วันที่ 24 เมษายน 2024

ธอส.คว้า 4.8908 คะแนนผลประเมินการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจปี 63 สูงสุดในรัฐวิสาหกิจทั้ง 51 แห่ง

People Unity News : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คว้าคะแนนประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจปี 2563 ที่ 4.8908 คะแนน สูงสุดใน 9 สาขา ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 51 แห่ง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ประกาศผลคะแนนประเมินผลล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564

29 พ.ค.64 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ประกาศคะแนนประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ปี 2563 ตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ State Enterprise Assessment Model : SE-AM ซึ่งผลปรากฏว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้รับผลการประเมินที่ 4.8908 คะแนน สูงสุดในทุกสาขาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 51 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2564) สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเลิศของระบบการบริหารจัดการองค์กรของธนาคารที่สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ธนาคารตามพันธกิจ “ทำให้  คนไทยมีบ้าน” ภายใต้แนวคิดหลัก “Be Simple, Make it Simple” หรือทำให้คนไทยมีบ้านได้ง่ายๆ ด้วยการทำงานที่ทุ่มเทของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของธนาคารทั้ง 5,000 คน แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ธนาคารยังคงช่วยให้ประชาชนมีบ้านได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากสินเชื่อปล่อยใหม่สูงที่สุดในรอบ 67 ปี จำนวน 225,151 ล้านบาท 140,386 บัญชี ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 4.57% และสูงกว่าเป้าหมายถึง 15,791 ล้านบาท พร้อมกับช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากปัญหา COVID-19 ผ่าน 10 มาตรการ ลดค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้า ซึ่งมีจำนวนผู้ที่เข้ามาตรการสูงสุด 687,489 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 576,139 ล้านบาท

สำหรับในปี 2563 สคร. ได้นำระบบ SE-AM ซึ่งเป็นระบบการประเมินรูปแบบใหม่มาใช้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจรวมถึง ธอส. เป็นปีแรก เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจตอบสนองกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินภารกิจ/ธุรกิจ การแข่งขัน ความต้องการของผู้ใช้บริการ และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคะแนนประเมินผลรวมของธนาคารที่ 4.8908 คะแนนนั้น มาจากการประเมินผลการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.การดำเนินงานตามนโยบายหรือยุทธศาสตร์ ผลประเมิน 5 คะแนนเต็ม 2.ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ผลประเมิน 4.7578 คะแนน และ 3.การบริหารจัดการองค์กร 8 ด้าน (Core Business Enablers) ได้แก่ ด้านการกำกับดูแลที่ดีและการนำองค์กร ด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ด้านการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน ด้านการมุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านการบริหารทุนมนุษย์ ด้านการจัดการความรู้และนวัตกรรม และด้านการตรวจสอบภายใน ผลประเมิน 4.9873 คะแนน ซึ่งถือเป็นการยกระดับคะแนน Core Business Enablers ทั้ง 8 ด้าน ได้สูงสุดถึง 0.5094 จากคะแนนประเมิน Base Line

ทั้งนี้ สคร. นำระบบประเมินผลและจัดทำตัวชี้วัดผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามและกำกับดูแลประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยแบ่งกลุ่มรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลแยกออกเป็น 9 สาขา ได้แก่ สาขาขนส่ง สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม สาขาสาธารณูปการ สาขาสังคมและเทคโนโลยี สาขาสถาบันการเงิน สาขาเกษตร สาขาทรัพยากรธรรมชาติ สาขาสื่อสาร และสาขาพลังงาน

Advertising

พักชำระเงินต้นยาวถึงสิ้นปี!! ด่วนออมสินอัดมาตรการใหม่ล่าสุดช่วยธุรกิจ SMEs ลดภาระค่าใช้จ่าย

People Unity News : พักชำระเงินต้นยาวถึงสิ้นปี!! ออมสินออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ลดภาระค่าใช้จ่าย โดยให้พักชำระเงินต้นจนถึง 31 ธันวาคม 2564

