วันที่ 29 มีนาคม 2024

เตรียมรับคืนวัตถุโบราณจากสหรัฐอีก 3 รายการ

People Unity News : 29 สิงหาคม 65 รัฐบาลโชว์ผลงานติดตามวัตถุโบราณไทยในต่างประเทศ 5 ปี 611 รายการ เตรียมรับคืนจากสหรัฐอีก 3 รายการ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นของรัฐบาล และคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ได้ร่วมทำงานอย่างบูรณาการประสานกับส่วนราชการประเทศต่างๆ เพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยฯ ความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่า สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (Homeland Security Investigations: HSI) ได้เจรจาให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเดนเวอร์  (The Denver Art Museum) เตรียมการส่งคืนโบราณวัตถุกลับไทยโดยเร็ว จำนวน 3 รายการ ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร และพระพุทธรูปยืนศิลปะทวารวดี 2 องค์

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น ที่ได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ Asean Art ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2564 ขณะนี้ทับหลังปราสาทหนองหงส์ ได้จัดแสดง ณ ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์ พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จัดแสดงที่ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ทั้งสองแห่ง ส่วนการติดตามโบราณวัตถุคืนไทยในลำดับถัดไป ทางคณะกรรมการฯ แจ้งว่ามีจำนวน 2 รายการ คือ 1.พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดีสมัยทวารวดี จากเมืองโบราณซับจำปา จังหวัดลพบุรี อยู่ในความครอบครองของสถาบันเอเชียโซไซตี้ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และ 2.ใบเสมาหินสลักภาพพุทธประวัติสมัยทวารวดี จากเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปรากฏข้อมูลใน Collection online ของ The British Museum

“ถือเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ได้ประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถติดตามและรับมอบโบราณวัตถุได้รวม 9 ครั้ง จำนวน 611 รายการ สร้างความยินดีแก่คนไทย รวมถึงความเข้าใจแก่บุคคลทั่วไปทั้งในและนอกประเทศถึงคุณค่าของโบราณวัตถุเมื่อได้กลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิด และสืบเนื่องจากการดำเนินการอย่างจริงจังดังกล่าว มีผู้ครอบครองโบราณวัตถุทั้งชาวไทยและต่างชาติ แจ้งความประสงค์ที่จะมอบโบราณวัตถุให้เป็นสมบัติชาติ เช่น ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนรับมอบครอบพระเศียรทองคำ สมัยล้านนา จากชาวอเมริกัน และนายโยธิน ธาราหิรัญโชติ มอบโบราณวัตถุชิ้นเอกและหนังสือบัญชีโบราณวัตถุ เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 164 รายการ” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

นายกฯสุดปลื้ม เที่ยวบินใหม่ “กทม.-เจดดาห์” ตอกย้ำสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ เที่ยวแรก 19 ส.ค.นี้

People Unity News : 1 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีที่การบินไทยเปิดเส้นทางใหม่ “กรุงเทพฯ – เจดดาห์” โดยจะเริ่มให้บริการเที่ยวบินแรกในวันที่ 19 ส.ค. 65 เป็นการตอกย้ำสัมพันธภาพที่ดียิ่งระหว่างสองประเทศภายหลังการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน ม.ค. 65 ที่ผ่านมา คาดว่าเส้นทางบินใหม่นี้จะทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า และยังช่วยให้ชาวไทยมุสลิมเดินทางไปแสวงบุญที่นครเมกกะได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

รัฐบาลจะร่วมกับการบินไทยโปรโมตอัตลักษณ์ของพื้นที่ จ.ชายแดนใต้ ผ่านเส้นทางการบินใหม่นี้ เช่น คัดสินค้าท้องถิ่นเข้าวางขายในร้านไทยช็อป ซึ่งมีลูกค้าจากทั่วโลกสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ นำวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอดให้บริการบนเครื่องบิน เช่น เกลือหวานจากปัตตานี ลูกหยีนราธิวาส กล้วยหินยะลา และพาผู้สื่อข่าวจากซาอุดีอาระเบียมาทัศนศึกษาประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรม

Advertisement

ด่วน!! ตำแหน่งงานซาอุฯมาแล้ว! กระทรวงแรงงานรับสมัคร พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ช่างฝีมือ 309 อัตรา

