วันที่ 27 กรกฎาคม 2024

อุตุฯ เผย ฝนลดลง แต่เหนือตอนบน-อีสาน ยังตกหนักบางแห่ง กทม. 40%

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 กรกฎาคม 2567 กรมอุตุฯ เผยประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ภาคเหนือตอนบน ภาคอีสาน ยังมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง 40%

กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส

Advertisment

กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ แนวทางดูแลผู้ป่วยงูพิษกัด-ไข้เลือดออก มากับฤดูฝน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 มิถุนายน 2567 กระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมแนวทางดูแลผู้ป่วยงูพิษกัดและไข้เลือดออก เหตุพบอุบัติการณ์สูงขึ้นช่วงหน้าฝน แนะ ปชช.หากถูกงูกัดให้รีบมา รพ.ทันที

วันนี้  (28 มิ.ย. 67) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในช่วงฤดูฝนที่จะมีงูพิษหนีน้ำมาและโรคไข้เลือดออกจากยุงลาย  เนื่องจากพบข้อมูลในช่วงหน้าฝนจะพบประชาชนถูกงูพิษกัดจำนวนมาก จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลจากการถูกงูพิษและสัตว์มีพิษกัดประมาณ 12,000 คน ส่วนการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก พบว่าในปี 2567 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 1.3 เท่า

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า อันตรายจากการถูกงูพิษกัดและโรคไข้เลือดออก ถือเป็นภัยสุขภาพที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในช่วงฤดูฝน มักจะมีโอกาสถูกสัตว์มีพิษกัดสูง ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการทบทวนเตรียมความพร้อมกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐาน ตั้งแต่รับผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาลจนถึงส่งกลับไปดูแลพักฟื้นต่อที่บ้าน รวมถึงการให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการป้องกัน การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

“การถูกงูกัดเป็นภาวะฉุกเฉินหนึ่งทางการแพทย์ โดยปกติงูจะมี 2 ชนิด คือ งูมีพิษและไม่มีพิษ สำหรับพิษของงูเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้วจะทำลาย 2 ระบบ คือ 1. ระบบประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา และ 2. ระบบการไหลเวียนโลหิตที่ทำให้เลือดแข็งตัว เช่น งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูกะปะ ดังนั้น คำแนะนำประชาชนเมื่อถูกงูกัด อันดับแรกคือ ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด พยายามขยับบริเวณที่ถูกกัดให้น้อยที่สุดด้วยการหาไม้มาดามบริเวณแผล ป้องกันพิษไหลเวียนในกระแสเลือด จากนั้นให้รีบนำผู้ป่วยมา รพ. เพื่อรับการรักษาทันที”

Advertisment

กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนฝนตกหนัก ถึงหนักมาก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 25 มิถุนายน 2567 อุตุฯ เตือนฝนตกหนัก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนฝนตกหนักถึงหนักมาก และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน ฉบับที่ 8 อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก มีผลกระทบถึง 26 มิ.ย.นี้

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน ฉบับที่ 8 (122/2567) (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2567)

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 25 มิถุนายน 2567

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี และสระบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

วันที่ 26 มิถุนายน 2567

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย

Advertisment

อุตุฯ เตือนภาคเหนือรับมือฝนตกหนัก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 มิถุนายน 2567 กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น เตือนภาคเหนือเตรียมรับมือฝนถล่ม อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

กรมอุตุนิยมวิทยา เผยร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน และประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนเริ่มมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

Advertisement

นักกีฬาไทยคว้าโควตาเข้าร่วมแข่งขัน Olympics Paris 2024 ได้แล้วถึง 42 ที่นั่ง จาก 12 ชนิดกีฬา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 มิถุนายน 2567 โฆษกรัฐบาลเผย นักกีฬาไทยคว้าโควตาเข้าร่วมการแข่งขัน Olympics Paris 2024 ครั้งที่ 33 ประเทศฝรั่งเศสได้แล้วถึง 42 ที่นั่ง จาก 12 ชนิดกีฬา นายกรัฐมนตรีชื่นชมความสามารถนักกีฬาไทย พร้อมเชิญชวนแฟนกีฬาไทยช่วยลุ้นที่นั่งเพิ่มเติมในรอบคัดเลือกจากกีฬาอย่าง กอล์ฟ กรีฑา ยูโด และว่ายน้ำ

