วันที่ 12 กรกฎาคม 2025

นายกฯ สั่ง 7 มาตรการ รับมือผลกระทบชายแดนไทย-กัมพูชา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 มิถุนายน 2568 นายกฯ ระบุสถานการณ์อิหร่าน-อิสราเอล ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก พร้อมสั่งการ 7 มาตรการ รับมือผลกระทบชายแดนไทย-กัมพูชา ในทุกด้าน ยันรัฐบาลไม่มีนโยบายตอบโต้ การเปิด-ปิดด่านชายแดน เพื่อหวังผลทางการเมือง

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆระหว่างประเทศจากสถานการณ์ความขัดแย้งของอิหร่านและอิสราเอล มีผลที่จะขยายวงกว้างออกไปและส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจการเมือง สังคม และยังไม่มีกรอบระยะเวลาที่แน่นอนว่าจะจบเมื่อไหร่ ส่งผลต่อการเจรจาของหลายๆประเทศต่อนโยบาย รวมถึงการเจรจาภาษีทางการค้ากับสหรัฐฯ ด้วย จากเดิมที่กำหนดไว้ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งทางฝ่ายไทยได้เริ่มเจรจาแล้วหนึ่งรอบ กับคณะทำงานของสหรัฐฯ ซึ่งจากนี้จะมีการแถลงเพิ่มเติม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณและราคาพลังงาน การเงิน การคมมนาคม การท่องเที่ยว ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชาที่ได้สั่งการให้คณะรัฐมนตรีทุกคนร่วมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมหามาตรการรองรับ เพื่อจะให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด และขอยืนยันอีกครั้งว่าสถานการณ์เช่นนี้เสถียรภาพของรัฐบาลและความสามัคคีของคนในชาตินั้นสำคัญมาก จึงขอให้คณะรัฐมนตรีทุกคนทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจและแก้ไขปัญหาอย่างทันการ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ ด้านแรกคือ เรื่องของภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามประเทศ ซึ่งตามรายงานของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนไทยกัมพูชา ได้สั่งการให้ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการและขอย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายในการตอบโต้ การเปิดปิดด่านชายแดนเพื่อหวังผลทางการเมือง แต่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยได้เตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนบริเวณชายแดนไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้าเกษตร โดยได้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่าจะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ซึ่งมีมาตรการรองรับไว้อยู่แล้ว จากภาคเอกชนและภาครัฐด้วย

ด้านของความมั่นคงและพลังงานกระทรวงพลังงานกำหนดมาตรการการรับมือ สำหรับพลังงานสำรองและมาตรการช่วยเหลือประชาชนในหากมีภาวะการขาดแคลน รวมถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งต้องหามาตรการไว้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจการเงินและปัญหาหนี้สินของประชาชน โดยให้กระทรวงการคลังกำหนดมาตรการและเป้าหมายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในทุกระดับโดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าของประเทศ

ส่วนเรื่องของราคาพืชผล ให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตร เร่งหามาตรการแก้ไขเร่งด่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของราคาข้าวที่ต้องเร่งสนับสนุนและมีมาตรการเยียวยาเกษตรกรให้แล้วเสร็จโดยเร็วและเรื่องของการลักลอบนำเข้าสินค้าเถื่อนของจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะส่งผลกระทบให้ราคาพืชผลเกษตรบ้านเรานั้นตกต่ำ

ขณะที่ปัญหายาเสพติดให้กระทรวงกลาโหม บูรณาการการทำงานระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บัญชาการตำรวจทุกจังหวัด กำหนดมาตรการให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นและต่อเนื่องจากมาตรการซีลสต็อปเซฟ (Seal Stop Safe)

ส่วนการท่องเที่ยว ให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ปรับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเน้นย้ำมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวด้วย

ค่าแรงขั้นต่ำให้กระทรวงแรงงาน เร่งนำมาตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาพิจารณาเร่งด่วน เพื่อให้ทันการขึ้นค่าแรงในในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้

Advertisement

ผลโพลส่วนใหญ่หนุนสันติวิธี แก้ปัญหาไทย–กัมพูชา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 มิถุนายน 2568 ผลโพล ชี้ประชาชนส่วนใหญ่หนุนสันติวิธี 67.9% ต้องการเห็นการเจรจาแก้ปัญหาไทย–กัมพูชา พร้อมเห็นด้วยกับแนวทางรัฐบาล 55% ที่เน้นนโยบายสันติวิธี

