วันที่ 29 เมษายน 2024

ข่าวดี! กรมที่ดินประกาศพื้นที่สำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ใน 15 จังหวัด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 มีนาคม 2567 ทำเนียบ – โฆษกรัฐบาลเผยข่าวดี กรมที่ดินประกาศพื้นที่สำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ใน 15 จังหวัด ประชาชนสามารถจดทะเบียนนิติกรรมออนไลน์จังหวัดไหนก็ได้ใน 15 จังหวัดนี้ ตั้งเป้าทั่วทั้งประเทศในอนาคต

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน โดยกรมที่ดินประกาศพื้นที่สำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ใน 15 จังหวัด สามารถจดทะเบียนนิติกรรมออนไลน์ระหว่างกันได้สะดวก ลดเวลา ลดการเดินทาง ตอบโจทย์ E-Government

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมที่ดินจัดทำสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ สามารถรถจดทะเบียนที่ดินต่างสำนักงานแบบออนไลน์ได้แล้วใน 15 จังหวัด 102 สำนักงาน ได้แก่ ภาคเหนือ เชียงใหม่, ภาคตะวันตก เพชรบุรี, ภาคใต้ สงขลา, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนองคาย บึงกาฬ ขอนแก่น อุบลราชธานี และภาคกลาง กรุงเทพฯ นครปฐม ปทุมธานี นครนายก นนทบุรี สิงห์บุรี สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา

ประชาชนสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนนิติกรรมที่จังหวัดใดก็ได้ เสมือนไปยื่นคำขอที่สำนักงานที่ดินที่ที่ดินตั้งอยู่ เช่น หากจะซื้อที่ดินที่ตั้งอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ซื้อกับผู้ขายสามารถยื่นคำขอซื้อขายที่ดินที่จังหวัดสงขลา กรุงเทพฯ หรือบึงกาฬ จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งใน 15 จังหวัดก็ได้ เจ้าพนักงานที่ดินสามารถจดทะเบียนแบบออนไลน์แล้วเสร็จภายใน 1 วันทำการ

“รัฐบาลตั้งใจพัฒนาแนวทางการทำงานเพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชน นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับปรุงการทำงาน เพื่อลดเวลา ลดการเดินทางของประชาชน โดยตั้งเป้าขยายสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศในอนาคต ตามแนวทางพัฒนา E-Goverment ของรัฐบาล” นายชัย กล่าว

Advertisement

 

ครู ‘สอนดี’ ต้องจบศึกษาศาสตร์หรือไม่ : ข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ TDRI

People unity news online : จากการที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศการสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการครูปี 2560 โดยเปิดรับสมัครผู้จบการศึกษาจากสาขาอื่นที่ไม่ใช่ศึกษาศาสตร์ ได้เกิดข้อถกเถียงว่านโยบายนี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเปิดรับสมัครเฉพาะผู้จบสาขาศึกษาศาสตร์หรือไม่

ผู้เขียนเห็นว่าระบบการศึกษาควรมีการเปิดรับทั้งสองวิธีการควบคู่กัน โดยการเปิดรับสมัครผู้จบสาขาศึกษาศาสตร์เป็นวิธีการหลัก ส่วนการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปเป็นวิธีเสริมสำหรับพื้นที่ที่มีความขาดแคลนครูในสาขาขาดแคลนและการสรรหาครูอาชีวศึกษาซึ่งต้องการการบริหารที่แตกต่างจากครูสายสามัญ หากไม่มีความขาดแคลนครู การเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปจะเป็นการสิ้นเปลือง เพราะต้องเพิ่มงบประมาณในการคัดเลือกและการฝึกอบรมเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การวัดความขาดแคลนครูควรพิจารณาจากจำนวนผู้สอบผ่านรายสาขาเปรียบเทียบกับความต้องการในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการควรเปิดเผยต่อสาธารณะ

ผู้เขียนยังเห็นว่าการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการคัดเลือกคนเก่งและลดความขาดแคลนครูบางสาขา แต่ไม่สามารถรับประกันว่าจะได้ครูสอนดี ซึ่งหมายถึงครูที่มีความรู้ความสามารถด้านการสอนทั่วไปและการสอนในวิชาเฉพาะ เช่น ครูคณิตศาสตร์ควรสามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ว่า ทำไมนักเรียนเข้าใจผิดว่า “0.2 x 6 มากกว่า 6/0.2” หรือหาตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่ช่วยให้นักเรียนใจความหมายของ “1¼ หารด้วย ½” ได้

การสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการในปัจจุบันยังเป็นการคัดเลือกคนเก่งเนื้อหาวิชามากกว่าครูสอนดี เพราะข้อสอบวัดเฉพาะเนื้อหาความรู้วิชาเอก ความรู้รอบตัวและความรู้เรื่องกฎหมายการศึกษา  ไม่มีการทดสอบความสามารถด้านการสอนในวิชาเอก นอกจากนี้ ผู้สอบผ่านบางคนจะได้สอนนักเรียน ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการสอน

โดยปัจจุบัน คุรุสภาอนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเข้าสอนได้ชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี และกำหนดเพียงว่าผู้นั้นต้องพัฒนาตนเองจนได้รับใบอนุญาตฯภายในระยะเวลาดังกล่าว

หากกระทรวงศึกษาธิการต้องการที่จะเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป  ก็ควรเร่งปรับปรุงการคัดเลือก โดยเพิ่มการทดสอบความสามารถด้านการสอนด้วย และควรต้องจัดหลักสูตรเตรียมความพร้อมด้านการสอนอย่างเข้มข้น ดังกรณีตัวอย่างโครงการ ‘Boston Teacher Residency’ ที่เขตพื้นที่บอสตันเปิดโครงการรับสมัครบุคคลทั่วไปเพื่อลดความขาดแคลนครูสาขาคณิตศาสตร์ โดยให้ทุนการศึกษาซึ่งช่วยดึงดูดคนเก่ง และมีการคัดเลือกผู้สมัครผ่านการทดลองสอนและการทำกิจกรรม ผู้สอบผ่านต้องเข้ารับการเตรียมความพร้อมด้านทฤษฎีก่อนเปิดภาคเรียนและต้องฝึกฝนกับครูพี่เลี้ยงในช่วงเปิดเทอม โดยการสังเกตการสอนของครูพี่เลี้ยง ผลปรากฏว่านักเรียนที่เรียนกับครูในโครงการนี้มีพัฒนาการของผลการเรียนดีกว่านักเรียนกลุ่มอื่น นอกจากนี้  ร้อยละ 86 ของครูในโครงการนี้คงทำงานสอนต่อเนื่องไปนานกว่า 3 ปี ในขณะที่ครูทั่วไปเพียงร้อยละ 53 เท่านั้นที่สอนนานกว่า 3 ปี

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าผู้จบหลักสูตรศึกษาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นครูสอนดีทุกคน จากข้อมูลของ ‘โครงการทดสอบความรู้นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ปีสุดท้าย วิชาเอกคณิตศาสตร์ ในปี 2551 (The Teacher Education and Development Study in. Mathematics: TEDS-M 2008)’ ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมทั้ง 17 ประเทศ นักศึกษาของคณะศึกษาศาสตร์ไทยกลุ่มเก่งที่สุด 20% แรก (TOP 20) มีผลการสอบวิชาการสอนคณิตศาสตร์เทียบเท่ากับคะแนนเฉลี่ยของนักศึกษาสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 ของการทดสอบ ขณะที่กลุ่มอ่อนที่สุดมีผลการสอบใกล้เคียงกับคะแนนเฉลี่ยของนักศึกษาชิลีซึ่งอยู่ในอันดับสุดท้าย

นอกจากนี้ โครงการทดสอบนานาชาติ TIMSS 2011 (Trends in International Mathematics and Science Study) ยังพบด้วยว่า ในปี 2554 ร้อยละ 55 ของนักเรียน ม.2 ของไทย ซึ่งเรียนกับครูรุ่นใหม่ (ประสบการณ์การสอนน้อยกว่า 5 ปี) ถูกสอนให้จําสูตรและวิธีการทําโจทย์เป็นหลักทุกคาบเรียนมากกว่าได้รับการสอนให้เข้าใจเนื้อหาจริงๆ

คณะศึกษาศาสตร์ในประเทศไทยควรปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของตนด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การรับนักศึกษา