วันนี้ (5 มิถุนายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทัพนักกีฬาทีมชาติของไทยคว้าโควตาเข้าร่วมการแข่งขัน Olympics Paris 2024 ครั้งที่ 33 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2567 นี้ ได้เเล้วจำนวน 42 ที่นั่ง โดยยังมีโอกาสคว้าที่นั่งเพิ่มเติมในรอบคัดเลือก ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกถึงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ จากกีฬาอย่าง กอล์ฟ กรีฑา ยูโด และว่ายน้ำ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โควตาการเข้าร่วมการแข่งขัน Olympics Paris 2024 ของทัพนักกีฬาทีมชาติไทยที่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้ว มีจำนวน 42 ที่นั่ง จาก 12 ชนิดกีฬา ดังนี้

– กีฬาแบดมินตัน 9 คน ได้แก่ เดชาพล พัววรานุเคราะห์, ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย, จงกลพรรณ กิติธรากุล, รวินดา ประจงใจ, รัชนก อินทนนท์, ศุภนิดา เกตุทอง, กุลวุฒิ วิทิตศานต์, สุภัค จอมเกาะ และ กิตตินุพงษ์ เกตุเรน

– กีฬามวยสากล 8 คน ได้แก่ จุฑามาศ จิตรพงศ์, ธิติสรรณ์ ปั้นโหมด, จุฑามาศ รักสัตย์, ธนัญญา สมนึก, จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง, บรรจง สินศิริ, วีระพล จงจอหอ และ ใบสน มณีก้อน

– กีฬาจักรยาน 5 คน ได้แก่ โกเมธ สุขประเสริฐ, จาย อังค์สุธาสาวิทย์ และอีก 3 ที่นั่ง จากโรดเรซหญิง ไทม์ไทรอัลหญิง และ โรดเรซชาย ซึ่งรอสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยยืนยันรายชื่อ

– กีฬาไคท์บอร์ด 2 คน ได้แก่ เบญญาภา จันทวรรณ และ โจเซฟ โจนาธาน เวสตัน

– กีฬาเรือใบ 2 คน ได้แก่ โซเฟีย เกล มอนโกเมอรี่ และ อธิษฐ์ มิเคล โรมานิค

– กีฬายิงปืน 3 คน ได้แก่ ธันยพร พฤกษากร, ทองผาภูมิ วงศ์สุขดี และ กมลลักษณ์ แสนชา

– ปัญจกีฬา 1 คน ได้แก่ ภูริช โยเฮือง

– กีฬาเทควันโด 3 คน ได้แก่ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ, บัลลังก์ ทับทิมแดง, ศศิกานต์ ทองจันทร์

– กีฬาขี่ม้า 1 คน ได้แก่ ชนกภรณ์ การุณยธัช

– กีฬาเทเบิลเทนนิส 3 คน ได้แก่ สุธาสินี เสวตรบุตร, จิณห์นิภา เสวตรบุตร และ อรวรรณ พาระนัง

– กีฬายกน้ำหนัก 4 คน ได้แก่ สุรจนา คำเบ้า, ดวงอักษร ใจดี, ธีรพงศ์ ศิลาชัย และ วีรพล วิชุมา

– กีฬาเรือพาย 1 คน ได้แก่ เปรมณัฏฐ์ วัฒนานุสิทธิ์

ทั้งนี้ การแข่งขัน Olympics Paris 2024 ครั้งที่ 33 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2567 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (https://olympics.com/en/paris-2024) โดยเจ้าภาพจัดการแข่งขันชิงเหรียญทองทั้งหมด 329 เหรียญ ใน 32 ชนิดกีฬา เเละคาดการณ์ว่าจะมีนักกีฬาทั่วโลกผ่านการคัดเลือก (Qualifying) เข้าแข่งขันในรอบสุดท้ายที่ฝรั่งเศสประมาณ 10,500 คน

