วันที่ 20 พฤษภาคม 2024

การบินพลเรือนฯประกาศห้ามเครื่องบินโดยสารบินเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 7-18 เม.ย.2563

People Unity News : สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 7 – 18 เมษายน 2563

ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2)

ตามที่ได้มีประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ประกาศ ณ วันที่ 3 เมษายน 2563 เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) รุนแรงมากยิ่งขึ้น และเพื่อสนับสนุนการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินข้างต้นให้ยุติลงโดยเร็ว นั้น

ด้วยเหตุผลและความจำเป็นในการคงความต่อเนื่องของมาตรการดังกล่าวเพื่อประสิทธิผลในการป้องกันและควบคุมโรค อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

1.ห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2563 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563 เวลา 23.59 น.

2.การอนุญาตการบินที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ออกให้แก่อากาศยานขนส่งคนโดยสาร สำหรับการบินเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงระยะเวลาตาม 1. ให้เป็นอันยกเลิก

3.ข้อห้ามตาม 1. ไม่รวมถึงอากาศยานดังต่อไปนี้

(1) อากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร (State or Military aircraft)

(2) อากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน (Emergency landing)

(3) อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค (Technical landing) โดยไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง

(4) อากาศยานที่ทำการบินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทำการบินทางการแพทย์ หรือการขนส่งสิ่งของเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) (Humanitarian aid, medical and relief flights)

(5) อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับภูมิลำเนา (Repatriation)

(6) อากาศยานขนส่งสินค้า (Cargo aircraft)

4.ให้ผู้โดยสารบนอากาศยานที่ได้ออกเดินทางจากท่าอากาศยานต้นทางก่อนประกาศนี้ใช้บังคับอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อและข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยต้องได้รับการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

ทั้งนี้ บัดนี้เป็นต้นไปหรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ประกาศ ณ วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2563

นายจุฬา สุขมานพ

ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

โฆษณา

ออมสินเปิดให้บริการตามปกติพรุ่งนี้ 7 เม.ย. เตรียมรองรับจ่ายเงินเยียวยา 5 พันวันแรก 8 เม.ย.

People Unity News : ออมสินเปิดให้บริการตามปกติตั้งแต่ 7 เม.ย.63 เป็นต้นไป ยังจำกัดผู้ใช้บริการต่อวันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เตรียมพร้อมรองรับประชาชนเบิกเงินเยียวยา 5,000 ของรัฐรอบแรก แนะนำ “ได้รับเงินเยียวยาโอนเข้าบัญชีแล้ว ถอนเงินที่ตู้ ATM ได้ทุกธนาคาร”

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้เตรียมโอนเงิน  ให้ผู้ที่ขอรับสิทธิ์ตาม “มาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน)” ในวันที่ 8 เมษายน 2563 เป็นวันแรกนั้น ธนาคารออมสินคาดว่าจะมีลูกค้าและประชาชนมาใช้บริการที่สาขาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อเปิดบัญชีใหม่ ผูกพร้อมเพย์ที่สาขาเพื่อให้การโอนเงินได้รับความสะดวก ธนาคารฯ จึงได้เตรียมความพร้อมบริหารจัดการการให้บริการที่สาขาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดรวมทั้งคำนึงถึงมาตรการด้านความปลอดภัยตามหลัก Social Distancing ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขยายไปในวงกว้างและเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมด้วย รวมถึงพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมนั้น โดยตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2563 เป็นต้นไป สาขาของธนาคารออมสินจะเปิดให้บริการตามปกติ แต่จะจำกัดการให้บริการหน้าเคาน์เตอร์เป็นบางธุรกรรม ได้แก่ จำกัดการเปิดบัญชีใหม่และผูกพร้อมเพย์วันละไม่เกิน 50 คิว และเบิกถอนเงินหน้าเคาน์เตอร์สาขาวันละไม่เกิน 100 คิว

ทั้งนี้ ขอแนะนำว่าการเบิกถอนเงินสดนั้น ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ได้รับโอนเงินเข้าบัญชีแล้ว สามารถถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มได้ทุกธนาคาร ส่วนลูกค้าของธนาคารออมสินสามารถใช้บริการผ่าน Mobile Banking on MyMo ของธนาคารออมสิน และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ และออนไลน์ของธนาคารฯได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือชดเชยรายได้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ จำนวน 5,000 บาทนั้น ธนาคารฯขอย้ำถึงหลักความปลอดภัย “3 ไม่” คือ 1.ไม่ต้องมาธนาคาร โดยสามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่บ้านผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันเท่านั้น ซึ่งเปิดรับลงทะเบียนอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีกำหนดปิดรับ 2.ไม่ต้องเปิดบัญชีใหม่ โดยใช้บัญชีธนาคารเดิมที่มีอยู่แล้วบัญชีใดก็ได้ และ 3.ไม่ต้องไปรับเงินที่ธนาคาร เพราะผู้ได้รับสิทธิ์จะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์หรือบัญชีที่ได้แจ้งในการลงทะเบียนไว้

