วันที่ 19 เมษายน 2024

มุ่งลดเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจเป็นระบบ

People Unity News : 7 ธันวาคม 2565 โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาเหลื่อมล้ำ มุ่งกระจายอำนาจอย่างเป็นระบบ โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม บริหารตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยนโยบายกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น และผลักดันแนวคิดการกระจายอำนาจภาครัฐไปสู่ท้องถิ่น รวมทั้งปรับองค์กรภาครัฐ ให้มีความคล่องตัว และมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น รองรับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกยุคเทคโนโลยีดิจิทัล และความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องที่ ซึ่งมีอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิผล

“รัฐบาลดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 6 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุล และการพัฒนาระบบการบริหารการจัดการภาครัฐ ตามแผนงานย่อยโดยเพิ่มขีดความสามารถของภาครัฐให้มีความทันสมัย มีความยืดหยุ่น ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส สะดวกและสุจริต กระจายอำนาจอย่างเหมาะสม ปรับตัวให้ภาครัฐมีขนาดเล็กลง เหมาะสมต่อภารกิจการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีระบบภาษีและรายได้ท้องถิ่นอย่างเหมาะสม พัฒนาค่านิยมในการทำงาน บุคลากรภาครัฐเป็นคนเก่งที่ดี ยึดมั่นในคุณธรรม และทำงานเพื่อประชาชน ภายใต้การสนับสนุนพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ภาครัฐ ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย เคารพในสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเสมอภาค ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ระบบยุติธรรมชุมชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการยุติธรรม” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเดินหน้านโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนา ลดการกระจุกตัวของการพัฒนา และประชากรของเมืองใหญ่ในปัจจุบัน โดยการสร้างสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองที่สงบสุข เพียงพอ และแก้ปัญหาการย้ายถิ่นฐาน โดยส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชีย ได้แก่ พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และการพัฒนาจังหวัดชายแดน เพิ่มพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งใหม่ในภูมิภาค และส่งเสริมและเร่งรัดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ทั่วประเทศ พัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ การส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ

Advertisement

ลดขั้นตอนขออนุญาตจากราชการ

People Unity News : 29 พฤศจิกายน 2565 โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯกำชับหน่วยราชการเตรียมพร้อมรองรับก้าวเข้าสู่บริการภาครัฐแบบดิจิตอล หวังลดขั้นตอนการขออนุญาต อำนวยความสะดวก ปชช.ไม่ต้องไปถึงสถานที่ราชการ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอให้ส่วนราชการหาแนวทางลดขั้นตอน การขออนุมัติและขออนุญาต ที่ควรจะใช้ระยะเวลาที่สั้นลง โดยหาแนวทางลดขั้นตอนต่างๆ ให้สอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่การบริการภาครัฐแบบดิจิตอล ซึ่งพระราชบัญญัติปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

“เรื่องดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ม.ค.66 ซึ่งในอนาคตการติดต่อราชการทุกแห่งสามารถทำได้ในระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำธุรกรรมด้วยตนเอง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังต้องไปทำด้วยตัวเอง ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงต้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และสามารถขอรับบริการเอกสารได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงขอให้หน่วยงานราชการดำเนินการและปรับตัว เพื่อเตรียมรองรับในเรื่องดังกล่าวในอนาคตด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

