วันที่ 15 พฤษภาคม 2024

รัฐบาล เผยผลความสำเร็จโครงการวิจัยและพัฒนารถไฟต้นแบบ “รถไฟไทยทำ”

People Unity News : 30 กรกฎาคม 2566 รัฐบาล เผยผลความสำเร็จโครงการวิจัยและพัฒนารถไฟต้นแบบ “รถไฟไทยทำ” พลิกโฉมอุตสาหกรรมระบบราง ผลักดันเศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดด

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผลักดันนโยบาย Thai First ของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศ ที่ต้องการให้มีตัวรถไฟที่จะมีการซื้อ-ขาย ในอนาคต โดยมีเป้าหมายให้ต้องมีส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนผลิตในประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 จากเดิมที่มีการนำเข้าสินค้าประเภทตัวรถไฟและส่วนประกอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึง 2561 มีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของสินค้าทุกประเภทในระบบราง คาดการณ์ว่าอีก 20 ปี จะมีความต้องการตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ จากการเพิ่มขึ้นของทางรถไฟที่รัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ารถไฟต่อตู้ เฉลี่ยตู้ละ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าสำหรับตลาดการผลิตตู้รถไฟโดยสารประมาณ 100,000 ล้านบาท ความสำเร็จครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปยังหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่มีภารกิจสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ยกระดับการเดินทางที่มีความสะดวกสบาย ทันสมัยและปลอดภัยในระดับสากล รองรับการแข่งขันและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

Advertisement

“ประยุทธ์” เปิดหลักสูตร วปอ.รุ่น 63 แนะนักศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างองค์ความรู้ใหม่

People Unity News : นายกฯ เปิดหลักสูตร วปอ. รุ่น 63 แนะนักศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างองค์ความรู้ใหม่ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

วันนี้ (5 พ.ย.2563)  นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 63  พร้อมบรรยายเรื่อง “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่งคงแห่งชาติ” ให้ผู้เข้ารับการศึกษา ประกอบด้วยข้าราชการทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ ภาคเอกชน นักธุรกิจและบุคคลทั่วไป จำนวน 285 คน ณ หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

โดยนายกรัฐมนตรีแนะนำให้นักศึกษานำความรู้ ความสามารถและประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน พร้อมย้ำให้ทุกคนตระหนักและทบทวนทำความเข้าใจบริบทโลกในปัจจุบันให้ลึกซึ้ง ทั้งความเจริญทางเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนย้ายคนและทุนอย่างเสรี ข่าวสารและเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน การแข่งขันทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งศูนย์รวมอำนาจทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ส่งผลให้มีการแย่งชิงทรัพยากรและแรงงานที่อาจเป็นชนวนความขัดแย้งได้ รวมไปถึงภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศที่ผันผวนทำให้เกิดภัยพิบัติที่มีความรุนแรงมาก และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม การละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับ Digital Disruption ก่อให้เกิด Fake news การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต และโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่ระบาดในมนุษย์ได้แก่ covid-19 เป็นต้น เป็นความท้าทายที่อาจก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่คือ “ความมั่นคงแบบองค์รวม” ซึ่งมีความซับซ้อนเชื่อมโยงมิติความมั่นคงกับเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมจนเป็นเนื้อเดียวกัน จึงขอให้นักศึกษา ใช้เวทีนี้ช่วยกันคิดหาแนวทางป้องกันและแก้ไข เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศด้วยแผนการปฏิบัติที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง  รวมทั้งขอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประยุกต์ ในการทำงานและการดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละบุคคล

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงหลักคิดในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยประเทศไทยจะยังคงยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพันธกรณีและกติกาของสังคมโลก สร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการบูรณาการพลังทางสังคมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการเมือง ภาควิชาการสื่อสารมวลชนภายใต้แนวทาง ” รวมไทยสร้างชาติ”

Advertising

เชิญชวน ปชช.ลงทะเบียนพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

People Unity News : 19 มีนาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง ใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคง ปลอดภัย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางส่งเสริมให้การบริการของภาครัฐใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ และรัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ 10 ม.ค. 66 ที่ผ่านมานั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการต่าง ๆ ที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นการใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคงปลอดภัย

นายอนุชากล่าวเพิ่มเติมว่า การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน แทนระบบเดิมที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ต้องมาเผชิญหน้าและแสดงตน เพื่อยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทางราชการ เป็นการสร้างมิติใหม่ของการทำธุรกรรมภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ผ่านช่องทางดิจิทัล และมีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการใช้เอกสารราชการปลอมในกระบวนการยืนยันตัวตนของระบบเดิม และเพื่อสนับสนุนการบริการประชาชนของภาครัฐ และภาคเอกชน ที่จะต้องปรับตัวและวิธีการเพื่อตอบสนองงานบริการแนวใหม่ที่ไม่ต้องเผชิญหน้า หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกด้วย โดยขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ได้อนุญาตให้สามารถใช้บัตรประชาชนดิจิทัล เพื่อติดต่อทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น กรมสรรพากรที่ได้มีการเชื่อมโยงแอปพลิเคชัน D.DOPA กับเว็บไซต์กรมสรรพากร เพื่อเป็นช่องทางยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90/91/94 ได้ และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ได้อนุญาตให้ประชาชนที่โดยสารเครื่องบิน สามารถแสดงเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบัตรประชาชนดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA เพื่อยืนยันผ่านจุดตรวจค้น และเป็นเอกสารประกอบกับบัตรผ่านขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ก่อนขึ้นเครื่องได้ด้วย ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี

“ในปัจจุบันบริการจากภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ต่างก็ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล รัฐบาลจึงขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อใช้ในการติดต่อทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ใช้พิสูจน์และยืนยันสถานะของตัวบุคคลเมื่อต้องทำธุรกรรมหรือนิติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งใช้ยืนยันสถานภาพการเป็นคนไทยของตัวบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคงปลอดภัย” นายอนุชา กล่าว

สำหรับแอปพลิเคชัน D.DOPA ได้พัฒนาเวอร์ชันล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนด้วยตัวเองเพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง จากเดิมต้องลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ในการขอรับบริการการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน ที่สำนักทะเบียน ได้แก่ สำนักงานเขตทุกเขตในกรุงเทพมหานคร และที่ว่าการอำเภอทุกจังหวัด โดยลงทะเบียนด้วยตัวเอง จะใช้วิธีถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จากนั้นสแกนใบหน้าเพื่อประมวลผลผ่านเทคโนโลยีชีวมิติ แล้วตั้งรหัสผ่าน 8 หลักเพื่อเข้าใช้งาน เป็นอันเสร็จสิ้น โดยผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “D.DOPA” ของกรมการปกครอง ได้ทั้งระบบ ios และ Android โดยสามารถลงทะเบียนด้วยตนเอง หรือลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ ซึ่งภายหลังลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องติดต่อรับบริการจากหน่วยงานรัฐ หรือมีเจ้าพนักงานเรียกตรวจบัตรประชาชนในกรณีต่าง ๆ ประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟนที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้วข้างต้นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่เรียกตรวจแทนการใช้บัตรประชาชนได้

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคาดว่าในปี 2566 จะมีประชาชนใช้ Digital ID แทนบัตรประจำตัวประชาชนประมาณ 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังกรมการปกครองได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนทั้งหมดไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ และกระทรวงดิจิทัลฯ ยังคาดว่า Digital ID จะเข้ามาแทนที่การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน ด้วยความปลอดภัยที่สูงกว่า เนื่องจาก Digital ID จะมีลักษณะเป็นคิวอาร์โค้ด ขณะที่บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงจะเกิดโอกาสที่มิจฉาชีพเห็นข้อมูลหน้าบัตรจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแลกบัตร การติดต่อหน่วยงาน การใช้ประกอบการทำธุรกรรมการเงิน หรือ ธุรกิจต่างๆ โดย Digital ID จะช่วยลดการปลอมแปลงบัตรประชาชน หรือสวมรอยเจ้าของที่แท้จริงได้

Advertisement

รมว.ศึกษาฯเผย 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เตรียมเปิดสอนในไทย

