั้งก่อนหน้านี้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเยือนสหรัฐฯของประธานาธิบดีจีน อาจช่วยลดทอนความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนักระหว่างสองประเทศ แม้ว่าคงจะไม่สามารถสลายความซับซ้อนในหลายเรื่องที่มีผลกระทบต่อความเป็นมิตรกัน

นักวิเคราะห์การเมืองเอเชีย Ross Feingold กล่าวว่า “เห็นชัดเจนว่าประธานาธิบดีสี จิน ผิง ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ทำงานร่วมกันได้กับประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อที่จะได้พูดคุยกันในเรื่องต่างๆระดับทวิภาคี ซึ่งจะได้ประโยชน์มากหากทั้งคู่มีความเป็นมิตรต่อกัน”

ขณะนี้จีนกำลังติดตามท่าทีของอเมริกาอย่างใกล้ชิด และดูว่าจะสามารถชี้ให้สหรัฐฯเห็นถึงประโยชน์ร่วมกัน เพราะจีนก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งตามคำขวัญ “Make America Great Again” ของผู้นำสหรัฐฯ

รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศจีน เชง จีกวง กล่าวว่า “จีนมีแนวทางกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และนั่นหมายถึงการซื้อสินค้าจากอเมริกาด้วย”

นอกจากนั้น เขากล่าวว่าการลงทุนของชาวจีนในอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนน่าจะใช้การพบกันสัปดาห์นี้ของผู้นำสองประเทศเป็นโอกาสออกแถลงการณ์ที่ดูดี เพื่อช่วยปรับบรรยากาศให้เป็นไปในทางบวกสำหรับการทำงานร่วมกันต่อไปจากนี้

อุปสรรคประการหนึ่งคือเรื่องเกาหลีเหนือ ซึ่งทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ นิคกี้ เฮลลี่ เคยกล่าวว่าสหรัฐฯต้องการเห็นจีนแข็งขันกับการช่วยนานาชาติกดดันเกาหลีเหนือ

เธอกล่าวว่า “ที่ผ่านมามากกว่า 25 ปี สหรัฐฯได้ยินจีนพูดมาตลอดว่ากังวลกับเกาหลีเหนือ แต่การกระทำของจีนไม่เหมือนกับว่าจีนห่วงในเรื่องนี้ อเมริกาจึงอยากเห็นจีนลงมือทำอย่างจริงจังตามที่ได้แสดงความกังวลไว้” (รายงานโดย Bill Ide / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ voathai.com ก็ได้ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “จับตาประเด็นสำคัญและความขัดแย้ง “สหรัฐฯ – จีน” ก่อนหน้า “สี จิน ผิง” เยือนสหรัฐฯ” ว่า สื่อหลายสำนักในสหรัฐฯรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีกำหนดต้อนรับประธานาธิบดีจีน สี จิน ผิง ในเดือนหน้า ที่บ้านพักตากอากาศของทรัมป์ที่รัฐฟลอริด้า เป็นเวลาสองวันคือวันที่ 6 – 7 เมษายน ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งแรกของผู้นำทั้งสองคนนี้

โฆษกทำเนียบขาว ฌอน สไปเซอร์ กล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีสี จะหารือกันในประเด็นที่เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์และการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุน

ที่ผ่านมา สหรัฐฯมักออกมาเรียกร้องให้จีนช่วยควบคุมท่าทีก้าวร้าวของเกาหลีเหนือ โดยชี้ว่ารัฐบาลปักกิ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของระบอบผู้นำ คิม จอง อึน

ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็ต่อต้านการที่จีนสร้างสิ่งก่อสร้างบนเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ และได้ส่งเรือลาดตระเวนไปใกล้เกาะแห่งนั้นเป็นประจำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเสรีภาพของการเดินเรือในบริเวณดังกล่าว

ทางด้านจีนเองก็ได้แสดงอาการไม่พอใจ เมื่อคราวที่ ปธน.ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งใหม่ๆ และได้รับโทรศัพท์แสดงความยินดีจากประธานาธิบดีไต้หวันโดยตรง ซึ่งถือว่าขัดกับธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมายาวนานระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

