วันที่ 10 พฤษภาคม 2024

“ประยุทธ์” เสนอแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2560 เวลาประมาณ 19.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia – Malaysia – Thailand Growth Triangle : IMT – GT) ณ ห้อง Summit Hall C, PICC กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศสมาชิก IMT-GT ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาอนุภูมิภาคนี้ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อสร้าง IMT-GT ให้เป็นอนุภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงถึงกันตามแนวระเบียงที่ครอบคลุมทั้งสามพื้นที่อย่างทั่วถึง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและปัจจัยเอื้ออำนวยให้ IMT-GT มีความเจริญเติบโตก้าวหน้า เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน มีสันติภาพและความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดช่องว่างระหว่างกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมต่อความสำเร็จในการขับเคลื่อนแผนระยะห้าปีที่ผ่านมา (แผนที่ 2 ปี 2555-2559)

แต่อย่างไรก็ดีก็ยังมีเรื่องที่ต้องเร่งรัดดำเนินการให้สำเร็จในช่วงแผนห้าปีระยะต่อไปอีกหลายเรื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในระยะยาวจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคต ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมใน 4 เรื่อง ที่มีกำหนดระยะเวลาการขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จที่ชัดเจน ดังนี้

ประการแรก การพัฒนาด้านความเชื่อมโยงโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีเสนอให้ดำเนินการเชื่อมโยงตามแนวระเบียงต่างๆให้มีความครอบคลุมทั่วถึง ทั้งระเบียงเศรษฐกิจระนอง-ภูเก็ต-ปีนัง- อาเจห์ เร่งพัฒนาความเชื่อมโยงทางทะเลจากแผ่นดินใหญ่ไปยังสุมาตรา ทั้งด้านเรือสินค้าและเรือสำราญ เร่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดนไทย-มาเลเซียด้านตะวันออก และโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยมีรถไฟทางคู่มาเลเซีย-ไทยและทางหลวงสตูล-ปะลิส เชื่อมโยงทางตะวันตก ไปยังปีนังและเชื่อมโยงทางทะเลไปยังสุมาตรา

สำหรับการเชื่อมโยงทางอากาศ นายกรัฐมนตรีแนะทุกประเทศพัฒนาท่าอากาศยานใหม่หรือขยายท่าอากาศยานนานาชาติเดิมให้เพียงพอรองรับประชาคมอาเซียนและการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวระดับโลกสู่ IMT-GT ต่อไป ด้านการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ พัฒนาศูนย์กระจายสินค้าอย่างต่อเนื่องและเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นโครงข่ายห่วงโซ่คุณค่าเชื่อมโยงข้ามแดน เช่น ระหว่างเขตเศรษฐกิจสงขลา นราธิวาส ปาเสมัส ชูปิงวัลลี ซาบัง บาตัม บินตัน คาริมุน เป็นต้น ด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และโครงข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร ควรเร่งวางยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อเป็นฐานรองรับการพัฒนาที่มั่นคงในอนาคต

ประการที่สอง การพัฒนาด้านการอำนวยความสะดวกให้บรรลุความสำเร็จ เพื่อให้การใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนอย่างแท้จริง โดยเร่งสร้างความตกลงด้านการขนส่งทางบกข้ามแดนและผ่านแดน ที่มีความเท่าเทียมในทุกวิธีการขนส่ง ทั้งทางถนนและราง ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ รถบริการนักท่องเที่ยว ทุกฝ่ายควรเร่งรัดด้านการอำนวยความสะดวกให้ก้าวหน้าทุกด้าน เพื่อเสนอต่อการประชุมระดับผู้นำครั้งต่อไป โดยหารือระดับทวิภาคีได้ด้วย

ประการที่สาม การพัฒนาด้านนวัตกรรม และการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเพื่อนำ IMT-GT สู่โลกอนาคต เพื่อเป็นปัจจัยปรับเปลี่ยนในทุกมิติ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบันโดยใช้นโยบาย Thailand 4.0 จุดกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ เทคโนโลยีไอทีและดิจิทัล รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพรูปแบบใหม่ๆ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าทุกประเทศต่างก็เล็งเห็นโอกาสจากการพัฒนาด้านดิจิทัล จึงควรสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดศักยภาพด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ใน IMT-GT โดยเชื่อมโยงโครงข่ายที่มีศักยภาพ เช่น เขตการค้าเสรีดิจิทัลข้ามแดน ฮาลาล อี-คอมเมอร์ส ไอทีเพื่อความมั่นคง และแลกเปลี่ยนการพัฒนาบุคลากรทุกระดับในการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว บริการ และการแปรรูปเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าระดับสูง

