วันที่ 29 เมษายน 2024

“ประยุทธ์” ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับ “ล้มแล้วลุกไว”

People Unity News : คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับสมบูรณ์ ภายใต้แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” ใน 3 มิติการพัฒนา ให้ประเทศมีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน

วันนี้ (9 พ.ย.63) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 3/2563 ร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยผลการประชุม ดังนี้

คณะกรรมการฯ รับทราบ (1) การเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยเห็นชอบให้แต่งตั้ง ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และอดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อรับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน (2) ความก้าวหน้าการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศผ่านระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) โดยได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานดำเนินการรายงานผลการดำเนินการโครงการ/การดำเนินงาน และนำเข้าแผนระดับที่ 3 เข้าในระบบ eMENSCR ตามที่ระเบียบว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2562 กำหนด เพื่อเป็นช่องทางให้ภาคประชาชนและภาคีการพัฒนามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป (3) การจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม โดยใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) เป็นข้อมูลหลักในการดำเนินการ เนื่องจาก ระบบ TPMAP เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายแรกของประเทศที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาได้ทั้งในครัวเรือนและบุคคล โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการเชิงพื้นที่ ครอบคลุมทุกกลุ่มเปราะบาง ทั้งเกษตรกร ผู้เคยต้องรับโทษ ผู้มีหนี้สิน ผู้ที่ทำงานอยู่นอกภูมิลำเนา ทั้งนี้ ให้นำกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทและขีดความสามารถของประเทศไทย เพื่อความคุ้มค่าของการใช้เงินงบประมาณของประเทศต่อไปและ (4) หลักสูตรยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีการขยายผลการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Massive Open Online Course: MOOCs) วิชายุทธศาสตร์ชาติสำหรับกลุ่มเป้าหมายนิสิต นักเรียน นักศึกษา นอกจากนี้ ต้องเร่งสร้างการตระหนักรู้ให้กับข้าราชการทุกระดับต่อไป เพื่อให้การแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติสามารถเป็นไปได้อย่างบูรณาการต่อไป

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญ จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

1) (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) คณะกรรมการฯ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 13 ด้าน ได้แก่ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สังคม พลังงาน การป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ การศึกษา วัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มีกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) รวม 62 กิจกรรม และมีกฎหมายที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุงแก้ไข จำนวน 45 ฉบับ โดยได้สั่งการเพิ่มเติมให้สรุปผลความสำเร็จของแผนฯในช่วงที่แผนมา เพื่อให้เห็นถึงความก้าวหน้าและประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานระยะต่อไปหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้แล้ว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปฯเดิม คู่ขนานไปกับกิจกรรม Big Rock และสื่อสารสร้างความเข้าใจกิจกรรม Big Rock เพื่อถ่ายทอดสู่หน่วยปฏิบัติ โดยให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการที่ระบุระยะเวลาและวิธีการดำเนินการที่ชัดเจน รวมทั้งให้มีการกำหนดกรอบงบประมาณเป็นการเฉพาะ เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายตามผลอันพึงประสงค์ที่กำหนด

2) ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2565 (ฉบับสมบูรณ์) คณะกรรมการฯเห็นชอบร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ซึ่งมีแนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” หรือ Resilience โดยกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้ “คนสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมีการวางรากฐาน เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่” มี 3 มิติการพัฒนา ได้แก่ (1) การพร้อมรับ (Cope) (2) การปรับตัว (Adapt) (3) การเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน (Transform) เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศมีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนภายใต้หลัก 3 ขั้นการพัฒนา ได้แก่ Survival (การอยู่รอด) Sufficiency (พอเพียง) และ Sustainability (ยั่งยืน) ประเด็นการพัฒนาประกอบด้วย 4 ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) ลดความเสี่ยงในการพึ่งพาต่างประเทศ (2) การยกระดับขีดความสามารถของประเทศ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) ส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการที่มีโอกาสและศักยภาพภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงและบริบทโลกใหม่ (3) การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) เพื่อการยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานและโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤต และ (4) การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) ให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประเทศ ทั้งนี้ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ (ฉบับสมบูรณ์) เป็นแผนระดับที่ 2 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 โดยเป็นฉบับเพิ่มเติมจากแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็น ดังนั้น เพื่อให้การแปลงร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ (ฉบับสมบูรณ์) ไปสู่การปฏิบัติ สามารถดำเนินการได้บูรณาการและสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คณะกรรมการฯจึงได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2465 เพิ่มเติมจากโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 รวมทั้งให้สำนักงบประมาณใช้เป็นกรอบจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 ร่วมกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็นในปัจจุบัน

3) แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน … เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการฯเห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน … ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นการแปลงยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯเห็นชอบให้ สศช. เสนอ (1) (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) (2) ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 (ฉบับสมบูรณ์) และ (3) แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน … เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

Advertising

“ประยุทธ์” เปิดหลักสูตร วปอ.รุ่น 63 แนะนักศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างองค์ความรู้ใหม่

People Unity News : นายกฯ เปิดหลักสูตร วปอ. รุ่น 63 แนะนักศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างองค์ความรู้ใหม่ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

วันนี้ (5 พ.ย.2563)  นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 63  พร้อมบรรยายเรื่อง “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่งคงแห่งชาติ” ให้ผู้เข้ารับการศึกษา ประกอบด้วยข้าราชการทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ ภาคเอกชน นักธุรกิจและบุคคลทั่วไป จำนวน 285 คน ณ หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

โดยนายกรัฐมนตรีแนะนำให้นักศึกษานำความรู้ ความสามารถและประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน พร้อมย้ำให้ทุกคนตระหนักและทบทวนทำความเข้าใจบริบทโลกในปัจจุบันให้ลึกซึ้ง ทั้งความเจริญทางเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนย้ายคนและทุนอย่างเสรี ข่าวสารและเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน การแข่งขันทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งศูนย์รวมอำนาจทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ส่งผลให้มีการแย่งชิงทรัพยากรและแรงงานที่อาจเป็นชนวนความขัดแย้งได้ รวมไปถึงภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศที่ผันผวนทำให้เกิดภัยพิบัติที่มีความรุนแรงมาก และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม การละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับ Digital Disruption ก่อให้เกิด Fake news การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต และโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่ระบาดในมนุษย์ได้แก่ covid-19 เป็นต้น เป็นความท้าทายที่อาจก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่คือ “ความมั่นคงแบบองค์รวม” ซึ่งมีความซับซ้อนเชื่อมโยงมิติความมั่นคงกับเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมจนเป็นเนื้อเดียวกัน จึงขอให้นักศึกษา ใช้เวทีนี้ช่วยกันคิดหาแนวทางป้องกันและแก้ไข เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศด้วยแผนการปฏิบัติที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง  รวมทั้งขอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประยุกต์ ในการทำงานและการดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละบุคคล

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงหลักคิดในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยประเทศไทยจะยังคงยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพันธกรณีและกติกาของสังคมโลก สร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการบูรณาการพลังทางสังคมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการเมือง ภาควิชาการสื่อสารมวลชนภายใต้แนวทาง ” รวมไทยสร้างชาติ”

Advertising

สรุป “โครงการทำมาค้าขาย” โรงเรียนสานพลังประชารัฐ-โรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้

People unity : เมื่อวานนี้ (13 มีนาคม 2562) พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้ “โครงการทำมาค้าขาย” ของโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐ และโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมี นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ตลอดจนผู้บริหาร ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูและนักเรียน เข้าร่วมกว่า 300 คน ณ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท จังหวัดสงขลา

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้โครงการทำมาค้าขาย ด้วยการสนับสนุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความสำคัญต่อการนำการศึกษาเรียนรู้ไปช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งเกิดจากพลังความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนถึงภาควิชาการ ช่วยขับเคลื่อนประเทศด้วยการศึกษา ซึ่ง “การศึกษา” เปรียบเสมือนต้นทางของการพัฒนาคน ให้มีทักษะ มีความรู้ อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า สร้างความเป็นอยู่ที่ดีและความเจริญให้กับครอบครัวและชุมชน

ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการตั้งมั่นในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละพื้นที่ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” รวมทั้งพระบรมราโชวาทในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ซึ่งทรงพระราชทานเกี่ยวกับการศึกษาที่ต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ที่ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพสุจริต 4) เป็นพลเมืองดี นำมาเป็นหลักคิดในการดำเนินงาน จนเกิดเป็นความสำเร็จในการสร้างโอกาสด้านการศึกษา ที่ส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ในหลายโครงการ อาทิ การกำหนดการบริหารงานในระดับภาค, พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาและนราธิวาส, โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น

โครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้โครงการทำมาค้าขาย ถือเป็นการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม อย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้การสนับสนุนของภาคเอกชนตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา จึงนำมาสรุปเป็นแนวทางดำเนินงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนอย่างรอบด้าน ไม่เฉพาะการทำให้เด็กมีความรู้ เป็นคนดีและคนเก่งเท่านั้น แต่ยังเน้นให้มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่ดี จบแล้วมีอาชีพมีงานทำ และเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชนและสังคมสอดคล้องตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติข้อที่ 3 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัย ให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ เพื่อให้คนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา ขอขอบคุณบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนยกระดับเศรษฐกิจในระดับชุมชนอย่างดียิ่งเสมอมา

