วันที่ 18 กรกฎาคม 2025

นายกฯยืนยันในที่ประชุมสภาฯ ไม่เคยเรียกรับผลประโยชน์-ไม่เคยอนุมัติโครงการใดเป็นพิเศษ

People Unity News : นายกรัฐมนตรียืนยันในที่ประชุมสภาฯ ไม่เคยเรียกรับผลประโยชน์ แผนงาน/โครงการต้องผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการทุกระดับ ไม่เคยอนุมัติโครงการใดเป็นพิเศษ

วันนี้ (3 ก.ค. 63) เวลา 17.00 น. ณ ห้องประชุมสุริยัน สัปปายะสภาสถาน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564  ยืนยันไม่เคยเรียกรับผลประโยชน์ การอนุมัติจัดงบประมาณผ่านกลั่นกรองของคณะกรรมการทุกระดับ ไม่เคยอนุมัติโครงการใดเป็นพิเศษ ขณะที่การลงทุน PPP เน้นความโปร่งใส ลดภาระด้านงบประมาณ

นายกรัฐมนตรีชี้แจงถึงแผนงานคมนาคมว่า มีการศึกษาพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะลงมือทำ โดยภาครัฐเน้นการลงทุนร่วมรัฐ-เอกชน หรือ PPP เพราะหากรัฐลงทุนเองจะใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้นการลงทุน PPP จะช่วยลดภาระด้านงบประมาณด้านการลงทุนของภาครัฐไปได้ โดยการประมูลและลงนามสัญญาต้องโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมาย หลายโครงการก็ประสบความสำเร็จแล้ว หน้าที่ของรัฐบาลต้องดูแลประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั้งลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ยืนหยัดได้เพราะไม่เคยเรียกผลประโยชน์จากใคร การอนุมัติดำเนินการเป็นไปตามการเสนอแผนงานโครงการ ผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการทุกระดับ มีสัดส่วนงบประมาณชัดเจนถูกต้องและเหมาะสม อย่างไรก็ตาม พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการจัดสรรงบประมาณนั้น เน้นความถูกต้องโปร่งใส คำนึงถึงภาระและความเหมาะสม งบประมาณแบ่งออกเป็นหลายส่วน ทั้งงบกลางของส่วนราชการ งบบูรณาการ ขออย่านำงบประมาณฟื้นฟูมาปะปนกับงบประมาณรายจ่ายในงบประมาณปี 64  สำหรับการจัดซื้อเรือดำน้ำ ยืนยันว่า ยึดหลักเหตุผลความจำเป็น ดำเนินการด้วยความโปร่งใส  รวมทั้งพัฒนาเส้นทางคมนาคม ทั้งเพิ่มถนนสายใหม่และแก้ไขถนนเส้นเก่าที่มีปัญหา ก็ทยอยดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพราะไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี ขอยืนยันว่างบประมาณที่อนุมัติยึดตามพันธกิจของหน่วยงานเป็นสำคัญ

Advertising

“ประยุทธ์” แจงสภางบปี 64 ใช้อย่างรอบคอบ โครงการ-แผนงานต้องสอดคล้องกับสถานการณ์

People Unity News : นายกรัฐมนตรียืนยันประชาชนต้องได้รับประโยชน์จากงบประมาณ ยึดหลักใช้งบประมาณอย่างรอบคอบ โครงการ แผนงานต้องสอดคล้องกับสถานการณ์

วันนี้ (1 ก.ค. 63)  เวลา 12.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ต่อสภาผู้แทนราษฎร  ย้ำรัฐบาลตระหนักถึงการใช้งบประมาณที่ยังมีอยู่อย่างรอบคอบ ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 งบประมาณจาก พ.ร.บ. โอนงบประมาณฯ และงบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ ที่จะต้องดำเนินตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ

นายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อรัฐสภาว่า งบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ ราว 4 แสนล้านบาทที่จะทยอยนำมาใช้ในการเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ อยู่ในช่วงของการพิจารณาโครงการที่จะต้องผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการ รวมถึงต้องผ่านการคัดกรองจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดแผนงานที่ชัดเจนในการเบิกจ่ายงบประมาณ  หากแผนงานโครงการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ก็จะไม่ผ่านการอนุมัติ แต่วงเงินยังคงอยู่

นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายส่วนหนึ่งของการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพื่อให้ภาคธุรกิจ SMEs ขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถดำเนินต่อไปได้  เนื่องจากทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ รัฐบาลจึงต้องร่วมมือกับภาคธุรกิจในการฟื้นฟูเยียวยาประชาชน ส่งเสริมให้มีการจ้างงานต่อไป รวมถึงคำนึงถึงธุรกิจฐานราก ประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่มีหลักประกัน ให้สามารถเข้าถึงเงินทุนผ่านการกู้ยืม จึงได้จัดทำมาตรการ Soft Loan พร้อมระมัดระวังหนี้ที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้  (NPL) หนี้สาธารณะไม่ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะเงินทุกบาทของกองทุนหรือธนาคาร เป็นเงินที่ประชาชนนำมาฝาก จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง

นายกรัฐมนตรียังย้ำต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน  ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ถนน  ลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การสนับสนุนเกษตรกร ทำการเกษตรเพื่อเป็นแหล่งอาหารโลก เน้นลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ขยายตลาดในการขายสินค้า ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องเตรียมเปิดรับการลงทุนของชาวต่างชาติ และการเปิดรับแรงงาน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และไม่กระทบต่อทรัพยากรของคนไทย

พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้เตรียมจัดหางบประมาณ การจัดเก็บภาษี ด้วยระบบระบบดิจิทัลเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงอาจมีการปรับ/เพิ่ม หน่วยงานที่มีความจำเป็นและมีประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อรองรับสิ่งใหม่ๆในประเทศไทย นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลได้เตรียมฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) ประกอบไปด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมประเทศด้วย

Advertising

ทส.ทุ่มงบ 445 ล้าน จ้างงานประชาชน 16,488 อัตรา อัตราละ 9,000 บาท นาน 3 เดือน

People Unity News : ทส.ทุ่ม 445 ล้าน จ้างงานประชาชน 16,488 อัตรา อัตราละ 9,000 บาท ช่วยคนตกงานจากโควิด-19

25 มิ.ย.2563 เวลา 10.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานแถลงข่าว “โครงการจ้างงานให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19” ทุ่มงบประมาณ 445,176,000 บาท จ้างงาน 16,488 อัตรา อัตราละ 9,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาการจ้าง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2563 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกงาน และเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่นั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดศักยภาพในการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า สำหรับการจ้างงานทั้งหมด แบ่งเป็น 4 หน่วยงาน คือ  1.สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโครงการ 1 คน 1 ตำบล ร่วมใจฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 7,225 อัตรา 2.กรมป่าไม้ ทำหน้าที่ลูกจ้างผู้ช่วยงานเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการปฏิบัติงานตามนโยบาย คทช. ในการสำรวจการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และโครงการจ้างงานประชาชนเพื่อฟื้นฟูป่าหลังถูกไฟไหม้ “สร้างป่า สร้างงาน สร้างรายได้” จำนวน 5,058 อัตรา 3.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำหน้าที่ลูกจ้างผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำแหล่งอาหารของสัตว์ป่า จำนวน 3,500 อัตรา 4.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในโครงการจ้างสำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ในเขตป่าชายเลน จำนวน 675 อัตรา

นอกจากนี้ ยังได้แถลงข่าวในประเด็นการเปิดอุทยานแห่งชาติ โดยบริหารการท่องเที่ยวแบบ New normal ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นี้ ซึ่งมีอุทยานแห่งชาติที่เปิดทุกแหล่งท่องเที่ยว จำนวน 64 แห่ง และอุทยานแห่งชาติที่เปิดให้เที่ยวบางส่วน 63 แห่ง และต้องจองล่วงหน้าผ่านแอพพลิเคชั่น QueQ ก่อนการท่องเที่ยว

สำหรับประเด็นการรื้อถอนอาคาร บอมเบย์เบอร์มา รมว.ทส. ได้กล่าวขอโทษพี่น้องชาวจังหวัดแพร่ และจะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก รวมถึงขอยืนยันว่าไม้สักจากการรื้อถอน ยังอยู่ครบถ้วน มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ได้ถูกนำไปขายตามที่มีการกล่าวหาในโลกโซเชียลแต่อย่างใด ทั้งนี้ ได้ประสานกับกรมอุทยานฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวจังหวัดแพร่ในการหารือร่วมกันฟื้นฟูอาคารหลังนี้กลับมาขึ้นใหม่ มั่นใจจะฟื้นฟูอาคารแห่งนี้กลับมาได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และฝากให้ทุกหน่วยงานในสังกัด สำรวจอาคารเก่าที่มีคุณค่า ว่าหากต้องซ่อมแซมจะมีแนวทางการซ่อมแซมอย่างไร ต้องหารือหน่วยงานใดบ้าง ซึ่งจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ประกอบด้วย

Advertising

รัฐบาลเปิดวอร์รูม เฝ้าระวังการใช้จ่ายเงิน พ.ร.ก.กู้เงินฯ

People Unity News : รัฐบาลเปิดวอร์รูม เฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ให้ประชาชนแจ้งเบาะแส รับร้องเรียน พร้อมตรวจสอบ

22 มิ.ย.2563 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง กลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.63 ในโอกาสนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จึงได้รายงานผลการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ร.ก.กู้เงินฯ 400,000 ล้านบาท โดยศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พร้อมเสนอกลไก 4 ด้านในการดำเนินงาน ประกอบไปด้วย การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต การตรวจสอบข้อเท็จจริง และการดำเนินมาตรการทางปกครอง วินัย อาญา ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสร้องเรียน รวมถึงตรวจสอบโครงการการใช้จ่าย พ.ร.ก.กู้เงินฯ ได้ทาง www.pacc.go.th หรือสายด่วน 1206 เพื่อสร้างความโปร่งใส และความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบการเพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โดยเพิ่มปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบูรณาการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ คณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และ คณะอนุกรรมการเสริมสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วม เพื่อเน้นการส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานใช้จ่ายงบประมาณแก่ประชาชน ลดการทุจริต สนับสนุนการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคประชาสังคม

Advertising

มท.1 ให้นโยบายผ่อนคลายระยะที่ 4 “ต้องช่วยกันทำเพื่อชาติ เศรษฐกิจต้องเดิน คนต้องมีรายได้”

People Unity News : มท.1 มอบนโยบายแนวทางปฏิบัติมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 เน้นย้ำ “ต้องช่วยกันทำเพื่อชาติ เศรษฐกิจต้องเดิน คนต้องมีรายได้”

16 มิ.ย.2563 เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) เพื่อซักซ้อมแนวทางปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้แทนศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ผู้แทนกรมควบคุมโรค ร่วมประชุม และเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยังศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในจังหวัด นายอำเภอ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมประชุม

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า วันนี้เป็นการหารือซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติตามข้อกำหนดผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันโรคโควิด-19 ระยะที่ 4 ซึ่งในขณะนี้ สถานการณ์การควบคุมแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ไม่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นเวลา 22 วันแล้ว ด้วยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค รวมทั้งประชาชนคนไทยทุกคน ทำให้เราสามารถควบคุมได้สำเร็จในช่วงที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ ได้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในด้านเศรษฐกิจสูงมาก หลายคนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ยังไม่มีรายได้ ซึ่งระยะต่อจากนี้ถือเป็นช่วงที่สำคัญที่ต้องเตรียมการเพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชน คือ การท่องเที่ยว และเพื่อให้การเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคตต่อไปเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเตรียมการและเร่งสร้างการรับรู้ความเข้าใจและรณรงค์ให้ประชาชนดำเนินชีวิตด้านเศรษฐกิจและรักษาสุขอนามัยเป็นพื้นฐานสำคัญใน 3 เรื่อง คือ 1) ต้องรักษาสุขอนามัยสูงสุด “อย่าการ์ดตก” สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ รักษาระยะห่างทางสังคม ให้เป็นมาตรการพื้นฐานอย่างเข้มแข็ง 2) การกักกันโรค (Quarantine) ต้องเข้มแข็ง และ 3) รณรงค์ให้ประชาชนและผู้ประกอบการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ทุกครั้งที่ใช้บริการ ให้เป็นชีวิตปกติแนวใหม่ เพื่อประโยชน์ในการตามสืบสวนโรคได้อย่างรวดเร็วทุกคนต้องช่วยกันทำเพื่อชาติ “เศรษฐกิจต้องเดิน คนต้องมีรายได้”

นายนิพนธ์ บุญญามณี กล่าวว่า ในขณะนี้เริ่มมีการเปิดสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและชายหาดซึ่งพบว่าบางพื้นที่ยังมีการคัดกรองไม่เข้มงวด จึงขอให้ในแต่ละพื้นที่ได้พิจารณาการจัดตั้งจุดคัดกรองเพิ่มเติม โดยเฉพาะชายหาดที่มีประชาชนนิยมไปพักผ่อนจำนวนมาก และขอให้ทุกจังหวัดส่งเสริมให้ประชาชนได้ทำเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้ประชาชนทำการเกษตรที่สามารถจะเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ในครัวเรือนอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้

จากนั้น ผู้แทน ศบค. ผู้แทนกระทรวง DES ผู้แทนกรมควบคุมโรค และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอแนวทางปฏิบัติและมาตรการการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรอบแนวคิดการผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร แนวทางปฏิบัติการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายที่กำหนด มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก/น้ำ/อากาศ การเตรียมความพร้อมเปิดสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น และผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ภูเก็ต และเพชรบุรี ได้รายงานการดำเนินการจัดระเบียบสถานที่ท่องเที่ยวชายหาดและการสร้างการรับรู้กับประชาชน และผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วและจังหวัดตาก รายงานการดำเนินงานพื้นที่ชายแดนและการจัดการศึกษา

นอกจากนี้ ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนสำนักงบประมาณ ได้ชี้แจงแนวทางการจัดทำโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และกรอบระยะเวลาดำเนินการโดยทุกจังหวัดต้องส่งรายละเอียดโครงการตามแบบฟอร์มที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมายังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติภายในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 เพื่อคณะอนุกรรมการพิจารณารายละเอียดโครงการ และคณะกรรมการพิจารณาผลการกลั่นกรองโครงการของคณะอนุกรรมการ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นโอกาสอย่างยิ่งที่ต้องใช้ในการแก้สถานการณ์เศรษฐกิจซึ่งมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบด้านอื่นๆ จึงขอฝากให้คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) พิจารณาให้ดีว่าโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ในเรื่องการบริหารโครงการต้องเกิดความโปร่งใส และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะใช้เงินงบประมาณนี้ทำให้ประชาชนมีหนทางใช้ชีวิตที่ดีขึ้นในการทำมาหากิน ประกอบอาชีพ สร้างสรรค์สิ่งที่ดี สร้างโอกาสที่ดีต่อไป

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ กล่าวว่า งบประมาณที่ได้รับตามโครงการฯ เป็นงบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรผ่านช่องทางคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) โดยส่วนราชการในสังกัดทุกกระทรวงมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนทุกระดับ และองค์กรภาคประชาชนและประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน โดยทุกโครงการที่เสนอขอรับงบประมาณต้องเป็นโครงการที่เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่

Advertising

4 องค์กรชาวไร่อ้อยตบเท้าพบ “สุริยะ” ขอบคุณนายกฯ ภายหลัง ครม. อัดงบฯหมื่นล้านช่วย

People Unity News : 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ตบเท้าเข้าขอบคุณนายกฯ ภายหลัง ครม. อัดงบฯหมื่นล้านช่วยเหลือฤดูการผลิตปี 2562/2563 สุริยะ ตั้งเป้าเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังจากให้ผู้บริหาร 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อแสดงความขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

นายสุริยะ กล่าวว่า สืบเนื่องจากปีนี้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเป็นอย่างมาก ทำให้ผลผลิตลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านตัน แต่ในความเป็นจริงมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพียง 74.89 ล้านตันเท่านั้น นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตในการทำไร่อ้อยก็สูงขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ว่าจะอยู่ที่ 1,110 บาท/ตัน เป็น 1,419 บาท/ตัน กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ จึงได้ผลักดันโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็ก ให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่จำเป็น และสามารถนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพต่อไป ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เร่งประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมความพร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือฯภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมทั้งกำกับดูแลการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต อย่างโปร่งใส ถูกต้องครบถ้วนตามข้อเท็จจริง

นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวปิดท้ายว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศต่างรู้สึกซาบซึ้งในการปฏิบัติงานจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมในการผลักดันโครงการเงินช่วยเหลือฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยเองก็มีความยินดีพร้อมปฏิบัติตามมาตรการต่างๆที่รัฐบาลขอความร่วมมืออย่างเต็มที่

Advertising

“ธรรมนัส” เปิดงานเกษตรลุ่มน้ำโขงครั้งที่ 23 “เกษตรปราดเปรื่อง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

People Unity News :ธรรมนัส” เปิดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 23 ประจำปี 2563 ภายใต้หัวข้อ “เกษตรปราดเปรื่อง มั่งคั่ง ยั่งยืน” พัฒนาการเกษตรและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 23 ประจำปี 2563 ภายใต้หัวข้อ “เกษตรปราดเปรื่อง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ณ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม ว่า การจัดงานเกษตรลุ่มน้ำโขงครั้งนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯเห็นถึงความสำคัญของการเผยแพร่ถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรและเทคโนโลยี รวมถึงงานวิจัย นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการเกษตร พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และเพื่อให้นักศึกษารวมถึงเกษตรกรยุคใหม่ เห็นถึงความสำคัญของอาชีพเกษตรกรรม

“ในภาคการเกษตรนั้น สามารถจะขยายตัวในการเพิ่มผลผลิต ประสิทธิภาพช่องทางการตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร จึงจำเป็นต้องพัฒนาเกษตรกร และชุมชนให้เข้มแข็ง มีการบูรณาการหลักการวิชาการ องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้ โดยมุ่งเน้นที่ตัวเกษตรกรให้มีคุณภาพสามารถแก้ปัญหาและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

ทั้งนี้การจัดงานเกษตรลุ่มน้ำโขงครั้งที่ 23 ประจำปี 2563 จึงมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้ตระหนักในด้านองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพเกษตรกร สามารถแก้ไขปัญหาและวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด งานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 15 มีนาคม 2563 โดยภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการทางการเกษตร มีการอบรมเสวนา และมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร สินค้าพื้นบ้านและอื่นๆอีกมากมาย

โฆษณา

รัฐบาลเปิดแอป ThaifightCOVID ติดตามนักท่องเที่ยวต่างชาติและเฝ้าระวังผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

People Unity News : รัฐบาลเปิดแอปพลิเคชัน ThaifightCOVID ติดตามนักท่องเที่ยวต่างชาติและเฝ้าระวังผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เน้นการดูแลอย่างใกล้ชิด

เมื่อวานนี้ (12 มี.ค. 2563) เวลา 14.00 น.ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขแถลงชี้แจงข้อสงสัยในประเด็นสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 การปรับพัฒนาการดูแลสุขภาพกลุ่มที่มีความเสี่ยง และการเปิดตัวแอปพลิเคชัน ThaifightCOVID

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ 2 และยังคงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น และจะรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาแก่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องทุกวัน

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า วันนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 จากโรคระบาด (Epidemic) เป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก (Pandemic) อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 121 ประเทศ 120,000 ราย เป็นผู้ที่มีอาการหนัก 5,700 ราย ปัจจุบันไทยมีผู้ติดเชื้อ 70 ราย รักษาหายแล้ว 35 ราย โฆษกกระทรวงสาธารณสุขยังย้ำถึงมาตรการเฝ้าระวังตัวเอง (Quarantine) เกี่ยวข้องกับ 4 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.) ขอให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม ประพฤติตนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด  2.) ขอให้ติดต่อได้  3.) ถ้าพบว่ามีอาการป่วย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที และ 4.) จะบังคับใช้กฎหมายเข้าควบคุม กรณีไม่ให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการเฝ้าระวังตนที่บ้าน 14 วัน นั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชนช่วยดูแลตามหลักวิชาการ จึงขอฝากไปถึงประชาชนว่า ผู้เฝ้าระวังตนเป็นเพียงผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ใช่ผู้ป่วย ต้องให้กำลังใจและชื่นชมว่าเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงไม่มีการปิดศูนย์เฝ้าระวังเพียงแต่ปรับรูปแบบในการดูแลกลุ่มที่มีความเสี่ยง และพัฒนาให้ศูนย์ที่ดูแลกลุ่มที่มีความเสี่ยง สามารถใช้ประโยชน์อื่นๆตามสถานการณ์ เช่น ได้เตรียมโรงพยาบาลบางขุนเทียนเพื่อเป็นศูนย์ในเขตกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่ใช้มาตรการ State Quarantine หรือ Local Quarantine คือ การควบคุมติดตามดูแลกลุ่มผู้เสี่ยงในพื้นที่ที่จัดหาโดยรัฐบาลรวมทั้งในภูมิลำเนานั้น จะให้เน้นเป็น Home Quarantine คือ การเฝ้าระวังตนเองที่พักอาศัย โดยใช้กลไกความร่วมมือขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภาคประชาสังคม ช่วยกันสอดส่องดูแล ซึ่งการเฝ้าตนเองที่บ้านช่วยให้ได้รับความสะดวกสบายทั้งทางกายและทางจิตใจ เนื่องจากมีคนดูแลอย่างใกล้ชิดในพื้นที่ที่ตนคุ้นเคย เน้นใช้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน ซึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะเข้าไปติดตามดูแลสุขภาพของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อเนื่องทุกวัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังแถลงเพิ่มเติมว่า ไทยไม่ได้มีการปิดประเทศแต่เพียงเพิ่มความเข้มงวดและรัดกุมในการเดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งการยกเลิกฟรีวีซ่า 3 ประเทศ และการยกเลิกวีซ่า On Arrival 18 ประเทศ เป็นหนึ่งในมาตรการลดการแพร่ระบาดของโควิด – 19  โดยจะให้มีผลตั้งแต่ 13 มีนาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2563 ชาวต่างประเทศยังสามารถเดินทางมาไทยได้ โดยยื่นขอวีซ่า ณ สถานเอกอัครราชทูตในประเทศนั้นๆ โดยอาจต้องมีเอกสารเพิ่มเติม เช่น ใบรับรองแพทย์ ประกันสุขภาพ ประกันสังคม เพื่อเป็นการรับรอง อาจเพิ่มเติมความปลอดภัยโดยอนุมัติวีซ่าหลังจากนั้นประมาณ 14 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการการเฝ้าระวังสังเกตอาการของกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวถึงโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยภายใต้ชื่อ #ThaiFightCOVID โดยเปิดตัวแอปพลิเคชัน AOT Airports สำหรับใช้เก็บข้อมูลเพื่อติดตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย รวมถึงชาวไทยที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปเก็บรวบรวมที่กรมควบคุมโรค เพื่อเจ้าหน้าที่ติดตามพิกัดที่อยู่ของผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและผู้เดินทางร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว และจะถูกลบออกจากระบบภายใน 14 วัน ตามการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามหลักการสากล สำหรับแอปพลิเคชัน SydeKick for ThaifightCOVID นั้น จะเป็นเครื่องมือเสริมสำหรับเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามและเฝ้าระวังผู้ที่ต้องกลับไปกักตัวที่ภูมิลำเนาเดิม ติดตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของกลุ่มเสี่ยง โดยจะทำงานควบคู่กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดที่จะคอยดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้โดยสารที่เป็นลูกค้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เปิดโรมมิ่งไว้แล้ว สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทันที ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่มีซิมการ์ดสามารถซื้อซิมการ์ดได้จากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่วางจำหน่าย ในราคา 49 บาท ซึ่งสามารถใช้ได้ 14 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจสอบรายละเอียดข้อมูล ก่อนอนุญาตให้เข้าประเทศต่อไป