ปรับโฉมภาคบริการราชการไทย เพิ่มรูปแบบ e-Service

People Unity News : 22 ตุลาคม 2565 นายกฯ มุ่งขับเคลื่อนรัฐบาลสู่ระบบดิจิทัล ปรับโฉมภาคบริการราชการไทย เพิ่มรูปแบบ e-Service ติดต่อออนไลน์ สะดวก รวดเร็ว สอดคล้องเทคโนโลยี รองรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งมั่นขับเคลื่อนรัฐบาลสู่ระบบดิจิทัล ให้ส่วนราชการเตรียมความพร้อมให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐ ในรูปแบบ e-Service โดยประชาชนสามารถยื่นคำขออนุญาตโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องจะปฏิเสธไม่รับการขออนุญาตไม่ได้ ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะมีผลใช้บังคับทั้งฉบับวันที่ 10 มกราคม 2566 โดยการติดต่อราชการทุกแห่งสามารถทำได้ด้วยออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องไปทำธุรกรรมด้วยตนเอง ยกเว้นการให้บริการเพียง 5 ประเภทนี้ ได้แก่ จดทะเบียนสมรส หย่า แจ้งรับบุตรบุญธรรม การทำบัตรประชาชนและพาสปอร์ต เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพแก่การปฏิบัติราชการของภาครัฐ และยังรองรับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ประชาชนจะได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการ ในการยื่นขออนุญาต ขอรับสวัสดิการ สามารถยื่นเอกสารขอรับบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมขอให้เจ้าหน้าที่แจ้งหรือส่งใบอนุญาตให้ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ไม่ต้องไปรับด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังสามารถรับเงินจ่ายเงินออนไลน์ พร้อมได้ใบเสร็จ เมื่อประชาชนนำเอกสารตัวจริงมาแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องทำสำเนาและรับรองเอง ประชาชนไม่ต้องเสียเงินในการถ่ายเอกสาร แสดงบัตรหรือใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เจ้าหน้าที่ดูแทนได้ โดยประชาชนยังสามารถตรวจใบอนุญาตทางออนไลน์ได้

“หน่วยงานรัฐทุกหน่วยต้องมีช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อีเมลกลางของหน่วยงาน เพื่อเป็นช่องทางให้บริการประชาชน ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน การทำธุรกรรมของภาคเอกชน ยังเป็นความสำเร็จของรัฐบาลในการยกระดับรูปแบบการบริหารงานและการบริการภาครัฐไปสู่ระบบดิจิทัลด้วย” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

รัฐบาลชวนคนไทยที่ไปต่างประเทศ โหลดแอปฯ “Thai consular”

People Unity News : 2 ตุลาคม 65 รัฐบาลชวนโหลดแอปฯ “Thai consular” สำหรับคนไทยที่เดินทางไปต่างแดน เพื่อความอุ่นใจ ได้รับคุ้มครองดูแลรวดเร็ว ย้ำรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” มุ่งปรับบริการรัฐสู่ดิจิทัล ให้เข้าถึงง่ายใช้สะดวก

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่วิกฤติ การแพร่ระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้ประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการในการเข้าประเทศ ส่งผลให้ประชาชนมีการเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อติดต่อธุรกิจ การศึกษาและการท่องเที่ยว ทั้งนี้รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลช่วยเหลือประชาชนที่เดินทางไปในต่างแดนให้ได้รับความปลอดภัยอย่างทั่วถึง จึงขอเชิญชวนให้โหลด แอปพลิเคชัน Thai consular ก่อนหรือระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้แอปพลิเคชัน Thai consular เป็นแอปพลิเคชัน ที่ให้ข้อมูลด้านการบริการต่างๆ ของกรมการกงสุล เช่น บริการด้านหนังสือเดินทาง บริการออกเอกสารตรวจลงตรา (VISA) บริการด้านสัญชาติและนิติกร การคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ ศูนย์ประสานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า หากมีปัญหาต้องการความช่วยเหลือ แอปพลิเคชันดังกล่าวมีปุ่ม SOS ให้กดขอความช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณี เจ็บป่วยร้ายแรง อุบัติเหตุร้ายแรง ภัยพิบัติ ก่อการร้าย เป็นต้น โดยสามารถแชทข้อความได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมข่าวสารต่างประเทศที่น่าสนใจ

สำหรับขั้นตอนการใช้ง่ายๆ เพียงโหลดแอปพลิเคชัน จาก App Store หรือ google play จากนั้นลงทะเบียนเข้าสู่ระบบก็สามารถใช้งานได้ในทันที

“ซึ่งแอปนี้ถือเป็นความห่วงใยจากรัฐบาลไทย ที่จะดูแลและเคียงข้างพี่น้องประชาชนในทุกสถานการณ์ เพื่อความอบอุ่นใจ แม้อยู่ไกลบ้าน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา ก็เพื่อสอดรับกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลให้เร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงง่ายและใช้สะดวก” น.ส. ทิพานัน กล่าว

Advertisement

“ประยุทธ์” แจงสภา โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยก้าวสู่ระดับโลก

