วันที่ 1 พฤษภาคม 2025

นายกฯ หารือทวิภาคีนายกฯ ภูฏาน กระชับความร่วมมือท่องเที่ยว-การศึกษา-กรอบพหุภาคี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 เมษายน 2568 ทำเนียบ – นายกรัฐมนตรี หารือ ทวิภาคีนายกรัฐมนตรีภูฏาน กระชับความร่วมมือของสองประเทศ ด้านการท่องเที่ยว -การศึกษา และกรอบพหุภาคี ขณะที่นายกฯ ภูฏาน ชื่นชมไทยบริหารจัดการภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าพบหารือ ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ในโอกาสเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมผู้นำบิมสเทค

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมต่อการเตรียมการของภูฏาน สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนภูฏานนอย่างเป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ซึ่งการเสด็จเยือนครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ภูฏาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยและภูฏาน พร้อมประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การเสด็จเยือนเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ โดยนายกรัฐมนตรีภูฏาน เน้นย้ำว่า รัฐบาลและประชาชน ภูฏาน พร้อมถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ รวมถึงจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-ภูฏานตลอดปีนี้

ขณะที่นายกรัฐมนตรีภูฏาน แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏานนได้ทรงส่งความห่วงใยและกำลังใจมายังรัฐบาลและประชาชนไทย โดยนายกรัฐมนตรีภูฏาน ยังชื่นชมการบริหารจัดการสถานการณ์ของรัฐบาลที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงมาตรฐานการก่อสร้างของไทยที่สามารถทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนได้อย่างดี สะท้อนถึงความพร้อมของไทยในการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ

สำหรับประเด็นการหารือ ในด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ผู้นำทั้งสองประเทศ เห็นพ้องถึงศักยภาพของความตกลงการค้าเสรีไทย-ภูฏาน ที่เพิ่งบรรลุการเจรจาในระยะเวลาเพียง 9 เดือน และจะลงนามหลังจากการหารือนี้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยไทยสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมืองอัจฉริยะ และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูฏาน

ด้านการพัฒนา นายกรัฐมนตรีภูฏานขอบคุณความร่วมมือและการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในการส่งเสริมการนำนโยบาย “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” (OTOP) ของไทย มาวางแนวทางปรับใช้ในโครงการ “One Gewog, One Product” (OGOP) โดยทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่านโยบายนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพของชุมชนและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของภูฏานให้เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น

ส่วนด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีไทยและภูฏาน เห็นพ้องสนับสนุนนโยบาย “Two Kingdoms, One Destination” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างไทยและภูฏาน โดยนายกรัฐมนตรียังได้เชิญชวนภูฏานเข้าร่วมงานส่งเสริมการท่องเที่ยว “Thailand Travel Mart Plus” ที่จังหวัดเชียงใหม่ในเดือนมิถุนายน 2568 ซึ่งเป็นงานสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้พบปะและสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

ด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นายกรัฐมนตรี ยืนยันถึงความพร้อมในการให้ทุนการศึกษาและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างไทยและภูฏาน โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูง และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในโลกยุคดิจิทัล นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะแก่เยาวชนไทยในอุตสาหกรรมการบริการ อาหาร และสุขภาพ เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคและพหุภาคี นายกรัฐมนตรีภูฏาน กล่าวชื่นชมการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด BIMSTEC ครั้งที่ 6 ของไทย และภูฏาน พร้อมสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้นำทั้งสองเชื่อว่าการปะชุมผู้นำบิมสเทคครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือภายใน BIMSTEC และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม

จากนั้น เวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีไทยและภูฏาน ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ภูฏาน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศในระยะยาว

Advertisement

ไทย – อินเดีย ยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ลงนาม MOU 6 ฉบับ ผลักดันเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 เมษายน 2568 ทำเนียบรัฐบาล – ไทย – อินเดีย ยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ลงนามบันทึกความเข้าใจ 6 ฉบับ กระชับความร่วมมือผลักดันเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน พัฒนาความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายนเรนทร โมที (H.E. Mr. Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามปฏิญญาและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและอินเดีย จำนวน 6 ฉบับ ดังนี้

1) ปฏิญญาร่วมว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-อินเดีย (Joint Declaration on the Establishment of Thailand-India Strategic Partnership)

2) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศอินเดีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (MOU Between The Ministry Of Digital Economy And Society And The Ministry Of Electronics And Information Technology Of India On Cooperation In The Fields Of Digital Technologies)

3) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงท่าเรือ การขนส่ง และเส้นทางน้ำ ของอินเดีย และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ว่าด้วยการพัฒนาโครงการศูนย์มรดกทางทะเลแห่งชาติ เมืองโลธาล รัฐคุชราต (MOU Between Sagarmala Division, Ministry Of Ports, Shipping And Waterways, Government Of India And The Fine Arts Department, Ministry Of Culture For Development Of National Maritime Heritage Complex (NMHC), At Lothal, Gujarat)

4) บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท National Small Industries Corporation Ltd. (NSIC) แห่งอินเดีย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MOU Between National Small Industries Corporation Ltd. (NSIC), The Republic Of India And Office Of Small And Medium Enterprises Promotion (OSMEP), The Kingdom Of Thailand

5) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยความร่วมมือด้านหัตถกรรมและการพัฒนาชุมชนช่างฝีมือ (MOU Between The Ministry Of Development Of North Eastern Region Of The Republic Of India And The Ministry Of Foreign Affairs On Cooperation In Artisanal Crafts And Development Of Artisanal Communities)

6) บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท North Eastern Handicrafts & Handlooms Development Corporation Ltd (NEHHDC) ของอินเดีย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) (MOU between North Eastern Handicrafts & Handlooms Development Corporation Ltd (NEHHDC) of India and Creative Economy Agency (CEA) of Thailand)

จากนั้น นายกรัฐมนตรีไทยและอินเดียร่วมพิธีมอบพระไตรปิฏกสากล ฉบับสัชฌายะ พร้อมแถลงข่าวร่วมกัน

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวในนามรัฐบาลและประชาชนไทย ยินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดียและคณะ ในโอกาสเดินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ โดยทั้งสองฝ่ายได้บรรลุเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งก้าวสำคัญนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและมีพลวัตระหว่างสองประเทศเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโต ความก้าวหน้า และความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศและของภูมิภาค รวมทั้งสองฝ่ายยังเป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกความเข้าใจจำนวนหลายฉบับ ครอบคลุมความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนา การศึกษา และวัฒนธรรม สะท้อนความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

ผู้นำทั้งสองยังได้ตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง ความร่วมมือทางอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ การซ้อมรบร่วม และการแบ่งปันแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการรับมือกับภัยคุกคามทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่

ในด้านเศรษฐกิจ อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเมื่อปี 2567 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอให้ร่วมกันเจรจาปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดียให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในการลงทุนระหว่างกัน

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้แสดงความเสียใจ อย่างต่อการสูญเสียในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาโดยเร่งด่วนแล้ว และในระยะต่อไป ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอย่างยั่งยืนต่อไป

ผู้นำทั้งสองได้หารือถึงการพัฒนาเส้นทางพุทธศาสนา (Buddhist Circuit) ให้ขยายครอบคลุมถึงรัฐสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะรัฐคุชราต ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงสถานที่สำคัญกับประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในบิมสเทค ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวระหว่างไทยและอินเดียมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้สนับสนุนการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินและการเปิดเส้นทางบินใหม่ไปยังเมืองน่าเที่ยวของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ไทยและอินเดียยังเห็นพ้องที่จะจัดตั้งกลไกการหารือระหว่างกรมการกงสุล เพื่อการคุ้มครองดูแลคนชาติของกันและกันด้วย

ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเวทีพหุภาคีต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงบิมสเทค อาเซียน BRICS และ OECD โดยประเทศไทยพร้อมทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างกรอบความร่วมมือที่ไทยเป็นสมาชิกทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเยือนไทยในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดียและการประกาศยกระดับความสัมพันธ์ไทย-อินเดียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ไม่เพียงแต่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับความสัมพันธ์อันยาวนานของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะปูรากฐานความร่วมมืออันลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างกันต่อไป

ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลไทยสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว โดยเน้นย้ำถึงสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาระหว่างอินเดียและไทย โดยเฉพาะอิทธิพลของพุทธศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี และความมั่นคง โดยอินเดียได้ให้บริการ Free Visa แก่ชาวไทยและร่วมมือกับไทยในประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งทั้งสองประเทศยังยืนยันจุดยืนร่วมกันต่อเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่เสรี เปิดกว้าง ครอบคลุม และยึดหลักกฎหมาย ทั้งนี้ อินเดียพร้อมเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานได้ผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคอย่างแข็งขัน

Advertisement

ประธานผู้แทนการค้าไทยหารือแคนาดา เสริมแกร่งนโยบาย ODOS พร้อมผลักดันโครงการวิจัย AI และควอนตัม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 มีนาคม 2568 ประธานผู้แทนการค้าไทยหารือ MITACS แคนาดา เร่งขับเคลื่อนความร่วมมือด้านวิจัย นวัตกรรม และแลกเปลี่ยนนักวิชาการ เสริมความแข็งแกร่งนโยบาย ODOS พร้อมผลักดันโครงการวิจัย AI และควอนตัม

