วันที่ 24 เมษายน 2024

รัฐบาลผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรระยะยาว

People Unity News : 25 กันยายน 2565 รัฐบาลผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาว สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบาย ให้ความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกร โดยเน้นการทำงานที่ให้ยึด 5 ประเด็นยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ในการแก้ไขจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งให้เอื้อต่อการพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาว เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” โดยมีแนวทางไปสู่เป้าหมาย คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 4 บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

และเดินหน้าให้ความสำคัญกับนโยบาย 15 เรื่อง เช่น เน้นหลักตลาดนำการผลิต การพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร รวมทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางเป้าหมายในการทำงานรองรับความปกติใหม่ (New Normal) และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง ซึ่งรวมถึงการพัฒนากำลังคนในภาคการเกษตร พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย Young Smart Farmer เพิ่มบทบาทของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือน และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของชุมชน รวมทั้งการพัฒนาอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานที่สำคัญในพื้นที่

“รัฐบาลดำเนินงานด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ วางนโยบายแบบพุ่งเป้ามองไปข้างหน้า ตามความเหมาะสมจากการประเมินจากสถานการณ์โลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมให้การช่วยเหลือเกษตรกรไทย เน้นการทำงานแบบสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกส่วน” นายอนุชากล่าว

Advertisement

รัฐบาลคาดปี 66 รายได้ท่องเที่ยวสูงสุด 2.38 ล้านล้านบาท

People Unity News : 19 กันยายน 65 รัฐบาลคาดปี 2566 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดรวม 2.38 ล้านล้านบาท กลับมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลวางเป้าหมายสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยให้ภาพรวมปี 2566 การท่องเที่ยวของไทยกลับมาอยู่ในสัดส่วนเป็น 80% ของปี 2562 (ก่อนสถานการณ์โควิด-19) โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 1.73 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 970,000 ล้านบาท และรายได้หมุนเวียนจากตลาดคนไทย 760,000 ล้านบาท และเชื่อว่าหากเป็นไปตามสถานการณ์ท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยในทุกด้าน (Best Case Scenario) คาดว่าจะมีรายได้รวม 2.38 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 880,000 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยินดีที่สายการบินมีการปรับแผนและการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในฤดูการท่องเที่ยวในไตรมาส 4 จนถึงต้นปีหน้า หรือช่วง High Season โดยจากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยประเมินว่าไตรมาส 4 ในเดือน ตุลาคม – ธันวาคม จะมีนักท่องเที่ยวจำนวน 1.5 ล้านคนต่อเดือน ซึ่ง ททท.จะจับมือกับสายการบินพันธมิตรผลักดันการท่องเที่ยวช่วง High Season ผ่านการส่งเสริมการขายและการตลาดอย่างต่อเนื่อง สะท้อนบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักหลังนโยบายเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

“ภายหลังรัฐบาลผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติ และเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงเดือนกันยายน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยกว่า 5 ล้านคนแล้ว ซึ่งเฉพาะในเดือนกันยายนจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน และคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ตามเป้าหมายที่ 10 ล้านคน หรือมากกว่านั้น ดังนั้น การเตรียมความพร้อมการรองรับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้ร่วมกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันหารือแนวทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ รวมถึงการส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวคุณภาพให้เข้ามามากขึ้น แทนการเน้นในเรื่องของจำนวนปริมาณนักท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

ครูเป็นหนี้ 9 แสนคน 1.4 ล้านล้านบาท ลงทะเบียนแก้หนี้แล้ว 4 หมื่นคน ชวนร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ช่วงปิดเทอม

People Unity News : 17 กันยายน 2565 รองโฆษกรัฐบาลเผยความคืบหน้าแก้หนี้ครู ลงทะเบียนกว่า 4 หมื่นคน รวมมูลหนี้ 5.8 หมื่นล้านบาท ลดดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ ชวนร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู

วันนี้ (17 กันยายน 2565) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลตั้งเป้าให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างต่อเนื่อง สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันพบว่ามีครูกว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 8.9 แสนล้านบาท รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท รวมทั้งธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันการเงินอื่นๆ

นางสาวรัชดา กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูว่า ภาพรวมได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูไปแล้ว ดังนี้

ลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ลงเฉลี่ยร้อยละ 0.3 ลูกหนี้ได้รับประโยชน์กว่า 4 แสนราย รวมภาระหนี้สินที่ลดลงกว่า 2.2 พันล้านบาท

ปรับโครงสร้างหนี้ โดยการรวมหนี้มาไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ หรือสถาบันการเงิน ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า เพื่อให้ครูมียอดชําระต่อเดือนน้อยลง และเหลือเงินเดือนหลังหักชําระไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30

กําหนดให้สามารถหักเงินสวัสดิการ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค) ในกลุ่มแรก (ร้อยละ 70 ของเงินเดือน) เพื่อให้สามารถใช้เงิน ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 3.6 แสนราย ที่ใช้ ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ ส่งผลให้ครูไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อทำประกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 2.3 พันล้านบาท

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครูผ่านสถานีแก้หนี้ 588 แห่งทั่วประเทศนั้น นางสาวรัชดา กล่าวว่า ขณะนี้ มีครูลงทะเบียนแก้หนี้แล้ว 4 หมื่นกว่าคน มูลค่าหนี้รวมกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท สามารถแก้ปัญหาหนี้ไปแล้ว 11,090 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ลงทะเบียน ส่วนที่เหลือ กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ “ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก” เป็นเวทีกลางเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นำร่องที่จังหวัดกำแพงเพชร เริ่ม 4 ตุลาคม 2565 นี้ ก่อนขยายผลจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศต่อไป

Advertisement

โฆษกรัฐบาลเผยอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไทยเร็วอันดับ 3 ของโลก

People Unity News : 7 กันยายน 65 โฆษกรัฐบาล เผยรัฐบาลให้ความสำคัญอำนวยความสะดวกเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนเข้าถึงได้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ย้ำไทยเป็นอันดับ 3 อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เร็วที่สุดในโลก

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนเข้าถึงได้ ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าประเทศไทยให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เร็วที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีพื้นที่ให้บริการ 5G ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 90 ของประเทศ ทั้งนี้ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ Ookla ผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตชื่อดัง รวบรวมข้อมูลตั้งแต่กุมภาพันธ์ปี 2021 จนถึงเดือน ก.ค. ปี 2022 พบว่าประเทศ ชิลี สิงคโปร์ และไทย เป็น 3 อันดับแรกที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สูงสุด (https://www.speedtest.net/global-index) โดยสิงคโปร์และชิลีที่มีความเร็วเกิน 200 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) ขณะที่ไทยมีความเร็วอยู่ที่ 189.64 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) ซึ่งเร็วกว่าอีกหลายประเทศอย่างฮ่องกง มาเก๊า และสหรัฐฯ

“ในส่วนของการบริการอินเทอร์เน็ตผ่านพื้นที่ที่รับสัญญาณ 5G เป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ พบว่าสอดคล้องกับแผนที่แสดงพื้นที่ครอบคลุม 5G ของไทย ซึ่งเมื่อดูจากแผนที่จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีพื้นที่ครอบคลุม 5G จำนวนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ทั้งหมด (https://www.facebook.com/ItsAseanSkylines/photos/a.1538443799785879/2805497396413840/?type=3) และจากข้อมูลรายงานการสำรวจรวบรวมโดย We Are Social เมื่อปี 2021 พบว่าราคาค่าใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.06 ดอลลาร์ต่อ 1 GB ซึ่ง “ถูกกว่าค่าเฉลี่ยของโลก” ที่ 4.07 ดอลลาร์ต่อ 1 GB (https://datareportal.com/reports/digital-2021-thailand)” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแก่ประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและขับเคลื่อนประเทศ ไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมทั้งให้สอดรับกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการทำธุรกิจและธุรกรรมออนไลน์ โดยส่งเสริมการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทุกประเภทให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการยกระดับมาตรฐานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตของไทย เพื่อให้พี่น้องชาวไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ

Advertisement

รัฐบาลเผยให้ความสำคัญ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

People Unity News : 5 กันยายน 65 โฆษกรัฐบาล เผย รัฐบาลให้ความสำคัญ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ครึ่งปีแรก 2565 ส่งเสริมแล้ว 309 โครงการ มูลค่ารวม 131,580 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยเน้นการสนับสนุนการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) รวมทั้งสร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศให้มากขึ้นนั้น ในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 มีการขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหารมีจำนวนโครงการสูงสุด และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด

นายอนุชากล่าวว่า ในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม จำนวน 750 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 375,670 ล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 309 โครงการ จาก 5 อุตสาหกรรมเดิมที่เป็นเป้าหมาย (ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, การเกษตรและแปรรูปอาหาร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, การท่องเที่ยว) และ 7 อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเป้าหมาย (ดิจิทัล, การแพทย์, เทคโนโลยีชีวภาพ, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, อากาศยาน, พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา, ป้องกันประเทศ) คิดเป็นร้อยละ 41 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งสิ้น มีมูลค่ารวม 131,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าการอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด โดยจำนวนโครงการส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร มีจำนวนโครงการสูงที่สุด (80 โครงการ) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมดิจิทัล (72 โครงการ) ส่วนมูลค่าการลงทุนจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด (40,260 ล้านบาท) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (34,080 ล้านบาท)

สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร ที่มีการอนุมัติให้การส่งเสริมเป็นจำนวนโครงการสูงที่สุด 80 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,620 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ 14 โครงการ เงินลงทุน 10,995 ล้านบาท เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ที่มีการอนุมัติให้การส่งเสริม 43 โครงการ เงินลงทุนรวมสูงที่สุดคือ 40,260 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Battery Electric Vehicle (BEV), Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) และ Hybrid Electric Vehicle (HEV) 1 โครงการ เงินลงทุน 36,100 ล้านบาท เป็นต้น

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต ส่งผลให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเร่งขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 384,430 ล้านบาทต่อปี สร้างการเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ไทยในอนาคตอย่างต่อเนื่อง” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

รัฐบาลปลื้มส่งออกมันสำปะหลังครึ่งปีแรก 6.7 ล้านตัน 8.2 หมื่นล้านบาท ลุ้นทั้งปีทำสถิติสูงสุดใหม่

People Unity News : วันนี้ (28 สิงหาคม 2565) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลชื่นชมผลสำเร็จ ตามที่ผลการส่งออกมันสำปะหลังไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2565 มีจำนวนกว่า 6.7 ล้านตัน รวมมูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท พร้อมกำชับทุกฝ่ายร่วมพิจารณามาตรการเพิ่มการส่งออกให้บรรลุเป้าหมาย 1.3 แสนล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งดำเนินมาตรการประกันราคาผลผลิต และรายได้เกษตรกรมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแสวงหาตลาดแก่ผู้ประกอบการค้ามันสำปะหลังทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งดิบ แป้งแปรรูป และอื่นๆ (กากมัน และสาคู) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 นี้ มีอัตราการส่งออกแล้วกว่า 6.7 ล้านตัน รวมมูลค่ากว่า 8.2 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ถือว่ามีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 35.16% ทั้งนี้ เกิดจากปัจจัยด้านสงครามที่ส่งผลต่อวัตถุดิบทางการเกษตรและอาหารทั่วโลก โรงงานอาหารสัตว์ฟื้นตัวจากผลกระทบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) และโดยเฉพาะความต้องการมันเส้นเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ของจีนสูง ทำให้ตลาดมันสำปะหลังไทยขยายตัว

โดยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้ร่วมประชุมหารือ 4 สมาคมมันสำปะหลัง ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นในปริมาณ 4.25 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลอดทั้งปี 2565 จะมีปริมาณการส่งออกรวม 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งหากยอดการส่งออกตรงตามที่คาดการณ์ไว้จริง มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังจะถือเป็นยอดสูงสุดในรอบ 15 ปี

“รัฐบาลโดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้การบูรณาการความร่วมมือร่วมกับภาคเกษตรกร ผู้ประกอบการ และคู่ค้ามันสำปะหลังต่างประเทศ ในการร่วมส่งเสริม และผลักดันการส่งออกสินค้าไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการอย่างเต็มศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ พร้อมหาแนวทางการต่อยอดส่งออกสินค้าการเกษตรอื่น ๆ ขยายตลาดผลผลิตไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

