วันที่ 20 พฤษภาคม 2024

ไม่ยอมให้รุกล้ำอธิปไตยไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 เมษายน 2567 แม่สอด – 3 รัฐมนตรี ย้ำไม่ยอมให้รุกล้ำอธิปไตยไทย พร้อมตั้งรับชายแดนได้ “ปานปรีย์” รับเป็นไปได้เป็นตัวกลางพูดคุยเมียนมา “อนุทิน” ขอคนไทยสบายใจ ยืนยันดูแลผู้หลบภัยเสี่ยงต่อชีวิต “สุทิน” มั่นใจกองทัพรับมือได้ พร้อมบินสกัด-ไม่ต้องยกระดับกำลัง ทบ.-ทอ.

วันนี้ (23 เม.ย.67) เวลา 16.50 น. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และประธานกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) และนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา

นายปานปรีย์ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายตนเอง และรัฐมนตรีอีก 2 คน มาติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเดินทางมาถึง จึงมีการประชุมร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องการดูแลด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมาที่หาที่ปลอดภัยในแผ่นดินไทย ได้รับคำตอบว่า ทุกคนสบายใจ จากที่เข้ามากว่า 2,000 คน หลายคนก็เดินทางกลับประเทศเมียนมาแล้ว ยังคงค้างอีกประมาณ 600 คน เชื่อว่าหากสถานการณ์คลี่คลายก็คงจะกลับไปทั้งหมดใน 1-2 วันนี้

ส่วนผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ อ.แม่สอด นายปานปรีย์ ตอบว่า ครั้งนี้มีการดูแลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากมีกรณีที่คาดว่าจะเกิดอันตราย ฝ่ายรัฐบาลก็พร้อมเข้าดูแลทันที ย้ายคนไทยไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แต่ที่ผ่านมาไม่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย ดังนั้น กองทัพบก กองทัพอากาศ และกระทรวงมหาดไทย ถือว่ามีการดูแลอย่างดีมาก ที่สำคัญ จะไม่ให้ใครรุกล้ำอธิปไตยโดยเด็ดขาด หรือใช้พื้นที่ของไทยไปต่อต้านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พร้อมทั้งยึดมั่นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เหล่านี้คือนโยบายที่มอบหมายไปตั้งแต่ต้น และดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายปานปรีย์ ยืนยันว่า การข้ามแดนเป็นไปตามปกติ อุปกรณ์ผ่านแดนฝั่งเมียวดีที่เสียนั้นคงไม่มีปัญหาอะไร คงจะซ่อมแซมได้โดยเร็ว ส่วนจำนวนผู้หนีภัยความไม่สงบก็เหลือเพียง 600 กว่าคนแล้ว การเดินทางกลับไปจึงน่าจะไม่มีปัญหาแล้ว

“เสียงระเบิดมีอยู่บางช่วงเวลา เราห่วงการขนส่งทางรถ เพราะสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ยังไม่ได้เปิด การขนส่งสินค้าจึงยังไม่เรียบร้อย แต่เชื่อว่าภายใน 1-2 วัน จะเปิดได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ฝั่งเรา แต่ปัญหาอยู่ฝั่งเขา ซึ่งเราไม่รู้ว่าเวลานี้ ฝ่าย ตม. กับศุลกากร อยู่กับฝ่ายใด ศูนย์สั่งการชายแดนส่งเจ้าหน้าที่ไปคุยเจรจากับเมียนมาตลอด เพื่อแก้ไขปัญหาเล็กน้อยได้เกือบทั้งหมด” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

ส่วนข้อเสนอต่อการตั้งเมืองเมียวดีเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) นายปานปรีย์ ตอบรับว่า มีการพูดคุยกัน แต่ไทยรับสถานการณ์ได้ไม่ถึงขั้นต้องตั้งพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่ของเขา ทั้งยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคิดให้ละเอียด ท้ายที่สุดเราก็อยากให้เกิดความสงบโดยเร็วที่สุด แต่เป็นเรื่องเมียนมาที่เราไม่สามารถแทรกแซงได้ ให้เมียนมาจัดการกันเอง แต่ไทยพร้อมประสานงานให้พูดคุยกัน และให้เกิดสันติภาพในเมียนมา

