วันที่ 6 พฤษภาคม 2025

ตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลเท่าเทียม 7 ขั้นตอน

People Unity News : 19 เมษายน 2566 รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาระบบหลักประกันสุขภาพ ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล แนะคนไทยที่ยังไร้สิทธิ ตรวจสอบสิทธิอย่างเท่าเทียม ด้วย 7 ขั้นตอน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัญหา “คนไทยไร้สิทธิ” เป็นความเลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก  เพราะการไม่มีสิทธิสถานะทางทะเบียนทำให้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมืองที่บุคคลคนหนึ่งๆ ควรจะได้รับ โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรอย่างถูกต้อง เวลาเจ็บป่วยก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบรักษาได้ รัฐบาลมุ่งแก้ไขให้ปัญหา ให้ความสำคัญต่อระบบหลักประกันสุขภาพ ผลักดันการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยทุกคนจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับคนไทยที่ยังไร้สิทธิ์สามารถตรวจสอบสิทธิ์ เพื่อให้ได้สิทธิอย่างเท่าเทียม ด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ตรวจสอบสถานะทางทะเบียน  2. รวบรวมเอกสารทางทะเบียน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดา  สูติบัตร  ทะเบียนบ้านที่เคยมีชื่อ  ใบแจ้งการย้ายที่อยู่  เอกสารอื่นๆ ที่ราชการออกให้  กรณีที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ที่ใช้อ้างอิงก็สามารถยื่นคำร้องได้ 3. ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ฯ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือ สำนักทะเบียนท้องถิ่น (ที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ปัจจุบัน) 4. ตรวจสอบเอกสารส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น  5.เจ้าหน้าที่พิจารณาตรวจสอบหลักฐาน  สอบสวนพยานบุคคล

6.แจ้งผลฯให้ผู้ร้องทราบ และ 7. ถ้าไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้จะได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติเป็นบุคคลประเภท 0 (มาตรา 19/2)

“สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง 0-2791-7312-6 กรณีที่มีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แต่ติดทะเบียนบ้านกลางหรือถูกจำหน่ายรายการต้องการใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล โทร.สายด่วน สปสช. 1330 สำหรับบุคคลทะเบียนประวัติประเภท 0 มาตรา (19/2) สอบถามสิทธิรักษาพยาบาล ติดต่อ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ เบอร์ 02-590-1577 ในวันและเวลาราชการ” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

ประสานวัดเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์

People Unity News : 13 เมษายน 2566 “อนุชา” สั่งการสำนักพุทธประสานวัดเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวเข้าวัดหนาแน่นช่วงสงกรานต์ ขอประชาชนขับขี่ปลอดภัย เมาไม่ขับ ถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนเดินทางเข้าวัดทำบุญ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างคึกคัก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว ซึ่งถือเป็นประเพณีดีงามที่ชาวพุทธถือปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานาน ตนในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนา สั่งการให้มีการเตรียมความพร้อมรองรับประชาชน และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาทำบุญ ซึ่งคาดว่าปีนี้วัดจะเป็นสถานที่ที่พุทธศาสนิกชนจำนวนมากนิยมเดินทางภายหลังจากสถานการณ์แพร่พระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ผ่อนคลายลง ส่งผลให้การท่องเที่ยวทั่วประเทศกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวสายวัฒนธรรม โดยปีนี้หลายจังหวัดได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้เปิดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยปลอดเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์ จำนวน 40 แห่ง ในพื้นที่ 29 เขต ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ มีชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวร่วมเข้าวัดทำบุญ และเล่นน้ำสงกรานต์อย่างคึกคักหลังจากที่ไม่ได้จัดงานมาเป็นระยะเวลา 3 ปี จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

“เทศกาลสงกรานต์ เป็นวันหยุดยาว มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ขอให้ใช้เวลาวันหยุดพักผ่อนอยู่กับครอบครัว ร่วมเข้าวัดทำบุญ ทำกิจกรรมตามประเพณี ในช่วง 7 วันอันตรายนี้ รัฐบาลขอให้ประชาชนเคารพ ปฏิบัติตามกฎจราจร และมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนน ขอให้ประชาชนระลึกไว้เสมอว่า “เมาไม่ขับ” ในนามของรัฐบาลขออำนวยพรให้ทุกท่านเดินทางถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ และประสบแต่ความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

