วันที่ 20 เมษายน 2024

กองทัพบกระดมสมองนักวิชาการ “การอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรง”

People Unity News : 21 มิ.ย. 65 ผบ.ทบ.ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นการบรรยายวิชาการหัวข้อ “การอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรง” ผบ.ทบ. แนะใช้การพูดคุย ลดความขัดแย้ง อยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธีในสังคมที่แตกต่าง

กองทัพบกจัดบรรยายวิชาการ ในหัวข้อ “การอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรง” สะท้อนมุมมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการ โดยมีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสันติวิธีมาเป็นวิทยากรบรรยาย ได้แก่ นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า นางผกาวดี สุพรรณจินตวนา ประธานศูนย์การศึกษาสิทธิมนุษยชนความขัดแย้งและสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ พล.ต.ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาและวิทยาการด้านความมั่นคง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยมี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยผู้บัญชาการระดับสูงของกองทัพ ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยบรรยายครั้งนี้ ได้ผ่านระบบ Zoom Meeting ไปยังหน่วยทหารทั่วประเทศ

การจัดบรรยายวิชาการครั้งนี้เป็นหนึ่งในนโยบายของกองทัพบก สืบเนื่องมาจากในปัจจุบันหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาค ส่งผลต่อความมั่นคงของประชาคมโลกและประเทศไทย ปัจจัยหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งหรือการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน กองทัพบกจึงมีนโยบายให้ความรู้และแสวงหาข้อมูล เพื่อนำไปเป็นข้อพิจารณาและเป็นแนวทางปฏิบัติงาน รวมถึงเตรียมการด้านความมั่นคงเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลต่อสังคมไทยในอนาคต โดยวิทยากรได้นำเสนอแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธี อาทิ การสร้างสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หลักการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยสันติวิธี การเลือกใช้เครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง แม้มีความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม พื้นฐานทางสังคม แนวคิด ความเชื่อ ก็สามารถมุ่งสู่สันติภาพได้โดยไม่มีความรุนแรง เป็นต้น

ผู้บัญชาการทหารบกร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยระบุว่า การอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธีบนความคิดเห็นที่แตกต่าง ใช้การพูดคุยในระดับที่เหมาะสมจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคม กองทัพบกตั้งใจอยากให้สังคมไม่มีความขัดแย้ง จึงเปิดรับฟังข้อมูลและแสวงหาวิธีการที่จะทำให้สังคมมีความสงบสุข และพร้อมที่จะเชิญนักวิชาการผู้มีประสบการณ์มาเติมข้อมูลความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

นายกฯขอให้ประชาชนช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน”

People unity news online : นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนช่วยกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” ระบุรัฐบาลต้องการให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2561) เวลา 13.40 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลได้เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าต้องการอะไร มีความเดือดร้อนอย่างไรบ้าง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลในการจัดทำฐานข้อมูล Big Data ของรัฐบาล จึงขอให้ประชาชนช่วยกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ โดยรัฐบาลจะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อไป

สำหรับการลงพื้นที่ตามโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” จะมีการลงพื้นที่เพื่อดูความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสร้างความเข้าใจ เน้นสร้างการรับรู้ รับทราบปัญหา รวมถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่โดยตรง รวมทั้งนำข้อมูลที่รัฐบาลดำเนินการตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาไปแนะนำเพื่อให้พื้นที่เกิดความเข้มแข็งตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยการดำเนินโครงการต้องมีความโปร่งใสในการจัดทำงบประมาณ รับฟังมติของคนส่วนใหญ่ผ่านการทำประชาคม หากพบมีการทุจริตโดยเฉพาะจากส่วนราชการต้องลงโทษ ขอให้ประชาชนช่วยกันรักษาสิทธิ์ ช่วยกันตรวจสอบ ซึ่งรัฐบาลจะไม่ยอมให้ส่วนราชการเข้าไปมีผลประโยชน์จากโครงการนี้โดยเด็ดขาด และขอให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเพื่อเป็นการทำความดีร่วมกัน เพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

People unity news online : post 20 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 18.00 น.

