วันที่ 29 เมษายน 2024

มท.ขยายผลวิทยากรประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 มีนาคม 2567 มหาดไทยเดินหน้าขยายผลวิทยากรประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ประสานทุกจังหวัดต่อยอดองค์ความรู้จาก “ครู ก” ถ่ายทอดสู่ “ครู ข” ระดับอำเภอ เพื่อบ่มเพาะหนุนเสริมจิตสำนึกความเป็นไทย สร้างพลเมืองดีของสังคม เพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับจังหวัด (ครู ก) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 18 รุ่น จำนวน 2,190 คน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง นโยบายกระทรวงมหาดไทย และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งหวังผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย หนุนเสริมความมั่นคงของประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรือง เพราะการที่พี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยเข้าใจในรากฐานวัฒนธรรมไทย และเกิดความรัก ความผูกพัน ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ

นายสุทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แจ้งไปยังจังหวัดทุกจังหวัดประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง คัดเลือกบุคลากรในสังกัดอย่างน้อยแห่งละ 1 คน โดยหากเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสถานศึกษาในสังกัด ประเภทโรงเรียนและวิทยาลัย ให้ผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาคัดเลือกครูผู้สอนอย่างน้อยแห่งละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับอำเภอ (ครู ข) หรือผู้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ครู ก ในการขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

“เพื่อให้การขับเคลื่อนตามประกาศเจตนารมณ์ในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย ขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่องเกิดผลเป็นรูปธรรม และมีการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ ขยายผล และต่อยอดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ตามแนวนโยบายยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยที่มุ่งเน้นพัฒนาเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ปลูกจิตสำนึกให้คนในชาติมีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย รู้รัก สามัคคี รู้จักหน้าที่ของตนเอง และดำเนินชีวิตโดยยึดมั่นในคุณธรรม

กระทรวงมหาดไทยจึงได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้จัดการอบรมขยายผลวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับอำเภอ (ครู ข) และรับสมัครกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการอบรมจากทุกอำเภอ โดยเชิญครูผู้สอนตามโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน และเชิญผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับจังหวัด (ครู ก) ซึ่งผ่านการอบรมฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทั้ง 18 รุ่น ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครูผู้สอน โดยสำนักงานจังหวัดร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดบูรณาการภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการ รวมทั้งพิจารณาบรรจุโครงการในลักษณะนี้ไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดหรือแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการเสริมสร้างรากฐานความมั่นคงของชาติผ่านกระบวนการทางการเรียนรู้และบ่มเพาะต่อยอดประวัติศาสตร์ชาติไทย”

“ขอให้นำโครงการอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับจังหวัด “ครู ก” ไปขยายผลถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชน ทำให้เกิด “ครู ข” เพื่อไปเพิ่มพูนเผยแพร่ประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติของบ้านเมืองที่บรรพบุรุษที่เสียสละเลือดเนื้อ หวงแหน ปกป้องบ้านเมืองให้มีแผ่นดินที่แสนจะมีความสุขเป็นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ต้องประชาสัมพันธ์การบรรยายถ่ายทอดของ “ครู ก” ไปเผยแพร่ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีการประชุมติดตามทั้งการประชุมของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นเวทีที่จะขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบ้านเมือง และความเป็นเอกราชของชาติไทย ช่วยกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

Advertisement

นายกฯระบุการปฏิรูปต้องอาศัยเวลา โดยดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน

People unity news online : นายกรัฐมนตรียืนยันแผนงานปฏิรูปประเทศจะถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่แก้ปัญหาได้ มุ่งมั่นทำให้ประเทศเดินหน้า ดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติ เน้นย้ำการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยระยะเวลา

เมื่อวานนี้ (15 พฤษภาคม 2561) เวลา 12.50 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน ประธานปฏิรูปกฎหมายระบุว่าการปฏิรูปจะสำเร็จยากเพราะให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติแต่ไม่มีแผนงานว่า อยากให้ทุกคนทบทวนในส่วนของข้าราชการควรมีบทบาทอย่างไรในฐานะผู้ปฏิบัติ เพราะข้าราชการเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ ต้องพิจารณาการปฏิรูปในภาพรวมที่มีรายละเอียดอยู่ในแผนปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นระดับนโยบาย ส่วนในระดับปฏิบัติเป็นเรื่องของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน และประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันปฏิรูปประเทศ โดยรัฐบาลได้พยายามดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ มีผลงานปรากฎในหลายๆด้าน ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ช่วยกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาการอำนวยความสะดวก ปัญหาการลงทุน หรือด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ  เป็นต้น ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็นำนโยบายต่างๆเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีข้าราชการเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เป็นไปตามกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การเดินทาง การขนส่ง และอื่นๆ เช่น การแก้ไขปัญหาประปาหมู่บ้าน ได้ดำเนินการแล้วกว่า 7,000 หมู่บ้าน และจะดำเนินการให้เรียบร้อยทั่วประเทศในเร็วๆนี้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปในด้านต่างๆนั้น ได้ดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้ปัญหาต่างๆนำมาซึ่งความวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิม ต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้โดยอาศัยระยะเวลาและสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนโดยสื่อมวลชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ยืนยันว่าคณะทำงานของรัฐบาลทุกคณะนำนโยบายลงสู่การขับเคลื่อนเพื่อการปฏิบัติในทิศทางที่สามารถแก้ปัญหาได้ และลดผลกระทบที่จะเกิดจากความขัดแย้ง

People unity news online : post 16 พฤษภาคม 2561 เวลา 11.10 น.

“ประวิตร” เปิดผลงานป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย พร้อมดันไทยสู่ “เทียร์ 2” ในปี 65

People Unity News : วันนี้ (11 พฤษภาคม 2565) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 รวมทั้งแถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน และให้เจ้าหน้าที่ได้นำแผนปฏิบัติการฯ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของแผนปฏิบัติการฯ และทำงานอย่างประสานสอดคล้องในทิศทางเดียวกันต่อไป โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย

รองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่ารัฐบาลตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญากรรมค้ามนุษย์ โดยประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 และกำหนดให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป และสร้างเครื่องมือเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของทุกภาคส่วนให้ประสานสอดคล้องกัน โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการในการพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ มาตรฐาน และวิธีปฏิบัติ คู่มือต่างๆ จากองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในวันนี้ รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดวิธีและขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนให้ผู้ปฏิบัติทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน และพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งมุ่งหวังและเชื่อมั่นว่าแผนปฏิบัติการฯฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับได้ใช้ปฏิบัติงานในเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยย้ำถึงการดำเนินงานปี 2564 จนถึงปัจจุบันว่า รัฐบาลขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามข้อเสนอแนะสำคัญ 15 ข้อ ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา โดยมีผลความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม อาทิ จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน และคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ จัดทำแนวทางกลไกการส่งต่อระดับชาติ กำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาไทย และภาษาที่ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้าใจได้ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ริเริ่มโครงการสำคัญ (Flagship Project) เพิ่มเติม เพื่อยกระดับมาตรฐานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ได้แก่ จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือ คุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายระดับชาติ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ออกมาตรการเชิงรุกป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลให้อาชญากรรมต่างๆลดลงทุกประเภทในช่วงปี 2563 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการในช่วงตุลาคม – ธันวาคม 2564 สามารถสืบสวนจับกุมคดีค้ามนุษย์ได้ถึง 188 คดี สูงกว่าปี 2563 โดยเฉพาะคดีทางสื่อออนไลน์ และได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ ได้แก่ การคัดแยกผู้เสียหาย การประชุมค่าสินไหมทดแทน การพิจารณาคดีของศาล เป็นต้น

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงานที่ทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยหากพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ได้กล่าวมา แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างชัดเจนของรัฐบาลในการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ดังนั้นประเทศไทยสมควรได้รับการเลื่อนระดับเข้าสู่ Tier 2 ในปีนี้

Advertisement

รองโฆษกรัฐบาล แนะคัดทะเบียนราษฎรออนไลน์ ผ่านแอปฯ ThaiD

People Unity News : 3 มิถุนายน 2566 รองโฆษกรัฐบาล แนะประชาชนคัดทะเบียนราษฎรออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ประหยัดเวลา ไม่เสียค่าธรรมเนียม แถมคัดทะเบียนราษฎรเวลาไหนก็ทำได้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล ยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง แจ้งความคืบหน้าว่าสามารถทำการ คัดทะเบียนราษฎร แบบระบบออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้แล้ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นางสาวรัชดา กล่าวต่อไปว่า ประชาชนสามารถคัดทะเบียนราษฎร เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูล ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประจำตัวประชาชน, อายุ, สถานภาพ, ที่อยู่ และรายละเอียดอื่น ๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD สำหรับการคัดรับรองเอกสารทะเบียนราษฎร สามารถเช็กการ คัดรับรองรายการบุคคล (ท.ร.14/1) และการคัดรับรองรายการประวัติบุคคล (ท.ร.12/2) ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังทำการค้นหาตัวเลขอ้างอิง (ค้นจากตัวเลข Reference) เพื่อทำการตรวจสอบเอกสารจากทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักทะเบียนกลาง โดยเอกสารมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่ออกหนังสือรับรอง