คณะศึกษาศาสตร์ที่บางแห่งรับนักศึกษามากเกินความสามารถในการดูแล หลักสูตรที่คุรุสภากำหนดยังไม่มีกลุ่มวิชาการสอนในวิชาเฉพาะ ทั้งที่ประเทศที่มีระบบการศึกษาคุณภาพสูงให้ความสำคัญมาก เช่น มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิในประเทศฟินแลนด์มีกลุ่มวิชานี้ประมาณร้อยละ 21 ของหน่วยกิตทั้งหมด และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพยังขาดการบริหารจัดการที่ดี โดยโครงการ TEDS-M 2008 ได้สำรวจพบว่ามากกว่าครึ่งของนักศึกษาไม่ได้รับการดูแลจากครูพี่เลี้ยง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงเรียนและครูพี่เลี้ยงไม่มีความพร้อมและมีภาระงานหนักอยู่แล้ว ปัญหาเหล่านี้น่าจะแก้ไขได้โดยการปรับปรุงหลักสูตรและการตั้งโรงเรียนเพื่อทำหน้าที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ คุรุสภาควรเพิ่มความเข้มแข็งในการกำกับดูแลคุณภาพผู้จบการศึกษาและคณะศึกษาศาสตร์ โดยการสอบเพื่อออกใบอนุญาตฯที่จะเริ่มในปี 2561 ควรมีการทดสอบความสามารถด้านการสอนในวิชาเฉพาะด้วย นอกจากความรู้ด้านเนื้อหาวิชาและการสอนทั่วไป และการประเมินหลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์ควรพิจารณาผลการสอบเพื่อออกใบอนุญาตและผลการสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการครูร่วมกับตัวชี้วัดอื่นด้วย ซึ่งในกรณีผลประเมินต่ำ ควรให้คณะศึกษาศาสตร์นั้นลดจำนวนการรับนักศึกษาในปีต่อๆไป

ความร่วมมือระหว่างฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นผู้กำกับโรงเรียน และคณะศึกษาศาสตร์และกลุ่มครู เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิรูประบบการบริหารบุคลากรทั้งกระบวนการ การปฏิรูปการฝึกหัดและการคัดเลือกครูเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน แต่ควรพิจารณาข้อมูลต่างๆ ประกอบอย่างรอบด้าน เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยยึดผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ

ครู สอนดีต้องจบศึกษาศาสตร์หรือไม่ : ข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ TDRI

โดย ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

People unity news online : post 3 เมษายน 2560 เวลา 09.58 น.

รมต.คมนาคมเผยรัฐบาลกำลังเชื่อมโยงระบบคมนาคมบก-ราง-น้ำ-อากาศทั่วประเทศ

People unity news online : รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยในงาน Meet the Press เตรียมเชื่อมระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบทางบก ราง น้ำ และอากาศ ไปสู่ระบบคมนาคมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อความสุขของคนไทย

8 มีนาคม 2561 เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าวในงาน Meet the Press หัวข้อ “ทุกเรื่องที่อยากรู้เกี่ยวกับระบบราง” เพื่อเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศไปสู่ One Transport for All คมนาคมรวมเป็นหนึ่งเพื่อความสุขของคนไทยทุกคน

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงภาพรวมเกี่ยวกับความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามนโยบายรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นที่ฐานเป็นระยะเวลามานาน ทำให้เกิดปัญหาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการเดินทางที่ไม่สะดวก และมีปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองหลวงและเมืองหลักในภูมิภาคต่างๆของประเทศ จึงทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆ โดยหากเทียบการลงทุนโลจิสติกส์ในอาเซียนประเทศไทยจะอยู่ในอันดับที่ 3 ทุกเรื่อง รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงให้เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การประหยัดพลังงาน และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น โดยมีการเชื่อมต่อการขนส่งคมนาคมทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ อย่างเป็นระบบ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่จะเร่งขับเคลื่อนพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครให้ครบทั้งระบบว่า รัฐบาลได้มีการเตรียมการในเรื่องนี้มาโดยตลอดเริ่มตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือ สายสีม่วง สีม่วงใต้ สายสีส้มตะวันออก สายสีแดงเข้ม สายสีแดงอ่อน ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่ารัฐบาลจะสามารถอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯได้ครบภายในปี 2561 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถประหยัดพลังงาน ประชาชนเดินทางได้สะดวก และมีเวลาให้กับครอบครัวได้มากขึ้น อันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น