People unity news online : รมว.ศึกษาธิการ เผยมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 2 แห่ง “คาร์เนกีเมลลอน” จากสหรัฐอเมริกา และ “มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน” เตรียมเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) จากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆของโลก อาจมีขนาดไม่ใหญ่ แต่มีชื่อเสียงเป็นอันดับหนึ่งทางด้าน Robotics และอันดับสองด้าน Computer Science จะเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย ซึ่งจากการได้ไปพบปะกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยดังกล่าวเมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนยืนยันถึงความประสงค์ดังกล่าว เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับนักเรียนไทย ประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัว ไม่ต้องขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฯ

โดยจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 ซึ่งในปีแรกนี้จะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 3 คน ระดับปริญญาตรี จำนวน 10 คน และในปีต่อไปจะเปิดรับระดับปริญญาเอก 10 คน ระดับปริญญาโท 25 คน และจะค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นต่อไป โดยนำหลักเกณฑ์การรับนักศึกษา ระบบการเรียนการสอน และการประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนทั้งหมด ทั้งนี้ เมื่อเรียนจบนักศึกษาจะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ซึ่งเป็นปริญญาที่มีศักดิศรีเทียบเท่ากับที่คาร์เนกีเมลลอนมอบให้นักศึกษาของตนในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการใช้สถานที่และอาจารย์ร่วมกัน โดยอาจารย์ของไทยที่จะสอนนั้นต้องไปร่วมสอนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องได้ใบรับรองก่อนจึงจะสามารถสอนได้

ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนนี้ จะนำข้อเสนอหลักเกณฑ์การจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทย เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ต้องกังวลว่าจะมาเปิดแข่ง เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่ประเทศไทยยังไม่เปิดสอน ซึ่งการเปิดการเรียนการสอนในสาขาดังกล่าว มีภาคเอกชนรายใหญ่หลายรายพร้อมสนับสนุนด้วย เนื่องจากเป็นสาขาที่เป็นนวัตกรรมชั้นสูง ตอบโจทย์การผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยได้ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University : NTU) สนใจที่จะมาเปิดการเรียนการสอนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เมืองการศึกษาอมตะนคร จ.ชลบุรี

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนมีสาขาหลายประเทศทั่วโลก เช่น ที่ประเทศรวันดา โปรตุเกส กาต้าร์ เหตุที่สนใจมาเปิดที่ประเทศไทยเนื่องจากรักและชื่นชอบนักศึกษาไทย ทั้งนี้มีนักศึกษาไทยที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จำนวน 342 คน ถือเป็นโอกาสในการระดมทุนจากอดีตนักศึกษามาสนับสนุนมหาวิทยาลัย ซึ่งในเดือนมกราคม 2561 จะมีการจัดการประชุมครั้งใหญ่สำหรับศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนจากทั่วโลกในประเทศไทย ถือเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่ลูกหลานจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพระดับโลกทั้งสองแห่ง ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสเข้าศึกษาในสถานศึกษาที่มีศักยภาพสูงดังกล่าว อันเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการผลิตและพัฒนาทรัพยากรบุคคลในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน และมีความสำคัญต่อการรองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน

People unity news online : post 16 ตุลาคม 2560 เวลา 10.10 น.

“บวรศักดิ์” แถลงความคืบหน้าปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ให้เร่งจัดตั้ง 1 นักกฎหมาย 1 ตำบล

People unity news online : เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ศ.ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย แถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ ในหัวข้อ “กฎหมายยุคใหม่ เท่าเทียมและเป็นธรรม” มีสาระสำคัญ ดังนี้

การกำหนดกรอบการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายพิจารณาจากเรื่องที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้มีการกำหนดกลไกที่สำคัญไว้หลายประการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายโดยเฉพาะหลักการตามมาตรา 77 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 โดยจะมีปรับเปลี่ยนกฎหมายที่มีความล้าหลัง เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ดี และสอดคล้องกับสภาพความต้องการที่แท้จริงของสังคมปัจจุบัน

อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและติดตามตรวจสอบทั้งในขั้นตอนของการจัดทำร่างกฎหมายและการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย และสร้างการรับรู้และเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย เพื่อสื่อถึงความต้องการของสังคมและเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจถึงสาระของกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับประเด็นการปฏิรูปและผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายนั้นมุ่งเน้นการสร้างเพื่อให้เกิดการพัฒนาตามหลักการ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาสู่ THAILAND 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยกำหนดประเด็นปฏิรูปด้านกฎหมายเพื่อรองรับตามหลัก “ทวิยุทธศาสตร์” ทั้งในเรื่องของการกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายกล่าวย้ำว่า เป้าหมายหรือผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 10 ประการ ดังต่อไปนี้ 1. มีกลไกให้การออกกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็นรวมทั้งมีกลไกในการทบทวนกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2. ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน 3. มีกลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม 4. มีกลไกให้มีการตรากฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 5. พัฒนากระบวนการจัดทำและตรวจพิจาณาร่างกฎหมายให้ รวดเร็ว รอบคอบ และสอดคล้องกับเงื่อนเวลาในการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 6. มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญ และจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน 7. มีกลไกให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายโดยสะดวกและเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย 8. ปฏิรูปการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อพัฒนานักกฎหมายให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ดี 9. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายได้โดยสะดวก และ 10 มีกลไกส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้รู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย โดยได้กำหนดให้เร่งดำเนินการตั้งยุติธรรมชุมชนในระดับท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศ ซึ่งจะมี 1 นักกฎหมาย ต่อ 1 ตำบล ช่วยให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ต้องการคำปรึกษาด้านกฎหมายให้เข้าใจได้โดยง่าย เนื่องจากปัจจุบันอาจจะมีสภาทนายความฯ สำนักอัยการสูงสุด และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งอาจจะมีการช่วยเหลืออยู่แล้วแต่อาจจะเข้าไปไม่ทั่วถึงยังประชาชนทุกตำบล โดยจะมีการจัดอบรมให้แก่ยุติธรรมชุมชนในเรื่องของกฎหมายใหม่ๆ 1 ตำบล 1 นักกฎหมาย เพื่อส่งเสริมและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

People unity news online : post 3 เมษายน 2561 เวลา 07.30 น.

นายกฯเผยต้องปฏิรูปตำรวจให้ประชาชนยอมรับและไว้วางใจตำรวจ

People unity news online : เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 เวลา 14.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการฯอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันถึงการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อต้องการให้ตำรวจได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม ประชาชน และเป็นตำรวจที่มีศักดิ์ศรี มีความสง่างาม ซึ่งวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันปรับปรุงองค์กรตำรวจให้ดียิ่งขึ้น โดยทำงานให้ยึดหลักสายกลางคือคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายทั้งของประชาชนและตำรวจ เพื่อให้การปฏิรูปเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง รวมทั้งเป้าหมายของการปฏิรูปให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และตำรวจเป็นที่พึ่งสำหรับประชาชนได้ในทุกโอกาส สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตลอดจนอัยการและศาล โดยบูรณาการหน่วยงานของรัฐ ลดภาระบางส่วน แยกภารกิจและพันธกิจให้ชัดเจน พร้อมย้ำกำหนดโรดแมปการปฏิรูปให้ชัดและเป็นไปตามห้วงเวลาที่กำหนด โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาฯฉบับอื่น ๆในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี รวมถึงสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด และ 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ ภูมิภาคในบริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล และส่วนการกระจายอำนาจจะต้องเป็นการกระจายทั้งอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ รวมทั้งการแก้ปัญหาเดิมจะต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ได้เปิดเผยถึงผลการหารือของคณะกรรมการฯสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) มีจำนวน 36 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ (ที่ไม่ใช่ฝ่ายตำรวจ)  จำนวน 1 คน คือ พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเข้าใจงานตำรวจ และงานที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบองค์กร และความมั่นคง ส่วนกรรมการประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุด กรรมการฝ่ายตำรวจ จำนวน 15 คน กรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ (พลเรือน) จำนวน 15 คน ทั้งนี้ โครงสร้างของการแต่งตั้งกรรมการดังกล่าวเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนด และเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ และสื่อมวลชน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้คณะกรรมการฯสรุปเรื่องที่คณะกรรมการหรือคณะบุคคลต่างๆได้ทำการศึกษาวิจัยการปฏิรูปตำรวจไว้แล้วนำมาประกอบการพิจารณาของที่ประชุมในครั้งต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ประเด็นเกี่ยวกับองค์กร โดยให้พิจารณาว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะสังกัดหน่วยใด เช่น ให้อยู่แบบเดิม หรือจะไปอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม จังหวัด ท้องถิ่น รวมถึงการตั้งเป็นกระทรวง หรือทบวง ตลอดจนพิจารณาถึงความเหมาะสมในเรื่องที่ควรจะกระจายออกไป หรือควรมารวมอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ  ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ 2) เรื่องกระบวนการยุติธรรม เป็นการพิจารณาอำนาจสอบสวนว่าควรจะอยู่เช่นเดิม หรือควรแยกออกไป รวมถึงการประสานงานของตำรวจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ควรจะทำงานเชื่อมโยงหรือแยกกันอย่างไร และ 3) เรื่องการบริหารงานบุคคล เช่น การแต่งตั้ง โยกย้าย การคัดบุคคลเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลักสูตรโรงเรียนนายร้อยเหมาะสมทันสมัยหรือไม่ การเลื่อน ลด ปลด ย้าย วินัย การให้ตำรวจมีเครื่องแบบ การโอนตำรวจไปอยู่กระทรวงอื่นจะเทียบกันอย่างไร รวมถึงการจัดสรรพกำลังเสริมการทำงานของตำรวจ เป็นต้น

สำหรับการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ครั้งนี้เป็นเพียงการหารือเบื้องต้น โดยการประชุมครั้งแรกกำหนดจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยที่ประชุมจะมีการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ รวมถึงคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น โดยจะเชิญอดีตอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาร่วมให้ความเห็นต่อที่ประชุมด้วย พร้อมไปรับฟังความเห็นจากข้าราชการตำรวจ  สื่อมวลชน และประชาชนกลุ่มต่างๆ จากนั้นการประชุมครั้งต่อไปจะประชุมสัปดาห์ละ 1 หรือ 2 ครั้ง โดยจะพิจารณาหมุนเวียนไปตามสถานที่ต่างๆตามความเหมาะสมต่อไป

People unity news online : post 11 กรกฎาคม 2560 เวลา 12.00 น.

“พล.อ.ประวิตร” ยันจะไม่ให้มีพื้นที่ภัยแล้งในอีสานอีก

People Unity News : 24 กุมภาพันธ์ 2566 “พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่อุดรฯ-หนองคาย-เลย กำชับบูรณาการบริหารจัดการน้ำ 10 มาตรการฤดูแล้งให้เข้มงวด ยันจะไม่ให้มีพื้นที่ภัยแล้งในอีสานอีก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมคณะ ตรวจราชการในพื้นที่ จ.อุดรธานี จ.หนองคาย และ จ.เลย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด

โดยช่วงเช้า พล.อ.ประวิตร และคณะ ไปที่โรงเรียนภูพานวิทยา ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี รับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือและลุ่มน้ำชี ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการปี 61-65 ประชาชนได้รับประโยชน์ 55,586 ครัวเรือน จากงบกลางปี 65 ได้รับประโยชน์ 1,045 ครัวเรือน งบบูรณาการฯ ปี 66 จะได้รับประโยชน์ 6,955 ครัวเรือน งบตามแผนปฏิบัติการปี 67 ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 53,175 ครัวเรือน และโครงการสำคัญอีก 6 แห่ง ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 43,500 ครัวเรือน

พล.อ.ประวิตร มอบนโยบายเร่งบูรณาการบริหารจัดการน้ำให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะ 10 มาตรการฤดูแล้ง ให้เข้มงวดตามนโยบาย พร้อมเร่งรัดโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) เพื่อช่วยยกระดับความมั่นคงด้านน้ำ ให้ชาวบ้านและเกษตรกรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดปีอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประวิตร พบปะพร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนที่มาให้การต้อนรับจำนวนมากอย่างใกล้ชิด ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง พร้อมขอถ่ายรูปเซลฟี่กับ พล.อ.ประวิตร เป็นที่ระลึก สร้างความประทับใจให้ชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรม ชูป้ายให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร และสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีของคนอีสาน ซึ่งพล.อ.ประวิตร ยืนยันกับชาวบ้านว่าจะไม่ให้มีพื้นที่ประสบภัยแล้งในอีสานอีกต่อไป