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยนอร์ทกรุงเทพโพล เรื่อง “ความขัดแย้งระหว่างไทย–กัมพูชา” พบว่า ประชาชน 68.1% ทราบข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เป็นอย่างดีและติดตามข่าวสม่ำเสมอ

ขณะเดียวกัน ได้สอบถามผู้สำรวจถึงแนวทางแก้ไขความขัดแย้งว่า ควรดำเนินการเช่นไรมากที่สุด ซึ่งประชาชนผู้ให้สำรวจลงความเห็นว่า เน้นเจรจาด้วยสันติวิธี 67.9% ทำสงคราม 25.4% และไม่มีความเห็น 6.7%

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงความเห็นต่อการดำเนินนโยบายโดยใช้แนวทางสันติวิธีของนายกรัฐมนตรี พบว่ามีประชาชนเห็นด้วย 55% โดยมองว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม

“ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความห่วงใยและการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ยึดหลักสันติวิธี ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและธำรงไว้ซึ่งอธิปไตยของประเทศอย่างมั่นคง” นางสาวศศิกานต์ กล่าว

Advertisement

นายกฯ ลั่นไทยมีศักดิ์ศรี ไม่ยอมให้ใครข่มขู่ ซัดกัมพูชาเล่นนอกกรอบข้อตกลง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 16 มิถุนายน 2568 “แพทองธาร” นายกฯ ลั่นไทยมีศักดิ์ศรี-เข้มแข็ง ไม่ยอมให้ใครข่มขู่ กลั่นแกล้ง ซัดกัมพูชาเล่นสงครามข่าวสารนอกกรอบข้อตกลง ลั่นใครไม่เคารพกติกาจะไม่ถูกยอมรับจากทั่วโลก พร้อมตั้ง “บิ๊กเล็ก” หัวหน้าทีมเฉพาะกิจ ย้ำไม่รับเขตอำนาจศาลโลก ยอมรับสื่อสารออกสู่สาธารณะน้อย เพราะเคารพกรอบทวิภาคี เผยส่งข้อความถึง “ฮุน มาเนต” ดึงประชุม RBG จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเรียกหน่วยงานความมั่นคงเข้าประชุมที่บ้านพิษณุโลก เพื่อติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

โดยระบุว่าที่ประชุมวันนี้ได้มีการพูดถึงการประชุม JBC เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นผลสำเร็จที่ได้มีการพูดคุยกันและได้ยอมรับกรอบ ส่วนรายละเอียดเป็นไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้แถลงการณ์ไปแล้ว

นอกจากนี้ที่ประชุมวันนี้ยังมีการพูดคุยกันในทุกระดับ ตั้งแต่หน้างาน มาจนถึงนายกรัฐมนตรี เป็นการพูดคุยติดต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง และวันนี้ยังได้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อติดตามสถานการณ์ซึ่งเป็นทีมไทยแลนด์ หลังจากนี้จะให้พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้นำทีม ติดตามข้อมูลข่าวสารและดำเนินการทั้งหมด