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 ดร.นลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย พร้อมด้วยนายกัลยาณะ วิภัติภูมิประเทศ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา และคณะ ได้พบและหารือกับผู้บริหารขององค์กร MITACS เกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านวิจัย พัฒนานวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักศึกษาระหว่างไทยและแคนาดา

MITACS เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรของแคนาดาที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาผ่านโครงการวิจัยร่วมระดับชาติและนานาชาติ โดยเฉพาะ Accelerate Program ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมออกแบบหัวข้องานวิจัยและรับนักวิจัยเข้าร่วมพัฒนาโครงการจริง ซึ่งช่วยสร้างทักษะและขีดความสามารถให้กับบุคลากรทั้งสองประเทศ

ดร. นลินี เผยเพิ่มเติมว่า MITACS ได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง MITACS กับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (Council of University Presidents of Thailand) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเปิดโอกาสให้นักวิจัย นักศึกษา และคณาจารย์จากไทยสามารถเข้าร่วมโครงการวิจัยระดับนานาชาติในแคนาดาได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2569

ประธานผู้แทนการค้าไทยได้เน้นย้ำว่า แนวทางดำเนินงานของ MITACS สอดคล้องกับโครงการ One District One Scholarship (ODOS) ของรัฐบาลไทย ที่มุ่งส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาระดับสากลให้กับเยาวชนไทยในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ความร่วมมือกับ MITACS จึงสามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการสนับสนุนทุนการศึกษา ODOS และพัฒนาทุนมนุษย์ของไทยอย่างยั่งยืน ตลอดจนจะตอบสนองการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชนระหว่างสองประเทศด้วย

ประธานผู้แทนการค้าไทยได้รับทราบว่า ขณะนี้มีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยของไทยร่วมกันนำเสนอหัวข้อวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในแคนาดาแล้วถึง 15 โครงการ ในหัวข้อ เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Computing) สำหรับหัวข้ออื่น ๆ ที่มีผู้สนใจประกอบด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI), การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืน

MITACS ยังเน้นบทบาทของตนในฐานะกลไกสนับสนุนนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของแคนาดา โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคน การส่งเสริมนวัตกรรม และการสร้างความเชื่อมโยงในระดับประชาชน (people-to-people connectivity) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของไทยในการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและความร่วมมือด้านการศึกษาระดับโลก

การหารือครั้งนี้สะท้อนถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับพันธมิตรระหว่างประเทศ และการผลักดันนโยบายที่สร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้พัฒนาตนเองบนเวทีโลกให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นอย่างแท้จริง

นายกรัฐมนตรีเนปาลเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 มีนาคม 2568 นายกรัฐมนตรีแพทองธาร เตรียมให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีเนปาลเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมร่วมยกระดับความร่วมมือในหลากหลายมิติ อย่างรอบด้าน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมให้การต้อนรับ นายเค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาล และภริยา โดยมีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 1-5 เมษายน 2568 นี้ ตามคำเชิญของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถือเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีเนปาลนับตั้งแต่ไทยกับเนปาล สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันปี 2502

โดยในวันพุธที่ 2 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร พร้อมคณะรัฐมนตรี จะให้การต้อนรับนายกรัฐมนตร เนปาล ที่ทำเนียบรัฐบาล ในพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ  รวมทั้งการหารือข้อราชการ การร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ การแถลงข่าวร่วม และนายกรัฐมนตรีแพทองธาร จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีเนปาล และภริยา

นายจิรายุ กล่าวว่า การเยือนอย่างเป็นทางการในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือกัน เพื่อยกระดับความร่วมมืออย่างรอบด้านในหลายสาขา โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน เกษตรกรรม สาธารณสุข การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบริการ รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคี

นอกจากนี้ ในวันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีเนปาลจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

 

นายกฯ ไทย-ลาว หารือกระชับความร่วมมือทุกมิติ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 กุมภาพันธ์ 2568 ทำเนียบ – นายกฯ ไทย-ลาว หารือกระชับความร่วมมือปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์-ยาเสพติด ขอ สปป ลาว กำหนดหน่วยงานหลักประสานงานปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ กับ ตร.ไทย เสนอ แนวทางแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน พร้อมขยายการค้าสู่เป้าหมายทวิภาคี 11,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2027 ร่วมฉลอง 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ขอให้ลาวกำหนดหน่วยงานหลัก เพื่อประสานงานร่วมกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป ลาว ร่วมหารือข้อราชการเต็มคณะ ภายในตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีต้อนรับนายกรัฐมนตรีนายสอนไซ สีพันดอน ในโอกาสครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว โดยเน้นย้ำถึงมิตรภาพและความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ โดยไทยพร้อมส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การสร้างความมั่นคงชายแดนให้ปราศจากปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และ Online Scam 2.การส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศ และ 3.การเสริมสร้างสายสัมพันธ์อันพิเศษระหว่างประชาชนไทยและลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้ทั้งสองประเทศก้าวหน้าพร้อมกันอย่างยั่งยืน