เผยเกณฑ์ทหารปีนี้ยอดสมัครใจกว่า 3.5 หมื่นคน

People Unity News : 24 เมษายน 2566 รองโฆษก ทบ.เผยเกณฑ์ทหารปีนี้ ยอดสมัครกว่า 3 หมื่นคน สูงกว่าทุกปี ผบ.ทบ.กำชับหน่วยเตรียมพร้อมรับน้องเล็กของกองทัพ พร้อมมีมาตรการป้องกันโควิด-ฮีทสโตรก

พล.ต.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ในการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) เพื่อติดตามการปฏิบัติงานประจำสัปดาห์ ของกองทัพบก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจเลือกทหารกองประจำการ ซึ่งดำเนินการได้อย่างเรียบร้อยตามนโยบายของกองทัพที่ปรับและพัฒนาระบบการตรวจเลือก อาทิ การจัดคณะกรรมการตรวจเลือกประจำพื้นที่ ผลสำเร็จของการมีผู้สมัครเป็นทหารมากกว่าทุกปี เป็นจำนวนถึง 35,617 คน โดยในส่วนของกองทัพบกมีผู้สมัครสูงเกือบ 40% ซึ่งกองทัพบกจะนำข้อมูลผลการตรวจเลือก ข้อจำกัดในการตรวจเลือกปีนี้ไปพัฒนาต่อไป สำหรับการฝึกทหารใหม่ผลัด 1 / 66 จะรายงานตัววันที่ 15 พฤษภาคม นี้

“ผู้บัญชาการทหารบกกำชับให้ทุกหน่วยฝึกเตรียมความพร้อมในการดูแลทหารใหม่ตามแนวทางที่กองทัพบกได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะในปีนี้ต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์ที่เป็นความท้าทาย ได้แก่ การกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการเจ็บป่วยจากความร้อน (Heat Stroke) จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปีนี้ โดยผู้ฝึกและผู้บังคับหน่วยต้องศึกษาข้อมูล เตรียมการป้องกันผลกระทบหรืออันตรายในการฝึกทหารจะถึงนี้ทุกมาตรการ และปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์” รองโฆษกกองทัพบก กล่าว

พล.ต.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนในช่วงนี้ ผู้บัญชาการทหารบกกำชับหน่วยทหารให้มีมาตรการดูแลป้องกันความเจ็บป่วยจากอากาศร้อนและการเกิดอัคคีภัย โดยเฉพาะการดูแลระบบไฟฟ้า คลังยุทโธปกรณ์ พื้นที่ที่อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อเพลิง การปฏิบัติงานของกำลังพลที่ต้องสอดคล้องกับสภาพอากาศ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วย

Advertisement

รัฐบาล-กทม.พร้อมทำงานร่วมกันเพื่อ ปชช.

People Unity News : 17 มิถุนายน 2565 นายกฯ จับมือ “ชัชชาติ” ถ่ายรูปหลังแถลง ศบค. ย้ำพร้อมทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่เพื่อประชาชน ประเทศต้องเดินหน้าไปด้วยกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่ออนุมัติการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในส่วนของผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงแล้ว และเป็นโอกาสอันดีที่ได้พบปะกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยา ซึ่งได้พูดคุยและยืนยันจะทำงานร่วมกันทุกเรื่อง ได้รู้จักกันดีทุกคนอยู่แล้ว ยืนยันไม่มีปัญหาในการทำงาน และช่วยกันทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั่วประเทศ วันนี้เชิญนายกเมืองพัทยามาเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว ส่วนผู้ว่าฯ กทม.ต้องเข้าร่วมการประชุมตามวาระปกติอยู่แล้ว ทุกฝ่ายเข้าใจกันดี ไม่มีปัญหา เพราะวันนี้ประเทศต้องเดินหน้าไปด้วยกัน

นายชัชชาติ กล่าวว่า พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ ต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว มติ ศบค.ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สะท้อนว่าสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง และพร้อมร่วมทำงานกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า จากการประชุมได้รับทราบถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด ซึ่งในส่วนของเมืองพัทยา ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะนำเสนอผ่าน ศบค.ต่อไป

จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้เชิญนายชัชชาติและนายปรเมศวร์กลับขึ้นไปบนตึกไทยคู่ฟ้า และนำเดินชมภายในตึกภักดีบดินทร์และบริเวณโดยรอบ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยว พร้อมชักชวนทุกคนร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน สนิทกัน พี่น้องกันทั้งนั้น จำได้ว่าเจอกันมานานแล้ว พร้อมชมนายชัชชาติว่า พอมาเจออีกทีแต่งเครื่องแบบดูหล่อ จากนั้นได้ถ่ายรูปร่วมกันบริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า โดยนายกรัฐมนตรีจับมือนายชัชชาติและนายปรเมศวร์ระหว่างถ่ายรูปด้วย

Advertisement

นายกฯชวนคนไทยร่วมทำความดีแบบไทยนิยม

People unity news online : นายกฯ ชวนคนไทยร่วมทำความดีแบบไทยนิยม เรียนรู้จากอดีต นำพาบ้านเมืองให้ก้าวหน้า พร้อมย้ำรัฐเคารพสิทธิเสรีภาพภายใต้กฎหมาย วอนสังคมประคับประคองการเปลี่ยนผ่านประเทศให้ราบรื่น

11 กุมภาพันธ์ 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชวนคนไทยรวมพลังขับเคลื่อนการกระทำความดีแบบไทยนิยม โดยย้ำว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงสำคัญของบ้านเมืองที่จะก้าวพ้นจากความขัดแย้งในอดีต ด้วยการเรียนรู้ความผิดพลาดจากบทเรียนที่ผ่านมา และช่วยกันนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญก้าวหน้าเพื่อลูกหลานของเรา

“แนวทางสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน ทุกคนจะต้องมีความรักสามัคคี ไม่ทอดทิ้งกัน สร้างชุมชนให้เข้มแข็งอยู่ดีมีสุข อย่างพอเพียง รู้สิทธิหน้าที่ของตนเอง รู้กลไกของราชการ รู้รักประชาธิปไตย รู้เท่าทันเทคโนโลยี ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาเสพติด โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันตามหลักประชารัฐ”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเข้าใจดีว่า พี่น้องประชาชนคาดหวังต่อรัฐบาลอย่างไร โดยเฉพาะการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน การแก้ไขปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจฐานราก การจัดระเบียบบ้านเมืองใหม่ การปฏิรูปหน่วยราชการที่เอาเปรียบประชาชน การปราบปรามยาเสพติด และเตรียมการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การเมืองที่ดีขึ้น จึงขอให้เชื่อมั่นว่าการปฏิบัติงานทุกอย่างนั้น เป็นไปเพื่อตอบสนองความคาดหวังของประชาชน ลบรอยแผลที่บอบช้ำของประเทศ และฟื้นฟูเยียวยาให้สังคมเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในระยะยาว”

สำหรับการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพนั้น รัฐบาลไม่เคยปิดกั้นความคิดและการกระทำ โดยขอให้คำนึงถึงขอบเขตของกฎหมาย ไม่สร้างความเดือดร้อน หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง ดังนั้น การทำกิจกรรมต่างๆของประชาชนทุกกลุ่มจึงควรพิจารณาด้วยหลักเหตุและผล ใคร่ครวญถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้บุคคลบางกลุ่มฉวยโอกาสนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง มุ่งสร้างความวุ่นวายขึ้นในประเทศ

นายกฯยังขอให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมายด้วยความระมัดระวัง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง พร้อมทั้งขอให้สังคมช่วยกันประคับประคองการเปลี่ยนผ่านประเทศไปให้ได้อย่างราบรื่น

People unity news online : post 12 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.30 น.