สำหรับการขับเคลื่อนระบบรางจะมีการเชื่อมกรุงเทพฯกับจังหวัดต่างๆ โดยจะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนรถไฟทางคู่ เนื่องจากปัจจุบันมีเพียง 9% เท่านั้น จากระยะทางรถไฟทั้งหมด 4,000 กิโลเมตร โดยระยะที่1 จะเร่งดำเนินการให้รถไฟทางคู่จาก 9% เพิ่มขึ้นมาที่ 33%  ระยะที่ 2 รถไฟทางคู่เชื่อมเมืองต่างๆจำนวน 9 โครงการ ซึ่งจะมีการนำเสนอในปี 2561 และหากปีนี้มีการอนุมัติเพิ่มเติมก็จะทำให้รถไฟทางคู่เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 67% ของระยะทางรถไฟทั้งหมด 4,000 กิโลเมตร และที่เหลือจะดำเนินการในระยะที่ 3 อยู่ในระหว่างการวางแผนดำเนินการ โดยได้มีการกำหนดรถไฟทางคู่ในเส้นทางหลักทั้งเส้นทางที่จะไปทางเหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามแผนที่กำหนดไว้ นอกจากนี้จะมีการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่สายเด่นชัย-เชียงราย และเส้นทางบ้านไผ่ – นครพนม อีกทั้งยังมีการพิจาณาศึกษาที่จะดำเนินการเชื่อมต่อเส้นทางบ้านไผ่-นครสวรรค์ หรือพิษณุโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเลือกเส้นทางที่เหมาะสม และจากเส้นทางนครสวรรค์หรือพิษณุโลกจะเชื่อมต่อไปยังจังหวัดตากและแม่สอด ทำให้มีทั้งเส้นทางรถไฟและถนนเชื่อมระหว่างตะวันตกกับภาคตะวันออกตามกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับอาเซียน

ขณะเดียวกันจะมีการดำเนินการพัฒนารถไฟความเร็วสูงระยะทางทั้งหมด 2,506 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือกและอำนวยความสะดวกในการเดินทางที่รวดเร็วขึ้นสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเส้นทางที่ 1 คือ เส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย จากหนองคายเชื่อมไปประเทศลาวและต่อไปยังคุนหมิงประเทศจีน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน เพื่อเชื่อมโยงระบบรถไฟระหว่างประเทศ และเส้นทางที่ 2 คือ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 672 กิโลเมตร เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ ทั้งจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย เป็นต้น

ส่วนการดำเนินการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) โดยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม. สนามบินอู่ตะเภาสามารถเชื่อกรุงเทพฯได้ใน 45 นาที (เทียบกับ 2-3 ชั่วโมงโดยรถยนต์) ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถนำโครงการดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม 2561 จากนั้นคณะกรรมการ TOR จะออก TOR ประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2561 และประมาณเดือนมิถุนายน- เดือนกรกฎาคม 2561 จะสามารถประกวดราคาได้

รวมทั้งได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนต่างๆที่มีอยู่เดิมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถมีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ และถนนที่มีการก่อสร้างเพิ่มใหม่ในเส้นทางยุทธศาสตร์และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียน และกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ

อีกทั้งจะมีการเชื่อมถนนสู่ประตูเศรษฐกิจ เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยผลักดันทางหลวงเศรษฐกิจระหว่างเมือง 3 สายทาง ได้แก่ สายบางประอิน-นครราชสีมา สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งจะสามารถเพิ่มความสะดวกของการเดินทางไปสู่เมืองท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกและพื้นที่ EEC

สำหรับการแก้ไขปัญหาสนามบินแออัดนั้น จะมีการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค ได้แก่ การก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ (ท่าอากาศยานเบตง) การพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับผู้โดยสาร 3 แห่ง (โครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก การพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ การพัฒนาท่าอากาศยานสกลนคร) การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) และเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของประเทศ รองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคน/ปี รวมทั้งมีโครงการพัฒนาท่าอากาศสุวรรณภูมิระยะที่ 2 (ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ลานจอดอากาศยานประชินอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ทิศใต้) แผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 2 เชน เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารอาคาร 2 รวมทั้ง เตรียมการปรับปรุงสนามบินในภูมิภาค 28 แห่ง เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการสัญจรทางน้ำ จะดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบับ (เปิดบริการในปี 2561) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพคือ ต้องมีการเชื่อมต่อทั้งระบบอย่างครบวงจรทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ โดยทุกสถานีของรถไฟ ท่าเรือ และสนามบินจะต้องมีรถขนส่งสาธารณะรองรับสำหรับบริการผู้โดยสาร ประชาชน และนักท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมต่อไปยังจุดต่างๆ เช่น ในเมือง ท่าเรือ หรือแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

People unity news online : post 10 มีนาคม 2561 เวลา 12.40 น.

