วันที่ 1 พฤษภาคม 2024

แม่ทัพภาค 4 พบสื่อฯ 3 ประเทศ สร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจเยือนพื้นที่ จชต.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 ธันวาคม 2566 แม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมพบปะสื่อฯ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย พร้อมสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ยินดีต้อนรับ นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเข้ามาเยือนพื้นที่ จชต.

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และคณะ ร่วมพบปะคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่เดินทางมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 การจัดบรรยากาศที่เป็นกันเอง ซึ่งจัดโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว พร้อมหารือเรื่องการสร้างความเชื่อมั่น การดูแลความปลอดภัย ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการและสื่อมวลชนในโครงการนี้

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า ได้ทราบจากนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยถึงกิจกรรม สานสัมพันธ์สื่อมวลชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งนี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ ในฐานะที่เป็นบ้านพี่เมืองน้อง มีความหลากหลายในการนับถือศาสนา และเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันในภูมิภาคอาเซียน การมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าสื่อมวลชนทุกท่านได้มาเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ห้วงสองสามปีที่ผ่านมาทั่วโลกได้เกิดภาวะโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไป และปัจจุบันนี้สถานการณ์ดีขึ้นและทุกอย่างได้กลับมาดำเนินการเดินหน้าเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งปัจจุบันนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงจังหวัดสงขลามีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเดินทางเข้ามาทำธุรกิจ มาท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพี่น้องประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย อินโดนีเซีย เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ แม้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 20 กว่าปี แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเรื่องของความมั่นคง และเรื่องการท่องเที่ยวการพัฒนาได้มีการขับเคลื่อนควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง ขอให้ความมั่นใจต่อนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่เข้ามาในพื้นที่ ขอให้ท่านมีความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย ส่วนเรื่องหลากหลายไม่ใช่ปัญหา ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้เพราะทุกวัฒนธรรมทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข และในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ขอให้ทุกคนมั่นใจได้ทั้งเรื่องความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจที่เดินทางมาเข้ามาให้ท่านเชื่อมั่นวางใจได้ เราพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือในทุกด้านโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยเมื่อมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้

โครงการ “สานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2566 นำโดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยที่นำเครือข่ายผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว สื่อมวลชนในกลุ่มมาเลเซีย และอินโดนีเซีย มาเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเข้าพบปะบุคคลสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ หารือความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์แลกเปลี่ยนข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวรู้สึกให้มั่นใจถึงความปลอดภัยเมื่อมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักโดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจ IMTGT เชื่อมสัมพันธ์และกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความสัมพันธ์ที่ดี และร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต

Advertisement

ไทย-สหรัฐพร้อมขยายความร่วมมือ

People Unity News : 28 พฤศจิกายน 2565 นายกฯ หารือ USABC เสนอ 3 แนวทางเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมสร้างความเข้มแข็ง การเติบโตเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม ขณะสหรัฐพร้อมขยายความร่วมมือกับไทย

คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council : USABC) นำโดยนายโรเบิร์ต โกเดค (H.E. Mr.Robert Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC และผู้แทนบริษัทสมาชิก จำนวน 43 บริษัท จากกลุ่มอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ อาทิ พลังงาน อาหารและการเกษตร สาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการทางการเงิน เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า USABC และภาคเอกชนสหรัฐฯ ถือเป็นมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีบทบาทสนับสนุนการเติบโตของไทยมาโดยตลอด รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคเอกชน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ มีพลวัตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในการประชุมเอเปค ไทยได้ผลักดันผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมหลายประการ ทั้งการทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทหลังโควิด-19 และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยการนำเสนอเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG)

“คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตระหว่างร้อยละ 2.7-3.2 ไทยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ มุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม และให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม บนพื้นฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อพัฒนาไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนของภูมิภาค” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรีได้เสนอวิสัยทัศน์และแนวทางการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุค Next Normal 3 ประการ ได้แก่ 1.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีความสมดุล และมุ่งเข้าสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน โดยรัฐบาลได้เร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียว และต้องการยกระดับไทยไปสู่การผลิต EV สำหรับภูมิภาค พัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“2.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยรัฐบาลได้เร่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจตามข้อเสนอ Ten for Thailand เพื่อพัฒนาไทยไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคสำหรับธุรกิจ การค้า และการลงทุน และ 3.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ไทยมุ่งผลักดันและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เร่งพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี หวังว่าในโอกาสฉลองครบรอบ 190 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในปี 2566 ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนจะเพิ่มพูนและแน่นแฟ้น มีพลวัตในความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านนาย Ted Osius ประธาน USABC กล่าวว่า การพบกันครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้พบกันพร้อมหน้า และเป็นคณะที่ใหญ่สุดที่เดินทางมาประเทศไทยรวม 43 บริษัทแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือกับไทย และการลงทุนในภูมิภาคนี้ ถือเป็นโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบครบรอบ 190 ปีของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในปีหน้าด้วย และชื่นชมความสำเร็จที่นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธานการประชุมเอเปค 2022 ได้อย่างยอดเยี่ยม