รวมทั้งการที่ ปธน.ทรัมป์ ตั้งคำถามถึงนโยบายจีนเดียว ซึ่งหมายถึงโอกาสที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ อาจไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างของปักกิ่งที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ต่อมา ปธน.ทรัมป์ ได้ต่อโทรศัพท์ถึง ปธน.สี จิน ผิง เพื่อให้คำรับรองว่า การยอมรับของสหรัฐฯต่อนโยบายจีนเดียวนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นการปูทางสู่การพบกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศนี้

สำหรับในประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาจีนไว้หลายครั้งระหว่างการหาเสียงว่า จีนคือผู้แทรกแซงค่าเงินหยวนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ส่งออกชาวจีน และยังวิจารณ์ไปถึงการขาดดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐฯที่มีต่อจีนด้วย

โดยเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯขาดดุลการค้าต่อจีนเป็นมูลค่าถึง 347,000 ล้านดอลลาร์

ปธน.ทรัมป์ รับปากไว้ว่าจะแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าต่อจีน รวมทั้งจะทำให้บริษัทขนาดใหญ่ต่างๆของสหรัฐฯ ย้ายกลับมาตั้งโรงงานในอเมริกา แต่นักวิเคราะห์หลายคนยังไม่แน่ใจว่า ปธน.ทรัมป์ จะสามารถทำได้เหมือนที่กล่าวไว้

มาตรการหนึ่งที่ทรัมป์บอกว่าจะนำมาใช้ คือการตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทอเมริกันที่มีโรงงานในประเทศจีน แต่มาตรการที่ว่านี้จะต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภาสหรัฐฯเสียก่อน ซึ่งคงไม่ใช่ในเร็ววันนี้แน่นอน

ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า ในความเป็นจริง คนอเมริกันจำนวนมากยังต้องการซื้อสินค้าราคาถูกที่ผลิตจากจีนและประเทศอื่นๆ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายหากจะทำให้ประชาชนเหล่านี้ยอมรับการซื้อสินค้าราคาแพงขึ้น แม้ว่าสินค้านั้นจะผลิตในอเมริกาก็ตาม

ขณะเดียวกัน คำกล่าวของ ปธน.ทรัมป์ ยังก่อให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดสงครามการค้าระหว่างประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสองประเทศนี้ได้ในอนาคต (Ken Bredemeier รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

People unity news online : post 6 เมษายน 2560 เวลา 19.33 น.

Gazprom บริษัทพลังงานรัสเซียหยุดส่ง ‘ก๊าซ’ ให้เดนมาร์ก-เยอรมนี ไล่หลังหยุดส่งให้เนเธอร์แลนด์

People Unity News : 1 มิถุนายน 2565 ก๊าซพรอม (Gazprom) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซีย ประกาศระงับการจัดส่งก๊าซให้เออร์สเตด (Orsted) บริษัทพลังงานรายใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก และระงับการจัดส่งก๊าซให้เยอรมนีภายใต้สัญญาเชลล์ เอเนอร์จี ยุโรป (Shell Energy Europe) โดยมีผลตั้งแต่วันพุธที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (30 พ.ค.) Gazprom ได้หยุดส่ง ‘ก๊าซ’ ให้เนเธอร์แลนด์ หลังปัดซื้อด้วย ‘รูเบิล’

ทั้งนี้ ก๊าซเทอร์รา (GasTerra) บริษัทก๊าซของเนเธอร์แลนด์ เปิดเผยว่าก๊าซพรอม (Gazprom) บริษัทพลังงานของรัสเซีย จะยุติการจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้เนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่วันอังคาร (31 พ.ค.) เป็นต้นไป หลังก๊าซเทอร์ราปฏิเสธชำระเงินด้วยสกุลรูเบิล

คำแถลงจากก๊าซเทอร์ราระบุว่าการตัดก๊าซของรัสเซีย หมายความว่าจะไม่มีการจัดส่งก๊าซตามสัญญากับก๊าซพรอม จำนวน 2 พันล้านลูกบาศก์เมตร แก่เนเธอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. ถึง 30 ก.ย. ขณะสื่อท้องถิ่นรายงานว่าปริมาณก๊าซที่ถูกตัดคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 5 ของการใช้ก๊าซรายปีในเนเธอร์แลนด์

