วันที่ 5 กรกฎาคม 2025

ศธ.เตรียมจ้างผู้ช่วยครูปฐมวัย 6 เดือน กว่า 1 หมื่นคน

People Unity News : รมว.ศธ. เผย ศธ.เตรียมช่วยเหลือครูตกงาน จ้างเป็นครูปฐมวัยชั่วคราว 6 เดือน รับเงินเดือน 9,000 บาท

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ การจัดสรรงบประมาณทุกกระทรวงเพื่อช่วยเหลือผู้ไม่มีงานทำ

รมว.ศธ. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงจัดสรรงบประมาณตามความต้องการ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยังไม่มีงานทำ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองถึงความต้องการให้บุตรหลานในระดับปฐมวัย ได้กลับมาเรียนที่โรงเรียน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโนา (โควิค-19) ดีขึ้น ซึ่งหากมีการรับนักเรียนในระดับชั้นดังกล่าวกลับมาเรียนที่โรงเรียนในสภาวการณ์ขณะนี้ มีความจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนครูต่อนักเรียนมากขึ้น จากเดิม นักเรียน 20 คน ต่อครู 1 คน เป็นสัดส่วนนักเรียน 7 คน ต่อครู 1 คน หรือนักเรียน 20 คน ต่อ ครู 3 คน

ดังนั้น ศธ. จะต้องจัดหาผู้ช่วยครูในการดูแลนักเรียน โดยอาจคัดเลือกจากครูระดับปฐมวัยที่สอบบรรจุในตำแหน่งครูผู้ช่วย และได้ขึ้นบัญชีไว้แล้วเพื่อรอการบรรจุแต่งตั้ง

ทั้งนี้ ศธ.จะรวบรวมข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เช่น การจ้างเป็นผู้ช่วยครู เป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้รับอัตราเงินเดือนๆละ 9,000 บาท  ซึ่ง ศธ.มีงบประมาณดำเนินการไว้แล้วกว่า 500 ล้านบาท สามารถจ้างครูช่วยสอนได้ประมาณ 10,000 คน

โฆษณา

ธอส.ทำสายคล้องหน้ากาก 1 ล้านชิ้นแจกบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานดูแลประชาชน

People Unity News : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารบ้านของคนไทย เปิดตัวโครงการ “ร้อยพลังเล็ก สู่ล้านพลังยิ่งใหญ่ โดย ธอส.” ร่วมประดิษฐ์สายคล้องหน้ากากอนามัย จำนวน 1,000,000 ชิ้น โดยแบ่งเป็นผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานของ ธอส. และหน่วยงานพันธมิตร จำนวน 600,000 ชิ้น ผู้สูงอายุ/ผู้พิการในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่ธนาคารสนับสนุน จำนวน 400,000 ชิ้น ภายใน 1 เดือน ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน 2563 หวังบรรเทาความเจ็บจากการกดทับของสายหน้ากากอนามัยเมื่อใส่เป็นเวลานานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และทุกสาขาอาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

นายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในหลายประเทศทั่วโลกจนทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ขณะที่ในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากความสามัคคีของประชาชนที่ต่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมพร้อมกับให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆของภาครัฐ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่สำคัญที่สุด นั่นคือการปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเทและเต็มกำลังเพื่อดูแลรักษาให้บริการประชาชนของบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการประชาชน ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจทำให้คนไทยมีบ้าน ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและความเจ็บจากการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานของผู้ที่เสียสละปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระหว่างการทำงาน จึงได้จัดทำโครงการ “ร้อยพลังเล็ก สู่ล้านพลังยิ่งใหญ่ โดย ธอส.” ขึ้นมา โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของคุณยายประเพ็ญ ฮั่นตระกูล วัย 92 ปี ที่เผยแพร่ในรายการ “คนค้นฅน” ซึ่งตัดเย็บสายคล้องหน้ากากอนามัยด้วยตัวเอง เพื่อหวังบรรเทาความเจ็บจากการกดทับของสายหน้ากากอนามัยเมื่อใส่เป็นเวลานานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ธนาคารจึงได้เชิญชวนผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานของธนาคาร หน่วยงานพันธมิตร และผู้สูงอายุร่วมกันประดิษฐ์สายคล้องหน้ากากอนามัยให้ได้จำนวน 1,000,000 ชิ้น โดยแบ่งเป็นการประดิษฐ์โดยผู้ปฏิบัติงานของ ธอส.และหน่วยงานพันธมิตร จำนวน 600,000 ชิ้น ผู้สูงอายุ/ผู้พิการในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่ธนาคารให้การสนับสนุน จำนวน 400,000 ชิ้น โดยมีระยะเวลาจัดทำสายคล้องหน้ากากอนามัย 1 เดือน ตั้งแต่วันนี้ (15 พฤษภาคม 2563) ซึ่งถือเป็นวัน Kick Off โครงการไปถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2563

