วันที่ 22 ตุลาคม 2024

อีก 2 เดือนเปิดเทอม สาธารณสุขห่วงเด็กนักเรียน ครู อาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง

People Unity News : กระทรวงสาธารณสุข ย้ำหลังมาตรการผ่อนคลาย ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินควบคุมโรคโควิด 19 คงเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ จับตาทุกความเสี่ยงที่อาจทำให้ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาสูงอีกได้ กระตุ้นหน่วยงานรัฐ-เอกชน ออกแบบระบบ ทบทวนพฤติกรรมการทำงาน ระบบการเรียนการสอนสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม รองรับการทำงาน ยอมรับโควิด 19 ยังอยู่อีกนาน ต้องรอวัคซีนพร้อมเพื่อป้องกันโรค

บ่ายวานนี้ (28 เมษายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้จะมีมาตรการผ่อนคลายบางส่วน แต่ทีมสอบสวนควบคุมโรคและทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่อง จากนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรปรับแนวทางการทำงานที่จะไม่เหมือนเดิม อาทิ การทำงานจากบ้าน (Work from Home) อาจจะกลายเป็นความจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยง ภาครัฐควรจะทำให้ได้ถึงร้อยละ 70 ส่วนภาคเอกชนต้องพิจารณาว่าจะปรับส่วนไหนได้บ้าง ต้องจัดให้เหลื่อมเวลาการทำงาน ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง หรือชั่วโมงทำงานแต่ละวันที่ไม่เท่ากัน และต้องยึดหลักเกณฑ์ลดการสัมผัส ไม่สร้างการรวมกลุ่มที่จะเสี่ยงติดเชื้อให้เกิดขึ้นได้อีก เพราะเรายังต้องอยู่กับสถานการณ์โรคโควิด 19

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องไม่เพียงแต่การเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร การออกแบบทางวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรมที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันละอองฝอยของสารคัดหลั่ง การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของวัสดุ ระบบคัดกรองคนทำงาน การออกระเบียบให้คนทำงานสามารถหยุดงานได้โดยไม่นับเป็นวันลาป่วยหากมีอาการเข้าได้กับโควิด รวมทั้งการเข้มงวดเรื่องสิ่งป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สิ่งเหล่านี้จะต้องทำให้เป็นมาตรฐาน และทุกกิจการที่จะเข้าสู่การผ่อนคลายต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการควบคุมการติดเชื้อ และการป้องกันการแพร่กระจายเป็นสำคัญอีกด้วย

“จากนี้ไปอีกประมาณ 2 เดือนที่โรงเรียนจะกลับมาเปิดเรียนเป็นปกติ ยังเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยร่วมกันหลายส่วน แม้สถิติออกมาว่าเด็กไม่ค่อยแสดงอาการหากติดเชื้อ แต่ที่ห่วงคือ ครู อาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้สูงอายุในบ้าน หากเด็กรับเชื้อมาจากโรงเรียนแล้วมาแพร่ที่บ้านจะเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ท้าทาย อาจถึงเวลาที่ต้องมาวางแผนเรื่องการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม เพื่อไปสู่วิถีใหม่ทั้งการทำงานและการเรียน น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนเช่นกัน” นพ.ธนรักษ์กล่าว

โฆษณา

กรมการขนส่งทางบกแนะวิธีเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะลดเสี่ยงติดโควิด-19

People Unity News : กรมการขนส่งทางบก แนะ!!! ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเลี่ยงโควิด-19 เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดการเดินทางทั้งผู้โดยสารและผู้ขับรถ

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีมาตรการการป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในระบบขนส่งสาธารณะ โดยกรมการขนส่งทางบกได้กำชับไปยังผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท รวมถึงผู้ให้บริการสถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่ง ดำเนินการตามนโยบายและมาตรการต่างๆของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมอย่างเคร่งครัด ประชาสัมพันธ์แนะนำประชาชนที่เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เช่น รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถสองแถว หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง งดพูดคุยโทรศัพท์ในระหว่างการโดยสารรถสาธารณะ และควรล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ชนิดเจลหรือน้ำทุกครั้งที่มีการสัมผัสพื้นผิวต่างๆในที่สาธารณะ กรณีโดยสารรถแท็กซี่ควรนั่งตอนหลังของรถเพื่อเว้นระยะห่างระหว่างผู้ขับรถและผู้โดยสาร ลดความเสี่ยงการติดต่อ