12 พ.ค.64 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินดำเนินการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธนาคารฯจึงกำหนดมาตรการพักชำระเงินต้น – ชำระเฉพาะดอกเบี้ย ให้ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ทั้งที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการได้ตามความสมัครใจ เช่นเดียวกับลูกค้ารายย่อย ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนของผู้ที่ต้องขาดรายได้หรือรายได้ลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

สำหรับผู้ที่เป็นลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs และสมัครใจเข้าร่วมมาตรการ สามารถพักชำระเงินต้นเป็นการชั่วคราว และชำระเฉพาะดอกเบี้ย ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ได้แล้ว ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 วิธีการคือ

1.ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีวงเงินกู้คงเหลือไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้แจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการและเลือกแผนชำระหนี้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน MyMo

2.ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีวงเงินกู้คงเหลือมากกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท และนิติบุคคลที่มีวงเงินกู้คงเหลือไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ติดต่อแจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการเสริมจากการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระ ที่ธนาคารฯได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามงวดชำระเดิม โดยที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 5 แสนราย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ธนาคารออมสิน โทร. 1115  facebook : GSB Society และขอย้ำว่าธนาคารฯ ให้บริการทางการเงินรูปแบบดิจิทัลทางแอปพลิเคชัน MyMo เท่านั้น

Advertising

จัดเต็ม!ครม.ออกมาตรการทั้งเร่งด่วนและระยะที่ 2 เยียวยาประชาชน พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจ

People Unity News : ครม. ไฟเขียว มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ลดค่าประปา-ไฟฟ้า พร้อมเพิ่มวงเงินโครงการ “เราชนะ” และ “ม.33 เรารักกัน” เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งออกมาตรการทางการเงิน และมาตรการทางภาษี

5 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงถึงการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจควบคู่ไปกับการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จึงจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เพื่อพิจารณาความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่ผ่านมาได้ออกมาตรการจำนวนมาก อาทิ โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน และมาตรการทางการเงิน อาทิ มาตรการสินเชื่อ พักทรัพย์ พักหนี้ และมาตรการทางภาษี การลดภาษี และมาตรการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งเกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเร่งพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนเพิ่มเติมโดยเร่งด่วน โดยสรุปได้เป็นมาตรการ ดังต่อไปนี้

มาตรการระยะที่ 1 ประกอบด้วย  3 มาตรการหลักที่สามารถดำเนินการได้ทันที ได้แก่

1) มาตรการด้านการเงิน มี 2 มาตรการ คือ  (1.1) มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก และ (1.2) มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs โดยให้ SFIs ขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดภาระ และสามารถนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม

2) มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย โดยภาครัฐจะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและกิจการที่ถูกปิด

3) มาตรการต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ประกอบด้วย 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท ได้แก่การเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท และ การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ ม.33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 18,500 ล้านบาท

มาตรการระยะที่ 1 นั้น ในวันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในส่วนของมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา และไฟฟ้า ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 สำหรับการเพิ่มเงินในโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งนำเสนอโครงการให้พิจารณาตามขั้นตอนเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการต่อเนื่องอื่นๆ อาทิ การช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. โดยการขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนสิ้นปี 2564 และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ซึ่งจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งการชดเชยผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ต้องกักตัวหรือต้องหยุดทำงาน

นายกรัฐมนตรีเผยว่านอกจากโครงการระยะสั้นแล้ว  รัฐบาลยังได้วางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องไปอีกถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ ด้วยมาตรการระยะที่ 2 ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ซึ่งคาดว่าถ้าทุกคนร่วมมือกันเพื่อจำกัดการระบาดอย่างเต็มที่ สถานการณ์การระบาดน่าจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการในระยะที่ 2 ได้ โดยมาตรการในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท ได้แก่

1.มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 13.6 ล้านคน และ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2.5 ล้านคน