“รัฐบาลขับเคลื่อนเดินหน้ามุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล นำเทคโนโลยีระบบดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงานในส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ลดพื้นที่และประหยัดงบประมาณในการจัดเก็บเอกสาร ที่สำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน การให้บริการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัลถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการภาครัฐได้ง่ายขึ้น ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ช่วยให้ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายในการขอรับบริการทะเบียนราษฎร ทั้งค่าใช้จ่ายการเดินทาง และค่าธรรมเนียม ไม่ต้องเสียเวลาไปต่อคิว ประชาชนสามารถจะคัดทะเบียนราษฎรเวลาไหนก็ทำได้” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

“พล.อ.ประวิตร” ยันจะไม่ให้มีพื้นที่ภัยแล้งในอีสานอีก

People Unity News : 24 กุมภาพันธ์ 2566 “พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่อุดรฯ-หนองคาย-เลย กำชับบูรณาการบริหารจัดการน้ำ 10 มาตรการฤดูแล้งให้เข้มงวด ยันจะไม่ให้มีพื้นที่ภัยแล้งในอีสานอีก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมคณะ ตรวจราชการในพื้นที่ จ.อุดรธานี จ.หนองคาย และ จ.เลย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด

โดยช่วงเช้า พล.อ.ประวิตร และคณะ ไปที่โรงเรียนภูพานวิทยา ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี รับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือและลุ่มน้ำชี ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการปี 61-65 ประชาชนได้รับประโยชน์ 55,586 ครัวเรือน จากงบกลางปี 65 ได้รับประโยชน์ 1,045 ครัวเรือน งบบูรณาการฯ ปี 66 จะได้รับประโยชน์ 6,955 ครัวเรือน งบตามแผนปฏิบัติการปี 67 ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 53,175 ครัวเรือน และโครงการสำคัญอีก 6 แห่ง ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 43,500 ครัวเรือน

พล.อ.ประวิตร มอบนโยบายเร่งบูรณาการบริหารจัดการน้ำให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะ 10 มาตรการฤดูแล้ง ให้เข้มงวดตามนโยบาย พร้อมเร่งรัดโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) เพื่อช่วยยกระดับความมั่นคงด้านน้ำ ให้ชาวบ้านและเกษตรกรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดปีอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประวิตร พบปะพร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนที่มาให้การต้อนรับจำนวนมากอย่างใกล้ชิด ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง พร้อมขอถ่ายรูปเซลฟี่กับ พล.อ.ประวิตร เป็นที่ระลึก สร้างความประทับใจให้ชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรม ชูป้ายให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร และสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีของคนอีสาน ซึ่งพล.อ.ประวิตร ยืนยันกับชาวบ้านว่าจะไม่ให้มีพื้นที่ประสบภัยแล้งในอีสานอีกต่อไป

Advertisement

ชูพัฒนาภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก-ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางและปาล์มน้ำมัน

People unity news online : นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

วันนี้ (21 สิงหาคม 2561) เวลา 09.10 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา) และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล) ร่วมกับคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการเป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศระดับโลก และเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ รวมถึงเป็นเมืองเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลก โดยที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ดังนี้

1.ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศที่สำคัญเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง รวมถึงเพื่อพัฒนาโครงข่ายเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อในเชิงพื้นที่แนวตะวันตก – ตะวันออก และแนวเหนือใต้ โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้จัดแผนงานโครงการให้ชัดเจน คำนึงถึงความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณ และผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นหลัก รวมถึงให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาของรัฐบาล

2.ด้านการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของภาคใต้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก โดยกำหนดให้มีการยกระดับคุณภาพบริการ และส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่องในแหล่งท่องเที่ยว คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของพื้นที่อย่างยั่งยืน ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการพัฒนา ได้แก่

2.1 การพัฒนาศักยภาพการรักษาความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมทั้งทางบกและทางน้ำ 2.2 การพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว โครงการยกระดับพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพในภาคใต้ฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย 2.3 วางแผนศึกษาพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทะเลสาบสงขลา นครศรีธรรมราช – พัทลุง – สงขลา และปรับปรุงภูมิทัศน์ในส่วนที่ไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้บูรณาการทำงานขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็นการรักษาความปลอดภัย กำหนดจุดให้ชัดเจน มีแผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ พร้อมกับให้ช่วยกันดูแลเรื่องความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องขยะต้องมีการบริหารจัดการให้ดี