โฆษณา

รัฐบาลสั่งซื้อยา Favipiravir รักษาผู้ป่วยโควิดจากญี่ปุ่นและจีน เม.ย.นี้เข้ามาอีก 2 แสนเม็ด

People Unity News : รัฐบาลมอบให้กระทรวงสาธารณสุข จัดหายา Favipiravir โดยสั่งซื้อจาก 2 แหล่งหลักคือญี่ปุ่นและจีน รวมแล้วกว่า 2.87 แสนเม็ด กระจายให้กับโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และ 12 เขตสุขภาพ รักษาผู้ป่วยโควิด-19 องค์การเภสัชกรรมพร้อมจัดหาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยมอบให้กระทรวงสาธารณสุข จัดหายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาสำคัญสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด -19 มีแหล่งผลิตอยู่ 2 แหล่งหลัก คือญี่ปุ่นเจ้าของลิขสิทธิ์และจีนซึ่งได้รับลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น รวมได้รับยามาแล้ว 87,000 เม็ด โดย เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2563 กรมควบคุมโรคได้นำเข้ายาจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 5,000 เม็ด  เมื่อวันที่ 2  มีนาคม 2563 รัฐบาลจีนได้บริจาคให้รัฐบาลไทยจำนวน 2,000 เม็ด  เมื่อ 12 มีนาคม 2563 กรมควบคุมโรคนำเข้ายาจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 40,000 เม็ด ส่งมอบให้สถาบันบำราศนราดูร ,กรมการแพทย์ ,โรงพยาบาลใน 12 เขตสุขภาพแล้ว และเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 องค์การเภสัชกรรมได้จัดซื้อจากญี่ปุ่น 40,000 เม็ด ส่งให้โรงพยาบาลราชวิถี 18,000 เม็ด เพื่อกระจายให้กับโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และ 12 เขตสุขภาพ จำนวน 18,000 เม็ด เพื่อจัดสรรให้กับโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน เหลือไว้สำรองสำหรับจัดสรรกรณีจำเป็นเร่งด่วนอีกจำนวน 4,000 เม็ด

ปัจจุบันได้มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ กับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 515  ราย ใช้ไปแล้ว 48,875 เม็ดเหลืออยู่ 38,126 เม็ด สามารถมีใช้ได้อย่างต่อเนื่องอีกถึง 4-5 เดือน ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2563 องค์การเภสัชกรรม ได้สั่งซื้อจากจีนและญี่ปุ่นเพิ่ม 200,000 เม็ด โดยจะมีการจัดส่งยาภายในเดือนเมษายนนี้ รวมแล้ว 287,000 เม็ด และจะมีการสั่งซื้อเพื่อสำรองเพิ่ม

“การจัดหายาต้านไวรัสในครั้งนี้ มีความยากลำบากเนื่องจากเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ ต้องใช้การดำเนินการทุกวิถีทาง ทั้งการเจรจาผ่านสถานทูตญี่ปุ่นและจีน ทั้งในแง่ของการซื้อและบริจาคมาโดยตลอด เพื่อสวัสดิภาพ ความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชาวไทยเราไม่รอเด็ดขาด ส่วนกรณีข่าวญี่ปุ่นจะบริจาคยาให้ 30 ประเทศนั้น ในเบื้องต้นทราบว่าญี่ปุ่นจะบริจาคสำหรับโครงการวิจัยเท่านั้น ซึ่งทั้งนี้หากประเทศใดต้องการบริจาคยาประเทศไทยยินดีรับการสนับสนุน เพื่อให้มียาช่วยรักษาชีวิตของประชาชนชาวไทยอย่างเร่งด่วน”  นายแพทย์วิฑูรย์ กล่าว

โฆษณา

ท่าอากาศยานดอนเมืองปรับเวลาเปิดให้บริการและจำกัดช่องทางเข้า-ออกภายในอาคาร

People Unity News : ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ประกาศปรับเวลาการเปิดให้บริการ และมาตรการในการจำกัดช่องทางเข้า – ออกภายในอาคารผู้โดยสาร ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ประกาศปรับเวลาการเปิดให้บริการ และมาตรการในการจำกัดช่องทางเข้า – ออกภายในอาคารผู้โดยสาร ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนี้

อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ทดม. เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

-ชั้น 1 (ขาเข้าระหว่างประเทศ) เปิดทางเข้าเฉพาะประตู 1 เท่านั้น สำหรับทางออกให้ใช้ประตู 1 และ 6

-ชั้น 3 (ขาออกระหว่างประเทศ) เปิดทางเข้า – ออก เฉพาะประตู 1 เท่านั้น

-ผู้ที่ใช้สะพานเชื่อมจากโรงแรมอมารีแอร์พอร์ต สามารถเข้าอาคารผู้โดยสาร ได้เฉพาะที่ ชั้น 1 ประตู 1 เท่านั้น

อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ทดม. เปิดให้บริการ เวลา 06.00 น. – 20.30 น.

-ชั้น 1 (ขาเข้าภายในประเทศ) เปิดทางเข้า – ออก เฉพาะประตู 15 เท่านั้น

-ชั้น 3 (ขาออกภายในประเทศ) เปิดทางเข้าเฉพาะประตู 14 เท่านั้น สำหรับทางออกให้ใช้ประตู 15

ทางเชื่อมระหว่างอาคารจอดรถ 7 ชั้น และอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ทดม. กำหนดช่องทางการเข้า – ออก ดังนี้

-ชั้น 2 เปิดเฉพาะทางเข้า ตั้งแต่เวลา 04.45 น. – 20.30 น. สำหรับทางออกเปิด 24 ชั่วโมง

-ชั้น 1, 3 และ 4 ปิดการใช้งาน

สำหรับ ผู้ที่ผ่านประตูทางเข้าต้องผ่านการคัดกรองด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิ หากมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าหรือเท่ากับ 37.5 องศาเซลเซียส เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้พักรอ และทำการตรวจซ้ำอีกครั้ง ซึ่งหากยังตรวจพบอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าค่าที่กำหนด จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าอาคาร ในกรณีที่เป็นผู้โดยสาร ทดม.จะประสานทางสายการบินที่ผู้โดยสารสำรองที่นั่งไว้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่แพทย์ร่วมกันประเมินอาการ เพื่อพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ผู้โดยสารเดินทางหรือไม่ ทั้งนี้ ทดม.ขอความร่วมมือให้ใช้ประตูทางเข้า-ออกที่กำหนดไว้เท่านั้น จึงขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

นอกจากนี้ ทดม.ยังคงเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารตลอดเวลาหากได้รับการประกาศแจ้งเตือนการยกระดับในเรื่องดังกล่าว และประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์และมาตรการต่างๆอย่างใกล้ชิด หากพบเห็นปัญหาการให้บริการ หรือปัญหาอื่นๆ สามารถแจ้งไปยัง AOT Contact Center 1722 หรือศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทดม.โทร 0 2535 1192 ตลอด 24 ชั่วโมง

โฆษณา

ด่วน!ออมสินแจ้งเลื่อนลงทะเบียนยื่นกู้ฉุกเฉินเป็น 15 เม.ย.63 ย้ำยื่นทางออนไลน์เท่านั้น

People Unity News : ธนาคารออมสินเลื่อนเปิดรับลงทะเบียนพร้อมกรอกข้อมูลใบสมัครออนไลน์ช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) “โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน (สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ)” และ “โครงการสินเชื่อพิเศษ (สำหรับผู้มีรายได้ประจำ)” ตามมติ ครม. จากวันที่ 1 เม.ย.63 เป็นวันที่ 15 เม.ย.63 เกรงลูกค้าสับสนกับการลงทะเบียนรับ 5,000 บาทของรัฐบาล ย้ำ!!…ลงทะเบียนพร้อมกรอกข้อมูลใบสมัครออนไลน์ในเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th เท่านั้น

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารออมสินได้แจ้งประชาสัมพันธ์เรื่อง เปิดให้บริการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) และ สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยเปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความจำนงใช้บริการผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน ในวันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป และให้เริ่มกรอกข้อมูลใบสมัครออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน ได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นไป นั้น ธนาคารฯขอเลื่อนกำหนดการดังกล่าวเป็น เปิดให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบและต้องการเข้าโครงการสินเชื่อดังกล่าว เริ่มลงทะเบียนแจ้งความจำนงใช้บริการและกรอกข้อมูลใบสมัครออนไลน์ ได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th เท่านั้น เนื่องจากเกรงว่าประชาชนจะเกิดความสับสนกับการลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือชดเชยรายได้จากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งกระทรวงการคลังได้เปิดรับลงทะเบียนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา และกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

