วันที่ 20 เมษายน 2024

ปตท.คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมประจำปี 2565

People Unity News : 24 มีนาคม 2566 สคร. จัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2565“รัฐวิสาหกิจไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน GROW GREEN BALANCE”

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “รัฐวิสาหกิจไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (GROW GREEN BALANCE)” โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในงาน พร้อมทั้งให้เกียรติมอบรางวัลและมอบนโยบายให้แก่รัฐวิสาหกิจ เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยการจัดงานในปีนี้มีการมอบรางวัลทั้งสิ้น 11 ประเภทรางวัล

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการ สคร. เปิดเผยว่า สคร. ได้มีการจัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น หรือ SOE Awards อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพและนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งได้รับการตอบรับในการเข้าร่วมงานจากรัฐวิสาหกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีตลอดมา โดยการจัดงานในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “รัฐวิสาหกิจไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (GROW GREEN BALANCE)” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Model เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

สำหรับผลรางวัล SOE Award ประจำปี 2566 ทั้ง 11 ประเภทรางวัล มีดังนี้

1.​รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น

​(1) ประเภทเกียรติยศ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

​(2) ประเภทดีเด่น ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และธนาคารอาคารสงเคราะห์

2.รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น

​(1) ประเภทเกียรติยศ ได้แก่ ธนาคารออมสิน

​(2) ประเภทดีเด่น ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารอาคารสงเคราะห์

3.รางวัลการพัฒนาองค์กรดีเด่น ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

4.รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น – ไม่มีผู้ที่ได้รับรางวัล –

5.รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

6.รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน

7.รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น

​​(1) ประเภทดีเด่น ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารอาคารสงเคราะห์

​​(2) ประเภทชมเชย ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน

8.รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น แบ่งรางวัลเป็น 2 ด้าน ประกอบด้วย

​8.1 ด้านความคิดสร้างสรรค์

​​(1) ประเภทดีเด่น ได้แก่ การประปานครหลวง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน

​​(2) ประเภทชมเชย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

​8.2 ด้านนวัตกรรม

​​(1) ประเภทดีเด่น ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และธนาคารอาคารสงเคราะห์

​(2) ประเภทชมเชย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และธนาคารออมสิน การยาสูบแห่งประเทศไทย องค์การเภสัชกรรม องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

9.รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น

​(1) ประเภทดีเด่น จำนวน 1 คู่ความร่วมมือ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

​(2) ประเภทเชิดชูเกียรติ จำนวน 1 คู่ความร่วมมือ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

10.รางวัลบริการดีเด่น ได้แก่ ธนาคารออมสิน การประปานครหลวง และธนาคารอาคารสงเคราะห์

11.รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมประจำปี 2565 ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

Advertisement

จ่อส่งออกน้ำมันปาล์ม  ลดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ

People Unity News : 10 มีนาคม 2566 “พล.อ.ประวิตร” ห่วงใยชาวสวนปาล์ม จ่อดันส่งออกน้ำมันปาล์ม ลดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ กระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นย้ำให้ดูแลกลไกราคา ให้เกิดความเป็นธรรมต่อชาวสวนปาล์ม

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการปาล์มแห่งชาติ (กนป.) มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันของประเทศ สืบเนื่องจากมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 66 ได้เห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลอยู่ที่ 7% หรือ บี7 ไปจนถึงเดือน กันยายน 66   ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจกระทบต่อราคาปาล์มน้ำมันทะลายของเกษตรกรในอนาคต  รองนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเตรียมรับกับสถานการณ์ที่จะเข้าสู่ฤดูกาลที่ผลปาล์มมีผลผลิตมากในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ โดยรองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดูแลกลไกราคา ให้เกิดความเป็นธรรมต่อชาวสวนปาล์ม

พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม กล่าวว่า ได้เชิญผู้แทนกระทรวงการคลัง สำนักงานงบประมาณ กรมการค้าภายใน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนป. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือการผลักดันส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2566 เป้าหมาย 150,000 ตัน ระยะเวลาส่งออกตั้งแต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ถึง กันยายน 2566 โดยรัฐบาลจะพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำหรับการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil : CPO) ในอัตราไม่เกิน 2.00 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน และรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศรวมถึงอาจพิจารณาอุดหนุนการส่งออกเพิ่มเติมในอนาคตตามสถานการณ์ผลผลิตที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นอีกใน ปี 2566