“โครงการ ร้อยพลังเล็ก สู่ล้านพลังยิ่งใหญ่ โดย ธอส. ถือเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมให้คนในองค์กรและประชาชนทั่วไปเกิดความรัก ความสามัคคี เห็นถึงความสำคัญของการช่วยเหลือดูแลกันและกัน พร้อมทั้งตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของการจัดทำโครงการ CSR ของ ธอส.คือ “ไม่ใช่แค่หน้าที่ แต่คือความห่วงใย” และเมื่อครบ 1,000,000 ชิ้นแล้ว ธอส. จะนำไปอบฆ่าเชื้อก่อนนำไปส่งมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และทุกกลุ่มอาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนต่อไป” นายปริญญากล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังพิธีเปิดโครงการฯ ธอส. ยังได้จัดสถานที่ ณ ห้องวิมานเมฆ ชั้น 3 อาคาร 2 สำนักงานใหญ่ ให้คณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของธนาคาร ร่วมกันประดิษฐ์สายคล้องหน้ากากอนามัยโดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรม และทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอีกด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 67 ปี ธอส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองตามควรแก่อัตภาพมาแล้วมากกว่า 3.7 ล้านครอบครัว ตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR ทั้งด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา สังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์/ศาสนา/ศิลปวัฒนธรรม และกีฬา โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และปลูกจิตอาสาช่วยเหลือสังคมของพนักงานในองค์กร รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชน และสร้างสังคมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเติบโตอย่างยั่งยืน

โฆษณา

สำนักพุทธฯร่วมกับวัดทั่วประเทศตั้งโรงทานช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

People Unity News : พศ.ร่วมกับวัดทั่วประเทศ ตั้งโรงทานช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยประชาชนได้กว่า 2.7 แสนคน/วัน เผยเตรียมช่วยเหลือผ่านระบบ Drive Thru ในทุกพื้นที่ชุมชน

วันนี้ (13 พ.ค.63) เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงการจัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น คณะสงฆ์ไทยได้นำพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชฯ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบความยากลำบากจากสถานการณ์ฯ โดยมีพระบัญชาให้จัดตั้งโรงทาน โดยให้สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ประสานงานกับวัดทั่วราชอาณาจักรที่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากจากสถานการณ์ฯ โดยกำหนดแนวทางประสานความร่วมมือที่คำนึงถึงความพร้อมเป็นปัจจัยสำคัญ ร่วมกับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนในชุมชนนั้นๆ และให้ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการ คำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด

ปัจจุบันมีการดำเนินการจัดตั้งโรงทานไปแล้ว 77 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร รวมเป็น 914 ศูนย์ ซึ่งมีพี่น้องประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 274,000 คนต่อวัน สำหรับวัดขนาดเล็กที่ยังมีศักยภาพไม่มากแต่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ให้มีการจัดตั้งโรงทานในลักษณะตู้แบ่งปันความสุข ผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ทั้งการเข้ารับการตรวจ ณ จุดคัดกรอง ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง 1.5 – 2 เมตร ไม่ให้เกิดความแออัด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ผู้ให้ความร่วมมือในการเป็นแม่ครัวจิตอาสาต้องวัดอุณหภูมิก่อนเข้าไปประกอบอาหาร สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม และล้างมือก่อนการประกอบอาหาร ถือเป็นมาตรการหลักที่ต้องปฏิบัติตาม ขณะเดียวกันมีโรงทานที่เปิดทำการแล้วคือ โรงทานวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นโรงทานต้นแบบ ที่ได้เปิดตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งผู้ได้รับผลกระทบที่อาศัยอยู่ในชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพต่างๆที่ได้รับผลกระทบด้วย สำหรับโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ การช่วยเหลือผ่านระบบ Drive Thru เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทุกพื้นที่ชุมชน

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งโรงทานเคลื่อนที่สำหรับประชาชนที่ไม่ได้อยู่ใกล้บริเวณพื้นที่วัด โดยการสื่อสารผ่านผู้นำชุมชน เพื่อจัดทำอาหารที่ปรุงสดใหม่ส่งไปยังชุมชนนั้นๆ โดยผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือให้รออยู่ที่บ้านเพื่อเป็นการแก้ปัญหาความแออัด ขณะเดียวกันได้มีแนวทางการต่อยอดในการใช้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ปลูกผักปลอดสารพิษ “สวนวิถีพุทธ วิถีเกษตร” ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในบางพื้นที่ เช่น วัดทรงเสวย วัดพรหมมหาจุฬามณี วัดประดู่ วัดอินทาราม รวมถึงการเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ยังไม่ได้กลับไปประกอบอาชีพ ช่วยกันปลูกผักและนำมาจำหน่ายให้แก่วัดเพื่อนำมาปรุงอาหารแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อีกด้วย

