วันที่ 24 เมษายน 2024

รมช.ศึกษาฯเดินหน้าจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ควบรวมกระทรวงวิทย์ฯ

People unity news online : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา : โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และทิศทางอุดมศึกษาไทยในอนาคต” ครั้งที่ 2

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา : โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และทิศทางอุดมศึกษาไทยในอนาคต” ครั้งที่ 2 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมี นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งผู้บริหารและบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน

นพ.อุดม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจ ชี้แจง และระดมความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาให้กับข้าราชการและบุคลากรของ สกอ. ซึ่งจะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาและกระทรวงการอุดมศึกษาในอนาคตอันใกล้

โดยเน้นย้ำให้ทุกคนมองเห็นภาพใหญ่ของการอุดมศึกษาทั้งประเทศ และทิศทางการอุดมศึกษาโลก อาทิ การอุดมศึกษาของสิงคโปร์ ที่ปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น พร้อมทั้งพัฒนาคนทั้งประเทศให้มีความทันสมัย ทันโลก ทันการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการเรียนไปพร้อมๆกับการทำงาน ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้หลายรูปแบบและหลายอาชีพ รวมทั้งรองรับอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในวันข้างหน้า

สำหรับแนวทางการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษานั้น ได้ออกแบบให้เป็นกระทรวงที่มีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผลิตกำลังคน 4.0 ที่มีคุณภาพสูง และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีนวัตกรรม โดยมีภารกิจสนับสนุนส่งเสริมงานของสถาบันอุดมศึกษา ไม่เน้นการควบคุม แต่จะช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา สถาบันอุดมศึกษาจึงมีอิสระในการบริหารจัดการเช่นเดิม อีกทั้งส่งเสริมงานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เน้นการสร้างสินค้าเชิงพาณิชย์ ที่จะช่วยพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมๆกับการประสานการจัดสรรงบประมาณให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัด ที่จัดหลักสูตรตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคน และการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยมุ่งหวังให้กระทรวงการอุดมศึกษาเป็นกระทรวงที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ และเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นๆ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ให้สามารถทำงานร่วมกันได้

ส่วนการรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไว้ในกระทรวงอุดมศึกษานั้น เกิดจากแนวคิดการบริหารจัดการงานวิจัยให้ตอบโจทย์ประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณา

แม้ที่ผ่านมาการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาไม่ได้นำเรื่องการวิจัยหรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารวมเข้าด้วยกัน เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องเร่งดำเนินการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาให้แล้วเสร็จ แต่หากมองถึงสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นว่า หากสามารถบูรณาการร่วมกันได้จริงๆ ก็จะทำให้เกิดพลังขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ควรผลักดันให้กระทรวงการอุดมศึกษาเกิดขึ้นก่อน เพราะได้ร่างกฎหมายต่างๆไว้เรียบร้อยแล้ว และเชื่อมั่นว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา” จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญของประเทศด้วย

นโยบายการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา

“เป็นกระทรวงที่มีขนาดเล็ก

แต่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

ผลิตกำลังคน 4.0 ที่มีคุณภาพสูง

และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีนวัตกรรม ย้ำให้ทุกคนมองเห็นภาพใหญ่ของการอุดมศึกษาทั้งประเทศ และทิศทางการอุดมศึกษาโลก ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย

พัฒนาคนให้ทันสมัย ทันโลก ทันการเปลี่ยนแปลง

เน้นการเรียนไปพร้อมกับการทำงาน

ปรับเปลี่ยนการทำงานได้หลายรูปแบบ

และหลากหลายอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่”

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร

รมช.ศึกษาธิการ

People unity news online : post 21 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.40 น.

