วันที่ 29 เมษายน 2024

ครู ‘สอนดี’ ต้องจบศึกษาศาสตร์หรือไม่ : ข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ TDRI

People unity news online : จากการที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศการสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการครูปี 2560 โดยเปิดรับสมัครผู้จบการศึกษาจากสาขาอื่นที่ไม่ใช่ศึกษาศาสตร์ ได้เกิดข้อถกเถียงว่านโยบายนี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเปิดรับสมัครเฉพาะผู้จบสาขาศึกษาศาสตร์หรือไม่

ผู้เขียนเห็นว่าระบบการศึกษาควรมีการเปิดรับทั้งสองวิธีการควบคู่กัน โดยการเปิดรับสมัครผู้จบสาขาศึกษาศาสตร์เป็นวิธีการหลัก ส่วนการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปเป็นวิธีเสริมสำหรับพื้นที่ที่มีความขาดแคลนครูในสาขาขาดแคลนและการสรรหาครูอาชีวศึกษาซึ่งต้องการการบริหารที่แตกต่างจากครูสายสามัญ หากไม่มีความขาดแคลนครู การเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปจะเป็นการสิ้นเปลือง เพราะต้องเพิ่มงบประมาณในการคัดเลือกและการฝึกอบรมเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การวัดความขาดแคลนครูควรพิจารณาจากจำนวนผู้สอบผ่านรายสาขาเปรียบเทียบกับความต้องการในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการควรเปิดเผยต่อสาธารณะ

ผู้เขียนยังเห็นว่าการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการคัดเลือกคนเก่งและลดความขาดแคลนครูบางสาขา แต่ไม่สามารถรับประกันว่าจะได้ครูสอนดี ซึ่งหมายถึงครูที่มีความรู้ความสามารถด้านการสอนทั่วไปและการสอนในวิชาเฉพาะ เช่น ครูคณิตศาสตร์ควรสามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ว่า ทำไมนักเรียนเข้าใจผิดว่า “0.2 x 6 มากกว่า 6/0.2” หรือหาตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่ช่วยให้นักเรียนใจความหมายของ “1¼ หารด้วย ½” ได้

การสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการในปัจจุบันยังเป็นการคัดเลือกคนเก่งเนื้อหาวิชามากกว่าครูสอนดี เพราะข้อสอบวัดเฉพาะเนื้อหาความรู้วิชาเอก ความรู้รอบตัวและความรู้เรื่องกฎหมายการศึกษา  ไม่มีการทดสอบความสามารถด้านการสอนในวิชาเอก นอกจากนี้ ผู้สอบผ่านบางคนจะได้สอนนักเรียน ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการสอน

โดยปัจจุบัน คุรุสภาอนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเข้าสอนได้ชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี และกำหนดเพียงว่าผู้นั้นต้องพัฒนาตนเองจนได้รับใบอนุญาตฯภายในระยะเวลาดังกล่าว

หากกระทรวงศึกษาธิการต้องการที่จะเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป  ก็ควรเร่งปรับปรุงการคัดเลือก โดยเพิ่มการทดสอบความสามารถด้านการสอนด้วย และควรต้องจัดหลักสูตรเตรียมความพร้อมด้านการสอนอย่างเข้มข้น ดังกรณีตัวอย่างโครงการ ‘Boston Teacher Residency’ ที่เขตพื้นที่บอสตันเปิดโครงการรับสมัครบุคคลทั่วไปเพื่อลดความขาดแคลนครูสาขาคณิตศาสตร์ โดยให้ทุนการศึกษาซึ่งช่วยดึงดูดคนเก่ง และมีการคัดเลือกผู้สมัครผ่านการทดลองสอนและการทำกิจกรรม ผู้สอบผ่านต้องเข้ารับการเตรียมความพร้อมด้านทฤษฎีก่อนเปิดภาคเรียนและต้องฝึกฝนกับครูพี่เลี้ยงในช่วงเปิดเทอม โดยการสังเกตการสอนของครูพี่เลี้ยง ผลปรากฏว่านักเรียนที่เรียนกับครูในโครงการนี้มีพัฒนาการของผลการเรียนดีกว่านักเรียนกลุ่มอื่น นอกจากนี้  ร้อยละ 86 ของครูในโครงการนี้คงทำงานสอนต่อเนื่องไปนานกว่า 3 ปี ในขณะที่ครูทั่วไปเพียงร้อยละ 53 เท่านั้นที่สอนนานกว่า 3 ปี