สำหรับโครงการจัดตั้งโรงทานได้มีการต่อยอดดำเนินการไปยังพื้นที่วัดไทยในต่างประเทศ ทั้งทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงโอเชียเนีย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ตัวอย่างเช่น วัดอรุณสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ด้วย ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการใช้วัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อเป็นการเปลี่ยนแนวคิดทัศนคติของคนในประเทศในเรื่องของการช่วยเหลือเผื่อแผ่ ทำให้พี่น้องประชาชนเข้าใจคำว่าพอเพียงและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ในสังคม ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงทาน สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประสานงานไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆ ผ่านสํานักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์จุดจัดตั้งโรงทานของแต่ละพื้นที่จังหวัดนั้นๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

โฆษณา

องค์การเภสัชกรรมพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์รักษาไวรัสโคโรนา 2019 คาดสำเร็จปลายปี 64

People Unity News : อภ.พัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระดับห้องปฏิบัติการ พร้อมก้าวสู่กระบวนการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบจนเป็นเม็ดยาสำเร็จรูป คาดสำเร็จปลายปี 64 พึ่งพาตนเองรองรับผู้ป่วยระยะยาว

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า อภ.ได้วิจัยและพัฒนา ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) มาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 โดยในระยะแรกนี้ได้จัดซื้อตัวอย่างวัตถุดิบมาทดลองพัฒนาสูตรเบื้องต้น 100 กรัมและสั่งซื้อเพิ่มอีก 5 กิโลกรัม จะมาถึงเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับ และขยายขนาดการผลิต ตลอดจนศึกษาความคงสภาพ และประสิทธิผลทางชีวสมมูล คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะมีข้อมูลพร้อมยื่นขึ้นทะเบียน

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อภ.ได้มีการวางแผนบริหารจัดการเพื่อให้มียาฟาวิพิราเวียร์ เพียงพอต่อความต้องการรองรับการรักษาผู้ป่วยภายในประเทศอย่างยั่งยืนทั้งในภาวะวิกฤติและระยะยาว ซึ่ง ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นหนึ่งในยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการรักษาของประเทศไทย และจากการคาดการณ์ว่าจะมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานประมาณ 1-2 ปี การดำเนินการเพื่อให้มียาไว้ใช้ในยามจำเป็นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก อภ.มีการดำเนินงานพร้อมกันใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ ในระยะเร่งด่วน มีการนำเข้ายาต้นแบบ จาก บริษัท FujiFilm Toyama Chemical Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท Zhejiang Hisun Pharmaceutical Company ประเทศจีน ซึ่งได้รับใบอนุญาตผลิตจากญี่ปุ่น เพื่อกระจายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งไทยได้มีการนำเข้ามาแล้ว จำนวน 187,000 เม็ด และในเดือนพฤษภาคมนี้ นำเข้าจากจีนและญี่ปุ่นอีกจำนวน 303,860 เม็ด ส่วนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ที่ได้ดำเนินการคู่ขนานกับการนำเข้านั้น ได้มีการจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้พัฒนาและผลิตยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ได้เองภายในประเทศ สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาตรฐานจากประเทศจีน ซึ่งขณะนี้ได้จัดซื้อตัวอย่างวัตถุดิบมาเพื่อทดลองผลิตในเบื้องต้นและอยู่ระหว่างการสั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับ และขยายขนาดการผลิต ตลอดจนศึกษาความคงสภาพ และศึกษาประสิทธิผลทางชีวสมมูล (Bioequivalence study) เพื่อศึกษาระดับยาในเลือดเทียบกับยาต้นแบบต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะมีข้อมูลพร้อมยื่นขึ้นทะเบียน การดำเนินการด้านวิจัยพัฒนาการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ได้ดำเนินการคู่ขนานไปด้วยช่วงเวลานี้เช่นกัน โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการในกระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบ โดยอภ.ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ สวทช. จำนวน 4.28 ล้านบาทสำหรับดำเนินการในกระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบระดับห้องปฏิบัติการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 – 6 เดือน จากนั้น อภ.นำมาขยายขนาดการสังเคราะห์สู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรมคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตวัตถุดิบในระดับกึ่งอุตสาหกรรมได้ในเดือนมิถุนายน 2564

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสิทธิบัตรยานั้น บริษัท FujiFilm Toyama Chemical Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น ได้มายื่นคำขอสิทธิบัตรด้านการผลิตเม็ดยา favipiravir ที่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2553 แต่ปัจจุบันยังเป็นเพียงคำขอสิทธิบัตรเท่านั้น หากยาดังกล่าวได้รับสิทธิบัตร จะได้ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี โดยนับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอสิทธิบัตรในไทย อย่างไรก็ตามการพัฒนาสูตรภายในประเทศสามารถทำได้โดยไม่ถูกฟ้องร้อง แต่หากผลิตจำหน่ายในท้องตลาด อาจโดนฟ้องเพราะละเมิดสิทธิบัตรได้ ดังนั้น อาจต้องมีการเจรจาทำ Voluntary Licensing กับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร เพื่อให้ อภ.สามารถผลิตและจำหน่าย

“องค์การเภสัชกรรมมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการคิดค้น วิจัย และพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ ที่จำเป็นต่อการรักษา ให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ เพื่อให้มีความยั่งยืนในการสำรองยาไว้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ รองรับการแพร่ระบาดทั้งในภาวะวิกฤติและเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในระยะยาวต่อไป” ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าว

โฆษณา


มท.สั่งการทุกจังหวัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และ อปท.