“ประยุทธ์” ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับ “ล้มแล้วลุกไว”

People Unity News : คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับสมบูรณ์ ภายใต้แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” ใน 3 มิติการพัฒนา ให้ประเทศมีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน

วันนี้ (9 พ.ย.63) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 3/2563 ร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยผลการประชุม ดังนี้

คณะกรรมการฯ รับทราบ (1) การเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยเห็นชอบให้แต่งตั้ง ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และอดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อรับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน (2) ความก้าวหน้าการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศผ่านระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) โดยได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานดำเนินการรายงานผลการดำเนินการโครงการ/การดำเนินงาน และนำเข้าแผนระดับที่ 3 เข้าในระบบ eMENSCR ตามที่ระเบียบว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2562 กำหนด เพื่อเป็นช่องทางให้ภาคประชาชนและภาคีการพัฒนามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป (3) การจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม โดยใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) เป็นข้อมูลหลักในการดำเนินการ เนื่องจาก ระบบ TPMAP เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายแรกของประเทศที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาได้ทั้งในครัวเรือนและบุคคล โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการเชิงพื้นที่ ครอบคลุมทุกกลุ่มเปราะบาง ทั้งเกษตรกร ผู้เคยต้องรับโทษ ผู้มีหนี้สิน ผู้ที่ทำงานอยู่นอกภูมิลำเนา ทั้งนี้ ให้นำกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทและขีดความสามารถของประเทศไทย เพื่อความคุ้มค่าของการใช้เงินงบประมาณของประเทศต่อไปและ (4) หลักสูตรยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีการขยายผลการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Massive Open Online Course: MOOCs) วิชายุทธศาสตร์ชาติสำหรับกลุ่มเป้าหมายนิสิต นักเรียน นักศึกษา นอกจากนี้ ต้องเร่งสร้างการตระหนักรู้ให้กับข้าราชการทุกระดับต่อไป เพื่อให้การแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติสามารถเป็นไปได้อย่างบูรณาการต่อไป

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญ จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

1) (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) คณะกรรมการฯ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 13 ด้าน ได้แก่ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สังคม พลังงาน การป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ การศึกษา วัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มีกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) รวม 62 กิจกรรม และมีกฎหมายที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุงแก้ไข จำนวน 45 ฉบับ โดยได้สั่งการเพิ่มเติมให้สรุปผลความสำเร็จของแผนฯในช่วงที่แผนมา เพื่อให้เห็นถึงความก้าวหน้าและประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานระยะต่อไปหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้แล้ว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปฯเดิม คู่ขนานไปกับกิจกรรม Big Rock และสื่อสารสร้างความเข้าใจกิจกรรม Big Rock เพื่อถ่ายทอดสู่หน่วยปฏิบัติ โดยให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการที่ระบุระยะเวลาและวิธีการดำเนินการที่ชัดเจน รวมทั้งให้มีการกำหนดกรอบงบประมาณเป็นการเฉพาะ เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายตามผลอันพึงประสงค์ที่กำหนด

2) ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2565 (ฉบับสมบูรณ์) คณะกรรมการฯเห็นชอบร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ซึ่งมีแนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” หรือ Resilience โดยกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้ “คนสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมีการวางรากฐาน เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่” มี 3 มิติการพัฒนา ได้แก่ (1) การพร้อมรับ (Cope) (2) การปรับตัว (Adapt) (3) การเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน (Transform) เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศมีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนภายใต้หลัก 3 ขั้นการพัฒนา ได้แก่ Survival (การอยู่รอด) Sufficiency (พอเพียง) และ Sustainability (ยั่งยืน) ประเด็นการพัฒนาประกอบด้วย 4 ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) ลดความเสี่ยงในการพึ่งพาต่างประเทศ (2) การยกระดับขีดความสามารถของประเทศ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) ส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการที่มีโอกาสและศักยภาพภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงและบริบทโลกใหม่ (3) การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) เพื่อการยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานและโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤต และ (4) การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) ให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประเทศ ทั้งนี้ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ (ฉบับสมบูรณ์) เป็นแผนระดับที่ 2 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 โดยเป็นฉบับเพิ่มเติมจากแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็น ดังนั้น เพื่อให้การแปลงร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ (ฉบับสมบูรณ์) ไปสู่การปฏิบัติ สามารถดำเนินการได้บูรณาการและสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คณะกรรมการฯจึงได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2465 เพิ่มเติมจากโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 รวมทั้งให้สำนักงบประมาณใช้เป็นกรอบจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 ร่วมกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็นในปัจจุบัน

3) แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน … เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการฯเห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน … ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นการแปลงยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯเห็นชอบให้ สศช. เสนอ (1) (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) (2) ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 (ฉบับสมบูรณ์) และ (3) แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน … เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

