วันที่ 18 พฤษภาคม 2024

ไทยสนับสนุนการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการ SDG Stimulus

People Unity News : 20 กันยายน 2566 สหรัฐฯ – ไทยประกาศความมุ่งมั่นการขับเคลื่อน SDGs พร้อมเสริมสร้างกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศให้เข้มแข็ง

เมื่อเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ของวันที่ 19 กันยายน ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023)

นายกรัฐมนตรี รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2023 ซึ่งถือเป็นการกล่าวถ้อยแถลงครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีที่องค์การสหประชาชาติ รัฐบาลยังคงเน้นย้ำเจตนารมณ์ในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

ทั้งนี้ ความร่วมมือของทุกประเทศในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ ได้เผชิญกับความท้าทายร่วมกันมาถึงในช่วงครึ่งทางของวาระดังกล่าว และในทศวรรษนี้ ซึ่งสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการจัดสรรแหล่งทรัพยากรและเงินทุน การลดช่องว่างทางการเงิน รวมถึงสรรหานวัตกรรมเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศสามารถรับมือกับความท้าทาย และการร่วมกันขับเคลื่อน SDGs ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030 ซึ่งสำหรับการดำเนินการของไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจของไทย โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030

นายกรัฐมนตรี มองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้

1.ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี ค.ศ. 2027

2.ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ เช่น การตั้งเป้าหมายที่จะให้ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนที่ยากจนหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ต้องมีจำนวนลดลงไม่เกินร้อยละ 0.25 ภายในปี ค.ศ 2027

3.ไทยประกาศความมุ่งมั่นที่จะผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับ ในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030

นายกรัฐมนตรีหวังว่า การประกาศความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องดังกล่าวจะสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อประชาชนและโลกที่ดีขึ้นต่อไป

Advertisement

“เตีย บันห์” หวานใส่ “บิ๊กตู่” ระบุสัมพันธ์ไทย-กัมพูชายุคนี้ใกล้ชิดกันมากที่สุด

People unity news online : วันนี้ (21 มีนาคม 2561) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สมเด็จพิชัยเสนา เตีย บันห์ (Somdech Pichey Sena Tea Banh ) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee – GBC) ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 19 – 21 มีนาคม 2561 โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้พบกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาอีกครั้ง หลังจากที่เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (JCR) ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 3 และกล่าวว่ารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชานับเป็นเพื่อนคนสำคัญและรู้จักกันมาอย่างยาวนาน พร้อมชื่นชมกับบทบาทของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและกัมพูชา ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือระหว่างกันมีความใกล้ชิดแน่นแฟ้น

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชากล่าวอวยพรวันเกิดนายกรัฐมนตรี ขอให้นายกรัฐมนตรีมีสุขภาพแข็งแรงและประสบความสำเร็จในภารกิจทุกประการ สำหรับการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 13 เป็นไปด้วยความราบรื่นและประสบผลสำเร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศนับว่าเป็นช่วงที่ไทยและกัมพูชาใกล้ชิดกันมากที่สุด ความร่วมมือระหว่างกันมีประสิทธิภาพและสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน

นอกจากนี้ ได้มีการหารือถึงความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง ซึ่งปัจจุบันสถิติการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชาลดน้อยลง แต่ยังคงพบว่ามีการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชาอยู่ ทั้งสองประเทศจึงควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการสกัดกั้นการลักลอบกระทำผิด นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะติดตามบุคคลที่กระทำกฎหมายและหลบหนีคดีเข้าไปอยู่ในทั้งสองประเทศ เพื่อไม่ให้กลุ่มบุคคลใดใช้ประเทศไทยและกัมพูชาเป็นฐานในการก่อความไม่สงบและทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน

ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันว่า แม้ไทยและกัมพูชายังมีพื้นที่บริเวณชายแดนที่ทับซ้อนและยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทั้งสองประเทศควรร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสค้าขายระหว่างกันอย่างสะดวก ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้มีความสงบสุขและมั่นคง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายหวังว่าความเชื่อมโยงด้วยเส้นทางรถไฟในอนาคต จะทำให้ทั้งสองประเทศมีการติดต่ออย่างสะดวกและเพิ่มมูลค่าการค้าขายระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งสองฝ่ายยังแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ ทั้งทางด้านความมั่นคง การค้าและการลงทุน รวมถึงยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องสินค้าเกษตรระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องว่า ไทยและกัมพูชาควรจะดำรงความสัมพันธ์อันดี เพื่อมุ่งสร้างผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในทุกระดับ ทั้งระดับรัฐบาลและประชาชน

People unity news online : post 21 มีนาคม 2561 เวลา 19.20 น.

ลาวตอบรับแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจร่วมสองประเทศ 5 ปีที่ไทยเสนอ

People unity news online : นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม คมนาคม พลังงาน ท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการค้าชายแดน การเงิน การลงทุน และท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชน 3 สถาบัน คณะนักธุรกิจรายใหญ่กว่า 30 ราย  และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร่วมเดินทางเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤษภาคม 2560

โอกาสนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของไทย ได้หารือเต็มคณะเพื่อกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับ นายสมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป.ลาว พร้อมกับทีมเศรษฐกิจ สปป.ลาว โดยประกาศสนับสนุนการก้าวไปสู่การเป็น Battery of Asia ของ สปป.ลาว และเป็น Land Bridge เชื่อมโยงภายในอาเซียน และอาเซียนสู่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ขณะที่ฝ่ายไทยพร้อมใช้ศักยภาพสนับสนุนความร่วมมือด้านพลังงาน คมนาคม โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว เกษตร อุตสาหกรรม และการพัฒนา SMEs ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับถึงนโยบายสำคัญในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือกลุ่มสมาชิก CLMVT เพื่อยกระดับการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ซึ่งในเวทีการประชุมทีมเศรษฐกิจระหว่าง สปป.ลาวและไทยในครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีไทยได้เสนอแนวทางจัดทำมาสเตอร์แพลนหรือแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสองประเทศระยะ 5 ปี เพื่อให้เกิดการพัฒนา สร้างโอกาส นำไปสู่การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกด้าน ทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ทั้งนี้มั่นใจว่าแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระยะ 5 ปี จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือครั้งสำคัญ เอื้อประโยชน์ให้ CLMVT และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว ขึ้นอีกเท่าตัวหรือประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะ 5 ปีด้วย

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้นำคณะเข้าเยี่ยมคารวะ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว โดยได้กล่าวถึงแนวคิดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย -สปป.ลาว ระยะ 5 ปี ที่ได้เสนอต่อที่ประชุมทีมเศรษฐกิจสองฝ่าย  ซึ่งนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว  กล่าวเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนความร่วมมือกับไทยจัดทำยุทธศาสตร์การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวดังกล่าว

สำหรับแผนการขับเคลื่อนได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับกระทรวงวางแผนการและการลงทุนของ สปป.ลาว เมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว จะเสนอ Master Plan ต่อการประชุม ครม.ไทย-สปป.ลาว เพื่อพิจารณาในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ ไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ สปป.ลาว ที่มีความใกล้ชิดกันแบบมิตรสหายที่แน่นแฟ้น ตลอดจนภูมิประเทศ ที่มีความยาวของเส้นเขตแดนประมาณ 1,810 กิโลเมตร มีพื้นที่ติดต่อกับไทย 12 จังหวัด มีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภาษาพูดที่คล้ายคลึงกัน สามารถเข้าใจกันได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องใช้ล่ามแปล ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับไทยและ สปป.ลาว ในการต่อยอดความร่วมมือกันในทุกมิติ

People unity news online : post 27 พฤษภาคม 2560 เวลา 23.23 น.