People Unity News : มท.สั่งการทุกจังหวัด ตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) กำกับ ดูแล ตามมาตรการป้องกันโรคในทุกระดับ

วันนี้ (8 พ.ค.63) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเปิดเผยว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มีคำสั่งที่ 2/2563 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กำหนดให้ ศปก.จังหวัด ศปก.อำเภอ ศปก.ตำบล และ อปท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ กำกับ ดูแล ตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายฉัตรชัย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังทุกจังหวัด ให้ดำเนินการตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) ในแต่ละระดับ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด (ศปก.จ.) นายอำเภอ เป็นผู้แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคตำบล (ศปก.ต.) และนายกเทศมนตรีเทศบาลนคร/เทศบาลเมือง เป็นผู้แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคเทศบาลนคร/เทศบาลเมือง (ศปก.ทน./ศปก.ทม.) ตามโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด พร้อมทั้งให้กำกับ ดูแล และติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคในพื้นที่โดยเคร่งครัด

นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น จะมีทั้งมาตรการควบคุมหลัก เช่น การทำความสะอาดในบริเวณสถานที่สำหรับให้บริการประชาชน การสวมหน้ากากอนามัย การให้มีจุดบริการล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค การให้เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะและระหว่างที่นั่ง รวมถึงระยะห่างระหว่างการเดินอย่างน้อย 1 เมตร และการให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการมิให้แออัด เป็นต้น และมาตรการเสริม อาทิ มาตรการคัดกรองอาการป่วย มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้ให้บริการ มาตรการป้องกันการชุมนุมของคนหมู่มาก การลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น การงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานที่จำหน่ายอาหาร การจัดให้มีพื้นที่ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และอาจเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชั่นติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานในบางพื้นที่ก็ได้

โฆษณา

กระทรวงดีอีเอสแจก “เน็ตอยู่บ้าน” ฟรี 3 เดือน

People Unity News : “ดีอีเอส” เพิ่มมาตรการเน็ตบ้านฟรี เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนช่วงโควิด-19

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงข่าวเกี่ยวกับการเพิ่มมาตรการเน็ตบ้านฟรีช่วยประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายช่วงโควิด-19 ภายใต้กิจกรรม “ดีอีเอสช่วยประชาชนสู้ภัยโควิด-19” โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) แพ็กเกจ “เน็ตอยู่บ้าน” ความเร็ว 100/50 Mbps ให้กับประชาชนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยจะติดตั้งและให้บริการแก่ประชาชนฟรีเป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับแพ็กเกจ “เน็ตอยู่บ้าน” ความเร็วสูงสุด 100/50 Mbps ระยะเวลาสัญญาใช้บริการ 12 เดือน ได้จัดเตรียมรองรับประชาชนจำนวน 100,000 ราย ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนใช้งานฟรี 3 เดือน โดยฟรีค่าใช้จ่ายแรกเข้าและค่าติดตั้งสำหรับผู้ใช้บริการต่อเนื่องจนครบตามระยะเวลาในอัตรา 390.- บาท/เดือน ประชาชนที่สนใจสามารถสมัครรับสิทธิ์แพ็กเกจดังกล่าวได้ตั้งแต่ 15 พ.ค. – 31 ก.ค.63  ณ สำนักงานบริการลูกค้า CAT และ TOT, ช่องทางออนไลน์เว็บไซต์ www.CinternetBYCAT.com  Facebook : CinternetBYCAT  และ www.tot.co.th หรือสอบถามที่ CAT Contact Center 1322 และ TOT Contact Center 1100

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอสคำนึงถึงการรองรับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบไปอีกระยะหนึ่ง โดยประชาชนที่ยังคงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบ้านจึงมีความจำเป็นโดยนอกจากรองรับการทำงานที่บ้าน (WFH) ยังรวมถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเรียนตามปกติจะต้องเรียนออนไลน์เพิ่มขึ้น