Advertising

ผบ.ทบ. ตรวจเยี่ยมคัดเลือกทหารกองเกินระบบออนไลน์

People Unity News : 28 มกราคม 66 ผบ.ทบ.ตรวจเยี่ยมคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ระบบออนไลน์ ณ มทบ.11

วันนี้ (28 ม.ค.66) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.ตรวจเยี่ยมการรับสมัครและการคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ โดยมี พล.ต.ปัญญา ตั้งความเพียร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ให้การต้อนรับ ณ มณฑลทหารบกที่ 11

ในการนี้ผู้บัญชาการทหารบกได้รับฟังการบรรยายสรุปขั้นตอนการปฏิบัติการคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ จากนั้นผู้บัญชาการทหารบก ได้ตรวจเยี่ยมการคัดเลือกฯ ขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ การตรวจหลักฐานและวัดขนาดร่างกาย และได้ตรวจเยี่ยมขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ การตรวจร่างกาย นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการปฏิบัติตามสถานีต่างๆ จากนั้นจึงพบปะพูดคุยกับทหารกองเกินรวมทั้งครอบครัวที่มาร่วมติดตามการรับสมัครและคัดเลือกฯครั้งนี้

การรับสมัครและคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 64 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบกมีนโยบายมุ่งพัฒนาการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ (Control) ไปสู่ระบบทหารกองประจำการอาสาสมัคร (Volunteer) หรือระบบสมัครใจเพื่อทดแทนการเรียกเกณฑ์ให้เป็นรูปธรรมในอนาคต อีกทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการเกณฑ์ทหารแก่สังคมโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน

สำหรับการรับสมัครและคัดเลือกฯในปี 66 เริ่มตั้งแต่ 29 ส.ค.65 และสิ้นสุดในวันที่ 29 ม.ค.66 โดยมณฑลทหารบกทั้ง 35 หน่วยทั่วประเทศเป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการ ทั้งนี้ในปี 66 ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กองทัพบกกำหนดได้มีโอกาสสมัครเข้ารับราชการทหารกองประจำการได้ด้วย

Advertisement

คสช.ออกคำสั่ง ม.44 ให้คนไม่ได้เป็นข้าราชการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยและราชภัฎได้

People unity news online :  เมื่อวาน (28 มีนาคม 2560) ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. ได้มีการพิจารณาคำสั่ง คสช. เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา อธิการบดีของมหาวิทยาลัย และราชภัฎต่างๆ จะมีระเบียบหลักเกณฑ์ และกฎหมายของตนเองในการดำเนินการ ว่าสามารถที่จะเลือกบุคคลใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติมาทำหน้าที่ดังกล่าว โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นข้าราชการที่ยังไม่เกษียณอายุ แต่กฎระเบียบนี้ไปขัดกับกฎหมายกลางในเรื่องของระเบียบข้าราชการครู ซึ่งอธิการบดีจะต้องเป็นข้าราชการ ดังนั้น คนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการในกฎหมายกลางฉบับดังกล่าวจึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นอธิการบดีได้ โดยวันนี้ ที่ประชุม คสช. ได้มีคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 เพื่อเปิดโอกาสสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการและเป็นข้าราชการสามารถที่ทำหน้าที่เป็นอธิการบดีได้ จากเดิมที่ตำแหน่งอธิการบดีต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น การเปิดโอกาสดังกล่าวจะทำให้สามารถเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้มากยิ่งขึ้น

People unity news online : post 28 มีนาคม 2560 เวลา 11.03 น.

เร่งรัดพัฒนา 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

People Unity News : 11 เมษายน 2566 พลเอกประวิตร เร่งรัดโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำใน 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ให้ประชาชนมีน้ำกิน น้ำใช้ ไม่แล้ง กินดีอยู่ดี

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้กำชับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เร่งรัดดำเนินการโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำจำนวน 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และพระราชกฤษฎีกา กำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดลุ่มน้ำ จำนวน 22 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาไปสู่เป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่บ้านมีน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอ ไม่มีน้ำท่วม ไม่มีแล้ง และสำคัญที่สุดคือ “คนไทยต้องไม่จน”

โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีได้กำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศภายใต้แผนแม่บทการบริการจัดการน้ำ 20 ปี โดยบูรณาการส่วนราชการต่างๆ มากกว่า 48 ส่วนราชการและสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยปัญหาหลักที่มักจะพบในลุ่มน้ำต่าง ๆ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนโครงการสำคัญๆ ทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ซึ่งมีขนาดเล็ก ได้แก่ การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน 5,005 แห่ง รวมทั้งโครงการสำคัญขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวม 255 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 1.42 ล้านไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 1.25 ล้านไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์กว่า 500,000 ครัวเรือน

สำหรับตัวอย่างโครงการสำคัญๆ ใน 22 ลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำยม ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน การพัฒนาและปรับปรุงคลองผันน้ำยม-น่านในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนกลาง และการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ โครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำและพื้นที่เก็บกักน้ำต้นทุน โครงการเพื่อลดความเสียหายน้ำท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่หน่วงน้ำและการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำพื้นที่บึงบอระเพ็ด ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ การพัฒนาระบบระบายเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนควนขนุน จังหวัดพัทลุง และพื้นที่ชุมชนควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการสำคัญๆ ที่ได้รับจัดสรรงงบประมาณแล้ว 15 โครงการ อาทิ อ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง จ.ตราด อ่างเก็บน้ำ ธารประเวศ จ.สุราษฎร์ธานี ระบบระบายน้ำหลักพื้นที่ชุมชนเมืองสตูล ระยะที่ 1

จ.สตูล พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่ ส.ป.ก. จ.กระบี่ เป็นต้น ซึ่งจะได้ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งการพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบให้ประชาชนได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

Advertisement

นายกฯ ชู ป.ย.ป. จะทำให้ประเทศก้าวหน้าเหมือนจีน

People unity news online : วันนี้ (21 เมษายน 2560) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ครั้งที่ 1/2560 เพื่อติดตามความก้าวหน้าแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป. ทั้ง 4 คณะ คือคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการเพื่อความสามัคคีปรองดอง  โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป ทั้ง 4 คณะ

คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อการเร่งรัดผลักดันการปฏิรูปให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมก่อนการเลือกตั้ง และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้กระบวนการปฏิรูป การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ดำเนินงานอยู่โดยรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อส่งต่อภารกิจไปสู่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งได้อย่างราบรื่นและเกิดความต่อเนื่องของการดำเนินงาน เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุข และตอบสนองต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ระดับสูงเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และสร้างความสุขของคนไทย สร้างสังคมให้มีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ

โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมขนาดใหญ่ เพราะประเทศจะเดินหน้าได้ด้วยงานของรัฐบาลที่ทำอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาและเดินหน้าประเทศระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรกเมื่อวานนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก สนช. สปท. โดยส่วนตัวเห็นว่าข้อเสนอหลายอย่างนั้นมีประโยชน์ แต่อาจจะต้องหารืออีกครั้ง เพื่อให้มีความมั่นใจว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถบังคับใช้ได้ในอนาคต ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการปิดกั้นการทำงานของฝ่ายใดแต่เพื่อวางกรอบการทำงาน ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอาจจะดูยาวนานแต่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่นานนัก เพราะถือว่าเป็นระยะแรกในการวางรากฐานและปฏิรูปประเทศเหมือนกับประเทศจีน ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 10 ปีในการยกระดับรายได้ของประเทศ จนสามารถยกระดับจนรายได้เป็นอันดับสองของโลก ในส่วนของประเทศไทยนั้นคงจะต้องใช้เวลานานกว่านั้น แต่เชื่อว่าใน 5 ปีแรกนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการวางรากฐานของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ ภาคประชาชนในรูปแบบของประชารัฐ ขณะเดียวกัน หากใครที่มีความคิดเห็นหรือข้อเสนอทางรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังแนวความคิดที่เป็นประโยชน์ของทุกคน

“ขอให้คณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป.ทั้ง 4 คณะให้ทำงานประสานสอดคล้องกันแบบบูรณาการอย่างเต็มที่ให้เกิดเป็นรูปธรรม สร้างความชัดเจนให้กับประชาชน และจัดคณะกรรมการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจต่อประชาชน พร้อมทั้งขอให้กำหนดความสำคัญของแผนการดำเนินงาน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน นำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในพื้นที่และในสังคมให้รับรู้สร้างแนวคิดใหม่ๆขึ้นมา เกิดวิสัยทัศน์ในการทำงานอย่างถูกต้อง พร้อมขอความร่วมมือภาคเอกชนช่วยกันสร้างความเข้าใจต่อนักลงทุนให้เกิดการลงทุนในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มในทางที่ดีทั้งเรื่องความเชื่อมั่น และมูลค่าการส่งออก”

People unity news online : post 21 เมษายน 2560 เวลา 16.03 น.