ในส่วนของผู้ขับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท แนะนำให้สังเกตอาการตนเองอยู่เสมอ หากป่วย มีอาการไข้ ไอ จาม ห้ามขับรถเด็ดขาด ควรกักตัวที่บ้านเพื่อสังเกตอาการ และขณะให้บริการหมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ชนิดเจลหรือน้ำบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดระยะเวลาให้บริการ หากในระหว่างขับรถมีผู้โดยสารไอ จาม ให้ปิดแอร์แล้วเปิดหน้าต่างระบายอากาศ เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสสะสมอยู่ในรถ ลดโอกาสการติดเชื้อของผู้ขับรถและผู้โดยสารท่านอื่น

ด้านการดูแลความสะอาดภายในรถโดยสารสาธารณะ ควรจัดให้มีแอลกอฮอล์ชนิดเจลหรือน้ำประจำรถ หมั่นเปิดหน้าต่างให้อากาศภายนอกหมุนเวียน หรือเปิดหน้าต่างระหว่างให้บริการ ต้องทำความสะอาดรถทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการให้บริการ โดยเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่มีผู้โดยสารสัมผัสบ่อยๆ กรณีให้บริการผู้โดยสารที่มีการไอ จาม หรือ ไม่สบาย ระหว่างเดินทาง ควรใช้แอลกอฮอล์ 70% ในการทำความสะอาดภายในรถ นอกจากนั้น เมื่อมีเวลาพัก ควรเปิดประตูและหน้าต่างรถหรือเปิดช่องระบายอากาศ เพื่อระบายอากาศภายในรถ

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ การให้บริการของรถโดยสารสาธารณะและการให้บริการที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร จะดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือมาตรการ Social Distancing เว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างกัน อย่างน้อย 1-2 เมตร เช่น เว้นเบาะที่นั่งในรถตู้โดยสารและรถโดยสารประจำทาง กำหนดพื้นที่ยืนบนรถเมล์ ส่วนที่สถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่งจะมีมาตรการคัดกรองผู้โดยสารทุกคนก่อนการเดินทาง รวมถึงตรวจคัดกรองพนักงานขับรถและผู้ประจำรถ หากพบผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ผู้ให้บริการมีสิทธิปฏิเสธการให้บริการได้ ในขณะเดียวกัน หากประชาชนพบรถโดยสารไม่ปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing หรือมาตรการอื่นๆที่ภาครัฐกำหนดเพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

โฆษณา

CAAT เรียกสายการบินหารือมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 บนเครื่อง ก่อนกลับมาเปิดให้บริการ

People Unity News : CAAT หารือมาตรการควบคุมโรคกับสายการบิน ก่อนกลับมาเปิดให้บริการ

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) โดย นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ CAAT เชิญสายการบินสัญชาติไทยและสายการบินต่างชาติ กว่า 20 สายการบิน มาประชุมเพื่อหารือทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโรค เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 หลังจากที่ก่อนหน้านี้สายการบินส่วนใหญ่ได้ประกาศหยุดให้บริการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ณ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

ผู้อำนวยการ CAAT กล่าวว่า “แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะลดลงและสายการบินภายในประเทศเตรียมกลับมาให้บริการได้ แต่ทุกสายการบินยังจะต้องปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยให้ขายบัตรโดยสารในลักษณะที่นั่งเว้นที่นั่ง เมื่อถึงช่วงเดินทางต้องรักษาระยะห่างระหว่างผู้โดยสาร (Social Distancing) ทุกขั้นตอนตั้งแต่การเช็กอิน การขึ้นและลงเครื่องบิน จะไม่มีบริการอาหารและเครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบิน ทั้งนี้เส้นทางที่มีระยะเวลาการบินเกินกว่า 90 นาที สายการบินจะต้องกันที่นั่งแถวหลังไว้พิเศษสำหรับแยกผู้โดยสารที่มีอาการน่าสงสัยระหว่างเที่ยวบิน ด้านลูกเรือจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ และ Face shield ส่วนผู้โดยสารต้องรับผิดชอบสวมใส่หน้ากากอนามัยมาเองและใส่ตลอดเวลาการเดินทาง รวมถึงไม่สามารถนำอาหารของตนเองมารับประทานในเครื่องบินได้”