3.ด้านการยกระดับการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน พัฒนาเขตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีจากปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของภาค ประกอบกับศักยภาพทางด้านการเกษตรที่ค่อนข้างสูงในพื้นที่กลุ่มจังหวัด ที่ประชุมเห็นชอบตามที่เสนอ ดังนี้

3.1 จัดตั้ง Oil Palm City (สุราษฎร์ธานี) 3.2 สนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสานหรือ “วนเกษตร” ในส่วนยางพาราและส่วนปาล์มน้ำมัน 3.3 พัฒนาฟาร์มต้นแบบที่มีความแม่นยำสูง เพื่อส่งเสริมศักยภาพการผลิตทางการเกษตร 3.4 ส่งเสริมให้เป็นเมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการจัดทำมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และรองรับ Industry 4.0 3.5 ส่งเสริมและการพัฒนางานวิจัยทางด้านยาง ปาล์ม พืชผักสมุนไพร ปศุสัตว์ และประมง เพื่อรองรับ Agro – Bio – Economy รวมทั้งสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระดับโลก 3.6 การจัดตั้งโรงงานต้นแบบสินค้าการเกษตร 4.0 แบบครบวงจร เพื่อยกระดับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตร 3.7 การส่งเสริมการทำระบบแก๊สชีวภาพและชีวมวลจากกระบวนการผลิตปาล์มและยางพารา เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในระบบอุตสาหกรรมและตามแนวประชารัฐ 3.8 การจัดตั้งศูนย์ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนวประชารัฐและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนทางการเกษตร และ 3.9  การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้านการเกษตร สินค้าและบริการภาคใต้ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็ว สร้างกลไกทางการเกษตร กำหนดพื้นที่เพาะปลูก มีการปลูกพืชเสริมพืชหลัก รวมถึงการรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่ นำข้อมูลบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์ ใช้ข้อมูลแต่ละหน่วยงานมาวิเคราะห์ รวบรวมเป็นข้อมูลนำมาตัดสินใจ เพื่อจะได้ส่งเสริมการทำเกษตรให้ตรงจุด

4.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยเร่งรัดก่อสร้างโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เร่งรัดการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีระดับภาคใต้ตอนบน และเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเครื่องมือการรักษาพยาบาลและคุณภาพด้านการบริหารของโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช รวมทั้งส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัด โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปพิจารณาเรื่องงบประมาณ

5.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการพัฒนา ดังนี้

5.1 การขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเลเพื่อเพิ่มศักยภาพ 5.2 การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย ประกอบด้วย ขอรับการสนับสนุนศึกษาและออกแบบแนวทางการป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งภาคใต้แบบครบวงจร รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดระนอง โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินตามแผนงาน และให้พิจารณาดำเนินการตามความเร่งด่วน ตรงความต้องการของประชาชน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า การลงพื้นที่ประชุม ครม. ครั้งนี้ไม่ใช่มาเพื่อแจกเงินหรือแจกงบประมาณ แต่มาเพื่อทำให้เกิดความเชื่อมโยงในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ท่าเรือ และสนามบินให้เกิดห่วงโซ่มูลค่า สร้างรายได้ในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น รวมถึงเพื่อมารับฟังข้อเสนอแนะและปรับแผนการทำงานให้ตรงกัน โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งการใช้งบประมาณต้องคุ้มค่า ลดความซ้ำซ้อน ตรงตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด พร้อมกับสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ลงทะเบียนแหล่งที่มาของพืชการเกษตรหลัก เพื่อบ่งบอกถึงแหล่งการเพาะปลูกพืชการเกษตร เพราะต่างชาติให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว หากไม่พบแหล่งที่มาของพืชการเกษตรหรือปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย จะไม่มีการซื้อสินค้าเกษตรดังกล่าว พร้อมกับสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในจังหวัดรับรู้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง ผ่านช่องทางต่างๆอย่างบูรณาการ พร้อมกับสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชน และทำประชาธิปไตยไม่ให้เป็นประชานิยม จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่มาจากความยินยอมของประชาชน โดยการประชุมในวันนี้ที่ต้องใช้เวลามากกว่าปกติเพราะต้องการทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

People unity news online : post 21 สิงหาคม 2561 เวลา 13.10 น.

