วันที่ 19 พฤษภาคม 2024

รู้ยัง? รัฐบาลมอบของขวัญคนไทยทำประกันภัยกลุ่ม 10 บาทคุ้มครองอุบัติเหตุและโควิดช่วงสงกรานต์

People Unity News : รัฐบาลห่วงใยประชาชนเดินทางช่วงสงกรานต์นี้ คปภ. มอบประกันภัยกลุ่ม 10 บาท คุ้มครองอุบัติเหตุและโควิด-19 เป็นของขวัญคนไทย อุ่นใจในการเดินทาง

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนและต้องการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในการแบกรับภาระความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นช่วงวันหยุดยาวทั่วประเทศ ซึ่งจะมีประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก

รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.)  ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย พัฒนากรมธรรม์ “ประกันภัยกลุ่ม 10 บาท สงกรานต์อุ่นใจ นิวนอร์มอล ซุปเปอร์พลัส” (ไมโครอินชัวรันส์) โดยจ่ายเบี้ยประกันภัยเพียง 10 บาท จะได้รับ

ความคุ้มครองที่ 1 กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการ ถูกฆาตกรรม ลอบทำร้ายร่างกายและ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 100,000 บาท

ความคุ้มครองที่ 2 กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรม ลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 50,000 บาท

ความคุ้มครองที่ 3 ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 14 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) รวมถึงกรณีเสียชีวิตจากผลกระทบการฉีดวัคซีน  โควิด-19 โดยคุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่ทำประกันภัยและมีการฉีดวัคซีนหลังทำประกันภัย จะได้รับความคุ้มครอง 5,000 บาท

ความคุ้มครองที่ 4 ค่าชดเชยรายวันระหว่างการเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน เนื่องจากอุบัติเหตุ รวมถึงได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันละ 300 บาท ไม่เกิน 20 วัน จะได้รับความคุ้มครองไม่เกิน 6,000 บาท

ความคุ้มครองที่ 5 กรณีติดเชื้อโควิด-19 จะได้รับคุ้มครอง 3,000 บาท

โดยมีเงื่อนไขการรับประกันภัยที่สำคัญ คือผู้ทำประกันภัยต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย ระยะเวลาคุ้มครอง 30 วัน และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้ถือกรมธรรม์ โดยเริ่มจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 – 31 พฤษภาคม 2564 โดยประชาชนที่สนใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท สามารถร่วมกลุ่มกัน 10 คน  และซื้อได้โดยตรงกับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 23 แห่ง โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official @oicconnect

“สถิติในช่วงสงกรานต์ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข้มข้น จำนวนประชาชนเดินทางน้อยกว่าปีก่อนๆไปมาก แต่ยังมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 1,307 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 1,260 ราย และเสียชีวิต 167 ราย และในปีนี้ รัฐบาลตั้งเป้าลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5  บูรณาการทุกหน่วยงานร่วมรณรงค์ใช้รถ ใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง เดินทางด้วยปลอดภัยและปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข ห่างไกลจากไวรัสโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ สำหรับประกันภัยกลุ่ม 10 บาท สงกรานต์อุ่นใจ นิวนอร์มอล ซุปเปอร์พลัส ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบการประกันภัยได้ง่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการประกันภัยโดยรวมด้วย” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertising

องค์การเภสัชกรรมพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์รักษาไวรัสโคโรนา 2019 คาดสำเร็จปลายปี 64

People Unity News : อภ.พัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระดับห้องปฏิบัติการ พร้อมก้าวสู่กระบวนการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบจนเป็นเม็ดยาสำเร็จรูป คาดสำเร็จปลายปี 64 พึ่งพาตนเองรองรับผู้ป่วยระยะยาว

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า อภ.ได้วิจัยและพัฒนา ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) มาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 โดยในระยะแรกนี้ได้จัดซื้อตัวอย่างวัตถุดิบมาทดลองพัฒนาสูตรเบื้องต้น 100 กรัมและสั่งซื้อเพิ่มอีก 5 กิโลกรัม จะมาถึงเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับ และขยายขนาดการผลิต ตลอดจนศึกษาความคงสภาพ และประสิทธิผลทางชีวสมมูล คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะมีข้อมูลพร้อมยื่นขึ้นทะเบียน