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความสามารถนักกีฬาไทยทุกคน พร้อมเชิญชวนแฟนกีฬาชาวไทยส่งกำลังใจ แรงเชียร์ให้กับทัพนักกีฬาไทยทุกคน ในการแข่งขันรอบคัดเลือกที่เหลือ และเป็นกำลังใจให้นักกีฬาที่ได้เข้ารอบแล้ว รวมทั้งทีมงานที่เกี่ยวข้อง มีกำลังใจในการฝึกซ้อม ในการเดินทางเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ขอให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้เพื่อนำชื่อเสียงกลับมาสู่ประเทศไทย และไม่ว่าจะได้รับเหรียญจากการแข่งขันหรือไม่ก็ตาม นายกฯ เชื่อมั่นว่านักกีฬาไทยทุกคนจะเป็นต้นแบบ เป็นแรงผลักดันให้แก่เยาวชนในด้านความพยายาม มุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะพัฒนาความสามารถและฝึกฝนตนเองต่อไปในอนาคต” นายชัย กล่าว

Advertisment

รบ.พร้อมแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ล็อตแรก กลุ่มเปราะบางคนถือบัตรสวัสดิการฯ 14.98 ล้านคน หลังเห็นชอบเพิ่มวงเงินงบประมาณปี 67 วงเงิน122,000 ลบ.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 มิถุนายน 2567 ครม. เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็น งบกลางรายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ

วันนี้ (4 มิถุนายน 2564) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (4 มิถุนายน 2567) ที่ประชุม ครม. มีมติให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็น งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการเพิ่มเติม จำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตามที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เห็นชอบในหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยใช้จ่ายจาก 3 แหล่งเงิน ได้แก่ (1) การบริหารงบฯ ปี 67 จำนวน 175,000 ล้านบาท (2) การดำเนิการผ่านหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และ (3) งบฯ ปี 68 จำนวน 152,700 ล้านบาท และมีมติเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 68-71) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ประกอบกับตามปฏิทินงบฯ เพิ่มเติมปี 67 กำหนดให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายงบฯ วงเงินงบฯ และโครงสร้างงบฯ เพิ่มเติมปี 67 ในวันที่ 4 มิถุนายน 2567

สงป. ได้ประชุมหารือเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 61 โดยกำหนดวงเงินงบฯ เพิ่มเติมปี 67 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สำหรับการดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล โดยที่ประชุมได้กำหนดงบฯ เพิ่มเติมปี 67 จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็นงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้จำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท

การดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการให้ทันภายในปีงบฯ 67 เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบฯ เพิ่มเติมปี 67 ได้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 67 และสอดคล้งตาม ม. 21 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการทันภายในปีงบฯ 2567 จึงอาจพิจารณาผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.98 ล้านคน ตามขั้นตอนในโอกาสแรกก่อน

ทั้งนี้ วงเงินงบฯ เพิ่มเติมปี 67 จำนวน 122,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบฯ ปี 67 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,602,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบฯ 66 จำนวน 417,000 ล้านบาท (ร้อยละ 13.1) ซึ่งเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 68-71) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 และสำหรับงบลงทุนฯ และงบฯ ชำระคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.61

Advertisment

ปภ.แจ้ง 23 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 มิถุนายน 2567 ปภ.แจ้ง 23 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ปภ.แจ้ง 23 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ช่วงวันที่ 4-11 มิ.ย.67

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้มีประกาศฉบับที่ 6/2567 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2567 แจ้งว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ทำให้มีฝนตกหนักและฝนตกหนักมากบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลาง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ในช่วงระหว่างวันที่ 4-11 มิถุนายน 2567 แยกเป็น

ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย) เชียงใหม่ (อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่ริม อำเภอสะเมิง อำเภอแม่วาง) เชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่สาย อำเภอแม่สรวย อำเภอพาน อำเภอเทิง อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงป่าเป้า) ลำปาง (อำเภอเกาะคา อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก อำเภอวังเหนือ อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภองาว) พะเยา (อำเภอเมืองพะเยา อำเภอภูซาง อำเภอปง อำเภอเชียงคำ) น่าน (อำเภอเมืองน่าน อำเภอทุ่งช้าง อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอแม่จริม อำเภอเวียงสา) ตาก (อำเภอเมืองตาก อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง) พิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ อำเภอนครไทย อำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง) และเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มเก่า อำเภอเขาค้อ อำเภอหล่มสัก)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เลย (อำเภอนาแห้ว อำเภอเชียงคาน อำเภอด่านซ้าย อำเภอปากชม) หนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอโพนพิสัย) บึงกาฬ (อำเภอบุ่งคล้า อำเภอโซ่พิสัย อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง) อุดรธานี (อำเภอนายูง อำเภอน้ำโสม) ชัยภูมิ (อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอคอนสาร อำเภอหนองบัวแดง อำเภอเทพสถิต) และขอนแก่น (อำเภอเมืองขอนแก่น)

ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอไทรโยค อำเภอด่านมะขามเตี้ย) ราชบุรี (อำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา) เพชรบุรี (อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ) ปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอนาดี) ชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา) ระยอง (อำเภอเมืองระยอง อำเภอปลวกแดง อำเภอนิคมพัฒนา อำเภอแกลง) จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอแหลมสิงห์) และตราด (อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่ อำเภอเกาะช้าง)

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 23 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและฝนตกหนักมากที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

Advertisment

ทั่วไทยฝนตก ตกหนักบางแห่ง ตกหนักมากภาคตะวันออก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่า

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 มิถุนายน 2567 กรมอุตุฯ เตือนทั่วไทยฝนตกหนักบางแห่ง ฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝนฟ้าคะนอง 70% ของพื้นที่

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

อนึ่ง เมื่อเวลา 01.00 น.ของวันนี้ (1 มิ.ย. 67) พายุโซนร้อน “มาลิกซี” ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนแล้ว โดยมีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือค่อนทางตะวันออกเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับในระยะต่อไป ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 06.00 น. วันนี้ ถึง 06.00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ และตาก อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงครามอุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15–30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15–30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง และพังงา อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20–35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15–35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

Advertisement

สมอ.แจง “ลาบูบู้” ต้องได้ มอก. เพื่อความปลอดภัยของเด็ก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 พฤษภาคม 2567 สมอ.แจงทำไม “ลาบูบู้” ต้องได้มาตรฐาน มอก. เลขาฯ สมอ. แจง “ลาบูบู้” เป็นตุ๊กตาเด็กเล่น ต้องได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย แนะประชาชนเลือกซื้อของเล่นให้สังเกตเครื่องหมาย มอก. และ QR Code ทุกครั้ง

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ได้กำหนดให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสินค้าควบคุม โดยผู้ทำ ผู้นำเข้า จะต้องทำ/นำเข้า สินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐานเท่านั้น และจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อน รวมถึงการจำหน่ายจะจำหน่ายได้เฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันมีจำนวน 144 รายการ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและวัสดุก่อสร้าง ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร เมลามีน ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ และหมวกกันน็อก รวมทั้งของเล่น ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่ สมอ.ควบคุมด้วย

ปัจจุบันของเล่นที่จำหน่ายในท้องตลาด มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ทำ สมอ.จึงต้องเข้มงวดตรวจควบคุม เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพและความปลอดภัย เนื่องจากผู้ใช้เป็นเด็ก อาจสัมผัสหรือนำเข้าปากได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล) ที่มีความห่วงใยประชาชนในการเลือกซื้อของเล่นที่ได้มาตรฐาน หากไม่มีการควบคุมความปลอดภัย อาจทำให้เกิดอันตรายจากส่วนแหลมคม ชิ้นส่วนขนาดเล็ก โลหะหนัก และสารเคมีที่อยู่ในสีเคลือบได้ ผู้ปกครองจึงควรเลือกของเล่นที่ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของเด็ก