นายกฯ อวยพรสงกรานต์ ขอให้คิดดี ทำจิตใจบริสุทธิ์

People Unity News : 12 เมษายน 2566 นายกรัฐมนตรีพร้อมภริยา เปิดทำเนียบรัฐบาล ให้ ‘ครม.-ขรก.’ อวยพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ขอให้คิดสิ่งดีๆ สวดมนต์ทำจิตใจบริสุทธิ์ ไม่โกรธ ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่งดรดน้ำขอพรเหตุมือเจ็บ อย่าสนุกสนานจนเกินเลย และไม่ดื่มสุราแล้วขับรถ เห็นใจเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกจราจรช่วงวันหยุด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา สวมชุดผ้าไทย เป็นประธานงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566

โดยมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์  พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา  รมว.มหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์  รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  นายนริศ ขำนุรักษ์ รมว.มหาดไทย  พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม นายอนุชา นาคาศัย รมต. ประจำสำนักนายกฯ และนายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมในพิธีด้วย

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์  พร้อมถวายผ้าไตรพระสงฆ์ 10 รูป พร้อมสรงน้ำพระพุทธรูป  โดยในปีนี้ไม่ได้จัดพิธีให้รัฐมนตรี และข้าราชการรดน้ำขอพร  และไม่ได้แจกของที่ระลึกในโอกาสเทศกาลสงกรานต์  เนื่องจากอยู่ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง และมือนายกรัฐมนตรียังเจ็บอยู่และยังต้องปิดพลาสเตอร์กันน้ำ อยู่ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง

จากนั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวอวยพรในเทศกาลวันสงกรานต์ ว่า วันนี้ถือเป็น วันมงคลใกล้เริ่มต้นปีใหม่ของไทย คือ วันสงกรานต์ทุกคนมีความหวังความหวัง มีความปรารถนาให้ทุกวันดีขึ้น  ขอบคุณพวกเราทุกคน ในฐานะที่เป็นข้าราชการ และข้าราชการการเมืองขอให้ช่วยกันทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย ซึ่งได้วาดหวังอนาคตร่วมกันทำมาหลายปีแล้ว โดยทำก่อนที่ตนเองจะเข้ามาด้วยซ้ำ วันนี้ถือเป็นวันมงคลอีกครั้ง และวันนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี เราจะต้องทำอะไรให้สำเร็จไปเรื่อยๆ  โดยขอให้ข้าราชการทำเนียบรัฐบาลและทุกคนตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด และสมปรารถนาทุกประการ

ต่อมานายกรัฐมนตรีร่วมถ่ายภาพร่วมกับครม. และข้าราชการ พร้อมเดินทักทายทุกคนที่มาร่วมภายในงานอย่างอารมณ์ดี ก่อนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า นายกรัฐมนตรี ให้พรทุกวันอยู่แล้ว เราคุยกันทุกวัน และเราก็ไหว้พระขอพรทุกวัน  พรก็ถึงพวกเราทุกคน เราไหว้พระอธิษฐานทุกคืน อิสลามก็ได้ด้วย คนไทยอยู่ด้วยกันหลายศาสนา