เห็นพ้องต้องขจัดความขัดแย้งทางการเมือง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 กุมภาพันธ์ 2567 ‘กมธ.วิสามัญ นิรโทษกรรม’ เห็นพ้อง ต้องขจัดความขัดแย้งทางการเมืองให้หมดจากสังคมไทย นัดต่อไปเริ่มหาข้อสรุปจะรวมคดี ‘ม.112- ทุจริต’ หรือไม่ เบื้องต้นเล็งทำสรุปส่งให้สภาฯ พิจารณาเอง ‘ชูศักดิ์’ มองหาก กมธ. จะยกร่างกฎหมายใหม่ ต้องใช้เวลามากกว่า 60 วัน

วันที่ 22 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม กล่าวภายหลังการประชุม โดยระบุว่า วาระหลักในวันนี้ เป็นการขอฟังความเห็นกรรมาธิการทุกฝ่าย เพื่อแสดงเป้าหมายในการขอนิรโทษกรรม และเพื่อให้แสดงวัตถุประสงค์สำคัญในการนิรโทษกรรมในครั้งนี้คืออะไร ซึ่งได้รับฟังเกือบครบทุกคน ยกเว้นกรรมาธิการบางคนที่ไม่ได้มาวันนี้

โดยความเห็นส่วนใหญ่ในที่ประชุม มีเป้าหมายส่วนใหญ่ในการทำนิรโทษกรรมครั้งนี้ คือยุติความขัดแย้งและความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความปรองดอง และอยู่ด้วยกันได้อย่างเห็นต่าง หากมีความเห็นต่างก็ขอให้ความเห็นนั้นเป็นความขัดแย้งทางความคิด ไม่ใช่ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงเหมือนในอดีต

ส่วนเหตุผลรองๆ ก็เช่น เพื่อทำให้สังคมไทยกลับคืนสู่ความปกติสุข เนื่องจากทุกคนเห็นว่าผลการขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปี 2549 เป็นต้นเหตุสำคัญ ทำให้ประเทศไทยมีปัญหา ไม่สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้เศรษฐกิจที่ตกต่ำก็มีผลมาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งนั้น

เมื่อถามถึงการขอนิรโทษกรรมความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่ามีคนเสนอเรื่องนี้หรือไม่นั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า มีความเห็นทั้งสองส่วน บางส่วนบอกว่ายังไม่ควรจะมี มีบางส่วนก็เห็นด้วย บางส่วนก็เห็นด้วยแบบมีเงื่อนไขที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าการนิรโทษกรรมควรต้องมีลักษณะทำให้สิ่งที่เป็นความขัดแย้งนั้นยุติลง และไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก จึงมีเงื่อนไขบ้าง ขณะนี้รับฟัง แต่ยังไม่ได้ตัดสินลงไปว่าจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ ระบุว่า การประชุมนัดต่อไป คณะกรรมาธิการฯ จะขอเปิดรับฟังกรรมาธิการที่เหลืออีก 4-5 ท่าน ที่ไม่ได้มาในวันนี้ และจะจัดทำเป็นข้อสรุปว่าท้ายที่สุด จะมีความเห็นออกมาอย่างไร และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในหลักว่า การนิรโทษกรรมจะรวมการกระทำอะไรบ้าง

ขณะที่แนวโน้มความเห็นจากกรรมาธิการมีความเห็นในมาตรา 112 อย่างไรนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่ายังไม่ได้ข้อยุติ เพราะความเห็นยังไม่สามารถจำแนกได้ เป็นเพียงการแสดงความเห็นในเชิงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือเห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข หรือออกมาในรูปแบบมาตรการที่อาจไม่ใช่การ นิรโทษกรรมก็ได้ ส่วนจะรวมคดีทุจริตหรือไม่นั้น ในที่ประชุมยังไม่ถึงขั้นได้ข้อสรุปในเรื่องนั้น ในวันนี้พิจารณาในส่วนของวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อนำไปสู่อะไรเท่านั้น