ประการสุดท้าย ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ผ่านมาทั้งสามประเทศได้ร่วมมือในการพัฒนาเมืองสีเขียวในเมืองต้นแบบในทั้งสามประเทศ ณ เมืองมะละกา บาตัม เมดาน สงขลา และหาดใหญ่ ประเทศไทยเองได้จัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเมืองสีเขียวจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งไทยหวังที่จะเห็นเมืองสีเขียวเติบโตเชื่อมโยงอย่างกว้างขวางใน IMT-GT เพื่อให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ร่วมกันดูแลสภาพแวดล้อม มีการประหยัดและทดแทนพลังงานที่เหมาะสม พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดแนวคิดไปสู่เยาวชนรุ่นหลัง โดยมี SDGs เป็นเป้าหมายสำคัญ

People unity news online : post 30 เมษายน 2560 เวลา 14.10 น.

“ลุงตู่” ชู start-ups–เศรษฐกิจดิจิทัล–อุตสาหกรรมใหม่ของไทย เป็นทิศทางเดินของอาเซียน

People unity news online : เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2560 เวลา 11.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 ช่วงการประชุมเต็มคณะ (Plenary) ณ ห้องประชุม Reception Hall, PICC กรุงมะนิลา โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณประธานาธิบดี โรดรีโก โรอา ดูแตร์เต ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และขอแสดงความยินดีกับฟิลิปปินส์ในการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ซึ่งเป็นวาระอันดีที่อาเซียนก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 จึงเป็นโอกาสดีที่จะมาทบทวนอย่างจริงจังว่า ประชาคมอาเซียนจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไรให้มั่นคงและยั่งยืน เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนทั่วทั้งภูมิภาค ท่ามกลางความคาดหวังมากยิ่งขึ้นจากประชาคมอาเซียน และจากบทเรียนของสถานการณ์การแยกตัวของสหราชอาณาจักรในสหภาพยุโรป เพื่อเสริมสร้างอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างเข้มแข็งและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในการก้าวไปข้างหน้าตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ.2025 ทุกประเทศต้องเร่งปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ เพื่อมุ่งหน้าไปสู่การเป็นประชาคมที่ส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ และเชื่อมโยงอย่างสร้างสรรค์กับประชาคมโลก นายกรัฐมนตรีจึงมองว่าอาเซียนควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้

ประการแรก อาเซียนควรมีพลวัต นวัตกรรม และเชื่อมโยงอย่างสร้างสรรค์กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและกับโลก อาเซียนควรให้ความสำคัญกับปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมวิสาหกิจเกิดใหม่ (start-ups) การเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งไทยกำลังดำเนินการภายในประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 นอกจากนี้ การพัฒนาและสร้าง ASEAN branding สำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น อาเซียนควรมีระบบและมาตรฐานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นการเฉพาะให้กับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับธุรกิจดังกล่าวในการขอสินเชื่อและการขยายโอกาสในตลาดทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค

ประการที่สอง อาเซียนควรเพิ่มความเข้มแข็งภายในและสร้างภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามต่างๆ โดยเฉพาะจากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เป็นที่น่ายินดีที่อาเซียนมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ซึ่งได้มีการรับรอง Roadmap เมื่อปีที่แล้ว อีกทั้งอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (ACTIP) ได้มีผลใช้บังคับแล้ว อย่างไรก็ตามยังมีอีก 3 เรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป คือ (1) การจัดระบบความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน โดยมีระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวกรองอย่างมีประสิทธิภาพ (2) การส่งเสริมศักยภาพของอาเซียนในการเผชิญหน้ากับความท้าทายจากการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่ง โดยดำเนินมาตรการทางด้านการพัฒนาควบคู่กับการต่อต้านการก่อการร้ายด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับแนวทางสายกลางความรู้และความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาและชาติพันธุ์ ตลอดจนการแก้ไขที่รากเหง้าของปัญหาทั้งความยากจน การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการได้รับความไม่เป็นธรรม อีกทั้งการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยการตั้งศูนย์ไซเบอร์อาเซียนซึ่งไทยพร้อมที่จะจัดการประชุมระดมสมองภายในอาเซียน โดยร่วมมือกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค (3) การดำเนินการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ตามโครงการระบบโลจิสติกส์ของการปฏิบัติการด้านการบรรเทาทุกข์และการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียนโดยใช้ประโยชน์จากศูนย์สำคัญๆในภูมิภาค เช่น ศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียนและศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย

ประการที่สาม อาเซียนควรเน้นการพัฒนาไปสู่ประชาคมที่ส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์จากอาเซียนโดยอาเซียนควรร่วมมือกันในระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างหุ้นส่วนกับประเทศนอกภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อจัดทำโครงการที่เป็นรูปธรรม อาทิเช่น การรักษาสิ่งแวดล้อมภายในภูมิภาคและการส่งเสริมการเจริญเติบโตสีเขียว การส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี เป็นต้น

ประการที่สี่ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าอาเซียนต้องเตรียมความพร้อมในทุกมิติของสังคมสำหรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของอาเซียนอย่างมีศักยภาพ โดยอาเซียนควรส่งเสริมให้มีศูนย์สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในลักษณะของ ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation

People unity news online : post 30 เมษายน 2560 เวลา 13.10 น.

ด่วน! “ประยุทธ์” ถึงฟิลิปปินส์แล้ว ขึ้นกล่าวในที่ประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน

People unity news online : เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ภายหลังจากเดินทางถึงกรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 และการประชุมสุดยอดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 28 – 30 เมษายน 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมและกล่าวในการประชุม Prosperity for All ซึ่งจัดโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ABAC) ณ ห้อง Grand Ballroom, City of Dreams

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นเกียรติที่ได้รับเชิญจากสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของประชาคมอาเซียน ที่ให้เข้าร่วมเสนอแนวคิดเรื่องการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย หรือ MSMEs (Micro, Small and Medium Enterprises) ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากมีจำนวนรวมกันถึงมากกว่าร้อยละ 95 ของธุรกิจทั้งหมดในแต่ละประเทศสมาชิก หากธุรกิจเหล่านี้มีความเข้มแข็ง ก็เชื่อได้ว่า เศรษฐกิจของอาเซียนและประชาคมอาเซียนจะมีความแข็งแกร่ง และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนของอาเซียน โดยเฉพาะสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ให้ความสนใจกับการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยเป็นผู้เล่นหลัก ส่วนภาครัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุน

สำหรับประเทศไทยได้ดำเนินการต่างๆที่สอดคล้องกับแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี ค.ศ. 2025 (ASEAN Economic Community Blueprint 2025) และแผนปฏิบัติการในการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี ค.ศ. 2016 – 2025 โดยเมื่อต้นปีนี้ ไทยได้ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อ SMEs ในแนวทางประชารัฐ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ทุกกลุ่มจังหวัดในระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา ให้สามารถกลับไปตั้งต้นเป็นวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อยในภูมิลำเนาได้ และในอนาคตจะเน้นช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และภาคบริการที่กาลังเติบโตมากขึ้น

“การดำเนินตามแนวทางที่วางไว้ ในการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ในเรื่องการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เกิดขึ้นได้จริง ความสำเร็จที่เราจะมีต่อไป เป็นสิ่งที่ประเทศไทยพร้อมจะร่วมมือและแบ่งปันโมเดลประเทศไทย เพื่อให้ภูมิภาคมีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงตามโครงสร้างเศรษฐกิจที่พวกเรามี”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ในประชาคมอาเซียนมีจุดเด่น 3 ประการ คือ เป็นแหล่งอาหารของโลก มีศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีความโดดเด่นด้านภาคบริการ โดยเฉพาะบริการที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ประชากรในอาเซียนซึ่งมีอาชีพเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเกษตร การค้า และการให้บริการมีจำนวนหลายร้อยล้านคน ในส่วนของไทยก็ได้พยายามพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Young and Smart Farmers ให้เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านการเกษตรที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาช่วยให้สามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น รัฐบาลไทยตระหนักดีว่าวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย มีบทบาทสำคัญ ไม่เพียงแค่มิติเศรษฐกิจ แต่ยังครอบคลุมถึงมิติด้านสังคม เพราะมีจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค หากสามารถดูแลให้ธุรกิจเหล่านี้ มีความมั่นคงแข็งแกร่งได้ ก็เท่ากับช่วยให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของและลูกจ้างมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นความท้าทายของประเทศไทยและอาเซียนในภาพรวม