นอกจากนี้ นายปานปรีย์ ตอบรับถึงข้อเสนอให้รัฐบาลไทยเป็นตัวกลางพูดคุยให้การสู้รบลดน้อยลงว่า เป็นไปได้มาก เพราะขณะนี้มีการพูดคุยในระดับหนึ่งแล้ว โดยมีกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงชาติพันธุ์ติดอาวุธ และรัฐบาลเมียนมา แต่เนื่องจากขณะนี้ในส่วนของเมืองเมียวดี การเจรจายังอยู่ภายในฝ่ายของเขา ยังไม่มีเวลาคุยกับเรา แต่เขาทราบแล้วว่า เราพร้อมเป็นตัวเชื่อมประสานแก้ไขเมียนมาทั้งระบบให้กลับสู่สันติภาพโดยเร็ว ส่วนการเจรจาผ่านบทบาทอาเซียน ไทยคิดว่าอาเซียนควรมีส่วนประสานงานแก้ไขปัญหาเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกด้วย หลังจากส่งหนังสือไป 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ประธานคือประเทศลาว ทำงานเร็ว แต่ยังอยู่ระหว่างรอคำตอบจากอาเซียนอีก 8-9 ประเทศ และคาดว่าจะมีการประชุมของอาเซียนอีกชุดด้วย

ส่วนสภาพการดูแลที่ภาคประชาสังคมห่วงกังวล นายปานปรีย์ กล่าวว่า คนเข้ามาหลบภัยคงไม่คาดหวังว่าจะเข้ามาอยู่ในที่สะดวกสบาย ดังนั้น การดูแลจึงเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีแนวปฏิบัติที่เป็นสากล (Standard of Procedures) และเท่าที่ได้รับฟัง ยังไม่มีใครมีความรู้สึกว่าเข้ามาแล้วยากลำบาก แต่เข้ามาชั่วคราวเพื่อหลบภัย

ด้านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และมีการรายงานสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เรามีความจำเป็นต้องให้การดูแลผู้หลบภัยเข้ามาด้วยความจำเป็นด้านมนุษยธรรม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า หากเพื่อนบ้านมีภัยเสี่ยงต่อชีวิต เราก็ต้องให้ความดูแลอย่างปลอดภัย ในการนี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ชรบ.

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สถานการณ์ดีขึ้นมาเป็นลำดับ ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทุกหน่วยงาน จึงขอให้ความมั่นใจให้ประชาชนที่มีญาติพี่น้องในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก สบายใจ ส่วนนักท่องเที่ยวก็สามารถมาท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ มากมาย และอุดหนุนการค้าชายแดนได้ด้วย อยากให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ จึงไม่ควรให้เหตุการณ์ปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านมาทำลายโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศของเรา

“นี่คืออธิปไตยของประเทศเรา ไม่ใช่ว่าใครอยากจะเข้ามาทำร้ายคนของเขา หรือทิ้งอะไรต่าง ๆ เป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายทหารของเรา เตรียมตัวอย่างเต็มที่” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กองทัพยืนยันว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ อยู่ในระดับที่เรารับมือได้ เตรียมการในระดับปกติ ยังไม่มีความจำเป็นต้องยกระดับการรับมือ ทั้งในภาคพื้นดิน มีกองทัพภาคที่ 3 มีกองกำลังผลักดัน และให้ขวัญกำลังใจชาวบ้านได้ และกองทัพอากาศมีความสามารถสกัดยับยั้งได้ โดยมีข้อตกลงกับฝ่ายตรงข้ามว่า หากนำเครื่องบินเข้ามาต้องแจ้งก่อน โดยเรามีศักยภาพในการนำเครื่องบินขึ้นสกัดได้ทันที ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ยังไม่มีภัยทางอากาศ และรับมือได้

ส่วนผู้หนีภัยความไม่สงบ นายสุทิน ย้ำว่า มีการดำเนินมาตรการคัดแยกตามกลุ่มตามขั้นตอน คือ หากเป็นชาวบ้าน ฝ่ายปกครองก็จะดูแล แต่หากเป็นทหารก็เข้าสู่กระบวนการปลดอาวุธ ที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ใดเกินกำลัง ทั้งทรัพย์สินชาวบ้านและอธิปไตย ยืนยันกองทัพรับมือได้