โฆษณา

โฆษก ศบค. เผยคลินิกเสริมความงาม ผับ บาร์ ยังคงปิดบริการต่อไป

People Unity News : โฆษก ศบค. เผยคลินิกเสริมความงาม ผับ บาร์ ยังคงปิดบริการ เนื่องจากใช้เวลาทำกิจกรรมในสถานที่ดังกล่าวนาน วอนประชาชนยังคงเน้นการควบคุมโรคเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย

4 พ.ค. 63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเซียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 ดังนี้

โฆษก ศบค. ย้ำการให้บริการของสถานเสริมความงาม แม้บางแห่งได้มีการจดทะเบียนเวชรกรรมถูกต้อง ตามราชกิจจานุเบกษา ข้อกำหนดฉบับที่ 5 (6) ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 ว่า คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม เป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องมีคำสั่งปิดสถานที่เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากอธิบดีกรมควบคุมโรคมีความเห็นว่า กิจการ/กิจกรรมที่ทำในคลินิกเวชกรรมเสริมความงามนั้นใช้เวลานาน และถือว่ามีความจำเป็นน้อย จึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ โรงมหรสพ สถานบริการ ผับ บาร์ เป็นต้น ยืนยันว่ายังไม่สามารถให้กลับมาให้บริการได้

โฆษก ศบค. ยังชี้แจงถึงข้อมูลและความแม่นยำผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 18 รายที่จังหวัดสงขลาว่า หลักการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น หากมีการตรวจในคนหมู่มาก ย่อมมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงเพิ่มศักยภาพในการตรวจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับทุกคนจะเป็นการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เช่น กรณีจังหวัดยะลาที่ตรวจไป 3,000 กว่าคน แต่บางอำเภอไม่พบผู้ป่วยเลย โฆษก ศบค. ยืนยันการใช้ชุดข้อมูล สถิติ เพื่อระบุกลุ่มเสี่ยงในการตรวจเป็นวิธีที่ยอมรับระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อดำเนินการในส่วนนี้

โฆษก ศบค. ยังแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนที่ได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่มีความแออัด ขอให้เข้าใจว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะต้องสร้างความปลอดภัยได้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติตนตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา  หากร่วมมือกัน ยึดหลักมาตรการป้องกันโรคตามประกาศ ทั้งการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค การเว้นระยะห่าง และลดความแออัด มาตรการดังกล่าวเหล่านี้จะทำให้ประสบสำเร็จได้  ซึ่งยังต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้ได้ร้อยละ 100 เพื่อทำให้จำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อกลายเป็นศูนย์ ติดต่อกันอย่างน้อย 14 วัน จึงจะมั่นใจว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ เพื่อเราจะเข้าสู่ระยะต่อไปได้และมีอิสระในการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น

โฆษก ศบค. ยังตอบหากพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะมีมาตรการเข้มงวดขึ้นหรือไม่นั้น โดยชี้แจงว่า ศบค. มีการจัดเก็บชุดข้อมูลในรูปแบบของสถิติ ข้อมูลชุดพฤติกรรมที่มีการผ่อนปรนจะสอดคล้องกับชุดข้อมูลยืนยันผู้ติดเชื้อจากห้องปฏิบัติการ เมื่อปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนแล้ว หากพบจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อลดลง ก็สามารถขยับมาตรการผ่อนปรนต่อไปได้ แต่หากจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อมีเพิ่มขึ้น จะต้องทบทวนมาตรการต่างๆอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้รับบริการและผู้กำกับติดตามของภาครัฐ ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน จะสร้างความปลอดภัยให้แก่เราได้

โฆษณา

เลขาฯประกันสังคมแจงสถานะมั่นคง มีเงินพร้อมจ่ายผู้ประกันตน เผยเงิน 82% เอาไปลงทุน!!

People Unity News :  เลขาฯ สำนักงานประกันสังคม ให้ความมั่นใจกองทุนประกันสังคมมีสถานะมั่นคง พร้อมจ่าย วอนนายจ้างเร่งรับรองลูกจ้าง เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับเงินโดยเร็ว หากมีข้อสงสัยติดต่อ 1506