เมื่อถามว่า ช่วงนี้นายกรัฐมนตรี อธิฐานขอพรอะไรเป็นพิเศษ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอพรพระ ให้บ้านเมืองสงบปลอดภัยนำไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ และยุติธรรม รวมถึงได้รัฐบาลที่ดี อย่างที่ทุกคนต้องการ ประเทศชาติจะได้ก้าวหน้า แต่ไม่ใช่ก้าวไปเดินหน้า 2 ก้าว ถอยหลัง 2 ก้าว มันก็ไม่ได้ไปไหน  เข้าใจหรือไม่ ฉะนั้นต้องไปคิดใคร่ครวญให้ดี วันนี้เป็นวัน สงกรานต์เราอย่าพูดถึงสิ่งที่ไม่ดี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 13 เม.ย.นี้ ทุกคนจะต้องเดินทางกลับบ้านไปพักผ่อน ขอให้เดินทางด้วยความปลอดภัย และกลับไปอย่างมีสติ อย่าสนุกสนานจนเกินเลย  ต้องกลับไปกราบคุณพ่อ คุณแม่ ปู่ ย่า ตาและยายก่อน แต่ขอให้ทุกคนปลอดภัยก็แล้วกัน การขับรถเราเตือนกันมาตลอด  การทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกคนในช่วงนี้เหน็ดเหนื่อย 4-5 วันไม่ได้พักต้องตั้งจุด ทหารที่อยู่ชายแดนก็ไม่ได้กลับบ้าน ไม่ว่าจะวันอะไรก็ตามคนพวกนี้เขาไม่ได้กลับบ้าน นี่คือความสำคัญของงานที่จะต้องมีทุกฝ่าย ทั้ง ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายพลเรือน ตำรวจและทหาร ต้องมีถึงจะอยู่กันได้คนในประเทศ จะขาดส่วนหนึ่งส่วนใด เป็นไปไม่ได้  ไม่นึกถึงทหารอยู่ชายแดนกี่หมื่นคน ที่ทำให้พวกเราข้างในอยู่กันได้แบบนี้  ไม่เช่นนั้นชายแดนจะมีปัญหากันเยอะมากกว่านี้

“ขอให้ทุกคนให้ความสำคัญกันด้วย จะรักใครชอบใครในทางการเมืองก็ว่ากันไปก็ดูว่าเราจะได้อะไรจะเสียอะไรในวันข้างหน้า ก็ไม่รู้ แต่ผมจะพยายามทำให้ดีที่สุดในนามของรัฐบาลชุดนี้   เราคุยกันอยู่ทุกวัน เพื่อนกันอยู่แล้ว (สื่อมวลชน)” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามต่อว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นายกรัฐมนตรีจะไปลงพื้นที่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เดี๋ยวต้องดูจังหวะและเวลาก่อนแต่ไปไหนก็วุ่นวาย โกลาหล อลหม่านกันไปหมด เดี๋ยวแอบๆ ไป แต่จะไปไหนไม่บอก”

เมื่อถามว่า วันเดียวกันนี้จะไปส่งประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมหรือไม่เหมือนเช่นทุกปีที่เคยทำ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไปก็ยุ่งวุ่นวาย เราไม่อยากให้คนเขาต้องมาวุ่นกังวลกับเรา  ถ้าเราเป็นคนธรรมดาก็อยากไป แต่ไปทีไรก็วุ่นทุกที ทั้งที่ไม่อยากจะกวนเขา แต่เขาก็ให้เกียรติเรา ก็เลยกลายเป็นวิธีการ แต่เราก็ส่งใจให้พวกเขาอยู่แล้วทุกวัน  ใจส่งถึงท่านอยู่แล้ว และสวดมนต์ให้เขา คิดดีปรารถนาดี

“ถ้าเราคิดถึงคนอื่นดีๆ จะไปไหนเสียประเทศชาติของเรา พรใดเลิศ พรใดประเสริฐ ทุกคนก็พร้อมจะรับอยู่แล้วและมีทั่วไปในอากาศก็มี  ถ้ามีศีลมั่นที่ดีก็รับพรทั้งหมด พระก็สวด คนทั้งโลกสวดมนต์กันเท่าไหร่กี่พันล้านคน ฉะนั้นพรอยู่บนท้องฟ้าเต็มไปหมด แล้วจะไม่รับพรทำให้จิตใจบริสุทธิ์หรือ เดินไปก็ภาวนาบ้างคิดสิ่งดีๆ พรก็จะมาหมดแต่ถ้าทะเลาะเบาะแว้งกัน มันก็ไม่ได้อะไรกลับมาสักอย่าง มันได้แต่ความโกรธ ไม่ดีหรอก” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า มือของนายกรัฐมนตรีหายดีแล้วใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี  กล่าวติดตลกว่า มือยังอยู่ พร้อมชูฝ่ามือด้านที่เป็นแผลว่า ดีขึ้นเยอะแล้ว เอาพลาสเตอร์ปิดกันเชื้อโรคไว้