“ประยุทธ์” เปิดหลักสูตร วปอ.รุ่น 63 แนะนักศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างองค์ความรู้ใหม่

People Unity News : นายกฯ เปิดหลักสูตร วปอ. รุ่น 63 แนะนักศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างองค์ความรู้ใหม่ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

วันนี้ (5 พ.ย.2563)  นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 63  พร้อมบรรยายเรื่อง “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่งคงแห่งชาติ” ให้ผู้เข้ารับการศึกษา ประกอบด้วยข้าราชการทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ ภาคเอกชน นักธุรกิจและบุคคลทั่วไป จำนวน 285 คน ณ หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

โดยนายกรัฐมนตรีแนะนำให้นักศึกษานำความรู้ ความสามารถและประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน พร้อมย้ำให้ทุกคนตระหนักและทบทวนทำความเข้าใจบริบทโลกในปัจจุบันให้ลึกซึ้ง ทั้งความเจริญทางเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนย้ายคนและทุนอย่างเสรี ข่าวสารและเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน การแข่งขันทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งศูนย์รวมอำนาจทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ส่งผลให้มีการแย่งชิงทรัพยากรและแรงงานที่อาจเป็นชนวนความขัดแย้งได้ รวมไปถึงภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศที่ผันผวนทำให้เกิดภัยพิบัติที่มีความรุนแรงมาก และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม การละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับ Digital Disruption ก่อให้เกิด Fake news การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต และโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่ระบาดในมนุษย์ได้แก่ covid-19 เป็นต้น เป็นความท้าทายที่อาจก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่คือ “ความมั่นคงแบบองค์รวม” ซึ่งมีความซับซ้อนเชื่อมโยงมิติความมั่นคงกับเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมจนเป็นเนื้อเดียวกัน จึงขอให้นักศึกษา ใช้เวทีนี้ช่วยกันคิดหาแนวทางป้องกันและแก้ไข เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศด้วยแผนการปฏิบัติที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง  รวมทั้งขอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประยุกต์ ในการทำงานและการดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละบุคคล

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงหลักคิดในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยประเทศไทยจะยังคงยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพันธกรณีและกติกาของสังคมโลก สร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการบูรณาการพลังทางสังคมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการเมือง ภาควิชาการสื่อสารมวลชนภายใต้แนวทาง ” รวมไทยสร้างชาติ”

Advertising

รัฐบาลผลักดันโครงการด้านน้ำ ขับเคลื่อนเกือบ 3,000 โครงการ

People Unity News : 11 กุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลโชว์ผลงานด้านน้ำ 2 พื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 4 ปี ขับเคลื่อนเกือบ 3,000 โครงการ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนในทุกมิติทั้งด้านการเกษตร อุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน ล่าสุดกับผลความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 2 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งรัฐบาลได้มีการเร่งรัดผลักดันการขับเคลื่อนโครงการด้านน้ำตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) รวมเกือบ 3,000 โครงการ แบ่งเป็น จังหวัดพิษณุโลก 1,881 โครงการ และจังหวัดนครสวรรค์ 1,087 โครงการ เช่น ประตูระบายน้ำท่านางงามพร้อมอาคารประกอบ โครงการก่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมน้ำเสีย เทศบาลนครพิษณุโลก แก้มลิงคลองละหานพร้อมอาคารประกอบ แก้มลิงบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวัดไทรย์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บทน้ำ 20 ปี เพื่อให้ทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดความมั่นคง ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนต่อเนื่องให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนทุกฝ่ายในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายและให้มีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยม ที่รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งประตูระบายน้ำท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็น 1 ใน 4 โครงการที่จะบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดจะทำให้สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมได้เพิ่มขึ้น และมีปริมาณน้ำเพียงพอจัดสรรให้กับภาคการเกษตร รวมถึงช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินของพื้นที่ข้างเคียงด้วย

รวมทั้งการเร่งดำเนินการโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่าน ต.พลายชุมพล อ.เมือง จ.พิษณุโลก ให้เป็นไปตามแผนงาน และป้องกันไม่ให้ถูกกัดเซาะเพิ่มเติมโดยเร่งดำเนินการแก้ไขให้ครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ให้บูรณาการการดำเนินงานกับทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำประมง การเกษตรกรรม การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ เพื่อให้บึงบอระเพ็ดกลับมาเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชน และระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมโดยรอบดีขึ้นตามไปด้วย” นายอนุชากล่าว