ก๊าซเทอร์รา ซึ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เป็นเจ้าของส่วนหนึ่ง เผยว่ามีการซื้อก๊าซจากแหล่งอื่นๆ เพื่อรับมือกรณีนี้ ขณะตลาดก๊าซยุโรปมีความเป็นหนึ่งเดียวและความครอบคลุมสูง และมิอาจคาดการณ์ได้ว่าการตัดก๊าซจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์อุปทานและอุปสงค์อย่างไร หรือตลาดยุโรปจะรับมือกับการสูญเสียก๊าซครั้งนี้โดยไม่เกิดผลร้ายแรงตามมาได้หรือไม่

ด้าน ร็อบ เจ็ตเทน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเนเธอร์แลนด์ โพสต์ทวิตเตอร์ว่ารัฐบาลเข้าใจมติของก๊าซเทอร์ราที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินของก๊าซพรอม โดยมติดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการจัดส่งก๊าซแก่ครัวเรือนในประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศแผนยุติการซื้อก๊าซธรรมชาติของรัสเซียอย่างสิ้นเชิงภายในสิ้นปี 2022 และจะพยายามบรรลุเป้าหมายดังกล่าวด้วยการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน และการนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่นๆเพิ่มขึ้น โดยเนเธอร์แลนด์นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียราวร้อยละ 15

Advertisement

 

“มหาสมุทรแห่งพลาสติก” ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

People unity news online : 14 เมษายน 2560 voathai.com ได้เผยแพร่สารคดีชุด “มหาสมุทรแห่งพลาสติก” นำเสนอปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ว่า ขยะพลาสติกแปดล้านตันถูกทิ้งลงทะเลทั่วโลกทุกปี

ขยะพลาสติกที่เสื่อมสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจำนวนมหาศาล ลอยเคว้งคว้างในมหาสมุทรต่างๆทั่วโลก

ทีมงานถ่ายทำสารคดี A Plastic Oceans หรือ “มหาสมุทรแห่งพลาสติก” ​ได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อบันทึกภาพขยะพลาสติกเหล่านี้

Julie Anderson แห่ง Plastic Oceans Foundation กล่าวว่า “ขยะพลาสติกที่พบเป็นเพียงเเค่ส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น ครึ่งหนึ่งของขยะพลาสติกจมลงสู่ก้นทะเล และขยะพลาสติกที่เหลือจะลอยอยู่ใกล้ผิวหน้าทะเล โดยเสื่อมสลายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแต่ยังคงสภาพความเป็นพลาสติกอยู่”

ทีมถ่ายทำสารคดีพบ “แพขยะ” ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ถูกกักรวมในปริมาณที่เข้มข้น อยู่ในวังวนของกระเเสน้ำทะเลในมหาสมุทรต่างๆ ทั้งมหาสมุทรแอตเเลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรเเปซิฟิก

Adam Leizig โปรดิวเซอร์ของสารคดีเรื่องนี้ กล่าวว่า ทีมงานพบว่ากลางมหาสมุทรแปซิฟิก มีขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่เสื่อมสลายเป็นชิ้นขนาดเล็กจิ๋วเเขวนตัวอยู่ใต้น้ำหรือใกล้ๆกับผิวน้ำเต็มไปหมด

ขยะพลาสติกชิ้นขนาดจิ๋วเหล่านี้เป็นมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร บางครั้งอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ยังมีขยะพลาสติกที่เสื่อมสลายเป็นชิ้นเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และทำปฏิกิริยากับสารมลพิษอื่นๆในน้ำทะเล

Adam Leizig กล่าวว่า สารโลหะหนักชนิดต่างๆ ยารักษาโรค และสารเคมีจากภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยลงสู่ทะเล สารเคมีเหล่านี้จะไปเกาะติดกับชิ้นส่วนพลาสติกขนาดจิ๋วในทะเล เมื่อสัตว์ทะเลกินพลาสติกเป็นอาหาร สารเคมีอันตรายเหล่านี้จะเข้าไปสั่งสมในเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นไขมันของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ซึ่งกลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ และคนเราในที่สุด

จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม เป็นชาติที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด ส่วนสหรัฐอเมริกา เเม้ว่าจะเป็นประเทศผู้นำด้านการรีไซเคิ่ลขยะ เเต่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 20 ชาติสร้างขยะมากที่สุดทั่วโลก เพราะเป็นผู้ผลิตและใช้พลาสติกในปริมาณมาก

และเเม้ว่าจะมีความพยายามในประเทศต่างๆทั่วโลกในการเเก้ปัญหา อย่างเช่นในเลบานอน ที่เพิ่งเปิดศูนย์แยกขยะรีไซเคิ่ลแห่งใหม่ แต่ Julie Anderson แห่ง Plastic Oceans Foundation กล่าวว่ายังมีงานที่ต้องทำอีกมาก

เธอกล่าวว่า “คนทั่วไปมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยการลดการใช้ขยะพลาสติกชนิดที่ใช้ครั้งเดียวเเล้วทิ้ง เช่น ถุงพลาสติก หลอดดูด ขวดน้ำพลาสติก เเก้วพลาสติก และหันไปใช้วัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม” (รายงานโดย Michael O’ Sullivan / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)

“มหาสมุทรแห่งพลาสติก” ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

People unity news online : post 17 เมษายน 2560 เวลา 23.33 น.

“มาครง” ชี้โลกเผชิญความท้าทายใหม่ 3 อย่าง สงคราม-การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย-ภูมิอากาศ

People Unity News : 18 พฤศจิกายน 2565 “ปธน.มาครง” ปาฐกถาเวที APEC CEO Summit 2022  ชี้การสร้างสันติภาพและความมั่นคงคือกุญแจสำคัญ ช่วยโลกก้าวผ่านภาวะปั่นป่วนวุ่นวายจากความท้าทายใหม่ ด้านผู้ว่าฯ ททท. ประกาศแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้นนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

การประชุม APEC CEO Summit 2022  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.2565  ที่ ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล เวทีคู่ขนานกับเวทีประชุมเอเปค 2022 การประชุมในวันนี้เป็นวันสุดท้าย โดยนายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ กรรมการบริหาร  การประชุม APEC CEO Summit 2022 กล่าวต้อนรับ โดยระบุว่าการประชุม APEC CEO Summit 2022 เป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำภาคเอกชน และผู้นำทางความคิดมาร่วมกันหาทางออกสำหรับอนาคตของเรา

ในโอกาสนี้ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ  Mr.Krishna Srinivasan  กรรมการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  ในประเด็น Achieving Economic Resilience in APEC”

นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การนำทางผ่านโลกที่ปั่นป่วนวุ่นวาย”  โดยชี้ว่า หลังจากที่โลกผ่านวิกฤติโควิด-19 มา ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ 3 อย่าง คือ สงคราม ที่ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานและอาหารตามมา สองคือ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในโลก ที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศลดลง และสามคือ ปัญหาสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง

“ความท้าทายเหล่านี้ถือเป็นปัญหาของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข และการมีกฎกติกาโลกที่ทุกฝ่ายปฏิบัติร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งฝรั่งเศสมองว่าการสร้างสันติภาพและความมั่นคง คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้โลกก้าวผ่านภาวะปั่นป่วนวุ่นวายนี้ไปได้ การเจริญเติบโตของแต่ละประเทศก็มีส่วนสำคัญในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และต้องเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเท่าเทียม” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าว

จากนั้นได้มีการเสวนาหัวข้อ “การสร้างความเท่าเที่ยมทางเพศเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต”  ที่มีซีอีโอชั้นนำของไทยเข้าร่วม ได้แก่ น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย Ms. Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และ Mr. Timothy D. Dattels สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) แคนาดา

การประชุมในช่วงเช้าจบลงที่การบรรยายในหัวข้อ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ของนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  ว่านับตั้งแต่ไทยเปิดประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ 8.5 ล้านคน และ ททท.ตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากรายได้ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ถึง 80% ทั้งนี้ ททท.จะเปลี่ยนแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวจากการเน้นที่ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว เป็นการเน้นให้นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลาง

“ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่เน้นความรู้และประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเฉพาะทาง เช่น การท่องเที่ยวที่เน้นกีฬา หรือการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบให้มากขึ้น ซึ่งจะพยายามทำงานโดยเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน โดยตั้งเป้าให้ทุกฝ่ายได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่ยุติธรรม นอกจากนี้ ททท. จะผลักดันการบังคับใช้กฎระเบียบด้านสุขอนามัยและการปกป้องสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งวางแผนประกาศให้เกาะหมาก เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศ” ผู้ว่า ททท. กล่าว

Advertisement

‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สูงสุดรอบ 28 ปี หวังสกัดเงินเฟ้อ พร้อมส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอีกในการประชุมครั้งหน้า

People Unity News : 16 มิ.ย. 65 ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ที่ระดับ 1.5-1.75% ในวันพุธ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 ปี เพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ต้องประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานคณะผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงข่าวหลังการประชุมด้านนโยบายเป็นเวลาสองวันว่า เป้าหมายในการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อดึงระดับเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งต่อไป แต่สิ่งที่ชัดเจนขึ้นตอนนี้ ก็คือ หลายปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้กำลังมีบทบาทสำคัญขึ้นมา

แม้ว่าเฟดจะฉีดยาแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ในวันพุธ เฟด คาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% และจะชะลอตัวสู่ระดับ 2.6% และ 2.2% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ

นอกจากนี้ เฟด ยังปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจว่าจะขยายตัวที่ 1.7% ในปีนี้ พร้อมคาดว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นที่ 3.7% ภายในสิ้นปีนี้ และจะปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 4.1% ในอีก 2 ปีข้างหน้า

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50-0.75% ในการประชุมครั้งหน้า แต่ไม่คาดหมายว่าระดับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้จะกลายเป็นความปกติ

Advertisement

ธนาคารโลกเตือนหนี้ประเทศยากจนพุ่ง 12% เฉียด $9 แสนล้าน แนะประเทศร่ำรวยยื่นมือช่วย

People Unity News : ธนาคารโลกเตือน หนี้ประเทศยากจนพุ่ง 12% เฉียด $9 แสนล้าน เมื่อปีที่แล้ว

14 ตุลาคม 2564 ประธานธนาคารโลก เดวิด มอลพาสส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รายงานของธนาคารโลกว่าด้วยตัวเลขหนี้ระหว่างประเทศประจำปี 2022 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางกำลังมีความเสี่ยงในเรื่องหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยยื่นมือเข้าช่วยซึ่งรวมถึงการลดหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้และการเพิ่มความโปร่งใส

นายมอลพาสส์ กล่าวว่า เวลานี้ครึ่งหนึ่งของประเทศยากจนทั่วโลกต่างมีปัญหาหนี้ต่างประเทศ และจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านั้นสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและลดปัญหาความยากจนได้

รายงานของธนาคารโลกเปิดเผยด้วยว่า หนี้ต่างประเทศของประเทศรายได้ต่ำและปานกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5.3% ในปี ค.ศ. 2020 เป็น 8.7 ล้านล้านดอลาร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาค

นายมอลพาสส์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประเทศยากจนเหล่านั้นถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากโครงการผัดผ่อนหนี้ Debt Service Suspension Initiative (DSSI) ของประเทศกลุ่มจี-20 กำลังจะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้

ที่มา VOA

Advertising

ผู้นำเอเปค รับข้อเสนอ ABAC มุ่งสร้างความเชื่อมโยง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

People Unity News : 18 พฤศจิกายน 2565 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้นำเอเปค รับข้อเสนอภาคเอกชน ABAC หวังร่วมมือฟื้นเศรษฐกิจเอเปค หวั่นหลายปัจจัยคุกคามเอเปค จากกับดักเงินเฟ้อ วิกฤตอาหาร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมหารือเต็มคณะระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Leaders’ Dialogue with ABAC)

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ABAC กล่าวว่า  ปัจจุบันความท้าทายต่างๆ เป็นภัยคุกคามที่ทุกเขตเศรษฐกิจต้องเผชิญร่วมกัน จึงเน้นย้ำการร่วมมือกันอย่างจริงจัง เน้นการป้องกันการติดอยู่ในกับดักเงินเฟ้อ วิกฤตอาหาร อำนวยความสะดวกทางการค้า ดำเนินการตามเศรษฐกิจ BCG รับมือกับโรคระบาด การเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม สนับสนุนความเชื่อมโยงและไร้รอยต่อ ภายใต้มาตรฐานและแนวปฏิบัติร่วมกัน รวมถึงการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค สนับสนุน MSMEs โดยเฉพาะ รวมถึงการพัฒนาและนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาใช้

จากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ ABAC สำหรับข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และปฏิบัติได้จริง สะท้อนข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจว่า เอเปคจะต้องดำเนินการเรื่องต่างๆอย่างไรต่อไป ซึ่งการหารือจะเป็นโอกาสดีที่จะได้สานต่อความร่วมมือ โดยใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาร่วมกันของภูมิภาค โดยเอเปคมีคุณลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ อาทิ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อหาทางออกไปด้วยกัน รวมทั้งความสำเร็จของเอเปคในปีนี้ เป็นผลมาจากการรับข้อเสนอแนะของ ABAC มาขับเคลื่อนในเอเปค

“โดยเฉพาะแผนงานต่อเนื่องหลายปีสำหรับวาระเรื่อง FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) รวมทั้งการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยได้บรรลุผลเป็นรูปธรรม ช่วยฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ นอกจากนี้ ยังเสนอการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนวาระการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และครอบคลุม สอดคล้องกับการขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของ ABAC” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผลงานของ ABAC ปีนี้ ส่งเสริม สอดคล้องกับการดำเนินงานของเอเปคเป็นอย่างดี พร้อมขอให้ใช้ประโยชน์จากการหารือกลุ่มย่อย เพื่อนำข้อเสนอของเอแบคไปสู่นโยบายที่สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างอนาคตของภูมิภาคที่ยั่งยืนและครอบคลุม

Advertisement

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบผันผวน

People Unity News : 3 ตุลาคม 65 ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบผันผวนรอมติโอเปกพลัส  5 ต.ค.จะลดกำลังผลิตเพื่อรักษาระดับราคาหรือไม่

บมจ.ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 82-92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบผันผวน เนื่องจากตลาดยังกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากทัศนะของประธานเฟดสาขาต่างๆมีความเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ควรดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ท่อส่งน้ำมัน  โครงการแคสเปียน ไปป์ไลน์ คอนซอร์เทียม (Caspian Pipeline Consortium: CPC) หนึ่งในท่อส่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งส่งน้ำมันจากคาซัคสถานไปยังทะเลดำ จะกลับมาส่งออกน้ำมันในระดับปกติตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัว  ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 ต.ค. 65 โดยรัสเซียส่งสัญญาณว่าทางกลุ่มควรปรับลดกำลังการผลิตราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อพยุงราคาน้ำมัน หลังราคาน้ำมันปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากปัจจัยความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย

ขณะที่อุปสงค์ความต้องการน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังเข้าสู่ช่วงวันหยุดประจำปี (Golden week) ของจีน และราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้นในยุโรป ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น (gas-to-oil switching)

ตลาดยังคงกังวลอุปทานก๊าซตึงตัว หลังพบการรั่วไหลของก๊าซบริเวณท่อ Nord Stream 1 และ 2 ซึ่งส่งออกก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรป โดยคาดว่าการรั่วไหลที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการก่อวินาศกรรม ส่งผลให้ราคาก๊าซในยุโรปปรับตัวสูงขึ่น โดยราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดท่อส่งน้ำมัน CPC จะกลับมาส่งออกน้ำมันที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค.

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 – 30 ก.ย. 65)  ปรับเพิ่มขึ้น 2.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 87.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 89.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังรายงานสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ย. 65 ปรับลดลง 0.215 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.443 ล้านบาร์เรล ขณะที่พายุเฮอริเคนเอียน เฮอริเคนระดับ 4 พัดขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของรัฐฟลอริดา ส่งผลกระทบต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซราว 11% อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงกดดันหลังสกุลเงินดอลล่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีดอลล่าสหรัฐฯ ปรับตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ที่ระดับ 114.527 ส่งผลให้สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบซึ่งซื้อขายในสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มีความน่าสนใจน้อยลง

Advertisement

Verified by ExactMetrics