สำนักงานสลากฯ เพิ่มสลากดิจิทัลงวด 16 ก.ย. เป็น 11.4 ล้านใบ

People Unity News : วันนี้ (25 สิงหาคม 2565) เวลา 15.00 น. ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล  พร้อมด้วย พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการฯ กล่าวว่า  จากการที่สำนักงานสลากฯ ดำเนินการจำหน่ายสลากดิจิทัล ตั้งแต่งวดวันที่ 16 มิถุนายน 2565 จนถึงขณะนี้ ผ่านมาแล้ว 6 งวด มีผลตอบรับจากผู้ซื้อมีความพึงพอใจที่สามารถซื้อสลากหมายเลขที่ต้องการได้จริง ในราคา 80 บาททุกใบ โดยข้อมูลจำนวนผู้ซื้อสะสมตั้งแต่งวดที่ 1-6 มีประมาณ 2,800,000 ราย เป็นผู้ที่ซื้อประจำ 500,000 ราย (17%) ผู้ซื้อที่ไม่ได้ซื้อเป็นประจำ 2,300,000 ราย (83%) โดยส่วนใหญ่ประมาณ 50% จะซื้อสลากงวดละ 2-5 ใบ รองลงมา ซื้อสลากงวดละ 1 ใบ คิดเป็น 19% และซื้อสลากงวดละ 6-10 ใบ คิดเป็นลงมา 17%

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการจำหน่ายสลากดิจิทัล ยังคงหมดลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น เพื่อให้มีระยะเวลาจำหน่ายที่เหมาะสมในแต่ละงวด คือ 7-10 วัน จึงได้เพิ่มปริมาณสลากงวดวันที่ 16 กันยายน 2565 เป็น 11,453,000 ฉบับ โดยสลากทั้งหมดเป็นของตัวแทนจำหน่าย 22,906 ราย โดยจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2565 เวลา 06.00 – 23.00 น. ทุกวัน จนกว่าสลากจะหมด

“สำหรับเป้าหมายในปีนี้ คือ ตั้งเป้าจำหน่ายสลากราคา 80 บาท ประมาณ 20 ล้านใบ ดังนั้น การเพิ่มทางเลือกให้ร้านค้าสามารถลดราคาสลากดิจิทัลได้จะมีประโยชน์ หากปริมาณสลากมีมากกว่า 15 ล้านใบ ในส่วนของเลขที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมและขายออกช้า ผู้ขายสามารถเลือกได้ว่า จะลดราคาลงเพื่อให้ขายง่ายขึ้น หรือจะเก็บสลากไว้ลุ้นรางวัล หากขายไม่ได้จนถึงวันสุดท้าย คนขายจะค่อยๆปรับตัวและเรียนรู้ ในส่วนของคนซื้อก็มีโอกาสได้ซื้อสลากราคาต่ำกว่า 80 บาท เราอยากเห็นประชาชนเป็นผู้ตั้งราคาสลาก อยากเห็นการปฏิเสธการซื้อสลากเกินราคา โดยจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้สลากในตลาดราคาถูกลงด้วย ” นายลวรณกล่าว

ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และศึกษาผลกระทบทางสังคมเกี่ยวกับการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล และ L6 และ N 3 กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมและสรุปผลโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น คาดว่าจะสามารถส่งผลสรุปให้สำนักงานสลากฯ ได้ภายในสิ้นเดือนนี้ และหลังจากนั้น สำนักงานสลากฯ จะรวบรวมความคิดเห็น รวมทั้งผลการศึกษาผลกระทบทางสังคมในทุกมิติ ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เสนอคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณานำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการดำเนินงานของสำนักงานสลากฯ อีกภารกิจหนึ่งคือการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งในงวด 1 กันยายน 2565 จะเดินทางไปออกรางวัลสลากสัญจร ณ ห้องราชพฤกษ์ ชลพฤกษ์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในต่างจังหวัดได้เห็นขั้นตอนและวิธีการตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการออกรางวัลด้วยตนเอง จะได้ไม่หลงเชื่อข่าวลือเรื่องเลขเด็ดจากกลุ่มมิจฉาชีพที่ทำการหลอกลวงต้มตุ๋น ผ่านทางสังคมออนไลน์และการส่งจดหมายแอบอ้างว่าสามารถให้ตัวเลขที่จะออกรางวัลได้ สำหรับการออกรางวัลครั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ให้เกียรติเป็นประธานกรรมการออกรางวัล จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครนายกและพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมพิสูจน์ความโปร่งใสไปพร้อมๆ กัน หรือรับชมการถ่ายทอดสดได้ผ่านสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี ไทยรัฐทีวี LINE TODAY และเว็บไซต์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