อนึ่ง การประชุม Prosperity for all Summit เป็นกิจกรรมที่สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ABAC) ได้ริเริ่มขึ้นในปีนี้ภายใต้หัวข้อ “Driving growth through micro and small entrepreneurs in Trade, Services and Agriculture” ซึ่งในด้านสารัตถะมีความสอดคล้องกับหัวข้อหลักของการเป็นประธานอาเซียนของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ คือ “Partnering for Change, Engaging the World” และมีจุดประสงค์เพื่อสร้างการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและความมั่งคั่งให้แก่ประชาชนในอาเซียนโดยเน้นการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อมและรายย่อยในภาคการค้าสินค้า ภาคบริการและภาคการเกษตร ซึ่งจัดคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดอาเซียน

People unity news online : post 29 เมษายน 2560 เวลา 00.03 น.

ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-รัสเซีย อย่าผลีผลาม!! โดย พูลเดช กรรณิการ์

People unity news online : ผมเคยเสนอแนวความคิดและสนับสนุนให้ คสช. และรัฐบาล ดำเนินนโยบายต่างประเทศกับชาติมหาอำนาจแบบ “balance of power” หรือการถ่วงดุลอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจ โดยผมเสนอตั้งแต่ คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครองใหม่ๆ ซึ่งขณะนั้น คสช.กำลังโดนแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกอย่างหนัก

มหาอำนาจที่ผมเสนอให้ คสช. และรัฐบาล เข้าไปกระชับความสัมพันธ์และนำมาถ่วงดุลกับสหรัฐฯและพันธมิตรตะวันตก ก็ไม่ใช่ใคร คือ จีน และรัสเซียนั่นเอง  ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน คสช. ก็ส่งบุคคลสำคัญของ คสช.ไปเยือนจีน และตามมาด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย

จากนโยบายถ่วงดุลดังกล่าว ทำให้สหรัฐฯต้องประเมินไทยใหม่ จากที่เคยอาจคิดว่าไทยเป็นหมูในอวย ไม่มีทางไปไหน ก็คงรู้แล้วว่าไทยไม่ใช่หมู สหรัฐฯจึงเริ่มเปลี่ยนท่าทีแข็งกร้าวที่มีต่อไทยลงเป็นลำดับ

นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคที่โอบาม่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทว่า ในขณะนี้ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ดังนั้น จำเป็นที่ไทยจะต้องประเมินและทบทวนนโยบายถ่วงดุลมหาอำนาจสักครั้ง เพราะนโยบายของสหรัฐฯในยุคทรัมป์มีความแตกต่างจากยุคโอบาม่าอย่างมาก รวมทั้งบุคลิกและความคิดของทรัมป์นั้นมีลักษณะ “บ้าดีเดือด” แตกต่างจากโอบาม่าที่สุขุมนุ่มลึกกว่า นอกจากนี้ ทรัมป์เองก็มีปัญหาในการบริหารงานภายในประเทศที่ถูกต่อต้านจากรัฐสภาและประชาชนอเมริกันหลายเรื่อง ทรัมป์จึงต้องเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาของตนในประเทศออกมา “อาละวาด” นอกประเทศ ดังเช่นที่โจมตีซีเรีย ทิ้งระเบิดอัฟกานิสถาน และจ่อทำสงครามกับเกาหลีเหนือ รวมทั้งยังมีนโยบายด้านต่างๆที่แข็งกร้าวต่อประเทศต่างๆ เช่น นโยบายต่อคนเข้าเมืองสหรัฐฯ นโยบายการขึ้นบัญชีประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ เป็นต้น