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมถึงการประชุมโครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้โครงการทำมาค้าขาย ของโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐและโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2562 เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต กรณีศึกษาของโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ที่จะเป็นการพัฒนาต่อยอดกระบวนการและทักษะอาชีพสู่การมีงานทำ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 350 คน ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ผู้บริหารภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน ผู้อำนวยการโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 35 โรงเรียน ครู และนักเรียน

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับรัฐบาลในโครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งเน้นหลักการทำงานเชื่อมโยงกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยได้ร่วมเป็นคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) เพื่อพัฒนาด้านการเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประสานเชื่อมโยงกับคณะทำงานการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (E5) เพื่อให้การศึกษาเรียนรู้พร้อมทักษะอาชีพแก่เด็กเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นในการทำงานในโครงการต่างๆ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ประกอบด้วย 3 ห่วง (ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี) และ 2 เงื่อนไข(คุณธรรม ความรู้) รวมทั้งพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด นำมาเป็นหลักในการทำงานพัฒนาคุณภาพคนและยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนทั่วประเทศ ขับเคลื่อนโดยความร่วมมืออย่างบูรณาการของ “บวร” ได้แก่ บริษัท วิสาหกิจชุมชน รัฐ โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ นำกลไกพี่ช่วยน้องมาช่วยสนับสนุน พร้อมๆกับเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในโครงการกว่า 300 โครงการ ร่วมกับโรงเรียน 293 แห่ง และมหาวิทยาลัย 27 แห่งใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเน้นสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีวินัยทางการเงิน ความเข้าใจตลาด และมีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งด้านการทำมาค้าขาย การทำบัญชีครัวเรือน ตลอดจนแผนพัฒนาโรงเรียน นำไปสู่การทำแผนชุมชน เพื่อช่วยยกระดับการศึกษาและรายได้ของคนในชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ คาดหวังจะเห็นเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เติบโตเป็นกำลังสำคัญที่มีทักษะและพึ่งพาตนเองได้ มีสัมมนาชีพที่สามารถตอบแทนครอบครัว ชุมชน และอยู่ในสังคมที่มีความอบอุ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ที่สำคัญคือต้องการเห็นทายาทของผู้ประกอบการในท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ กลับบ้านเกิดเพื่อสืบสานกิจการ พร้อมนำอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจมาสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มและต่อยอดการพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์และยกระดับเศรษฐกิจในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการและผลงานนักเรียนจากการประกวด OTOP Junior ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีความน่าสนใจและโดดเด่นสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ อาทิ การแปรรูปปลาดุกร้าไร้สารพิษ โรงเรียนบ้านปูโป๊ะ จ.นราธิวาส, การเพ้นท์กระเป๋ากระจูด เบเกอรี่และเครื่องดื่มจากสับปะรด โรงเรียนวัดเทพนิมิตร จ.ภูเก็ต, เครื่องแกงเผ็ด โรงเรียนบ้านตลาดลำใหม่ จ.ยะลา, ลูกตาลลอยแก้ว โรงเรียนสามบ่อวิทยา จ.สงขลา, ลูกปัดศรีวิชัย โรงเรียนวัดเขาศรีวิชัย จ.สุราษฎร์ธานี, ข้าวสังข์หยด โรงเรียนวัดทุ่งแย้ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น

การปฏิรูป/ยุทธศาสตร์ชาติ : สรุป “โครงการทำมาค้าขาย” โรงเรียนสานพลังประชารัฐ-โรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้

People unity : post 14 มีนาคม 2562 เวลา 17.00 น.

“บิ๊กตู่” อนุมัติงบลงพัฒนา 6 ภาค-พัฒนาจังหวัด-พัฒนากลุ่มจังหวัด 1.1 แสนล้านบาท

People unity : นายกรัฐมนตรีประชุมร่วม ก.บ.ภ.- ก.น.จ. ครั้งที่ 1/62 เห็นชอบแผนพัฒนา 6 ภาค ปี 60 – 65 พร้อมเห็นชอบแผนปฏิบัติการภาคทั้ง 6 ภาค ประจำปีงบฯ 63 จำนวน 1,424 โครงการ วงเงิน 66,538.1 ลบ.