สำหรับ “โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน” ตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ให้บริการด้วยสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.10% ต่อเดือน (Flat Rate) ผ่อนชำระคืนนานถึง 2 ปี โดยไม่ต้องชำระเงินกู้ 6 งวดแรก ที่สำคัญคือไม่ต้องใช้หลักประกันใดๆ คุณสมบัติผู้กู้ มีสัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน สามารถติดต่อได้ ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 30,000 บาท ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถโดยสารแท็กซี่-สามล้อ มัคคุเทศก์ เป็นต้น

ขณะที่ “โครงการสินเชื่อพิเศษ” ตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อเสริมสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ด้วยสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน (Flat Rate) ให้ผ่อนชำระคืนนานถึง 3 ปี โดยการค้ำประกันสามารถใช้บุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้ เพียงมีอายุ 20 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน สามารถติดต่อได้ เป็นผู้มีรายได้ประจำแต่รายได้ลดลงหรือขาดรายได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และภัยอื่นๆ ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ ธนาคารออมสินเปิดให้บริการจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

โฆษณา

กทม.ปิดพื้นที่เพิ่มเติม ห้องประชุม/ห้องจัดเลี้ยงโรงแรม สถานที่จัดเลี้ยงทั้งในหรือนอกโรงแรม 

People Unity News : โฆษก กทม.แจง ประกาศปิดพื้นที่เพิ่มเติม และอนุโลมให้เปิดบริการไปรษณีย์ให้ห้าง โรงอาหารในสถานพยาบาล และขายดอกไม้สด เพิ่มเติม

วันนี้ (27 มี.ค. 2563) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “COVID-19” โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงรายละเอียดมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้พิจารณาประกาศปิดสถานที่เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้แก่ 1. สนามแข่งขัน เช่น สนามแข่งขันนกพิราบ ทุกสนามที่มีการแข่งขันทั้งคนและสัตว์ 2. สนามเด็กเล่น ในสวนสาธารณะและหมู่บ้าน 3. สถานที่แสดงมหรสพหรือมีการแสดง เช่น ลานแสดงดนตรีในพื้นที่สาธารณะ 4. พิพิธภัณฑ์สถาน และ 5. ห้องสมุด โดยขยายคำสั่งจากเดิมประกาศถึงวันที่ 12 เม.ย. 63 เป็น 30 เม.ย. 63 ต่อมาคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้พิจารณาปิดและอนุโลมเปิดสถานที่เพิ่มเติมโดยกรุงเทพมหานคร ดังนี้ สถานที่ประกาศปิด 1. ห้องประชุม/ห้องจัดเลี้ยงภายในโรงแรม สถานที่จัดเลี้ยงไม่ว่าจะในหรือนอกโรงแรม  2. โต๊ะสนุกเกอร์และบิลเลียด 3. สถานรับเลี้ยงเด็กของรัฐและเอกชน ยกเว้นสถานรับเลี้ยงเด็กในโรงพยาบาล และ 4. คลินิกเวชกรรมส่วนที่เสริมความงาม  สำหรับสถานที่ที่อนุโลมให้เปิด 1. โรงอาหารในสถานพยาบาล โดยให้จัดเว้นระยะห่างและรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด 2. ตลาดสดหรือตลาดนัดที่อนุญาตให้ขายดอกไม้เพิ่มได้  3. หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจในห้างสรรพสินค้า เช่น ไปรษณีย์ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว (Passport) ประกาศฯ มีผลในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 63 ยกเว้นสถานรับเลี้ยงเด็ก ให้มีผลวันที่ 31 มี.ค.63 มีผลถึง 30 เม.ย. 63 ทั้งนี้ โฆษกกรุงเทพมหานคร เข้าใจถึงความจำเป็นและความเดือดร้อนที่พี่น้องประชาชน แต่ต้องขอให้ร่วมมือกันเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ให้ได้โดยเร็ว

โฆษณา

หากเราใส่หน้ากากผ้าอยู่ มีผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 มาจามใส่ จะส่งผลให้เราติดโรคหรือไม่??

People Unity News : หากเราใส่หน้ากากผ้าอยู่ และมีผู้ป่วยจากการติดไวรัสโควิด-19 มาจามใส่ จะส่งผลให้เราติดโรคหรือไม่??