4 พฤษภาคม 63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม และนายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักเงินสมทบ ชี้แจงมาตรการช่วยเหลืยผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 จากกองทุนประกันสังคม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม รายงานการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยว่าตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. – 2 พ.ค. 63 มีผู้ประกันตนมายื่นขอใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 1,177,841 ราย จากการใช้ระบบตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีข้อมูลที่ยื่นซ้ำหรือไม่ใช่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่จะได้สิทธิทั้งสิ้น 219,537 ราย คงเหลือผู้ที่มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 958,304 ราย จะดำเนินการจ่ายได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้คือ 17 เม.ย.63 โดยเร่งดำเนินการวินิจฉัยสั่งจ่ายให้กับผู้ที่มีสิทธิ์ ทั้งสิ้นจำนวน 455,717 ราย ตั้งแต่วันที่ 20เม.ย.63 ที่ผ่านมาถึง 2 พ.ค. 63 คงเหลืออีก 207,895 ราย ทั้งนี้ การที่สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินได้นั้น จะต้องมีการยื่นขอใช้สิทธิ์ 2 ทาง คือ ผู้ประกันตนที่ขอใช้สิทธิกับนายจ้างที่จะต้องรับรองสิทธิให้ลูกจ้าง ลูกจ้างจำนวน 294,692 ราย ยังรอการรับรองสิทธิจากนายจ้างประมาณ 50,000 ราย จึงขอให้นายจ้างช่วยรับรองสิทธิให้กับผู้ประกันตนด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้สั่งระดมเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานทุกกรม ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ประสานนายจ้างให้ช่วยมารับรองสิทธิ์ เพื่อสำนักงานจะได้ดำเนินการวินิจฉัย หรือนายจ้างอาจได้รับ SMS หรือ e-mail จากเว็บประกันสังคม หนังสือจากสำนักงานประกันสังคม เมื่อได้รับหนังสือแล้ว ขอนายจ้างรีบดำเนินการ ซึ่งจำนวนที่ได้สั่งจ่ายไปแล้ว 455,717 ราย คิดเป็นเงิน 2,354 ล้านบาท ยืนยันว่าสำนักงานประกันสังคมมีเงินเพียงพอ ขณะนี้มีผู้ทยอยยื่นว่างงานเฉลี่ย 30,000 คนต่อวัน หากมีข้อสงสัยหรือข้อสอบถามสามารถติดต่อสำนักงานประกันสังคมได้ที่เบอร์สายด่วน 1506

โอกาสนี้ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคมกล่าวว่า การสำนักงานประกันสังคมได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากภัยอันเกิดจากโรคโควิด 19 ซึ่งผู้ประกันตนและนายจ้างสามารถตรวจสอบและยื่นเอกสารเข้ามาทางเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีการพัฒนาการยื่นรับรองระบบ E-service เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องและชัดเจน สามารถนำมาประกอบการวินิจฉัยได้เร็วขึ้น กรณีนายจ้างที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนรับ USER และ Password สามารถดำเนินการได้หน้าเว็บไซต์และจะมีการออก USER และ Password ตอบกลับไปยัง Email ของท่านและสามารถยื่นรับรองในวันเดียวกัน

ผู้ตรวจราชการกรมยืนยันว่า สำนักงานประกันสังคมระดมสรรพกำลังติดตามให้นายจ้าง ซึ่งพบปัญหาบางกรณีนายจ้างยังประกอบกิจการอยู่แต่ลูกจ้างยื่นเข้ามา กรณีนี้ไม่สามารถรับเงินเยียวยาได้ เพราะยังมีการประกอบกิจการ อีกกรณีหนึ่ง นายจ้างมีการหยุดงานจริงแต่ยื่นขอใช้มาตรา 75 ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คือ มีการจ่ายเงินให้กับลูกจ้างร้อยละ 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมถือว่า เงินตรงนั้นเป็นค่าจ้างที่จะต้องนำส่งสำนักงานประกันสังคม ลูกจ้างก็จะไม่ได้ใช้สิทธิเยียวยาของสำนักประกันสังคม ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะนำข้อมูลทั้งหลายมาหักออกจากจำนวนลูกจ้างที่ให้นายจ้างยื่นรับรอง เพื่อนำไปบริหารต่อเพื่อจะได้เร่งจ่ายเงินเยียวยา

ผู้ตรวจราชการกรมยังชี้แจงกรณีที่มีการยื่นเข้ามาแล้วเงินเดือนเท่ากันแต่ไม่ได้รับเงินเท่ากันว่า กรณีการวินิจฉัยจ่ายเงินมีการรับรองยื่นว่างงานเข้ามาตั้งแต่ช่วงแรกที่มีเหตุสุดวิสัย อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงของประกันสังคมบังคับใช้วันที่ 17 เมษายน ดังนั้น เรื่องที่ยื่นเข้ามาก่อนได้นำมาวินิจฉัยให้ก่อน ซึ่ง ณ วันวินิจฉัยจะตัดจ่ายเงินให้ลูกจ้างรายนั้นไปก่อน ซึ่งในครั้งถัดไปจะมีการประมวลผลจ่ายเงินให้พร้อมกันในเดือนถัดไป เพราะฉะนั้นเมื่อนำมารวมกันแล้วก็จะได้รับเงินเท่ากันเดือนที่ 3 จะครบ 90 วัน ตัดจ่ายให้อีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย จะได้รับเงินเท่ากัน