ส่วนจากการเปิดรับฟังความเห็นแล้ว คณะกรรมาธิการฯ จะมีการขยายระยะเวลาพิจารณาให้เกินกรอบเวลา 60 วัน หรือไม่นั้น นายชูศักดิ์กล่าวว่า กำลังหารืออยู่เหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำในระดับไหน ขณะนี้ก็มีความเห็นที่เป็นข้อยุติแบบพอสมควรแล้วเช่นกัน เช่น หน้าที่ของคณะกรรมาธิการก็น่าจะเพียงเสนอหลักการเท่านั้น บางท่านก็เสนอว่าให้เป็นทางเลือกหลายๆ แบบด้วยซ้ำ ให้สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจ ตอนนี้กำลังดูกันอยู่ แล้วจะตัดสินใจในครั้งหน้า

ทั้งนี้ นายชูศักดิ์ ยอมรับว่า การประชุมยังไม่ถึงขั้นให้เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับใหม่ ส่วนจะมีโอกาสที่จะทำเป็นร่างกฎหมายควบคู่กันไปหรือไม่นั้น มองว่า ถ้าคิดจะยกร่างไปด้วยก็ไม่น่าจะทันกรอบเวลาทำงานของคณะกรรมาธิการ 60 วัน เนื่องจากกฎหมายเป็นเรื่องที่สำคัญต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณารายละเอียด บางครั้งเพียงมาตราเดียวก็ใช้เวลาถึง 2 วัน

Advertisement

“บิ๊กป้อม” เดินหน้าปรองดอง มุ่งเข้าถึงประชาชน

People unity news online : เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ณ ห้องยุทธนาธิการ ในศาลาว่าการกลาโหม ซึ่งที่ประชุมรับทราบการทำงานของคณะกรรมการฯ ว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย การทำงานมีความก้าวหน้า ขณะที่คณะอนุกรรมการต่างๆก็เตรียมพร้อม ส่วนที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิก็เห็นด้วยแนวทางการทำงานว่าเดินหน้ามาอย่างถูกทางแล้ว ยืนยันว่า ต้องดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อเป็นตัวตั้งในการทำงาน ซึ่งเวลานี้ กำลังรับฟังความเห็นประชาชนไปแล้วตามจังหวัดต่างๆ ประมาณ 2 หมื่นคน ทั้งนี้ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิแนะนำให้พยายามเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด โดยประชาชนทุกคนต้องรับรู้ถึงข้อตกลง และสัญญาประชาคม

ส่วนที่กลุ่ม กปปส.เสนอว่า ให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งนั้น พลเอกประวิตร กล่าวว่า เรื่องปฏิรูปก็ดำเนินการตามกระบวนการปฏิรูป แต่รัฐบาลจำเป็นต้องยึดตามโรดแมปที่ได้วางไว้ ใครจะมาเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ส่วนลักษณะสัญญาประชาชนจะเป็นอย่างไร ขอให้สื่อรอการทำงานก่อน ขณะนี้ยังอยู่ต้นทาง ยังไม่ปลายทาง ส่วนจะรับฟังความเห็นเสร็จสิ้นทันเดือนเมษายนหรือไม่นั้น พลเอกประวิตร กล่าวว่า กำหนดไว้ว่าภายในเดือนมิถุนายนต้องเสร็จสิ้น พร้อมเดินหน้าประชาสัมพันธ์ต่อไป เพราะถือมีความสำคัญ

People unity news online : post 21 มีนาคม 2560 เวลา 22.23 น.

นายกฯ มอบรางวัล “ค่าของแผ่นดิน” แนะทำดี ไม่ทำให้ขัดแย้ง

People Unity News : 7 กรกฎาคม 2566 นายกฯ มอบรางวัลประกาศเกียรติคุณเป็น “ค่าของแผ่นดิน” ประจำปี 2565 ระบุให้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ทำความดีให้คนอื่น และไม่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณเป็น “ค่าของแผ่นดิน” ประจำปี 2565 ว่า วันนี้เป็นการมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณของผู้ทำความดี ในโครงการที่เรียกว่า ค่าแห่งแผ่นดิน โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาชน ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจ

“อย่างที่บอกว่า แผ่นดินผืนนี้เป็นของคนไทยทุกคน ถึงเวลาเราต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ก็คือทำให้คนบนแผ่นดินนั้น มีความเจริญเติบโต มีความพอเพียง มีอาชีพ มีรายได้ที่เหมาะสม ซึ่งได้ทำหลายโครงการด้วยกัน และโครงการนี้เป็นโครงการที่ไม่ได้ใช้งบประมาณอะไรต่างๆ เป็นการช่วยกันทำ ตามหลักการที่ตนเคยบอกอยู่เสมอ คือ เราต้องมีการเผื่อแผ่และแบ่งปัน ในเรื่องของการทำความดีให้คนอื่น นั่นคือสิ่งที่สำคัญ ที่จะตอบกลับมาเป็นกุศลให้ตัวเองและครอบครัวมีความสุข ความเจริญ ไม่ไปอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้ง และไม่ไปทำให้ปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะพูดจะทำอะไรก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะทำ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

โฆษก กห. เผยผลการพูดคุยแนวทางปรองดองกับภาคประชาสังคม 11 องค์กร

People unity news online : เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง แถลงภาพรวมประจำสัปดาห์ ตลอด 3 วันตั้งแต่วันที่ 20-22 มีนาคม 2560 ในการพูดคุยแนวทางปรองดอง ต่อคณะอนุกรรมการ ป.ย.ป.ในส่วนภาคประชาสังคมว่า ขณะนี้มีองค์กรเข้ามาร่วมเสนอแนวทางปรองดองแล้ว 11 องค์กร ได้แก่ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย/ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ/ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา/ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์/ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา/ เครือข่ายยุวทัศน์แห่งประเทศไทย/ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา/ ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น/ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งชาติ/ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร/ มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งภาพรวมบรรยากาศเป็นไปด้วยดี และสร้างสรรค์ โดยทุกองค์กรมีความเข้าใจและมั่นใจในการเสนอข้อมูล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งมองเรื่องปรองดองว่าทุกฝ่ายต้องเป็นกลาง เปิดใจตัวเองโดยไม่มีอคติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ พร้อมมองถึงความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องปกติของสังคม แต่บนความขัดแย้งต้องไม่มีเรื่องรุนแรง และทุจริต โดยมุ่งไปที่คนที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น การแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องแก้ที่คน เน้นปฏิรูปการศึกษา กระตุ้นจิตสำนึก ยอมรับสิทธิผู้อื่น รัฐเองต้องให้ความรู้ประชาชนมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสเท่าเทียมกันพร้อมจำเป็นต้องสร้างเด็กรุ่นใหม่ ให้ตระหนักประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

ทั้งนี้ยอมรับว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ต้องอาศัยเวลา และความเข้าใจ ให้อภัยกัน และสร้างความไว้ใจ ส่วนการเลือกตั้ง ยังมองว่าเป็นเพียงกระแสสังคมที่พูดกันไปเอง ขณะนี้สังคมยังมีปัญหา ความรุนแรงอยู่ โดยเฉพาะความรุนแรงทางใจ พร้อมเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.ให้มีการเจรจา เปิดเวที ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทำความเข้าใจกันมากขึ้น และบริหารความขัดแย้งของโครงสร้างทุกองค์กร อย่างไรก็ตาม เน้นย้ำว่า คณะกรรมการ ป.ย.ป  มีความตั้งใจ และพร้อมเปิดกว้างพูดคุย รับฟังความเห็นทั้งส่วนกลาง และภูมิภาคได้พูดคุย เพราะการให้ความเห็นเป็นประโยชน์ต่อความขัดแย้งที่ผ่านมา วอนทุกฝ่ายอย่าสร้างเงื่อนไขแนวทางสร้างความปรองดอง

People unity news online : post 24 มีนาคม 2560 เวลา 01.41 น.