People Unity News : วันนี้ (1 มิ.ย. 65) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ที่นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย และงบประมาณปี 66 ไม่ได้ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลนั้นว่า รัฐบาลได้ดำเนินโครงสร้างต่างๆอย่างต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมาจนเกิดผลสำเร็จในวันนี้ รวมถึงนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาในการบริหารราชการ แก้ไขปัญหาโควิด-19 โครงการจัดทำ Big Data ต่างๆ ซึ่งล้วนได้ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น ตลอดจนมีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องของการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ และทำกฎหมายใหม่ เพราะต้องอยู่กันด้วยระเบียบ กฎ กติกา กฎหมาย ซึ่งกฎหมายใดที่เป็นประโยชน์ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อแผ่นดิน ต่อประชาชน ก็ต้องช่วยกันให้ผ่านไปให้เร็ว อย่าได้แต่ขัดแย้งกันอยู่เลย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้งบประมาณมากพอสมควร ดังนั้น หากจะลดข้าราชการลง จะต้องพัฒนาการใช้เทคโนโลยี การใช้เครื่องมือก่อน จึงค่อยมีการปรับลดการบรรจุข้าราชการใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยรัฐบาลได้ให้นโยบายไปแล้วว่า ในการบรรจุข้าราชการใหม่ ทุกกระทรวงจะต้องลดปริมาณข้าราชการลง จากการเกษียณอายุในแต่ละปี ซึ่งอยู่ในแผนของสำนักงาน ก.พ. อยู่แล้ว นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกๆในภูมิภาคอาเซียนที่พร้อมเปิดประตูสู่โอกาสในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล ทำให้การส่งผ่านข้อมูลรวดเร็วขึ้น โดยในปี 2564 ความเร็วเฉลี่ยของอินเทอร์เน็ตบ้านของไทยอยูที่ 308 ล้านบิทต่อวินาที ถือว่าแรงเป็นอันดับต้นๆของโลก รวมทั้งโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวน 74,987 หมู่บ้านทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และเป็นโครงการที่ได้รับรางวัลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ITU ในปี 2019 นอกจากนั้น ยังมีโครงการสายเคเบิลใต้น้ำ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ โดยมีอยู่ 1 เส้น วันนี้ได้ดำเนินการต่อซึ่งจะช่วยเสริมบทบาทของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ เชื่อมต่อจีน อินเดีย อาเซียน ที่มีประชากรกว่า 3,300 ล้านคนด้วย

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลได้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ในเรื่องการทำให้เกิดสังคมไร้เงินสด พัฒนาแพลตฟอร์มในการขับเคลื่อนนโยบายมาตรการต่างๆ จนสามารถปฏิบัติได้จริง เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถจ่ายเงินโดยตรงให้กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ โครงการพร้อมเพย์ และ QR Payment การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แบบ Any ID เชื่อมโยงหมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน แอพพลิเคชันถุงเงิน รวมไปถึง SME ขนาดเล็ก การใช้จ่ายเงินดิจิทัลของผู้ร่วมโครงการผ่านแอปเป๋าตัง ทั้งนี้สำหรับโครงการ 5G ที่รัฐบาลได้วางไว้นั้นสามารถรองรับพัฒนาต่อยอดระบบต่างๆได้อีกจำนวนมากโดยจะต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็วและตรงตัวที่สุด ซึ่งเรื่องของดิจิทัลจะทำให้เกิดรายได้ประเทศเพิ่มขึ้น และเชื่อมต่อการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ โดยรัฐบาลต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังที่สุด โดยคำนึงถึงศักยภาพโอกาสของไทยคือเรื่องเกษตรกรรม ควบคู่กับการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนในเรื่องของพลังงาน ปุ๋ย หรืออื่นๆ ซึ่งรัฐบาลจะหาวิธีการที่จะดำเนินการให้ได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในส่วนของโครงข่ายเหล่านี้ ได้นำไปสู่เรื่องสาธารณสุข โครงการ Siriraj Smart Hospital โรงพยาบาลอัจฉริยะ และการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อให้เป็นสถานีอัจฉริยะ ยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในการที่จะร่วมมือกัน ขอย้ำว่า อะไรที่ไม่ดีก็รับไปพิจารณา ส่วนงบประมาณต่างๆ ก็เสนอผ่านจากส่วนท้องถิ่น ส่วนจังหวัดขึ้นมาทั้งสิ้น ผ่านกระทรวง ทบวง กรม คณะทำงานสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจสอบแผนงานและโครงการ ก่อนเสนอเป็นโครงการขึ้นมา เพื่อพิจารณาว่าอะไรที่รัฐบาลจะลงทุนเอง โดยเฉพาะโครงสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายเพื่อจะได้สอดประสานกันความต้องการของพื้นที่