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงยังไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ เป็นเพียงผู้เฝ้าระวัง เราทุกคนจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ หากพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือ ให้ความรักและกำลังใจซึ่งกันและกัน

โฆษณา

นายกฯระบุยุทธศาสตร์ชาติกำหนดทิศทางและแก้ปัญหาประเทศ บอกตนเองเป็นคนเบิร์ด เบิร์ด

People Unity News : นายกรัฐมนตรียืนยันยุทธศาสตร์ชาติกำหนดทิศทาง และแก้ปัญหาของประเทศ ย้ำไม่มีปัญหาไหนแก้ได้ในวันเดียว

เมื่อวานนี้ (26 ก.พ.2563) เวลา 19.30 น. ณ อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมรับฟังการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมยืนยันตัวตนที่แท้จริงเป็นคนสบายๆ แบบ “เบิร์ด เบิร์ด” พร้อมชี้แจงประเด็นสำคัญทั้งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การปราบปรามยาเสพติด บ่อนการพนัน การป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารราชการแผ่นดิน

นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีเหตุรุนแรงที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงบ่าย ซึ่งได้มอบหมายรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินำหน่วยบัญชาการพิเศษเข้าไปดูแลในพื้นที่แล้ว ซึ่งเป็นการเตรียมการในระยะที่ 2 และวันรุ่งขึ้นแต่เช้าก็ได้รีบเดินทางลงไปเพื่อไปควบคุมการดำเนินการซึ่งเป็นระยะที่ 3 ระหว่างนั้นก็ได้รับรายงานมาว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นไปตามขั้นตอนแผนปฏิบัติการ เมื่อเดินทางถึงก็เข้าไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารีและโรงพยาบาลกรุงเทพนครราชสีมา ตนเองเสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นและเมื่อลงมาชั้นล่างของโรงพยาบาลก็มีประชาชนจำนวนมากมาโบกมือให้กำลังใจ ก็ได้ตอบสนองพี่น้องประชาชนที่มารออยู่ โดยโบกมือทำสัญลักษณ์ให้กำลังใจชาวจังหวัดนครราชสีมา เพื่อร่วมกันผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปให้ได้ ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เกิดขึ้น ขณะนี้ก็กำลังสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด หากมีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบก กองทัพบกก็พร้อมน้อมรับเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

นายกรัฐมนตรีได้ตอบข้อซักถามถึงการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งหนี้นอกระบบ หนี้ครัวเรือน มีการออกกฎหมายทั้งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย จับกุมผู้กระทำความผิดดำเนินคดีได้ 1,712 คดี มีผู้ต้องหา จำนวน 1,736 ราย พร้อมทั้งจัดพิธีคืนโฉนดไปแล้ว 12 ครั้ง ซึ่งผลการช่วยเหลือทำให้มีลูกหนี้ได้รับคืนทรัพย์สินถึง 25,044 ราย โฉนดที่ดิน 21,304 ฉบับ คิดเป็นเนื้อที่ 59,421 ไร่ 3 งาน 27.42 ตารางวา มูลค่ารวมทั้งสิ้น 30,667 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมี “ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” สืบสวน ขุดรากถอนโคนอาชญากรรม ทุกคนสามารถแจ้งเข้ามาได้หากพบใครโกงใครทุจริตก็จะถูกจับกุมลงโทษ ทั้งนี้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมเพราะเราเป็นสังคมใหญ่เดียวกัน  นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “นาโนไฟแนนซ์ และ พิโกไฟแนนซ์” เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบมากขึ้น ล่าสุดมีการปล่อยสินเชื่อแล้ว 500,000 ราย รวมทั้งส่งเสริมให้มีสถาบันการเงินชุมชนหรือธนาคารชุมชนให้เกิดการออมเพื่อสร้างความยั่งยืน มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ขยายเงินกู้ พักชำระหนี้ และที่สำคัญคือ การให้ความรู้ทางการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทั่วไป SMEs เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ด้วย ซึ่งหลังจากนี้ ครม. ก็จะได้มีการออกมาตรการต่างๆทยอยออกมาอีก