ทั้งนี้ จะได้นำข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ เกี่ยวข้องกับเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินโครงการและรายละเอียดด้านงบประมาณ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นำมาพิจารณาทบทวน โดยจะต้องคำนึงถึงแนวทางปฏิบัติที่ได้มีประกาศ กกต. ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลานี้อีกด้วย

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวต่อว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับทุกหน่วยงานให้คำนึงถึงเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ไม่ไห้ได้ผลกระทบ หรือ ได้ผลกระทบน้อยที่สุด และขอให้ดำเนินมาตรการให้ทันต่อสถานการณ์โลก ทั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงมาตรการระยะยาว ได้แก่ หลักการการเกษตรอัจฉริยะ Smart Farming การขับเคลื่อนการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันในรูปแบบของศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อการพัฒนาจังหวัด Center of Excellence for Provincial Development หรือ COE-PD) ด้านการเกษตร ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เสริมสร้างรายได้ให้ “กินดีอยู่ดี” อย่างยั่งยืน

Advertisement

ข่าวดีชาวไร่อ้อย! ครม. เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูผลิตปี 64/65 ตันละ 1,106.40 บาท

People Unity News : 7 มีนาคม 2566 ที่ประชุม ครม. (7 มี.ค. 66) เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 64/65 เป็นรายเขต 9 เขต โดยมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้

1.ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 64/65 เฉลี่ยทั่วประเทศในอัตรา ตันอ้อยละ 1,106.40 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.

2.อัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 66.38 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.

3.ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิต ปี 2564/2565 เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 474.17 บาทต่อตันอ้อย

ซึ่งราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 64/65 อยู่ในระดับสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ดังนั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จึงไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้แก่โรงงาน

ส่วนรายได้สุทธิจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย โรงงานน้ำตาลต้องนำส่งเงินส่วนต่างระหว่างรายได้สุทธิและราคาอ้อยขั้นสุดท้ายให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตันอ้อยละ 10 บาท ตามมาตรา 57 พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

Advertisement

นายกฯเตรียมบูรณะโบราณสถานในอยุธยา

People Unity News : 3 มีนาคม 2566 นายกฯตรวจเยี่ยมสภาพโบราณสถานวิหารพระมงคลบพิตร และวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพื่อเตรียมการบูรณะ  อารมณ์ดีทักทาย-ถ่ายรูป นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น แซววันหน้าต้องมากินอาหารญี่ปุ่นในไทย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ ตรวจเยี่ยมสภาพวิหารพระมงคลบพิตร และวัดพระศรีสรรเพชญ์ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเตรียมการบูรณะให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเข้ากราบสักการะพระมงคลบพิตร ถวายพวงมาลัย ผ้าห่มพระมงคลบพิตรและรับฟังประวัติและสถานที่สําคัญภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยในอดีตวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสำคัญในสมัยอยุธยา มีสถานะเป็นวัดประจำพระราชวังหลวง นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ภายในวัดยังใช้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์และพระอัฐิของพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยอยุธยา จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินชมโดยรอบของวัดศรีสรรเพชญ์  พร้อมกับสอบถามประวัติการอนุรักษ์วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยในปี พ.ศ. 2560 สํานักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร ดําเนินการบูรณะวิหารป่าเลไลย์และป้อมมุมด้านทิศตะวันตก เฉียงใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ นอกจากนี้เมื่อ พ.ศ. 2562 กรมศิลปากรดําเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาโบราณสถานในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวสําคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเพื่ออํานวยความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยว เช่น ปรับปรุงทางเดินและประตูภายในวัด ติดตั้งทางลาด ปรับปรุงระบบไฟส่องสว่างโบราณสถาน ติดตั้งระบบน้ำเพื่อรดน้ำและปรับปรุงสนามหญ้าให้เกิดความสวยงามแก่โบราณสถานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเปิดเป็นแหล่งการเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