ทั้งนี้ ขอให้ผู้โดยสารตรวจสอบเที่ยวบินที่ให้บริการในประเทศกับสายการบินโดยตรง เนื่องจากอาจจะยังไม่เปิดให้บริการในทุกเส้นทาง และสามารถติดตามประกาศการเดินทางทางอากาศที่เกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่ www.caat.or.th/corona

โฆษณา

เตรียมตั้ง “กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์” เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน

People Unity News : โฆษก ตร. แจงตั้ง “ตำรวจไซเบอร์” เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน

23 เมษายน 2563 พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกระแสข่าวกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมา เพื่อรับผิดชอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีครอบคลุมทั่วประเทศ ว่า จากสภาพปัญหาการขยายตัวของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศในโลกยุคดิจิทัล ทำให้คดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งคดีที่ส่งผลต่อความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง และคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้มีนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อปกป้องประชาชน เยาวชน สังคมและประเทศชาติให้มีความปลอดภัย พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  จึงได้มอบหมายให้ สำนักงานกำลังพล ไปทำการศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตลอดจนมีวิธีการปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พลตำรวจโท ปิยะ กล่าวว่า ปัจจุบันคดีอาชญากรรมจำนวนมากกระทำผ่านเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต เช่น การฉ้อโกงหลอกขายสินค้าออนไลน์ , การหลอกให้โอนเงิน ,  Fake News , Roman Scam , การเข้าถึง โจมตีหรือทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อเรียกค่าไถ่ เป็นต้น  ซึ่งคดีเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความซับซ้อน การสืบสวนสอบสวนจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน การเก็บพยานหลักฐาน การตรวจพิสูจน์ การวิเคราะห์แนวโน้มอาชญากรรม รวมถึงการพัฒนาระบบและบริหารจัดการองค์ความรู้ จำเป็นจะต้องมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนสามารถร่วมปฏิบัติหรือสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยงานอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. ในปัจจุบัน มีขีดจำกัดในด้านกำลังพล ไม่สามารถรองรับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มจำนวนคดีที่เกิดขึ้นสูงขึ้นในอนาคตได้

“ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยจะพิจารณาถึงขีดความสามารถในการอำนวยความยุติธรรมและการให้บริการประชาชนเป็นหลัก ขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนอีกครั้งว่า ไม่ได้ดำเนินการเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนแต่อย่างใด แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมุ่งมั่นทุ่มเทและพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อพิทักษ์ปกป้อง ประชาชน เยาวชน สังคม และประเทศชาติ ให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงเป็นหลักประกันความยุติธรรมในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มีมาตรฐานสากล” พลตำรวจโท ปิยะ กล่าว

โฆษณา

สธ.เผยฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส แต่ป้องกันการติดเชื้อโควิด19ไม่ได้

People Unity News : กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการศึกษาประสิทธิผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจร และสารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรในหลอดทดลอง พบมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ได้ และศึกษานำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด- 19 ระดับความรุนแรงน้อย เดือนเมษายน – กรกฎาคมนี้ แนะกินทันทีเมื่อมีไข้ ไม่ควรกินเพื่อป้องกันโรค

19 เมษายน 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย ดร.สุภาพร  ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงผลการวิจัยฟ้าทะลายโจรกับไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมการแพทย์แผนไทยฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม

นพ.ปราโมทย์กล่าวว่า ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรค โดยที่ยังไม่มีอาการเพราะไม่มีผลในการป้องกัน แต่ให้รับประทานทันทีเมื่อเริ่มมีอาการคล้ายอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ (flu-like symptoms) ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจอื่น รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง (ครั้งละประมาณ 1,500 มิลลิกรัม) หลังอาหารและก่อนนอน ส่วนสารสกัดฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 1 หรือ 2 แคปซูล เพื่อให้ได้รับสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ประมาณ 20 มิลลิกรัม/ครั้ง วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร การรับประทานยาทั้งสองแบบในขนาดที่แนะนำ จะให้สารแอนโดรกราโฟไลด์ประมาณ 60 มิลลิกรัม/วัน แนะนำให้มียาฟ้าทะลายโจรเป็นยาประจำตัว/ประจำบ้าน อาจใช้ร่วมกับยาพาราเซตามอลได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์