สำหรับการดำเนินการในการปราบปรามยาเสพติดนั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศฐานการผลิตยาเสพติดและได้ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 5 ประเทศ มีผลงานทั้งการทำลายโรงงานยาเสพติด ทำลายโครงสร้าง สลายเครือข่ายอิทธิพลทั้งแหล่งค้า ทุกวันนี้เครื่องจักรแบบใหม่และหัวเชื้อด้วยสารเคมีทำให้ผลิตยาบ้าได้เป็นจำนวนมาก ราคาถูก แต่ก็ยังดำเนินการจับกุมมาตลอด โดยเฉพาะการสืบหานายทุน แล้วทำการยึดทรัพย์ ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจตัวอย่างจำนวน 46,000 ราย ระหว่าง 10 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคม 2562 พี่น้องประชาชนร้อยละ 95.2 มีความพึงพอใจในการดำเนินงานและในการป้องกันปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล  ทั้งนี้ จากข้อมูลจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC : Office des Nations unies contre la drogue et le crime)  การจับกุมยาบ้าในภูมิภาคนี้เฉลี่ยแล้วเพิ่มสูงขึ้น 15 เท่า ประเทศไทยเพิ่มขึ้น 12 เท่า จีน 20 เท่า การจับกุมไอซ์ในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น 5 เท่า ของไทยเพิ่มขึ้น 112 โดยไทยนั้นได้มีการดูแลลงไปถึงหมู่บ้านชุมชน  ทำให้ตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน สัดส่วนหมู่บ้าน ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดลดลง และในปี 2562 มีหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติด อยู่ที่ร้อยละ 30 ซึ่งก็ยังคงมากอยู่ ปัญหาที่รัฐบาลเข้าไปดูแลต่อไปคือการลดจำนวนนักโทษ ปัจจุบันนักโทษคดียาเสพติดมีจำนวนมาก ล้นคุก ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาทั้งระบบ ทั้งแยกผู้เสพและผู้ค้ารายย่อยออกจากรายใหญ่ การฟื้นฟู การหาอาชีพ ดูแลให้งานสาธารณสุขนำหน้าการบำบัดผู้ต้องขัง การฝึกอาชีพ ซึ่งวันนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายบริษัทห้างร้าน สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษมีอาชีพและมีโอกาส

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการเตรียมพร้อมการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาว่า รัฐบาลได้มีการเตรียมการล่วงหน้า แต่ไม่ได้มีการประกาศเพราะไม่ต้องการสร้างความตื่นตระหนกตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตั้งแต่การตรวจสอบที่สนามบิน การให้อยู่ในพื้นที่ควบคุมโรค 14 วัน 21 วัน ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่มีมาตรการตรวจคัดกรองที่สนามบิน สำหรับการเดินทางไปรับคนไทยที่เมืองอูฮั่นนั้นได้ประสานกับประเทศต้นทาง แต่จีนเองก็มีมาตรการของเขา ต่อมาเราก็ได้ประสานเครื่องบินพาณิชย์ที่มีเส้นทางบินอยู่เดิมให้ไปรับคนไทยกลับมา สำหรับหน้ากากอนามัยนั้นประสานเพื่อแบ่งจำนวนหนึ่งมาช่วยจำหน่ายเท่านั้น ซึ่งในส่วนของรัฐบาลก็ได้แจกจ่ายไปกว่าแสนชิ้น ขณะนี้ได้ให้ชุมชนช่วยเย็บหน้ากากผ้าเพื่อแจกอีก โดยจะให้ อปท. ช่วยดูแลจัดการเป็นการส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน ชุมชน ซึ่งสามารถป้องกันได้ระดับหนึ่ง ยืนยันว่าราชการไม่มีการปิดบังตัวเลขเพราะสั่งให้มีการชี้แจงทุกวันอยู่แล้ว

สำหรับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง รถไฟเมื่อปี 2557 มีเส้นทางรถไฟทั้งหมด 4,024 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นทางเดี่ยวร้อยละ 91.5 ซึ่งวันนี้ได้ดำเนินการอีกหลายโครงการ ทางคู่ระยะที่ 1 จำนวน 6 เส้นทาง รถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง ระยะทาง 1,489 กิโลเมตร รถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง 473 กิโลเมตร จะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป และในปี 2569 จะมีโครงข่ายทางรถไฟเพิ่มขึ้นเป็น 6,191 กิโลเมตร ขณะที่ด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน มีการเปิดบริการแล้วหลายเส้นทาง ช่วงศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ทางหลวงระหว่างเมืองพัทยา-มาบตาพุด บางปะอิน-นครราชสีมา บางใหญ่-กาญจนบุรี ช่วงพระราม 3-ดาวคะนอง หากทำได้แล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2566 จะมีโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 525 กิโลเมตรจากในปี 2557 ที่มีเพียง 165 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้มากพอสมควร  ด้านการบริการโครงข่ายรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ 3 เส้นทาง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 เส้นทาง จะแล้วเสร็จในปี 2569 ที่จะมีโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ จากเดิมที่มีอยู่เพียง 72 กิโลเมตร เป็น 415 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 680 ตารางกิโลเมตร รองรับการให้บริการประชาชนได้ประมาณ 5.13 ล้านคน ส่วนรถโดยสารประจำทางอยู่ระหว่างการเร่งปฏิรูปแนวทางเดินรถโดยสารใหม่ การทบทวนรูปแบบการหารถที่เหมาะสมทั้งของภาครัฐและเอกชน

การพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศ มีทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 2 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะชี้แจงรายละเอียด รวมทั้งท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่ 1 ท่าอากาศยานแม่สอด จังหวัดตาก ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 136 ล้านคนต่อปี จากเดิมมี 117 ล้านคนต่อปีในปี 2557 นอกจากนี้มีโครงการใหม่อีก 5 แห่งคือ กระบี่ สุวรรณภูมิเฟส 2 บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ในปีนี้ และทางวิ่งเส้นทางที่ 3 ภายในปี 2565 ท่าอากาศยานานาชาติอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา โดยทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 2567 จะทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถของท่าอากาศยานในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 169.8 ล้านคนต่อปี สำหรับการขนส่งทางน้ำ มีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้เป็น 13.3 ล้านTEU ต่อปีในปี 2566 และจะมีการรองรับการขนถ่าย LNG สินค้าเหลวเพิ่มขึ้นอีก 19 ล้านตันต่อปีในปี 2573

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติว่า การทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติตามแผนปฏิรูป สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เพื่อให้ประเทศมีเส้นทางเดิน แต่ก็ปรับเปลี่ยนได้ทั้งหมด ตนไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ใครได้ เป็นการประมูล ทุกเรื่องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ขอให้เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ที่ประเทศอื่นๆให้มากกว่าเรา ขอให้ช่วยกันสร้างการรับรู้ในเรื่องนี้ด้วย  เช่นเดียวกับเหตุผลที่ไทยต้องสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วยการลงทุน 1 แสนกว่าล้าน เพราะเราต้องการเป็นเจ้าของเส้นทางเองในเส้นทางรถไฟสายแรก มีสิทธิในการบริหารเศรษฐกิจทั้งหมดบนเส้นทางตลอดเส้นทาง เพียงใช้เทคโนโลยีและวิศวกรต่างประเทศ เป็นการทำตามกติกาด้วยความสัมพันธ์อันดี ไทยเลือกใครไม่ได้ต้องอยู่ตรงกลางให้ได้ โดยการสร้างทางรถไฟต้องเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหม One  Belt One Road กับต่างประเทศ เพราะเป็นเส้นทางที่ผ่าน 100 กว่าประเทศ เพื่อเป็นการเคลื่อนย้ายคน บุคลากร ที่มีขีดความสามารถและเคลื่อนย้ายเทคโนโลยีด้วย

สำหรับปัญหาขยะพลาสติกนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้ว เพราะเป็นวิกฤตสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดทำโรดแมปปี 2561 – 2573 ที่มีเป้าหมายที่ 1 คือการเลิกใช้ถุงพลาสติก ซึ่งจะต้องหามาตรการเยียวบริษัท ร้านค้า ประชาชน ด้วย ขอให้ทุกคนช่วยกันใช้ถุงผ้า วันนี้กำหนดให้เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีดส์จากพลาสติก เลิกใช้พลาสติก 4 ชนิดภายในปี 2565 ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หลอดพลาสติก โดยทั้งหมดนี้จะต้องมีมาตรการเปลี่ยนผ่าน สำหรับเป้าหมายที่ 2 คือ การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 นำวัสดุของเก่ามาแปรรูปเป็นวัสดุรีไซเคิล ทั้งนี้ เรื่องการอนุญาตนำเข้าในวันนี้ได้ลดไปแล้วหลายร้อยชนิด มีมาตรการเป็นระยะๆ ถ้ายังพบมีการนำเข้าขยะพิษอยู่ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

เรื่องแม่วัยใส แม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวแหว่งกลาง ปู่ย่าตายายเลี้ยงลูกแทนพ่อแม่ ตนมีข้อมูลเป็น Big Data ทั้งหมด สำรวจแล้วทั้งประเทศ 5 แสนครัวเรือน จะต้องมีมาตรการเชิงป้องกัน มาตรการการเยียวยา พัฒนาให้มีทักษะพึ่งตนเองได้ ให้สภาเด็กและเยาวชน สภานักเรียนทุกตำบล อบรมสื่อสาร มีพี่เลี้ยง โดยกรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน มหาวิทยาลัยในพื้นที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมดำเนินการเชิงรุก บูรณาการร่วมกันหลายกระทรวง รวมทั้งสังคมชุมชนต้องช่วยกัน  และทั้งหมดข้างต้นที่กล่าวมานี้ คือแค่ตัวอย่างงานที่รัฐบาลดำเนินการ และยังมีอีกจำนวนมากซึ่งจะได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป โดยการดำเนินการยึดยุทธศาสตร์ชาติเป็นแนวทาง เพื่อเป้าหมายประเทศและประชาชนมีชีวิตและโอกาสที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

โฆษณา

โฆษก รบ.แจงผลงาน 7 เดือนแรกรัฐบาลประยุทธ์ 2 พ่วงประยุทธ์ 1 แก้ข้อกล่าวหาไม่มีผลงาน

People Unity News : เผยผลงานสำคัญในช่วง 7 เดือนของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ 2 ประกอบด้วยมาตรการสำคัญโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การลงทุนสำคัญ โครงสร้างพื้นฐาน ผลสำเร็จจากการทำงานทำให้ IMD ปรับระดับความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นทั้งด้านประสิทธิภาพภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐาน ดีที่สุดในรอบ 10 กว่าปี