ส่วนเรื่อง ICJ หรือศาลโลก ประเทศไทยไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลโลก ตอนนี้เราได้มีการตั้งทีมทำงานเช่นกัน เพื่อดูว่าเราจะปกป้องและตั้งรับอย่างไร และหาข้อมูลว่าเราจะสามารถปกป้องประเทศได้อย่างไร หรือตอบโต้อย่างไรได้บ้าง ซึ่งจะต้องมีกรอบในการทำงานนี้ โดยขณะนี้เรากำลังศึกษาในเรื่องข้อกฎหมาย รวมถึงประวัติศาสตร์ ยืนยันมีข้อมูลไว้ครบหมดแล้ว นี่เป็นความคืบหน้าของการประชุมในวันนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ออกมาประกาศเตรียมปิดทุกด่านพนมแดน หากไทยยังไม่ยกเลิกมาตรการกำหนดเวลาเปิด-ปิดด่าน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จริงๆ แล้วเราไม่ได้ปิดด่าน เพียงแต่เรากำหนดเวลาเปิด-ปิด ซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อมีการปะทะเกิดขึ้น ทางไทยได้ทราบจากเพจกลาโหมกัมพูชา ซึ่งได้มีการตกลงกันแล้ว และหลังมีการตกลงกันว่าจะปรับกำลังที่ประชุม สมช.ในวันนั้นก็ได้มอบอำนาจให้กองทัพประเมินสถานการณ์ว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์ แต่หลังคุยกัน เพจกลาโหมกัมพูชาได้ออกมาบอกว่าจะไม่มีการถอยกำลัง เราจึงกำหนดเวลาเปิด-ปิดด่าน ซึ่งทางกัมพูชาก็มีการกำหนดเวลาเช่นกัน ต่างฝ่ายต่างกำหนดเวลา และตนอยากบอกว่าได้มีการพูดคุยกันมาตั้งแต่ 28 พฤษภาคม กับพลเอกฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีการตกลงเป็นความเห็นร่วมกันว่าเราต้องการสันติภาพ ให้เกิดขึ้นระหว่างสอง ประเทศ ไม่ต้องการความขัดแย้ง แต่ต้องการรักษาชีวิตประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ไม่ต้องการเสียเลือดเนื้อของทหารด้วย นี่คือสิ่งที่เห็นตรงกัน ซึ่งคุยกันมาเรื่อยๆและตนก็พยายามคุยในกรอบ ของทวิภาคี นั่นคือกรอบการคุยระหว่างประเทศ ที่ทุกประเทศเมื่อมีการติดต่อสื่อสารกัน เราต้องมีกรอบความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อให้เป็นไปตามกลไกระหว่างประเทศ แต่การคุยกันหลังไมค์ก็มีแน่นอน แต่สิ่งที่สื่อสารออกมาผ่านโซเชียลมีเดียที่นอกกรอบอยู่เรื่อยๆ เป็นการสื่อสารที่ไม่เป็นมืออาชีพ ทำให้เกิดความวุ่นวาย ทั้ลสิ่งที่คุยหลังไมค์และคุยอย่างเป็นทางการ ตนคิดว่าการสื่อสารแบบนี้ทำให้เกิดผลลบกับทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งข้อความที่ทางกัมพูชาได้โพสต์ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ทั้งไทยและกัมพูชา การที่จะประกาศถึงการปิดด่านหรือเรื่องใดๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อประะชาชนทั้ง 2 ประเทศ เรามีความห่วงใยทั้งเรื่องการค้าขาย การส่งผักผลไม้ หากมีการปิดด่านจะกระทบทั้งหมดอยู่แล้ว เราจึงไม่ได้ปิดด่าน แค่ปรับเวลา และตนได้แจ้งทางกัมพูชาแล้วว่าตนจะมีประชุมในวันนี้ก่อนเพื่อรายงานผลว่าเราจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

และวันนี้ตนได้ส่งข้อความถึงนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเพื่อเสนอในจัดประชุม RBC เป็นการประชุมระดับกองทัพทั้ง 2 ประเทศ เพื่อพูดคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ซึ่งตนได้เห็นข้อความที่ทางกัมพูชาโพสต์ในเฟซบุ๊คแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในกรอบ

เมื่อถามว่าจากปฏิกริยาหลังการประชุม JBC ที่ผ่านมา เหมือนกำลังใช้ทวิภาคีในการแก้ปัญหา ขณะที่กัมพูชากลับแสดงท่าทีไม่จริงใจที่จะคุยแบบทวิภาคี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม JBC เราประชุมด้วยกันทั้งคู่ ถือว่ายอมรับกรอบของ JBC เราคุยร่วมกัน ต้องการสันติภาพร่วมกัน จะทำอย่างไรได้บ้างสันติภาพจึงจะเกิดขึ้น ตนมองว่า JBC ไม่มีปัญหาอะไร เป็นไปตามแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ ในเนื้อความได้มีการชี้แจงทุกอย่างแล้ว ไม่ได้ติดขัดว่าจะพลิกล็อค