Advertisement

 

“ประวิตร” เปิดผลงานป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย พร้อมดันไทยสู่ “เทียร์ 2” ในปี 65

People Unity News : วันนี้ (11 พฤษภาคม 2565) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 รวมทั้งแถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน และให้เจ้าหน้าที่ได้นำแผนปฏิบัติการฯ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของแผนปฏิบัติการฯ และทำงานอย่างประสานสอดคล้องในทิศทางเดียวกันต่อไป โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย

รองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่ารัฐบาลตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญากรรมค้ามนุษย์ โดยประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 และกำหนดให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป และสร้างเครื่องมือเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของทุกภาคส่วนให้ประสานสอดคล้องกัน โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการในการพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ มาตรฐาน และวิธีปฏิบัติ คู่มือต่างๆ จากองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในวันนี้ รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดวิธีและขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนให้ผู้ปฏิบัติทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน และพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งมุ่งหวังและเชื่อมั่นว่าแผนปฏิบัติการฯฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับได้ใช้ปฏิบัติงานในเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยย้ำถึงการดำเนินงานปี 2564 จนถึงปัจจุบันว่า รัฐบาลขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามข้อเสนอแนะสำคัญ 15 ข้อ ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา โดยมีผลความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม อาทิ จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน และคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ จัดทำแนวทางกลไกการส่งต่อระดับชาติ กำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาไทย และภาษาที่ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้าใจได้ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ริเริ่มโครงการสำคัญ (Flagship Project) เพิ่มเติม เพื่อยกระดับมาตรฐานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ได้แก่ จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือ คุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายระดับชาติ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ออกมาตรการเชิงรุกป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลให้อาชญากรรมต่างๆลดลงทุกประเภทในช่วงปี 2563 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการในช่วงตุลาคม – ธันวาคม 2564 สามารถสืบสวนจับกุมคดีค้ามนุษย์ได้ถึง 188 คดี สูงกว่าปี 2563 โดยเฉพาะคดีทางสื่อออนไลน์ และได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ ได้แก่ การคัดแยกผู้เสียหาย การประชุมค่าสินไหมทดแทน การพิจารณาคดีของศาล เป็นต้น

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงานที่ทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยหากพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ได้กล่าวมา แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างชัดเจนของรัฐบาลในการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ดังนั้นประเทศไทยสมควรได้รับการเลื่อนระดับเข้าสู่ Tier 2 ในปีนี้

Advertisement

“เอนก” ยกระดับทุ่งกุลาร้องไห้ ดันจุดแข็ง สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

People Unity News : “เอนก” ยกระดับทุ่งกุลาร้องไห้ ดันจุดแข็ง สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

23 มี.ค. 2565 เมื่อเร็วๆนี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะ ร่วมลงพื้นที่พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้กับประชาชนในพื้นที่ ภายใต้กิจกรรม สวทช. เสริมแกร่งภูมิภาค ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่ จ.ศรีสะเกษ

ดร.เอนก กล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ครั้งนี้ อยู่ภายใต้แผนงาน “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ซึ่งนำโดย สวทช. และยังมีอีกหลายหน่วยงานของ อว. ทั้งสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยเข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งคลอบคลุมถึง 5 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร และสุรินทร์ โดยพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และต่างมีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าที่เข้มแข็ง มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นออกมามากมาย แต่สิ่งที่ อว.จะมาช่วยขับเคลื่อน คือ การนําองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปต่อยอดพัฒนาฐานทุนเดิมอันเป็นจุดแข็งของทุ่งกุลาให้สามารถสร้างมูลค่า สร้างโอกาสทางการตลาด และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ที่มุ่งให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีรายได้ พ้นความยากจน