“ขอบคุณที่เป็นห่วง ฝ่ามือ เป็นแผล เพราะผ่ายาว ขี้สงสัยถามทุกเรื่อง ทีหลังจัดเวรไปนอนบ้านฉันคนหนึ่ง แต่ต้องไปอยู่อีกตึกนึง เพราะพวกเธอเป็นผู้หญิง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ขอให้นึกถึงเจ้าหน้าที่และลูกเมียที่บ้าน อย่าเอาแต่สนุกสนานรื่นเริงอย่างเดียว ดื่มสุราเมาแล้วขับรถ  และนึกถึงเจ้าหน้าที่ที่เหนื่อยต้องมาดูแล ถ้าพวกเราดูแลตัวเองกันได้ก็จะเบาภาระ เขาจะได้มีความสุขและ มีเวลาพักผ่อนกับเขาบ้างไม่เช่นนั้นก็จะนัวเนียกันอยู่แบบนี้ทุกเรื่อง

Advertisement

“พล.อ.ประวิตร” เร่งอินเทอร์เน็ตชุมชนขยายบริการ รร.-รพ.

People Unity News : 7 เมษายน 2566 “พล.อ.ประวิตร” ประชุม กก.กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ดันอินเทอร์เน็ตชุมชน  24,654 แห่ง มุ่งขยายบริการหมู่บ้าน โรงเรียนและโรงพยาบาล ภายใน 3 ปี

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่านระบบ VTC  ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการและคณะทำงานภายใต้คำสั่งแต่งตั้งของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ  ระบบบริหารความเสี่ยง  ระบบบริหารจัดการสารสนเทศ และระบบบริหารทรัพยากรบุคคล

ที่ประชุมร่วมพิจารณาและเห็นชอบหลักการ การใช้จ่ายเงินตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560 และพิจารณาอนุมัติโครงการ ตามมาตรา 26 ( 3 ) ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  โดยอนุมัติโครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะและบำรุงรักษา โครงข่ายเน็ตชุมชนและส่วนต่อขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ ( WI-FI ) ประจำหมู่บ้านในพื้นที่ที่มีการใช้งานจริง จำนวน 24,654 แห่ง และขยายโครงข่ายต่อไปยังโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสุขศาลาพระราชทาน จำนวน 1,671 แห่ง มุ่งสนับสนุนชุมชนผู้มีรายได้น้อยและแออัดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และโครงการสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวะ ภายในปี 69

ที่ประชุมเห็นชอบการขอยินยอมขยายผลโครงการพัฒนากลไกการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของระดับความพร้อมอุตสาหกรรมตามแนวคิด Industry 4.0 เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโรงงานอุตสาหกรรม ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารทุนหมุนเวียน

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขอให้ร่วมพิจารณา มุ่งเตรียมความพร้อมสู่แนวโน้มเทคโนโลยีหลักและร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เร็วขึ้น โดยให้สามารถปรับเปลี่ยนทันเหตุการณ์และเปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ โครงการต่าง ๆ ขอให้พิจารณากลั่นกรองให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ที่มุ่งเสริมสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยีของชุมชนให้มากขึ้น เพื่อโอกาสและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในยุคดิจิทัลให้เร็วขึ้น

Advertisement

“พล.อ.ประวิตร” อนุมัติตั้งประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ สู้ภัยคุกคามทางไซเบอร์

People Unity News : 30 มีนาคม 2566 “พล.อ.ประวิตร” อนุมัติตั้ง”ประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ” ระดมความร่วมมือ ภาครัฐ-เอกชน-ต่างประเทศ  เน้นให้ความรู้/ลดเสี่ยงภัยคุกคาม  หนุน MOU ”อุ่นใจไซเบอร์” ให้ความเชื่อมั่น ปชช.