Advertisement

วันนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดให้ประชาชนร่วมทดสอบใช้บริการแล้ว

People Unity News : 3 มิถุนายน 2566 โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ยินดี วันนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) จากสถานีหัวหมากถึงสถานีสำโรง กำชับดูแลความพร้อม ความปลอดภัยช่วงทดสอบฯ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เริ่มตั้งแต่วันนี้ (3 มิถุนายน 2566) จากสถานีหัวหมาก ถึงสถานีสำโรง ก่อนขยายระยะทางต่อไป โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน กำชับให้ดูแลเรื่องความพร้อมการให้บริการ และดูแลความปลอดภัยในช่วงการทดสอบการเดินรถฯ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้โดยสารให้มากที่สุด

นายอนุชา กล่าวว่า ตามที่ รฟม. ร่วมกับ ที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างโครงการฯ (PCYL) วิศวกรอิสระ (ICE) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ได้ลงพื้นที่สำรวจความเรียบร้อยประกอบการพิจารณาช่วงสถานีที่จะให้ประชาชนได้เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไปนั้น รฟม. ชี้แจงว่า ปัจจุบันทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกัน โดยตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) จะพร้อมให้ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเข้าร่วม Trial Run ได้ระหว่างเวลา 09.00-20.00 น. จำนวน 13 สถานี ได้แก่ สถานีหัวหมาก สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีศรีลาซาล สถานีศรีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีศรีเทพา สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง ทั้งนี้ ในส่วนของสถานีหัวหมาก จะจำกัดให้ประชาชนใช้เฉพาะทางเข้า-ออกที่ 2 (สี่แยกพัฒนาการ) และทางเข้า-ออกที่ 3 (ซอยศรีนครินทร์ 16) ที่มีความพร้อมก่อน โดยหลังจากนี้ รฟม. และผู้รับสัมปทาน จะหารือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาการขยายช่วงสถานี และขยายช่วงเวลาที่รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลืองจะสามารถให้ประชาชนเข้าร่วม Trial Run เพิ่มเติมจนกระทั่งครบตลอดสาย 23 สถานีได้ในระยะต่อ ๆ ไป เพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่จะเป็นผู้โดยสารของรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง เมื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้

“นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยนายกรัฐมนตรีติดตามทุกโครงการของรถไฟฟ้ามหานคร ให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผน พร้อมแสดงความยินดีที่ขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน จะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลเรื่องความพร้อมการให้บริการทุกด้าน และเน้นดูแลความปลอดภัยในช่วงการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้โดยสารให้มากที่สุด” นายอนุชา กล่าว

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักอื่น ๆ มีระยะทางรวมประมาณ 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 23 สถานี โดยมีอาคารจอดแล้วจรสำหรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวสามารถเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และสถานีลาดพร้าว

Advertisement

เร่งรัดพัฒนา 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

People Unity News : 11 เมษายน 2566 พลเอกประวิตร เร่งรัดโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำใน 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ให้ประชาชนมีน้ำกิน น้ำใช้ ไม่แล้ง กินดีอยู่ดี

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้กำชับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เร่งรัดดำเนินการโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำจำนวน 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และพระราชกฤษฎีกา กำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดลุ่มน้ำ จำนวน 22 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาไปสู่เป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่บ้านมีน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอ ไม่มีน้ำท่วม ไม่มีแล้ง และสำคัญที่สุดคือ “คนไทยต้องไม่จน”

โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีได้กำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศภายใต้แผนแม่บทการบริการจัดการน้ำ 20 ปี โดยบูรณาการส่วนราชการต่างๆ มากกว่า 48 ส่วนราชการและสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยปัญหาหลักที่มักจะพบในลุ่มน้ำต่าง ๆ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนโครงการสำคัญๆ ทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ซึ่งมีขนาดเล็ก ได้แก่ การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน 5,005 แห่ง รวมทั้งโครงการสำคัญขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวม 255 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 1.42 ล้านไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 1.25 ล้านไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์กว่า 500,000 ครัวเรือน