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อภ.ได้มีการวางแผนบริหารจัดการเพื่อให้มียาฟาวิพิราเวียร์ เพียงพอต่อความต้องการรองรับการรักษาผู้ป่วยภายในประเทศอย่างยั่งยืนทั้งในภาวะวิกฤติและระยะยาว ซึ่ง ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นหนึ่งในยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการรักษาของประเทศไทย และจากการคาดการณ์ว่าจะมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานประมาณ 1-2 ปี การดำเนินการเพื่อให้มียาไว้ใช้ในยามจำเป็นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก อภ.มีการดำเนินงานพร้อมกันใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ ในระยะเร่งด่วน มีการนำเข้ายาต้นแบบ จาก บริษัท FujiFilm Toyama Chemical Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท Zhejiang Hisun Pharmaceutical Company ประเทศจีน ซึ่งได้รับใบอนุญาตผลิตจากญี่ปุ่น เพื่อกระจายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งไทยได้มีการนำเข้ามาแล้ว จำนวน 187,000 เม็ด และในเดือนพฤษภาคมนี้ นำเข้าจากจีนและญี่ปุ่นอีกจำนวน 303,860 เม็ด ส่วนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ที่ได้ดำเนินการคู่ขนานกับการนำเข้านั้น ได้มีการจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้พัฒนาและผลิตยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ได้เองภายในประเทศ สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาตรฐานจากประเทศจีน ซึ่งขณะนี้ได้จัดซื้อตัวอย่างวัตถุดิบมาเพื่อทดลองผลิตในเบื้องต้นและอยู่ระหว่างการสั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับ และขยายขนาดการผลิต ตลอดจนศึกษาความคงสภาพ และศึกษาประสิทธิผลทางชีวสมมูล (Bioequivalence study) เพื่อศึกษาระดับยาในเลือดเทียบกับยาต้นแบบต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะมีข้อมูลพร้อมยื่นขึ้นทะเบียน การดำเนินการด้านวิจัยพัฒนาการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ได้ดำเนินการคู่ขนานไปด้วยช่วงเวลานี้เช่นกัน โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการในกระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบ โดยอภ.ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ สวทช. จำนวน 4.28 ล้านบาทสำหรับดำเนินการในกระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบระดับห้องปฏิบัติการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 – 6 เดือน จากนั้น อภ.นำมาขยายขนาดการสังเคราะห์สู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรมคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตวัตถุดิบในระดับกึ่งอุตสาหกรรมได้ในเดือนมิถุนายน 2564

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสิทธิบัตรยานั้น บริษัท FujiFilm Toyama Chemical Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น ได้มายื่นคำขอสิทธิบัตรด้านการผลิตเม็ดยา favipiravir ที่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2553 แต่ปัจจุบันยังเป็นเพียงคำขอสิทธิบัตรเท่านั้น หากยาดังกล่าวได้รับสิทธิบัตร จะได้ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี โดยนับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอสิทธิบัตรในไทย อย่างไรก็ตามการพัฒนาสูตรภายในประเทศสามารถทำได้โดยไม่ถูกฟ้องร้อง แต่หากผลิตจำหน่ายในท้องตลาด อาจโดนฟ้องเพราะละเมิดสิทธิบัตรได้ ดังนั้น อาจต้องมีการเจรจาทำ Voluntary Licensing กับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร เพื่อให้ อภ.สามารถผลิตและจำหน่าย

“องค์การเภสัชกรรมมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการคิดค้น วิจัย และพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ ที่จำเป็นต่อการรักษา ให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ เพื่อให้มีความยั่งยืนในการสำรองยาไว้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ รองรับการแพร่ระบาดทั้งในภาวะวิกฤติและเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในระยะยาวต่อไป” ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าว

โฆษณา


รอลุ้น รัฐบาลออกมาตรการ “ทัวร์เที่ยวไทย”-“เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3” หนุน ปชช.เดินทางท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์

People Unity News : รัฐบาลเตรียมมาตรการหนุนประชาชน เดินทางท่องเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ หยุดยาว 6 วัน เสนอ ครม. อนุมัติทัวร์เที่ยวไทย-เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3