People Unity News : 9 มิถุนายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานเปิดรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานซาอุดีอาระเบียกับนายจ้างบริษัท DR. SULAIMAN AL HABIB MEDICAL SERVICES GROUP CO. ซึ่งประกอบกิจการบริการทางการแพทย์ จำนวน 300 อัตรา ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ 100 อัตรา พยาบาลผู้ดูแล 100 อัตรา ผู้ช่วยพยาบาล 100 อัตรา และนายจ้างบริษัท AL -SHARQ POLYSTYRENE FACTORY COMPANY LTD. ซึ่งประกอบกิจการฉนวนกันความร้อนและวัสดุห่อหุ้ม จำนวน 9 อัตรา ได้แก่ ตำแหน่งช่างเชื่อม 3 อัตรา ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม 3 อัตรา ผู้ควบคุมเครื่องกลึง 3 อัตรา รวมทั้งสิ้น 309 อัตรา มีระยะเวลาการจ้าง 2 ปี สามารถต่ออายุได้ โดยนายจ้างจะจ่ายค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินเที่ยวไปทำงานครั้งแรก ที่พัก และรถรับส่งระหว่างที่พักและสถานที่ทำงาน ค่ารักษาพยาบาล และค่าประกันสุขภาพ (ตามนโยบายของแต่ละบริษัท) ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครด้วยตนเอง ได้ตั้งแต่วันที่ 15 – 23 มิถุนายน 2565

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมการมีงานทำให้กับคนไทยทุกกลุ่มทั้งการทำงานอย่างมั่นคงภายในประเทศไทย และการเพิ่มโอกาสของแรงงานไทยในต่างประเทศ ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียถือเป็นตลาดใหม่อีกแห่งที่พร้อมรองรับแรงงานไทยในอนาคต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครงานพยาบาล เป็นเพศหญิง อายุ 20 – 40 ปี สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ โดยมีอัตราค่าจ้าง ดังนี้

1.พยาบาลวิชาชีพ (Registered Nurse) จำนวน 100 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 3,200 ริยาล หรือประมาณ 29,163 บาท ต้องจบวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์

2.พยาบาลผู้ดูแล (Staff Nurse) จำนวน 100 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 3,000 ริยาล หรือประมาณ 27,340 บาท ต้องจบวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาพยาบาลศาสตร์

3.ผู้ช่วยพยาบาล (Assistant Nurse) จำนวน 100 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 2,900 ริยาล หรือประมาณ 26,429 บาท ต้องจบวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาพยาบาลศาสตร์

ในส่วนผู้สมัครช่างฝีมือ รับเฉพาะเพศชาย อายุ 20 – 45 ปี สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จบวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานตามตำแหน่ง 3 ปีขึ้นไป โดยมีอัตราค่าจ้าง ดังนี้

1.ช่างเชื่อม (Welder) จำนวน 3 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 1,800 -2,000 ริยาล หรือประมาณ 16,404 – 18,227 บาท (ต้องจบการศึกษาสาขาช่างเชื่อม)

2.ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม (Industrial Electrical Technicians) จำนวน 3 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 2,500 – 3,000  ริยาล หรือประมาณ 22,783 – 27,340 บาท (ต้องจบการศึกษาสาขาช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง)

3.ผู้ควบคุมเครื่องกลึง (CNC operator) จำนวน 3 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 2,500 – 3,000 ริยาล หรือประมาณ 22,783 – 27,340 บาท (ต้องจบการศึกษาสาขาช่างกล หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง) (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 : 1 ริยาล เท่ากับ 9.1135บาท)

ทั้งนี้ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีความประสงค์จะสมัคร สามารถยื่นใบสมัครได้ด้วยตนเอง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ฝ่ายจัดส่งไปทำงานไต้หวันและประเทศอื่นๆ ชั้น 12 อาคารสำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 15 – 23 มิถุนายน 2565 ในวันและเวลาราชการ และจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบภายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ทางเว็บไซต์ doe.go.th/overseas โดยนายจ้างจะคัดเลือกคนหางานด้วยตนเอง ผ่านการสอบสัมภาษณ์แบบออนไลน์ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