ด้านนายกรัฐมนตรี สปป ลาว ยินดีที่ไทยและ สปป ลาว มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด โดยเฉพาะในด้านภาษา วัฒนธรรม และประเพณีที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งการเยือนครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเริ่มต้นเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว พร้อมกล่าวแสดงความประทับใจต่อการต้อนรับที่อบอุ่นจากรัฐบาล และหวังว่า ไทยและ สปป.ลาวจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนให้มีการประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในทุกด้าน

ด้านยาเสพติด ทั้งสองฝ่ายต่างมองเห็นถึงความสำคัญในการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันของหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย-ลาว ที่ได้มีการประชุมและสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเข้มงวด

นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวทางเพิ่มเติม เช่น การแลกเปลี่ยนข่าวสารและขยายผลการสืบสวน และการสนับสนุนชุมชนปลอดยาเสพติดด้วยการปลูกพืชทดแทน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะระดับจังหวัด-แขวง

ด้านขบวนการคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงไทยและสปป ลาว เน้นย้ำถึงความสำคัญอย่างยิ่งกับการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กระทบต่อความมั่นคงและประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยไทยชื่นชมความสำเร็จของลาวในการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่แขวงบ่อแก้วเมื่อปีที่ผ่านมา และเสนอให้มีการป้องกันไม่ให้ทรัพยากรต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศถูกใช้ในทางที่ผิดเพื่อละเมิดกฎหมาย

ด้านนายกรัฐมนตรี สปป ลาว พร้อมประสานความร่วมมือกับไทยอย่างต่อเนื่องในการขจัดปัญหาทั้งยาเสพติด คอลเซ็นเตอร์ และความมั่นคงตามชายแดนอื่นๆ ต่อไป

ด้านหมอกควันข้ามแดน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยนายกรัฐมนตรี สปป ลาว ชื่นชมความร่วมมือไทย-ลาว ที่ได้เกิดผลเป็นรูปธรรม และขอบคุณฝ่ายไทยในการสนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการตรวจสอบจุดความร้อน ส่งผลให้จุดความร้อนลดลง และหมอกควันความร้อนลดลง

นอกจากนี้ ไทยได้เสนอแนวทางขยายความร่วมมือเพิ่มเติม เช่น การจัดตั้งห้องปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน รวมถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกันเพื่อการแจ้งเตือนล่วงหน้า รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีจาก GISTDA (จีสด้า) ของไทยในการสนับสนุนการตรวจวัดคุณภาพอากาศ

การค้าชายแดน ผู้นำทั้งสองประเทศได้แสดงความยินดีกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัน โดยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ไทยและ สปป ลาว ขอให้มีการขยายเป้าหมายการค้า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกไปจนถึงปี 2027

โดยนายกรัฐมนตรี ขอบคุณ สปป ลาว ที่ช่วยแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าเกษตรผ่านแดน โดยเฉพาะผลไม้ ซึ่งทำให้การขนส่งราบรื่นและรวดเร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี สปป ลาว ยังเห็นพ้องให้มีการพัฒนาความร่วมมือในด้านการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลดการเผาในอุตสาหกรรมเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในทั้งสองประเทศ

โลจิสติกส์และความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรี สปป.ลาวมองว่าการพัฒนาโลจิสติกส์และความเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว โดยเฉพาะในด้านการคมนาคมทั้งทางบกและราง จะช่วยส่งเสริมบทบาทของทั้งสองประเทศ และยินดีกับการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งจะมีการเชื่อมกึ่งกลางสะพานเร็ว ๆ นี้ และจะมีพิธีเปิดในช่วงปลายปีนี้ ด้านนายกรัฐมนตรีหวังว่าจะร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างไทย-ลาว-จีน ในอนาคต รวมทั้งการสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ที่หนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อรองรับการขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย

ความสัมพันธ์ระดับประชาชน นายกรัฐมนตรี ยินดีในการร่วมเปิดตัวตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว พร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองกว่า 20 โครงการตลอดปี โดยไฮไลต์สำคัญคือการมอบทุนการศึกษา 75 ทุนให้แก่ สปป.ลาว เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเยาวชน พร้อมกล่าวขอให้นายกรัฐมนตรี สปป ลาวช่วยดูแลนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวไทยด้วย

ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีกับความสำเร็จของ สปป ลาว ในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว และสนับสนุนให้ทั้งสองประเทศร่วมมือกันในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน นอกจากนี้ ยังเชิญนายกรัฐมนตรีลาวเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC Summit) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี้

ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี สปป ลาว กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่จะได้ร่วมเปิดตัวตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาวครบ 75 ปี ร่วมกับนายกรัฐตรีหลังจากนี้ รวมถึงขอบคุณรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเยาวชน ให้แก่ สปป ลาว นอกจากนี้ ยังยินดีที่มีนักธุรกิจไทยและนักท่องเที่ยวไทยมีการลงทุนและเดินทางในประเทศลาวจำนวนมาก โดยสปป ลาว พร้อมยินดีดูแลนักคนไทยและนักลงทุนไทยพร้อมหวังว่าไทยจะดูแลนักท่องเที่ยวลาว รวมถึงแรงงานลาวในไทยเช่นกัน

Advertisement

นายกฯ ย้ำ หารืออาชญากรรมออนไลน์ไทย-จีน ช่วงเยือนจีน จะคืบหน้าแน่นอน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 กุมภาพันธ์ 2568 นายกฯ ย้ำ การหารือเรื่องอาชญากรรมออนไลน์ระหว่างไทย-จีน ช่วงเยือนจีน จะต้องมีความคืบหน้าอย่างแน่นอน

วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 12.00 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงประเด็นในการเดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ จะมีการพูดคุยถึงประเด็นความร่วมมือทางด้านอาชญากรรมออนไลน์ด้วยหรือไม่นั้นว่า  จะต้องมีการพูดคุยกันแน่นอน ซึ่งอาชญากรรมออนไลน์เป็นปัญหาของทั่วโลก ไม่ใช่แค่กับประเทศจีน ในส่วนนี้จะต้องมีการพูดคุย หาแนวทางโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ช่วยจัดการ และต้องอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกัน ปัญหาดังกล่าวทางประเทศจีนเล็งเห็นถึงปัญหาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในเรื่องของการขอความร่วมมือไม่น่าจะเป็นปัญหา และในช่วงบ่ายของวันนี้ นายหลิว จงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน จะเข้าพบนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย

ส่วนเรื่องของการที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีจีนที่ได้เข้ามาพูดคุยอย่างไม่เป็นการนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นการเดินทางมาแบบไม่เป็นทางการ รัฐบาลไม่ได้รับทราบหรือไปต้อนรับ เพราะการเดินทางมาครั้งนี้เป็นการเดินทางมาด้วยตัวเอง ทั้งนี้ กับประเทศจีนไม่ได้มีความเข้าใจผิด และไม่เป็นปัญหาแน่นอน และการเดินทางไปจีนครั้งนี้จะต้องมีความคืบหน้า เพราะปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ เป็นปัญหาของประเทศจีนด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยเพียงประเทศเดียว เพราะฉะนั้นการที่จะไปพูดคุยถึงเรื่องนี้ต้องได้รับความคืบหน้าอย่างแน่นอน

Advertisement

 

นายกฯสั่ง มท.เพิ่มความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง จว.ของไทยกับเมือง-มณฑลของจีน จาก 38 คู่ เป็น 50 คู่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 มกราคม 2568 นายกฯย้ำใน ครม. ทุกกระทรวงทำงบประมาณ 69 ต้องประหยัดและคุ้มค่าตรงความต้องการของประชาชน ส่วนโครงการสำคัญของประเทศต้องเร่งดำเนินการ ทั้งรถไฟความเร็วสูง อีสาน รางคู่ ภาคใต้ ขณะที่ ผลประชุมดาวอส ที่ประชุม ครม. ชื่นชมประเทศไทยได้อะไรมากกว่าที่คิด

วันนี้ (28 มกราคม 2568) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุม คณะรัฐมนตรีครั้งที่ 4 ประจำปี 2568 นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ได้สรุปผลของประเทศไทยจากการร่วมประชุม World Economic Forum 2025 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือว่าเป็นการนำเอาศักยภาพของไทยในด้านต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ไปโชว์ในเวทีโลกครั้งนี้ ซึ่งคณะรัฐบาล และผู้แทนประเทศไทยในทุกภาคส่วนได้มีโอกาสพบผู้นำระดับประเทศหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ ภูฏาน มอนเตเนโกร สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อาร์เมเนีย รวมถึงผู้นำภาคเอกชน เช่น Google, Bayer, DP world, Coca-Cola, AstraZeneca และ AWS รวมๆ แล้วกว่า 20 รายการตลอดการประชุม 3 วัน ซึ่งประเทศไทยได้แสดงถึง ศักยภาพของไทย 3 ด้าน คือ

– Logistic hub of Asia โดยเชิญชวนนักลงทุนว่าประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ได้เปรียบ มีความมั่นคง และเป็นกลางทางการเมือง รัฐบาลจึงได้สานต่อโครงการ LandBridge รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รวมถึง Aviation hub ที่จะมีการสร้างสนามบินขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากนโยบายในรัฐบาลนายกฯ นายเศรษฐา ทวีสิน โดยขอให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนและเร่งรัดกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ Landbridge เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งในเรื่องแผนงาน และกรอบระยะเวลาของโครงการต่อไป