เมื่อวานนี้ (6 มี.ค. 2562) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ครั้งที่ 1/2562 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะมีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ของภาค กลุ่มจังหวัดและจังหวัด ที่จะเป็นการกระจายรายได้สู่พื้นที่ โดยต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณและการบริหารจัดการรายได้ของภาครัฐ ซึ่งมีมติที่สำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบแผนพัฒนาภาค พ.ศ.2560 – 2565 ของทั้ง 6 ภาค (ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก ใต้ และใต้ชายแดน) ซึ่งได้มีการทบทวนสาระสำคัญให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งเห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ภาคเหนือ (Northern Economic Cluster: NEC) ให้เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยเน้นการพัฒนาสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมระดับโลก พัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ และเร่งรัดแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่สูง และกรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Cluster: NeEC)  ซึ่งเน้นการผลิตสินค้าอัตลักษณ์เฉพาะคุณภาพสูง พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและฐานชีวภาพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่ริมแม่น้ำโขง รวมทั้งอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมระบบราง ทั้งนี้ แผนพัฒนาดังกล่าวจะเป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาค และสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม โดยควรมีการสร้างความเข้าใจเพื่อนำแผนไปสู่การปฏิบัติของทุกภาคส่วน  และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผน

พร้อมกับที่ประชุมเห็นชอบแผนปฏิบัติการภาค ทั้ง 6 ภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นโครงการของส่วนราชการที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของแต่ละภาค จำนวน 1,424 โครงการ วงเงินรวม 66,538.1 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด พ.ศ.2561-2565  รวมทั้งแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของ 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด รวมทั้งสิ้น 2,125 โครงการ วงเงินรวม 47,678.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการระดับจังหวัด จำนวน 1,884 โครงการ วงเงินรวม 35,408.7 ล้านบาท และโครงการกลุ่มจังหวัด จำนวน 241 โครงการ วงเงินรวม 12,270.2 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นโครงการที่อยู่ในกรอบวงเงิน จำนวน 1,500 โครงการ วงเงินรวม 27,860.4 ล้านบาท โดยไม่รวมงบบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 783 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญตามมติคณะรัฐมนตรี และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงใน 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในจังหวัดนครพนม การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน  และการจัดทำแผนแม่บทการก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนเลียบทางรถไฟฝั่งตะวันออก (ระยะที่ 1) เมืองพัทยา

การปฏิรูป/ยุทธศาสตร์ชาติ : “บิ๊กตู่” อนุมัติงบลงพัฒนา 6 ภาค-พัฒนาจังหวัด-พัฒนากลุ่มจังหวัด 1.1 แสนล้านบาท

People unity : post 7 มีนาคม 2562 เวลา 09.30 น.

รัฐบาลมุ่งสนับสนุนปลูกไม้มีค่า เพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

People unity news online : นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ณ สวนป่าเกษตรห้วยแสนคำ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ มอบกล้าไม้ให้แก่เครือข่ายชุมชน เน้นย้ำการเพิ่มพื้นที่ป่า สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน ประชาชนพึ่งตนเองได้และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันนี้ (17 กันยายน 2561) เวลา 16.20 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจและการประเมินมูลค่าไม้มีค่า อาทิ ต้นสักทอง ต้นมะฮอกกานี ต้นประดู่ ต้นมะขาม ต้นประคำดีควาย เป็นต้น ณ สวนป่าเกษตรห้วยแสนคำ เลขที่ 309 หมู่ 7 ตำบลบ้านหวาย อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนายวรพจน์ แววศรีงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยนายชัยศักดิ์ เกศามูล เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพปลูกสวนป่า ระดับจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2556 และเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพปลูกสร้างสวนป่า ระดับภาคเหนือ ปี พ.ศ. 2557 ให้การต้อนรับ และนำเยี่ยมชมพื้นที่ภายในบริเวณสวนป่า ชมการสาธิตการวัดเส้นรอบวงต้นไม้ การประเมินราคาไม้มีค่า และการเพาะชำกล้าไม้ พร้อมรับฟังการบรรยายภาพรวมของการขยายผลการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า และการสร้างความยั่งยืนด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยกรมป่าไม้นำเสนอการคัดเลือกพันธุ์ไม้ กล้าไม้ และคัดกรองพื้นที่ในการปลูกไม้มีค่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) นำเสนอความหลากหลายทางชีวภาพในการพัฒนาสวนป่าไม้มีค่า และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำเสนอการประเมินมูลค่าไม้มีค่าและกลไกการใช้ไม้มีค่าเพื่อเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบกล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ อาทิ สัก ยางนา ตะเคียน และมะค่าโมง เป็นต้น ให้แก่ตัวแทนเครือข่ายชุมชนปลูกไม้สวนป่า พร้อมพบปะพูดคุยและมอบนโยบายในโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า เพื่อเกษตรกรไทย” ตอนหนึ่งว่า โครงการชุมชนไม้มีค่าเป็นโครงการสำคัญที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยรัฐบาลมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกไม้มีค่า อันจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการเก็บออม และสร้างอาชีพที่มั่นคง ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น ชุมชนมีความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ รัฐบาลจึงสนับสนุนการขยายผลโครงการชุมชนไม้มีค่าโดยการผลักดันกฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เพิ่มขึ้น มีการเร่งรัดขยายผลการดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนให้มีการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ปลูก และแปรรูป รวมทั้งการส่งเสริมการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน

สำหรับโครงการชุมชนไม้มีค่า เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของรัฐบาลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้ปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยขณะนี้มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนและผลักดันอย่างเร่งด่วน อันจะก่อให้เกิดชุมชนไม้มีค่าเพื่อเกษตรกรทั่วประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายการขยายผลโครงการเพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการปลูก โดยมอบหมายให้ วช. กรมป่าไม้ สพภ. และ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการการดำเนินการ โดย วช. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่าโดยนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ พร้อมทั้งให้มีการทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ไม้มีค่าให้มีลักษณะเฉพาะที่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเรื่องต่างๆ  กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการจัดทำ ปรับปรุง แก้ไข และบริการวิชาการเรื่องพระราชบัญญัติ กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการปลูกและการตัดไม้ รวมทั้งสนับสนุนการคัดเลือก เพาะพันธุ์ไม้ และการขยายพันธุ์ไม้มีค่า สพภ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งจัดทำเกณฑ์มาตรฐาน การประเมินมูลค่าไม้ โดยพัฒนาจากโครงการที่ดำเนินการอยู่เดิม  และ ธ.ก.ส.ดำเนินการจัดทำรายละเอียด เกณฑ์มาตรฐานการประเมินมูลค่าไม้ และเรื่องการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และเตรียมกลไกผลักดันอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการสนองผลตามนโยบายกลไกประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

โดยมีเป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชน ภายใน 10 ปี มีผลต่อประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 400 ต้น รวมจำนวน 1,040 ล้านต้น พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 10,400 ล้านบาทต่อปี มีกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันโครงการชุมชนไม้มีค่า เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของชาติตั้งแต่ฐานราก อันจะเป็นการสร้างอาชีพที่มั่นคง ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ การปลูกไม้มีค่ายังสามารถเป็นเงินออม ทรัพย์สิน หลักทรัพย์ หรือใช้เป็นหลักประกันได้ ทั้งยังช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศในชุมชน ท้องถิ่น ให้กลับคืนสู่สภาพที่ใกล้เคียงธรรมชาติ สร้างอากาศที่ดี รวมทั้งเป็นการเพิ่มปริมาณต้นไม้และพื้นที่ป่าอันเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางไทยนิยมของรัฐบาลที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนส่วนใหญ่เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในระยะยาว

People unity news online : post 17 กันยายน 2561 เวลา 20.40 น.

ชูพัฒนาภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก-ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางและปาล์มน้ำมัน

People unity news online : นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

วันนี้ (21 สิงหาคม 2561) เวลา 09.10 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา) และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล) ร่วมกับคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการเป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศระดับโลก และเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ รวมถึงเป็นเมืองเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลก โดยที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ดังนี้

1.ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศที่สำคัญเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง รวมถึงเพื่อพัฒนาโครงข่ายเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อในเชิงพื้นที่แนวตะวันตก – ตะวันออก และแนวเหนือใต้ โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้จัดแผนงานโครงการให้ชัดเจน คำนึงถึงความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณ และผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นหลัก รวมถึงให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาของรัฐบาล

2.ด้านการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของภาคใต้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก โดยกำหนดให้มีการยกระดับคุณภาพบริการ และส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่องในแหล่งท่องเที่ยว คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของพื้นที่อย่างยั่งยืน ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการพัฒนา ได้แก่

2.1 การพัฒนาศักยภาพการรักษาความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมทั้งทางบกและทางน้ำ 2.2 การพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว โครงการยกระดับพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพในภาคใต้ฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย 2.3 วางแผนศึกษาพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทะเลสาบสงขลา นครศรีธรรมราช – พัทลุง – สงขลา และปรับปรุงภูมิทัศน์ในส่วนที่ไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้บูรณาการทำงานขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็นการรักษาความปลอดภัย กำหนดจุดให้ชัดเจน มีแผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ พร้อมกับให้ช่วยกันดูแลเรื่องความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องขยะต้องมีการบริหารจัดการให้ดี

3.ด้านการยกระดับการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน พัฒนาเขตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีจากปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของภาค ประกอบกับศักยภาพทางด้านการเกษตรที่ค่อนข้างสูงในพื้นที่กลุ่มจังหวัด ที่ประชุมเห็นชอบตามที่เสนอ ดังนี้