Advertisement

นายกฯผลักดันความร่วมมือภาคเกษตรไทย-ซาอุฯ เล็งเห็นโอกาสส่งออกข้าวไทยไปซาอุฯ

People Unity News : วันนี้ (8 มิถุนายน 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือทางด้านสินค้าเกษตรระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียให้มีความก้าวหน้า และมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม หลังกรมการข้าวเตรียมต่อยอดจากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปซาอุดีอาระเบีย และเล็งเห็นถึงศักยภาพในการขยายความร่วมมืออย่างใกล้ชิดทางด้านการเกษตร

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยและซาอุดีฯ อย่างต่อเนื่อง ภายหลังการเดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียของคณะผู้แทนภาครัฐและภาคธุรกิจของไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินหน้าขยายความร่วมมือด้านการเกษตรกับซาอุดีฯ โดยเน้นความร่วมมือทางด้านการเกษตร การชลประทาน การปศุสัตว์และการประมง ฮาลาล อุตสาหกรรมเกษตร และเทคโนโลยีเกษตร

นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกรมการข้าว ครั้งที่ 6 ประจำปีงบประมาณ 2565 ได้เล็งเห็นถึงโอกาสของข้าวไทยจากสถานการณ์ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ที่ประเทศไทยสามารถรับมือได้น่าพอใจ เป็นประเทศที่มีความมั่นคง และได้รับผลกระทบจากความขาดแคลนอาหารน้อย พร้อมได้เล็งเห็นโอกาสการส่งออกข้าวไทย ซึ่งซาอุดีฯ มีความต้องการจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสของไทยในการขับเคลื่อนนโยบายตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันศึกษาหาช่องทางปลูกข้าวบาสมาติ ซึ่งเคยปลูกในประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งหากสามารถรองรับความต้องการส่วนนี้ได้จะเป็นโอกาสในการขยายตลาดของไทยในซาอุดีฯ ที่มีความต้องการข้าว 30 ล้านตัน เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรมการปลูกข้าวให้มากขึ้น และเสริมศักยภาพด้านการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกให้มีอำนาจต่อรองยิ่งขึ้น

นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อผลสำเร็จ และขอบคุณทุกฝ่ายในการดำเนินงานทั้งการตอบรับดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์กับประเทศเป็นสำคัญ และดำเนินนโยบายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียมาอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นในองค์ความรู้ ความสามารถของคนไทย และประสบการณ์ที่ไทยสืบทอดภูมิปัญญาการปลูกข้าวมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังยินดีที่สถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม มีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้น 48.5% อยู่ที่ 1.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก ซึ่งไทยยังตั้งเป้าส่งออกข้าวในปีนี้รวมกว่า 7 ล้านตัน

Advertisement

นายกฯไทย-ผู้นำอาเซียน หารือผู้นำสหรัฐฯ ร่วมสร้างภูมิภาคที่สงบสุข ดันเศรษฐกิจควบคู่รักษาสิ่งแวดล้อม

People Unity News : วันนี้ (13 พฤษภาคม 2565) เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐฯ สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ทำเนียบขาวเมื่อคืนนี้ พร้อมกล่าวว่าการที่ผู้นำอาเซียนเดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดฯ สมัยพิเศษ นับเป็นโอกาสในความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ที่ดำเนินมายาวนานถึง 45 ปี จึงควรใช้โอกาสนี้เฉลิมฉลองวาระพิเศษและร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปราะบาง มีปัจจัยความท้าทายที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งด้านสาธารณสุข ห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตพลังงาน และความตึงเครียดระหว่างประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อความพยายามในการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมฯ ควรร่วมกัน “มองไปข้างหน้า” และเดินหน้าไปสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” โดยเป้าหมายสำคัญที่สุด คือการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวต่อไปสู่ยุค Next Normal ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเสนอให้อาเซียนกับสหรัฐฯ มุ่งสร้าง “ภูมิทัศน์ใหม่” ให้ภูมิภาคและโลกใน 3 เรื่อง ดังนี้

หนึ่ง “ภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็ง และบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน นายกรัฐมนตรียินดีที่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับอาเซียน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว ตลอดจนข้อริเริ่มอื่นๆ อาทิ AUKUS และกลุ่มภาคี Quad จะเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก

นายกรัฐมนตรีหวังว่า ผู้เล่นสำคัญต่างๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียนมาอย่างยาวนาน จะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกต่อความท้าทายที่เปราะบางและซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ให้แก่ประชาคมโลก โดยอาเซียนพร้อมจะมีบทบาทในฐานะเวทีหลักของภูมิภาคที่จะเชื่อมโยงผู้เล่นทุกคนเข้าด้วยกันเพื่อสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่สงบสุข