นพ.ปราโมทย์กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการทดลองในคน กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และองค์การเภสัชกรรม ศึกษานำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด- 19 ระดับความรุนแรงน้อย ในระหว่างเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2563 รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมให้เพียงพอกับความต้องการ โดยร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่ 65 ไร่ ให้ได้วัตถุดิบ 50,000 กิโลกรัม สำรองไว้ 1 ล้านแคปซูลสำหรับบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลรักษาผู้ป่วย และประสานภาคธุรกิจเตรียมการผลิตเพิ่ม

ทั้งนี้ ห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้ป่วยที่มีอาการไข้เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น หากมีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม หายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยาทันทีและไม่ใช้อีก รวมทั้งควรระวังในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต และการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้แขนขาชา หรืออ่อนแรง สอบถามรายละเอียดที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ โทร. 0 2149 5678 หรือเว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th

ด้าน ดร.สุภาพร ภูมิอมร  ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาศึกษาฤทธิ์ต้านไวรัสโควิด-19 ของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในหลอดทดลอง โดยทำการศึกษาจากสารสกัดหยาบเทียบกับแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่เป็นสารสำคัญ พบว่า กลไกต้านไวรัสโควิด-19 สามารถทำลายไวรัสโดยตรง และต้านไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนเซลล์ได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการชักนำให้เซลล์หลั่งสารที่ช่วยยับยั้งไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรค และจำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยในคนต่อไป

โฆษณา

ก.คลังเปิดให้ทบทวนสิทธิ์ขอรับเงินเยียวยา 5 พันตั้งแต่วันจันทร์ที่ 20 เม.ย.นี้

People Unity News : มาตรการเยียวยา 5,000 บาท เริ่มเปิดให้ขอทบทวนสิทธิ์ในวันที่ 20 เมษายน 2563 เวลา 6.00 น. ผ่านระบบออนไลน์เท่านั้นที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com

ในวันจันทร์ที่ 20 เม.ย.2563 ตั้งแต่เวลา 6.00 น. เป็นต้นไป จะเริ่มเปิดให้ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ขอทบทวนสิทธิ์ได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยจะเปิดให้ขอทบทวนสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2563 ตั้งแต่เวลา 6.00 น. เป็นต้นไป จะเริ่มเปิดให้ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ขอทบทวนสิทธิ์ได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยจะเปิดให้ขอทบทวนสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทั้งต่อตัวผู้ประสงค์จะขอทบทวนสิทธิ์เองและต่อส่วนรวมของสังคมไทย

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของผู้ประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ ขอให้ท่านรีบกรอกข้อมูลที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ไม่จำเป็นต้องมาที่กระทรวงการคลัง โดยในระยะแรกนี้จะเปิดกว้างสำหรับทุกกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์และไม่เห็นด้วยกับผลการคัดกรองก่อน และในระยะต่อไปจะขยายไปยังกลุ่มผู้ที่ได้กดยกเลิกการลงทะเบียนโดยความเข้าใจผิด ด้วยกลไกการทบทวนสิทธิ์จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่จริงเพื่อยืนยันตัวตนและการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่าผู้ผ่านการทบทวนสิทธิ์จะยังได้รับเงินเยียวยาครบทั้ง 3 เดือนเนื่องจากการให้เงินเยียวยาจะใช้วันลงทะเบียนในการเริ่มนับสิทธิ์ ในกรณีที่ทราบผลการพิจารณาในเดือนพฤษภาคม ผู้ผ่านการทบทวนสิทธิ์จะได้รับเงินเยียวยาครั้งแรกจำนวน 10,000 บาท เพราะได้รวมเงินเยียวยา 5,000 บาท ของเดือนเมษายนด้วย

โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2563 เป็นต้นมาได้มีการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ต่อเนื่องทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดราชการ) โดย ณ วันที่ 17 เมษายน 2563 ได้จ่ายเงินให้ผู้ลงทะเบียนไปแล้ว 3.2 ล้านคน และมีกำหนดจะจ่ายเงินในวันจันทร์และอังคารสัปดาห์หน้าอีก 900,000 คน รวมเป็น 4.1 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 20,000 ล้านบาท

โฆษณา

คลังเผยเงินเยียวยา5พันถึงมือผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า3.2ล้านคนเตรียมปิดลงทะเบียน22เม.ย.

People Unity News : ก.คลังเผยมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ถึงมือผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 3.2 ล้านราย จำนวนเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท กำหนดปิดลงทะเบียนวันที่ 22 เมษายน 2563 เวลา 24.00 น.