22 มี.ค. 64 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แม้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. จะขอความร่วมมือในช่วงเทศกาลสงกรานต์ งดสาดน้ำ ประแป้ง จัดคอนเสิร์ต ปาร์ตี้โฟม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่รัฐบาลยังสนับสนุนให้ประชาชนออกเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยสงกรานต์ปี 2564 รัฐบาลยังกำหนดให้วันที่ 12 เม.ย. เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษ ซึ่งเมื่อรวมกับวันเสาร์-อาทิตย์ จึงทำให้สงกรานต์ปีนี้ มีวันหยุดยาว 6 วันรวด ตั้งแต่วันที่ 10 – 15 เม.ย. เพื่อให้ประชาชนได้ออกเดินทางท่องเที่ยว เป็นการมอบความสุขให้ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้หารือเพื่อกำหนดโครงการรับรองการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์อย่างต่อเนื่อง โดย ททท. ได้ออกหลายแคมเปญ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการทัวร์เที่ยวไทย สนับสนุนการสมทบเงินให้ประชาชนรับสิทธิเพื่อเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ภายหลังที่ประชุม ครม. มีมติให้นำกลับไปทบทวน อุดช่อง ป้องกันการทุจริต โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่า ทั้ง 2 โครงการจะเสนอที่ประชุม ครม. ได้ในเร็วๆนี้

“รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการจำกัดการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวตามแบบชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal พร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อพบปะครอบครัว รดน้ำดำหัว ขอพรผู้ใหญ่ สืบสานประเพณีปีใหม่ไทย โดยหวังให้ช่วงสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งมีวันหยุดยาวรวม 6 วัน เกิดการจับจ่ายใช้สอย เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และเชื่อว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่กำลังดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็น โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน ฯลฯ จะตอบโจทย์ประชาชนเป็นอย่างดี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

Advertising

ครม.อนุมัติจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด -19 อีก 35 ล้านโดสเพียงพอกับคนไทยทั้งประเทศ

People Unity News : ครม.อนุมัติงบจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด -19 อีก 35 ล้านโดส ให้เพียงพอกับคนไทยทั้งประเทศ

5 ม.ค. 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบประมาณ ให้กระทรวงสาธารณสุข ไปดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยปลายเดือนมีนาคมจะได้ล็อตแรก 8 หมื่นโดส สำหรับประชาชน 4 แสนคน ส่วนเมษายนได้อีก 1 ล้านโดส เพียงพอกับประชาชน 5 แสนคน และปลายเดือนพฤษภาคม อีก 26 ล้านโดส สำหรับประชาชนอีก 13 ล้านคน โดยทั้งหมดต้องผ่านมาตรฐาน อย.ของไทยและต่างประเทศ และสั่งจองเพิ่มวัคซีนจากบริษัท แอสตราเซนเนก้า 35 ล้านโดส ซึ่งจะเพียงพอกับประชาชน 66 ล้านคน  โดยแบ่งฉีด 2 ครั้งต่อ 1 คน ทั้งนี้เมื่อได้รับวัคซีนจะฉีดทันที และการฉีดต้องเป็นไปตามมาตรฐานกรมควบคุมโรค โดยกลุ่มเป้าหมายแรกเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ

สำหรับวัคซีนล็อตต่อไป จะมีการติดต่อจัดหาวัคซีนจากประเทศอื่นๆ เพื่อให้รวดเร็วกับความต้องการ ทั้งนี้วัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า มีข้อตกลงที่จะผลิตร่วมกันกับบริษัทสยามไบโอไซด์ ที่จะผลิตได้ปีละ 200 ล้านโดส ซึ่งจะเพียงพอกับทั้งประเทศ พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนจัดหาวัคซีนเองได้ แต่ต้องผ่านมาตรฐานของ อย. ส่วนผลข้างเคียงกับประชาชนนั้นถือว่ามีสัดส่วนที่ต่ำอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ซึ่งจะต้องติดตามต่อไป ยืนยันสิ่งสำคัญที่สุดคือ คนไทยปลอดภัย

Advertising

“บิ๊กตู่” สั่งให้ดำเนินคดี ผกก.โจ้ ถึงที่สุด พร้อมสั่งทุกหน่วยงานกำจัดเจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมเลวร้าย

People Unity News : นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดำเนินการตามกฎหมายจนถึงที่สุดกรณี “ผกก.โจ้”