ผู้ตรวจราชการกรมกล่าวกรณีที่การคำนวณเงินสมทบที่คำนวณเป็นรายวันว่า เนื่องจากว่าเงินสมทบที่นำมาคำนวณสิทธิประโยชน์ให้ใช้ฐานค่าจ้างสูงสุดที่ผู้ประกันตนนำส่งเข้ามา นำมารวมกัน 3 – 5 เดือน หากค่าจ้างไม่เท่ากัน จะนำมารวมกันแล้วหาร 90 วัน เป็นค่าจ้างต่อวัน ถ้าเป็นค่าจ้างเฉลี่ย 3 เดือนสูงสุดและนำไปคูณจำนวน 90 วัน ลูกจ้างที่เงินเดือน 15,000 บาท เท่ากันทุกเดือนสามารถออกมาเท่ากันได้ แต่บางคนได้รับค่าครองชีพหรือเงินอื่นๆที่ถือเป็นเงินค่าจ้างนำส่งเข้ามาด้วย จึงจะดูแต่ฐานเงินเดือนอย่างเดียวไม่ได้ ทั้งนี้ หลังจากสำนักงาน ฯ ที่ได้รับแจ้งจากหน่วยปฏิบัติจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีการนำจำนวนนายจ้างที่รับรองเหล่านั้นนำมาบริหารจัดการวินิจฉัยจ่ายเงินให้โดยเร็ว เพื่อทุกคนจะได้รับเงินครบถ้วน อาจจะมีการล่าช้าบ้าง ซึ่งการใช้มาตรา 75 อาจจะมีระยะเวลารอ เพราะต้องส่งให้สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานตรวจสอบ ก่อนจะมีการส่งกลับมาให้วินิจฉัยจ่ายเงินให้

จากนั้น ผู้อำนวยการสำนักเงินสมทบ อธิบายการลงทุนในส่วนเงินทุนประกันสังคม ในส่วนของการลงทุน 2.03 ล้านล้านบาท ร้อยละ 82 นำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง คือ พันธบัตรรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ พันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน อีกร้อยละ 18 ลงทุนในหน่วยลงทุนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน infrastructure คือ ทองคำ และหน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ผู้ประกันมั่นใจเสถียรภาพและความมั่นคงของกองทุนฯ มีความพร้อมและเพียงพอที่จะจ่ายสิทธิประโยชน์ทุกๆกรณี ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมนั้น มีผลการลงทุนเฉลี่ยย้อนไป 10 ปีอยู่ที่ร้อยละ 3.8 โดยเฉลี่ย ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายองค์กรของประเทศ นอกจากนั้นยังมีคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจาก กลต. ธนาคารแห่งประเทศไทย และองค์กรสำคัญของประเทศ

ในส่วนการคืนเงินสมทบนั้น ลดอัตราเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 และลดอัตราเงินสมทบให้กับสถานประกอบการ จากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 4 โดยเงินเดือน 15,000 จะได้คืน 600 บาทต่อเดือน จำนวน 3 เดือน คือ 1,800 บาท กรณีสถานประกอบที่ได้หักเงินสมทบในอัตราเดิมในเดือนเมษายน จะได้คืนให้ผู้ประกันตนที่หักไว้เกิน หากยังไม่ได้ส่งเงินนายจ้างจะนำคืนลูกจ้างเลย หากนำส่งประกันสังคมแล้ว จะคืนให้กับนายจ้างดำเนินการต่อไป มาตรการลดอัตราเงินสมทบนี้ จะทำให้มีเงินกลับเข้าไประบบของผู้ประกันตนทั้งระบบ 17,000 กว่าล้านบาท

ในช่วงท้าย เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเพิ่มเติมถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลว่า สำนักงานประกันสังคมดูแลผู้ป่วยจากโควิด-19 เทียบเท่ากันกับกองทุนข้าราชการหรือกองทุน สปสช. อย่างเต็มที่ โดยกองทุนประกันสังคมพร้อมดูแลและดำเนินการตามระเบียบในการเยียวยารักษาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วย ขอย้ำว่าเงินประกันสังคมเกิดจาก 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล จ่ายตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดบัญญัติ เพราะเป็นสิทธิประโยชน์ที่จะต้องดูแลพี่น้องประกันผู้ประกันตนอย่างเต็มที่ ขอย้ำให้มั่นใจว่าสำนักงานประกันสังคมมีเงินเพียงพอและอยู่ในสถานะที่มั่นคง

โฆษณา

“ประวิตร” สั่ง ก.แรงงานเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกด้านโดยเร็ว

People Unity News : รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมกระทรวงแรงงานและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง ในวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เวลา 10.00 น. วันแรงงานแห่งชาติ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมกระทรวงแรงงานและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง เพื่อขับเคลื่อนมาตรการในการให้ ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยมี หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทูร  ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

พลเอก ประวิตร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 รัฐบาลได้ระดมสรรพกำลังในการดูแลช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ซึ่งแรงงานเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และขอขอบคุณกระทรวงแรงงานที่ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และแรงงานต่างด้าว รวมถึงขอเน้นย้ำการทำงานเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ได้แก่