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลงานสำคัญในช่วง 7 เดือนของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ 2) ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ คือ โครงการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 1-2-3 กระตุ้นเศรษฐกิจ / ท่องเที่ยวผ่านการบริโภคภายในประเทศ เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเกือบ 3 หมื่นล้านบาท กองทุนหมู่บ้าน (พักหนี้ให้กับกองทุนหมู่บ้านและสมาชิกกองทุนหมู่บ้านโดยสมัครใจ และเพิ่มเงินให้แห่งละไม่เกิน 200,000 บาท) สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย 50,000 ล้านบาท หนุนสร้าง smart farmer ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน เติมเงินกองทุน SME 10,000 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่าน sme bank / บสย. ค้ำประกันเงินกู้ มาตรการ BOI เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โครงการบ้านดีมีดาวน์ ช่วยลดภาระผ่อนดาวน์ 5 หมื่นบาท การเพิ่มเงินให้กองทุนประกันสุขภาพ โดยจัดงบประมาณปี 2563 เพิ่มอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็น 201,896 ล้านบาท ทำให้อัตราเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มเป็นมากกว่า 3,600 บาท/หัว/ปี ขยายชดเชย ค่าน้ำ-ไฟให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน เพิ่มเบี้ยความพิการ 800 บาท เป็น 1,000 บาท ลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ช่วยค่าเก็บเกี่ยวปรับปรุงคุณภาพ ไร่ละ 500 บาท สนับสนุนต้นทุนการผลิตชาวนา ไร่ละ 500 บาท ประกันรายได้เกษตรกร (ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) และส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 ถูกกว่าปกติ 3 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว

ด้านโครงการลงทุนสำคัญ ประกอบด้วย ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมโยงทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล (เช่น สีส้ม สีน้ำเงิน สีเขียวส่วนต่อขยาย) พัฒนารถไฟทางคู่ จากเดิม 359 กม. เป็น 3,582 กม. ครั้งแรกกับรถไฟความเร็วสูง (ไทย-จีน/รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน) สถานีกลางรถไฟบางซื่อ ใหญ่สุดในอาเซียน จะเปิดใช้บริการปี 64 นี้ ลงทุนมอเตอร์เวย์สายใหม่เพิ่มเติม บางปะอิน-โคราช  / บางใหญ่-กาญจนบุรี / พัทยา-มาบตาพุด ยกระดับสนามบินต่างๆ (สุวรรณภูมิ / อู่ตะเภา / เบตง) เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และขยายไปยัง SEC NEC NEEC เพื่อกระจายความมั่งคั่งสู่ภูมิภาค โรงไฟฟ้าชุมชน เพิ่มรายได้ผลผลิตทางการเกษตร ลดค่าใช้จ่าย และการประมูล 5G มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับผลสำเร็จจากการทำงานที่สำคัญ ได้แก่ IMD ปรับระดับความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นทั้งในด้านการประสิทธิภาพภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐาน ดีที่สุดในรอบ 10 กว่าปี World Bank : Doing Business ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจอันดับที่ 21 ดีที่สุดในรอบ 6 ปี SDGs เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ได้อันดับที่ 40 ของโลก และอันดับ 1 ในอาเซียน ประเทศไทยติดอันดับที่ 1 ของโลก ประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ โดย U.S. News & World Report และ Rating Agencies ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เช่น Fitch Rating Moody และ S&P ให้มุมมองความน่าเชื่อถือเป็นบวก หรือ Positive Outlook เป็นครั้งแรก ในรอบหลายปีที่มีการปรับดีขึ้น ซึ่งชี้ว่าต่อไปในอนาคตจะมีการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของเราต่อไป

ทั้งนี้ ผลงานของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ 1 และที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในส่วนของมาตรการสำคัญ ได้แก่ การฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดง ฟื้นฟูชุมชนคลองลาดพร้าว คืนคลองสวยน้ำใส การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ / ออกกฎหมาย ทวงหนี้ ขายฝาก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การคืนโฉนดที่ดิน ปลดธงแดง ICAO จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว IUU ปลดใบเหลืองประมงผิดกฎหมาย ปรับระดับการค้ามนุษย์ดีขึ้น พร้อมเพย์ โอนฟรี บ้านประชารัฐ ล้านหลัง เจ็บป่วยฉุกเฉินมีสิทธิทุกที่ 72 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยติดเตียง สร้างนักบริบาลชุมชนมีรายได้ เสริมอาสาสมัครคลินิกหมอครอบครัว จัดหาที่ดินให้ชุมชนอยู่กับป่า ป่าชุมชน ไม้มีค่าตัดได้ จัดการปัญหาข้าวค้างสต็อก ประกันภัยพืชผล เกษตรแปลงใหญ่ ลดภาระประชาชนในการยื่นสำเนาเอกสารภาครัฐ กองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษากองทุนยุติธรรม ในรอบ 12 ปี เพิ่มรายได้กองทุนฯ ออกกฎหมายรองรับ รับแจ้งความทุกสถานีตำรวจ ท่องเที่ยวเมืองรอง กระจายรายได้สู่จังหวัดเล็กๆ และการจัดมหกรรมด้านกีฬา เช่น Moto GP และวิ่ง Siam Trail 2019

สำหรับโครงการลงทุนสำคัญอื่นๆของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ 1 ได้แก่ สายไฟฟ้าใต้ดิน อินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน (เน็ตประชารัฐ) โครงการ EEC ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 (ไทย-เมียนมา) สนามบินแม่สอดแห่งใหม่ ขยายเส้นทางรถไฟ “กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ตลาดโรงเกลือ” นั่งไปได้ถึงบริเวณด่านชายแดนไทย-กัมพูชา และ เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี

โฆษณา

Verified by ExactMetrics