25 ส.ค. 64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้ดำเนินการตามกฎหมายจนถึงที่สุดกรณีกรณี พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ พร้อมเจ้าหน้าที่รวม 7 คน ได้กระทำการข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้ผู้อื่นเสียหาย ร่วมกันข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน หรือกระทำทารุณโหดร้าย

โดยให้ทุกหน่วยงานกำจัดเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมเลวร้าย ทุจริตในหน้าที่ ออกจากหน่วยงานตามกฎหมาย การกระทำใดที่มีผลกระทบต่อสังคมและประชาชน ต้องกำจัดออกไป เพื่อไม่ให้บุคคลนั้นมีโอกาสเติบโต ใช้ตำแหน่งหน้าที่สร้างความเสียหายต่อส่วนรวม

Advertising

สอท.แนะประชาชนซื้อของออนไลน์อย่างปลอดภัยหลังพบมีผู้เสียหายถูกหลอกซื้อสินค้าจำนวนมาก

People Unity News : ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แนะนำการซื้อของออนไลน์อย่างปลอดภัย หลังพบมีผู้เสียหายถูกหลอกซื้อสินค้าจำนวนมาก

พันตำรวจเอก กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนหันไปซื้อของออนไลน์มากขึ้น แต่กลับมีกลุ่มมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสในสถานการณ์นี้หลอกลวงขายสินค้าให้กับประชาชนผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ พลตำรวจโท กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการ สอท. จึงเร่งวางมาตรการในการป้องกัน สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน หรือผู้ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ให้ถูกลอกหลวงจากผู้ที่ฉวยโอกาสในการกระทำความผิด พร้อมแนะนำประชาชนระมัดระวังการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ โดยก่อนที่จะทำการสั่งซื้อ ต้องมีมาตรการป้องกันตนเองเบื้องต้น เช่น  ตรวจสอบชื่อร้าน ชื่อผู้ขาย หรือเลขที่บัญชี ว่าเคยมีประวัติไม่ดี หรือเคยถูกร้องเรียนมาก่อนหรือไม่ ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้าว่าได้ทำการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ ตรวจสอบว่าสินค้ามีอยู่จริงหรือไม่ ขอดูภาพสินค้าหลายๆมุม รวมถึงสอบถามตำหนิก่อนการสั่งซื้อ สิ่งสำคัญคือ ต้องระมัดระวังการสั่งซื้อสินค้าที่มีราคาถูกเกินไป เพราะอาจถูกหลอกได้ ควรหลีกเลี่ยงการสั่งซื้อของออนไลน์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้าน หรือเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับ และต้องเก็บหลักฐานการสั่งซื้อได้แก่ ข้อความประกาศขาย หน้าเว็บไซต์ รูป ชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และเลขที่บัญชีของร้านค้าข้อความการพูดคุยสั่งซื้อสินค้า เอกสารการชำระเงิน ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการเปลี่ยนสินค้า หรือแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

โฆษก สอท. ยังกล่าวเตือนบุคคลที่มีพฤติกรรมซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ในช่วงนี้ให้เลิกการกระทำ เนื่องจากอาจเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีอัตราโทษสูงทั้งจำและปรับ โดย สอท. จะเร่งดำเนินการจับกุมปราบปรามการกระทำความผิดลักษณะดังกล่าว มาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดทุกราย

Advertising

ธอส. ออก 7 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าประสบภัยน้ำท่วมฉับพลัน

People Unity News :  ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ออก 7 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในภาคกลางและภาคตะวันออกที่ประสบภัยน้ำท่วมเฉียบพลัน ผ่าน “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2564” ประกอบด้วย 1.ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก 2.ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่อัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี คงที่ 1 ปีแรก 3.ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน และคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี 4 เดือน ไม่ต้องชำระเงินงวด 4.ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี 5.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี 6.ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร และ 7) พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จ่ายตามความเสียหายจริงรวมทุกภัยธรรมชาติ ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และกรณีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงแต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

16 ก.ย. 64 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดน้ำท่วมหลากฉับพลันบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อันเนื่องมาจากการเกิดมรสุม ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของประชาชนพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเสียหาย และผู้อยู่อาศัยไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” จึงพร้อมบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชนด้วย “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2564” (กรอบวงเงินรวมของโครงการ 100 ล้านบาท) โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.150% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2 – 3 อัตราดอกเบี้ย MRR – 3.15% ต่อปี(ปัจจุบันเท่ากับ 3.00% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ“โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ปี 2564” ตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Application : GHB ALL และ www.ghbank.co.th