นายกรัฐมนตรี ชื่นชมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันดูแลรักษาโบราณสถานประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศไทย และยังสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ ชื่อเสียงให้กับจังหวัดและประเทศ ซึ่งในวันข้างหน้าจะต้องมีการคิดไอเดียใหม่ๆ เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ภายในพื้นที่นำมาเพิ่มมูลค่าจึงจะยั่งยืน ถ้าหากคิดโปรเจ็กต์ที่ใหญ่ ใช้งบประมาณมาก ทรัพยากรมาก โอกาสที่จะเกิดขึ้นก็จะไม่แน่นอน โดยวันนี้อาจเพิ่มกิจกรรมที่น่าสนใจ เสริมผลิตภัณฑ์ในชุมชนเข้าไปในสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยให้มาเที่ยวในจังหวัด ทำให้การท่องเที่ยวคึกคักมากขึ้น ต้องไม่ลืมว่าแหล่งท่องเที่ยวของไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ทักทายและร่วมถ่ายภาพกับประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พร้อมกับรับมอบดอกไม้และพูดคุย สอบถามด้วยความเป็นกันเอง และได้กล่าวติดตลกกับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น เกี่ยวกับการที่คนไทยนิยมอาหารญี่ประเภทปลา ว่า “วันหน้าปลาจะไม่เหลือแล้วนะ คนไทยกินหมด ทำให้วันหน้าจะต้องมากินอาหารญี่ปุ่นที่ประเทศไทย” เรียกเสียงหัวเราะ ให้กับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นอย่างครื้นเครง นอกจากนี้ยังมีบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติคนอื่นๆได้ มาขอถ่ายรูปกับพล.อ.ประยุทธ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวบางคนเห็นพล.อ.ประยุทธ์แสดงอาการร้อน จึงนำพัดมาพัดเพื่อแก้ร้อนให้ โดยพลเอกประยุทธ์ได้ยกมือไหว้ขอบคุณ

Advertisement

ก.คลังเพิ่มทุนโครงการเหมืองแร่โพแทชอาเซียน 90 ล้าน

People Unity News : 1 มีนาคม 2566 คลังงัดงบกลางเพิ่มทุนโครงการเหมืองแร่โพแทชอาเซียน 90 ล้านบาท  คงสัดส่วนผู้ถือหุ้นตามข้อตกลงโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ครม.เห็นชอบการเพิ่มทุนในโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน โดยเพิ่มทุนเพื่อชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนส่วนแรกในสัดส่วนของกระทรวงการคลัง จำนวน 90 ล้านบาท สำหรับบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เพื่อคงสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลเจ้าของโครงการเป็นไปตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement) และให้โครงการสามารถดำเนินงานต่อไปได้ มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาใช้จ่ายงบกลาง ปีงบประมาณ 2566  ชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนแรกตามขั้นตอนของกฎหมาย

โครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน เป็นโครงการภายใต้ข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement) โดยไทยเป็นสมาชิกร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบูรไน ซึ่งข้อตกลงกำหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของยอดลงทุนทั้งหมด และรัฐบาลเจ้าของโครงการต้องลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของยอดเงินลงทุนนั้น โดยอีกร้อยละ 40 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นผู้ลงทุน โครงการนี้ มีบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการ มีทุนจดทะเบียน 2,805.8 ล้านบาท และกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ร้อยละ 20 เป็นเงิน 516.16 ล้านบาท ลักษณะของโครงการ เป็นการทำเหมืองใต้ดิน  มีแร่โพแทชและเกลือหินเป็นผลผลิตสำคัญ ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ มีมูลค่าแหล่งแร่รวม 200,000 ล้านบาท และได้เริ่มพัฒนาเหมืองขั้นต้นเพื่อการผลิตแร่โพแทชไว้แล้ว เช่น การขุดเจาะอุโมงค์เข้าสู่เหมืองใต้ดินเพื่อการขนส่ง การสร้างห้องใต้ดินเพื่อทดลองผลิตแร่โพแทช ซึ่งไม่พบปัญหาด้านวิศวกรรม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัทไม่สามารถหาทุนเพื่อดำเนินธุรกิจได้ แม้ภาครัฐโดยกระทรวงการคลังได้พยายามเพิ่มทุนแก่บริษัทหลายครั้ง เช่น ขยายนิยามผู้ถือหุ้นในสัดส่วนของรัฐบาลไทยให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจไทย รวมถึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจไทย แต่ไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจ  จึงไม่สามารถผลิตแร่ได้ตามเป้าหมาย  อีกทั้ง มีภาคเอกชนรายใหม่ให้ความสนใจ เข้ามาลงทุนในโครงการ  อาจจะส่งผลต่อสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทเปลี่ยนแปลง กระทรวงการคลังจึงต้องเพิ่มทุนในครั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement)

