วันที่ 19 พฤษภาคม 2024

ตั้ง รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ เพิ่มอีก 6 แห่ง

People Unity News : 2 พฤษภาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบรายงานความก้าวหน้ายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปี 66 ตั้งเพิ่ม 6 แห่ง กระจายการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพทุกภูมิภาค

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 เห็นชอบในหลักการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (จ.ภ.) ประจำเขตตรวจราชการ จำนวน 6 แห่ง และให้ปรับปรุงแก้ไขจังหวัดเขตพื้นที่บริการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนและบริบทเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม ระบบราชการ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปีงบฯ 2565 – 2569)

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเสนอรายงานความก้าวหน้าว่าได้ดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าว โดยจัดทำแนวทางการพัฒนาจัดตั้ง จ.ภ. 6 แห่ง โดยกำหนดพื้นที่จังหวัดสำหรับการจัดตั้ง จ.ภ. ในพื้นที่เขตตรวจราชการ 6 เขตตรวจฯ ที่ยังไม่มี จ.ภ. ตั้งอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่เขตตรวจราชการที่กำหนดไว้ และได้ปรับปรุงเขตพื้นที่บริการของ จ.ภ. จากเดิมที่มีพื้นที่รับนักเรียนจำนวน 7-8 จังหวัดต่อ 1 โรงเรียนให้เป็นจำนวน 4-5 จังหวัดต่อ 1 โรงเรียนเพื่อให้การเข้าถึงโอกาสของนักเรียนในจังหวัดต่าง ๆ มีการกระจายอย่างทั่วถึง

“เดิมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยมีจำนวน 12 แห่ง และได้กำหนดเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และลำปาง แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและกระจายการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทยให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นจึงได้มีการเพิ่มจัดสรรใหม่อีก 2 แห่ง คือ ในจังหวัดสระแก้ว และ กำแพงเพชร ทำให้จะมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 18 แห่งทั่วประเทศไทย โดยในงบประมาณปี 2566 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง ตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ลำปาง สระแก้ว สุพรรณบุรี และอุบลราชธานี ให้เป็นสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษในสังกัด สพฐ. ตั้งแต่ชั้น ม. 1-6 รับนักเรียนประเภทประจำโดยมีเขตพื้นที่บริการตามที่ สพฐ. กำหนด” น.ส.ทิพานัน กล่าว

Advertisement

 

นายกฯ มอบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

People Unity News : 25 กรกฎาคม 65 วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีมอบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้หน่วยงานราชการ – สื่อมวลชนนำไปประดับ ณ ที่ต่างๆอย่างเหมาะสม พร้อมร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชน

นายกฯ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ ขอให้ดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ ตกแต่งสถานที่ประดับพระฉายาลักษณ์ ประดับธงชาติคู่กับธงตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 พร้อมประดับผ้าระบายสีฟ้าร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน ตลอดจนจัดทำคำถวายพระพรชัยมงคลเผยแพร่ทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ของหน่วยงาน และจัดการลงนามถวายพระพรชัยมงคลภายในหน่วยงานหรือทางเว็บไซต์

Advertisement

ขอเชิญชมนิทรรศการ “ด้วยรักแห่งแผ่นดิน” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันนี้ถึง 15 ส.ค.

People Unity News : 2 สิงหาคม 2565 นายกรัฐมนตรีและภริยา เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 “ด้วยรักแห่งแผ่นดิน : With Love for the Nation” ณ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ นำเสนอในรูปแบบ Interactive Exhibition โดยใช้สื่อมัลติมีเดีย ประกอบด้วย 5 ห้อง ได้แก่

📍ห้องที่ 1 ธรณิน สินธุ์ วนา จัดฉายภาพและเทคนิคเพื่อนำเสนอแนวคิด ดิน น้ำ ป่า และจุดเริ่มต้นการเดินทางตามหาความหมายแห่งพระราชเสาวนีย์

📍ห้องที่ 2 จากฟากฟ้า สู่แผ่นหล้า นำเสนอเรื่องราวการทรงงาน พร้อมกับการแสดงประกอบมัลติมีเดีย “จำฉันไม่ได้ แต่ฉันจำได้”