 

“ปานปรีย์” เผย นายกฯ เยือนกัมพูชา 28 ก.ย.นี้ ก่อนเยือนซาอุฯ

People Unity News : 26 กันยายน 2566 ทำเนียบ – “ปานปรีย์” เผย นายกฯ เยือนกัมพูชา 28 ก.ย.นี้ ชี้เป็นอาเซียนประเทศแรก ก่อนเยือนซาอุฯ สานต่อความสัมพันธ์

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเดินทางเยือนประเทศกัมพูชา เป็นประเทศแรกในอาเซียน ในวันที่ 28 กันยายนนี้ หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับประเทศไทย และจะพยายามเดินทางไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนให้ได้มากที่สุด ตามธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อแนะนำตัวและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สำหรับการเดินทางเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียของนายกรัฐมนตรีนั้น  นายปานปรีย์ กล่าวว่า ด้วยความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน แม้จะหยุดชะงักชั่วระยะหนึ่ง แต่ขณะนี้กลับมาดำรงความสัมพันธ์แล้ว  ซึ่งระหว่างเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ที่สหรัฐอเมริกา ได้มีโอกาสหารือทวิภาคี กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดิอาระเบีย  ได้รับการตอบรับอย่างดี แต่การเยือนของนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน  แต่นักลงทุนของซาอุดิอาระเบีย สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งไทยต้องเตรียมการอย่างดี

ส่วนเรื่องการลงสมัครสมาชิก Human Rights Council (HRC) ของไทย นายปานปรีย์ กล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นหนึ่งในเสาหลักของสหประชาชาติ โดยไทยเคยดำรงตำแหน่งประธาน HRC มาแล้ว เมื่อปี ค.ศ. 2012 ส่วนในวาระปี ค.ศ.2025-2027 ไทยยืนยันความประสงค์ ที่จะกลับเข้าเป็นสมาชิกอีกรอบ

Advertisement

ข่าวดี ซาอุดีอาระเบียยกเลิกข้อห้ามคนซาอุดีฯเดินทางเข้าไทย และอนุญาตคนไทยเข้าซาอุดีฯได้

People Unity News : ประยุทธ์ ปลื้มข่าวดี ซาอุดีอาระเบียยกเลิกข้อห้ามคนซาอุดีฯเดินทางเข้าไทย และอนุญาตคนไทยเข้าซาอุดีฯได้

วันนี้ (16 มีนาคม 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบข่าวที่น่ายินดีว่า รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศยกเลิกการห้ามบุคคลสัญชาติซาอุดีฯ เดินทางเข้าไทย ซึ่งเป็นข้อห้ามที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี รวมทั้งอนุญาตให้บุคคลสัญชาติไทยเดินทางเข้าซาอุดีฯได้

โฆษกรัฐบาล เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวซาอุดีฯได้แน่นอน โดย ททท. ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ ให้มาเที่ยวไทย 200,000 คน โดยเน้นกลุ่มครอบครัว คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน กลุ่มคนรักสุขภาพ และกลุ่มคู่รักฮันนีมูน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เป็นกลุ่มที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าหลายๆชาติ และเป็นกลุ่มที่ยังไม่เคยเดินทางมาไทย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งข่าวที่น่ายินดี ทางการซาอุดีฯ พิจารณายกเลิกห้ามนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากประเทศไทย ซึ่งไทยถูกระงับและห้ามการนำเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยมีสถานประกอบการส่งออกของไทยที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนกว่า 11 แห่ง ถือเป็นข่าวดีด้านการส่งออกปศุสัตว์ไทย โดยเฉพาะในการเสริมสร้างบทบาทของไทยในฐานะครัวโลก เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากซาอุดีฯ ถือเป็นประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์แปรรูปรายใหญ่ของโลก ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบีย มีการนำเข้าไก่ปีละ 5.9 แสนตัน ถือเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ

ข่าวที่น่ายินดีทั้งสองข่าวดังกล่าว เป็นผลมาจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ที่เป็นไปตามลำดับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ภายหลังนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

นายธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าผลจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศทั้งสองมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะต่างเป็นสองประเทศที่มีศักยภาพ สามารถผูกสัมพันธ์ เชื่อมโยงเป็นผลทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกัน โดยนายกฯยังได้เน้นย้ำ และสั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน และนำเอาความสำเร็จจากการสานสัมพันธ์ในครั้งนี้ แปลงไปสู่นโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้โดยเร็ว

Advertising

ไทย-รัสเซียทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

People Unity News : 15 มีนาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.วานนี้อนุมัติให้ลงนามร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทย-รัสเซีย ต้องเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี ถึงจะส่งตัวได้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (14 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติลงนามร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการดำเนินการให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการปราบปรามอาชญากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระและหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดนคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้จัดทำกับประเทศต่าง ๆ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551

“สำหรับข้อกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อาทิ 1.ความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ ต้องเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ (Double Criminality) และเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี 2.ผู้ประสานงานกลางของฝ่ายไทยตามสนธิสัญญานี้ คือ อัยการสูงสุด และฝ่ายสหพันธรัฐรัสเซีย คือ สำนักงานอัยการสูงสุด 3.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ ไม่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลซึ่งกระทำความผิดทางการเมืองและความผิดทางทหาร ทั้งนี้ ความผิดต่อประมุขของรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว และการกระทำหรือการละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดอาญาตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาพหุภาคีที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคี ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 4.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อมีเหตุต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายของภาคีแต่ละฝ่าย อาทิ ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางทหาร ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับอายุความ 5.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ สามารถปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อภาคีที่ได้รับการร้องขอมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทบต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือภาคีที่ได้รับการร้องขอกำลังดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวในความผิดนั้นอยู่ 6.สนธิสัญญานี้ไม่กำหนดให้คู่ภาคีมีพันธกรณีใด ๆ ที่จะต้องส่งคนชาติของคนข้ามแดน อย่างไรก็ดี กรณีที่มีการปฏิเสธการส่งคนชาติข้ามแดน ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องเสนอคดีนั้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องคดีต่อไป เว้นแต่ว่าภาคีที่ได้รับการร้องขอไม่มีอำนาจเหนือความผิดนั้น ก็จะไม่ต้องเสนอคดีนั้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อฟ้องคดี

“7.กรณีเร่งด่วน ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถร้องขอให้มีการจับกุมตัวชั่วคราว (Provisional Arrest) บุคคลที่ต้องการ เพื่อให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปได้ 8.ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการแบบย่อ (Simplified procedure) ในกรณีที่บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวยินยอมต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือศาลแห่งภาคีที่ได้รับการร้องขอ 9.กรณีที่ได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้ร้องขอตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป ให้ภาคีที่ได้รับการร้องขอพิจารณาว่าจะส่งบุคคลนั้นข้ามแดนให้แก่ประเทศใด โดยนำเหตุผลดังต่อไปนี้มาพิจารณาทั้งหมด 1)ประเทศผู้ร้องขอมีหรือไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย 2)สัญชาติของบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว 3)เวลาและสถานที่กระทำความผิด 4)ความร้ายแรงของความผิด 5) ลำดับคำร้องขอที่ได้รับจากประเทศผู้ร้องขอ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 10.กำหนดหลักการว่าบุคคลที่ถูกส่งตัวไป จะไม่ถูกลงโทษในความผิดอื่น นอกเหนือจากในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 11.กำหนดขั้นตอนการวินิจฉัยคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการส่งมอบตัวบุคคลในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 12.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนกระทั่งถึงเวลาส่งมอบตัว

“ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและการดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากร่างสนธิสัญญาไม่ได้มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

“บิ๊กตู่” กล่าวต่อที่ประชุม UN มุ่งการพัฒนายั่งยืนผ่านระบบสาธารณสุข โมเดลเศรษฐกิจ BCG และ Digital

People Unity News : ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงผ่านกิจกรรม SDG Moment มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านระบบสาธารณสุข โมเดลเศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาด้าน Digital ในการประชุม UNGA สมัยที่ 76