2.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ซึ่งโครงการที่ประชาชนมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว และเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากได้โดยตรง และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เป็นโครงการใหม่ โดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ มาตรการในระยะที่ 2 ทั้ง 4 โครงการ จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีโอกาสในการขายสินค้า และบริการได้มากยิ่งขึ้น โดยมาตรการในระยะที่ 2 นี้ คณะรัฐมนตรีได้รับทราบในหลักการ พร้อมให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าทั้งหมดนี้คือการดำเนินการอย่างเต็มที่ของรัฐบาลและ ศบค. ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด ทั้งด้านการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด และการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีและในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ไม่มีวันท้อถอยหรือท้อแท้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาใดๆ และจะไม่หยุดในการคิดและทำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกคนให้ปลอดภัย และให้ประเทศไทยที่รักของเราทุกคน ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แข็งแรงและยั่งยืน

Advertising

BOI เผยลงทุนไตรมาสแรกปี 64 กว่า 1.2 แสนล้านบาท “การแพทย์ – อิเล็กทรอนิกส์” มาแรง

People Unity News : บีโอไอเผยภาวะการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ยอดขอรับส่งเสริมรวมกว่า  1.2 แสนล้านบาท เติบโตจากไตรมาสแรกปีก่อนมากถึงร้อยละ 80 พบกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์เติบโตท่ามกลางสถานการณ์โควิด ขณะที่ EEC ยังคงเนื้อหอมเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของนักลงทุน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า การลงทุนในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ปี 2564 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 401 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 123,360 ล้านบาท มีอัตราเติบโตทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยจำนวนโครงการเติบโตร้อยละ 14 และมูลค่าเติบโตร้อยละ 80

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 74,830ล้านบาท โดย 2 อันดับแรกที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่า 18,430 ล้านบาท เติบโตขึ้นมากกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 2) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 17,410 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าในหมวดการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุตสาหกรรมในกลุ่ม S-Curve ขยายตัวต่อเนื่องจากผลของ Work From Home ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการทำงานในยุคเชื้อโควิดระบาด และการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 191 โครงการ มูลค่าลงทุน 61,979 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 143 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยอันดับประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดการลงทุนใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การลงทุนของเกาหลีใต้ปรับสูงขึ้นในไตรมาสนี้เนื่องจากมีการร่วมทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์

สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่า 64,410 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น จังหวัดระยอง มูลค่าลงทุน 29,430 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี 24,970 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 10,010 ล้านบาท

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก โดยมีจำนวน 39 โครงการ เงินลงทุน 8,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแบ่งเป็นมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 21 โครงการ เงินลงทุน 5,630 ล้านบาท มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวน 16 โครงการ เงินลงทุน 2,470 ล้านบาท และมาตรการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 300 ล้านบาท

Advertising

“ประยุทธ์” สั่งประเมินผลกระทบหลังออกมาตรการคุมโควิด-19 เพื่อเตรียมเยียวยาประชาชน

People Unity News : นายกฯ มอบหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ประเมินผลกระทบหลังออกมาตรการคุมโควิด-19 เสนอ ศบศ. ออกแนวทางเยียวยาประชาชน

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.64 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำชับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ เพื่อกำหนดแนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชน รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยให้เตรียมความพร้อมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบศ. ซึ่งจะมีขึ้นในเร็วๆนี้

“นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามและประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากการออกมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นที่มีการปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ ทั่วประเทศ กระทั่งมาถึงมาตรการล่าสุดที่เน้นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้ก่อนออกมาตรการต่างๆจะได้ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน แต่ก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเร่งประเมินผลหลังมีมาตรการออกไปแล้วเพื่อกลั่นกรองเป็นแนวทางการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว” น.สไตรศุลี กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความห่วงใยประชาชน ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงและได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยได้ขอให้กระทรวงอื่นๆได้เตรียมความพร้อม สำหรับมาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนด้วย เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้มีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ รวมถึงแก๊ส ฯลฯ ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี ถือเป็นแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยมาตรการเยียวยาต่างๆจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม และรวดเร็ว ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมที่สุด พร้อมกับมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของระบาดรอบนี้ ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด โดยเวลานี้ขอความร่วมมือทุกคน ให้ช่วยกันป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งเมื่อสถานการณ์การติดเชื้อคลี่คลายโดยเร็ว ประชาชนก็จะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยเร็ว