3.1 จัดตั้ง Oil Palm City (สุราษฎร์ธานี) 3.2 สนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสานหรือ “วนเกษตร” ในส่วนยางพาราและส่วนปาล์มน้ำมัน 3.3 พัฒนาฟาร์มต้นแบบที่มีความแม่นยำสูง เพื่อส่งเสริมศักยภาพการผลิตทางการเกษตร 3.4 ส่งเสริมให้เป็นเมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการจัดทำมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และรองรับ Industry 4.0 3.5 ส่งเสริมและการพัฒนางานวิจัยทางด้านยาง ปาล์ม พืชผักสมุนไพร ปศุสัตว์ และประมง เพื่อรองรับ Agro – Bio – Economy รวมทั้งสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระดับโลก 3.6 การจัดตั้งโรงงานต้นแบบสินค้าการเกษตร 4.0 แบบครบวงจร เพื่อยกระดับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตร 3.7 การส่งเสริมการทำระบบแก๊สชีวภาพและชีวมวลจากกระบวนการผลิตปาล์มและยางพารา เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในระบบอุตสาหกรรมและตามแนวประชารัฐ 3.8 การจัดตั้งศูนย์ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนวประชารัฐและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนทางการเกษตร และ 3.9  การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้านการเกษตร สินค้าและบริการภาคใต้ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็ว สร้างกลไกทางการเกษตร กำหนดพื้นที่เพาะปลูก มีการปลูกพืชเสริมพืชหลัก รวมถึงการรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่ นำข้อมูลบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์ ใช้ข้อมูลแต่ละหน่วยงานมาวิเคราะห์ รวบรวมเป็นข้อมูลนำมาตัดสินใจ เพื่อจะได้ส่งเสริมการทำเกษตรให้ตรงจุด

4.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยเร่งรัดก่อสร้างโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เร่งรัดการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีระดับภาคใต้ตอนบน และเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเครื่องมือการรักษาพยาบาลและคุณภาพด้านการบริหารของโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช รวมทั้งส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัด โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปพิจารณาเรื่องงบประมาณ

5.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการพัฒนา ดังนี้

5.1 การขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเลเพื่อเพิ่มศักยภาพ 5.2 การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย ประกอบด้วย ขอรับการสนับสนุนศึกษาและออกแบบแนวทางการป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งภาคใต้แบบครบวงจร รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดระนอง โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินตามแผนงาน และให้พิจารณาดำเนินการตามความเร่งด่วน ตรงความต้องการของประชาชน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า การลงพื้นที่ประชุม ครม. ครั้งนี้ไม่ใช่มาเพื่อแจกเงินหรือแจกงบประมาณ แต่มาเพื่อทำให้เกิดความเชื่อมโยงในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ท่าเรือ และสนามบินให้เกิดห่วงโซ่มูลค่า สร้างรายได้ในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น รวมถึงเพื่อมารับฟังข้อเสนอแนะและปรับแผนการทำงานให้ตรงกัน โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งการใช้งบประมาณต้องคุ้มค่า ลดความซ้ำซ้อน ตรงตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด พร้อมกับสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ลงทะเบียนแหล่งที่มาของพืชการเกษตรหลัก เพื่อบ่งบอกถึงแหล่งการเพาะปลูกพืชการเกษตร เพราะต่างชาติให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว หากไม่พบแหล่งที่มาของพืชการเกษตรหรือปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย จะไม่มีการซื้อสินค้าเกษตรดังกล่าว พร้อมกับสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในจังหวัดรับรู้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง ผ่านช่องทางต่างๆอย่างบูรณาการ พร้อมกับสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชน และทำประชาธิปไตยไม่ให้เป็นประชานิยม จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่มาจากความยินยอมของประชาชน โดยการประชุมในวันนี้ที่ต้องใช้เวลามากกว่าปกติเพราะต้องการทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

People unity news online : post 21 สิงหาคม 2561 เวลา 13.10 น.

ที่ประชุม ครม.ปรับแก้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เปลี่ยนระยะเวลาเป็นปี 2561-2580

People unity news online : คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงข่าวความคืบหน้าของการขับเคลื่อน (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ. (2561-2580) หลังเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อนำประเทศชาติและประชาชนสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เวลา 15.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมชาติ ได้แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยสรุปความคืบหน้าของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี สาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (22 พ.ค.61) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยที่ประชุมต่างได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายพร้อมให้นำไปปรับ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติฯ ให้แล้วเสร็จ พร้อมนำกลับมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ในวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2561

ทั้งนี้ ความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรีที่สมควรให้ปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยสรุป คือ

1.เห็นควรปรับปรุงในรายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติให้มีระดับของเนื้อหาสาระเป้าหมายและตัวชี้วัดที่มีความสอดคล้องกัน