สรุป “โครงการทำมาค้าขาย” โรงเรียนสานพลังประชารัฐ-โรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้

People unity : เมื่อวานนี้ (13 มีนาคม 2562) พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้ “โครงการทำมาค้าขาย” ของโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐ และโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมี นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ตลอดจนผู้บริหาร ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูและนักเรียน เข้าร่วมกว่า 300 คน ณ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท จังหวัดสงขลา

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้โครงการทำมาค้าขาย ด้วยการสนับสนุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความสำคัญต่อการนำการศึกษาเรียนรู้ไปช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งเกิดจากพลังความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนถึงภาควิชาการ ช่วยขับเคลื่อนประเทศด้วยการศึกษา ซึ่ง “การศึกษา” เปรียบเสมือนต้นทางของการพัฒนาคน ให้มีทักษะ มีความรู้ อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า สร้างความเป็นอยู่ที่ดีและความเจริญให้กับครอบครัวและชุมชน

ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการตั้งมั่นในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละพื้นที่ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” รวมทั้งพระบรมราโชวาทในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ซึ่งทรงพระราชทานเกี่ยวกับการศึกษาที่ต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ที่ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพสุจริต 4) เป็นพลเมืองดี นำมาเป็นหลักคิดในการดำเนินงาน จนเกิดเป็นความสำเร็จในการสร้างโอกาสด้านการศึกษา ที่ส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ในหลายโครงการ อาทิ การกำหนดการบริหารงานในระดับภาค, พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาและนราธิวาส, โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น

โครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้โครงการทำมาค้าขาย ถือเป็นการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม อย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้การสนับสนุนของภาคเอกชนตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา จึงนำมาสรุปเป็นแนวทางดำเนินงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนอย่างรอบด้าน ไม่เฉพาะการทำให้เด็กมีความรู้ เป็นคนดีและคนเก่งเท่านั้น แต่ยังเน้นให้มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่ดี จบแล้วมีอาชีพมีงานทำ และเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชนและสังคมสอดคล้องตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติข้อที่ 3 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัย ให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ เพื่อให้คนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา ขอขอบคุณบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนยกระดับเศรษฐกิจในระดับชุมชนอย่างดียิ่งเสมอมา

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมถึงการประชุมโครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้โครงการทำมาค้าขาย ของโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐและโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2562 เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต กรณีศึกษาของโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ที่จะเป็นการพัฒนาต่อยอดกระบวนการและทักษะอาชีพสู่การมีงานทำ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 350 คน ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ผู้บริหารภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน ผู้อำนวยการโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 35 โรงเรียน ครู และนักเรียน