Advertising

นายกฯย้ำกับบอร์ดอีอีซี ให้เน้นกระจายการลงทุนในพื้นที่ EEC

People Unity News : นายกรัฐมนตรีย้ำบอร์ดอีอีซี เน้นกระจายการลงทุนในพื้นที่ EEC ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก เชื่อมโยงทุกระเบียงเศรษฐกิจในประเทศสู่สากล

เมื่อวานนี้ (1 มี.ค.64) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บรูพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2564 โดยภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ก็มีความก้าวหน้าการเตรียมพื้นที่โครงการ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค เร็วกว่าเป้าหมาย

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC เพื่อติดตามความก้าวหน้ามีผลปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด – 19 ขณะนี้มีการลงทุนในด้านต่างๆกว่าร้อยละ 50 วันนี้มีประเทศญี่ปุ่น จีน เนเธอร์แลนด์และอีกหลายประเทศกำลังสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกด้วย ทั้งอุตสาหกรรมดิจิตอล 5G ที่ไทยทำได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยมีการลงทุนในโครงสร้างและมีการใช้งานแล้วในอำเภอบ้านฉาง รวมทั้งเตรียมพร้อมระบบ Cloud และระบบต่างๆสำหรับภาคอุตสาหกรรม ได้มีการใช้แพลตฟอร์มต่างๆด้วย เพื่อลดภาระต้นทุน สนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังกำชับให้ดูแลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องส่งมอบให้กับการดำเนินการสาธารณูปโภคพื้นฐาน พร้อมย้ำรัฐบาลเผชิญหน้าอุปสรรคและเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำแนวทางสำคัญในการสร้างความสมดุลการลงทุน เน้นเปิดกว้างให้เกิดการกระจายการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความรู้ ดึงความชำนาญและนวัตกรรมจากทั่วโลก โดยเฉพาะการลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อยกระดับการพัฒนา ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับนักลงทุนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ Startup ไทยที่มีศักยภาพ เพื่อให้เม็ดเงินถูกดึงออกมาใช้ลงทุนช่วยแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งทุกโครงการต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส  มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้ EEC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมทุก 1-3 เดือน เพื่อให้นักลงทุนต่างๆ และประชาชน รับทราบถึงการลงทุนในระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะอีอีซีเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย

สำหรับการประชุมบอร์ดอีอีซีวันนี้ ยังได้รับทราบความคืบหน้าโครงการ EFC ขับเคลื่อนห้องเย็นทันสมัย ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีห้องเย็นที่ทันสมัยสำหรับผลไม้ อาทิ ทุเรียน และอาหารทะเล โดยตั้งเป้าสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 – 30 สร้างรายได้ดีต่อเนื่องให้เกษตรกร รวมทั้งความก้าวหน้าพัฒนา 5G ในอีอีซี ก้าวสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านสัญญาณ ด้านข้อมูลกลาง จะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) รวมทั้งการผลักดันให้บ้านฉางเป็นต้นแบบชุมชนอนาคต (Smart city) ทั้งการใช้เทคโนโลยี 5G ดิจิทัลเพื่อการเกษตรอัจฉริยะ และการดูแลสุขภาพชุมชน  ร่วมมือพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) แหลมฉบังด้วย

Advertising

ออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อ “SMEs มีที่ มีเงิน” ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว ตามมติ ครม.