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 2/2566  โดยมี รมว.ดีอีเอส  เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยที่ประชุมได้รับทราบ รายงานเหตุการณ์ภัยคุกคาม และผลการดำเนินงานที่มีผลกระทบ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีสถิติการปฎิบัติงานรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ห้วง ต.ค.65 – ก.พ.66 จำนวน 694 เหตุการณ์ หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ได้แก่ หน่วยงานด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านการเงิน ตามลำดับ มีการปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่การแจ้งเตือนและให้คำแนะนำ จำนวน 615 ครั้ง การทดสอบความปลอดภัยระบบเครื่องแม่ข่ายและเว็บไซต์ จำนวน 56 หน่วยงาน การดำเนินงานด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่กระทบต่อประชาชนจำนวน 61 เหตุการณ์ และรับทราบรายงานผลการลงนามบันทึกความเข้าใจ ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และโครงการอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อ 17 ก.พ.66 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีกิจกรรมต่างๆ รองรับการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ การจัดตั้ง ”ประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ” เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรา 9(6) และ42 (4) พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 โดยต้องมีการประสานความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อปิดช่องว่าง ลดความเสี่ยงภัยไซเบอร์ และเห็นชอบ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจระหว่าง สกมช. กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 10 สถาบันการศึกษา รวมทั้งความร่วมมือด้านการส่งเสริมการพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล และการเรียนรู้ หน้าที่พลเมืองดิจิทัล สำหรับ ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วประเทศ ด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร ”อุ่นใจไซเบอร์”

พล.อ.ประวิตร  ยังได้กำชับ สกมช. ให้เฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ และช่วยเหลือหน่วยงานที่เกิดเหตุเพื่อจำกัดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งย้ำ ก.ดีอีเอส ให้กำกับ การดำเนินงาน ให้เป็นไปตามทิศทาง ของ กมช. เพื่อให้การพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ เกิดผลเป็นรูปธรรม และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนต่อไป

Advertisement

“อนุทิน” เผยคนเหนือเจอฝุ่นพิษเข้า รพ. 4,000 คน/สัปดาห์ ยัน รพ.-ยาเวชภัณฑ์ พร้อมรับมือ

People Unity News : 28 มีนาคม 2566 “อนุทิน” เผยคนเหนือเจอฝุ่นพิษเข้าโรงพยาบาล 4,000 คน/สัปดาห์ ยัน สธ.รับมือได้ รพ.-ยาเวชภัณฑ์พร้อม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง สถานการณ์ฝุ่น  PM 2.5 ที่เข้าขั้นวิกฤติในหลายพื้นที่ว่า เมื่อเช้า (28 มี.ค.) ได้คุยกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทราบว่าในพื้นที่ภาคเหนือได้รับการยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมเรื่องยาเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะยาขยายหลอดลม หน้ากากอนามัยที่ป้องกัน PM 2.5 โดยเฉพาะ ซึ่งจะสนับสนุนในพื้นที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งหากกรณีฉุกเฉินปลัดกระทรวงสาธารณสุขสามารถตัดสินใจได้ทันที

“ในส่วนของโรงพยาบาล มีความพร้อมเช่นกัน มีพื้นที่ปลอดฝุ่น โดยผู้ป่วยที่มีอาการจะมีห้องแยกโดยเฉพาะ ที่ติดตั้งเครื่องกรองอากาศมากเป็นพิเศษ ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้ป่วยที่มารักษายังโรงพยาบาลยังไม่มีมากนัก ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือมีผู้ป่วยประมาณ 4,000 รายต่อสัปดาห์ โรงพยาบาลยังสามารถใช้บริการได้โดยไม่มีปัญหา เรื่องทรัพยากร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลในส่วนของปลายเหตุให้ไม่มีปัญหามากขึ้น”

Advertisement

“อนุทิน” ยืนยัน สธ.พร้อมดูแลประชาชนหลัง PM 2.5 วิกฤติ

People Unity News : 27 มีนาคม 2566 “อนุทิน” ยืนยันกระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อม ยา เวชภัณฑ์ ดูแลโรคทางเดินหายใจ หลังฝุ่น PM 2.5 วิกฤติในหลายพื้นที่ แม้เป็นรัฐบาลรักษาการก็พร้อมทำงาน ย้ำเลี่ยงสั่งการ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาฝุ่นละออง PM.2.5 ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญดูแลปัญหา และดูแลปัญหามลพิษค่าฝุ่น  PM 2.5  ที่หลายฝ่ายวิจารณ์รัฐบาลไม่มีความเข้มแข็ง ทำให้เกิดการเผาในหลายจุดว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมในเรื่องของการรักษาพยาบาลดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ สั่งเวชภัณฑ์ดูแลเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ ได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว

เมื่อถามว่าจังหวัดเชียงรายขณะนี้ เป็นจังหวัดที่น่ากังวลสุดหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่าตอนนี้สภาพน่ากังวลทั่วประเทศ แต่เรื่องการรักษาพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมไว้อยู่แล้ว ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเต็มที่ เพราะในช่วงรัฐบาลรักษาการเราจะระวังเรื่องการสั่งการ  แต่จะคอยสนับสนุนการทำงานของข้าราชการ แต่หากเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต่อประชาชนก็จะพร้อมที่จะลงไปทำงานกับข้าราชการประจำอย่างเต็มที่

เมื่อถามว่าแต่ละพรรคมีนโยบายในการแก้ปัญหา PM 2.5 พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายในเรื่องนี้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยทำแล้ว  คือ ปรับมาใช้รถเมล์ไฟฟ้า EV ที่วิ่งอยู่ 1200 คัน ช่วยลดการปล่อยมลพิษได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งกำลังเร่งให้ออกมาบริการประชาชนในระบบขนส่งมวลชนประมาณอีกประมาณ 4-5 พันคัน ในระยะ 1  ปี ถึงปีครึ่งนี้  เพื่อทดแทนรถมีน้ำมันที่ใช้น้ำมันอยู่ นี่คือสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว

Advertisement

ข่าวดี รัฐบาลเปิดให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกู้ยืมเงินทุน ปลอดดอกเบี้ย

People Unity News : 26 มีนาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลโดยกองทุนผู้สูงอายุ พม. เดินหน้าช่วยเหลือผู้สูงอายุประกอบอาชีพ เปิดให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกู้ยืมเงินทุนรายบุคคล-รายกลุ่ม ปลอดดอกเบี้ย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย รัฐบาลโดยกองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เดินหน้าดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง เปิดให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ รายบุคคลวงเงินไม่เกินคนละ 30,000 บาท รายกลุ่ม 5 คนขึ้นไปวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุผ่านกองทุนผู้สูงอายุ เป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการผู้สูงอายุที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้นำเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยดังกล่าว มาเป็นเงินทุนหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ รวมถึงเป็นการหมุนเวียนสภาพคล่องทางการใช้จ่ายให้กับผู้สูงอายุ ทดแทนการเป็นหนี้นอกระบบ

นายอนุชากล่าวว่า กองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. ได้เปิดให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ รายบุคคล วงเงินไม่เกินคนละ 30,000 บาท รายกลุ่ม วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ผู้ร่วมกู้จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน จะต้องมีผู้ค้ำประกัน การกู้ยืมทุกประเภทต้องชำระคืนเป็นรายงวด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย สำหรับคุณสมบัติของผู้กู้มีดังนี้ มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีความจำเป็นขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมประกอบอาชีพ มีความสามารถในการประกอบอาชีพ มีสภาพร่างกายแข็งแรงประกอบอาชีพได้ มีปัจจัยในการสนับสนุนการประกอบอาชีพ มีสถานที่ประกอบอาชีพอยู่จังหวัดเดียวกันกับที่ยื่นขอกู้ยืม และไม่เป็นผู้ค้างชำระเงินกองทุนผู้สูงอายุ

ส่วนคุณสมบัติของผู้ค้ำประกัน คือ มีอายุไม่เกิน 59 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้มีรายได้หรือเงินเดือนประจำ มีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร์อยู่จังหวัดเดียวกันกับผู้กู้ยืม ไม่อยู่ระหว่างเป็นผู้กู้ยืม ไม่อยู่ระหว่างเป็นผู้ค้ำประกันให้กับบุคคลอื่นที่ขอกู้ยืม เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน (ผู้กู้-ผู้ค้ำ) ทะเบียนบ้าน (ผู้กู้-ผู้ค้ำ) หนังสือรับรองเงินเดือนผู้ค้ำประกัน ใบสำคัญการสมรส หรือใบสำคัญการหย่า (ถ้ามี) ใบมรณะบัตรกรณีคู่สมรสเสียชีวิต (ถ้ามี) ใบเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี) กรณีผู้ยื่นคำร้องมีอายุ 80 ปีขึ้นไป ควรมีใบรับรองแพทย์ และรูปถ่ายเต็มตัวขณะประกอบอาชีพ สามารถกู้ยืมเงินผ่านช่องทางออนไลน์เว็บไซต์กองทุนผู้สูงอายุผู้สูงอายุ olderfund.dop.go.th ผู้สูงอายุที่สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2354 6100 กองทุนผู้สูงอายุ (กรมกิจการผู้สูงอายุ) กรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัด ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทุกจังหวัด

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 มีผู้กู้ยืมเงินประกอบอาชีพที่ผ่านการอนุมัติ จำนวน 579 ราย และมีโครงการที่ขอรับการสนับสนุนผ่านการอนุมัติ จำนวน 8 โครงการ โดยกองทุนผู้สูงอายุจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีศักยภาพ ความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ชวนทุกคนร่วมมืออนุรักษ์-ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

People Unity News : 22 มีนาคม 2566 นายกฯ อ่านสารเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 ย้ำ “น้ำ” เป็นทรัพยากรสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เชิญชวนทุกคนร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ่านสารผ่านบันทึกวีดิทัศน์ เนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 ออกอากาศทางเพจไทยคู่ฟ้า Facebook และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย  ว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็นวันน้ำโลก เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกร่วมกันรณรงค์ให้เกิดการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นสำคัญในหัวข้อ “เร่งการเปลี่ยนแปลง” ด้วยการลงมือปฏิบัติเพื่อลดวิกฤติด้านน้ำและสุขาภิบาล โดยรณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันเป็นผู้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่อยากเห็นในโลกใบนี้

“ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ขับเคลื่อนภารกิจด้านทรัพยากรน้ำโดยคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านจากการวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานและองค์กร รวมทั้งสภาพปัจจุบันและแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ได้วางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบพลวัต โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ด้าน คือ การบริการน้ำอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม การสร้างความมั่นคงและเพิ่มผลิตภาพของน้ำ การลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติด้านน้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและคุณภาพน้ำ และการเสริมความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลนิเวศ วิถีทางสังคม เศรษฐกิจของพื้นที่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างสมดุลการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งนํ้าด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ในลักษณะลุ่มนํ้าอย่างเป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ด้าน คือ การบริการน้ำอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม การสร้างความมั่นคงและเพิ่มผลิตภาพของน้ำ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำของประเทศที่เป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนทุกพื้นที่ ร่วมกับภาคีหน่วยงานและองค์กร นักวิชาการและปราชญ์ท้องถิ่น ควบคู่กับการทำความเข้าใจและขยายเครือข่ายแนวร่วมภาคประชาชน และเดินหน้าไปพร้อมกับประเทศสมาชิกในการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจ เพื่อยืนยันความร่วมมือ เร่งการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วม ในการประชุมสหประชาชาติทบทวนการดำเนินงานด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ “น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดการประชุมระหว่างวันที่ 22 – 24 มีนาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เนื่องในโอกาส “วันน้ำโลก” ประจำปี 2566 ขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า รวมทั้งมีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน

Advertisement

ครม.รับทราบผลการร้องทุกข์ พบปัญหาเสียงดังรบกวน ไฟฟ้าขัดข้อง หวยแพง ติดอันดับ

People Unity News : 21 มีนาคม 2566 ครม.รับทราบการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนประจำไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2566 พบปัญหาเสียงดังรบกวน ไฟฟ้าขัดข้อง และหวยแพง ติดอันดับ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนประจำไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2566 ตามที่สำนักงานปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ ซึ่ง สปน. ได้ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนและการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ต่อไป

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่1 ของปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค.-31 ธ.ค. 65) ประชาชนได้ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 1111 รวม 14,439 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ  12,133 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 84.03 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานเกี่ยวข้อง 2,306 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 15.97 โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า พบว่าเรื่องร้องทุกข์ลดลง 1,039 เรื่อง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หน่วยได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมาก 5 อันดับแรก สำหรับส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,430 เรื่อง, กระทรวงคมนาคม 383 เรื่อง, กระทรวงการคลัง 302 เรื่อง, กระทรวงสาธารณสุข 285 เรื่อง และกระทรวงมหาดไทย 279 เรื่อง

รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 615 เรื่อง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 127 เรื่อง, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 124 เรื่อง การไฟฟ้านครหลวง 109 เรื่อง และการประปาส่วนภูมิภาค 70 เรื่อง ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 ลำดับแรกได้แก่ กรุงเทพมหานคร 767 เรื่อง จังหวัดนนทบุรี 237 เรื่อง สมุทรปราการ 212 เรื่อง ปทุมธานี 203 เรื่อง และชลบุรี 177 เรื่อง ตามลำดับ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อแยกตามเรื่องที่ประชาชนมีการยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่

1) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น การเปิดเพลงเสียงดัง เล่นดนตรีสดของร้านอาหาร สถานบันเทิง การจับกลุ่มสังสรร เสียงดังจากการแข่งรถจักรยานยนต์ รวม 1,576 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 1,487 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ  94.35

2) ไฟฟ้า เช่น แก้ไขปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง ไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น รวม 696 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 595 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 85.49

3) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เช่น ขอให้พิจารณาจัดสรรโควตา แจ้งเบาะแสการจำหน่ายเกินราคา ขอให้ตรวจสอบการกว้านซื้อสลากของเอกชนเจ้าของแพลตฟอร์มจำหน่ายสลากออนไลน์ รวม 644 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 623 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ  96.74

4) อุทุกภัย เช่น ขอความช่วยเหลือกรณีได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉบับพลัน การระบายน้ำจากที่น้ำท่วม เงินเยียวยา เป็นต้น รวม 556 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ  512 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 93.71

5) โทรศัพท์ เช่น การให้บริการผ่านโทรศัพท์ของหน่วยงานรัฐ เช่น รอสายนาน คู่สายเต็ม รวม 543 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 474 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 87.29

6) ยาเสพติด เช่น แจ้งเบาะแสการจำหน่าย 490 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 452 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 92.24

7) การเมือง เช่น แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่อยู่ในกระแสสังคม รวม 487 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 479 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 98.36

8) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน ตรวจสอบเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน รวม 473 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 314 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 66.38

9) ถนน เช่น ขอให้ซ่อมแซมถนนที่เป็นหลุมบ่อจากสาเหตุต่างๆ รวม 473 เรื่อง แก้ไขจนได้ข้อยุติ 319 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 82.66

10) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย  ชื่อเสียง และเสรีภาพ เช่น ขอความช่วยเหลือจากการถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย รวม 320 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 281 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 87.81

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สปน. ได้ประมวลปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์พบว่าประชาชนมีความคาดหวังต่อการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว จึงขอความร่วมมือทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการกำหนดระยะเวลาแก้ไขปัญหาตลอดจนการตอบความคืบหน้าต่อผู้ร้องทุกข์  ขณะเดียวกันประเด็นการร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องซ้ำๆ เช่น เสียงดังรบกวน การแข่งจักรยานยนต์ ร้านอาหารเสียงดัง แต่หน่วยงานยังไม่มีมาตรการรับมือ ไม่มีแผนเผชิญเหตุ หรือมีแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนี้ จึงได้ขอให้หน่วยงานมีการเน้นการทำงานเชิงรุก วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ เฝ้าระวังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิม มีการจัดทำแนวทาง มาตรการและแผนเผชิญเหตุรองรับการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบ ตลอดจนมีการบูรณาการฐานข้อมูลและการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป ทางด้านสถานการณ์โควิด19 ที่คลี่คลายแม้จะทำให้เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโรคระบาดลดลงแล้ว แต่ยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหลายประเทศได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หน่วยงานต่างๆ ยังต้องร่วมกันมีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวด ขณะเดียวกันประชาชนได้ขอให้หน่วยงานรัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เข้มงวด ได้แก่ ปัญหายาเสพติด ที่มีการแพร่ระบาดหลายพื้นที่ เข้าถึงเยาวชนมากขึ้น รวมถึงปัญหามิจฉาชีพที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบกลวิธีต่างๆ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่องดำเนินการเพื่อให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขต่อไป

Advertisement

Verified by ExactMetrics