คสช.ออกคำสั่ง ม.44 ให้คนไม่ได้เป็นข้าราชการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยและราชภัฎได้

People unity news online :  เมื่อวาน (28 มีนาคม 2560) ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. ได้มีการพิจารณาคำสั่ง คสช. เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา อธิการบดีของมหาวิทยาลัย และราชภัฎต่างๆ จะมีระเบียบหลักเกณฑ์ และกฎหมายของตนเองในการดำเนินการ ว่าสามารถที่จะเลือกบุคคลใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติมาทำหน้าที่ดังกล่าว โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นข้าราชการที่ยังไม่เกษียณอายุ แต่กฎระเบียบนี้ไปขัดกับกฎหมายกลางในเรื่องของระเบียบข้าราชการครู ซึ่งอธิการบดีจะต้องเป็นข้าราชการ ดังนั้น คนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการในกฎหมายกลางฉบับดังกล่าวจึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นอธิการบดีได้ โดยวันนี้ ที่ประชุม คสช. ได้มีคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 เพื่อเปิดโอกาสสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการและเป็นข้าราชการสามารถที่ทำหน้าที่เป็นอธิการบดีได้ จากเดิมที่ตำแหน่งอธิการบดีต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น การเปิดโอกาสดังกล่าวจะทำให้สามารถเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้มากยิ่งขึ้น

People unity news online : post 28 มีนาคม 2560 เวลา 11.03 น.

รัฐบาลผลักดันโครงการด้านน้ำ ขับเคลื่อนเกือบ 3,000 โครงการ

People Unity News : 11 กุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลโชว์ผลงานด้านน้ำ 2 พื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 4 ปี ขับเคลื่อนเกือบ 3,000 โครงการ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนในทุกมิติทั้งด้านการเกษตร อุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน ล่าสุดกับผลความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 2 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งรัฐบาลได้มีการเร่งรัดผลักดันการขับเคลื่อนโครงการด้านน้ำตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) รวมเกือบ 3,000 โครงการ แบ่งเป็น จังหวัดพิษณุโลก 1,881 โครงการ และจังหวัดนครสวรรค์ 1,087 โครงการ เช่น ประตูระบายน้ำท่านางงามพร้อมอาคารประกอบ โครงการก่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมน้ำเสีย เทศบาลนครพิษณุโลก แก้มลิงคลองละหานพร้อมอาคารประกอบ แก้มลิงบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวัดไทรย์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บทน้ำ 20 ปี เพื่อให้ทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดความมั่นคง ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนต่อเนื่องให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนทุกฝ่ายในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายและให้มีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยม ที่รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งประตูระบายน้ำท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็น 1 ใน 4 โครงการที่จะบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดจะทำให้สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมได้เพิ่มขึ้น และมีปริมาณน้ำเพียงพอจัดสรรให้กับภาคการเกษตร รวมถึงช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินของพื้นที่ข้างเคียงด้วย

รวมทั้งการเร่งดำเนินการโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่าน ต.พลายชุมพล อ.เมือง จ.พิษณุโลก ให้เป็นไปตามแผนงาน และป้องกันไม่ให้ถูกกัดเซาะเพิ่มเติมโดยเร่งดำเนินการแก้ไขให้ครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ให้บูรณาการการดำเนินงานกับทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำประมง การเกษตรกรรม การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ เพื่อให้บึงบอระเพ็ดกลับมาเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชน และระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมโดยรอบดีขึ้นตามไปด้วย” นายอนุชากล่าว

Advertisement

ผบ.ทบ. ตรวจเยี่ยมคัดเลือกทหารกองเกินระบบออนไลน์

People Unity News : 28 มกราคม 66 ผบ.ทบ.ตรวจเยี่ยมคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ระบบออนไลน์ ณ มทบ.11

วันนี้ (28 ม.ค.66) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.ตรวจเยี่ยมการรับสมัครและการคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ โดยมี พล.ต.ปัญญา ตั้งความเพียร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ให้การต้อนรับ ณ มณฑลทหารบกที่ 11

ในการนี้ผู้บัญชาการทหารบกได้รับฟังการบรรยายสรุปขั้นตอนการปฏิบัติการคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ จากนั้นผู้บัญชาการทหารบก ได้ตรวจเยี่ยมการคัดเลือกฯ ขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ การตรวจหลักฐานและวัดขนาดร่างกาย และได้ตรวจเยี่ยมขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ การตรวจร่างกาย นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการปฏิบัติตามสถานีต่างๆ จากนั้นจึงพบปะพูดคุยกับทหารกองเกินรวมทั้งครอบครัวที่มาร่วมติดตามการรับสมัครและคัดเลือกฯครั้งนี้

การรับสมัครและคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 64 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบกมีนโยบายมุ่งพัฒนาการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ (Control) ไปสู่ระบบทหารกองประจำการอาสาสมัคร (Volunteer) หรือระบบสมัครใจเพื่อทดแทนการเรียกเกณฑ์ให้เป็นรูปธรรมในอนาคต อีกทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการเกณฑ์ทหารแก่สังคมโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน

สำหรับการรับสมัครและคัดเลือกฯในปี 66 เริ่มตั้งแต่ 29 ส.ค.65 และสิ้นสุดในวันที่ 29 ม.ค.66 โดยมณฑลทหารบกทั้ง 35 หน่วยทั่วประเทศเป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการ ทั้งนี้ในปี 66 ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กองทัพบกกำหนดได้มีโอกาสสมัครเข้ารับราชการทหารกองประจำการได้ด้วย

Advertisement

รมว.ศึกษาฯเผย 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เตรียมเปิดสอนในไทย

People unity news online : รมว.ศึกษาธิการ เผยมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 2 แห่ง “คาร์เนกีเมลลอน” จากสหรัฐอเมริกา และ “มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน” เตรียมเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) จากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆของโลก อาจมีขนาดไม่ใหญ่ แต่มีชื่อเสียงเป็นอันดับหนึ่งทางด้าน Robotics และอันดับสองด้าน Computer Science จะเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย ซึ่งจากการได้ไปพบปะกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยดังกล่าวเมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนยืนยันถึงความประสงค์ดังกล่าว เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับนักเรียนไทย ประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัว ไม่ต้องขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฯ

โดยจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 ซึ่งในปีแรกนี้จะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 3 คน ระดับปริญญาตรี จำนวน 10 คน และในปีต่อไปจะเปิดรับระดับปริญญาเอก 10 คน ระดับปริญญาโท 25 คน และจะค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นต่อไป โดยนำหลักเกณฑ์การรับนักศึกษา ระบบการเรียนการสอน และการประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนทั้งหมด ทั้งนี้ เมื่อเรียนจบนักศึกษาจะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ซึ่งเป็นปริญญาที่มีศักดิศรีเทียบเท่ากับที่คาร์เนกีเมลลอนมอบให้นักศึกษาของตนในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการใช้สถานที่และอาจารย์ร่วมกัน โดยอาจารย์ของไทยที่จะสอนนั้นต้องไปร่วมสอนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องได้ใบรับรองก่อนจึงจะสามารถสอนได้

ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนนี้ จะนำข้อเสนอหลักเกณฑ์การจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทย เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ต้องกังวลว่าจะมาเปิดแข่ง เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่ประเทศไทยยังไม่เปิดสอน ซึ่งการเปิดการเรียนการสอนในสาขาดังกล่าว มีภาคเอกชนรายใหญ่หลายรายพร้อมสนับสนุนด้วย เนื่องจากเป็นสาขาที่เป็นนวัตกรรมชั้นสูง ตอบโจทย์การผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยได้ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University : NTU) สนใจที่จะมาเปิดการเรียนการสอนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เมืองการศึกษาอมตะนคร จ.ชลบุรี

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนมีสาขาหลายประเทศทั่วโลก เช่น ที่ประเทศรวันดา โปรตุเกส กาต้าร์ เหตุที่สนใจมาเปิดที่ประเทศไทยเนื่องจากรักและชื่นชอบนักศึกษาไทย ทั้งนี้มีนักศึกษาไทยที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จำนวน 342 คน ถือเป็นโอกาสในการระดมทุนจากอดีตนักศึกษามาสนับสนุนมหาวิทยาลัย ซึ่งในเดือนมกราคม 2561 จะมีการจัดการประชุมครั้งใหญ่สำหรับศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนจากทั่วโลกในประเทศไทย ถือเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่ลูกหลานจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพระดับโลกทั้งสองแห่ง ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสเข้าศึกษาในสถานศึกษาที่มีศักยภาพสูงดังกล่าว อันเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการผลิตและพัฒนาทรัพยากรบุคคลในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน และมีความสำคัญต่อการรองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน

People unity news online : post 16 ตุลาคม 2560 เวลา 10.10 น.

“บิ๊กตู่” อนุมัติงบลงพัฒนา 6 ภาค-พัฒนาจังหวัด-พัฒนากลุ่มจังหวัด 1.1 แสนล้านบาท

People unity : นายกรัฐมนตรีประชุมร่วม ก.บ.ภ.- ก.น.จ. ครั้งที่ 1/62 เห็นชอบแผนพัฒนา 6 ภาค ปี 60 – 65 พร้อมเห็นชอบแผนปฏิบัติการภาคทั้ง 6 ภาค ประจำปีงบฯ 63 จำนวน 1,424 โครงการ วงเงิน 66,538.1 ลบ.