Q: หากเราใส่หน้ากากผ้าอยู่ และมีผู้ป่วยจากการติดไวรัสโควิด-19 มาจามใส่ จะส่งผลให้เราติดโรคหรือไม่??

A: มีโอกาสติดโรค เพราะว่าปัจจุบันหลักฐานทางการแพทย์ที่มาสนับสนุนว่าการป้องกันการติดเชื้อแบบ 100 % นั้นยังไม่พบ ดังนั้นแม้จะใส่หน้ากากผ้าเพื่อป้องกัน แต่เมื่อเราไปสัมผัสฝอยละอองแบบตรงๆ เช่นนี้ ก็มีโอกาสติดโรคได้ แต่ทั้งนี้การใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดีจึงควรใส่เมื่อต้องออกไปในที่สาธารณะ

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

COVID-19

โฆษณา

ผู้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องเสียชีวิตทุกรายหรือไม่??

People Unity News : ผู้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องเสียชีวิตทุกรายหรือไม่??

Q: ผู้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องเสียชีวิตทุกรายหรือไม่??

A: ไม่ทุกราย โดยพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 80 สามารถหายจากอาการป่วยได้เอง และพบผู้มีอาการป่วยหนักอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 เท่านั้น ทั้งนี้พบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อไวรัสฯแล้วอาจถึงขั้นเสียชีวิต คือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

COVID-19

โฆษณา

ครม.มีมติยืดเวลานำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39

People Unity News : ครม.ออกมาตรการเยียวยาท่องเที่ยว แรงงาน ก.พาณิชย์ยืนยันไข่ไก่เพียงพอ ไม่ต้องกักตุน

วันนี้ (24 มี.ค.2563) ณ ศูนย์แถลงข่าวฯ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายประโยชน์ เพ็ญสุต รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ร่วมแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 และมาตรการการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า จากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพียงที่เดียวเท่านั้น พร้อมกล่าวประชาสัมพันธ์การเจริญพระพุทธมนต์บทรัตนสูตร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 25 มี.ค. 63 เวลา 16.00 น. เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลและเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6 วัดและเมืองหลักๆ 3 วัดในแต่ละภาค ซึ่งจะไม่มีเปิดให้ประชาชนเข้าไปร่วมฟังที่พระอุโบสถ แต่จะถ่ายทอดสดทางวิทยุกระจายเสียง และทางสถานีโทรทัศน์ NBT โดยพระทุกรูปจะนั่งห่างกันเกิน 1 เมตร ล้างมือและการทำความสะอาดพระอุโบสถ ก่อนการปฏิบัติกิจสงฆ์ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

จากนั้น  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ได้มีการอนุมัติหลักการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีการประกาศใช้ในวันมะรืนนี้คือ 26 มีนาคม เนื่องจากต้องมีระยะเวลาเตรียมการสื่อสารกับพี่น้องประชาชน ให้เข้าใจถึงหลักการและเหตุผลและความจำเป็นในขนาดนี้ รวมทั้งเตรียมการจัดโครงสร้างศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน เมื่อประกาศใช้แล้วจะมีการประชุมศูนย์อำนวยการฉุกเฉินฯ ณ ทำเนียบรัฐบาลทุกเช้า ทั้งนี้ ขอให้รอความชัดเจนโดยนายกรัฐมนตรีจะได้ชี้แจงรายละเอียดมาตรการต่างๆต่อไป โดยจะเป็นการแถลงข่าวผ่านศูนย์แถลงข่าวโควิด-19 ทำเนียบ ช่องทางนี้เพียงที่เดียว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยมติคณะรัฐมนตรีมีเห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ประสบผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เสนอโดยกระทรวงการคลังเป็นมาตรการระยะที่สองเพิ่มเติมจากมาตรระยะที่หนึ่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม และคงจะมีมาตรการระยะอื่นๆตามมาเพื่อดูแลพี่น้องให้ครบทุกกลุ่มทุกภาคส่วนของไทย

สำหรับหน่วยงานราชการอื่นๆที่เสนอเพิ่มเติม โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง กำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. 2555  โดยผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียน ในวันที่มารับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลางหรือสาขาที่มีอำนาจหน้าที่ มีรายละเอียดของหลักประกันมี ดังนี้ 1) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทเฉพาะพื้นที่ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท  2) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทภายในประเทศ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท 3) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท และ 4) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภททั่วไป ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท  ซึ่งเป็นการบางเบาภาระให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

กระทรวงแรงงานเสนอการผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 2562 – 2563 ให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ซึ่งนายจ้างหรือผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 และไม่สามารถดำเนินการขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนด รวมถึงผู้ติดตามให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  ในส่วนของกระทรวงแรงงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  แต่หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าวขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

อีกฉบับหนึ่งที่จะรองรับมาตรการโควิด-19 คือ ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. ซึ่งมีการกำหนดบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 จึงมีการแก้ไข คำนิยาม “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า อัคคีภัย  วาตภัย อุทกภัย  ธรณีพิบิติภัย หรือภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ตลอดจนภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ  กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยดังกล่าว  ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ  แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 180 วัน  และกำหนดให้กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค  ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง ไม่เกินหกสิบวัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการชดเชยกำลังซื้อที่ลดลงจากการไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างการหยุดการประกอบกิจการ  และร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน พ.ศ. ….  ให้นายจ้างที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ดังนี้ ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงเงินนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563 (2) ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาตรา 39 วรรคสาม ดังนี้ เงินสมทบงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563

ในช่วงท้าย นายประโยชน์ เพ็ญสุต รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้กล่าวถึงการมาตรการรองรับสินค้าอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะไข่ไก่ที่ว่า สถานการณ์ในการผลิตสินค้าของประเทศไทยขณะนี้นั้น มีวัตถุดิบและกำลังการผลิตอย่างเพียงพอ แต่เมื่อประชาชนเริ่มซื้อสินค้าสำรองเนื่องจากการปิดห้างสรรพสินค้า อาจทำให้สินค้าบางชนิดขาดหายจากการวางตลาดไป โดยทางกรมการค้าภายในสั่งให้ผู้ตรวจราชการลงพื้นที่โรงงานเพื่อตรวจสอบว่ายังมีสินค้าอยู่เพียงพอ ขอยืนยันว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าด้านอุปโภคและบริโภคของประเทศไทย ทั้งยังขอความร่วมมือกับบริษัทผู้ค้าที่บริการส่งสินค้าด้วยตนเองหรือบริษัทขนส่งสินค้าให้เตรียมความพร้อม หากประชาชนไม่สะดวกไปซื้อด้วยตนเอง หรือจำเป็นจะต้องเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน สำหรับไข่ไก่  มีปริมาณการผลิตไข่ไก่ในปีนี้ยังคงเพียงพอ แต่ด้วยความต้องการซื้อที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อสำรองไว้ อาจทำขาดตลาดได้บางเวลา จึงอยากขอความร่วมมือของประชาชนอย่ากักตุนไข่ สำหรับราคาไข่ไก่นั้น ทางกรมการค้าภายในนั้นยืนยันว่าหากผู้ใดที่จำหน่ายไข่ไก่เกินราคา จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

โฆษณา

รัฐบาลขอประชาชนอย่าไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 เองหากไม่เข้าเกณฑ์เสี่ยง

People Unity News : รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชน อย่าไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 เอง หากไม่เข้าเกณฑ์เสี่ยง ร่วมใจกันสงวนทรัพยากรเพื่อผู้ป่วยจำเป็น

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง  ไม่มีอาการไข้  ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย  ไม่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ประกาศเป็นพื้นที่ติดโรคหรือพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง  อย่าตัดสินใจไปโรงพยาบาลเองเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพราะขณะนี้ มีคนจำนวนมาก ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งที่โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้บริการได้ และน้ำยาที่ใช้ในการตรวจเชื้อไม่เพียงพอ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งจัดหาให้สถานพยาบาลเป็นการด่วน

ทั้งนี้ อยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่า หากคนปกติทั่วไป ไม่มีอาการไข้ ไม่ไปอยู่ร่วมหรือมีประวัติสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงหรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพราะเมื่อไม่มีอาการอะไร ไม่มีไข้  ไปตรวจ เมื่อรู้ผล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย เพราะต้องกักตนเองอีก 14 วัน  จึงอยากขอให้เก็บน้ำยาให้สำหรับคนหรือผู้ป่วยที่แพทย์ประเมินว่ามีโอกาสสูงในการมีเชื้อโควิดดีกว่า

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังยืนยันตามคำแนะนำของแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขว่า  ประชาชนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถใช้หน้ากากผ้าแทนได้  เพื่อที่จะได้เก็บสำรองหน้ากากอนามัยให้หมอ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานในด่านหน้ากับผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาลขณะนี้ได้มีไว้ใช้ มั่นใจคนไทยจะร่วมมือร่วมใจฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

โฆษณา

Verified by ExactMetrics