People Unity News : ออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อ “SMEs มีที่ มีเงิน” ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว ตามมติ ครม. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ปีแรกดอกเบี้ยต่ำ 0.10% ลงทะเบียนยื่นกู้ทาง www.gsb.or.th เริ่ม 18 กุมภาพันธ์ 2564

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังคงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักหลังจากการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)  เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาและเพิ่มสภาพคล่องสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมอบหมายธนาคารออมสินจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท เริ่มเปิดรับลงทะเบียนขอกู้ทางเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สามารถใช้ที่ดินเปล่า หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพื่อนำเงินกู้ไปใช้เสริมสภาพคล่องให้กิจการ หรือเพื่อไถ่ถอนที่ดินซึ่งทำสัญญาขายฝากกับเอกชนไว้ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 โดยธนาคารฯให้วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 70% ของราคาประเมินที่ดินราชการ ระยะเวลากู้ 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษตามนโยบายรัฐบาล ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย = 0.10% ต่อปี ปีที่ 2 = 0.99% ต่อปี และปีที่ 3 = 5.99% ต่อปี กรณีบุคคลธรรมดาจำนวนเงินให้กู้ 1-10 ล้านบาท นิติบุคคลจำนวนเงินให้กู้ 1-50 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเงื่อนไขการขอสินเชื่อได้ที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th

“สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ของธนาคารออมสิน เริ่มเปิดให้กู้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2563 มีแนวคิดเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนที่ขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ หรือมีความเสี่ยงสูญเสียที่ดินติดสัญญาขายฝากอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากที่ได้เตรียมวงเงินโครงการเริ่มแรก 5,000 ล้านบาท ต้องขยายเพิ่มเติมเป็น 10,000 ล้านบาท โดยมีผู้ลงทะเบียนขอกู้จนเต็มวงเงินในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับวงเงินใหม่ 10,000 ล้านบาทนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล โดยธนาคารจะพิจารณาให้กู้จากคุณภาพของหลักประกัน และคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

Advertising

ธ.ก.ส. ปลื้ม! เกษตรกรให้ความสนใจโครงการชำระดีมีคืน จนวงเงินใกล้เต็มแล้ว

People Unity News : ธ.ก.ส. ปลื้ม! เกษตรกรให้ความสนใจโครงการชำระดีมีคืนจนวงเงินเกือบเต็ม แนะเร่งชำระภายใน 17 ก.พ.นี้

ธ.ก.ส. ปลื้ม! เกษตรกรให้ความสนใจชำระหนี้ตามโครงการชำระดีมีคืนแล้วกว่า 1.39 ล้านราย จนวงเงิน 3,000 ล้านบาทที่เตรียมไว้ใกล้ครบจำนวน แนะให้ผู้ที่มีสถานะหนี้ปกติเร่งชำระหนี้ภายใน 17 ก.พ.นี้ เพื่อรับดอกเบี้ยคืนก่อนยุติโครงการวันที่ 18 ก.พ.64 ด้านลูกค้าที่มีสถานะหนี้ NPL หรือมีดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน ยังคงสามารถชำระหนี้ตามโครงการลดภาระหนี้ได้จนถึง 31 มี.ค.64

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธ.ก.ส. ได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านโครงการชำระดีมีคืน วงเงินรวมไม่เกิน 3,000 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ปกติ เพื่อลดภาระหนี้ และโครงการลดภาระหนี้ สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ค้างชำระหรือสถานะหนี้ปกติที่มีดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดี รวมถึงช่วยลดความกังวล และสามารถมีเงินกลับคืนเข้าสู่กระเป๋าเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น โดยเมื่อชำระหนี้จะได้รับคืนดอกเบี้ยตามประเภทของลูกค้า ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น