Advertisement

ธอส.ร่วมช่วยกระทรวงศึกษาฯ แก้ไขหนี้ครู

People Unity News : 17 กุมภาพันธ์ 2566 ธอส. พร้อมช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน  จัดทำมาตรการแก้หนี้ ดอกเบี้ย 0% นาน 10 เดือน ในงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน”  จึงสานต่อความช่วยเหลือดังกล่าว ไปยังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทั้งที่อยู่ระหว่างการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการนำมาตรการแก้หนี้และผลิตภัณฑ์ทางการเงินเข้าร่วมงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกภูมิภาคทั่วประเทศให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างครบวงจร โดยการจัดงานครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โดย ธอส. นำมาตรการแก้หนี้และผลิตภัณฑ์ทางการเงินเข้าร่วมงาน ประกอบด้วย

มาตรการช่วยเหลือลูกค้าปัจจุบันของธนาคาร   มาตรการ 22 [M22]  สำหรับลูกค้าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของรัฐหรือเอกชน ที่ยังคงรับราชการและ/หรือเป็นข้าราชการบำนาญ สถานะ NPL หรือ ลูกค้าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของรัฐหรือเอกชน ที่ยังคงรับราชการและ/หรือเป็นข้าราชการบำนาญ สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ/ปรับโครงสร้างหนี้ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้ผ่อนเงินงวดต่ำพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ 2 ปี เดือนที่ 1-10 ชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) เดือนที่ 11-18 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี (กรณีเงินต้นคงเหลือ 1 ล้านบาท เงินงวดในการผ่อนชำระ 1,800 บาท) เดือนที่ 19-21 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี (กรณีเงินต้นคงเหลือ 1 ล้านบาท เงินงวดในการผ่อนชำระ 3,500 บาท)  เดือนที่ 22-24 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี หรือเท่ากับ 4.40% ต่อปี (กรณีเงินต้นคงเหลือ 1 ล้านบาท เงินงวดในการผ่อนชำระ 3,900 บาท) (อัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. ปัจจุบันเท่ากับ 6.40% ต่อปี)

บ้านมือสอง ธอส. จากทั่วประเทศมากกว่า 1,700 รายการ จำหน่ายพร้อมส่วนลดสุด 50% จากราคาประเมิน พร้อมสิทธิ์ผ่อนดาวน์ 0% นานสูงสุด 36 เดือนทุกรายการทรัพย์ โดยสามารถจองซื้อทรัพย์ออนไลน์และวางเงินประกัน 5,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) พิเศษ!! รับฟรีของสมนาคุณสำหรับลูกค้าที่จองซื้อบ้านมือสอง ธอส. สามารถจองสิทธิ์ซื้อและเลือกดูทรัพย์ได้ที่ Application : GHB ALL HOME

สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาตรการความช่วยเหลือฯ จะต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของรัฐ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ยังคงรับราชการและ/หรือเป็นข้าราชการบำนาญ รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน โดยจะต้องแสดงหลักฐาน เอกสาร บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด พร้อมทั้งแสดงหลักฐานการได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพหรือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เช่น หลักฐานรายได้ หรือ หนังสือรับรองจากหน่วยงานจากต้นสังกัด