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับรัฐบาลในโครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งเน้นหลักการทำงานเชื่อมโยงกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยได้ร่วมเป็นคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) เพื่อพัฒนาด้านการเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประสานเชื่อมโยงกับคณะทำงานการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (E5) เพื่อให้การศึกษาเรียนรู้พร้อมทักษะอาชีพแก่เด็กเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นในการทำงานในโครงการต่างๆ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ประกอบด้วย 3 ห่วง (ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี) และ 2 เงื่อนไข(คุณธรรม ความรู้) รวมทั้งพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด นำมาเป็นหลักในการทำงานพัฒนาคุณภาพคนและยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนทั่วประเทศ ขับเคลื่อนโดยความร่วมมืออย่างบูรณาการของ “บวร” ได้แก่ บริษัท วิสาหกิจชุมชน รัฐ โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ นำกลไกพี่ช่วยน้องมาช่วยสนับสนุน พร้อมๆกับเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในโครงการกว่า 300 โครงการ ร่วมกับโรงเรียน 293 แห่ง และมหาวิทยาลัย 27 แห่งใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเน้นสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีวินัยทางการเงิน ความเข้าใจตลาด และมีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งด้านการทำมาค้าขาย การทำบัญชีครัวเรือน ตลอดจนแผนพัฒนาโรงเรียน นำไปสู่การทำแผนชุมชน เพื่อช่วยยกระดับการศึกษาและรายได้ของคนในชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ คาดหวังจะเห็นเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เติบโตเป็นกำลังสำคัญที่มีทักษะและพึ่งพาตนเองได้ มีสัมมนาชีพที่สามารถตอบแทนครอบครัว ชุมชน และอยู่ในสังคมที่มีความอบอุ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ที่สำคัญคือต้องการเห็นทายาทของผู้ประกอบการในท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ กลับบ้านเกิดเพื่อสืบสานกิจการ พร้อมนำอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจมาสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มและต่อยอดการพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์และยกระดับเศรษฐกิจในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการและผลงานนักเรียนจากการประกวด OTOP Junior ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีความน่าสนใจและโดดเด่นสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ อาทิ การแปรรูปปลาดุกร้าไร้สารพิษ โรงเรียนบ้านปูโป๊ะ จ.นราธิวาส, การเพ้นท์กระเป๋ากระจูด เบเกอรี่และเครื่องดื่มจากสับปะรด โรงเรียนวัดเทพนิมิตร จ.ภูเก็ต, เครื่องแกงเผ็ด โรงเรียนบ้านตลาดลำใหม่ จ.ยะลา, ลูกตาลลอยแก้ว โรงเรียนสามบ่อวิทยา จ.สงขลา, ลูกปัดศรีวิชัย โรงเรียนวัดเขาศรีวิชัย จ.สุราษฎร์ธานี, ข้าวสังข์หยด โรงเรียนวัดทุ่งแย้ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น

การปฏิรูป/ยุทธศาสตร์ชาติ : สรุป “โครงการทำมาค้าขาย” โรงเรียนสานพลังประชารัฐ-โรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้

People unity : post 14 มีนาคม 2562 เวลา 17.00 น.

เตรียมเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ หลักสูตรวิชาการทหาร

People Unity News : 1 กุมภาพันธ์ 2566 “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมสภาการศึกษาวิชาการทหาร ย้ำต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ด้าน กองทัพ เตรียม ปรับหลักสูตร รับการปฏิรูป เตรียมเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ และปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาประชุม สภาการศึกษาวิชาการทหาร ครั้งที่ 1/66 ณ ห้องประชุมภาณุรังษี ในศาลาว่าการกลาโหม

โดยที่ประชุม ได้พิจารณาและมีมติอนุมัติปริญญาระดับปริญาตรี และปริญญาระดับบัณฑิตศึกษา แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาทางทหาร และแต่งตั้งข้าราชการทหารให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ พร้อมทั้งรับทราบการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้าง กห. ด้านระบบงานการศึกษา ระยะที่ 2 ปี 66-70 ซึ่งให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม ในแผน 4 ด้าน ทั้งด้านหลักสูตร ด้านการพัฒนาจัดการเรียนการสอน ด้านบริหารจัดการ และด้านการพัฒนาบุคลากรการศึกษา

โดย พล.อ.คงชีพ ยังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร โดยให้มีการพิจารณาทบทวนหลักสูตร การเรียนการสอน การศึกษาทุกระดับในทุกหลักสูตร ให้สอดรับกับแผนปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้างกลาโหม รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงและบริบททางสังคมปัจจุบัน อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะดิจิทัลเสริมขีดความสามารถให้แก่กำลังพล พร้อมทั้งให้มีการประเมินตัวชี้วัดเป็นระยะ ทั้งนี้ให้ปรับปรุงข้อบังคับ ระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในคราวเดียวกัน เพื่อรองรับกับการปฏิรูปกองทัพ ตามยุทธศาสตร์ชาติ

Advertisement

พรุ่งนี้นายกฯลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ภาคอีสาน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

People unity news online : นายกรัฐมนตรีเตรียมลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ด้วยการศึกษาวิจัย พร้อมตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปราชการจังหวัดขอนแก่น ในวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560 เพื่อกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ “วิจัยและนวัตกรรม มข. เพื่อ Thailand 4.0” และเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วยการศึกษาวิจัย ตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” รวมทั้งเพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลในด้านการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ผ่านระบบสหกรณ์ของจังหวัดขอนแก่น และการพัฒนาการเกษตรด้านอื่นๆ อันจะนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต การยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกร โดยมีกำหนดการ ดังนี้

