วันที่ 27 กรกฎาคม 2024

ร่วมรำลึก วันนวมินทรมหาราช ชวนชมนิทรรศการ “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย”

People Unity News : 12 ตุลาคม 2566 กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ร่วมสืบสานพระราชกรณียกิจ และเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านพลังงาน จัดกิจกรรมน้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติวันนวมินทรมหาราช “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” ชวนชมนิทรรศการโครงการตามแนวพระราชดำริอันเกี่ยวเนื่องกับกิจการพลังงาน 11-13 ต.ค. นี้ ที่สยามสเคป

พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ร่วมเปิดงานน้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติ วันนวมินทรมหาราช “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” ซึ่งกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 สยามสเคป กรุงเทพฯ

พลอากาศเอก ชลิต กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เปรียบดั่ง “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” ทรงสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จากหลากหลายโครงการที่ทรงริเริ่ม เป็นรูปเป็นร่างขึ้นด้วยพระปรีชาสามารถ และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล โดยเฉพาะโครงการตามพระราชดำริอันหลากหลาย และโครงการด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นแนวทางในการวางนโยบายด้านพลังงานของประเทศจวบจนถึงปัจจุบัน พระมหากรุณาธิคุณนี้เป็นที่ประจักษ์ และน้อมนำมาสืบสานพระราชปณิธาน ด้วยการปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ และคำสอนของพระองค์ บนหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกร ก่อให้เกิดประโยชน์ และช่วยให้ประเทศไทยพัฒนารุ่งเรืองจวบจนปัจจุบัน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณอันล้ำเลิศด้านพลังงาน ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการโครงการตามแนวพระราชดำริอันเกี่ยวเนื่องกับกิจการพลังงาน รวม 5 โครงการ ได้แก่ พลังน้ำ พลังชีวภาพ พลังทดแทน พลังทรัพย์ในดิน และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการแสดงดนตรีบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ และการมอบหนังสือ “พลังแผ่นดิน” แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และโรงเรียนเครือข่ายโครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 20 แห่ง

นอกจากนี้ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2566 กฟผ.เขื่อนภูมิพล ได้ร่วมกับอำเภอสามเงา และประชาชนจังหวัดตาก จัดกิจกรรมน้อมรำลึกเนื่องในวันนวมินทรมหาราช โดยจัดพิธีตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล การปลูกป่าและปล่อยพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ พิธีวางพวงมาลาและถวายบังคม การเพาะเนื้อเยื่อพันธุ์ต้นไม้ทรงปลูกของพ่อ (Tissue Culture) และการจุดเทียนชัยน้อมรำลึก และยังเตรียมกิจกรรม Open House ให้เยาวชนและนักเรียนเข้าศึกษาดูงานและเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในเขื่อนของ กฟผ. โดยสามารถลงทะเบียนจองเข้าเยี่ยมชมตั้งแต่บัดนี้จนถึงตลอดปี 2567

Advertisement

ผบ.ทบ.นำ รด.จิตอาสา 3 แสนนาย ร่วม ”เราทำความดี ด้วยหัวใจ”

People Unity News : 9 ตุลาคม 2566 ผบ.ทบ.นำ รด.จิตอาสา 3 แสนนายทั่วประเทศ จัดกิจกรรม “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เนื่องในวันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม 2566 ถวายเป็นพระราชกุศล

พลเอกเจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก เปิดกิจกรรม รด.จิตอาสา 3 แสนนาย เราทำความดี ด้วยหัวใจ ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 2566 และ เป็นการแสดงออกถึงความเสียสละ อุทิศตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

โดยมีนักศึกษาวิชาทหารปีการศึกษา 2566 จำนวน 316,000 นาย ทั่วประเทศ ร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาในรูปแบบต่างๆ อย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมตามความสมัครใจ เช่น การพัฒนาภูมิทัศน์สถานที่ต่าง ทั้งในชุมชน โรงเรียน  ศาสนสถาน โรงพยาบาล  การพัฒนาแหล่งน้ำ คู คลอง และการมอบสิ่งของให้ผู้ป่วยเจ็บ และยากไร้

ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้โอวาทนักศึกษาวิชาทหาร และกล่าวเปิดกิจกรรม รด.จิตอาสาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานโครงการจิตอาสา พระราชทานด้วยทรงมุ่งหวังให้พสกนิกรชาวไทยปรองดอง สามัคคี ร่วมมือร่วมใจประกอบกิจกรรมสาธารณะโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และเพื่อให้มีความรักความผูกพันต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่นักศึกษาวิชาทหาร 3 แสนนายทั่วประเทศได้ร่วมกันทำกิจกรรม และ แสดงพลังแห่งความจงรักภักดี

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่านักศึกษาวิชาทหารจะเป็นคนที่ดีของสังคม และเป็นกำลังพลสำรอง ที่มีคุณภาพในอนาคตต่อไป พร้อมย้ำว่า การเปิดกิจกรรมจิตอาสาในวันนีั ถือเป็นกิจกรรมเริ่มต้นที่กองทัพบกได้ดำเนินการ เนื่องในวันนวมินทรมหาราชปีนี้ และจะทำอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนตุลาคม

Advertisement

กำหนดให้วันที่ 13 ต.ค. เป็นวันนวมินทรมหาราช

People Unity News : 26 กันยายน 2566 ทำเนียบรัฐบาล – ที่ประชุม ครม.เห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 13 ต.ค.ของทุกปี เป็นวัน “นวมินทรมหาราช” น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9

นายชัย วัชรงค์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมรับทราบและนำประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องพระราชทานชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 7 ปี หรือเรียกว่า “สัตตมวรรษ” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่รัฐบาลขอพระราชทานพระมหากรุณา จึงเห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าว

Advertisement

“หมอชลน่าน” สุดปิติเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ในหลวงพระราชทานกำลังใจ ทรงชมนายกฯ เป็นคนเก่ง

People Unity News : 5 กันยายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล – รมว.สธ.สุดปิติเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ในหลวงพระราชทานกำลังใจ ทรงชมนายกฯ เป็นคนเก่ง พร้อมสานต่องานเดิมที่ดีอยู่แล้ว ยึดประชาชนเป็นหลักทำงาน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเข้าเฝ้า ฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ว่า ครั้งนี้เป็นการเข้าถวายสัตย์เป็นครั้งที่ 2 ของตน ต้องเรียนด้วยความเคารพว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปฏิสันถารที่ทำให้คณะรัฐมนตรีมีกำลังใจอย่างมาก ทรงมีพระราชกระแสตรัสให้กำลังใจ หลังจากถวายสัตย์เสร็จสิ้นพระองค์ได้เดินเข้ามาหานายกรัฐมนตรีด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้ม และพูดให้กำลังใจท่านนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ได้ดี พระองค์ท่านยังทรงชมนายกรัฐมนตรีว่าเชื่อมั่นว่าเป็นคนเก่งอยู่แล้ว และทรงมีพระสรวล เราเองก็มีความปิติ ตามที่เราได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ ว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประเทศชาติและบ้านเมือง และปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกประการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการเข้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุข ว่า มั่นใจในการทำงาน เพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบนโยบายชัดเจนว่าเราคือรัฐบาลของประชาชน เราคำนึงถึงประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ดังนั้น กลไกในการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงสาธารณสุข อะไรที่ยึดโยงกับประชาชนดีอยู่แล้วเราก็ทำต่อไป อะไรที่ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อตอบสนองของประชาชนได้ดีขึ้นก็ต้องดำเนินการ เข็มจึงมุ่งอยู่ที่ประชาชน ทั้งสุขภาวะร่างกายจิตใจ รวมถึงสติปัญญา

“ส่วนที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุขร่วมมือถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีความเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง โดยเฉพาะในช่วงแรกที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกระทรวงเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล เราตั้งใจมุ่งมั่นที่จะใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ รวมถึงต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไอที จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง” นพ.ชลน่าน กล่าว

Advertisement

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี แล้ว

People Unity News : 2 กันยายน 2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 22 สิงหาคม พุทธศักราช 2566 แล้ว นั้น

บัดนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบต่อไปแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรองนายกรัฐมนตรี

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายสุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่ง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายจักรพงษ์ แสงมณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายไชยา พรหมา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายอนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นางมนพร เจริญศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

Advertisement

ประชาชนลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช

People Unity News : 25 มิถุนายน 2566 วัดราชบพิธฯ – ประชาชนลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช ที่วัดราชบพิธฯ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ

บรรยากาศที่พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร มีประชาชนมาร่วมลงนามถวายสักการะหน้าพระรูป “สมเด็จพระสังฆราช” เนื่องในโอกาสงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566 โดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า เข้าถวายเครื่องสักการะและลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19-25 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00-16.00 น. โดยจะได้รับพระรูปของสมเด็จพระสังฆราช และหนังสือพุทธศาสนสุภาษิต ที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ เป็นที่ระลึกด้วย โดยประชาชนที่มาร่วมลงนาม และร่วมทำบุญ พร้อมตั้งจิตทำสมาธิและตั้งใจน้อมนำคำสอนมาปรับใช้

ส่วนวันที่ 26 มิ.ย. ตามกำหนดการจัดงาน “การจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2566” นายกรัฐมนตรี พร้อมภริยา จะเป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระกุศล ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระนามเดิม อัมพร ประสัตถพงศ์ ฉายา อมฺพโร เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงเริ่มดำรงตำแหน่งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

Advertisement

รัฐบาลเชิญชวนประชาชนลงนามถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราช

People Unity News : 22 มิถุนายน 2566 รัฐบาลเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วน ลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และทำสมาธิเจริญจิตภาวนาถวายเป็นพระกุศล เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า เข้าถวายเครื่องสักการะและลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยกำหนดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 – 16.00 น.

ในโอกาสนี้ สำนักพระราชวัง ได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการทำสมาธิเจริญจิตภาวนาถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. ของวันที่ 17 มิถุนายน 2566 – เวลา 08.00 น. ของวันที่ 26 มิถุนายน 2566 เพื่อเป็นการปฏิบัติสมาธิเจริญจิตภาวนาส่วนตัวของแต่ละบุคคล ในเวลาและสถานที่สุดแต่สะดวก โดยปฎิบัติเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ต่อวัน เพื่อถวายพระกุศล

พร้อมกันนี้วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ยังได้เปิดให้เข้าบริจาคโดยเสด็จพระกุศลเพื่อสร้างและตั้งกองทุนสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ และรับปูชนียมงคลวัตถุ พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ “อายุวัฒน์” และจองพระพุทธวรายุวัฒนศาสดา ได้ที่อาคารภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ 1 (อาคารหน้าวัดด้านซ้ายของพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม) ทุกวันตั้งแต่วันที่ 19 – 30 มิถุนายน และทุกวันเสาร์-อาทิตย์ของเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 เวลา 13.00 – 17.00 น. สำหรับพระกริ่งและพระชัยวัฒน์อายุวัฒน์ ผู้โดยเสด็จพระกุศลสามารถรับไปในวันที่บริจาคบูชา ส่วนพระพุทธวรายุวัฒนศาสดา ผู้โดยเสด็จพระกุศลสามารถรับได้ในเดือนธันวาคม โดยเจ้าหน้าที่ที่รับจองจะได้ประสานงานแจ้งรายละเอียดกำหนดการรับ ณ ที่จองต่อไป

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกำหนดขอบเขตการจัดงาน ตลอดปี 2566 และกำหนดชื่อการจัดงานเป็นภาษาไทยว่า “การจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2566” และชื่อการจัดงานเป็นภาษาอังกฤษว่า “Celebrations on the Occasion of His Holiness Somdet Phra Ariyavongsagatayana the Supreme Patriarch of Thailand ’s 96th Birthday Anniversary 26th June 2023”

รวมทั้งการกำหนดการจัดกิจกรรมและโครงการสำคัญต่าง ๆ ที่หน่วยงานต่าง ๆ เสนอมาเพื่อดำเนินการเนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ด้วย

ทั้งนี้ในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 เวลาประมาณ 07.15 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมภริยา จะเป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระกุศล งานฉลองพระชนมายุ 8 รอบสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566  ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยพระสงฆ์จากโครงการบรรพชาอุปสมบท จำนวน 97 รูป เดินรับบิณฑบาต สำหรับส่วนภูมิภาค ดำเนินการจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแจ้งสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลดำเนินการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

Advertisement

เตรียมเสนอพระนามในหลวง ร.9 ให้ยูเนสโกประกาศยกย่อง

People Unity News : 6 มิถุนายน 2566 ครม. เห็นชอบเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การยูเนสโกประกาศยกย่อง ร่วมเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบหลักการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ประกาศยกย่อง และร่วมเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570 โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่างเอกสารเสนอพระนามต่อองค์การ UNESCO ต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการประชุมหารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น มีมติเห็นชอบการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การ UNESCO ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570 เนื่องจากทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อประเทศไทย ทรงอุทิศพระองค์เพื่อปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกร

“พระราชกรณียกิจของพระองค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และการดำเนินงานขององค์การ UNESCO ทั้ง 5 ด้าน คือ การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ตลอดจนมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมสันติภาพ ความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนานาชาติและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ให้การยอมรับในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ยกร่างข้อมูลเพื่อเสนอพระนามฯ ให้องค์การ UNESCO โดยจะต้องจัดส่งเอกสารการเสนอพระนามฯ ภายในปี 2567 เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การ UNESCO เพื่อพิจารณาภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ก่อนที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การ UNESCO พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในเดือน พฤศจิกายน 2568 2.เตรียมการด้านต่างๆ โดยได้จัดทำร่างแผนการดำเนินงานการเสนอพระนามฯ เพื่อให้การดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้อง ตามหลักเกณฑ์และกำหนดการขององค์การ UNESCO” นายอนุชา กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยมีบุคคลสำคัญที่ได้รับการประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง โดยองค์การ UNESCO เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันประสูติ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566

Advertisement

ชุมชนเขตพระนคร-ทบ.จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ วันฉัตรมงคล

People Unity News : 4 พฤษภาคม 2566 กองทัพบก ร่วมกับชุมชนเขตพระนคร จัดกิจกรรม “ชุมชนเขตพระนคร และกองทัพบก ร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล ประจำปี 2566” ณ วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง (บางขุนพรหม)

วันนี้ (4 พ.ค.66) เวลา 08.00 น. กองทัพบก โดยสำนักงานเลขานุการกองทัพบก ร่วมกับชุมชนเขตพระนคร จัดกิจกรรม “ชุมชนเขตพระนคร และกองทัพบก ร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล ประจำปี 2566” โดยมี พันเอก ฐิต์รัชช์ สมบัติศิริ รองเลขานุการกองทัพบก เป็นผู้แทนกองทัพบก นำกำลังพล พร้อมด้วยภาคเอกชน ส่วนราชการ และประชาชนในเขตพระนคร ร่วมกิจกรรม ณ วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง (บางขุนพรหม)

ภายในงาน ประกอบด้วย พิธีห่มผ้าหลวงพ่อโต และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี สืบเนื่องจากวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามธรรมเนียมเดิม ในเดือน 6 (ตรงกับเดือนพฤษภาคม) กองทัพบก ร่วมด้วยชุมชนเขตพระนคร จึงจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ตลอดจนให้ประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนรอบกองบัญชาการกองทัพบก ได้มีส่วนร่วมกับกองทัพบกในการจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนกับทหาร ก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา และร่วมมือสนับสนุนภารกิจของกองทัพบก ในอันที่จะพิทักษ์ไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน

Advertisement

ตั้ง รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ เพิ่มอีก 6 แห่ง

People Unity News : 2 พฤษภาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบรายงานความก้าวหน้ายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปี 66 ตั้งเพิ่ม 6 แห่ง กระจายการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพทุกภูมิภาค

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 เห็นชอบในหลักการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (จ.ภ.) ประจำเขตตรวจราชการ จำนวน 6 แห่ง และให้ปรับปรุงแก้ไขจังหวัดเขตพื้นที่บริการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนและบริบทเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม ระบบราชการ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปีงบฯ 2565 – 2569)

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเสนอรายงานความก้าวหน้าว่าได้ดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าว โดยจัดทำแนวทางการพัฒนาจัดตั้ง จ.ภ. 6 แห่ง โดยกำหนดพื้นที่จังหวัดสำหรับการจัดตั้ง จ.ภ. ในพื้นที่เขตตรวจราชการ 6 เขตตรวจฯ ที่ยังไม่มี จ.ภ. ตั้งอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่เขตตรวจราชการที่กำหนดไว้ และได้ปรับปรุงเขตพื้นที่บริการของ จ.ภ. จากเดิมที่มีพื้นที่รับนักเรียนจำนวน 7-8 จังหวัดต่อ 1 โรงเรียนให้เป็นจำนวน 4-5 จังหวัดต่อ 1 โรงเรียนเพื่อให้การเข้าถึงโอกาสของนักเรียนในจังหวัดต่าง ๆ มีการกระจายอย่างทั่วถึง

“เดิมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยมีจำนวน 12 แห่ง และได้กำหนดเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และลำปาง แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและกระจายการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทยให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นจึงได้มีการเพิ่มจัดสรรใหม่อีก 2 แห่ง คือ ในจังหวัดสระแก้ว และ กำแพงเพชร ทำให้จะมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 18 แห่งทั่วประเทศไทย โดยในงบประมาณปี 2566 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง ตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ลำปาง สระแก้ว สุพรรณบุรี และอุบลราชธานี ให้เป็นสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษในสังกัด สพฐ. ตั้งแต่ชั้น ม. 1-6 รับนักเรียนประเภทประจำโดยมีเขตพื้นที่บริการตามที่ สพฐ. กำหนด” น.ส.ทิพานัน กล่าว

Advertisement

 

Verified by ExactMetrics