สำหรับตัวอย่างโครงการสำคัญๆ ใน 22 ลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำยม ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน การพัฒนาและปรับปรุงคลองผันน้ำยม-น่านในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนกลาง และการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ โครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำและพื้นที่เก็บกักน้ำต้นทุน โครงการเพื่อลดความเสียหายน้ำท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่หน่วงน้ำและการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำพื้นที่บึงบอระเพ็ด ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ การพัฒนาระบบระบายเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนควนขนุน จังหวัดพัทลุง และพื้นที่ชุมชนควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการสำคัญๆ ที่ได้รับจัดสรรงงบประมาณแล้ว 15 โครงการ อาทิ อ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง จ.ตราด อ่างเก็บน้ำ ธารประเวศ จ.สุราษฎร์ธานี ระบบระบายน้ำหลักพื้นที่ชุมชนเมืองสตูล ระยะที่ 1

จ.สตูล พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่ ส.ป.ก. จ.กระบี่ เป็นต้น ซึ่งจะได้ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งการพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบให้ประชาชนได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

Advertisement

ครม.มอบ “อนุชา” โชว์ผลงานการปฏิรูปประเทศต่อสมาชิกวุฒิสภา ชูผลงานเด่น 12 ด้าน

People Unity News : ​รมต.อนุชา นำทีมรายงานผลปฏิรูปประเทศ ต่อ สว. ชูผลงานเด่นรัฐบาล 12 ด้าน เตรียมเดินหน้า 62 กิจกรรม Big Rock เพื่อการปฏิรูปอย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2564) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้เป็นผู้ชี้แจงรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ราย 3 เดือน (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563)  ซึ่งเป็นการสรุปผลการดำเนินงานตามเรื่องและประเด็นของการปฏิรูปประเทศ 12 ด้าน

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 ด้าน  มีการกำหนดเรื่องและประเด็นการปฏิรูป จำนวนทั้งสิ้น 173 เรื่อง โดยมีการจัดระดับความสำเร็จเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย 1) ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนฯ จำนวน 17 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 10  2) ดำเนินการสำเร็จมากกว่าร้อยละ 75 ของแผนฯ จำนวน 70 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 40 3) ดำเนินการได้ร้อยละ 50-75 ของแผนฯ จำนวน 62 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 36 4) ดำเนินการได้น้อยกว่าร้อยละ 50 ของแผนฯ  จำนวน 24 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14

สำหรับตัวอย่างความคืบหน้าของประเด็นปฏิรูปประเทศที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ประกอบด้วย

1.ด้านการเมือง เช่น การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ

2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การบริการภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตประชาชน จากระบบ Biz Portal

3.ด้านกฎหมาย เช่น มีกลไกให้การออกกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี รวมทั้งมีกลไกการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้แล้ว

4.ด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น การพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

5.ด้านเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร บริหารจัดการผลิตภัณฑ์เกษตรตามแผนที่ (Zoning by Agri-Map)

6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การบบริหารจัดการขยะในทะเลและชายฝั่ง โดยนโยบายประชารัฐขจัดขยะทะเล

7.ด้านสาธารณสุข เช่น ระบบสุขภาพปฐมภูมิ (คลินิกหมอครอบครัว)

8.ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม

9.ด้านสังคม เช่น การปฏิรูปการออม สวัสดิการ และการลงทุนเพื่อสังคม

10.ด้านพลังงาน เช่น การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในกลุ่มอุตสาหกรรม

11.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น จัดทำและบูรณาการโครงข่ายฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของทุกหน่วยงานผ่านระบบสารสนเทศ

12.ด้านการศึกษา เช่น การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานะกฎหมายภายใต้แผนฯ ทั้ง 12 แผน จำนวน 216 ฉบับ มีกฎหมายที่แล้วเสร็จ จำนวน 50 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 23 ของกฎหมายที่เสนอทั้งหมด ส่วนการดำเนินงานในระยะต่อไปของห้วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 มุ่งเน้นให้ความสำคัญที่กิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) จำนวน 62 กิจกรรม ซึ่งเป็นไปตามการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 โดยกำหนดให้มีจำนวน 13 ด้าน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

Advertising

Verified by ExactMetrics