วันที่ 29 เมษายน 2024

“เศรษฐา” ยันไม่ล้มพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 กุมภาพันธ์ 2567 เบตง – “เศรษฐา” ยืนยันไม่ล้มการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ หลังครบ 11 ปี จากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่พามาเที่ยวเพื่อสร้างโอกาส และย้ำว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับ จชต. เผยนัดกับนายกฯ มาเลเซียมาเที่ยวด้วยกัน แต่ติดภารกิจ หวังพบกันปีหน้า

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่วันนี้ครบรอบ 11 ปี การพูดคุยสันติภาพ ที่เริ่มต้นจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการลงนามในข้อตกลงทั่วไประหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพของไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2566 จนมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการพูดคุยต่อเนื่องจนถึงรัฐบาล นายเศรษฐา ที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการสันติสุข JCPP กับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งจะมีการหาข้อสรุปในการหยุดยิง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยตั้งเป้าให้มีการหยุดยิงภายในปี 2567

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังดำเนินการตลอด แต่การลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ มีความตั้งใจที่จะพูดเรื่องโอกาส และอนาคตที่ดีที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันว่า การพูดคุยไม่ล่ม ส่วนจะมีการยกเลิก พรก.ฉุกเฉินหรือไม่ เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงจะพิจารณา

“มาวันนี้ไม่อยากพูดเรื่องความไม่มั่นคง อยากพูดเรื่องโอกาสและศักยภาพ อยากให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า พี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้รับความเท่าเทียมกับเรา ที่ผ่านมารัฐบาลมีงบประมาณมาที่นี่มากใส่เงินไปแล้ว ไม่สำเร็จเท่าการใส่ใจ”

นายเศรษฐา เปิดเผยด้วยว่า การลงพื้นที่มาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 วัน 2 คืน มีความประทับใจมาก และดีใจที่เป็นนายกรัฐมนตรีในรอบ 10 ปีที่มานอนค้างคืน ถือเป็นการแสดงเจตจำนงว่ารัฐบาลชุดนี้จะนำความเสมอภาค ความเท่าเทียมและโอกาสมาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขอให้ไว้วางใจรัฐบาลนี้ ซึ่งอีกไม่นานจะเริ่มเข้าเดือนรอมฎอนแล้ว ก็จะถือศีลอด อดทน อดกลั้นไปด้วยกัน รัฐบาลจะเชื่อมประชาชนกับประชาชนทั่วประเทศ มาให้ความสำคัญกับโอกาสกับพี่น้องใน จชต. ส่วนความมั่นคงที่ผ่านมา 1 ปี ฝ่ายความมั่นคงก็ทำงานมาด้วยดี ความรุนแรงลดลงไปเยอะมาก จึงอยากเห็นทุกคนมีเงินในกระเป๋าด้วย เชื่อว่า ถ้าเศรษฐกิจดี การศึกษาดี ทุกคนได้รับสิทธิที่เท่ากัน ความสงบสุขก็เกิดขึ้น

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า เดิมได้นัดหมายกับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มาเที่ยวด้วยกันที่ อ.เบตง จ.ยะลา แต่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ติดภารกิจที่ออสเตรเลีย มีการหารือทวิภาคกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งมีการส่งภาพถ่ายมายืนยันว่าไม่ได้เบี้ยว และหวังว่าในปีหน้าจะมาเที่ยวด้วยกัน ซึ่งมาเลเซียก็มีความตั้งใจดีที่จะช่วยแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยซึ่งประชาชนสองประเทศก็มีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม​

Advertisement

“มายด์ ภัสราวลี” ยันชุมนุมปี 63 เป็นคดีการเมือง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 14 มีนาคม 2567 รัฐสภา – “มายด์ ภัสราวลี” พร้อมทนายเข้าชี้แจง กมธ.นิรโทษกรรม ยันชุมนุมปี 63 เป็นคดีการเมือง ขอรวม ม.112 เชื่อเป็นก้าวแรกคลี่คลายขัดแย้ง

น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มคณะประชาชนปลดแอก และน.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมโดยมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นประธานประชุม เพื่อให้ความคิดเห็น และชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองว่ามีเป้าหมาย มีมูลเหตุทางการเมืองอย่างไร เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ

น.ส.พูนสุข กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557-2562 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 2,400 คน หลังจากยกเลิกศาลทหาร ก็มีผู้ที่ถูกดำเนินศาลยุติธรรมอีกกว่า 100 คน ตั้งแต่กรกฎาคม ปี 2563-ปัจจุบัน มีคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง 1,957 คน และตัวเลขเพิ่มขึ้น แม้จะไม่มีการชุมนุม ส่วนใหญ่เกิดจากการโพสต์ข้อความในช่องทางออนไลน์ และเข้าข่ายกระทำความผิดมาตรา 112 ซึ่งการประชุมร่วมกับกมธ.นิรโทษกรรมจะพูดถึงที่มา และความสำคัญของเหตุผลที่ต้องมีมาตรา 112 และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ด้านน.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดีและมีความสำคัญมากที่จะได้ชี้แจงว่าการชุมนุมที่เกิดในปี 2563 มีเหตุจูงใจเกี่ยวกับการเมืองไทย ทั้งยังเป็นประเด็นที่คนในสังคมถกเถียงกันอยู่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนของคดีมาตรา 112 เป็นหนึ่งในสาเหตุความขัดแย้งที่ถูกสะสม แล้วอาจจะก่อตัวเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงกว่านี้ในอนาคตได้ หากนิรโทษกรรมคดีอื่น ๆ ได้แต่แยกมาตรา 112 ออกจะพูดได้อย่างไรว่า ได้คืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพทั้งหมดแล้วจริง ๆ

“พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรา 12 จะต้องถูกรวมใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องรวมมาตรา 112 ไปด้วย เพื่อให้การคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง โดยเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นของปัญหา” น.ส.ภัสราวลี กล่าว

Advertisement

เห็นพ้องต้องขจัดความขัดแย้งทางการเมือง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 กุมภาพันธ์ 2567 ‘กมธ.วิสามัญ นิรโทษกรรม’ เห็นพ้อง ต้องขจัดความขัดแย้งทางการเมืองให้หมดจากสังคมไทย นัดต่อไปเริ่มหาข้อสรุปจะรวมคดี ‘ม.112- ทุจริต’ หรือไม่ เบื้องต้นเล็งทำสรุปส่งให้สภาฯ พิจารณาเอง ‘ชูศักดิ์’ มองหาก กมธ. จะยกร่างกฎหมายใหม่ ต้องใช้เวลามากกว่า 60 วัน

วันที่ 22 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม กล่าวภายหลังการประชุม โดยระบุว่า วาระหลักในวันนี้ เป็นการขอฟังความเห็นกรรมาธิการทุกฝ่าย เพื่อแสดงเป้าหมายในการขอนิรโทษกรรม และเพื่อให้แสดงวัตถุประสงค์สำคัญในการนิรโทษกรรมในครั้งนี้คืออะไร ซึ่งได้รับฟังเกือบครบทุกคน ยกเว้นกรรมาธิการบางคนที่ไม่ได้มาวันนี้

โดยความเห็นส่วนใหญ่ในที่ประชุม มีเป้าหมายส่วนใหญ่ในการทำนิรโทษกรรมครั้งนี้ คือยุติความขัดแย้งและความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความปรองดอง และอยู่ด้วยกันได้อย่างเห็นต่าง หากมีความเห็นต่างก็ขอให้ความเห็นนั้นเป็นความขัดแย้งทางความคิด ไม่ใช่ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงเหมือนในอดีต

ส่วนเหตุผลรองๆ ก็เช่น เพื่อทำให้สังคมไทยกลับคืนสู่ความปกติสุข เนื่องจากทุกคนเห็นว่าผลการขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปี 2549 เป็นต้นเหตุสำคัญ ทำให้ประเทศไทยมีปัญหา ไม่สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้เศรษฐกิจที่ตกต่ำก็มีผลมาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งนั้น

เมื่อถามถึงการขอนิรโทษกรรมความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่ามีคนเสนอเรื่องนี้หรือไม่นั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า มีความเห็นทั้งสองส่วน บางส่วนบอกว่ายังไม่ควรจะมี มีบางส่วนก็เห็นด้วย บางส่วนก็เห็นด้วยแบบมีเงื่อนไขที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าการนิรโทษกรรมควรต้องมีลักษณะทำให้สิ่งที่เป็นความขัดแย้งนั้นยุติลง และไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก จึงมีเงื่อนไขบ้าง ขณะนี้รับฟัง แต่ยังไม่ได้ตัดสินลงไปว่าจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ ระบุว่า การประชุมนัดต่อไป คณะกรรมาธิการฯ จะขอเปิดรับฟังกรรมาธิการที่เหลืออีก 4-5 ท่าน ที่ไม่ได้มาในวันนี้ และจะจัดทำเป็นข้อสรุปว่าท้ายที่สุด จะมีความเห็นออกมาอย่างไร และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในหลักว่า การนิรโทษกรรมจะรวมการกระทำอะไรบ้าง

ขณะที่แนวโน้มความเห็นจากกรรมาธิการมีความเห็นในมาตรา 112 อย่างไรนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่ายังไม่ได้ข้อยุติ เพราะความเห็นยังไม่สามารถจำแนกได้ เป็นเพียงการแสดงความเห็นในเชิงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือเห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข หรือออกมาในรูปแบบมาตรการที่อาจไม่ใช่การ นิรโทษกรรมก็ได้ ส่วนจะรวมคดีทุจริตหรือไม่นั้น ในที่ประชุมยังไม่ถึงขั้นได้ข้อสรุปในเรื่องนั้น ในวันนี้พิจารณาในส่วนของวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อนำไปสู่อะไรเท่านั้น

ส่วนจากการเปิดรับฟังความเห็นแล้ว คณะกรรมาธิการฯ จะมีการขยายระยะเวลาพิจารณาให้เกินกรอบเวลา 60 วัน หรือไม่นั้น นายชูศักดิ์กล่าวว่า กำลังหารืออยู่เหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำในระดับไหน ขณะนี้ก็มีความเห็นที่เป็นข้อยุติแบบพอสมควรแล้วเช่นกัน เช่น หน้าที่ของคณะกรรมาธิการก็น่าจะเพียงเสนอหลักการเท่านั้น บางท่านก็เสนอว่าให้เป็นทางเลือกหลายๆ แบบด้วยซ้ำ ให้สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจ ตอนนี้กำลังดูกันอยู่ แล้วจะตัดสินใจในครั้งหน้า

ทั้งนี้ นายชูศักดิ์ ยอมรับว่า การประชุมยังไม่ถึงขั้นให้เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับใหม่ ส่วนจะมีโอกาสที่จะทำเป็นร่างกฎหมายควบคู่กันไปหรือไม่นั้น มองว่า ถ้าคิดจะยกร่างไปด้วยก็ไม่น่าจะทันกรอบเวลาทำงานของคณะกรรมาธิการ 60 วัน เนื่องจากกฎหมายเป็นเรื่องที่สำคัญต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณารายละเอียด บางครั้งเพียงมาตราเดียวก็ใช้เวลาถึง 2 วัน

Advertisement

Verified by ExactMetrics