เมื่อวานนี้ (6 มี.ค. 2562) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ครั้งที่ 1/2562 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะมีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ของภาค กลุ่มจังหวัดและจังหวัด ที่จะเป็นการกระจายรายได้สู่พื้นที่ โดยต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณและการบริหารจัดการรายได้ของภาครัฐ ซึ่งมีมติที่สำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบแผนพัฒนาภาค พ.ศ.2560 – 2565 ของทั้ง 6 ภาค (ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก ใต้ และใต้ชายแดน) ซึ่งได้มีการทบทวนสาระสำคัญให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งเห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ภาคเหนือ (Northern Economic Cluster: NEC) ให้เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยเน้นการพัฒนาสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมระดับโลก พัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ และเร่งรัดแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่สูง และกรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Cluster: NeEC)  ซึ่งเน้นการผลิตสินค้าอัตลักษณ์เฉพาะคุณภาพสูง พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและฐานชีวภาพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่ริมแม่น้ำโขง รวมทั้งอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมระบบราง ทั้งนี้ แผนพัฒนาดังกล่าวจะเป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาค และสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม โดยควรมีการสร้างความเข้าใจเพื่อนำแผนไปสู่การปฏิบัติของทุกภาคส่วน  และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผน

พร้อมกับที่ประชุมเห็นชอบแผนปฏิบัติการภาค ทั้ง 6 ภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นโครงการของส่วนราชการที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของแต่ละภาค จำนวน 1,424 โครงการ วงเงินรวม 66,538.1 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด พ.ศ.2561-2565  รวมทั้งแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของ 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด รวมทั้งสิ้น 2,125 โครงการ วงเงินรวม 47,678.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการระดับจังหวัด จำนวน 1,884 โครงการ วงเงินรวม 35,408.7 ล้านบาท และโครงการกลุ่มจังหวัด จำนวน 241 โครงการ วงเงินรวม 12,270.2 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นโครงการที่อยู่ในกรอบวงเงิน จำนวน 1,500 โครงการ วงเงินรวม 27,860.4 ล้านบาท โดยไม่รวมงบบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 783 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญตามมติคณะรัฐมนตรี และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงใน 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในจังหวัดนครพนม การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน  และการจัดทำแผนแม่บทการก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนเลียบทางรถไฟฝั่งตะวันออก (ระยะที่ 1) เมืองพัทยา

การปฏิรูป/ยุทธศาสตร์ชาติ : “บิ๊กตู่” อนุมัติงบลงพัฒนา 6 ภาค-พัฒนาจังหวัด-พัฒนากลุ่มจังหวัด 1.1 แสนล้านบาท

People unity : post 7 มีนาคม 2562 เวลา 09.30 น.

รัฐบาลเปิดแอปฯ ทางรัฐ ให้ประชาชนเช็คเบี้ยผู้สูงอายุ-ผู้พิการ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 พฤศจิกายน 2566 มหาดไทย – ก.มหาดไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดบริการแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” อำนวยความสะดวกให้ประชาชนตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-ผู้พิการ “พวงเพ็ชร” ขอบคุณ มท.เห็นความสำคัญ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมทำพิธีเปิดบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”  ที่กระทรวงมหาดไทย โดยนายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันที่น่ายินดีที่ได้เปิดบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือ แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ระบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจตามนโยบายรัฐบาล ที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศให้เข้าสู่ยุค Digital Government ซึ่งเมื่อข้อมูลทั้งหลายถูกนำเข้าสู่ระบบออนไลน์แล้ว ประเทศก็จะได้ทั้งการ บริหารงานที่โปร่งใส และการให้บริการที่สะดวกสบายสำหรับประชาชน ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์ บริการ ทั้งการพัฒนาบริการเดิมและเสริมบริการใหม่ จะช่วยลดขั้นตอนการติดต่อราชการที่ซ้ำซ้อนลง และตอบสนองความต้องการของคนยุคนี้ ในการเข้าถึงบริการของรัฐได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ของความหงุดหงิดเวลาอยากจะทำอะไรนอกเวลาราชการแล้วทำไม่ได้ ต้องมาเสียเวลาทำการทำงานเพื่อไปติดต่อราชการตามเวลาราชการ ความรู้สึกแบบนั้นจะหายไป เมื่อเราเข้าสู่ความเป็น Digital Government โดยสมบูรณ์ ซึ่งการรวมศูนย์บริการภาครัฐให้เป็น “พอร์ทัลกลาง” ก็ถือว่าเป็น Game Changer เป็นปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้นได้จริง” นายอนุทิน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาใช้ในการให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพเพื่อสูงอายุ และเบี้ยความพิการ รองรับผู้ใช้งานกว่า 14 ล้านคนในครั้งนี้ถือว่าสอดคล้องอย่างยิ่งกับอัตลักษณ์การทำงานของกระทรวงมหาดไทย  นั้นคือ “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” ใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม เพื่อสนองความต้องการของประชาชน

ด้านนางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย ที่เล็งเห็นความสำคัญของแอปพลิเคชันทางรัฐ  ซึ่งเป็นแอปฯ ที่รวบรวมการบริการทั้งหลายและการตรวจสอบทั้งหลายไว้ที่แอปฯนี้ เป็นการร่วมกับหลายกระทรวง ซึ่งวันนี้กระทรวงมหาดไทยเล็งเห็นความสำคัญของการบริการประชาชนให้สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยการตรวจสอบเบี้ยผู้สูงอายุและผู้พิการทางแอปพลิเคชันตามความมุ่งหวังของกระทรวงมหาดไทยที่จะ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน

Advertisement

มท.ขยายผลวิทยากรประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 มีนาคม 2567 มหาดไทยเดินหน้าขยายผลวิทยากรประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ประสานทุกจังหวัดต่อยอดองค์ความรู้จาก “ครู ก” ถ่ายทอดสู่ “ครู ข” ระดับอำเภอ เพื่อบ่มเพาะหนุนเสริมจิตสำนึกความเป็นไทย สร้างพลเมืองดีของสังคม เพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับจังหวัด (ครู ก) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 18 รุ่น จำนวน 2,190 คน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง นโยบายกระทรวงมหาดไทย และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งหวังผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย หนุนเสริมความมั่นคงของประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรือง เพราะการที่พี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยเข้าใจในรากฐานวัฒนธรรมไทย และเกิดความรัก ความผูกพัน ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ

นายสุทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แจ้งไปยังจังหวัดทุกจังหวัดประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง คัดเลือกบุคลากรในสังกัดอย่างน้อยแห่งละ 1 คน โดยหากเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสถานศึกษาในสังกัด ประเภทโรงเรียนและวิทยาลัย ให้ผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาคัดเลือกครูผู้สอนอย่างน้อยแห่งละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับอำเภอ (ครู ข) หรือผู้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ครู ก ในการขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

“เพื่อให้การขับเคลื่อนตามประกาศเจตนารมณ์ในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย ขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่องเกิดผลเป็นรูปธรรม และมีการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ ขยายผล และต่อยอดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ตามแนวนโยบายยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยที่มุ่งเน้นพัฒนาเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ปลูกจิตสำนึกให้คนในชาติมีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย รู้รัก สามัคคี รู้จักหน้าที่ของตนเอง และดำเนินชีวิตโดยยึดมั่นในคุณธรรม

กระทรวงมหาดไทยจึงได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้จัดการอบรมขยายผลวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับอำเภอ (ครู ข) และรับสมัครกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการอบรมจากทุกอำเภอ โดยเชิญครูผู้สอนตามโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน และเชิญผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับจังหวัด (ครู ก) ซึ่งผ่านการอบรมฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทั้ง 18 รุ่น ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครูผู้สอน โดยสำนักงานจังหวัดร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดบูรณาการภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการ รวมทั้งพิจารณาบรรจุโครงการในลักษณะนี้ไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดหรือแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการเสริมสร้างรากฐานความมั่นคงของชาติผ่านกระบวนการทางการเรียนรู้และบ่มเพาะต่อยอดประวัติศาสตร์ชาติไทย”

“ขอให้นำโครงการอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับจังหวัด “ครู ก” ไปขยายผลถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชน ทำให้เกิด “ครู ข” เพื่อไปเพิ่มพูนเผยแพร่ประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติของบ้านเมืองที่บรรพบุรุษที่เสียสละเลือดเนื้อ หวงแหน ปกป้องบ้านเมืองให้มีแผ่นดินที่แสนจะมีความสุขเป็นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ต้องประชาสัมพันธ์การบรรยายถ่ายทอดของ “ครู ก” ไปเผยแพร่ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีการประชุมติดตามทั้งการประชุมของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นเวทีที่จะขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบ้านเมือง และความเป็นเอกราชของชาติไทย ช่วยกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

Advertisement

Verified by ExactMetrics