Advertisement

“อนุทิน” เตรียมนำคณะร่วมถก World Bio Summit 2022

People Unity News : 23 ตุลาคม 2565 “อนุทิน” เตรียมนำคณะเข้าประชุม World Bio Summit 2022 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมผู้แทนกว่า 18 ประเทศถกอนาคตวัคซีนสร้างความสามารถต่อสู้โรคอุบัติใหม่

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 24-27 ต.ค. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จะนำคณะซึ่งประกอบด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยคณะแทนจากกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมการประชุม World Bio Summit 2022 ซึ่งจัดขึ้น ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

สำหรับการประชุม World Bio Summit 2022 ครั้งนี้เป็นเวทีการหารือใหม่ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยความร่วมมือของสาธารณรัฐเกาหลีกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งได้มีการเชิญผู้นำประเทศต่างๆ มากกว่า 18 ประเทศทั้งในอเมริกา ยุโรป เอเชียเเละแอฟริกา รวมถึงผู้แทนบริษัทวัคซีน ผู้แทนองค์กรการกุศลเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เข้าร่วม โดยจะมีการหารือในหัวข้ออนาคตของวัคซีนและชีวอนามัยจากประสบการณ์และบทเรียนที่เรียนรู้จากการระบาดของโรคโควิด19 พร้อมเสนอวิธีการเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อโรคติดเชื้อและโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

ในโอกาสนี้ นายอนุทิน จะเป็นผู้แทนประเทศไทยในการปาฐกกาถึงบทเรียนที่ทั่วโลกได้รับโควิด 19 และย้ำถึงจุดยืนของไทยในการร่วมกับนานาประเทศในการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ระหว่างการเข้าร่วมประชุมที่กรุงโซลครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ จะเข้าร่วมในพิธี Thailand-IVI Ratification Ceremony ซึ่งประเทศไทยจะให้สัตยาบันสารในการเข้าร่วมเป็นภาคีกับสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) อันจะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับโอกาสในการพัฒนาและขยายความร่วมมือด้านวัคซีนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนของไทย

นอกจากนี้ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือหลายด้านระหว่าง 2 ประเทศ อาทิ ความมั่นคงด้านสุขภาพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ การดูแลสุขภาพดิจิทัล และการส่งเสริมสุขภาพ

Advertisement

นายกฯ หารือ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 14 มีนาคม 2567 นายกฯ หารือคณะผู้แทน PEC ย้ำศักยภาพเศรษฐกิจไทย ฝ่ายสหรัฐฯ ชื่นชมบทบาทควาทเป็นผู้นำ วิสัยทัศน์นายกฯ สองฝ่ายเชื่อ การพบกันจะเป็นโอกาสยกระดับความร่วมมือทางเศรษกิจ

วันนี้ (14 มีนาคม 2567) เวลา 16.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือร่วมกับ นางจีนา เอ็ม. เรมอนโด (The Honorable Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยนาย Mark Ein ประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) และคณะ รวม 10 ราย ซึ่งมาจากภาคเอกชนและองค์กรชั้นนำของสหรัฐฯ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและส่งเสริมโอกาสขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและยินดีอย่างยิ่งที่ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ได้พาคณะผู้แทน PEC เยือนไทยในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันมาอย่างยาวนาน และไทยถือเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่เชื่อถือได้สำหรับสหรัฐฯ โดยทราบว่า คณะผู้แทน PEC ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่ง มล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า การหารือร่วมกันของทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยดี โดยมีการพูดคุยถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยี AI ความมั่นคงทางไซเบอร์ (CyberSecurity) รวมถึงการสนับสนุนไทยด้านการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Digital Transformation) นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ โดยการหารือเป็นไปด้วยดี สะท้อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนาน และทั้งสองฝ่ายพร้อมแสวงหาโอกาสในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้นอีก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ฯ ชื่นชมบทบาทความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี การทำงานเชิงรุกในการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกมายังประเทศไทย และการเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ พร้อมย้ำถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ เห็นพ้องเดินหน้าความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้ ได้นำประธานสภา PEC และคณะร่วมเดินทางมาไทย เป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