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าผู้จบหลักสูตรศึกษาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นครูสอนดีทุกคน จากข้อมูลของ ‘โครงการทดสอบความรู้นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ปีสุดท้าย วิชาเอกคณิตศาสตร์ ในปี 2551 (The Teacher Education and Development Study in. Mathematics: TEDS-M 2008)’ ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมทั้ง 17 ประเทศ นักศึกษาของคณะศึกษาศาสตร์ไทยกลุ่มเก่งที่สุด 20% แรก (TOP 20) มีผลการสอบวิชาการสอนคณิตศาสตร์เทียบเท่ากับคะแนนเฉลี่ยของนักศึกษาสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 ของการทดสอบ ขณะที่กลุ่มอ่อนที่สุดมีผลการสอบใกล้เคียงกับคะแนนเฉลี่ยของนักศึกษาชิลีซึ่งอยู่ในอันดับสุดท้าย

นอกจากนี้ โครงการทดสอบนานาชาติ TIMSS 2011 (Trends in International Mathematics and Science Study) ยังพบด้วยว่า ในปี 2554 ร้อยละ 55 ของนักเรียน ม.2 ของไทย ซึ่งเรียนกับครูรุ่นใหม่ (ประสบการณ์การสอนน้อยกว่า 5 ปี) ถูกสอนให้จําสูตรและวิธีการทําโจทย์เป็นหลักทุกคาบเรียนมากกว่าได้รับการสอนให้เข้าใจเนื้อหาจริงๆ

คณะศึกษาศาสตร์ในประเทศไทยควรปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของตนด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การรับนักศึกษา

คณะศึกษาศาสตร์ที่บางแห่งรับนักศึกษามากเกินความสามารถในการดูแล หลักสูตรที่คุรุสภากำหนดยังไม่มีกลุ่มวิชาการสอนในวิชาเฉพาะ ทั้งที่ประเทศที่มีระบบการศึกษาคุณภาพสูงให้ความสำคัญมาก เช่น มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิในประเทศฟินแลนด์มีกลุ่มวิชานี้ประมาณร้อยละ 21 ของหน่วยกิตทั้งหมด และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพยังขาดการบริหารจัดการที่ดี โดยโครงการ TEDS-M 2008 ได้สำรวจพบว่ามากกว่าครึ่งของนักศึกษาไม่ได้รับการดูแลจากครูพี่เลี้ยง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงเรียนและครูพี่เลี้ยงไม่มีความพร้อมและมีภาระงานหนักอยู่แล้ว ปัญหาเหล่านี้น่าจะแก้ไขได้โดยการปรับปรุงหลักสูตรและการตั้งโรงเรียนเพื่อทำหน้าที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ คุรุสภาควรเพิ่มความเข้มแข็งในการกำกับดูแลคุณภาพผู้จบการศึกษาและคณะศึกษาศาสตร์ โดยการสอบเพื่อออกใบอนุญาตฯที่จะเริ่มในปี 2561 ควรมีการทดสอบความสามารถด้านการสอนในวิชาเฉพาะด้วย นอกจากความรู้ด้านเนื้อหาวิชาและการสอนทั่วไป และการประเมินหลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์ควรพิจารณาผลการสอบเพื่อออกใบอนุญาตและผลการสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการครูร่วมกับตัวชี้วัดอื่นด้วย ซึ่งในกรณีผลประเมินต่ำ ควรให้คณะศึกษาศาสตร์นั้นลดจำนวนการรับนักศึกษาในปีต่อๆไป

ความร่วมมือระหว่างฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นผู้กำกับโรงเรียน และคณะศึกษาศาสตร์และกลุ่มครู เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิรูประบบการบริหารบุคลากรทั้งกระบวนการ การปฏิรูปการฝึกหัดและการคัดเลือกครูเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน แต่ควรพิจารณาข้อมูลต่างๆ ประกอบอย่างรอบด้าน เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยยึดผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ

ครู สอนดีต้องจบศึกษาศาสตร์หรือไม่ : ข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ TDRI

โดย ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

People unity news online : post 3 เมษายน 2560 เวลา 09.58 น.

นายกฯระบุจำเป็นต้องจ้างครูที่ไม่ได้จบครูในสาขาที่ครูไม่ชำนาญ

People unity news online :  เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ บริเวณห้องโถงชั้นล่าง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีการคัดค้านการสอบบรรจุครูผู้ช่วยที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูว่า ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าเรามีการปรับปรุง การพัฒนา และปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งจะต้องเริ่มดูตั้งแต่ครู ว่ามีเพียงพอหรือไม่ มีคุณภาพหรือไม่ สาขาที่เป็นความต้องการของประเทศมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าพูดถึงจำนวนคนที่จบครูออกมามีมากพอสมควร แต่บางวิชาสอนไม่ได้ เพราะไม่ได้จบด้านนั้นมา จึงต้องหาครูที่จบมาตรงกับวิชาเหล่านั้นที่ยังขาดอยู่ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นเสนอมาว่าถ้าต้องการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เช่น ด้านเคมี วิทยาศาสตร์ ซึ่งคนที่จบด้านครูอาจไม่มีความชำนาญ ดังนั้น บุคคลด้านนี้จะมีจำนวนไม่มาก เฉพาะที่ขาดแคลนอยู่ ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานแล้วไม่ใช่ว่าบรรจุได้เลย ก็ต้องมีการทดลองงานก่อนประมาณ 2 ปี ระหว่างการทดลองงานก็ต้องมีการประเมิน จึงต้องไปสอบให้ผ่านกฎเกณฑ์ถึงจะได้รับการบรรจุให้เป็นข้าราชการ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลจะไม่ทำอะไรให้ใครเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครู เรื่องแพทย์ คือทุกคนต้องยอมรับว่าเรากำลังขาดแคลนบางสาขาวิชาอยู่ เราต้องเตรียมคนให้พร้อม รองรับตลาดแรงงาน ไม่เช่นนั้นก็จะถูกต่างชาติแย่งงานไปหมด