20 กันยายน 2564 เวลา 21.41 น. (ซึ่งตรงกับเวลา 10.41 น. ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงในกิจกรรม “Sustainable Development Goals (SDG Moment)” ครั้งที่ 2 ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 76 (76th Session of the United Nations General Assembly: UNGA76) ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่มีส่วนร่วมในกิจกรรม SDG Moment รัฐบาลไทยร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อดำเนินนโยบายและใช้งบประมาณให้ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศและนำไปสู่การบรรลุ SDGs ตลอดจนได้นำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติ โดยสมัครใจ (VNR: Voluntary National Review) ต่อสหประชาชาติ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีระบุถึงหมุดหมายที่สำคัญ 3 ประการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ดังนี้

1.ส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนทุกช่วงอายุ โควิด-19 ได้ตอกย้ำความสำคัญของการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณสำหรับการประกันสุขภาพ ยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการบริการสาธารณสุขอย่างพอเพียง เร่งด่วน  เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองในยามวิกฤตได้

2.สร้าง “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” ผ่านการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานทดแทน และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นหนึ่งในฐานการผลิตขนาดใหญ่ของโลก ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการผลิตรถไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ไทยทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030

3.ขจัดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาด้าน digital literacy เพื่อปลดล็อคศักยภาพให้แก่ประชาชนในประเทศ ใช้ประโยชน์จากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP ที่เกิดจาก Big Data เพื่อตอบโจทย์ความท้าทาย รวมถึงปัญหาความยากจนอื่นๆต่อไป

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

อนึ่ง กิจกรรม SDG Moment จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2563 ในรูปแบบการอภิปรายทั่วไปตามข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่ต้องการย้ำความสำคัญและสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ภายในปี ค.ศ.2030 เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีไทยเป็นโอกาสประชาสัมพันธ์แผนการขับเคลื่อน SDGs ของไทย โดยเฉพาะการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นมาตรการฟื้นฟูจากโควิด – 19 ที่สร้างสมดุล

Advertising

รัฐบาลยันแก้ปัญหา IUU ถูกทางแล้ว แนะ “ธนาธร” ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง

People Unity : รัฐบาลยืนยันแก้ไขปัญหา IUU ถูกทางแล้ว แนะ หน.พรรคอนาคตใหม่ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2562 พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเสวนารับฟังปัญหาชาวประมงที่ตลาดมหาชัยมั่นคง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยมีการกล่าวโจมตีว่านโยบายการแก้ไขปัญหา IUU หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ของรัฐบาล ทำให้ชาวประมงเดือดร้อนและสูญเสียรายได้ ว่า “ขอตั้งข้อสังเกตว่า จากภาพและคลิปที่เจ้าหน้าที่รวบรวมมาพบว่ากลุ่มคนที่มาให้ข้อมูลกับนายธนาธรนั้นส่วนใหญ่เข้าข่ายทำผิดกฎหมาย บางคนถูกศาลสั่งลงโทษปรับกว่า 500 ล้านบาท หลายคนถูกสั่งยึดเรือเพราะไปทำความผิดในน่านน้ำสากล ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาการค้ามนุษย์ ฟอกปลา ขโมยปลา ดังนั้นจึงเป็นการรับฟังข้อมูลด้านเดียว และดูเหมือนจะจงใจลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ตามที่นายธนาธรเคยพูดไว้ว่าจะทำงานนอกสภา แต่กลับฟังข้อมูลไม่ครบถ้วน”

รองโฆษกฯ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้วและยืนยันว่า หากรัฐบาลไม่แก้ไขปัญหา IUU อย่างจริงจัง ประเทศไทยจะเจอวิกฤตด้านการประมงอย่างใหญ่หลวง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงใครจะรับผิดชอบ ในทางตรงกันข้าม ปี 2561 เราจับปลาได้เพิ่มขึ้นถึง 2 แสนตัน ในจำนวนนี้ปลาที่ชาวประมงพื้นบ้านรายย่อยจับได้มีถึง 15,000 ตัน ส่วนเรือประมงพาณิชย์ ได้เพิ่มวันจับปลาให้กว่า 100 วัน สะท้อนว่าจำนวนสัตว์น้ำของไทยเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ ไม่มีปัญหาเรื่องเรือเถื่อน ชาวประมงมีโอกาสทางอาชีพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะพี่น้องขาวประมงที่ทำถูกกฎหมาย ทำให้อันดับการค้ามนุษย์ของไทยเลื่อนจากเทียร์ 3 มาเป็นเทียร์ 2 แล้ว ดังนั้น การออกมาคัดค้านต่อต้านของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาหรืออยากให้แก้ไขกฎหมายเพื่อกลับไปทำผิดเหมือนเดิมนั้น เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ขึ้นอีกหรือไม่ จึงอยากให้สังคมตรึกตรองในเรื่องนี้