2.เห็นควรปรับปรุงความทับซ้อนกันระหว่างยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมความเสมอภาค การจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยการพัฒนาด้านการเกษตร การพัฒนาด้านพลังงาน การพัฒนาจังหวัดและเมืองรอง ตลอดจนการบริการของภาครัฐ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลหรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติมีความกระชับและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

3.เห็นควรมีการแก้ไขความไม่สอดคล้องกันของประเด็นการพัฒนาระหว่างยุทธศาสตร์ให้เป็นไปอย่างมีระบบ

4.เห็นควรปรับปรุงแนวทางการพัฒนาที่เป็นลักษณะตัวชี้วัด พร้อมมีการระบุตัวอย่างในรายละเอียดให้มีความเหมาะสมกับกรอบระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี โดยมีการนำประเด็นที่สอดคล้องไปไว้ในการจัดทำแผนแม่บท

5.เห็นควรปรับปรุงแก้ไขการใช้คำศัพท์ที่มีความแตกต่างกันให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมเพื่อความชัดเจนและความเข้าใจที่ถูกต้อง

และ 6.เห็นควรเปลี่ยนกำหนดช่วงระยะเวลาการบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ เป็น พ.ศ.2561-2580 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็จะนำขึ้นกราบบังคมทูล ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาต่อไป

อนึ่ง (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศชาติ มีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข มีการยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ ตลอดจนมีการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมและมีการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและยึดถือประโยชน์ส่วนรวม

ทั้งนี้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบด้วย แกนหลักสำคัญของยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 3.ด้านการพัฒนาคนและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

People unity news online : post 23 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.00 น.

รมช.ศึกษาฯเดินหน้าจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ควบรวมกระทรวงวิทย์ฯ

People unity news online : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา : โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และทิศทางอุดมศึกษาไทยในอนาคต” ครั้งที่ 2

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา : โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และทิศทางอุดมศึกษาไทยในอนาคต” ครั้งที่ 2 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมี นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งผู้บริหารและบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน

นพ.อุดม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจ ชี้แจง และระดมความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาให้กับข้าราชการและบุคลากรของ สกอ. ซึ่งจะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาและกระทรวงการอุดมศึกษาในอนาคตอันใกล้

โดยเน้นย้ำให้ทุกคนมองเห็นภาพใหญ่ของการอุดมศึกษาทั้งประเทศ และทิศทางการอุดมศึกษาโลก อาทิ การอุดมศึกษาของสิงคโปร์ ที่ปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น พร้อมทั้งพัฒนาคนทั้งประเทศให้มีความทันสมัย ทันโลก ทันการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการเรียนไปพร้อมๆกับการทำงาน ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้หลายรูปแบบและหลายอาชีพ รวมทั้งรองรับอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในวันข้างหน้า

สำหรับแนวทางการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษานั้น ได้ออกแบบให้เป็นกระทรวงที่มีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผลิตกำลังคน 4.0 ที่มีคุณภาพสูง และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีนวัตกรรม โดยมีภารกิจสนับสนุนส่งเสริมงานของสถาบันอุดมศึกษา ไม่เน้นการควบคุม แต่จะช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา สถาบันอุดมศึกษาจึงมีอิสระในการบริหารจัดการเช่นเดิม อีกทั้งส่งเสริมงานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เน้นการสร้างสินค้าเชิงพาณิชย์ ที่จะช่วยพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมๆกับการประสานการจัดสรรงบประมาณให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัด ที่จัดหลักสูตรตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคน และการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยมุ่งหวังให้กระทรวงการอุดมศึกษาเป็นกระทรวงที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ และเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นๆ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ให้สามารถทำงานร่วมกันได้

ส่วนการรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไว้ในกระทรวงอุดมศึกษานั้น เกิดจากแนวคิดการบริหารจัดการงานวิจัยให้ตอบโจทย์ประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณา

แม้ที่ผ่านมาการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาไม่ได้นำเรื่องการวิจัยหรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารวมเข้าด้วยกัน เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องเร่งดำเนินการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาให้แล้วเสร็จ แต่หากมองถึงสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นว่า หากสามารถบูรณาการร่วมกันได้จริงๆ ก็จะทำให้เกิดพลังขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ควรผลักดันให้กระทรวงการอุดมศึกษาเกิดขึ้นก่อน เพราะได้ร่างกฎหมายต่างๆไว้เรียบร้อยแล้ว และเชื่อมั่นว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา” จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญของประเทศด้วย

นโยบายการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา

“เป็นกระทรวงที่มีขนาดเล็ก

แต่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

ผลิตกำลังคน 4.0 ที่มีคุณภาพสูง

และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีนวัตกรรม ย้ำให้ทุกคนมองเห็นภาพใหญ่ของการอุดมศึกษาทั้งประเทศ และทิศทางการอุดมศึกษาโลก ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย

พัฒนาคนให้ทันสมัย ทันโลก ทันการเปลี่ยนแปลง

เน้นการเรียนไปพร้อมกับการทำงาน

ปรับเปลี่ยนการทำงานได้หลายรูปแบบ

และหลากหลายอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่”

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร

รมช.ศึกษาธิการ

People unity news online : post 21 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.40 น.