ดร.เอนก กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ของ อว. จะทำงานร่วมกับทางจังหวัด หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ โดยมุ่งขับเน้นให้ผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการของทุ่งกุลาฯ มีอัตลักษณ์โดดเด่นยิ่งขึ้น เช่น การยกระดับผ้าทอโดยใช้เอนไซม์เอนอีซ “ENZease” สารจากธรรมชาติที่ช่วยทำความสะอาดและลอกแป้งออกจากเส้นใยในขั้นตอนเดียว ทำให้ย้อมสีธรรมชาติได้ดีขึ้น สีสวย สม่ำเสมอ ช่วยลดต้นทุน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี มาเพิ่มสมบัติพิเศษต่างๆ ทั้งความนุ่มลื่น การป้องกันรังสียูวี การยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงการเติมกลิ่นหอม โดยนำ ‘กลิ่นดอกลำดวน’ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษมาเติมลงในผ้าทอเบญจศรี เพื่อสร้างเสน่ห์และอัตลักษณ์ให้กับผ้าทอของจังหวัดศรีสะเกษ ขณะเดียวกันในส่วนของการอนุรักษ์ภูมิปัญญา

นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาสายพันธุ์ถั่วเขียวที่ให้ผลผลิตสูง มีความต้านทานต่อโรคราแป้งและใบจุด และถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรทั้งกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ และเกษตรกรผู้ผลิตถั่วเขียวเข้าโรงงานอุตสาหกรรม มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 คน พื้นที่ปลูก 500 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 120 -150 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรเฉลี่ย 2,600 – 3,300 บาทต่อไร่ และยังเชื่อมโยงกับภาคเอกชนให้เข้ามารับซื้อ ได้แก่ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) มีปริมาณการรับซื้อ 1,000 ตันต่อปี และบริษัท กิตติทัต จำกัด มีปริมาณการรับซื้อ 3,500 ตันต่อปี เพื่อให้มีผลผลิตถั่วเขียวที่เพียงพอ ต่อความต้องการของตลาดต้องการพื้นที่ปลูก จำนวน 30,000 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 150 กิโลกรัมต่อไร่

“พื้นที่ทุ่งกุลาฯ มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่นวัตกรรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการรักษาเอกลักษณ์เดิมไม่ให้เลือนหาย โดยเฉพาะ จ.ศรีสะเกษ ที่มีศักยภาพโดดเด่นในด้านนี้มาก และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน เอาความรู้ออกมาสู่ชุมชน และควรจะมีการจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ที่เน้นการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคนให้เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ เพราะต่อไปนี้ผลผลิตจาก อว. จะต้องสามารถรับใช้ประเทศชาติ สังคม และประชาชนได้” ดร.เอนก กล่าว

Advertising

ประยุทธ์ ประกาศการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 65 จะเป็นการขับเคลื่อนฟื้นประเทศจากโควิดไปสู่อนาคต

People Unity News : ประยุทธ์ ประกาศการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 65 สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง พลิกฟื้นประเทศสู่อนาคต

13 พ.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถ้อยแถลงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ภายหลังการรับมอบตำแหน่งจากนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ว่า

“โอกาสที่ไทยได้รับตำแหน่งเจ้าภาพเอเปค ในปี 2565 จะเป็นการขับเคลื่อนการฟื้นประเทศจากโควิดไปสู่อนาคต พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคหลังโควิดที่ยั่งยืน สมดุล และทุกคนมีส่วนร่วม ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG”

ทั้งนี้ หัวข้อหลักของการประชุมเอเปค ปี 2565 คือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ซึ่งมี 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม 2.การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน 3.การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทาง และท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด

จึงขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพ และรัฐบาลจะทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เพื่อให้การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ประสบความสำเร็จ สร้างประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนและลูกหลานในอนาคตต่อไป

Advertising

บิ๊กตู่มอบวิสัยทัศน์แก่ ครม. ขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและเศรษฐกิจ BCG