โอกาสนี้ นาย Mark Ein ประธาน PEC และคณะผู้แทน ได้แนะนำตัวต่อนายกรัฐมนตรีและต่างชื่นชมในบทบาทการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลักดันและดึงดูดให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมายังประเทศไทย พร้อมอำนวยความสะดวกในการลงทุน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นที่แต่ละฝ่ายให้ความสนใจ โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือในด้านพลังงานสะอาด การเปลี่ยนผ่านสีเขียว และเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญร่วมกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมสำคัญ รวมถึงการสนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความร่วมมือด้านการศึกษา ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น

โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า จะยังดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมากขึ้นต่อไป ไม่เพียงเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่มีศักยภาพ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีหวังว่าการเยือนของคณะ PEC ซึ่งเป็น fact-finding visit จะทำให้สหรัฐฯ เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทย พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างเต็มที่ ผ่านการยกระดับการค้าการลงทุน สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของไทยในฐานะหุ้นส่วนที่พึ่งพาได้ในห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นของสหรัฐฯ พร้อมเชื่อมั่นว่า การประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum ที่สิงคโปร์ จะเป็นอีกหนึ่งเวทีในการส่งเสริมโอกาสการขยายความร่วมมือระหว่างกัน

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนและองค์กรสหรัฐฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีภารกิจสำคัญในฐานะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในด้านนโยบายและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยการเยือนของคณะ PEC ครั้งนี้เป็น fact-finding visit เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมทั้งจะมีการเผยแพร่รายงานผลการเยือนต่อสาธารณชน

Advertisement

แม่ทัพภาค 4 พบสื่อฯ 3 ประเทศ สร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจเยือนพื้นที่ จชต.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 ธันวาคม 2566 แม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมพบปะสื่อฯ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย พร้อมสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ยินดีต้อนรับ นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเข้ามาเยือนพื้นที่ จชต.

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และคณะ ร่วมพบปะคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่เดินทางมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 การจัดบรรยากาศที่เป็นกันเอง ซึ่งจัดโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว พร้อมหารือเรื่องการสร้างความเชื่อมั่น การดูแลความปลอดภัย ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการและสื่อมวลชนในโครงการนี้

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า ได้ทราบจากนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยถึงกิจกรรม สานสัมพันธ์สื่อมวลชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งนี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ ในฐานะที่เป็นบ้านพี่เมืองน้อง มีความหลากหลายในการนับถือศาสนา และเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันในภูมิภาคอาเซียน การมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าสื่อมวลชนทุกท่านได้มาเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ห้วงสองสามปีที่ผ่านมาทั่วโลกได้เกิดภาวะโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไป และปัจจุบันนี้สถานการณ์ดีขึ้นและทุกอย่างได้กลับมาดำเนินการเดินหน้าเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งปัจจุบันนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงจังหวัดสงขลามีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเดินทางเข้ามาทำธุรกิจ มาท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพี่น้องประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย อินโดนีเซีย เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ แม้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 20 กว่าปี แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเรื่องของความมั่นคง และเรื่องการท่องเที่ยวการพัฒนาได้มีการขับเคลื่อนควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง ขอให้ความมั่นใจต่อนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่เข้ามาในพื้นที่ ขอให้ท่านมีความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย ส่วนเรื่องหลากหลายไม่ใช่ปัญหา ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้เพราะทุกวัฒนธรรมทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข และในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ขอให้ทุกคนมั่นใจได้ทั้งเรื่องความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจที่เดินทางมาเข้ามาให้ท่านเชื่อมั่นวางใจได้ เราพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือในทุกด้านโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยเมื่อมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้

โครงการ “สานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2566 นำโดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยที่นำเครือข่ายผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว สื่อมวลชนในกลุ่มมาเลเซีย และอินโดนีเซีย มาเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเข้าพบปะบุคคลสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ หารือความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์แลกเปลี่ยนข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวรู้สึกให้มั่นใจถึงความปลอดภัยเมื่อมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักโดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจ IMTGT เชื่อมสัมพันธ์และกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความสัมพันธ์ที่ดี และร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต

Advertisement

ไทย-ซาอุดีฯ ยืนยันความตั้งใจมุ่งสานสัมพันธ์ใกล้ชิด

People Unity News : 20 ตุลาคม 2566 ซาอุดีอาระเบีย – นายกฯ เข้าเฝ้าฯ มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ไทย-ซาอุดีฯ ยืนยันความตั้งใจมุ่งสานความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิด และกระชับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคง

วันนี้ (20 ต.ค. 2566) เวลา 12.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ซึ่งช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Ritz Carlton กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสการหารือทวิภาคี ระหว่างการเข้าร่วมการประชุม ASEAN – GCC Summit โดยนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีและมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีฯ ต่างยืนยันความตั้งใจร่วมกันในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว รวมถึงพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทยและซาอุดีฯ ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในวิสัยทัศน์ของพระราชาธิบดี รวมถึงมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีฯ ที่ทรงวางรากฐาน นำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ โดยไทยยืนยันมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือด้าน ต่าง ๆ ให้พัฒนายิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนไทยและซาอุดีฯ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีฯ หารือประเด็นความร่วมมือดังนี้

ด้านความสัมพันธ์ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการดำเนินความสัมพันธ์ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะควรส่งเสริมการค้าและการลงทุนซึ่ง นายกฯ เสนอการจัดทำ Thai-GCC FTA รวมทั้งแสดงการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ Expo 2030 จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2034 ของซาอุดีอาระเบีย รวมถึงแนวทางความร่วมมือและประเด็นที่คั่งค้างในด้าน 1) การเมืองและการกงสุล 2) การลงทุน 3) ความมั่นคงและการทหาร 4) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และ 5) เศรษฐกิจและการค้า โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย (Saudi – Thai Coordination Council: STCC) ครั้งที่ 1 เพื่อทบทวนการดำเนินความสัมพันธ์ และกำหนดแนวทางความร่วมมือทั้ง 5 ด้าน

ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง เพื่อเข้าร่วมงานนิทรรศการด้านการป้องกันประเทศของทั้งสองฝ่ายแล้วในงาน Defense and Security ของไทย และงาน World Defense Show ของซาอุดีฯ ซึ่งทำให้ไทยและซาอุดีฯ มีโอกาสขยายความร่วมมือในด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยจะให้ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เร่งรัดความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่ดูแลคนไทยกว่า 6,000 คน ที่อยู่ในซาอุดีอาระเบีย และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งมีคนไทยเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกลักพาตัว ซึ่งซาอุดีอาระเบียรับที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับกุมตัว

Advertisement

ไทย-สหรัฐพร้อมขยายความร่วมมือ

People Unity News : 28 พฤศจิกายน 2565 นายกฯ หารือ USABC เสนอ 3 แนวทางเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมสร้างความเข้มแข็ง การเติบโตเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม ขณะสหรัฐพร้อมขยายความร่วมมือกับไทย

คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council : USABC) นำโดยนายโรเบิร์ต โกเดค (H.E. Mr.Robert Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC และผู้แทนบริษัทสมาชิก จำนวน 43 บริษัท จากกลุ่มอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ อาทิ พลังงาน อาหารและการเกษตร สาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการทางการเงิน เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า USABC และภาคเอกชนสหรัฐฯ ถือเป็นมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีบทบาทสนับสนุนการเติบโตของไทยมาโดยตลอด รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคเอกชน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ มีพลวัตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในการประชุมเอเปค ไทยได้ผลักดันผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมหลายประการ ทั้งการทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทหลังโควิด-19 และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยการนำเสนอเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG)

“คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตระหว่างร้อยละ 2.7-3.2 ไทยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ มุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม และให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม บนพื้นฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อพัฒนาไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนของภูมิภาค” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรีได้เสนอวิสัยทัศน์และแนวทางการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุค Next Normal 3 ประการ ได้แก่ 1.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีความสมดุล และมุ่งเข้าสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน โดยรัฐบาลได้เร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียว และต้องการยกระดับไทยไปสู่การผลิต EV สำหรับภูมิภาค พัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“2.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยรัฐบาลได้เร่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจตามข้อเสนอ Ten for Thailand เพื่อพัฒนาไทยไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคสำหรับธุรกิจ การค้า และการลงทุน และ 3.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ไทยมุ่งผลักดันและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เร่งพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี หวังว่าในโอกาสฉลองครบรอบ 190 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในปี 2566 ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนจะเพิ่มพูนและแน่นแฟ้น มีพลวัตในความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านนาย Ted Osius ประธาน USABC กล่าวว่า การพบกันครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้พบกันพร้อมหน้า และเป็นคณะที่ใหญ่สุดที่เดินทางมาประเทศไทยรวม 43 บริษัทแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือกับไทย และการลงทุนในภูมิภาคนี้ ถือเป็นโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบครบรอบ 190 ปีของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในปีหน้าด้วย และชื่นชมความสำเร็จที่นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธานการประชุมเอเปค 2022 ได้อย่างยอดเยี่ยม

ส่วนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยั่งยืนยาวนาน ร่วมกันส่งเสริมความสัมพันธ์ในหลายระดับและภาคเอกชนถือว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมรับไม้ต่อในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า และยืนยันจะส่งเสริมความร่วมมือกับไทยต่อไป

ด้านผู้แทนจากบริษัทภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้ง 43 บริษัทจาก 6 อุตสาหกรรมหลัก ได้กล่าวแนะนำตัวและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือและสนับสนุนแนวคิด BCG ของไทยผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการใช้พลังงาน ผลิตภัณฑ์ อย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งตัวแทนบริษัทส่วนใหญ่เห็นว่า ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์การกลางลงทุนในด้านต่างๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ (Auto Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งพร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่พร้อมต่อการทำงาน ซึ่งจะช่วยรองรับการขยายการลงทุนของแต่ละธุรกิจในอนาคตต่อไป

Advertisement

ไทย-รัสเซียทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

People Unity News : 15 มีนาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.วานนี้อนุมัติให้ลงนามร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทย-รัสเซีย ต้องเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี ถึงจะส่งตัวได้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (14 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติลงนามร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการดำเนินการให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการปราบปรามอาชญากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระและหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดนคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้จัดทำกับประเทศต่าง ๆ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551

“สำหรับข้อกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อาทิ 1.ความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ ต้องเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ (Double Criminality) และเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี 2.ผู้ประสานงานกลางของฝ่ายไทยตามสนธิสัญญานี้ คือ อัยการสูงสุด และฝ่ายสหพันธรัฐรัสเซีย คือ สำนักงานอัยการสูงสุด 3.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ ไม่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลซึ่งกระทำความผิดทางการเมืองและความผิดทางทหาร ทั้งนี้ ความผิดต่อประมุขของรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว และการกระทำหรือการละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดอาญาตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาพหุภาคีที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคี ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 4.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อมีเหตุต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายของภาคีแต่ละฝ่าย อาทิ ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางทหาร ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับอายุความ 5.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ สามารถปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อภาคีที่ได้รับการร้องขอมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทบต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือภาคีที่ได้รับการร้องขอกำลังดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวในความผิดนั้นอยู่ 6.สนธิสัญญานี้ไม่กำหนดให้คู่ภาคีมีพันธกรณีใด ๆ ที่จะต้องส่งคนชาติของคนข้ามแดน อย่างไรก็ดี กรณีที่มีการปฏิเสธการส่งคนชาติข้ามแดน ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องเสนอคดีนั้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องคดีต่อไป เว้นแต่ว่าภาคีที่ได้รับการร้องขอไม่มีอำนาจเหนือความผิดนั้น ก็จะไม่ต้องเสนอคดีนั้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อฟ้องคดี