นายกฯระบุการปฏิรูปต้องอาศัยเวลา โดยดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน

People unity news online : นายกรัฐมนตรียืนยันแผนงานปฏิรูปประเทศจะถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่แก้ปัญหาได้ มุ่งมั่นทำให้ประเทศเดินหน้า ดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติ เน้นย้ำการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยระยะเวลา

เมื่อวานนี้ (15 พฤษภาคม 2561) เวลา 12.50 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน ประธานปฏิรูปกฎหมายระบุว่าการปฏิรูปจะสำเร็จยากเพราะให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติแต่ไม่มีแผนงานว่า อยากให้ทุกคนทบทวนในส่วนของข้าราชการควรมีบทบาทอย่างไรในฐานะผู้ปฏิบัติ เพราะข้าราชการเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ ต้องพิจารณาการปฏิรูปในภาพรวมที่มีรายละเอียดอยู่ในแผนปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นระดับนโยบาย ส่วนในระดับปฏิบัติเป็นเรื่องของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน และประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันปฏิรูปประเทศ โดยรัฐบาลได้พยายามดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ มีผลงานปรากฎในหลายๆด้าน ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ช่วยกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาการอำนวยความสะดวก ปัญหาการลงทุน หรือด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ  เป็นต้น ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็นำนโยบายต่างๆเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีข้าราชการเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เป็นไปตามกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การเดินทาง การขนส่ง และอื่นๆ เช่น การแก้ไขปัญหาประปาหมู่บ้าน ได้ดำเนินการแล้วกว่า 7,000 หมู่บ้าน และจะดำเนินการให้เรียบร้อยทั่วประเทศในเร็วๆนี้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปในด้านต่างๆนั้น ได้ดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้ปัญหาต่างๆนำมาซึ่งความวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิม ต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้โดยอาศัยระยะเวลาและสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนโดยสื่อมวลชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ยืนยันว่าคณะทำงานของรัฐบาลทุกคณะนำนโยบายลงสู่การขับเคลื่อนเพื่อการปฏิบัติในทิศทางที่สามารถแก้ปัญหาได้ และลดผลกระทบที่จะเกิดจากความขัดแย้ง

People unity news online : post 16 พฤษภาคม 2561 เวลา 11.10 น.

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. PPP ฉบับใหม่ กำหนดให้มีมาตรการ PPP Promotion แก่ภาคเอกชน

People unity news online : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ) และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยมุ่งเน้นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน และมีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง และมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมของเอกชนโดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการร่วมลงทุน รวมทั้งมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่กระชับ ชัดเจน เปิดเผย และตรวจสอบได้ และสามารถสร้างแรงจูงใจให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีสาระสำคัญสรุปได้นี้

1.“Facilitation” การส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยทำให้ขั้นตอนง่าย กำหนดให้มีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุน (PPP Promotion) และให้คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาแก้ไขปัญหา อุปสรรค หรือความล่าช้าเกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นจากกฎหมายหรือระเบียบ ยกระดับกองทุน PPP ให้สามารถสนับสนุนโครงการ PPP ได้มากขึ้น

2.“Alignment” ทำให้โครงการร่วมลงทุนสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการของประเทศ และเป็นไปตามหลัก PPP สากล ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure Plan) ที่ชัดเจน มุ่งเน้นการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ กำหนดเป้าประสงค์ของการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Partnership) ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน

3.“Streamline” มีขั้นตอนกระชับ ชัดเจน รวมถึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนให้กระชับ มีการนำเอาหลักการของมาตรการ PPP Fast Track มาบัญญัติไว้ในขั้นตอนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน คณะกรรมการ PPP สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาเร่งรัดการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนได้

4.“Transparency” มีการเปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน กำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในทุกขั้นตอน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเปิดเผยสรุปข้อมูลโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อสาธารณชน และหน่วยงานตรวจสอบให้ทราบ

นายเอกนิติ กล่าวสรุปว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีผลใช้บังคับ จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของภาครัฐให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทั่วถึง โดยการใช้ความรู้ ความสามารถ และนวัตกรรมของเอกชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง สะดวกสบาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

People unity news online : post 7 เมษายน 2561 เวลา 14.00 น.

Verified by ExactMetrics