ทั้งนี้ การจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค จะจัดขึ้นทั้งหมด 5 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือข้าราชการครูใน จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคามและ ร้อยเอ็ด, ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : วันที่ 4-5 มีนาคม 2566 ณ จ.อุดรธานี ครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือข้าราชการครูใน จ.อุดรธานี บึงกาฬ เลย หนองคาย และ หนองบัวลำภู, ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออก : วันที่ 11-12 มีนาคม 2566 ณ จ.สระแก้ว ครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือข้าราชการครูใน จ.สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครนายก, ครั้งที่ 4 ภาคเหนือ : วันที่ 18-19 มีนาคม 2566 ณ จ.พิษณุโลก ครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือข้าราชการครูใน จ.พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ และ ครั้งที่ 5 ภาคใต้ : วันที่ 25-26 มีนาคม 2566 จัดที่ จ.สุราษฏร์ธานี ครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือข้าราชการครูใน จ.สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ พังงา ระนอง และ พัทลุง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ G H Bank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB ALL, GHB ALL GEN และ www.ghbank.co.th

Advertisement

นายกฯ ดีใจ ท่องเที่ยวชายแดนใต้คึกคัก

People Unity News : 12 กุมภาพันธ์ 2566 นายกฯ ดีใจ ประชาชนตอบรับท่องเที่ยวชายแดนใต้เป็นอย่างดี มั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจแน่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดงานงานมหกรรมท่องเที่ยวปัตตานีอาเซียน ระหว่างวันที่ 2 – 8 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสำคัญของท้องถิ่น ส่งเสริมความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว โดยประกอบด้วย งานมหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี อ.เมือง และ งานสมโภชเจ้าพ่อเล่าเอี๊ยะกง อ.สายบุรี ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

ในงานมหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี ยังประกอบด้วยกิจกรรม อาทิ งานถนนคนเดินอาหาร 3 วัฒนธรรม การจัดกิจกรรม “สักวา อา-รมย์-ดีฟ” การจัดแสดงรถคลาสสิคและรถโบราณ “Pattani Classic and Garage” พิธีอัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ประทับเกี้ยวใหญ่มหามงคล หามรอบเมืองปัตตานี พิธีเปิดงานมหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว กิจกรรมวิ่งมินิมาราธอน “Pattani Charity Night Run” ณ บริเวณหน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี การจัดการประกวดเชิดสิงโตบนเสาดอกเหมยชิงแชมป์เอเชีย เป็นต้น ขณะที่ งานสมโภชเจ้าพ่อเล่าเอี๊ยะกง อ.สายบุรี มีกิจกรรมแห่เกี้ยวปักดิน คือ การหามเกี้ยวพระออกจากศาลเจ้า ไปเยี่ยมเยือนลูกหลานเมื่อท่านมีความพึ่งพอใจ เกี้ยวจะโยกและปักลงดิน ซึ่งมีหนึ่งเดียวในประเทศไทย เป็นประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน

ทั้งนี้ ความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมท่องเที่ยวปัตตานีอาเซียน ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประมาณการณ์ว่า มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 95% และชาวต่างชาติ 5% เดินทางเข้าพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 32,000 คน สร้างรายได้หมุนเวียน 33.5 ล้านบาท โดยจังหวัดปัตตานีมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ 90 ซึ่งผู้เยี่ยมเยือนส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมไปถึงจากต่างพื้นที่ คือ จังหวัดสงขลา พัทลุง สตูลและนครศรีธรรมราช

นางสาวรัชดา ได้กล่าวต่อว่า รัฐบาลยังได้ขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านกิจกรรมการแข่งขันวิ่งเทรล Amazean Jungle Thailand by UTMB 2023 ระหว่างวันที่ 17-19 ก.พ. ณ อ.เบตง จ.ยะลา และโครงการ Amazing Betong Festival 2023 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 9-19 ก.พ. ขณะนี้มีผู้สมัครร่วมเข้าแข่งขัน เกือบ 2,000 คน แบ่งสัดส่วนเป็นคนไทย 60% และต่างชาติ 40% จาก 30 ประเทศ โดยมีชาติที่ให้ความสนใจ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ซึ่งนักท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวจะได้วิ่ง เที่ยว ดื่ม กิน เช็กอิน @เบตง ในงาน Amazing Betong Festival ทั้งนี้ สนามวิ่งเทรล อำเภอเบตง ถือเป็น “หนึ่งในศูนย์กลางกีฬาวิ่งเทรลของโลก” มีสนามที่เป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย-แปซิฟิก คาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะสร้างรายได้แก่พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้หลายร้อยล้านบาทให้