สอง “ภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง” นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 อาเซียนมีผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ว่าอาเซียนจะเติบโตสู่การเป็นตลาดดิจิทัลที่สำคัญของโลกในอีกไม่ช้า ไทยสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูมิภาคผ่านกลไกของ USDFC โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs และสตาร์ทอัพ เพื่อให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้

นอกจากนี้ โรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง โดยในระยะเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนและสหรัฐฯ เร่งหารือช่องทางในการเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window เข้ากับระบบนำเข้า-ส่งออกของสหรัฐฯ เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น และในระยะยาว เชื่อมั่นว่าอาเซียนมีศักยภาพในการเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯได้ โดยเฉพาะสาขายานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการแพทย์และเวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งนี้ ไทยมีเขต EEC ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ และโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขีดความสามารถให้กับภูมิภาคด้วย

สาม “ภูมิทัศน์เพื่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีพลังมากขึ้น” โดยไทยเห็นว่าทุกประเทศต้องร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของไทยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทาง และผลักดันให้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อหลัก “OPEN.CONNECT.BALANCE.” ซึ่งสอดคล้องกับสหรัฐฯที่ให้ความสำคัญและสามารถสนับสนุนข้อริเริ่ม Build Back Better World ได้เป็นอย่างดี

สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่ COP26 ว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งหากอาเซียนกับสหรัฐฯ เพิ่มพูนความร่วมมือในการลงทุน และแบ่งปันเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ  โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และพลังงานสะอาด ตลอดจนการสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทยก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า แนวทางที่ได้เสนอมาทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ก้าวไปสู่บทใหม่ และเป็นการพิสูจน์ว่าความร่วมมือของอาเซียนและสหรัฐฯ จะยังมีความสำคัญ และมีส่วนในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไป พร้อมยังยินดีที่จะให้การต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมการประชุมผู้นาเขตเศรษฐกิจเอเปคที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายปีนี้

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางออกจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ไปยังท่าอากาศนานาชาติอินชอน กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงประเทศไทยในช่วงเช้าของวันที่ 15 พ.ค. 2565

อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน สหรัฐฯ สมัยพิเศษครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ได้รับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม (Joint Vision Statement) แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเน้นย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพในภูมิภาค และการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยมีแนวทางการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

  1. การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ผ่านความร่วมมือต่างๆ
  2. การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้มแข็ง และยั่งยืน
  3. การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล
  4. การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม
  5. การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค
  6. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน
  7. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  8. ความร่วมมือในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ

Advertisement

ครม.ไฟเขียว เสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง – ภูเขียว – น้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน

People Unity News : ครม. ไฟเขียว เสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน

3 เมษายน 2565 ที่ประชุม ครม. เมื่อ 29 มี.ค. 65 เห็นชอบการเสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะจัดส่งเอกสารให้ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพตามขั้นตอน ก่อนนำเข้าที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรับรองการขึ้นทะเบียนต่อไป

จุดเด่นของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย คือ เป็นภูเขาหินทรายยอดตัดหนึ่งเดียวในอาเซียน เป็นแหล่งพืชพันธุ์หายาก สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง มีประเพณีท้องถิ่น คือ กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธเมตตา สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ มีความหลากหลายทางธรณีวิทยาและถ้ำ เป็นแหล่งพืชพันธุ์หายาก สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง และมีประเพณีท้องถิ่น เช่น ประเพณีการแขวนทุง (แขวนธง) ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น

ขณะนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติตะรุเตา, กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และอ่าวพังงา, กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน – อุทยานแห่งชาติกุยบุรี – เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี), อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และอุทยานแห่งชาติเขาสก

Advertisement

ประยุทธ์ ลงนามกฎบัตร BIMSTEC เสนอความเชื่องโยง 5 ด้าน บก-ทะเล-พลังงาน-ดิจิทัล-คน

People Unity News : ประยุทธ์ ลงนามกฎบัตรบิมสเทค พร้อมเสนอความเชื่องโยง 5 ด้าน “บก – ทะเล – พลังงาน – ดิจิทัล – คน” เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างเครือข่ายความใกล้ชิดระหว่างประชาชนและภาคธุรกิจ พร้อมเดินหน้าสู่ความมั่งคั่ง (Prosperous) ความยั่งยืน (Resilient and Robust) และการเปิดกว้าง (Open)