– Kitchen of the World รัฐบาลได้มุ่งเน้นที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security สู่การเป็น World Food storage เพราะไทยมีผลผลิตทางการเกษตรที่เพียงพอและมั่นคง ซึ่งจะเป็น soft power ที่สำคัญของไทย ขอให้ ประทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำแผนร่วมกันเพื่อให้เกิดการส่งออกสินค้าเกษตรไทย และวัตถุดิบอาหารไทย ไปยังตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นทั้งในแง่ปริมาณ และมูลค่าการส่งออก

– Green energy resources ประเทศไทยพร้อมในการผลักดันด้านพลังงานสะอาด รองรับการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น AWS, Google, Microsoft โดยพลังงานสะอาดถือเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงทุน ขอให้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแผน และแนวทางในการสร้างพลังงานสะอาด ที่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุนจากต่างชาติ

นอกจากนั้น การเดินทางไปครั้งนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสธุรกิจใหม่ๆ นายกรัฐมนตรีได้แนะนำให้ประเทศต่าง ๆ เห็นถึงศักยภาพที่มีอยู่ของประเทศไทย โดยได้มีการทำ Business Matching ที่จะให้บริษัทของไทย และต่างประเทศได้มีการร่วมทำธุรกิจ ตลอดจนหาแนวทางที่จะยกระดับศักยภาพของคนไทย Upskill / Reskill เพื่อรองรับ Future Industry ที่จะเกิดการลงทุนในไทย

นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมว่าผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการประชุมสำคัญระดับโลกครั้งนี้ คือ การลงนาม FTA Thai-EFTA ได้สำเร็จลุล่วงโดย กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้การค้าการลงทุนของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ มีศักยภาพที่เพิ่มขึ้น ขอให้ กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงการต่างประเทศ เร่งรัดการเจรจา FTA ในเขตการค้าอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ETA Thai-EU ให้สำเร็จโดยเร็ว

สำหรับข้อสั่งการที่ 2  เป็นเรื่องครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีนขอให้ทุกกระทรวงดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามภารกิจของกระทรวง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศให้แนบแน่นยิ่งขึ้น เช่น

– ให้ กระทรวงมหาดไทยพิจารณาสถาปนาความสัมพันธ์แบบเมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดของไทยกับเมืองหรือมณฑลกับประเทศจีน ที่ปัจจุบันมีอยู่แล้วถึง 38 คู่ความสัมพันธ์ โดยเพิ่มเป็น 50 คู่ความสัมพันธ์

– ให้ กระทรวงคมนาคม พิจารณาเร่งรัดกรณีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างไทยและ สปป. ลาว ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศจีนได้ร้องขอให้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว

– ให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัด Promotion ส่งเสริมการท่องเที่ยว ไทย-จีน

ข้อสั่งการที่ 3 เรื่อง ปัญหา PM 2.5 ขอให้แต่ละกระทรวง นำเสนอว่ามีมาตรการอะไรบ้าง และขอย้ำกับทาง กระทรวงอุตสาหกรรม ในเรื่องอ้อย ซึ่งยังเห็นการเผาไร่อ้อยในบางพื้นที่ ขอให้ทาง กระทรวงอุตสาหกรรมกวดขันเรื่องนี้ และหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการเผา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ PM 2.5

ข้อสั่งการเรื่องที่ 4  ให้ดำเนินการศึกษาเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วง อ.หาดใหญ่ไปยัง อ.สุไหงโกลกจากการที่นายกรัฐมนตรี ไปตรวจราชการ และมีการประชุมที่จังหวัดยะลา การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เสนอเส้นทางรถไฟทางคู่ ระยะที่สอง ซึ่งเป็นการดำเนินการ ต่อจากระยะที่หนึ่ง เพื่อเป็นการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทั้งในด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งโครงการรถไฟทางคู่ระยะสองนั้น ขอให้การรถไฟฯ ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมในเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่ไปยังสุไหงโกลก โดยขอให้สำนักงบประมาณช่วยสนับสนุนงบประมาณในการศึกษา และออกแบบเบื้องต้นตามที่จำเป็น และเหมาะสม เป็นไปตามกฎหมาย

ข้อสั่งการเรื่องที่ 5 เรื่อง การเสนอคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 ในวันนี้มีหน่วยรับงบประมาณที่เสนอคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีที่มีวงเงินตั้งแต่ 1000 ล้านบาทขึ้นไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 มีอยู่อย่างจำกัด และมีภาระหนี้ที่เกือบชนเพดาน ตลอดจนเกิดภาระหนี้ผูกพันข้ามปีเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพ และสามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนตามนโยบายที่ได้ให้ไว้ขอมอบหมาย ดังนี้