📍ห้องที่ 3 ด้วยดวงใจ ห่วงใยประชา “หยาดพระเสโทจากฟากฟ้า ที่ทรงห่วงใยเรา” นำเสนอพระราชกรณียกิจในห้วงเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

📍ห้องที่ 4 ราษฎร์ร่วมใจพัฒนา นำเสนอความสำเร็จของทุกคนและผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นที่ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนเกิดโครงการต่าง ๆ มากมายทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

📍ห้องที่ 5 สืบสานรักษา พระราชปณิธาน จัดแสดงนิทรรศการอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ประชาชนสามารถเข้าชมฟรีได้ทุกวันถึง 15 ส.ค. 65 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 20.00 น. โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://bizconnect.tceb.or.th/…/with-love-for-the

Advertisement

กระทรวงเกษตรฯประชุมวางกรอบการดำเนินงานโครงการพระราชดำริของ 9 พระองค์

People Unity News : 23 เมษายน 65 นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยที่ประชุมได้รับทราบแนวทาง/กรอบเวลาการจัดทำฐานข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นชอบ ให้มีความครอบคลุมทั้งในมิติพระราชดำริ (ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์) ครอบคลุมพระราชดำริของ 9 พระองค์ คือ

1) พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

2) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

3) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

4) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

5) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

6) สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี

7) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

8) ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

และ 9) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

มิติโครงการ ครอบคลุม 4 ลักษณะโครงการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กำหนด ประกอบด้วย 1) โครงการตามพระราชประสงค์ 2) โครงการหลวง 3) โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ และ 4) โครงการตามพระราชดำริ หรือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมิติงบประมาณ ครอบคลุมโครงการที่ดำเนินการโดยใช้งบประมาณจากแหล่งงบประมาณต่างๆ ได้แก่ 1) งบประมาณปกติหรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของหน่วยงาน/ส่วนราชการ 2) งบประมาณของสำนักงาน กปร. และ 3) งบประมาณสนับสนุนจากแหล่งงบประมาณอื่น โดยแบ่งกรอบระยะเวลาการดำเนินการ ออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก (ระยะเร่งด่วน) ให้ดำเนินการจัดทำรูปแบบที่กำหนด (Platform) ให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และรายงานผลโครงการในระบบได้ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 ระยะกลาง ให้ดำเนินการจัดทำรูปแบบที่กำหนด (Platform) ให้แล้วเสร็จ และรายงานผลโครงการ ในระบบได้ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (วันที่ 30 กันยายน 2566) และระยะยาว ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกมิติ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (วันที่ 30 กันยายน 2567)

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบรูปแบบการจัดทำระบบฐานข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานทบทวน/ปรับปรุงฐานข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้มิติโครงการ ๔ ลักษณะโครงการ ตามที่สำนักงาน กปร. กำหนด ประกอบด้วย 1) โครงการตามพระราชประสงค์ 2) โครงการหลวง 3) โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ และ 4) โครงการตามพระราชดำริ หรือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกันและสามารถนำฐานข้อมูลที่พัฒนามาบริหารจัดการโครงการพระราชดำริของกระทรวง ลดความซ้ำซ้อน และสามารถบูรณาการและติดตามผลการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

เปิดงาน “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” เฉลิมพระเกียรติพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

People Unity News : 11 สิงหาคม 65 นายกฯ เปิดงาน “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 หนุน “ผ้าไทย” สร้างชื่อเสียงประเทศในระดับสากล

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยภริยา เป็นประธานเปิดงาน “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยกล่าวเปิดงานว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ โดยเฉพาะงานศิลปะของแผ่นดินไทย ตลอดจนศิลปะผ้าไทยที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติและเป็นมรดกทางภูมิปัญญา จนวันนี้ผ้าไทยเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักในระดับสากล

และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันผ้าไทยแห่งชาติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อการอนุรักษ์ “ผ้าไทย” ให้เป็นที่ประจักษ์ตลอดมา

นายกฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการและกิจกรรมภายในงาน เช่น นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “อัคราภิรักษศิลปิน”/ นิทรรศการ “ลายศิลป์แห่งเส้นไหม : มรดกไทยสู่สากล”/ นิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 76 จังหวัด ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ฯลฯ

Advertisement

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง “เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา” ทรงพระประชวร ฉบับที่ 2

People Unity News : 19 ธันวาคม 2565 แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชราชธิดา ทรงพระประชวร ฉบับที่ 2

วันที่ 19 ธันวาคม พุทธศักราช 2565 เวลา 07.00 น. สำนักพระราชวัง ออกแถลงการณ์ เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชราชธิดา ทรงพระประชวร ฉบับที่ 2

ตามที่สำนักพระราชวัง ได้มีแถลงการณ์ เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชราชธิดา ทรงพระประชวรหมดพระสติ ด้วยพระอาการทางพระหทัย และทรงเข้ารับการรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2565 ความทราบทั่วกันแล้วนั้น

คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชราชธิดา ได้รายงานว่า พระอาการโดยรวมคงที่ในระดับหนึ่ง จังหวะการเต้นของพระหทัยควบคุมได้ด้วยพระโอสถ ผลการตรวจพระหทัย พบว่าพระหทัยยังบีบตัวได้ไม่ดีเท่าที่ควร ผลการฉีดสีของหลอดเลือดพระหทัยไม่พบความผิดปกติ คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถและเครื่องมือเพื่อช่วยการทำงานของพระหทัย พระปัปผาสะ พระวักกะ และติดตามพระอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป

จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน

สำนักพระราชวัง

19 ธันวาคม พุทธศักราช 2565

Advertisement

ครม.ประกาศให้วันที่ 12 ส.ค. ของทุกปี เป็น “วันผ้าไทยแห่งชาติ” น้อมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณพระพันปีหลวง

People Unity News : 30 พฤษภาคม 2565 ครม. ประกาศให้วันที่ 12 ส.ค. ของทุกปี เป็น “วันผ้าไทยแห่งชาติ”

ที่ประชุม ครม. (30 พ.ค. 65) เห็นชอบประกาศให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ เพื่อรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสานผ้าไทย ให้เป็นที่ประจักษ์มายาวนาน จากสิ่งทอท้องถิ่นที่สูญหายไปให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

วันผ้าไทยแห่งชาติ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า National Thai Textile Day โดยได้นิยาม “ผ้าไทย” คือ ผ้าที่สร้างสรรค์ขึ้นจากมรดกภูมิปัญญาของไทยที่ได้รับการสืบทอดต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่น บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ประจำถิ่นที่ผลิตขึ้นภายในประเทศโดยฝีมือคนไทย โดยใช้เทคนิค เช่น การทอ จก ยก ขิด ล้วง ปัก มัดหมี่ มัดย้อม บาติก พิมพ์ โดยใช้เส้นใยธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ไหม ฝ้าย ใยกัญชง ใยสับปะรด ที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น เป็นต้น

Advertisement

เตรียมเสนอพระนามในหลวง ร.9 ให้ยูเนสโกประกาศยกย่อง

People Unity News : 6 มิถุนายน 2566 ครม. เห็นชอบเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การยูเนสโกประกาศยกย่อง ร่วมเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบหลักการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ประกาศยกย่อง และร่วมเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570 โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่างเอกสารเสนอพระนามต่อองค์การ UNESCO ต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการประชุมหารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น มีมติเห็นชอบการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การ UNESCO ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570 เนื่องจากทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อประเทศไทย ทรงอุทิศพระองค์เพื่อปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกร

“พระราชกรณียกิจของพระองค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และการดำเนินงานขององค์การ UNESCO ทั้ง 5 ด้าน คือ การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ตลอดจนมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมสันติภาพ ความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนานาชาติและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ให้การยอมรับในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ยกร่างข้อมูลเพื่อเสนอพระนามฯ ให้องค์การ UNESCO โดยจะต้องจัดส่งเอกสารการเสนอพระนามฯ ภายในปี 2567 เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การ UNESCO เพื่อพิจารณาภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ก่อนที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การ UNESCO พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในเดือน พฤศจิกายน 2568 2.เตรียมการด้านต่างๆ โดยได้จัดทำร่างแผนการดำเนินงานการเสนอพระนามฯ เพื่อให้การดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้อง ตามหลักเกณฑ์และกำหนดการขององค์การ UNESCO” นายอนุชา กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยมีบุคคลสำคัญที่ได้รับการประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง โดยองค์การ UNESCO เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันประสูติ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566