วันนี้ (30 มีนาคม 2565) เวลาประมาณ 10.35 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นโดยศรีลังกา ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิก BIMSTEC โดยในการประชุมครั้งนี้ทุกประเทศจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม

นายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา ประธานจัดการประชุม กล่าวเปิดการประชุมระบุว่า เชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของบิมสเทค จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรค และความท้าทายในโลกร่วมกัน บิมสเทคซึ่งมี ขนาดประชากร 1 ใน 5 ของประชากรโลก ได้ขยายความร่วมมืออย่างสำคัญ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้มีเศรษฐกิจ และสาธารณสุข ที่เข้มแข็งมากขึ้น สะท้อนได้จากหัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้ “BIMSTEC- Towards a Resilient Region, Prosperous Economies, Healthy Peoples” หรือ “บิมสเทค มุ่งหน้าสู่อนุภูมิภาคที่ยืดหยุ่น มั่งคั่ง และประชาชนมีสุขภาพดี” โดยในวันนี้ จะมีการลงนามกฎบัตร ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ ในการเสริมสร้างบทบาทขับเคลื่อนภูมิภาค

การเดินเรือชายฝั่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคจึงต้องร่วมมือกัน ต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งศรีลังกายินดีส่งเสริม และเชื่อมั่นว่าบิมสเทคสามารถขับเคลื่อนการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ ยินดีร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้ง เห็นควรส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมมาตรการทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน อีกทั้งต้องร่วมมือกันจัดการภัยพิบัติเพื่อเตรียมรับมือในอนาคต โดยศรีลังกามีกรอบแนวทางที่เน้นย้ำความยั่งยืน การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า บิมสเทคจะบรรลุเป้าหมายสะท้อนเสียงของสมาชิกในเวทีโลก จึงขอให้ร่วมมือกันเพื่อประชาชนและประเทศของพวกเรา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมว่า บิมสเทค ถือเป็นกรอบอนุภูมิภาคเดียวที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเอเชียใต้ ซึ่งช่วงเวลาจากการประชุมครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา สถานการณ์โลกมีความผันผวนทำให้การดำเนินงานยังไม่คืบหน้ามากนัก นายกรัฐมนตรีจึงได้ย้ำถึงความสำคัญในการประชุมครั้งที่ 5 ในวันนี้ เพื่อทบทวนการทำงานร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยในช่วงที่ไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานบิมสเทค ตรงกับช่วงเวลาที่ไทยเป็นประธานเอเปค วาระปี ค.ศ. 2022 ไทยพร้อมส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีคุณภาพ โดยนำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของทุกประเทศมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งสองภูมิภาค ตามความต้องการ และบริบทของแต่ละกรอบความร่วมมือด้วย

การประชุมวันนี้เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของบิมสเทค ทุกประเทศสมาชิกเห็นชอบและลงนามในกฎบัตรบิมสเทค และเอกสารสำคัญอื่นๆ เพื่อเดินหน้าความร่วมมือต่อไปอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ไทยเห็นว่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกยังมีศักยภาพอีกมาก ความเชื่อมโยงระหว่างกันจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้นำสาขาความเชื่อมโยงมุ่งมั่นจะผลักดันปความเชื่อมโยงในสาขาต่อไปนี้