ล่าสุด กับการที่รัฐบาลไทย จะเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียยิ่งขึ้น โดยจะมีการประชุมอนุกรรมการการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 ระหว่างไทย-รัสเซีย ในวันที่ 20-21 เมษายน 2560 ที่กรุงเทพฯ โดยการประชุมในครั้งนี้จะเร่งส่งเสริมการค้าการลงทุนและให้มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนคณะผู้แทนภาคธุรกิจ-ลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในสาขาที่รัสเซียและไทยมีประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้จะมีการหารือเรื่องการลดอุปสรรคด้านการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว พลังงาน วิทยาศาสตร์ SMEs และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

และที่สำคัญ จะมีความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร เพื่อให้มีการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง อาวุธยุทโธปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ด้านการป้องกันประเทศ การซ่อมบำรุง อะไหล่ชิ้นส่วน หน่วยฝึกเครื่องมืออุปกรณ์พิเศษการฝึก ผลิตภัณฑ์ทางทหาร การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ

ผมเห็นว่า ในนาทีนี้ รัฐบาลควรจะต้องชะลอความตกลงด้านการทหารกับรัสเซียเอาไว้ระยะหนึ่งก่อน หรือไม่ก็ลดความร่วมมือทางทหารในบางเรื่องลงไปก่อน เช่น ความร่วมมือด้านการฝึกทางทหาร การรบร่วม ส่วนเรื่องการซื้ออาวุธนั้นสามารถทำได้ เราจะซื้อจากใครก็เป็นสิทธิของเรา เพราะท่าทีของทรัมป์ในตอนนี้ “บ้าดีเดือด” จนไม่น่าวางใจ และอาจกลับมาเล่นงานไทยหนักขึ้นอีกครั้ง หากไม่สบอารมณ์กับการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทย-รัสเซีย ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจในขณะนี้ก็ไม่สู้ดีและตึงเครียด ทั้งจากกรณีซีเรีย และเกาหลีเหนือ

ส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรม นั้นเดินหน้ากระชับกันต่อไปได้

ก็ขอเสนอความเห็นไว้ ณ ที่นี้ครับ

บ้านเมืองก็ของเรา : ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-รัสเซีย อย่าผลีผลาม!! โดย พูลเดช กรรณิการ์

People unity news online : post 19 เมษายน 2560 เวลา 12.03 น.

ภาพ – ผู้จัดการ

เผยผลสำรวจคอรัปชั่นเอเชียล่าสุด กัมพูชา-อินโดนีเซีย-เวียดนามน่าเป็นห่วง ไทยเป็นบวก

People unity news online : รายงานสำรวจด้านปัญหาการคอรัปชั่นในเอเชีย ระบุว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาของหลายประเทศในเอเชีย แม้ว่าโครงการต่อต้านการคอรัปชั่นในบางประเทศ เช่น ประเทศจีน จะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้นก็ตาม

รายงานสำรวจที่จัดทำโดยองค์กร Transparency International และศูนย์ Political and Economic Risk (PERC) ในฮ่องกง ซึ่งเปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ชี้ว่า “การรับรู้และความตื่นตัวในปัญหาคอรัปชั่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหมู่ชาวเอเชียในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา”

ถึงกระนั้นรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศในเอเชีย

ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น คือประเทศที่ประสบปัญหาคอรัปชั่นในระดับต่ำ ขณะที่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีปัญหาคอรัปชั่นที่น่าเป็นห่วง

ในส่วนของจีน รายงานชี้ว่าดูเหมือนปัญหาการคอรัปชั่นเริ่มลดลงหลังจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ใช้นโยบายปราบปรามคอรัปชั่นในทุกระดับ แต่ PERC ก็ระบุว่ายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก เนื่องจากการคอรัปชั่นได้ครอบคลุมไปทั่วทั้งสังคมจีน

ขณะที่ Transparency International บอกว่า ชาวจีนเกือบ 3 ใน 4 เชื่อว่าระดับการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งก็ได้พยายามใช้มาตรการหลายอย่างในการปราบปราม เช่น การเพิ่มบทลงโทษสำหรับคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงและรับสินบน และปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการแข่งขันอย่างไม่ยุติธรรม เป็นต้น

สำหรับอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาการคอรัปชั่นมากที่สุดจากการสำรวจครั้งนี้ รายงานชี้ว่าแม้ชาวอินเดียส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่าไม่มีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาคอรัปชั่นมากนัก แต่ก็ได้ยกย่องแนวทางใหม่ๆในการแก้ปัญหาคอรัปชั่นของรัฐบาล นายนเรนธรา โมดี เช่น การยกเลิกใช้ธนบัตรมูลค่าสูงในอินเดีย