Advertisement

ชวนประชาชน ร่วมกิจกรรม “วันดินโลก”

People Unity News : 5 ธันวาคม 2565 นายกฯ เชิญชวนประชาชน ร่วมกิจกรรม “วันดินโลก” เทิดพระเกียรติ ในหลวง ร.9 สร้างความตระหนักรู้ ความสำคัญของดิน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรมวันดินโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธ.ค.ของทุกปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดงาน “วันดินโลก World Soil Day” ขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 ธ.ค. 2565 ที่สถานีพัฒนาที่ดินตาก ต.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก พร้อมกำหนดให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ได้บูรณาการเครือข่ายการพัฒนาที่ดินที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ชุมชน เกษตรกร และภาคประชาชน จัดงานวันดินโลก ตลอดเดือน ธ.ค. 2565 เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก

นอกจากนี้ หลายหน่วยงานยังได้จัดงานและประชาชนสามารถเข้าร่วม อาทิ กระทรวงมหาดไทยได้จัดกิจกรรมวันดินโลกในทุกอำเภอในวันที่ 5 ธ.ค. ส่วนที่จังหวัดอุบลราชธานีได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของดินเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่ 2-8 ธ.ค. ในอำเภอต่างๆ เริ่มตั้งแต่กิจกรรม Kick-off ในวันที่ 2 ธ.ค. ณ วัดป่าศรีแสงธรรม ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2556 ได้กำหนดให้วันที่ 5 ธ.ค. เป็นวันดินโลกอย่างเป็นทางการ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงงานตลอดพระชนม์ชีพ ในการศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดการดินและแก้ไขปัญหาทรัพยากรดินเพื่อให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี โดยพระราชปณิธานของพระองค์มีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนนับล้านผ่านการจัดการดินอย่างยั่งยืน

สำหรับวันดินโลกปี 2565 นี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดหัวข้อ “Soils, where food begins อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน” เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาการสูญเสียธาตุอาหารในดิน ซึ่งเป็นกระบวนการหลักของดินเสื่อมโทรม และเป็นภัยที่คุกคามต่อความมั่นคงและความยั่งยืนทางด้านอาหารในระดับโลก เนื่องจากดินเป็นต้นกำเนิดของอาหาร จึงได้เน้นความสำคัญของการสร้างสุขภาพดินที่ดี ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ดีตามแนวคิด One Health ซึ่งหมายถึงการพัฒนาสุขภาพคน สัตว์และสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้มีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สามารถติดตามประกาศจากสถานีพัฒนาที่ดินในพื้นที่ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมวันดินโลก โดยจะมีกิจกรรม อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” แสดงหลักการของแนวพระราชดำริด้านดินที่ช่วยแก้ไขปัญหาดินของแต่ละพื้นที่, นิทรรศการวันดินโลก เช่น ความเป็นมาของวันดินโลก ความสำคัญของดินต่อการผลิตอาหาร, การประชุม เสวนา บรรยายพิเศษ โดยนักวิชาการ หรือเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบ ความสำเร็จ, การจัดตลาดนัดสินค้าเกษตร, การจัด workshop DIY ทำของใช้ ของที่ระลึกที่มีดินเป็นส่วนประกอบ

Advertisement

รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา

People Unity News : วันนี้ (29 กรกฎาคม 2565) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ซึ่งรัฐบาลจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

เวลา 19.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงทำเนียบรัฐบาล วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี รถยนต์พระที่นั่งจอดเทียบหน้าตึกสันติไมตรีกองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ รถยนต์พระที่นั่ง จากนั้น นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ตามลาดพระบาท ผ่านแถวผู้รอเฝ้าฯ รับเสด็จ ไปจนถึงที่ประทับ

นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใจความว่า

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองพระบาท

เนื่องในศุภมงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม  ได้เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในนามของคณะรัฐมนตรี ข้าราชการและพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า มีความปลื้มปีติเป็นล้นพ้น ที่ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาในงานสโมสรสันนิบาต ที่รัฐบาลได้จัดขึ้นเพื่อน้อมถวายความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันนี้

ด้วยน้ำพระราชหฤทัยและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นที่จะบำรุงอาณาราษฎรใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารให้ได้พำนักอาศัยด้วยความสุขสวัสดิ์ และความวัฒนาสถาพรแก่ราชอาณาจักร ทั้งยังได้พระราชทานโครงการพระราชดำริน้อยใหญ่อันเป็นประโยชน์อเนกอนันต์ ตลอดจนพระราชทานความช่วยเหลือพสกนิกรทุกหมู่เหล่าเพื่อดับความทุกข์ร้อนและบรรเทาเภทภัยนานา  พระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ได้ประจักษ์ชัดแจ้งแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และได้สถิตอยู่ในดวงใจของพสกนิกรชาวไทยทั้งปวง

ในมหามงคลสมัยนี้ ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอพระราชทานพระราชานุญาต ตั้งจิตอธิษฐานร่วมกันถวายพระพรชัยมงคล ขออาราธนาแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล อีกทั้ง พระบรมเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ โปรดอภิบาลรักษาให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงพระเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ทรงพระเกษมสำราญ พระบรมเดชานุภาพและพระบารมีแผ่ไพศาล มีพระราชประสงค์จำนงหมายสิ่งใด ขอจงสฤษดิ์ดั่งพระราชหฤทัยปรารถนา สถิตเป็นมิ่งขวัญปกเกล้าปวงข้าพระพุทธเจ้าและเหล่าพสกนิกรชาวไทย ตราบจิรัฐิติกาล

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

วงดุริยางค์กรมศิลปากรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จบแล้ว นายกรัฐมนตรีนำผู้ร่วมงานกล่าว “ทรงพระเจริญ” 3 ครั้ง นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการแสดงเฉลิมพระเกียรติชุด “อาศิรวาทราชสดุดี” โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นการแสดงถึงความงดงามประณีตในรูปแบบนาฏศิลป์จารีตประเพณี (ราชสำนัก) ที่ได้รับการสืบทอดกระบวนท่ารำ การขับร้องและท่วงทำนองเพลงเป็นแบบแผนมาแต่โบราณสืบมาจนปัจจุบัน การแสดงนำมาเรียงร้อยปรับแต่งขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ โดยเริ่มจากพระอิศวรเทพเจ้า พร้อมพระอุมาภัควดี นำขบวนพราหมณ์และพราหมณี ซึ่งเป็นผู้ทรงศีล สะอาด บริสุทธิ์ทั้งกายและใจ ออกมาร่ายรำเพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ด้วยเพลงหน้าพาทย์ดำเนินพราหมณ์ จากนั้น ขับร้องบทประพันธ์ด้วยเพลงขับไม้บัณเฑาะว์ ต่อด้วยเพลงหน้าพาทย์ตระนิมิตล้วนเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่มีกระบวนท่ารำสืบทอดมาตั้งแต่่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จบแล้ววงดุริยางค์กรมศิลปากร บรรเลงเพลงสดุดีจอมราชา 2 จบ โดยผู้ร่วมงานได้ร่วมขับร้องเพลงสดุดีจอมราชาเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อได้เวลาอันสมควร นายกรัฐมนตรีและภริยา เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เฝ้าฯ ส่งเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ รถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เชิญพระราชวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี ประธาน/รองประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หัวหน้าส่วนราชการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการสามัญ วุฒิสภา หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ คณะบดีคณะทูต เอกอัครราชทูตอาวุโสประจำภูมิภาคต่าง ๆ เลขาธิการ ESCAP ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ พร้อมคู่สมรส เข้าร่วมในงานสโมสรสันนิบาตฯ ด้วย

Advertisement

Verified by ExactMetrics