  1. ความเชื่อมโยงทางบก ขอบคุณประเทศสมาชิกที่สนับสนุนข้อเสนอของไทย ในการจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม (BIMSTEC Master Plan on Transport Connectivity) จนบรรลุผลสำเร็จ พร้อมหวังว่าจะร่วมกันผลักดันให้โครงการสำคัญต่างๆ (Flagship projects) ภายใต้แผนแม่บทฯนี้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป
  2. ความเชื่อมโยงทางทะเล นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดกระบวนการเพื่อให้สามารถลงนามร่างความตกลงการเดินเรือตามชายฝั่ง (BIMSTEC Coastal Shipping Agreement) ให้แล้วเสร็จ เพื่อความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือของประเทศรอบอ่าวเบงกอลอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ความเชื่อมโยงด้านพลังงาน นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าภายใต้บิมสเทค (Memorandum of Understanding for Establishment of the BIMSTEC Grid Interconnection)
  4. ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล นายกรัฐมนตรีเห็นควรส่งเสริมความเชื่อมโยงผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยี และ
  5. ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน “คน” เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายต่างๆ ให้ยั่งยืนและสมดุล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนสาขาความร่วมมือ และทำให้บิมสเทคเป็นประชาคมของทุกคนอย่างแท้จริง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความพร้อมของไทยที่จะสานต่อความสำเร็จของศรีลังกา โดยได้เสนอวิสัยทัศน์ในช่วงที่ไทยเป็นประธาน ภายใต้หัวข้อหลัก (theme) “Prosperous, Resilient and Robust, and Open BIMSTEC” หรือ โปรบิมสเทค (PRO BIMSTEC) ดังนี้

ประการแรก “ความมั่งคั่ง (Prosperous)” มิติด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งเสริมธุรกิจแบบใหม่ที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม

ประการที่สอง “ความยั่งยืน (Resilient and Robust)” มิติด้านความมั่นคง สนับสนุนความพร้อมในการเผชิญหน้ากับความท้าทายและวิกฤตในทุกรูปแบบ และสนับสนุนนโยบายในด้านการฟื้นตัว ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

ประการที่สาม “การเปิดกว้าง (Open)” มิติการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไทยมีแผนที่จะจัดทำเวทีพัฒนาความรู้กรอบบิมสเทค (BIMSTEC Knowledge Platform) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้ประชาชนเข้าถึง และตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของความร่วมมือบิมสเทค โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความพร้อมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในบิมสเทคที่ยั่งยืน มีคุณภาพ และเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะขับเคลื่อนบิมสเทคไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งในทุกด้าน วาระการเป็นประธานบิมสเทคของไทยจะสอดคล้องกับแนวคิด “โปรบิมสเทค” เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้ร่วมลงนามในกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter) ที่ถือเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการภายใต้กรอบบิมสเทค โดยกำหนดวัตถุประสงค์ หลักการ กลไกการดำเนินงาน สิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิก การบริหารจัดการ งบประมาณ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และเมื่อประเทศสมาชิกลงนามและให้สัตยาบันแล้วจะส่งผลให้กรอบบิมสเทคกลายเป็นองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล (inter-governmental organization)

Advertisement

ข่าวดี ซาอุดีอาระเบียยกเลิกข้อห้ามคนซาอุดีฯเดินทางเข้าไทย และอนุญาตคนไทยเข้าซาอุดีฯได้

People Unity News : ประยุทธ์ ปลื้มข่าวดี ซาอุดีอาระเบียยกเลิกข้อห้ามคนซาอุดีฯเดินทางเข้าไทย และอนุญาตคนไทยเข้าซาอุดีฯได้

วันนี้ (16 มีนาคม 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบข่าวที่น่ายินดีว่า รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศยกเลิกการห้ามบุคคลสัญชาติซาอุดีฯ เดินทางเข้าไทย ซึ่งเป็นข้อห้ามที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี รวมทั้งอนุญาตให้บุคคลสัญชาติไทยเดินทางเข้าซาอุดีฯได้

โฆษกรัฐบาล เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวซาอุดีฯได้แน่นอน โดย ททท. ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ ให้มาเที่ยวไทย 200,000 คน โดยเน้นกลุ่มครอบครัว คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน กลุ่มคนรักสุขภาพ และกลุ่มคู่รักฮันนีมูน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เป็นกลุ่มที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าหลายๆชาติ และเป็นกลุ่มที่ยังไม่เคยเดินทางมาไทย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งข่าวที่น่ายินดี ทางการซาอุดีฯ พิจารณายกเลิกห้ามนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากประเทศไทย ซึ่งไทยถูกระงับและห้ามการนำเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยมีสถานประกอบการส่งออกของไทยที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนกว่า 11 แห่ง ถือเป็นข่าวดีด้านการส่งออกปศุสัตว์ไทย โดยเฉพาะในการเสริมสร้างบทบาทของไทยในฐานะครัวโลก เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากซาอุดีฯ ถือเป็นประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์แปรรูปรายใหญ่ของโลก ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบีย มีการนำเข้าไก่ปีละ 5.9 แสนตัน ถือเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ

ข่าวที่น่ายินดีทั้งสองข่าวดังกล่าว เป็นผลมาจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ที่เป็นไปตามลำดับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ภายหลังนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

นายธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าผลจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศทั้งสองมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะต่างเป็นสองประเทศที่มีศักยภาพ สามารถผูกสัมพันธ์ เชื่อมโยงเป็นผลทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกัน โดยนายกฯยังได้เน้นย้ำ และสั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน และนำเอาความสำเร็จจากการสานสัมพันธ์ในครั้งนี้ แปลงไปสู่นโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้โดยเร็ว

Advertising

ผู้แทนซาอุเผยต้องการแรงงานช่างเชื่อม เชื่อมใต้น้ำ เคาะพ่นสี Medical Staff พ่อครัว พนักงานโรงแรม

People Unity News : ผู้แทนซาอุฯ เผยต้องการแรงงานสาขาช่างเชื่อม ช่างเชื่อมใต้น้ำ ช่างเคาะพ่นสี Medical Staff พ่อครัว พนักงานโรงแรม

15 มี.ค. 2565 กระทรวงแรงงาน เผย ผู้แทนซาอุฯ พอใจ ผลการอบรม – ทดสอบฝีมือแรงงานไทย ขอให้ประชาชนที่สนใจไปทำงาน ลงทะเบียนที่ http://toea.doe.go.th

เป็นอีกหนึ่งข่าวดี คณะผู้แทนทางวิชาการของประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 12 – 16 มี.ค. 65 เพื่อเข้าร่วมการประชุมเชิงวิชาการเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานไทย กับกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย

ล่าสุด คณะผู้แทนฯ ได้ไปเยี่ยมชมการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นการนำเสนอการฝึกอบรมในภาคบริการ ณ โรงแรม The Bazzar Hotel Bangkok

เบื้องต้นพบว่าคณะผู้แทนฯ มีความพอใจในความพร้อมของการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงาน พร้อมเสนอว่าทางประเทศซาอุดีฯ ยังต้องการแรงงานในสาขาช่างเชื่อม โดยเฉพาะช่างเชื่อมใต้น้ำ ช่างเคาะพ่นสี Medical Staff รวมทั้งพ่อครัว พนักงานโรงแรมอีกด้วย

ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เตรียมการรองรับการส่งแรงงานไทย พร้อมอำนวยความสะดวกของการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการ

ประชาชนผู้สนใจไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ http://toea.doe.go.th เลือก “ลงทะเบียน” > “คนหางาน” หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือโทร. สายด่วน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

Advertising

ศักดิ์สยาม เผยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ คาดเปิดใช้ในปี 67

People Unity News : กระทรวงคมนาคมเร่งก่อสร้างโครงการ สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ – บอลิคำไซ คาดเปิดให้บริการในปี 2567

13 มีนาคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ – บอลิคำไซ ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งกระทรวงคมนาคม เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จึงได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมท่าอากาศยาน และกรมเจ้าท่า ร่วมกันพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชนในภูมิภาคให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งการคมนาคมขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ

ภาพรวมของโครงการ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีความคืบหน้าร้อยละ 36.704 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.643 คาดว่าจะเชื่อมต่อพื้นที่สะพานได้ประมาณกลางปี 2566 เปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 2567เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและ สปป.ลาว  โดยทางหลวงหมายเลข 212 สายอำเภอโพนพิสัย – บึงกาฬ จะเป็นทางผ่านไปสู่สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ทำให้เส้นทางดังกล่าวเป็นการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และภูมิภาคอาเซียนได้ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมถึงสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community: AEC) นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในภูมิภาคด้วย

สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ – บอลิคำไซ รวมระยะทาง 16.18 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนฝั่งไทย ระยะทาง 13 กิโลเมตร และถนนฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 3.18 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท รูปแบบการก่อสร้างเป็นสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร มีไหล่ทางพร้อมทางเท้า ช่วงข้ามแม่น้ำโขง ระยะทาง 810 เมตร และงานทางลาดลงจากตัวสะพาน ความยาวถนนฝั่งไทย 410 เมตร ฝั่ง สปป.ลาว ความยาว 130 เมตร รวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุมทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว

Advertising

Verified by ExactMetrics