Advertisement

มุ่งลดเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจเป็นระบบ

People Unity News : 7 ธันวาคม 2565 โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาเหลื่อมล้ำ มุ่งกระจายอำนาจอย่างเป็นระบบ โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม บริหารตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยนโยบายกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น และผลักดันแนวคิดการกระจายอำนาจภาครัฐไปสู่ท้องถิ่น รวมทั้งปรับองค์กรภาครัฐ ให้มีความคล่องตัว และมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น รองรับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกยุคเทคโนโลยีดิจิทัล และความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องที่ ซึ่งมีอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิผล

“รัฐบาลดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 6 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุล และการพัฒนาระบบการบริหารการจัดการภาครัฐ ตามแผนงานย่อยโดยเพิ่มขีดความสามารถของภาครัฐให้มีความทันสมัย มีความยืดหยุ่น ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส สะดวกและสุจริต กระจายอำนาจอย่างเหมาะสม ปรับตัวให้ภาครัฐมีขนาดเล็กลง เหมาะสมต่อภารกิจการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีระบบภาษีและรายได้ท้องถิ่นอย่างเหมาะสม พัฒนาค่านิยมในการทำงาน บุคลากรภาครัฐเป็นคนเก่งที่ดี ยึดมั่นในคุณธรรม และทำงานเพื่อประชาชน ภายใต้การสนับสนุนพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ภาครัฐ ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย เคารพในสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเสมอภาค ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ระบบยุติธรรมชุมชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการยุติธรรม” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเดินหน้านโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนา ลดการกระจุกตัวของการพัฒนา และประชากรของเมืองใหญ่ในปัจจุบัน โดยการสร้างสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองที่สงบสุข เพียงพอ และแก้ปัญหาการย้ายถิ่นฐาน โดยส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชีย ได้แก่ พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และการพัฒนาจังหวัดชายแดน เพิ่มพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งใหม่ในภูมิภาค และส่งเสริมและเร่งรัดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ทั่วประเทศ พัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ การส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ

Advertisement

“พล.อ.ประวิตร“ ลงใต้ กำชับบริหารน้ำทั้งระบบกันน้ำท่วม-แล้งไปพร้อมกัน

People Unity News : 13 มีนาคม 2566 “พล.อ.ประวิตร“ ลงใต้ เร่งติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำ ย้ำต้องดูทั้งระบบ ป้องกันทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง ทักทายประชาชนอย่างอารมณ์ดี พร้อมรับฟังปัญหา

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.ชุมพร จ.ระนอง และ จ.สุราษฎร์ธานี ติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาพื้นที่และรับฟังความเดือดร้อนประชาชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ให้การต้อนรับ ณ ศาลาอเนกประสงค์พรุเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

พล.อ.ประวิตร รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ภาพรวม พัฒนาการแผนงานและโครงการน้ำในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2561-2565 คืบหน้า 870 โครงการ ใช้งบประมาณ 4,469.40 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 45,687 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์ 92,101 ไร่ ป้องกันความเสียหายได้ 15,975 ไร่ และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการสำคัญ 6 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก คลองลิปะใหญ่ ระบบป้องกันน้ำท่วม ตลาดไชยา ชุมชนเชิงมนต์ ชุมชนเฉวง และชุมชนวัดประดู่ ติดตามโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางรัก และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมพรุเฉวง จ.สุราษฎร์ธานี

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้ สทนช. และส่วนราชการจังหวัด ให้ความสำคัญกับพื้นที่เกิดน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายของชุมชนที่ผ่านมา โดยให้เร่งขับเคลื่อนแผนงานโครงการในพื้นที่เสี่ยงที่ประสบปัญหาน้ำท่วม บริเวณ ต.ท่าอุแท ต.ปากแพรก ต.ไชยคราม ต.สมอทอง ต.เขานิพนธ์ ต.พรุพี และ อ.บ้านนาสาร อ.พุนพิน อ.คีรีรัฐนิคม อ.บ้านขุนตาล และ อ.ดอนสัก พร้อมขอให้เร่งรัดกำกับโครงการชุมชนบางรัก ระยะที่ 1 การพัฒนาแหล่งน้ำทุ่งจอ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำสหกรณ์นิคมนครพนม และการขยายระบบประปา ต.เกาะพะงัน ให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดผลกระทบความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยของจังหวัดในภาพรวม ทั้งนี้ ให้เตรียมการ 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำบริโภคกับประชาชนในฤดูแล้งไปพร้อมกัน

พล.อ.ประวิตร กล่าวทักทายพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างอารมณ์ดีและเป็นกันเอง พร้อมรับฟังปัญหาจากประชาชนโดยตรง

Advertisement

Verified by ExactMetrics