เมื่อถามว่าดูเหมือนทางกัมพูชากำลังเล่นสงครามด้านข่าวสาร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการสื่อสารแบบนี้ ไม่ได้เกิดผลดีกับทั้ง 2 ประเทศ การปล่อยข่าว หรือข่าวที่ออกมาในหลายๆครั้ง ก็เคยมีการตกลงกันแล้ว ว่าอย่าเพิ่งปล่อยข่าวออกมา เพราะเราต้องคุยกันก่อนว่าจะเอาอย่างไร เพราะคนที่อยู่หน้างานกับคนที่รับฟังข่าวสารเป็นคนละคนกัน เพราะฉะนั้นแล้ว เราทำอะไร ตัดสินใจอะไร หรือให้สัมภาษณ์อะไรออกไป ต้องเห็นใจคนหน้างานด้วยว่าตรงนั้นเป็นอย่างไร และเกิดอะไรขึ้นบ้าง และการที่เรากำหนดเวลาเปิด-ปิดด่านในตอนแรก เพราะพบว่ามีการติดตั้งอาวุธระยะไกล มีอาวุธหนักที่เริ่มออกมาเยอะขึ้น เพราะมีประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นจำนวนมากทั้ง 2 ประเทศ การที่เอาอาวุธขนาดใหญ่ออกมาแบบนั้น หากเราไม่กำหนดเวลาแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา อาจเกิดความเสียหายได้

ส่วนจะทำอย่างไรให้โลกรู้ว่าไทยพยายามใช้กลไกทวิภาคีในการเจรจา นายกรัฐมนตรี ทุกอย่างมีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งการประชุม JBC หรือสิ่งที่ตนเสนอไปในตอนนี้ จะเป็นระดับ GBC หรือ RBC ก็ได้ ขอให้มาคุยกันแบบมีการบันทึก ไม่ใช่แค่คุยกันแล้วแยกย้าย แต่การพูดคุยทั้งหมดถูกจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร โลกสามารถรับรู้ได้ว่าเราพูดคุยอะไรกันบ้าง และในช่วงบ่ายวันนี้กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญทูตทั้งหมดในประเทศไทย เข้ามารับฟังการชี้แจง และก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการเชิญทูตกัมพูชา 2คน เข้ามาพูดคุยว่าเราต้องการทำอย่างไร รัฐบาลเคลื่อนไหวมาตลอด

“แต่สิ่งที่เราอาจจะทำน้อยกว่าเขา คือการสื่อสารออกสู่สาธารณะ เพราะเราเคารพในการเจรจาระหว่างประเทศ เราเคารพกรอบของทวิภาคี เราเคารพ เราให้เกียรติทั้ง 2 ประเทศ ว่าสิ่งที่คุย ควรเป็นสิ่งที่เป็นทางการ และอยู่ในกรอบของทวิภาคี นั่นคือสิ่งที่เมื่อทุกประเทศมีการติดต่อสื่อสารกัน ต้องยึดกรอบของทวิภาคีเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้ามีการสื่อสารที่ไม่เป็นทางการเกิดขึ้นตลอดเวลาอย่างมากมาย เราก็ต้องบอกว่าจุดยืนของเราไม่เคยยั่วยุ หรือพูดเพื่อให้เกิดการปะทะใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ“ นายกรัฐมนตรี ระบุ

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ตนเป็นนายกรัฐมนตรีถ้าอยู่ตรงนี้ และเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงบริเวณชายแดน นั่นแปลว่าตนต้องรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หากตนต้องตกลงในการปะทะก็แปลว่าต้องมีการคุยกับทหาร ว่าพร้อมหรือไม่ เราอยู่ในสถานะไหน เขาอยู่ในสถานะไหน ไม่ใช่พอมีเรื่องแล้วจะจุดให้ไฟติดได้เลย นี่คือกรอบที่เราต้องยึด แต่แน่นอนว่าการปล่อยข่าวหรือข้อมูลที่ไม่เป็นทางการออกมา และส่งผลกระทบ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศ

ส่วนจะทำอย่างไรในเมื่อกัมพูชายังใช้สงครามข้อมูลข่าวสารในลักษณะนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องชี้แจง คนไทย ประเทศไทย นายกรัฐมนตรีและกองทัพ ที่ประชุมในทุกวันนี้เห็นตรงกันในทุกส่วน กองทัพก็คิดเหมือนรัฐบาลว่าต้องปกป้องอธิปไตยของเราไว้ แต่ทำอย่างไร ให้ยืดระยะเวลาการปะทะ การเสียเลือดเนื้อออกไป แต่ยังคงรักษาอธิปไตยไว้ได้ นี่คือเสียงที่ตรงกันของรัฐบาลและกองทัพ