ช่วงเช้า ณ ศูนย์ประชุมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อน ไทยแลนด์ 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” จากนั้นจะเยี่ยมชมนิทรรศการ “วิจัยและนวัตกรรม มข. เพื่อ Thailand 4.0” ประกอบด้วย ด้านเกษตรและอาหาร ผลงานวิจัยด้านสุขภาพ ด้านวัสดุและพลังงานในอนาคต ผลการวิจัยด้านการศึกษา ผลงานวิจัยด้าน Bio economy ผลงานวิจัยด้านนวัตกรรม ICT การดำเนินโครงการ Smart City เป็นต้น

ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะเดินทางไปที่สหกรณ์โคนมขอนแก่นที่บ้านซำจาน ตำบลบ้านค้อ อำเภอเมืองขอนแก่น เพื่อติดตามผลงานของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีจะมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01) จำนวน 5 แปลง และมอบโรงรวบรวมผลิตน้ำนมดิบและโรงผสมอาหารสัตว์ให้กับสหกรณ์โคนม ขอนแก่น จำกัด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะมอบงบประมาณสนับสนุนโครงการธนาคารโคนมทดแทน พร้อมมอบเงินสนับสนุนโครงการยางพาราในหน่วยงานภาครัฐพื้นปูพื้นโรงเรือนโคนม จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะกล่าวปราศรัยพบปะกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการประกอบด้วย ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร ผลงาน Young Smart Farmer การบริหารจัดการน้ำ การ Zoning by Agri – map และการทำเกษตรแปลงใหญ่ ดูโครงการผักปลอดสารพิษ รวมทั้งชมการจัดตั้งบริษัทประชารัฐสามัคคีขอนแก่น เวลาประมาณ 16.10 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

People unity news online : post 20 มิถุนายน 2560 เวลา 13.16 น.

“ประวิตร” เปิดผลงานป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย พร้อมดันไทยสู่ “เทียร์ 2” ในปี 65

People Unity News : วันนี้ (11 พฤษภาคม 2565) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 รวมทั้งแถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน และให้เจ้าหน้าที่ได้นำแผนปฏิบัติการฯ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของแผนปฏิบัติการฯ และทำงานอย่างประสานสอดคล้องในทิศทางเดียวกันต่อไป โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย

รองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่ารัฐบาลตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญากรรมค้ามนุษย์ โดยประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 และกำหนดให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป และสร้างเครื่องมือเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของทุกภาคส่วนให้ประสานสอดคล้องกัน โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการในการพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ มาตรฐาน และวิธีปฏิบัติ คู่มือต่างๆ จากองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในวันนี้ รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดวิธีและขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนให้ผู้ปฏิบัติทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน และพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งมุ่งหวังและเชื่อมั่นว่าแผนปฏิบัติการฯฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับได้ใช้ปฏิบัติงานในเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยย้ำถึงการดำเนินงานปี 2564 จนถึงปัจจุบันว่า รัฐบาลขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามข้อเสนอแนะสำคัญ 15 ข้อ ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา โดยมีผลความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม อาทิ จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน และคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ จัดทำแนวทางกลไกการส่งต่อระดับชาติ กำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาไทย และภาษาที่ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้าใจได้ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ริเริ่มโครงการสำคัญ (Flagship Project) เพิ่มเติม เพื่อยกระดับมาตรฐานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ได้แก่ จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือ คุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายระดับชาติ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ออกมาตรการเชิงรุกป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลให้อาชญากรรมต่างๆลดลงทุกประเภทในช่วงปี 2563 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการในช่วงตุลาคม – ธันวาคม 2564 สามารถสืบสวนจับกุมคดีค้ามนุษย์ได้ถึง 188 คดี สูงกว่าปี 2563 โดยเฉพาะคดีทางสื่อออนไลน์ และได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ ได้แก่ การคัดแยกผู้เสียหาย การประชุมค่าสินไหมทดแทน การพิจารณาคดีของศาล เป็นต้น

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงานที่ทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยหากพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ได้กล่าวมา แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างชัดเจนของรัฐบาลในการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ดังนั้นประเทศไทยสมควรได้รับการเลื่อนระดับเข้าสู่ Tier 2 ในปีนี้

Advertisement

Verified by ExactMetrics