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รัฐบาลยันแก้ปัญหา IUU ถูกทางแล้ว แนะ “ธนาธร” ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง

People Unity : post 4 มิถุนายน 2562 เวลา 10.30 น.

จีนเปิดด่านรถไฟผิงเสียง นำเข้าทุเรียน ลำไย ผลไม้ไทย 4 มกราคมนี้

People Unity News : จีนเปิดด่านรถไฟผิงเสียง นำเข้าทุเรียน ลำไย ผลไม้ไทย 4 มกราคมนี้

2 ม.ค. 65 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า จากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เข้มงวดของด่านนำเข้าจีน ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ตนได้สั่งการทูตเกษตรเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและตนได้หารือเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทย

ล่าสุดได้รับรายงานจากกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ของไทยประจำนครกว่างโจว ว่า ด่านรถไฟผิงเสียง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) ประเทศจีนได้เปิดด่านแล้ว โดยกำหนดเปิดนำเข้าผลไม้ไทยตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2565 เพื่อคลี่คลายปัญหากรณีด่านตงซิง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน) ปิดด่าน ทําให้ทุเรียนและลําไยสดของประเทศไทยที่มีปริมาณมากต้องติดค้างอยู่ที่ด่านตงซิงซึ่งไม่สามารถยื่นคําร้องขอผ่านพิธีการศุลกากรเข้าประเทศจีนได้ ทางการจีนจึงประสานเป็นหนังสือขอความอนุเคราะห์ฝ่ายเกษตรฯกว่างโจวแจ้งมายังหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อํานวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการผลไม้ทําการเปลี่ยนแปลงใบรับรองสุขอนามัยพืชในช่วงวันที่ 1 – 3 มกราคม 2565 สินค้าผลไม้ไทยจะได้ยื่นคําร้องขอผ่านพิธีการศุลกากรผ่านด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อขนส่งเข้าประเทศจีนได้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ กล่าวว่า ผู้ส่งออกต้องรีบยื่นขอเปลี่ยนแปลงใบรับรองสุขอนามัยพืชจากด่านตงชิงเป็นด่านรถไฟผิงเสียงและต้องระมัดระวังอย่าให้มีการปนเปื้อนโควิด-19 ทั้งคนขับ รถและสินค้า เพราะถ้าพบทางการจีนจะปิดด่านทันที จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ช่วยกันเข้มงวดกวดขันอย่างเต็มที่

Advertising

ไทยพร้อมประสาน-ส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดสันติภาพในเมียนมา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 เมษายน 2567 ทำเนียบ – นายกฯ โพสต์หารือฝ่ายความมั่นคง-กต. ถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ระบุไทยพร้อมประสานและส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดสันติภาพในเมียนมาโดยเร็วที่สุด พร้อมตั้งคณะทำงานดูในทุกมิติ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ถึงการหารือสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา กับฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงการต่างประเทศ ข้อความว่า

“สถานการณ์ในเมียนมา มีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก การทำงานด้านนโยบายเมียนมา ก็เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของเมียนมา เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ

การประชุมด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีชายแดนเมียนมาเช้านี้ คือประเทศไทยพร้อมประสานและส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบ และพร้อมดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในด้านต่าง ๆ รวมถึงการค้าชายแดน

และเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีการตั้งคณะทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบหลัก โดยมีเลขาธิการสำนักงานความมั่นคงทำงานร่วมด้วย เพื่อสนับสนุนการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งประเด็นการเมือง สังคม และเศรษฐกิจครับ”

Advertisement

Verified by ExactMetrics