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท มีเม็ดเงินเยียวยาถึงมือคนทำงานที่เดือดร้อนจากสถานการณ์ไวรัส Covid-19 ในช่วงรอบที่ 1-3 ระหว่างวันที่ 8-17 เมษายน 2563 รวม 3.2 ล้านราย จำนวนเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามเร่งกระบวนการคัดกรองผู้ลงทะเบียนเพื่อให้เงินเยียวยาถึงมือทุกคนที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วที่สุด

สำหรับความคืบหน้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนพบว่า มีผู้มาลงทะเบียนรวม 27.7 ล้านราย (ณ วันที่ 16 เมษายน 2563) โดยจำนวนผู้มาลงทะเบียนในภาพรวมมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง และตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้มาลงทะเบียนใหม่เริ่มไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัส Covid-19 โดยส่วนใหญ่ได้มาลงทะเบียนเพื่อรับความช่วยเหลือเยียวยาแล้ว จึงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่ต้องการให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุมและทั่วถึง กระทรวงการคลังจึงกำหนดวันปิดรับลงทะเบียนในวันที่ 22 เมษายน 2563 เวลา 24.00 น. (ตามที่ได้เคยประกาศไว้ว่าจะแจ้งล่วงหน้าให้ทราบก่อนวันที่จะปิดการลงทะเบียน) ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการเปิดรับการขอทบทวนสิทธิ์สำหรับประชาชนที่ไม่ผ่านเกณฑ์และไม่เห็นด้วยกับผลการคัดกรอง ซึ่งจะเริ่มในวันที่20 เมษายน 2563 เวลา 6.00 น. ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน .com

โฆษณา

รอลุ้นได้เลย 15-17 เม.ย.63 โอนเงินเยียวยารอบที่ 3 อีก 8 แสนราย

People Unity News : ก.คลังรายงานความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเม็ดเงินช่วยเหลือเยียวยาถึงคนเดือดร้อนจากสถานการณ์ Covid-19 รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย.2563 และรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 13-14 เม.ย.2563 จำนวน 2.4 ล้านราย คิดเป็นมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีเม็ดเงินช่วยเหลือเยียวยาถึงคนทำงานที่เดือดร้อนจากสถานการณ์ Covid-19 ในรอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2563 และรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 13-14 เมษายน 2563 แล้วจำนวน 2.4 ล้านราย คิดเป็นมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท

กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามเร่งกระบวนการตรวจสอบและคัดกรองผู้ลงทะเบียนกว่า 27 ล้านคนโดยเร็วที่สุด โดยในช่วงวันที่ 15-17 เมษายน 2563 จะเริ่มทยอยส่ง SMS และโอนเงินเยียวยาในรอบที่ 3 ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์ประมาณ 8 แสนราย คิดเป็นมูลค่า 4 พันล้านบาท

สำหรับกลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์แต่ได้รับแจ้งว่าการโอนเงินไม่สำเร็จ เนื่องจากบัญชีธนาคารถูกปิด บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหวนานเกิน 1 ปี ชื่อบัญชีไม่ตรงกับชื่อที่ลงทะเบียน เลือกรับโอนเงินผ่านพร้อมเพย์แต่ยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์  หรือเข้ามาแก้ไขข้อมูลบัญชีแล้ว แต่ใส่ข้อมูลไม่ถูกต้องสามารถแก้ไขได้โดยการผูกบัญชี พร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชนผ่าน Mobile Banking หรือตู้ ATM ได้ทุกธนาคาร โดยไม่ต้องไปสาขาธนาคาร เพื่อรอรับการโอนเงินเยียวยางวดเดือนเมษายนอีกครั้งในวันที่ 22 หรือ 29 เมษายน 2563

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนมาโดยตลอด และเตรียมเปิดกลไกการขอทบทวนสิทธิ์ในวันที่ 20 เมษายน 2563 ผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้นที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จึงขอเน้นย้ำว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่กระทรวงการคลัง เพราะไม่ได้มีช่องทางการเปิดรับเอกสาร และเป็นการดำเนินการตามแนวทางเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทั้งต่อตัวผู้ประสงค์จะขอทบทวนสิทธิ์เองและต่อส่วนรวมของสังคมไทย