1.ให้รัฐมนตรี เจ้าสังกัดทุกท่านกำกับดูแลหน่วยรับงบประมาณให้จัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สุงสุดแก่ประชาชน รวมทั้ง พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลตลอดจนให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณ พิจารณานำเงินนอกงบประมาณ เงินรายได้ และเงินสะสม มาใช้ในการดำเนินภารกิจเป็นลำดับแรก

2.ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน และสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของประเทศต่อไป

Advertisement

นายกฯ เตรียมคุย “สี จิ้นผิง” จับมือแก้คอลเซ็นเตอร์-ฝุ่นควัน หวังแก้ปัญหาสำเร็จเร็วขึ้น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 มกราคม 2568 นายกฯ เตรียมคุย “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” จับมือแก้คอลเซ็นเตอร์-ฝุ่นควัน หวังให้ร่วมมือกันจะแก้ไขปัญหาสำเร็จเร็วขึ้น

วันนี้ (28 มกราคม 2568) เวลา 12.30 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 5 – 8 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า ประเด็นทางด้านการท่องเที่ยวตรุษจีน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะมีการพูดคุยหารือนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนในการเดินทางไปครั้งนี้  โดยคาดว่าทางประเทศจีนต้องการที่จะหารือในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน มีความสัมพันธ์ร่วมกันแบบพี่น้องกันมาตลอด เพราะฉะนั้นในการเดินไปในครั้งนี้ เรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฝุ่นควัน จะพูดคุยร่วมกัน รวมถึงการพูดคุยหารือเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไป เพราะปีนี้ประเทศไทยและประเทศจีนจะมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากประเทศจีนให้ช่วยเรื่องโซเชียลปล่อยข่าวลือหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ได้หารือเรื่องนี้โดยตรงแล้ว และการที่เดินทางไปจีนครั้งนี้ เพื่อหารือขอความร่วมมือในเรื่องนี้อยู่แล้ว และจากการที่ได้ใช้ AI ทำการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจเป็นภาษาจีนนั้น ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีและทางการจีน นั้นก็ได้แสดงความชื่นชมที่ได้ใช้ภาษาจีน

ส่วนประเด็นที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องการให้นายกฯ ตั้งทีมงานเพื่อติดตามความคิดเห็นทางโซเชียลวต่อประเด็นปัญหาต่าง ๆ นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าว มีการตั้งการตั้งทีมมอนิเตอร์ว่าข่าวเท็จที่เกี่ยวกับประเทศไทยอยู่แล้ว โดยเป็นกลไกของกระทรวงดีอีอยู่แล้ว ที่ต้องปกป้องภาพลักษณ์ของประเทศ

เมื่อถามย้ำว่า จะนำประเด็นนี้ไปพูดคุยกับทางการจีนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความจริงแล้วการพูดคุยกับนายสี จิ้นผิง จะเป็นการพูดคุยกันในภาพรวม ส่วนเนื้อหาและรายละเอียดต้องให้กระทรวงดีอีเป็นคนไปพูดคุยต่อไป ซึ่งในส่วนของตนเองก็จะแสดงความห่วงใยในเรื่องคอลเซ็นเตอร์ และพูดคุยในหัวข้อหลัก

Advertisement

“มาริษ” – “ท่านทูตหาน” เปิดตัวตราสัญลักษณ์ฉลองสัมพันธ์ ไทย – จีน 50 ปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 พฤศจิกายน 2567 “มาริษ” จับมือ “ทูตหาน” เปิดตัวตราสัญลักษณ์ฉลองสัมพันธ์ 50 ปี ก้าวสู่ “ปีทองมิตรภาพไทย – จีน” ภายใต้ยุทธศาสตร์ผู้นำ ‘สี จิ้นผิง-แพทองธาร’

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ​ ร่วมกับ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน สมาคมมิตรภาพไทย – จีน ภาคเอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน ร่วมงานเปิดตัวตราสัญลักษณ์ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ณ สุราลัย ฮอลล์ ชั้น 7 ไอคอนสยามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยกับจีนมีความร่วมมือกันมาตลอด 50 ปี ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านปัญหา ผ่านความยากลำบาก ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาโดยตลอด ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนให้เกิดความเจริญก้าวหน้าระหว่างกัน เปรียบเสมือนเป็นผู้ใกล้ชิด ญาติสนิท สมดังคำกล่าวที่พูดกันเสมอมาว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือต่อไปอย่างใกล้ชิดในอนาคต เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองประเทศ และสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน ปี 2568 จึงถือเป็นปีทองของไทยกับจีน มีการจัดเตรียมกิจกรรมมากมาย อาทิ การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง มาประดิษฐานในไทย 73 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2567 ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้กับประชาชนถึงมิตรภาพที่สำคัญระหว่างไทยกับจีนตลอด 50 ปี ผ่านตราสัญลักษณ์นี้