ทางด้านประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวรวดเร็ว เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา รายงานบอกว่าประชาชนยังมีความตื่นตัวน้อยเกี่ยวกับปัญหาคอรัปชั่น

รศ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์ แห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “บรรดานักลงทุนในประเทศเหล่านี้ต่างยอมรับการคอรัปชั่นในระดับหนึ่ง ว่าเป็นต้นทุนหรือความเสี่ยงในการลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตนี้”

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์ ให้ความเห็นว่า “ความมั่นใจของภาคธุรกิจนั้นจะลดลง หากไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการฉ้อฉลหรือติดสินบนนั้นจะบานปลายไปถึงขั้นไหน”

ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย รายงานสำรวจของ Transparency International และศูนย์ Political and Economic Risk (PERC) ชี้ว่า คนไทยส่วนใหญ่มองโครงการต่อต้านคอรัปชั่นของรัฐบาลชุดปัจจุบันในแง่บวก โดย 72% ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าปัญหาการคอรัปชั่นได้ลดลงภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ขณะที่ 14% มองว่ามีการคอรัปชั่นเพิ่มขึ้น

โดย PERC ระบุว่า งานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าได้สรุปไว้ว่า มูลค่าเงินสินบนที่องค์กรต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทย ได้ลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี

ด้าน ดร.บัณฑิต นิจถาวร แห่งสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ขณะนี้โครงการต่างๆในการต่อต้านการคอรัปชั่นมีความก้าวหน้าไปมาก ด้วยความร่วมมือของรัฐบาล ภาคธุรกิจและประชาชน”

ดร.บัณฑิต ระบุด้วยว่าปัญหาคอรัปชั่นในไทยเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและทำกันอย่างเป็นระบบ จึงต้องอาศัยทุกฝ่ายในการช่วยกันแก้ไขจัดการ

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลไทยได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาดูแลคดีคอรัปชั่นโดยเฉพาะ และได้ตัดสินคดีใหญ่ๆไปแล้วหลายคดี รวมถึงคดีของอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จุฑามาศ ศิริวรรณ ที่ถูกตัดสินจำคุก 50 ปี และคดีผู้บริหารการบินไทยรับสินบนจากบริษัทผลิตเครื่องยนต์โรลล์สรอยซ์ของอังกฤษ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในขณะนี้ (ข่าวจากเว็บไซต์ voathai.com 4 เมษายน 2560 ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

People unity news online : post 5 เมษายน 2560 เวลา 00.33 น.

“ธนะศักดิ์” เป็นตัวแทนนายกฯร่วมงานศพ “สก อาน”

People unity news online : เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2560 พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา ได้เดินทางเยือนกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี และผู้แทนรัฐบาลไทย เพื่อร่วมงานฌาปนกิจศพ สมเด็จวิบุลปัญญา สก อาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักคณะรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ส่งสารแสดงความเสียใจถึงสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ต่อการถึงแก่อสัญกรรมของสมเด็จวิบุลปัญญา สก อาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักคณะรัฐมนตรีกัมพูชา แล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 โดยได้กล่าวยกย่องรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักคณะรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาให้แน่นแฟ้นตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และประธานสมาคมมิตรภาพกัมพูชา-ไทย อย่างยิ่งมาโดยตลอด

People unity news online : post 22 มีนาคม 2560 เวลา 19.01 น.

เผยรายละเอียดผลการหารือนายกรัฐมนตรีไทยกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

People unity news online : วันนี้ (21 มีนาคม 2560) เวลา 16.30 น. นายโรดรีโก โรอา ดูแตร์เต (H.E. Mr. Rodrigo Roa Duterte) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รอให้การต้อนรับ จากนั้นทั้งสองฝ่ายร่วมกันหารือข้าราชการ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