Advertisement

พาณิชย์อนุมัติบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคาแล้ว เริ่ม 25 ส.ค.65

People Unity News : 24 สิงหาคม 65 อธิบดีกรมการค้าภายใน แถลงข่าวร่วมกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาซองละ 1 บาท ทำให้ตั้งแต่พรุ่งนี้ (25 ส.ค.) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาจะอยู่ที่ซองละ 7 บาท หลังไม่ได้ขึ้นมานานหลายปี ระบุกรมฯจะเฝ้าติดตามหากต้นทุนลดลงราคาก็ควรลดลงตามด้วยเช่นกัน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่ากรมฯได้ประชุมร่วมกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ตรามาม่า บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ตราไวไว และบริษัท วันไทย อุตสาหกรรม อาหาร จำกัด ตรายำยำ เพื่อพิจารณากรณีที่ผู้ผลิตยื่นขอปรับขึ้นราคาแบบซองจาก 6 บาทเป็น 8 บาท โดยหลังจากพิจารณาต้นทุนร่วมกันอย่างละเอียดแล้ว ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ เช่น ข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม แพกเกจจิ้ง รวมถึงต้นทุนพลังงานและแรงงาน เห็นว่าต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นจริง จึงได้อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาทั้ง 3 ราย ไม่เกิน 1 บาทต่อซองสำหรับขนาดปกติ ส่วนรายการอื่น ไม่อนุมัติให้ปรับขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ราคาที่ผู้ผลิตที่ยื่นขอมา 8 บาท ถือว่าสูงไป จึงอนุมัติให้ขึ้นได้ไม่เกิน 1 บาทต่อซอง หรือสูงสุดไม่เกินซองละ 7 บาท เพราะต้องคำนึงถึงพี่น้องประชาชนภายใต้นโยบาย วิน-วิน โมเดล ที่ผู้ผลิตอยู่ได้ ผลิตต่อได้ และประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป จึงออกมาอย่างที่ได้ตกลงกัน โดยกรมฯ ยังได้เพิ่มเงื่อนไขให้ผู้ผลิตปฏิบัติ คือ ถ้าต้นทุนวัตถุดิบลดลง ต้นทุนพลังงานลดลง ก็ต้องปรับลดราคาลงมา โดยกรมฯ จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด และจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ผลิตปรับลดราคาต่อไป หากมีกรณีเกิดขึ้น และกรมฯ ได้แจ้งผู้ผลิตไปแล้ว แต่ผู้ผลิตไม่ปรับลดราคาลง จะเป็นการเข้าข่ายขายสินค้าแพงเกินสมควร มีโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ม.26 และ 29

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตอีก 2 รายที่เหลือ คือ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ตรานิชชิน และบริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ตราซื่อสัตย์ จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์เดียวกันนี้ โดยล่าสุดนิชชิน ได้ยื่นรายละเอียดต้นทุนเข้ามาครบถ้วนแล้ว กรมฯ จะพิจารณาต่อไป ส่วนซื่อสัตย์ ยังไม่ได้ยื่นรายละเอียดเข้ามา

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า กล่าวว่า หากมองในจุดที่ผู้ผลิตขอปรับขึ้นราคาไป 8 บาทต่อซอง ได้ปรับไม่เกิน 1 บาท หรือไม่เกิน 7 บาทต่อซอง ก็ถือว่าแย่ แต่ถ้ามองจากจุดที่ผู้ผลิตขอปรับขึ้นราคามา 18 เดือน ก็ถือว่าดี และเข้าใจว่าภาครัฐ ต้องดูแลพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภาระค่าครองชีพที่จะเพิ่มขึ้น ถือว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ ซึ่งผู้ผลิต ก็ยอมรับได้ เพราะยังดีกว่าไม่ได้ปรับขึ้นราคาเลย เพราะที่ผ่านมา มาม่าขายเกือบขาดทุน บางรายต้องขาดทุนไปแล้ว

Advertisement

ประยุทธ์ พอใจส่งออกยางพารา ครองแชมป์โลก

People Unity News : 13 สิงหาคม 65 นายกฯ พอใจผลงานส่งออกยางพารา ครองแชมป์โลก ก.เกษตร ออก 6 มาตรการเสริม เจาะตลาดใหม่ ดันราคายางเพิ่ม