Advertising

 

แนะฉีดวัคซีนเด็กอายุ 12-18 ปีที่มีโรคประจําตัวเสี่ยงติดโควิดในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

People Unity News : แนะผู้ปกครองในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่มีเด็กอายุ 12-18 ปี มีโรคประจําตัวเสี่ยงอาการรุนแรงหากติดโรคโควิด-19 ให้รีบพาเด็กไปรับวัคซีน

17 ส.ค.64 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น เฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี พบติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์แรกเดือนสิงหาคม 7,787 คน และมีจำนวนการติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์ที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 8,733 คน คิดเป็นร้อยละ 12 ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวกลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น จึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจําตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า แต่ยังไม่แนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีจนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น

จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ประเทศไทยมีเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี 5,196,248 คน พบติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 1 เมษายน–14 สิงหาคม 2564 จำนวน 41,832 คน คิดเป็นร้อยละ 0.8 ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 คน ทั้งหมดเป็นกลุ่มเด็กป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น พิการทางสมอง มะเร็ง และหัวใจ เป็นต้น

พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย สามารถให้เด็กเข้ารับบริการฉีดวัคซีนตามที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำได้ โดยสอบถามและประสานนัดหมายกับสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ประกาศให้บริการ

Advertising

 

โฆษกรัฐบาลเผยไทยมีผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 62,941 ราย

People Unity News : โฆษกรัฐบาล เผย มีผู้ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 62,941 ราย พร้อมปรับแผนกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

21 มี.ค.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความคืบหน้าตามแผนกระจายวัคซีน โดยได้จัดส่งวัคซีนให้แก่จังหวัดเป้าหมายเบื้องต้น ครบทั้ง 13 จังหวัดระยะที่ 1 รอบแรก ได้แก่ Sinovac จำนวน 116,520 โดส  และ AstraZeneca จำนวน 10,000 โดส  ให้หน่วยบริการในจังหวัดสมุทรสาครแล้ว ทั้งนี้ ยังมีแผนจัดส่งวัคซีน Sinovac ให้พื้นที่กรุงเทพมหานครและสมุทรสาครเพิ่มเติม โดยจะได้ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ทั่วประเทศ เพื่อปรับแผนการกระจายวัคซีนให้สอดคล้องกับความจำเป็นในพื้นที่  โดยยังคงเป้าหมายผู้ได้รับวัคซีน 31.5 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 60% ของกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์- 19 มีนาคม 2564 รวม 62,941  ราย ได้แก่บุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข  อสม. จำนวน 31,066 ราย  เจ้าหน้าที่อื่นๆที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 7,147 ราย  บุคคลที่มีโรคประจำตัว 4,182 ราย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 35 รายและประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 20,511 ราย และขณะนี้ มีวัคซีนโควิด-19 ที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว 317,600 โดส ประกอบด้วย Sinovac 200,000 โดส และ AstraZeneca จำนวน 117,600 โดส ได้ผ่านการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เรียบร้อยแล้ว และในเดือนนี้ จะมี Sinovac เข้ามาอีก 800,000 โดส โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณาผู้ที่เหมาะสมในการได้รับวัคซีน

Advertising

“บิ๊กตู่” เผย หลังฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา หัวสมองแล่นดี และไม่พบอาการผิดปกติ

People Unity News : นายกรัฐมนตรีเผยไม่พบอาการผิดปกติ หลังช่วงเช้าเข้ารับฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา

เมื่อวานนี้ (16 มีนาคม 2564) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยว่า ช่วงเช้าได้ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แอสตราเซเนกา อาการปกติ หัวสมองแล่นดี  ขอเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน จากนี้ จะเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยในอนาคตอาจมีการต่อยอดเป็นคลินิกเคลื่อนที่นอกเหนือจากที่โรงพยาบาลด้วย  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบวัคซีนโควิด-19 เพื่ออนุญาตให้มีการใช้ในโรงพยาบาลเอกชนสำหรับประชาชนที่มีความต้องการเร่งด่วน  ได้วางเป้าหมายฉีดวัคซีน 10 ล้านโดส/เดือน เมื่อได้วัคซีนครบแล้ว ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล

Advertising

Verified by ExactMetrics