การขอทบทวนสิทธิ์นี้ ในระยะแรกจะเปิดกว้างสำหรับประชาชนที่ไม่ผ่านเกณฑ์และไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบและคัดกรองก่อน และในระยะต่อไปจะขยายไปยังกลุ่มผู้ที่ได้กดยกเลิกการลงทะเบียนโดยความเข้าใจผิดด้วย กลไกการทบทวนสิทธิ์จะดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยการลงพื้นที่จริงเพื่อยืนยันตัวตนและความเดือดร้อนของผู้ลงทะเบียน ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลังในพื้นที่ เช่น คลังจังหวัด สรรพากรพื้นที่ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น รวมถึงบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ด้วยทั้งนี้ ผู้ผ่านการทบทวนสิทธิ์จะยังได้รับเงินเยียวยาครบทั้ง 3 เดือน เนื่องจากการให้เงินเยียวยาจะใช้วันลงทะเบียนในการเริ่มนับสิทธิ์

โฆษกกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอและมีความตั้งใจที่จะดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัส Covid-19 ให้ครอบคลุมครบทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่มต่อไป

โฆษณา

“เฉลิมชัย” สั่ง ก.เกษตรช่วย ก.คลังอัพเดททะเบียนเกษตรกร ระบุข้อมูลของ ธ.ก.ส.ไม่ครบทุกกลุ่ม

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน

People Unity News : “เฉลิมชัย” สั่งกระทรวงเกษตรช่วยกระทรวงการคลังอัพเดททะเบียนเกษตรกร เพื่อเยียวยาเกษตรกรให้ครบทุกกลุ่ม ระบุทะเบียนเกษตรกรของ ธ.ก.ส. และกระทรวงการคลังไม่ครบถ้วนตกหล่นหลายกลุ่ม

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งถึง นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ประสานการทำงานกับปลัดกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นการเร่งด่วน เพื่ออัพเดททะเบียนเกษตรกรให้ครอบคลุมครบถ้วน

โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรบางส่วน เช่น กลุ่มประมง กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มนาเกลือ และกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐ ที่จะไม่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงการคลัง รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ข้าวโพด ชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวสวนปาล์ม และชาวสวนยาง ที่ตกหล่นไม่ได้ขึ้นทะเบียนในโครงการประกันรายได้เกษตรกรเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำชับให้เร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการช่วยเหลือเกษตรกร จึงมอบแนวทางให้เสนอต่อกระทรวงการคลัง โดยแบ่งเกษตรกรเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ เกษตรกรที่มีทะเบียนในฐานข้อมูลอยู่แล้วให้โอนเข้าบัญชีเกษตรกรได้ทันที และกลุ่มสอง เป็นกลุ่มที่ตกหล่นไม่มีชื่อและต้องขึ้นทะเบียนใหม่ โดยกระทรวงเกษตรฯจะช่วย ธ.ก.ส.และกระทรวงการคลังเร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจัดทำแผนสำรองอาหาร (Food Reserve Plan) เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนอาหารอันอาจจะเกิดขึ้นหากวิกฤติโควิด-19 ยืดเยื้อกว่าที่คาดหมาย

“เกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติที่ต้องช่วยเหลือให้มากที่สุด เพราะประสบปัญหาวิกฤติภัยแล้งและถูกซ้ำเติมต่อเนื่องด้วยวิกฤติโควิด-19 ทำให้ขาดทุนเป็นหนี้สินทุกครัวเรือน จึงมั่นใจว่ารัฐบาลพร้อมอุ้มชูเยียวยาเกษตรกรทุกกลุ่มตามที่กระทรวงเกษตรฯเสนอ ซึ่งถ้าช่วยครัวเรือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือนจะช่วยเกษตรได้มาก”

โฆษณา

ก.คลัง แจงยอดคนได้คนอดได้ 5 พันรอบที่ 1 ลุ้นระทึกรอบที่ 2 อีก 6 แสนราย 13-14 เม.ย.นี้

People Unity News : ความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท หลังจากการตรวจสอบและคัดกรองตามหลักเกณฑ์แล้วพบว่าในรอบที่ 1 ได้มีการตรวจสอบคัดกรองไปแล้ว 7.99 ล้านรายโดยจากจำนวนนี้สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท หลังจากการตรวจสอบและคัดกรองตามหลักเกณฑ์แล้วพบว่าในรอบที่ 1 ได้มีการตรวจสอบคัดกรองไปแล้ว 7.99 ล้านรายโดยจากจำนวนนี้สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มผ่านเกณฑ์ 1.68 ล้านราย ซึ่งในกลุ่มนี้ได้ทยอยส่ง SMS แจ้งผลการพิจารณาและโอนเงินเข้าบัญชีหรือพร้อมเพย์ที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วในช่วงวันที่ 8-10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