“ใครจะปล่อยว่าข่าวว่า โห ตีกัน ยืนยันว่าไม่เคยตีกัน ตอนนี้ทั้งกองทัพ และรัฐบาล เห็นตรงกันว่าจะทำอย่างไร ดิฉันก็ให้เกียรติกองทัพเสมอ เพราะเป็นคนหน้างานและรู้เรื่องอาวุธทุกอย่าง ดิฉันคุยหลังไมค์อย่างไรก็เช็คกับกองทัพทุกครั้ง ว่าจะเดินอย่างไรแล้วจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ นี่คือสิ่งที่ทำเสมอกองทัพก็เช่นกัน ได้ปรึกษากับรัฐบาลตลอดว่าอะไรทำได้ หรือไม่ได้ ดิฉันขอย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลกับกองทัพ ไม่เคยมีปัญหาและขอให้ทุกคนช่วยกันซัพพอร์ตกองทัพและรัฐบาลให้เป็นหนึ่งเดียสกัน เพราะวันนี้เราไม่ได้ต่อสู้กันเอง เรารักษาอธิปไตยของเราไว้ เราพูดในข้อความที่ตรงกัน และสามารถพูดได้ว่าประเทศไทยเป็นปึกแผ่น”

ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีพูดด้วยน้ำเสียงขึงขัง ว่า “เราจะไม่ยอมให้ใครมากลั่นแกล้ง ใส่ร้าย หรือขู่ เราก็เป็นประเทศที่มีศักดิ์ศรีเช่นกัน เราก็เป็นประเทศที่แข็งแรงเช่นกัน จุดนี้จะทำให้ทุกคนรู้ว่าถ้าไม่เคารพกฎกติกา ก็จะไม่ถูกยอมรับโดยทั่วโลก”

Advertisement

 

กต. ย้ำไทยใช้กลไกทวิภาคี ยึดประโยชน์ประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 มิถุนายน 2568 โฆษก กต. ย้ำไทยมุ่งมั่นใช้กลไกทวิภาคีแก้ปัญหาความขัดแย้ง วางแนวทาง 3 เรื่องหลักเจรจา JBC ยึดประโยชน์ของประเทศและคนไทยเป็นที่ตั้ง

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงประจำสัปดาห์ ว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2568 ฝ่ายไทยได้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission: JBC) (ฝ่ายไทย) ครั้งที่ 2 (สืบต่อจากการประชุมฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2568) เพื่อเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมการประชุม JBC ซึ่งรัฐมนตรีฯ ได้แถลงข่าวในเรื่องนี้แล้ว

ก่อนจะมีการประชุมฯ รัฐมนตรีฯ ได้มอบนโยบายในการเจรจา โดยย้ำแนวทาง 3 เรื่องที่จะเป็นหลักการสำหรับทีมงานของฝ่ายไทย ดังนี้

1.การลดความตึงเครียดและทำให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

2.การทำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเรื่องของเส้นเขตแดน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

3.การยืนหยัดที่จะปกป้องอธิปไตยของไทย โดยไม่ยอมให้ไทยเสียดินแดนโดยเด็ดขาด

ขอย้ำว่า ฝ่ายไทยมุ่งมั่นที่จะใช้กลไกทวิภาคีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุด และเป็นที่ยอมรับตามธรรมเนียมปฏิบัติสากลที่เมื่อสองประเทศมีความเห็นไม่ตรงกัน นานาประเทศก็จะสนับสนุนให้ใช้กลไกทวิภาคี และความตกลงที่ทั้งสองประเทศมีอยู่แล้วในการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นวิธีหาทางออกระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

โดยกลไกทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

1.คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC)

2.คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) และ

3.คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC)

ซึ่งไทยจะใช้ทั้ง 3 กลไกนี้ ควบคู่กันไปในการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา

นอกจากนี้ ไทยและกัมพูชายังมีความตกลงระหว่างกันคือ บันทึกความเข้าใจ หรือ Memorandum of Understanding (MoU) ปี 2543 ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกซึ่งเป็นสนธิสัญญา ซึ่งหมายความว่า สองฝ่ายได้เจรจาตกลงกันแล้ว จึงมีผลบังคับทางกฎหมายกับทั้งสองฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตาม

กลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) เป็นกลไกที่เป็นผลลัพธ์สำคัญของ MOU 2543 ที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกัน และจะมีการประชุม JBC ในวันที่ 14 มิถุนายน 2568 โดยกลไกดังกล่าว คือ กลไกทวิภาคีหลักในการเจรจาประเด็นทางเทคนิคและข้อกฎหมายด้านเขตแดนกับฝ่ายกัมพูชา เพื่อให้เกิดการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างกัน จึงถือได้ว่าเป็นเวทีหารือเรื่องเขตแดนไทยกับกัมพูชาโดยเฉพาะ

ดังนั้น JBC จึงมีองค์ประกอบคณะที่ประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและความเชี่ยวชาญทางเทคนิคด้านเขตแดน และมีการประชุมมาแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง ครั้งล่าสุด จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2555 และจะมีการประชุมครั้งต่อไปในอีก 2 วันข้างหน้านี้ ที่กรุงพนมเปญ ซึ่งปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ 25 ปีของ MOU

หนึ่งในข้อกำหนดสำคัญของ MOU 2543 คือ การอำนวยความสะดวกให้การสำรวจตลอดแนวเขตแดนทางบกร่วมกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล และให้ทั้งสองฝ่ายงดเว้นการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน โดยขณะนี้ การดำเนินการของ JBC ภายใต้ MOU ดังกล่าว ยังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ทราบ ซ่อมแซม และจัดทำหลักเขตแดน 73 หลัก และยังมีภารกิจอีกมากรออยู่ข้างหน้า

คณะกรรมาธิการฯ ฝ่ายไทยได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถอย่างมาก โดยมีนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เป็นประธาน ซึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศด้านเขตแดน ขณะที่กรรมธิการทรงคุณวุฒิคนอื่น มีทั้งมาจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กองทัพไทย และหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเข้าร่วมการประชุม JBC ในครั้งนี้ด้วย ในส่วนของกัมพูชา มีประธานคณะกรรมาธิการฯ คือ นายฬำ เจีย (Lam Chea) รัฐมนตรีรับผิดชอบกิจการชายแดน หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการกิจการชายแดนแห่งกัมพูชา

สำหรับความตั้งใจของฝ่ายกัมพูชาที่จะใช้กลไกของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(International Court of Justice: ICJ) ประเทศไทยประกาศไม่ยอมรับเขตอำนาจของ ICJ มาตั้งแต่ปี 2503 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั่วโลกมีอีก 118 ประเทศ รวมประเทศไทยอีก 1 ประเทศ เป็น 119 ประเทศ (จากประเทศสมาชิก UN ทั้งหมด 193 ประเทศ) ที่ไม่ยอมรับเขตอำนาจของ ICJ นั่นคือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศสมาชิก UN ที่ไม่ยอมรับเขตอำนาจของ ICJ จึงขอย้ำว่า ไทยจะยึดมั่นแก้ไขปัญหาผ่านกลไกทวิภาคี ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ตกลงกันตั้งแต่แรกกับกัมพูชา

คณะผู้แทนไทยที่จะเดินทางไปประชุมกับฝ่ายกัมพูชาครั้งนี้ หรือไม่ว่าจะครั้งไหนหรือกลไกทวิภาคีใด ผู้แทนไทยพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ด้วยความรู้ความสามารถที่มีอยู่

กระทรวงการต่างประเทศยืนยันในหลักการการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ และยึดผลประโยชน์ของประเทศและคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยจะรายงานความคืบหน้าและผลการประชุม JBC ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อเป็นโอกาสไขข้อสงสัยเกี่ยวกับกระแสข่าวต่าง ๆ ที่เผยแพร่อย่างกว้างขวางในโซเซียลมีเดียในขณะนี้ เพื่อให้ช่วยกันเผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

Advertisement

ไทยไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลโลก ย้ำขอใช้กรอบ JBC

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 มิถุนายน 2568 รัฐบาลออกแถลงการณ์กรณีไทย-กัมพูชา ยืนยันประเทศไทยไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลโลกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 จนถึงปัจจุบันแล้ว ย้ำขอใช้กรอบ JBC ในทุกระดับแก้ปัญหาระหว่างกัน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังเกิดแหตุการณ์ที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมานั้น เวลา 16.30 น. รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์กรณีดังกล่าว เป็นฉบับที่ 2 ดังนี้