ผู้นำทั้งสองได้ร่วมหารือข้อราชการ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่าย อาทิ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ฝ่ายสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ อาทิ นายเอนริเก เอ. มานาโล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายคาร์ลอส จี. โดมิงเกส ที่สาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเอ็มมานูเอล ปินยอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และนายเดลฟิน เอ็ม. ลอเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้ต้อนรับท่านประธานาธิบดีดูแตร์เต และคณะในการเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 และเป็นการเยือนไทยโดยผู้นำของฟิลิปปินส์ในรอบ 6 ปี จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อการกระชับและการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฟิลิปปินส์

ความสัมพันธ์ทวิภาคีทั้งสองฝ่ายยืนยันความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยไทยและฟิลิปปินส์เป็นมิตรเก่าแก่ซึ่งมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและยาวนานมากว่า 68 ปี รวมทั้งการเป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างรอบด้านและเป็นรูปธรรม ในโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะย่างก้าวสู่ทศวรรษที่เจ็ดของความสัมพันธ์ การเยือนครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งในการกระชับความสัมพันธ์และหารือแนวทางความร่วมมือในเชิงลึกเพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นรวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอาเซียน

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรียินดีที่ฟิลิปปินส์มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายเห็นว่าไทยและฟิลิปปินส์มีศักยภาพที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันในอนาคต ผ่านคณะกรรมการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Committee – JTC) ในเรื่องของการบริการ ดิจิทัล การเกษตร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของทั้งสองประเทศ

ทั้งสองฝ่ายยินดีสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดพลวัตทางความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์แสดงความพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนแก่ภาคเอกชนไทยที่สนใจไปลงทุนในฟิลิปปินส์ด้วย

โอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการต่ออายุบันทึกความตกลงว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฟิลิปปินส์ออกไปอีก 2 ปี (2560–2561) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารระหว่างทั้งสองประเทศ

ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรียินดีที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น โดยพร้อมสนับสนุนให้ชาวไทยไปท่องเที่ยวในฟิลิปปินส์มากขึ้นเช่นกัน เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชนของทั้งสองประเทศและการเป็นประชาคมอาเซียน

ความร่วมมือด้านการเกษตร ไทยและฟิลิปปินส์สามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน รวมทั้งหารือแนวทางเพื่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของทั้งสองประเทศได้ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยมีนโยบายการพัฒนาและสร้างเกษตรกรสู่ smart farmer เพื่อพัฒนาและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าและราคาสินค้าเกษตร และอาหาร รวมทั้งให้สามารถเกิดการจัดพื้นที่การผลิตด้านการเกษตรกรรมและป่าไม้ที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

ความร่วมมือด้านพลังงาน ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความคืบหน้าด้านความร่วมมือทางพลังงานระหว่างกัน โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่ายินดีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 2 ที่กรุงมะนิลาในปีนี้

ความร่วมมือด้านการศึกษา นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณครูชาวฟิลิปปินส์ที่ได้มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษในสถาบันการศึกษาไทย ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้แก่เยาวชนไทย และยินดีที่ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา บุคลากรครู การศึกษาดูงานและฝึกอบรมในระดับอุดมศึกษาระหว่างกัน

ความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความร่วมมือทางวิชาการมีความคืบหน้า ทั้งในระดับทวิภาคีและไตรภาคีจากผลการประชุมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยและฟิลิปปินส์สองครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ไทยพร้อมสนับสนุนการสานต่อความร่วมมือในระดับทวิภาคีในด้านการเกษตร และในระดับไตรภาคี ในหลักสูตรด้านการพัฒนาสตรีและสตรีกับการเป็นผู้ประกอบการ

ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยและฟิลิปปินส์มีการกระชับความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากด้านนี้ถือเป็นหนึ่งในสาขาสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมของฟิลิปปินส์

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือข้อราชการ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2.การดำเนินงานตามโครงการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ปี 2017 – 2022 ระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งราชอาณาจักรไทย 3. ข้อปฏิบัติว่าด้วยความร่วมมือในสาขาเฉพาะระหว่างศูนย์กระบือนม ประเทศฟิลิปปินส์ และกรมปศุสัตว์ เกี่ยวกับการเลี้ยงกระบือปลักและกระบือนม

จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแถลงข่าว ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยในช่วงค่ำวันเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแด่นายโรดรีโก โรอา ดูแตร์เต ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ด้วย

People unity news online : post 21 มีนาคม 2560 เวลา 23.23 น.

Verified by ExactMetrics