People unity news online : post 30 มีนาคม 2560 เวลา 20.18 น.

คสช.ออกคำสั่ง ม.44 ให้คนไม่ได้เป็นข้าราชการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยและราชภัฎได้

People unity news online :  เมื่อวาน (28 มีนาคม 2560) ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. ได้มีการพิจารณาคำสั่ง คสช. เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา อธิการบดีของมหาวิทยาลัย และราชภัฎต่างๆ จะมีระเบียบหลักเกณฑ์ และกฎหมายของตนเองในการดำเนินการ ว่าสามารถที่จะเลือกบุคคลใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติมาทำหน้าที่ดังกล่าว โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นข้าราชการที่ยังไม่เกษียณอายุ แต่กฎระเบียบนี้ไปขัดกับกฎหมายกลางในเรื่องของระเบียบข้าราชการครู ซึ่งอธิการบดีจะต้องเป็นข้าราชการ ดังนั้น คนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการในกฎหมายกลางฉบับดังกล่าวจึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นอธิการบดีได้ โดยวันนี้ ที่ประชุม คสช. ได้มีคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 เพื่อเปิดโอกาสสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการและเป็นข้าราชการสามารถที่ทำหน้าที่เป็นอธิการบดีได้ จากเดิมที่ตำแหน่งอธิการบดีต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น การเปิดโอกาสดังกล่าวจะทำให้สามารถเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้มากยิ่งขึ้น

People unity news online : post 28 มีนาคม 2560 เวลา 11.03 น.

กรมที่ดินปั้นภาพลักษณ์ใหม่ อบรมเจ้าพนักงาน “บริการดี ไม่มีทุจริต”

People unity news online : เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 ที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร อาคารสวนเจ้าเชตุ นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการอบรม “บริการดี ไม่มีทุจริต” ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขา ประจำปี พ.ศ.2560 ซึ่งกรมที่ดินจัดขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขา จำนวน 17 สาขา ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในแนวทางการให้บริการประชาชนนำไปสู่การปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 600 คน

โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายในการบริการประชาชนให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม ว่า ปัจจุบันกระแสสังคมได้ให้ความสนใจการทำงานของกรมที่ดินโดยเฉพาะในเรื่องความโปร่งใส เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในที่ดินของบุคคล มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งที่ผ่านมาภายใต้การบริหารราชการของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม การจัดอบรมในครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นการเตรียมบุคลากรของกรมที่ดินเพื่อก้าวสู่กรมที่ดินยุคใหม่ที่มีการบริหารงานอย่างโปร่งใส ภายใต้หลัก “ธรรมาภิบาล” ดังนั้น บุคลากรของกรมที่ดินจึงต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจทั้งด้านกฎหมาย เทคโนโลยี ความรอบคอบ รวดเร็ว สร้างทัศนคติ และสร้างค่านิยมที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม มีความโปร่งใส ป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน สามารถนำความรู้ไปใช้ปรับปรุงและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขาถือเป็นด่านหน้าที่จะสร้างความประทับใจให้กับประชาชนที่มาติดต่อขอรับการบริการ อีกทั้งในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครยังเป็นพื้นที่ที่ดินมีราคาสูง ผู้ถือครองที่ดินมีความคาดหวังที่จะได้รับการตอบสนองการให้บริการที่ดี

การที่กรมที่ดิน โดยสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขาได้จัดให้มีการอบรมในวันนี้จึงถือได้ว่าการเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยใช้หลักธรรมาภิบาลและแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติสอดรับกับคำขวัญ 116 ปี ของกรมที่ดินที่ว่า “บริการดี ไม่มีทุจริต”

สุดท้าย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำให้ชาวที่ดินกรุงเทพฯ ได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมติดตามประมวลผล ประสานงาน ประสานใจ และประสานการปฏิบัติยกระดับการให้บริการประชาชนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมีความโปร่งใส ช่วยขจัดและลดปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนอันจะส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีต่อองค์กร เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป

People unity news online : post 21 มีนาคม 2560 เวลา 22.44 น.

Verified by ExactMetrics