“7.กรณีเร่งด่วน ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถร้องขอให้มีการจับกุมตัวชั่วคราว (Provisional Arrest) บุคคลที่ต้องการ เพื่อให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปได้ 8.ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการแบบย่อ (Simplified procedure) ในกรณีที่บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวยินยอมต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือศาลแห่งภาคีที่ได้รับการร้องขอ 9.กรณีที่ได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้ร้องขอตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป ให้ภาคีที่ได้รับการร้องขอพิจารณาว่าจะส่งบุคคลนั้นข้ามแดนให้แก่ประเทศใด โดยนำเหตุผลดังต่อไปนี้มาพิจารณาทั้งหมด 1)ประเทศผู้ร้องขอมีหรือไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย 2)สัญชาติของบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว 3)เวลาและสถานที่กระทำความผิด 4)ความร้ายแรงของความผิด 5) ลำดับคำร้องขอที่ได้รับจากประเทศผู้ร้องขอ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 10.กำหนดหลักการว่าบุคคลที่ถูกส่งตัวไป จะไม่ถูกลงโทษในความผิดอื่น นอกเหนือจากในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 11.กำหนดขั้นตอนการวินิจฉัยคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการส่งมอบตัวบุคคลในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 12.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนกระทั่งถึงเวลาส่งมอบตัว

“ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและการดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากร่างสนธิสัญญาไม่ได้มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

“มาริษ” ไม่หนักใจรับไม้ต่อ “ปานปรีย์” โวเป็นลูกหม้อเก่า กต.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 พฤษภาคม 2567 ทำเนียบ – “มาริษ” มั่นใจทำงานได้แม้ไร้ตำแหน่งรองนายกฯ ไม่หนักใจรับไม้ต่อ “ปานปรีย์” โวลูกหม้อเก่าบัวแก้ว ปัดแจงกระแสใกล้ชิด “ทักษิณ”

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ โดยที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าสำหรับตนเองแล้วตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็น เพราะตนเองสามารถทำงานได้ไม่มีข้อจำกัด พร้อมเปิดเผยว่าตนเองไม่หนักใจที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อจากนายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีผลงานเป็นที่ชื่นชม และมั่นใจว่าตนเองก็เคยเป็นเอกอัครราชทูตมาหลายประเทศ และเป็นลูกหม้อของกระทรวงการต่างประเทศมาก่อนเช่นกัน จึงไม่หนักใจใดๆ

ส่วนนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายงานใดๆ ให้แล้วหรือไม่นั้น นายมาริษ ชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ได้มีการมอบหมายงานใดๆ เนื่องจากยังไม่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตน

ส่วนได้มีการพูดคุยกับนายปานปรีย์ ในฐานะที่เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับนายปานปรีย์มาก่อนหรือไม่นั้น นายมาริษ ยอมรับว่าได้มีการพูดกัน แต่ไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องงาน ซึ่งนายปานปรีย์ได้ฝากสานงานต่อ แต่ตนเองยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากยังไม่ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ

นายมาริษ ยังปฏิเสธที่จะชี้แจงถึงกระแสข่าวที่ตนเองนั้นมีความสนิทสนมกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาก่อน

Advertisement

“ปานปรีย์” เสนอเนเธอร์แลนด์ ขอฟรีวีซ่าเชงเก้นให้คนไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กุมภาพันธ์ 2567 เบลเยียม – “ปานปรีย์” หารือ รมว.กต.เนเธอร์แลนด์ ขอเสียงโหวตหนุนไทยนั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน-ขอฟรีวีซ่าเชงเก้นให้คนไทย

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก (EU Indo-Pacific Ministerial Forum-IPMF) ครั้งที่ 3 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือทวิภาคีกับนางสาวฮังเกอ แบร็วนส์ สโลต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์

โดยทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยแนวทางการผลักดันความร่วมมือทวิภาคีเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การจัดการน้ำ การเกษตรอัจฉริยะ พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมถึงแนวทางการสนับสนุนบทบาท และยุทธศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน

ในโอกาสนี้ นายปานปรีย์ ได้ขอรับการสนับสนุนจากเนเธอร์แลนด์สำหรับการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ของไทย วาระปี ค.ศ. 2025-2027 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป และการขอยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือ เดินทางธรรมดาของไทย

Advertisement

Verified by ExactMetrics