People Unity News : 27 กันยายน 2565 ครม.เห็นชอบ แนวทางเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคม เพื่อสร้างสังคมที่สงบสุข ประชาชนอยู่ร่วมกันโดยเคารพความแตกต่างหลากหลายและสิทธิพื้นฐานของมนุษย์

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคม ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในการสร้างสังคมที่สงบสุข ประชาชนอยู่ร่วมกันโดยเคารพความแตกต่างหลากหลาย และสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ยึดถือหลักความอดทนอดกลั้น ยึดมั่น ในแนวทางสายกลาง และปราศจากความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์และจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยและมีความมั่นคง ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลกของสหประชาชาติ แผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและรับมือกับอุบัติการณ์ของการบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงแห่งภูมิภาคอาเซียน และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติปี 2562 – 2565 ของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติปี 2561 – 2580 ในประเด็นด้านเสริมสร้างความมั่นคง

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า แนวทางเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคมมีแนวทางการดำเนินการที่บูรณาการครบทุกมิติ ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก คือ

1.การป้องกัน (Prevention) มุ่งเฝ้าระวังความขัดแย้งและการกลั่นแกล้งกันทางออนไลน์ สร้างภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์และการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ส่งเสริมการใช้สื่ออย่างเหมาะสมและรู้เท่าทัน  เช่น มีระบบป้องกันการรังแกกันในโรงเรียน Application Buddy ให้เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องอารมณ์ตนเอง การจัดการอารมณ์ตนเอง การจัดการสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งรังแกกัน

2.การยับยั้ง (Deterring/Restraint) มุ่งลดปัจจัยและขจัดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การมีแนวคิดที่นิยมความรุนแรง  ส่งเสริมการใช้การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ และ

3.การฟื้นฟูเยียวยา (Rehabilitation) ที่จะเป็นกระบวนการนำผู้ที่มีแนวคิดที่นิยมความรุนแรงหรือสุดโต่งกลับสู่ทางสายกลางและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข โดยสร้างมาตรฐานในการดูแลกลุ่มเสี่ยง “กลไกการขับเคลื่อนจะเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในสังคม เป้าหมายเพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ดังนั้นจึงมีคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติที่จะขับเคลื่อนระดับนโยบาย หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจรับผิดชอบในระดับปฏิบัติ สำหรับการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินการนั้น ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกันดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นการสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็งเพื่อให้ประเทศชาติมีความมั่นคงต่อไป

Advertisement