People Unity News : “เศรษฐพงค์”แจงประโยชน์ 5G ต่อระบบสาธารณสุขไทย ยัน “Telemedicine” ช่วยแก้ปัญหารพ.แออัด ลดเหลื่อมล้ำ แนะ ลงทุนด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อรักษาข้อมูลทางการแพทย์

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสัง หรือ กมธ.ดีอีเอส ให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อวาน(12พ.ย.) ตนได้รับเชิญไปกล่าวในงาน Diner Dialogue เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์ จัดโดยสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ พรีม่า ซึ่งตนได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศไทยที่มีมายาวนาน และขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายนำ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการดูแลจากโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ และในที่สุดจะสามารถดูแลโดยตรงถึงบ้านผู้ป่วย โดยแพทย์สามารถให้คำแนะนำผ่านวิดีโอแบบเรียลไทม์ และแม้แต่การขอใบสั่งยาจากแพทย์ได้และนำส่งยาถึงบ้านได้เลย ซึ่งปัญหาการขาดแคลนแพทย์ จะส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาต้องใช้เวลารอนานหลายชั่วโมง และแพทย์เองก็อาจมีความเสี่ยงที่จะตัดสินใจผิดพลาด เนื่องจากความเหนื่อยล้า

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การบริหารของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข จึงมีนโยบายเร่งด่วนในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยร่วมมือกับสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้นำร่องในการใช้ Telemedicine เพื่อดูแลสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ชายขอบ ให้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม โดยใช้ชื่อว่าโครงการเทเลเฮลธ์ (Telehealth) ซึ่งเป็นการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบในระยะเวลา 3 ปี เริ่มต้นใน 9 จังหวัด ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของวงการแพทย์แห่งอนาคต และเป็นปัจจัยสําคัญที่จะช่วยผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

รองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า นอกจากนี้ การพัฒนาการแพทย์สู่อนาคต ต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล 5G มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆ จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยและแพทย์อย่างเห็นได้ชัด จากการศึกษาของ Market Research Future ระบุว่า แนวคิดของรัฐบาลเกือบทุกประเทศทั่วโลก มองไปทิศทางเดียวกันคือการใช้ Telemedicine ในพื้นที่ชนบทมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการดูแลสุขภาพ แน่นอนว่า 5G ต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์หลายประเภท แต่ที่ใช้ได้อย่างแพร่หลายและสะดวกคือ การใช้เครือข่าย IoT (Internet of things) ที่สามารถติดตามอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ เช่น การวัดชีพจร อุปกรณ์วัดความดัน อุปกรณ์วัดวิเคราะห์ผลเลือด เป็นต้น จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถทำการมอนิเตอร์ เพื่อตรวจสอบติดตามอาการผู้ป่วยและรวบรวมข้อมูลที่สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงการดูแลส่วนบุคคลและการป้องกันได้

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ ทำให้การแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น ก็ยิ่งต้องความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ด้วย โดยเฉพาะข้อมูลของคนไข้หรือผู้ป่วยที่ถือเป็นความลับ รวมถึงข้อมูลทางการแพทย์การรักษา การวิจัยตัวยา หรือแนวทางการรักษาใหม่ๆ ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญต้องได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัย ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัล 5G สามารถพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยให้เข้าถึงประชาชนทุกคนได้ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ทัดเทียมนานาประเทศแล้ว จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กับความมั่นคงปลอดภัยด้วย แม้พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ก็มีความจำเป็นที่จะลงทุนในเรื่องอุปกรณ์เพื่อรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ Telemedicine ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมั่นคงปลอดภัย