เนื่องจากขณะนี้มีเกษตรกรลูกค้า ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร ให้ความสนใจชำระหนี้ตามโครงการชำระดีมีคืน ถึง ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วกว่า 1.39 ล้านราย ดอกเบี้ยรวมจำนวน 14,348 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. ได้คืนดอกเบี้ยให้ลูกค้าแล้วกว่า 2,363 ล้านบาท ทำให้วงเงินใกล้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ 3,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. จึงแนะนำให้ลูกค้าสถานะปกติเร่งชำระหนี้ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามโครงการภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 โดย ธ.ก.ส. จะปิดโครงการชำระดีมีคืนในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้าที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการลดภาระหนี้ โดยมีสถานะหนี้ NPL หรือมีดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน ซึ่งมีหนี้คงเหลือ ณ วันที่  31 ตุลาคม 2563 ยังคงสามารถตรวจสอบสิทธิ์และชำระหนี้ตามโครงการ ได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้มาลดภาระหนี้ด้วยการตัดชำระต้นเงิน และหลังจากตัดชำระหนี้แล้ว มีเงินคงเหลือจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรในวันถัดไป ซึ่งในกรณีลูกค้าเกษตรกรและบุคคลจะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และกรณีกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่จำกัดวงเงินที่จะคืน ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 LINE Official BAAC Family และ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

Advertising

“ประยุทธ์” ชูเศรษฐกิจ BCG โมเดล เน้น “ไทยลงทุนไทย” ลดความเหลื่อมล้ำ

People Unity News : นายกรัฐมนตรีย้ำเศรษฐกิจ BCG โมเดล เน้น ไทยลงทุนไทยลดความเหลื่อมล้ำ พาไทยหลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

วันนี้ (9 ก.พ. 64) เวลา 08.30 น. ณ บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมนิทรรศการ “ผลงาน BCG : พลังเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย “ผลิตภัณฑ์น้ำตาลไอโซโมทูโลส นวัตกรรมช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล” “ผลิตภัณฑ์ไบโอเมทานอลจากวัตถุดิบเหลือทิ้ง” และ“ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดตรีผลา” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมในครั้งนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมช่วยกันขับเคลื่อน BCG Model ทำให้เกิดการพัฒนาวิจัยผลงานต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขยับสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ที่สำคัญคือ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ กระจายรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก  อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ มาทำให้เกิดคุณค่าแทนการเผาทิ้ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นวิกฤตระดับโลกอีกด้วย  ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้ดึงทรัพยากรทางชีวภาพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทั้ง 6 ภาค มาใช้ประโยชน์เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์จาก BCG Model ให้มากที่สุด ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล ส่วนราชการและภาคเอกชนด้วย นายกรัฐมนตรียังย้ำในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเดินหน้าปรับหลักเกณฑ์การลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริม “ไทยลงทุนไทย” พร้อมทั้งปรับแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงโอกาสมากยิ่งขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงไทยจะเป็นประเทศที่ “ล้มแล้วลุกไว”

นายกรัฐมนตรียังกล่าวเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันใช้ผลิตภัณฑ์จาก BCG Model อาทิ น้ำตาลพาลาทีนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในรูปแบบยาสีฟันและแชมพูสระผม พร้อมยินดีร่วมประชาสัมพันธ์ด้วยนำมาใช้เองด้วย

Advertising

คลังรายงานการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนธันวาคม 63

People Unity News : คลังรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนธันวาคม 2563

นายพรชัย  ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) มีผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 917 ราย ใน 74 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (543 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (147 ราย) ภาคเหนือ (115 ราย) ภาคตะวันออก (64 ราย) และภาคใต้ (48 ราย) ตามลำดับ ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 387,706 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 9,538.59 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 24,602.64 บาทต่อบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์  ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 870 ราย ใน 74 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 807 ราย ใน 74 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 1 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี) โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (71 ราย) กรุงเทพมหานคร (61 ราย) และขอนแก่น (49 ราย)

(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส  ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 136 ราย ใน 45 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 110 ราย ใน 36 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (18 ราย) อุดรธานี (8 ราย) อุบลราชธานี (7 ราย) และกรุงเทพมหานคร (7 ราย)

(3) ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 172,974 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 3,878.96 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 – 3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 24,745 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 576.94 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.87 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 28,092 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 645.94 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.65 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 8,289 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวน 542 ราย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599

ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 0 2255 1898

ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงินโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155

ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567

ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359

ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344

สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน โทร. สายด่วน 1359

Advertising

Verified by ExactMetrics