“ในการประชุมเอเปค ท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวกับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ถึงสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างไทยกับจีนตลอด 50 ปีที่ผ่านมาว่า ทั้งสองประเทศมีสัมพันธ์พิเศษที่ไม่มีประเทศไหนมี ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศของไทยกับจีนจะขับเคลื่อนสัมพันธ์พิเศษระหว่างไทยและจีนก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและครอบคลุมทุกมิติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี แพทองธาร พบที่กรุงลิมา ประเทศเปรู และบรรลุฉันทามติใหม่ที่สำคัญ เกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ภายใต้การนำเชิงยุทธศาสตร์ของผู้นำทั้งสองประเทศ โดยในปีหน้า จีนกับไทยจะร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี หรือปีทองแห่งมิตรภาพจีน – ไทย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีน – ไทย และเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ของความสัมพันธ์จีน – ไทย งานเปิดตัวตราสัญลักษณ์ฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์จีน – ไทยในวันนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นของกิจกรรมเฉลิมฉลองมากมาย ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ระหว่างประเทศที่สับสนวุ่นวาย จีนจะยึดมั่นในเส้นทางการพัฒนาอย่างสันติ และจะส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและการเปิดกว้างในระดับสูง ฝ่ายจีนจะสานต่อมิตรภาพที่ยาวนานระหว่างจีน – ไทย และส่งเสริมการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีน – ไทยอย่างแน่วแน่ สนับสนุนให้ไทยประสบความสำเร็จมากขึ้นในเส้นทางการพัฒนาประเทศของตนเอง และจะเป็นมิตรที่เชื่อถือได้ และพึ่งพาได้สำหรับประเทศไทยตลอด“ตราบใดที่เรายังคงรักษาปณิธานของการเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรที่จริงใจต่อกัน และจับมือก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน จีน – ไทย และประชาชนของทั้งสองประเทศ ก็จะสามารถมีอนาคตอันสดใสที่เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาโดยอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ผู้แทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสมาคมมิตรภาพไทย – จีน ตลอดจนการประกาศความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและ POP MART INTERNATIONAL GROUP กิจกรรมร่วมกับนักแสดงชาวไทย นายชานน สันตินธรกุล และการแสดงชุด “ตอแบ๋ตั๋วะ” โดยคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ด้วย

Advertisement

คณะผู้แทนไทยเตรียมพร้อม 10 ประเด็นการเจรจา COP29

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 พฤศจิกายน 2567 สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน – คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม COP29 อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเตรียมพร้อม 10 ประเด็นเจรจานานาชาติสำหรับการประชุม High-level

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ประชุมร่วมกับคณะผู้แทนไทย เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการเจรจาในช่วงสัปดาห์แรก เตรียมพร้อมก่อนเข้าร่วมการประชุมระดับสูง (Resumed high-level segment) ของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยจะนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมระหว่างวันที่ 19 – 20 พ.ย. 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

สำหรับความก้าวหน้าผลการเจรจาในสัปดาห์แรกของการประชุม COP29 มีประเด็นสำคัญ 10 ประเด็น ดังนี้ 1) เป้าหมายทางการเงินครั้งใหม่ (New Collective Quantified Goal: NCQG) เพื่อระบุจำนวนเงินต่อปีที่ชัดเจนความโปร่งใสของการสนับสนุน และการเข้าถึงได้ง่ายของประเทศกำลังพัฒนา 2) การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) เพื่อจัดทำในครั้งที่ 2 และเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่การจัดทำ NDC 2035 และการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิก 3) การกำหนดตัวชี้วัดเพื่อขับเคลื่อนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายระดับโลก 4) การเร่งสร้างกติกาและกลไกดำเนินงานของกองทุนจัดการความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund) 5) การหาข้อสรุปให้เกิดความร่วมมือและกลไกที่เอื้ออำนวยการดำเนินงานระหว่างภาคีด้านคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส 6) การสร้างช่องทางออนไลน์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภาคเกษตรด้านวิชาการและสนับสนุนทางการเงิน 7) การเสริมพลังเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ (Action for Climate Empowerment: ACE 8) การกำหนดสาระของรายงานผลความคืบหน้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสองปี ที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องจัดส่งภายในสิ้นปี ค.ศ. 2024 9) การขับเคลื่อนศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น โดยเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีและสนับสนุนทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้ว และ 10) การสร้างกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยจะติดตามประเด็นต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบกับประเทศไทยซึ่งจะเชื่อมโยงกับการจัดทำนโยบาย การดำเนินงาน และการรับการสนับสนุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Advertisement

Verified by ExactMetrics