(1) การรักษาพยาบาลผู้ที่ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ขอให้สนับสนุนบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไวรัสโควิด – 19 ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว

(2) มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ว่างงาน ขอให้เร่งรัดการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วน ไม่ตกหล่น รวมทั้งให้มีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องของการฝึกอาชีพเพื่อยกระดับทักษะฝีมือและหางานให้ทำอย่างรวดเร็วที่สุด

(3) การเฝ้าระวังและการป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ขอให้ดำเนินการให้ครอบคลุมและรอบคอบ รวมทั้งขอให้ชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าวทุกขั้นตอน จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยให้ประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ จะต้องมีแผนรองรับหลังจากที่สถานการณ์ผ่อนคลายลง

(4) แรงงานในภาคประมง ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง  รวมทั้งการดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้น โดยขอให้บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและติดตามข่าวสารในช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหน่วยงานภาคประชาสังคม

(5) ในส่วนของการร่างพระราชบัญญัติธนาคารประกันสังคมและพระราชบัญญัติแรงงานนอกระบบ ขอให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ รับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มและคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ขอให้กำหนดมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน การพัฒนาทักษะ และการประกอบอาชีพในรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งส่งเสริมการรับงานไปทำงานที่บ้าน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมถึงบรรเทาภาระหนี้สินและค่าครองชีพของประชาชน

พลเอก ประวิตร กล่าวต่ออีกว่า ขอเป็นกำลังใจในการร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ขอให้กลุ่มแรงงาน และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานปลอดภัยจากไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) เพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พลเอก ประวิตร กล่าวตอนท้าย

โฆษณา

อีก 2 เดือนเปิดเทอม สาธารณสุขห่วงเด็กนักเรียน ครู อาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง

People Unity News : กระทรวงสาธารณสุข ย้ำหลังมาตรการผ่อนคลาย ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินควบคุมโรคโควิด 19 คงเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ จับตาทุกความเสี่ยงที่อาจทำให้ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาสูงอีกได้ กระตุ้นหน่วยงานรัฐ-เอกชน ออกแบบระบบ ทบทวนพฤติกรรมการทำงาน ระบบการเรียนการสอนสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม รองรับการทำงาน ยอมรับโควิด 19 ยังอยู่อีกนาน ต้องรอวัคซีนพร้อมเพื่อป้องกันโรค

บ่ายวานนี้ (28 เมษายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้จะมีมาตรการผ่อนคลายบางส่วน แต่ทีมสอบสวนควบคุมโรคและทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่อง จากนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรปรับแนวทางการทำงานที่จะไม่เหมือนเดิม อาทิ การทำงานจากบ้าน (Work from Home) อาจจะกลายเป็นความจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยง ภาครัฐควรจะทำให้ได้ถึงร้อยละ 70 ส่วนภาคเอกชนต้องพิจารณาว่าจะปรับส่วนไหนได้บ้าง ต้องจัดให้เหลื่อมเวลาการทำงาน ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง หรือชั่วโมงทำงานแต่ละวันที่ไม่เท่ากัน และต้องยึดหลักเกณฑ์ลดการสัมผัส ไม่สร้างการรวมกลุ่มที่จะเสี่ยงติดเชื้อให้เกิดขึ้นได้อีก เพราะเรายังต้องอยู่กับสถานการณ์โรคโควิด 19

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องไม่เพียงแต่การเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร การออกแบบทางวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรมที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันละอองฝอยของสารคัดหลั่ง การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของวัสดุ ระบบคัดกรองคนทำงาน การออกระเบียบให้คนทำงานสามารถหยุดงานได้โดยไม่นับเป็นวันลาป่วยหากมีอาการเข้าได้กับโควิด รวมทั้งการเข้มงวดเรื่องสิ่งป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สิ่งเหล่านี้จะต้องทำให้เป็นมาตรฐาน และทุกกิจการที่จะเข้าสู่การผ่อนคลายต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการควบคุมการติดเชื้อ และการป้องกันการแพร่กระจายเป็นสำคัญอีกด้วย

“จากนี้ไปอีกประมาณ 2 เดือนที่โรงเรียนจะกลับมาเปิดเรียนเป็นปกติ ยังเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยร่วมกันหลายส่วน แม้สถิติออกมาว่าเด็กไม่ค่อยแสดงอาการหากติดเชื้อ แต่ที่ห่วงคือ ครู อาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้สูงอายุในบ้าน หากเด็กรับเชื้อมาจากโรงเรียนแล้วมาแพร่ที่บ้านจะเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ท้าทาย อาจถึงเวลาที่ต้องมาวางแผนเรื่องการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม เพื่อไปสู่วิถีใหม่ทั้งการทำงานและการเรียน น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนเช่นกัน” นพ.ธนรักษ์กล่าว

โฆษณา

Verified by ExactMetrics