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้แนวทาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของรัฐบาล ทำให้ยอดการส่งออกยางพาราครึ่งปีแรกปี 2565 ของไทย ครองตำแหน่งผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานว่า ช่วง ม.ค.-มิ.ย. ปีนี้ มีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยาง 2.19 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 2.4 แสนล้านบาท จีนนำเข้ายางไทยเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 49% ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 7% ญี่ปุ่น 6% เกาหลีใต้ 4%

สำหรับแผนการขยายตลาดสู่ตลาดใหม่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ว่า ได้สั่งการให้คณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง ทำการระดมสมองจากทูตเกษตรทุกภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลและออกมาตรการเชิงรุก ซึ่งได้ข้อสรุป 6 มาตรการ ดังนี้

1.มาตรการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก เช่น การผลิตสื่อดิจิทัลเผยแพร่ในตลาดต่างประเทศ

2.มาตรการการตลาดเชิงรุก เน้นความต้องการผลิตภัณฑ์ยางรายตัวสินค้าและรายประเทศคู่ค้า (product based &country based) เช่น ความต้องการยางจักรยานและยางรถบัสเพิ่มขึ้นในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปและผลิตภัณฑ์ยางที่อียูแบนสินค้าจากรัสเซีย หรือผลิตภัณฑ์ยางที่รัสเซียระงับการนำเข้าจากอียู

3.มาตรการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ใช้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน สวนยางยั่งยืนและระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อตอบโจทย์ ประเด็นสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นเรื่องที่หลายประเทศในยุโรปให้ความสำคัญ

4.มาตรการระยะสั้นรายไตรมาส เพื่อการบริหารจัดการตามปฏิทินฤดูการผลิตประจำปี โดยมอบ กยท. ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรหารือกันเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกัน

5.มาตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ยางมูลค่าสูง เน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เช่น วัสดุภัณฑ์ก่อสร้างบ้านและอาคาร ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง สถาบันยางและผู้ประกอบการ ผ่านการทำงานร่วมระหว่าง กยท. และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์AIC) นำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้จริง

6.มาตรการเชิงกลไกการตลาด เช่น การบริหารซัพพลายและดีมานด์ กลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริง และระบบการประมูลยางออนไลน์เป็นระบบที่เปิดกว้างเพิ่มผู้ซื้อทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการกำหนดราคาโดยผู้ซื้อน้อยราย หรือการฮั้วหรือการผูกขาด

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ในแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคายาง และพอใจผลงานกระทรวงเกษตรฯ ที่สามารถผลักดันให้ประเทศไทยครองแชมป์ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งหมายถึงรายได้ที่จะมาสู่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ นายกฯได้เน้นย้ำเรื่องการใช้นวัตกรรมพัฒนาสินค้ายางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า และเจาะตลาดประเทศใหม่ๆ

Advertisement

SME D Bank ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุดช่วยเอสเอ็มอี

People Unity News : 12 สิงหาคม 65 ธพว. ขานรับนโยบายภาครัฐ ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด ช่วยเอสเอ็มอีไทยบริหารต้นทุนการเงิน เพื่อเดินหน้าธุรกิจเต็มกำลัง

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา แม้ ธพว. จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจาก ธพว. เป็นสถาบันการเงินของรัฐเพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอีไทย ที่มีความใกล้ชิดและเข้าใจสถานการณ์ของเอสเอ็มอีเป็นอย่างดี รวมถึงเป็นการขานรับนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ที่มอบหมายให้สถาบันการเงินช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ ดังนั้น ธพว. พร้อมจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสามารถบริหารต้นทุนการเงินได้

โดยก่อนหน้านี้ ธพว. ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ามาแล้วอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ลูกค้าได้รับผลกระทบไม่มาก ขณะเดียวกัน ยังมีผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำและคงที่ ช่วยเสริมสภาพคล่องและบริหารจัดต้นทุนทางการเงิน เช่น “สินเชื่อ 3D” อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.5% ต่อปี ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ และ “สินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (BCG Loan) อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.99% ต่อปี เป็นต้น ประกอบกับสนับสนุนด้าน “การพัฒนา” ควบคู่ไปด้วย ภายใต้โครงการ “SME D Coach” ที่ปรึกษาธุรกิจครบวงจร ช่วยประคับประคองให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัวและเดินหน้าธุรกิจได้ต่อเนื่อง

Advertisement

Verified by ExactMetrics