People Unity News : นายกรัฐมนตรีมอบวิสัยทัศน์แก่ ครม. ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่เศรษฐกิจ BCG พร้อมแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโนบายแก่คณะรัฐมนตรี ในการเดินหน้าประเทศไทยไปสู่อนาคต และเร่งขับเคลื่อนมาตรการทางเศรษฐกิจในปี 2564  ด้วยการเดินหน้าประเทศไทยไปสู่แนวโน้มใหม่ของโลกตามแนวทาง 4 Ds ได้แก่ Digitalization ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการทำงาน Decarbonization ลดการปล่อยแก๊ส Co2 Decentralization เพิ่มการเคลื่อนที่ของคน การวิจัย บริหาร และการค้า และสร้างความปลอดภัยทางด้านอาหารและยา รวมถึงพัฒนาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูงสุดเพื่อต่อยอด 4 Ds ไปยังตลาดโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี 5G ได้เร็วที่สุด ซึ่งได้เริ่มเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ไปแล้ว เพื่อให้กลุ่มต่างๆเข้ามาใช้ประโยชน์ อาทิ การให้บริการโรงพยาบาล สาธารณสุข การศึกษา ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG ด้วย ซึ่งการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันพบว่าดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากมาตรการทางเศรษฐกิจ การได้รับความเชื่อมั่นจากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังเผยถึงการจัดทำแผนงานโครงการแบบ Bottom-Up ผ่านกลไกการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากท้องถิ่น ทั้งจังหวัด อบต. อบจ. เพื่ออนุมัติโครงการจากรัฐบาล แต่จะต้องมีรายละเอียดแผนงานโครงการที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการทุจริตและสามารถปฏิบัติได้จริง โดยในวันนี้ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  (แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย) เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและลดภาระประชาชน ให้ประชาชนได้สามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมาย โดยแก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดอัตราปรับจากอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เป็นอัตราร้อยละสามต่อปี และแก้ไขเพิ่มเติมกรณีผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเก่า ปรับจากอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เป็นอัตราร้อยละห้าต่อปี เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการชำระหนี้

Advertising

ครม.มอบ “อนุชา” โชว์ผลงานการปฏิรูปประเทศต่อสมาชิกวุฒิสภา ชูผลงานเด่น 12 ด้าน

People Unity News : ​รมต.อนุชา นำทีมรายงานผลปฏิรูปประเทศ ต่อ สว. ชูผลงานเด่นรัฐบาล 12 ด้าน เตรียมเดินหน้า 62 กิจกรรม Big Rock เพื่อการปฏิรูปอย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2564) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้เป็นผู้ชี้แจงรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ราย 3 เดือน (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563)  ซึ่งเป็นการสรุปผลการดำเนินงานตามเรื่องและประเด็นของการปฏิรูปประเทศ 12 ด้าน

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 ด้าน  มีการกำหนดเรื่องและประเด็นการปฏิรูป จำนวนทั้งสิ้น 173 เรื่อง โดยมีการจัดระดับความสำเร็จเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย 1) ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนฯ จำนวน 17 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 10  2) ดำเนินการสำเร็จมากกว่าร้อยละ 75 ของแผนฯ จำนวน 70 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 40 3) ดำเนินการได้ร้อยละ 50-75 ของแผนฯ จำนวน 62 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 36 4) ดำเนินการได้น้อยกว่าร้อยละ 50 ของแผนฯ  จำนวน 24 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14

สำหรับตัวอย่างความคืบหน้าของประเด็นปฏิรูปประเทศที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ประกอบด้วย

1.ด้านการเมือง เช่น การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ

2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การบริการภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตประชาชน จากระบบ Biz Portal

3.ด้านกฎหมาย เช่น มีกลไกให้การออกกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี รวมทั้งมีกลไกการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้แล้ว

4.ด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น การพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

5.ด้านเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร บริหารจัดการผลิตภัณฑ์เกษตรตามแผนที่ (Zoning by Agri-Map)

6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การบบริหารจัดการขยะในทะเลและชายฝั่ง โดยนโยบายประชารัฐขจัดขยะทะเล

7.ด้านสาธารณสุข เช่น ระบบสุขภาพปฐมภูมิ (คลินิกหมอครอบครัว)

8.ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม

9.ด้านสังคม เช่น การปฏิรูปการออม สวัสดิการ และการลงทุนเพื่อสังคม

10.ด้านพลังงาน เช่น การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในกลุ่มอุตสาหกรรม

11.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น จัดทำและบูรณาการโครงข่ายฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของทุกหน่วยงานผ่านระบบสารสนเทศ

12.ด้านการศึกษา เช่น การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานะกฎหมายภายใต้แผนฯ ทั้ง 12 แผน จำนวน 216 ฉบับ มีกฎหมายที่แล้วเสร็จ จำนวน 50 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 23 ของกฎหมายที่เสนอทั้งหมด ส่วนการดำเนินงานในระยะต่อไปของห้วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 มุ่งเน้นให้ความสำคัญที่กิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) จำนวน 62 กิจกรรม ซึ่งเป็นไปตามการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 โดยกำหนดให้มีจำนวน 13 ด้าน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

Advertising

Verified by ExactMetrics