“นายกรัฐมนตรีมีความยินดีต่อความสำเร็จในการจัดงานดังกล่าว ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทุกกลุ่มวัฒนธรรม ในการสืบสานมรดกอันทรงคุณค่าของชาวปัตตานี อีกทั้งในงานยังมีผู้ร่วมงานจำนวนมาก แสดงถึงความมั่นใจในสถานการณ์ในพื้นที่ รวมถึงโอกาสในการเติบโตด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ รัฐบาลขอให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าจะสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ สร้างงาน สร้างรายได้ แก่ชาวจังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างแน่นอน ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว และโครงการเมืองต้นแบบบนพื้นฐานศักยภาพและการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

ครม. เพิ่มมาตรการดึงต่างชาติถ่ายหนังในไทย คืนเงินให้กองถ่าย 150 ล้านบาท

People Unity News : 7 กุมภาพันธ์ 2566 ครม. ทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ คืนเงินเป็นร้อยละ 20-30 เพิ่มเพดานการคืนเงิน 150 ล้านบาท หวังดึงดูดกองถ่ายต่างชาติ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยการปรับเกณฑ์ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ได้แก่ ส่วนที่ 1 ปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) จากเดิม ร้อยละ 15-20 เพิ่มเป็นร้อยละ 20-30 ระยะเวลา 2 ปี โดยมีสิทธิประโยชน์ร้อยละ 20 เมื่อลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 10 หลังจากนี้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรับปรุงประกาศกรมการท่องเที่ยว หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เช่น การกระจายรายได้สู่เมืองรอง การเพิ่มการจ้างงานคนไทย การเพิ่มมูลค่าค่าใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประชาชนโดยตรง

ส่วนที่ 2 การปรับเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่องเป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง ทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนต์ต่อเรื่องเพิ่มเป็น 750 ล้านบาท จากเดิม 375 ล้านบาท เพื่อเป็นการรับกับแนวโน้มคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาในไทยเป็นผู้สร้างรายใหญ่ เงินทุนสูง โดยเฉพาะภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ โดยเรื่องที่เข้ามาถ่ายทำในไทยสูงสุดขณะนี้คือภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์เรื่อง Thai Cave Rescue

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีการทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำาภาพยนตร์ต่างประเทศเนื่องมาจากปัจจุบันประเทศต่างๆ เห็นประโยชน์จากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) หรือคืนภาษี (Tax Rebate/Tax Credit) เพื่อดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ให้เข้าไปถ่ายทำในประเทศตนอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับเกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข สำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยทั้ง 2 ส่วน จะส่งผลต่อภาระงบประมาณในปี 2567-68 (มาตรการมีผลในปี 66 แต่การคืนเงินจะเกิดขึ้นในปี 67-68) รวม 2 ปี เพิ่มขึ้นจาก 821.82 ล้านบาท เป็น 1,845 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.54

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพกว้าง มีเงินจากการลงทุนของบริษัทภาพยนตร์หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น 900-1,200 บาทต่อปี กระจายรายได้ไปสู่ภาคส่วนต่างๆ และการที่ชาวไทยได้ร่วมงานกับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศนอกจากจะให้คนไทยได้รับการจ้างงานเพิ่มกว่า 800 อัตราต่อปี ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มทักษะและประสบการณ์ เป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ระดับสากลด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มมีมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งได้มีคณะถ่ายทำได้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2562 ก่อนเกิดโควิด19  ประเทศไทยมีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ 4,463 ล้านบาท ส่วนปี 64 ที่ยังมีโควิด19 ผู้สร้างภาพยนตร์ก็ยังคงเข้ามาถ่ายทำในไทยสร้างรายได้ 5,007 ล้านบาท

โดยนับแต่มีมาตรการส่งเสริม ได้มีภาพยนตร์ 43 เรื่องที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์  ทั้งหมดนี้สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในไทย 8,560 ล้านบาท มีภาพยนตร์ที่ได้รับอนุมัติสิทธิประโยชน์ 34 เรื่อง เงินลงทุน 6,283 ล้านบาท โดยเงินเหล่านี้กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย เช่น ค่าจ้างทีมงานชาวไทย ค่าเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ ค่าเช่าที่พัก ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่ารถ ค่าใช้จ่ายตามมาตรการป้องกันโควิด ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