กลุ่มที่ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม 1.53 ล้านรายโดยการกรอกแบบสอบถามออนไลน์ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com (หัวข้อขอข้อมูลเพิ่มเติม) ขอความกรุณาให้ดำเนินการภายใน 10 วัน นับจากวันที่ได้รับ SMS แจ้งเพื่อการประมวลผลที่รวดเร็วซึ่งได้เริ่มทยอยส่ง SMS แจ้งผลการพิจารณาแล้วตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2563 และจะทยอยแจ้งไปจนถึงวันที่ 13 เมษายน 2563 โดยพบว่า ขณะนี้ได้มีผู้เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้วจำนวนหลายแสนราย

กลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์ 4.78 ล้านราย จะทยอยได้รับ SMS แจ้งผลการพิจารณาในช่วงวันที่ 12-14 เมษายน 2563 โดยส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากได้รับการดูแลผลกระทบจาก Covid-19 โดยรัฐบาลผ่านช่องทางอื่น เช่น ข้าราชการ ผู้รับบำนาญ ผู้ได้รับสิทธิ์ประกันสังคม เกษตรกร เป็นต้น หรือกลุ่มที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น นักเรียน นักศึกษา ซึ่งยังคงมิได้ประกอบอาชีพเป็นหลัก และส่วนหนึ่งได้รับการดูแลผ่านช่องทางกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกลุ่มที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ผู้ค้าขายออนไลน์

ทั้งนี้ ตามที่ได้เริ่มมีกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ถึงการไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากสาเหตุต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นเกษตรกรนั้น ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า เกษตรกรจะมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทุกปีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการขึ้นทะเบียนจะเป็นราย “ครอบครัว” โดยให้หัวหน้าครอบครัวเป็นคนมาขึ้นทะเบียน และในการกรอกรายละเอียดสมาชิกในครอบครัวจะให้ระบุด้วยว่ามีสมาชิกในครอบครัวกี่คนเป็นใครบ้าง และสมาชิกในครอบครัวที่ช่วยทำเกษตรกรรมมีกี่คนคือใครบ้าง ที่ผ่านมารัฐบาลใช้ฐานข้อมูลเกษตรกรชุดเดียวกันนี้ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นค่าเพาะปลูกค่าเก็บเกี่ยวค่าปัจจัยการผลิต เป็นต้น ดังนั้น ในการคัดกรองของมาตรการเยียวยา 5,000 บาท กำหนดหลักเกณฑ์ให้ครอบครัวที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและสมาชิกในครอบครัวที่ช่วยทำเกษตรกรรมถือว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรไม่ผ่านเกณฑ์ และจะมีการดูแลโดยมาตรการเยียวยากลุ่มเกษตรกรโดยเฉพาะที่จะออกมาเร็วๆนี้

นอกจากนี้ เมื่อปิดรับลงทะเบียนและได้คัดกรองผู้ลงทะเบียนครบถ้วนทั้งหมดแล้วซึ่งขณะนี้มีประมาณ 27 ล้านราย จะเปิดให้มีช่องทางการอุทธรณ์ผลการพิจารณาสำหรับผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอุทธรณ์ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาครบทั้ง 3 เดือนเช่นเดิม เนื่องจากการให้เงินเยียวยาจะใช้วันลงทะเบียนในการเริ่มนับสิทธิ์

โฆษกกระทรวงการคลังยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนยังคงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยจะทยอยแจ้งผลการคัดกรองและโอนเงินเยียวยาอย่างต่อเนื่องตลอดทุกวันทำการ โดยในรอบที่ 2 จะเริ่มทยอยส่ง SMS แจ้งผลและโอนเงินเยียวยาในช่วงวันที่ 13-14 เมษายน 2563 ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์ประมาณ 6 แสนราย โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งกระบวนการตรวจสอบและคัดกรองโดยเร็วที่สุด เพื่อให้คนทำงานที่เดือดร้อนจากสถานการณ์ Covid-19 ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันการณ์และตรงตัว

ขอขอบคุณ ภาพ :istockphoto

โฆษณา

Verified by ExactMetrics