ส่วนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยั่งยืนยาวนาน ร่วมกันส่งเสริมความสัมพันธ์ในหลายระดับและภาคเอกชนถือว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมรับไม้ต่อในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า และยืนยันจะส่งเสริมความร่วมมือกับไทยต่อไป

ด้านผู้แทนจากบริษัทภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้ง 43 บริษัทจาก 6 อุตสาหกรรมหลัก ได้กล่าวแนะนำตัวและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือและสนับสนุนแนวคิด BCG ของไทยผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการใช้พลังงาน ผลิตภัณฑ์ อย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งตัวแทนบริษัทส่วนใหญ่เห็นว่า ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์การกลางลงทุนในด้านต่างๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ (Auto Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งพร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่พร้อมต่อการทำงาน ซึ่งจะช่วยรองรับการขยายการลงทุนของแต่ละธุรกิจในอนาคตต่อไป

Advertisement

ไทย-รัสเซียทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

People Unity News : 15 มีนาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.วานนี้อนุมัติให้ลงนามร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทย-รัสเซีย ต้องเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี ถึงจะส่งตัวได้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (14 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติลงนามร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการดำเนินการให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการปราบปรามอาชญากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระและหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดนคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้จัดทำกับประเทศต่าง ๆ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551

“สำหรับข้อกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อาทิ 1.ความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ ต้องเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ (Double Criminality) และเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี 2.ผู้ประสานงานกลางของฝ่ายไทยตามสนธิสัญญานี้ คือ อัยการสูงสุด และฝ่ายสหพันธรัฐรัสเซีย คือ สำนักงานอัยการสูงสุด 3.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ ไม่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลซึ่งกระทำความผิดทางการเมืองและความผิดทางทหาร ทั้งนี้ ความผิดต่อประมุขของรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว และการกระทำหรือการละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดอาญาตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาพหุภาคีที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคี ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 4.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อมีเหตุต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายของภาคีแต่ละฝ่าย อาทิ ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางทหาร ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับอายุความ 5.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ สามารถปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อภาคีที่ได้รับการร้องขอมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทบต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือภาคีที่ได้รับการร้องขอกำลังดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวในความผิดนั้นอยู่ 6.สนธิสัญญานี้ไม่กำหนดให้คู่ภาคีมีพันธกรณีใด ๆ ที่จะต้องส่งคนชาติของคนข้ามแดน อย่างไรก็ดี กรณีที่มีการปฏิเสธการส่งคนชาติข้ามแดน ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องเสนอคดีนั้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องคดีต่อไป เว้นแต่ว่าภาคีที่ได้รับการร้องขอไม่มีอำนาจเหนือความผิดนั้น ก็จะไม่ต้องเสนอคดีนั้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อฟ้องคดี

“7.กรณีเร่งด่วน ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถร้องขอให้มีการจับกุมตัวชั่วคราว (Provisional Arrest) บุคคลที่ต้องการ เพื่อให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปได้ 8.ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการแบบย่อ (Simplified procedure) ในกรณีที่บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวยินยอมต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือศาลแห่งภาคีที่ได้รับการร้องขอ 9.กรณีที่ได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้ร้องขอตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป ให้ภาคีที่ได้รับการร้องขอพิจารณาว่าจะส่งบุคคลนั้นข้ามแดนให้แก่ประเทศใด โดยนำเหตุผลดังต่อไปนี้มาพิจารณาทั้งหมด 1)ประเทศผู้ร้องขอมีหรือไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย 2)สัญชาติของบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว 3)เวลาและสถานที่กระทำความผิด 4)ความร้ายแรงของความผิด 5) ลำดับคำร้องขอที่ได้รับจากประเทศผู้ร้องขอ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 10.กำหนดหลักการว่าบุคคลที่ถูกส่งตัวไป จะไม่ถูกลงโทษในความผิดอื่น นอกเหนือจากในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 11.กำหนดขั้นตอนการวินิจฉัยคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการส่งมอบตัวบุคคลในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 12.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนกระทั่งถึงเวลาส่งมอบตัว

“ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและการดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากร่างสนธิสัญญาไม่ได้มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

“ปานปรีย์” เสนอเนเธอร์แลนด์ ขอฟรีวีซ่าเชงเก้นให้คนไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กุมภาพันธ์ 2567 เบลเยียม – “ปานปรีย์” หารือ รมว.กต.เนเธอร์แลนด์ ขอเสียงโหวตหนุนไทยนั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน-ขอฟรีวีซ่าเชงเก้นให้คนไทย

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก (EU Indo-Pacific Ministerial Forum-IPMF) ครั้งที่ 3 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือทวิภาคีกับนางสาวฮังเกอ แบร็วนส์ สโลต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์

โดยทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยแนวทางการผลักดันความร่วมมือทวิภาคีเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การจัดการน้ำ การเกษตรอัจฉริยะ พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมถึงแนวทางการสนับสนุนบทบาท และยุทธศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน

ในโอกาสนี้ นายปานปรีย์ ได้ขอรับการสนับสนุนจากเนเธอร์แลนด์สำหรับการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ของไทย วาระปี ค.ศ. 2025-2027 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป และการขอยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือ เดินทางธรรมดาของไทย

Advertisement

Verified by ExactMetrics