“ปณิธาน” ชี้ “ประชามติแยกดินแดน” เป็นบทเรียนสำคัญของภาครัฐ

People Unity News : 13 มิถุนายน 2566 “ปณิธาน” ระบุ กรณีขบวนการ นศ.แห่งชาติทำประชามติแยกดินแดน เป็นบทเรียนสำคัญของทุกหน่วยงานรัฐ ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ หาต้นเหตุของแนวคิด ชี้การแสดงออกขัดหลักจริยธรรมงานวิจัยทางวิชาการ ทำให้ถูกตีความผิด กม. กระทบความมั่นคง

นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีขบวนการนักศึกษาแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ จัดกิจกรรมเสวนาและจัดทำกระดาษให้ลงประชามติ แยกตัวเป็นเอกราช ว่า ประเด็นทางกฎหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาว่าเป็นการกระทำผิดกฏหมายหรือไม่ ทั้งในระดับพื้นที่ กอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งต้องดูเรื่องการขัดกับกฎหมาย โดยเฉพาะขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึงต้องดูว่ามีประเด็นทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่

“เท่าที่ทราบเบื้องต้นมีกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงคงต้องตรวจสอบว่ามีความยึดโยงกับการกระทำผิดกฏหมายหรือไม่ และเรื่องนี้ต้องดูเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการปกป้องเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และเรื่องทางวิชาการที่ต้องแยกแยะให้ดี หากเป็นการทำแบบจำลองงานวิจัยที่ผ่านมาก็เคยทำมาหลายครั้ง ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือยึดโยงทางการเมืองในที่สาธารณะ ในรูปแบบของการแสดงพลัง การแสดงจุดยืนทางการเมือง” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวว่า ถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของเอกราชอธิปไตย แต่เป็นเรื่องของการกำหนดวิถี การกำหนดใจตนเอง การกำหนดลักษณะพหุวัฒนธรรม ซึ่งหลายประเทศก็มี ทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ที่ให้คนท้องถิ่นกำหนดวิถีของตนเอง โดยไม่ขัดกับหลักกฏหมายของประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็มีแนวนโยบาย มีข้อเสนอและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไปแล้ว ให้ใช้นโยบายพหุวัฒนธรรมเพื่อท้องถิ่นกำหนดวิถีของตนเองได้ โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดวิถีทางการเมือง การปกครอง ทางวัฒนธรรมทางศาสนา ดังนั้น ต้องพิจารณาว่ากลุ่มของขบวนการนักศึกษามีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร  ถ้าดูเพียงคำแถลงการณ์ที่ออกมาอย่างเดียว อาจทำให้หลายคนวิตกกังวล จึงต้องไปดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

“ในภาพรวมการประกาศเอกราช การพยายามลงประชามติเพื่อแยกตนเองออกไปตั้งเป็นรัฐใหม่ การใช้ศัพท์เหล่านี้ขัดกับหลักกฏหมายชัดเจนอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง สุดท้ายคงต้องหาทางพูดคุยกันว่าแนวทางที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร การให้เสรีภาพส่วนหนึ่ง การปฏิบัติตามกฏหมายเป็นอีกส่วนหนึ่ง และต้องดูเรื่องความปะทุความแตกแยกเพิ่มขึ้น เพราะมีหลายกลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ อาจต้องควบคุมตรงนั้น ไม่ให้บานปลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย การเมือง เรื่องท้องถิ่น เหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญมากสำหรับทุกฝ่ายหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานทางปกครอง ฝ่ายมหาวิทยาลัย อาจารย์ และนักศึกษาต้องทำงานร่วมกันมากกว่านี้ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งมีข้อสังเกตมานานเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวลักษณะนี้ ที่อาจทำให้สถานการณ์ผกผัน ตึงเครียดทั้งที่ไม่ควรจะเป็น เรามีนโยบายเรื่องพหุสังคมที่ดีอยู่แล้ว มีท้องถิ่นที่สนับสนุนที่ดีอยู่แล้ว