โดย ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65 รัฐบาลได้จ่ายเงินคืนภายใต้มาตรการดังกล่าว  29 เรื่อง เป็นเงิน 772 ล้านบาท เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณกระทรวงการท่องเที่ยวฯ 560 ล้านบาท และจากการจัดสรรงบกลางเพิ่มเติม 212 ล้านบาท

Advertisement

ประยุทธ์ ลุยก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินใน 6 ปี

People Unity News : 29 มกราคม 66 “ทิพานัน” เผย “พล.อ.ประยุทธ์” เดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินภายใน 6 ปี เชื่อม กทม.สู่ อีอีซี ผ่าน 5 จังหวัด ยกระดับการเดินทางทันสมัย ไร้รอยต่อ ดึงดูดนักลงทุน จ้างงานเพิ่มแสนตำแหน่ง เชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เร่งขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขจัดอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ทำให้ประชาชนได้เห็นถึงโครงการก่อสร้างระบบคมนาคมมีการพัฒนาไปแบบก้าวกระโดด มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าหลายสายในกรุงเทพฯและปริมณฑล ยกระดับการเดินทางทั้งถนน ราง เรือและอากาศ ทั้งนี้ในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เร่งผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คือสนามบินดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา เพื่อยกระดับการเดินทางให้ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว ไร้รอยต่อ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี ทรัพย์สินทั้งหมดมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทจะตกเป็นของรัฐ ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เชื่อมกรุงเทพฯ กับในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที แนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา สถานีอู่ตะเภา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ความคืบหน้าล่าสุด งานส่งมอบพื้นที่ช่วงนอกเมือง สุวรรณภูมิ -อู่ตะเภา ให้เอกชน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 พร้อมเดินหน้าก่อสร้างแล้ว ส่วนงานส่งมอบพื้นที่ในเมือง ช่วงดอนเมือง -พญาไท มีความคืบหน้าแล้ว 73.75 % เตรียมส่งมอบให้เอกชนภายในเดือนตุลาคม 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2572

“พล.อ.ประยุทธ์ผลักดันโครงการนี้ เนื่องจากเล็งเห็นประโยชน์ ที่จะตามมาที่ไม่ใช่เพียงระบบรางเชื่อมเชื่อม 3 สนามบิน และเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักใน EEC เท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ที่ตามมาอีกมาก เช่น การเดินทางที่สะดวกทันมัยจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น การจ้างงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 1 แสนตำแหน่ง เกิดเมืองใหม่ที่เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city ตามสองข้างทางที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน สามารถเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียนได้ พาประเทศพัฒนาเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งและยั่งยืน โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำให้โครงการดำเนินการอย่างโปร่งใส และรัดกุม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชชนและประเทศชาติ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

Advertisement

กสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี 66 โต 3.7%

People Unity News : 27 มกราคม 66 ธนาคารกสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี 2566 โต 3.7% ด้วยแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยว จีนเปิดประเทศ ตั้งเป้าทางการเงินของธนาคาร ดันสินเชื่อปี 2566 โต 5-7% ภายใต้เศรษฐกิจที่เติบโตเป็น K Shape

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าปี 2565 โดยคาดว่าจะเติบโตที่ 3.7% ด้วยแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อจีนมีนโยบายเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนักท่องเที่ยวคาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2567 อีกทั้งความเสี่ยงจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่ภาวะถดถอยในเศรษฐกิจแกนหลักของโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยจะยังคงเติบโตเป็น K Shape เห็นภาพการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงในแต่ละประเภทธุรกิจ ท่ามกลางการปรับเพิ่มของต้นทุนธุรกิจ อาทิ ค่าจ้างแรงงาน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในขาขึ้น ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

ธนาคารกสิกรไทยจึงประกาศเป้าหมายทางการเงินปี 2566  ที่มีการเติบโตสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง โดยการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) ที่ 5-7% และเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio (Gross) ที่ต่ำกว่า 3.25% รวมทั้งยังคงดำเนินการเชิงรุกในการดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวไม่เท่ากัน ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร

Advertisement

Verified by ExactMetrics