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ของเล่น” ตามกฎหมาย หมายถึง สินค้าที่ออกแบบและทำให้เด็กอายุไม่เกิน 14 ปี เล่น เช่น ตุ๊กตา ลูกโป่ง ลูกบอล เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไม่จัดอยู่ในกลุ่ม “ของเล่น” เช่น พวงกุญแจ ของสะสมสำหรับผู้ใหญ่ ปืนบีบีกัน ปืนอัดลม ลูกดอก หนังสติ๊ก จักรยาน 2 ล้อที่มีอานนั่งสูงเกิน 435 มิลลิเมตร เป็นต้น สำหรับตุ๊กตาทุกประเภทจัดอยู่ในข่ายของเล่นที่ สมอ.ควบคุม ซึ่งต้องกำกับดูแลให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่ใช่เฉพาะตุ๊กตา “ลาบูบู้” เท่านั้น ในกรณีของลาบูบู้ หากมีวัตถุประสงค์ในการทำเพื่อเป็นของเล่นสำหรับเด็ก และผู้ใช้งานคือเด็ก สมอ.ถือว่าเป็นของเล่น ซึ่งผู้ทำ ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่หากมีวัตถุประสงค์ในการทำเพื่อเป็นอย่างอื่น เช่น พวงกุญแจ และผู้ใช้งานคือผู้ใหญ่ จะไม่อยู่ในข่ายของเล่น และไม่อยู่ในการควบคุมของ สมอ.

ทั้งนี้ ข้อกำหนดในมาตรฐานของเล่น มีข้อกำหนดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น การควบคุมปริมาณโลหะหนัก อย่างสารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ที่อยู่ในส่วนประกอบของเล่น ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและไม่เป็นอันตราย ไม่มีขอบคมหรือปลายแหลม ต้องมีฉลากหรือข้อความระบุช่วงอายุของเด็กที่ของเล่นหรือภาชนะบรรจุ ต้องมีคำเตือนหรือวิธีการเล่น เช่น “มีชิ้นส่วนขนาดเล็ก อาจทำให้อุดตันทางเดินหายใจ” “ห้ามเล่นใกล้เปลวไฟ” “ไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ” และ “ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่” เป็นต้น

“สำหรับบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย กรณีทำและนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอฝากถึงประชาชน หากจะเลือกซื้อของเล่น ให้สังเกตเครื่องหมาย มอก. และ QR Code ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

Advertisement

รัฐบาลชี้แจง ก.ศึกษาฯ ไม่ได้สั่งยกเลิกแต่งชุดนักเรียน แค่ผ่อนผันบางราย ลดค่าใช้จ่าย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 19 พฤษภาคม 2567 รัฐบาลแจง ก.ศึกษาธิการ ไม่ได้สั่งประกาศยกเลิกแต่งชุดนักเรียน ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ ย้ำเป็นการยกเว้นหรือผ่อนผัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อมูลในเฟซบุ๊กว่า กระทรวงศึกษาธิการ สั่งประกาศให้ยกเลิกแต่งชุดนักเรียนนั้น ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ พร้อมขอชี้แจงว่า การยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียน เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนและผู้ปกครอง ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบและรองเท้าของนักเรียน เป็นชุดหรือรองเท้าอื่น โดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม

นายคารม ระบุว่า การยกเว้นหรือผ่อนผัน สถานศึกษาจะพิจารณาเป็นรายตามความเหมาะสม พร้อมรายงาน รมว.ศธ.ทราบ ไม่ใช่การสั่งยกเลิกชุดนักเรียน เนื่องจากเริ่มมีเพจออนไลน์บางเพจตั้งใจสื่อสารว่า กระทรวงฯ ยกเลิกชุดนักเรียน ซึ่งคำว่า ยกเลิก กับ ยกเว้น มีความหมายแตกต่างกัน ทั้งนี้ การออกหนังสือของ ศธ. มีวัตถุประสงค์ให้ยกเว้นหรือผ่อนผัน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาสามารถตัดสินใจได้เอง การออกหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริหารสถานศึกษาดำเนินการได้ในแนวทางเดียวกัน

“ยกเว้นการแต่งชุดนักเรียน หมายถึง พิจารณาแล้วว่าเด็กมีความจำเป็นเรื่องการหาชุดนักเรียนตามระเบียบมาใส่ อาจยกเว้นไม่ต้องแต่งชุดนักเรียน โดยใส่ชุดอื่นที่เหมาะสม เช่น ชุดพละ หรือชุดที่มีอยู่ไปก่อน เมื่อจัดหาชุดนักเรียนได้แล้วก็ใส่ชุดนักเรียนตามปกติ ส่วนยกเลิกการแต่งชุดนักเรียน หมายถึง ทุกคนในประเทศไม่ต้องแต่งชุดนักเรียน เครื่องแบบนักเรียนจะไม่มีอีกต่อไป” นายคารม ย้ำ

Advertisement

Verified by ExactMetrics