เมื่อถามย้ำว่าหากทำในเชิงวิชาการถือว่าไม่ผิดใช่หรือไม่ เพียงแต่เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนอาจเกิดข้อถูกเถียงในสังคมเป็นวงกว้าง นายปณิธาน  กล่าวว่า ในเชิงวิชาการเมื่อสำรวจความคิดเห็น จะปกป้องคนที่ให้สัมภาษณ์ โดยไม่เปิดเผยเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของบุคคล ซึ่งเป็นข้อบังคับในการทำวิจัย ทางวิชาการอย่างเข้มงวด เพราะบางเรื่องหากเปิดออกไปสู่สาธารณะ อาจถูกตีความว่าผิดกฎหมาย กระทบกับความมั่นคง งานวิชาการจะไม่ทำลักษณะนี้ เพราะจะปกป้องคนที่มาแถลงการณ์ จะไม่ประกาศแบบนั้น

“งานวิชาการยังมีข้อบังคับอีกมาก ไม่ใช่จะบอกว่าเป็นงานวิชาการแล้วจะทำได้ อันนั้นเป็นความคลาดเคลื่อน  ไม่ใช่ว่ามหาวิทยาลัยจัด  มีอาจารย์นั่งอยู่หนึ่งคน เชิญฝ่ายการเมือง และปล่อยให้ประกาศอะไรที่หมิ่นเหม่ทางวิชาการ เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะมีข้อกำหนดเรื่องจริยธรรมของการทำงานวิชาการ ที่ทุกคนต้องเซ็นรับทราบไว้ก่อน ก่อนจะถามประเด็นละเอียดอ่อนแบบนี้ และที่ผ่านมาทำไปแล้วหลายโครงการ ซึ่งไม่เคยมีปัญหา เพราะอยู่ในกรอบข้อบังคับเชิงจริยธรรมที่ต้องปกป้องอัตลักษณ์บุคคล” นายปณิธาน กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า รัฐควรเร่งกระบวนการสร้างความเข้าใจหรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า หน่วยงานในภาครัฐต้องเร่งทำความเข้าใจ เพราะครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับ อาจารย์ คณะ และมหาวิทยาลัยที่จัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ต้องพูดคุยถึงกรอบการจัดงาน หากระมัดระวังและทำตามกรอบคงไม่เลยเถิดไปถึงการลงประชามติ และนำออกสู่สังคมออนไลน์ งานวิชาการมีความละเอียดอ่อน จะไม่ถ่ายทอดหรือใช้สื่อแบบนี้ ซึ่งต้องไปดูกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยและใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนแนวโน้มของกลุ่มเยาวชนหรือบุคคลในพื้นที่จะเป็นอย่างไร นายปณิธาน กล่าวว่า ตนกำลังทำงานวิจัยที่สำรวจความคิดเห็นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และคนในพื้นที่ต่อความรุนแรงแบบสุดโต่ง ซึ่งได้รับความสนับสนุนงบประมาณจากสำนักการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งความรุนแรงแบบสุดโต่งมีหลายรูปแบบในเชิงวัฒนธรรม เชิงครอบครัว เชิงการเมืองและเชิงศาสนา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับบุคคลจำนวนมาก

“การแบ่งแยกดินแดนเป็นความสุดโต่งด้านหนึ่ง ผมกำลังลงลึกกับงานวิจัยเรื่องนี้มากขึ้น โดยประเมินการพูดคุย การกำหนดใจตัวเอง ซึ่งเป็นความคิดที่พูดกันมากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงข้อกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ จึงทำให้หลายคนเริ่มสงสัยว่าแนวความคิดแบบนี้พัฒนาอย่างไร เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร เพราะโดยทั่วไปในต่างประเทศมีสองแบบ คือต้องการแยกประเทศตั้งเป็นรัฐเอกราช จับอาวุธต่อสู้บางพื้นที่ หรือเป็นเรื่องของชนเผ่าที่อยากกำหนดวิถีของตนเอง ไม่เกี่ยวกับการแยกรัฐ แยกประเทศ เพราะผิดกฏหมายของประเทศนั้น ของเราก็มีข้อสงสัยว่าการเคลื่อนไหวเป็นแบบไหน ความคิดต้นตอเหล่านี้มาจากไหน คงต้องไปถามบุคคลที่สอนและทำเวิร์คช็อปว่าคิดเห็นอย่างไร” นายปณิธาน กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics