วันที่ 3 กรกฎาคม 2025

ธนาคารโลกเตือนหนี้ประเทศยากจนพุ่ง 12% เฉียด $9 แสนล้าน แนะประเทศร่ำรวยยื่นมือช่วย

People Unity News : ธนาคารโลกเตือน หนี้ประเทศยากจนพุ่ง 12% เฉียด $9 แสนล้าน เมื่อปีที่แล้ว

14 ตุลาคม 2564 ประธานธนาคารโลก เดวิด มอลพาสส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รายงานของธนาคารโลกว่าด้วยตัวเลขหนี้ระหว่างประเทศประจำปี 2022 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางกำลังมีความเสี่ยงในเรื่องหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยยื่นมือเข้าช่วยซึ่งรวมถึงการลดหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้และการเพิ่มความโปร่งใส

นายมอลพาสส์ กล่าวว่า เวลานี้ครึ่งหนึ่งของประเทศยากจนทั่วโลกต่างมีปัญหาหนี้ต่างประเทศ และจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านั้นสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและลดปัญหาความยากจนได้

รายงานของธนาคารโลกเปิดเผยด้วยว่า หนี้ต่างประเทศของประเทศรายได้ต่ำและปานกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5.3% ในปี ค.ศ. 2020 เป็น 8.7 ล้านล้านดอลาร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาค

นายมอลพาสส์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประเทศยากจนเหล่านั้นถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากโครงการผัดผ่อนหนี้ Debt Service Suspension Initiative (DSSI) ของประเทศกลุ่มจี-20 กำลังจะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้

ที่มา VOA

Advertising

พิษสงครามยูเครน เศรษฐกิจเยอรมนีดำดิ่ง SME กระทบหนักสุด

People Unity News : 18 ตุลาคม 2565 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเยอรมนีถือเป็นต้นแบบของเสถียรภาพและความแข็งแกร่งมายาวนาน แต่วิกฤตพลังงานที่มีชนวนมาจากสงครามยูเครนพ่วงด้วยภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ได้ผลักให้แดนอินทรีเหล็กดำดิ่งในวิกฤตและสะท้อนถึงความไม่แน่นอนในอนาคตได้

มาร์เซล แฟรตส์เชอร์ ประธานสถาบัน German Institute for Economic Research เปิดเผยกับวีโอเอว่า “สงครามยูเครนและวิกฤตพลังงานกระทบกระเทือนเยอรมนีอย่างหนัก เพราะเยอรมนีพึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศ เมื่อราคาปรับพุ่งสูงขึ้น ได้ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีดิ่งลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย”

บรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเยอรมนี โดยเมื่อปี 2020 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจ้างงานชาวเยอรมันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่ธุรกิจกลุ่มนี้กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตล่าสุด

ยาน ชมีเดอร์-บัลลาเดอร์ เจ้าของธุรกิจเบเกอรีซึ่งมีพนักงาน 20 คน เลอ โบร็ต ในเมืองนอยเคิร์น ชานกรุงเบอร์ลิน บอกกับวีโอเอว่า “ความท้าทายสำคัญที่เราเผชิญในตอนนี้คือความไม่แน่นอนของราคาพลังงาน เงินเฟ้อที่พุ่งสูง และภาวะไฟฟ้าดับที่อาจเกิดขึ้นในฤดูหนาวปีนี้ ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น 30% ไปแล้ว เราคาดว่าราคาพลังงานจะไปต่ออีก 100% แน่นอน แต่นั่นขึ้นกับฤดูหนาวที่จะมาถึงประกอบกับทิศทางการเมืองในช่วงนั้นด้วย”

ผู้บริโภคเองต่างได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการไม่อาจแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจนต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าไป

เจ้าของธุรกิจเบเกอรี เลอ โบร็ต เสริมว่า “เราพยายามลดต้นทุนและเปิดรับลูกค้าทั้งหมดแล้ว แต่แน่นอนว่าเมื่อเราปรับราคา ลูกค้าก็หดหายไป”

ที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีประกาศมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้บริโภคหลายอย่าง แต่ผลพวงการสงครามยูเครนที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน กดดันให้เยอรมนีเผชิญกับความท้าทายใหญ่ที่จะมาถึง

แฟรตส์เชอร์ เพิ่มเติมว่า “ความท้าทายที่ใหญ่กว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงปีหน้าเท่านั้น แต่จะยิงยาวไปราว 5-10 ปี เนื่องจากเยอรมนีกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในหลายมิติ บริษัทต่าง ๆ ในเยอรมนีต้องเตรียมรับกับการเสียเปรียบทางการค้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ จีน และเกาหลีใต้ ที่ไม่เผชิญกับการปรับขึ้นของราคาพลังงานมากเท่ากับบริษัทเยอรมนี”

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ ประเมินว่า ครัวเรือนเยอรมันที่มีรายได้ 39,000 ดอลลาร์ หรือราว 1,486,000 บาทต่อปี จะเจอกับต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นราว 4,800 ดอลลาร์ หรือราว 183,000 บาทต่อปีทีเดียว นั่นหมายความว่า ต้นทุนพลังงานจะส่งผลกระทบครัวเรือนรายได้น้อยและปานกลางอย่างมาก

ชมีเดอร์-บัลลาเดอร์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “ทุกธุรกิจเจอกับความท้าทายกันทั้งนั้น แต่หากไม่เดินหน้าต่อก็เท่ากับว่าต้องปิดกิจการหรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นแทน แต่หากทำเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับเหล่าพนักงานที่ถูกลอยแพ เพราะธุรกิจเบเกอรีของเราจ้างงานถึง 20 ชีวิต และนั่นหมายถึงรายได้หาเลี้ยงครอบครัวของพวกเขา สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป”

ระหว่างฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังผ่านพ้นไปและฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามาเยือน เยอรมนียังต้องเตรียมรับมือกับอนาคตที่ไม่มีแน่นอนมากกว่าที่เป็นมาในรอบหลายปีต่อไป (ที่มา: วีโอเอ)

Advertisement

จีนใช้ ‘เศรษฐกิจแบบกิ๊ก’ กระตุ้นจ้างงาน

Female labors work in a cloth factory which export to European Union in Huaibei, Anhui province, East China on 13th October 2015.

People Unity News : 9 กรกฎาคม 2565 จีนวางแผนกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบกิ๊ก (gig economy) หรือระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการจ้างงานแบบชั่วคราว เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน

แนวปฏิบัติจากกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคม รวมถึงหน่วยงานรัฐบาลอีก 4 แห่ง เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.) ระบุการรวมข้อมูลการรับสมัครงานปลีกย่อย (odd job) ไว้ในขอบเขตของบริการข้อมูลการจ้างงานสาธารณะ การส่งเสริมการฝึกอบรมผู้หางานชั่วคราว โดยเฉพาะอาชีพใหม่และอาชีพที่ต้องการแรงงานสูง

นอกจากนั้นแนวปฏิบัติข้างต้นระบุว่าจีนจะพยายามปราบปรามการปฏิบัติอันผิดระเบียบในตลาดเศรษฐกิจแบบกิ๊ก เพื่อคุ้มครองสิทธิของเหล่าแรงงานในระบบเศรษฐกิจนี้ให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จีนออกสารพัดนโยบายในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือบรรดาผู้หางาน ซึ่งรวมถึงนักศึกษาและแรงงานต่างถิ่น ได้มีงานทำ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการจ้างงานในประเทศ

Advertisement

‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สูงสุดรอบ 28 ปี หวังสกัดเงินเฟ้อ พร้อมส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอีกในการประชุมครั้งหน้า

People Unity News : 16 มิ.ย. 65 ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ที่ระดับ 1.5-1.75% ในวันพุธ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 ปี เพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ต้องประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานคณะผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงข่าวหลังการประชุมด้านนโยบายเป็นเวลาสองวันว่า เป้าหมายในการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อดึงระดับเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งต่อไป แต่สิ่งที่ชัดเจนขึ้นตอนนี้ ก็คือ หลายปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้กำลังมีบทบาทสำคัญขึ้นมา

แม้ว่าเฟดจะฉีดยาแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ในวันพุธ เฟด คาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% และจะชะลอตัวสู่ระดับ 2.6% และ 2.2% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ

นอกจากนี้ เฟด ยังปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจว่าจะขยายตัวที่ 1.7% ในปีนี้ พร้อมคาดว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นที่ 3.7% ภายในสิ้นปีนี้ และจะปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 4.1% ในอีก 2 ปีข้างหน้า

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50-0.75% ในการประชุมครั้งหน้า แต่ไม่คาดหมายว่าระดับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้จะกลายเป็นความปกติ

Advertisement

ประยุทธ์ เข้าร่วมประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 พร้อมรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC

People Unity News : ประยุทธ์ พร้อมเข้าร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 และรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC ต่อจากศรีลังกา

วันนี้ (28 มีนาคม 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นโดยศรีลังกา และนายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา เป็นผู้กล่าวในช่วงพิธีเปิดการประชุม ในวันที่ 30 มีนาคม 2565 เวลา 09.50 น. ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นายธนกร กล่าวว่า บิมสเทค (BIMSTEC) เป็นกรอบความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ภายใต้การริเริ่มและผลักดันของไทย เพื่อสอดรับนโยบายมองตะวันตก (Look West) ของไทย เข้ากับนโยบายมองตะวันออก (Look East) ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และ Act East ของอินเดีย โดย ไทย เคยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2557

การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 ศรีลังกาในฐานะเจ้าภาพ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “BIMSTEC- Towards a Resilient Region, Prosperous Economies, Healthy Peoples”  หรือ “บิมสเทค มุ่งหน้าสู่อนุภูมิภาคที่ยืดหยุ่น มั่งคั่ง และประชาชนมีสุขภาพดี” ซึ่งการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนประเทศไทย จะร่วมพิธีรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC ให้แก่ไทย พร้อมร่วมรับชมวิดีโอเปิดตัวการเป็นประธาน โดยไทยจะเป็นประธาน BIMSTEC วาระ 2 ปี ช่วงปี 2565-2566 ต่อจากศรีลังกา โดยประเด็นที่ไทยต้องการผลักดันในช่วงการดำรงตำแหน่งประธาน อาทิ การสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายและวิกฤตรูปแบบต่างๆ และความสามารถในการฟื้นตัว เป็นต้น และในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงในนามผู้นำรัฐบาลไทยอีกด้วย

Advertising

ผู้นำเอเปค รับข้อเสนอ ABAC มุ่งสร้างความเชื่อมโยง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

People Unity News : 18 พฤศจิกายน 2565 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้นำเอเปค รับข้อเสนอภาคเอกชน ABAC หวังร่วมมือฟื้นเศรษฐกิจเอเปค หวั่นหลายปัจจัยคุกคามเอเปค จากกับดักเงินเฟ้อ วิกฤตอาหาร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมหารือเต็มคณะระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Leaders’ Dialogue with ABAC)

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ABAC กล่าวว่า  ปัจจุบันความท้าทายต่างๆ เป็นภัยคุกคามที่ทุกเขตเศรษฐกิจต้องเผชิญร่วมกัน จึงเน้นย้ำการร่วมมือกันอย่างจริงจัง เน้นการป้องกันการติดอยู่ในกับดักเงินเฟ้อ วิกฤตอาหาร อำนวยความสะดวกทางการค้า ดำเนินการตามเศรษฐกิจ BCG รับมือกับโรคระบาด การเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม สนับสนุนความเชื่อมโยงและไร้รอยต่อ ภายใต้มาตรฐานและแนวปฏิบัติร่วมกัน รวมถึงการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค สนับสนุน MSMEs โดยเฉพาะ รวมถึงการพัฒนาและนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาใช้

จากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ ABAC สำหรับข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และปฏิบัติได้จริง สะท้อนข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจว่า เอเปคจะต้องดำเนินการเรื่องต่างๆอย่างไรต่อไป ซึ่งการหารือจะเป็นโอกาสดีที่จะได้สานต่อความร่วมมือ โดยใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาร่วมกันของภูมิภาค โดยเอเปคมีคุณลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ อาทิ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อหาทางออกไปด้วยกัน รวมทั้งความสำเร็จของเอเปคในปีนี้ เป็นผลมาจากการรับข้อเสนอแนะของ ABAC มาขับเคลื่อนในเอเปค

“โดยเฉพาะแผนงานต่อเนื่องหลายปีสำหรับวาระเรื่อง FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) รวมทั้งการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยได้บรรลุผลเป็นรูปธรรม ช่วยฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ นอกจากนี้ ยังเสนอการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนวาระการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และครอบคลุม สอดคล้องกับการขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของ ABAC” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผลงานของ ABAC ปีนี้ ส่งเสริม สอดคล้องกับการดำเนินงานของเอเปคเป็นอย่างดี พร้อมขอให้ใช้ประโยชน์จากการหารือกลุ่มย่อย เพื่อนำข้อเสนอของเอแบคไปสู่นโยบายที่สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างอนาคตของภูมิภาคที่ยั่งยืนและครอบคลุม

Advertisement

“มหาสมุทรแห่งพลาสติก” ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

People unity news online : 14 เมษายน 2560 voathai.com ได้เผยแพร่สารคดีชุด “มหาสมุทรแห่งพลาสติก” นำเสนอปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ว่า ขยะพลาสติกแปดล้านตันถูกทิ้งลงทะเลทั่วโลกทุกปี

ขยะพลาสติกที่เสื่อมสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจำนวนมหาศาล ลอยเคว้งคว้างในมหาสมุทรต่างๆทั่วโลก

ทีมงานถ่ายทำสารคดี A Plastic Oceans หรือ “มหาสมุทรแห่งพลาสติก” ​ได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อบันทึกภาพขยะพลาสติกเหล่านี้

Julie Anderson แห่ง Plastic Oceans Foundation กล่าวว่า “ขยะพลาสติกที่พบเป็นเพียงเเค่ส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น ครึ่งหนึ่งของขยะพลาสติกจมลงสู่ก้นทะเล และขยะพลาสติกที่เหลือจะลอยอยู่ใกล้ผิวหน้าทะเล โดยเสื่อมสลายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแต่ยังคงสภาพความเป็นพลาสติกอยู่”

ทีมถ่ายทำสารคดีพบ “แพขยะ” ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ถูกกักรวมในปริมาณที่เข้มข้น อยู่ในวังวนของกระเเสน้ำทะเลในมหาสมุทรต่างๆ ทั้งมหาสมุทรแอตเเลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรเเปซิฟิก

Adam Leizig โปรดิวเซอร์ของสารคดีเรื่องนี้ กล่าวว่า ทีมงานพบว่ากลางมหาสมุทรแปซิฟิก มีขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่เสื่อมสลายเป็นชิ้นขนาดเล็กจิ๋วเเขวนตัวอยู่ใต้น้ำหรือใกล้ๆกับผิวน้ำเต็มไปหมด

ขยะพลาสติกชิ้นขนาดจิ๋วเหล่านี้เป็นมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร บางครั้งอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ยังมีขยะพลาสติกที่เสื่อมสลายเป็นชิ้นเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และทำปฏิกิริยากับสารมลพิษอื่นๆในน้ำทะเล

Adam Leizig กล่าวว่า สารโลหะหนักชนิดต่างๆ ยารักษาโรค และสารเคมีจากภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยลงสู่ทะเล สารเคมีเหล่านี้จะไปเกาะติดกับชิ้นส่วนพลาสติกขนาดจิ๋วในทะเล เมื่อสัตว์ทะเลกินพลาสติกเป็นอาหาร สารเคมีอันตรายเหล่านี้จะเข้าไปสั่งสมในเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นไขมันของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ซึ่งกลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ และคนเราในที่สุด

จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม เป็นชาติที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด ส่วนสหรัฐอเมริกา เเม้ว่าจะเป็นประเทศผู้นำด้านการรีไซเคิ่ลขยะ เเต่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 20 ชาติสร้างขยะมากที่สุดทั่วโลก เพราะเป็นผู้ผลิตและใช้พลาสติกในปริมาณมาก

และเเม้ว่าจะมีความพยายามในประเทศต่างๆทั่วโลกในการเเก้ปัญหา อย่างเช่นในเลบานอน ที่เพิ่งเปิดศูนย์แยกขยะรีไซเคิ่ลแห่งใหม่ แต่ Julie Anderson แห่ง Plastic Oceans Foundation กล่าวว่ายังมีงานที่ต้องทำอีกมาก

เธอกล่าวว่า “คนทั่วไปมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยการลดการใช้ขยะพลาสติกชนิดที่ใช้ครั้งเดียวเเล้วทิ้ง เช่น ถุงพลาสติก หลอดดูด ขวดน้ำพลาสติก เเก้วพลาสติก และหันไปใช้วัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม” (รายงานโดย Michael O’ Sullivan / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)

“มหาสมุทรแห่งพลาสติก” ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

People unity news online : post 17 เมษายน 2560 เวลา 23.33 น.

WHO เตือนประชากรโลกเผชิญ ‘มลพิษทางอากาศ’ รุนแรง โดยเฉพาะประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง

People Unity News : 5 เมษายน 65 เมื่อวันจันทร์ (4 เม.ย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าประชากรโลกเกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 99 สูดอากาศที่มีมลพิษเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

แม้ปัจจุบันเมืองมากกว่า 6,000 แห่งใน 117 ประเทศจะเฝ้าติดตามคุณภาพอากาศ แต่ประชาชนในเมืองเหล่านั้นยังคงสูดดมอนุภาคขนาดเล็กและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับอันตราย โดยประชาชนในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางเผชิญผลกระทบดังกล่าวสูงสุด

องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และใช้มาตรการอันเป็นรูปธรรมอื่นๆ เพื่อลดมลพิษในอากาศ โดย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ชี้ว่าราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูง ความมั่นคงทางพลังงาน และการเร่งรับมือความท้าทายจากมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เน้นย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการก้าวสู่โลกที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลงเร็วขึ้น

อนึ่ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะพีเอ็ม2.5 (PM2.5) สามารถแทรกซึมเข้าปอดและกระแสเลือด ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีความเกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหอบหืด

องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อมที่ป้องกันได้สูงเกิน 13 ล้านราย ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจำนวน 7 ล้านราย

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก แนะนำการสร้างระบบและเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและราคาย่อมเยา ซึ่งเหมาะสมกับคนเดินเท้าและคนขี่จักรยาน การลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพทางพลังงาน การจัดการขยะของเสียที่ดีขึ้น การลดการเผาขยะทางการเกษตรและกิจกรรมวนเกษตรบางส่วนอย่างการผลิตถ่านไม้ เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศและสุขภาพ

Advertisement

ลาวตั้งเป้าช่วย ‘สองแสนครอบครัว’ หลุดพ้นจากความยากจน

People Unity News : 26 มีนาคม 65 รัฐบาลลาวตั้งเป้านำพาครอบครัวชาวลาวหลุดพ้นจากความยากจนเพิ่มอีก 204,360 ครอบครัว ในช่วงปี 2021-2025

หากทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย  ลาวจะมีครอบครัวที่หลุดพ้นจากความยากจนทั้งหมด 1,168,509 ครอบครัว และมี 71,193 ครอบครัวที่ยังคงถูกจัดว่าเป็นผู้ยากจน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.74 ของทั้งหมด

ลาวรายงานเป้าหมายดังกล่าวระหว่างการประชุมประจำปีว่าด้วยการประเมินการพัฒนาชนบทและการบรรเทาความยากจนในปี 2021 เพื่อร่างแผนการดำเนินงานสำหรับปี 2022

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์เป็นเวลาสองวันตั้งแต่วันพุธถึงพฤหัสบดี (23-24 มี.ค.) ในนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว โดยมี คำม่วน คำพูแก้ว รักษาการอธิบดีสำนักงานพัฒนาชนบทและสหกรณ์ สังกัดกระทรวงเกษตรและป่าไม้ เป็นประธานการประชุม และมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานฯ ระดับแขวงหลายแห่งเข้าร่วม

ผู้เข้าร่วมการประชุมต่างพูดถึงความสำเร็จของตนในปีที่ผ่านมา และหารือถึงความท้าทายที่พวกเขาประสบและวิธีจัดการกับความท้าทายเหล่านั้น

ในอดีต หมู่บ้านที่ยังไม่พัฒนาและหมู่บ้านในพื้นที่ชายแดนถือเป็นเป้าหมายในการพัฒนาของลาว

คำม่วนกล่าวว่า ลาววางแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งฝึกอบรมด้านการเกษตรและปศุสัตว์แก่คนท้องถิ่น เพื่อให้พวกเขาปรับปรุงวิถีชีวิตให้ดีขึ้นได้

การประชุมยังหารือเรื่องแผนช่วยปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวยากจน 204,360 ครอบครัว  ช่วงปี 2022-2025  โดยในช่วงปี 2016-2020 มี 85,655 ครอบครัวในลาวหลุดพ้นจากความยากจนแล้ว ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.64 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 148,592 ครอบครัว

ประชากรลาวมากกว่าหนึ่งในสามอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและมีอัตราความยากจนสูง เนื่องจากอาศัยอยู่ห่างไกลและมีการเข้าถึงที่จำกัด โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนและกลุ่มผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภูเขา

รายงานระบุว่า การเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ตลาด โรงพยาบาล โรงเรียน และน้ำสะอาด ทำให้ประชาชนลาวเสี่ยงประสบความยากจนมากยิ่งขึ้น

Advertising

ประชากรโลกแตะหลัก 8,000 ล้านคน!

People Unity News : 16 พฤศจิกายน 2565 สหประชาชาติประเมินว่า ประชากรโลกจะมีจำนวนราว 8,000 ล้านคนในวันอังคารนี้ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกามากที่สุด

หนึ่งในประเทศเหล่านั้นคือ ไนจีเรีย ที่ซึ่งทรัพยากรต่างๆค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว โดยปัจจุบันประชากรมากกว่า 15 ล้านคนในกรุงลากอส เมืองหลวงของไนจีเรีย ต้องแย่งชิงกันใช้ทรัพยากรต่างๆ ตั้งแต่ไฟฟ้า น้ำประปา ไปจนถึงระบบขนส่งมวลชน ขณะที่ เด็กนักเรียนไนจีเรียจำนวนมากต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อให้ทันไปโรงเรียนท่ามกลางการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักทุกวัน

สหประชาชาติคาดว่า ประชากรไนจีเรียจะเพิ่มขึ้นจาก 216 ล้านคนในปีนี้เป็น 375 ล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐฯ

ไนจีเรีย เป็นเพียงหนึ่งใน 8 ประเทศที่ยูเอ็นระบุว่า มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกทั้งหมดระหว่างปี 2022 – 2050 โดยอีก 7 ประเทศ ได้แก่ คองโก เอธิโอเปีย แทนซาเนีย อียิปต์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และอินเดียที่คาดว่าจะแซงจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปีหน้า

รายงานของยูเอ็นฉบับนี้ยังคาดการณ์ว่า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,500 ล้านคนภายในปี 2030 และถึง 9,700 ล้านคนภายในปี 2050 ก่อนจะเพิ่มถึง 10,400 ล้านคนภายในปี 2100

รายงานของสหประชาชาติ “Day of 8 Billion” ที่เผยแพร่ในวันอังคาร สำรวจปัญหาในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการเจาะจงถึงปัญหาที่แท้จริงซึ่งมาพร้อมกับหลักไมล์ใหม่ของจำนวนประชากรโลก โดยชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มภัยคุกคามต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ล้าหลัง ตั้งแต่การจัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค การศึกษา การทำงาน และความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

รายงานชี้ว่า “จำนวนประชากรในประเทศแถบทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา คาดว่า จะเพิ่มขึ้นสองเท่าระหว่างปี 2022 – 2050 ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อทรัพยากรที่มีจำกัด และท้าทายการวางแผนนโยบายเพื่อลดปัญหายากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศเหล่านั้น”

ดร.ศรีนาธ เรดดีย์ ประธานองค์กร Public Health Foundation of India กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรส่งผลให้มีประชาชนมากขึ้นที่ต้องแย่งชิงทรัพยากรน้ำ และทำให้ครอบครัวจำนวนมากขึ้นที่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหาร เพิ่มแรงกดดันต่อสิ่งแวดล้อม และท้าทายความมั่นคงทางอาหาร

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ภัยคุกคามสำคัญที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม คือ การบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่จำนวนประชากรมิได้เพิ่มขึ้นมากนัก

อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนประชากรในหลายประเทศกำลังเพิ่มขึ้น แต่รายงานของยูเอ็นชี้ว่า มีอย่างน้อย 61 ประเทศที่จำนวนประชากรมีอัตราลดลงราว 1%

ข้อมูลของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ระบุว่า ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีจำนวนประชากรราว 333 ล้านคน โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ระดับเพียง 0.1% ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ (ที่มา: เอพี)

Advertisement

Verified by ExactMetrics