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปะทะที่บริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ทั้งสองฝ่ายได้หารือและตกลงกันที่จะใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Border Commission: JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (General Border Committee: GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC) บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นผลมาจากการหารือระหว่างผู้บัญชาการทหารบกของทั้งสองฝ่าย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2568

ทั้งนี้ ตามที่กัมพูชาแสดงความตั้งใจที่จะใช้กลไกของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) นั้น

ประเทศไทยประกาศไม่ยอมรับในเขตอำนาจของ ICJ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 จนถึงปัจจุบัน โดยทั้งสองฝ่ายมีกลไกทวิภาคีในการจัดการประเด็นปัญหาชายแดนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ตกลงกันตั้งแต่แรก สิ่งที่สำคัญคือ ทั้งสองฝ่ายต้องแก้ไขปัญหาในบริเวณที่มีการกระทบกระทั่งกันเท่านั้น ไม่ขยายประเด็นปัญหาออกไป ซึ่งจะสร้างความซับซ้อนของปัญหามากขึ้น

ประเทศไทยไม่ต้องการเห็นฝ่ายใดได้รับความสูญเสียใดๆ และประเทศไทย-กัมพูชา มีกลไกเรื่องเขตแดนอยู่แล้ว ซึ่งกลไกดังกล่าว โดยเฉพาะการทำงานของ JBC ในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา ก็มีความคืบหน้าในหลายพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด ดังเช่นในกรณีของสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และบ้านสตึงบท ตำบลปอยเปต อำเภอโอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย) และการก่อสร้างสะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่ ไทย-กัมพูชา ที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด จังหวัดจันทบุรี กับบ้านปรม จังหวัดไพลิน กัมพูชา

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุม JBC ในวันที่ 14 มิถุนายน 2568 นี้ และหวังว่าฝ่ายกัมพูชาจะแสดงถึงความปรารถนาเช่นเดียวกันในการร่วมมือกับไทยในลักษณะที่สะท้อนเจตนารมณ์ร่วมกันของเราในสันติภาพ เสถียรภาพ และการเคารพซึ่งกันและกัน

Advertisement

นายกฯ เน้นความสำคัญเอกภาพของอาเซียนรับมือความท้าทายระดับโลก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 พฤษภาคม 2568 “แพทองธาร” นายกฯ เน้นความสำคัญของความเป็นเอกภาพของอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายระดับโลก ย้ำความร่วมมือจากอาเซียนสำคัญต่อการฟื้นฟูสถานการณ์ในเมียนมา ระบุไทยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของมาเลเซียในการหาทางออกที่สร้างสรรค์

วันนี้ (26 พ.ค. 68) เวลา 10.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 อย่างไม่เป็นทางการ ณ ห้อง Conference Hall 2 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม Kuala Lumpur Convention Center (KLCC) กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 แบบไม่เป็นทางการ ผู้นำอาเซียนได้หารือสถานการณ์ในภูมิภาคและระดับโลกที่อยู่ในความสนใจของประเทศสมาชิก

สำหรับไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่โลกกำลังเผชิญความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจที่ทวีความรุนแรง ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเผชิญความเสี่ยง และความเชื่อมั่นในระบบพหุภาคีกำลังลดลง

นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ท่ามกลางภาวะไม่แน่นอนและการแบ่งแยกที่เพิ่มขึ้น การส่งเสริมระบอบพหุภาคี เพื่อรักษาบทบาทเชิงยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ของอาเซียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาเซียนต้องหลีกเลี่ยงการถูกดึงเข้าไปในการแข่งขันในพื้นที่ขัดแย้ง แต่อาเซียนจะต้องขยายความร่วมมือ และทำหน้าที่เป็นสะพานที่สร้างความไว้วางใจ เพื่อให้แน่ใจว่าการเจรจาร่วมกันเหนือกว่าการแบ่งแยก และความร่วมมือระหว่างกันเหนือกว่าการเผชิญหน้า

นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ต้องเสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางและเอกภาพของอาเซียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อรักษาความสำคัญของกลไกที่นำโดยอาเซียน ในการส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมกับเสริมสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในเชิงยุทธศาสตร์ ผ่านการหารือกับทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงและสร้างสรรค์ โดยไทยจะทำงานร่วมกับสมาชิกอาเซียนและพันธมิตรต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าอาเซียนยังคงเป็นผู้เล่นระดับโลกที่มีความรับผิดชอบ และเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกฝ่าย

สำหรับประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาค นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อาเซียนต้องยืนหยัดเป็นเสียงเดียวกันในประเด็นสำคัญ และต้องยึดมั่นในค่านิยมหลักที่ปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะ แนวทางร่วมกันของอาเซียนต่อนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่สร้างสรรค์และมีเอกภาพ

ส่วนประเด็นทะเลจีนใต้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทะเลจีนใต้ยังคงเป็นจุดตึงเครียดที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำที่ยั่วยุ และหาทางแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี โดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับสถานการณ์ในตะวันออกกลางและยูเครน นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้มีการยุติการสู้รบทันที มีการคุ้มครองพลเรือนอย่างเต็มที่ รวมถึงการให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

ขณะที่สถานการณ์ในเมียนมา นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงความสำคัญของการฟื้นฟูสถานการณ์ในเมียนมา โดยเน้นว่าความร่วมมือจากอาเซียนยังคงมีความสำคัญในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติ ซึ่งไทยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของมาเลเซียในการหาทางออกที่สร้างสรรค์ในเมียนมา และการส่งเสริมความร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหว โดยประเทศไทยจะยังคงทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาและประธานอาเซียน เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงชายแดน และต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามพรมแดน เพื่อเสริมสร้างความพยายามของอาเซียนในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) พร้อมย้ำว่า การมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นในด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และภัยพิบัติทางธรรมชาติ

“ประเทศไทยเชื่อว่าอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิภาคที่สงบสุข มั่นคง และยั่งยืน โดยให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ใช้ช่วงเวลาของความไม่แน่นอนนี้เป็นโอกาสในการนำพาอาเซียนไปข้างหน้า ด้วยความเอกภาพ ความชัดเจนในเป้าหมาย และความมุ่งมั่นในการรักษาบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก” นายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

นายกฯ ย้ำเวที WHA78 ไทยเดินหน้ายุทธศาสตร์สุขภาพถ้วนหน้า

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 พฤษภาคม 2568 “แพทองธาร” นายกฯ ย้ำเวทีสมัชชาอนามัยโลก (WHA78) ไทยเดินหน้ายุทธศาสตร์สุขภาพถ้วนหน้า ชูสุขภาพคือรากฐานแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมใช้ดิจิทัลขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข มุ่งเป้าสู่ SDGs

เวลา 16.20 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งตรงกับเวลา 11.20 น. นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ณ สํานักงานองค์การสหประชาชาติ (Palais des Nations) นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาผ่านวิดีทัศน์ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 78 (the 78th World Health Assembly : WHA78) โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ประชาคมโลกต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน การกระชับความมุ่งมั่นร่วมกันในการขับเคลื่อนด้านสุขภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในขณะที่โลกกำลังเข้าใกล้ช่วงสุดท้ายของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าสุขภาพเป็นรากฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการพัฒนา การเสริมสร้างระบบสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และไม่เพียงแต่การมุ่งบรรลุเป้าหมายที่ 3 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับความยากจน การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย โดยประเทศไทยกำลังบูรณาการด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับนโยบายทั้งหมด เพื่อสร้างสังคมที่มีความยืดหยุ่น

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 โดยรัฐบาลได้ขยายการเข้าถึง ลดรายจ่ายได้มหาศาล และขณะนี้กำลังมุ่งหน้าสู่การพัฒนาระบบสุขภาพแบบบูรณาการ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงประชากรกลุ่มเปราะบาง และปรับปรุงความต่อเนื่องในการดูแลรักษา นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงพลังของเทคโนโลยีในการบริหารจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเน้นการใช้ข้อมูลเพื่อการตรวจพบในระยะเริ่มต้น และการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดีในวงกว้าง

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมุ่งยกระดับความพร้อมในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและภัยพิบัติธรรมชาติ พร้อมทั้งการบูรณาการสุขภาพจิตให้เข้ากับกลยุทธ์การฟื้นฟูและความสามารถในการฟื้นตัว โดยประเทศไทยยินดีต่อความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงว่าด้วยโรคระบาด ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของพหุภาคีในการสร้างโลกที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

ในด้านปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองและธรรมาภิบาลแบบมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐบาลภูมิใจที่กรุงเทพมหานคร เทศบาลเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา เทศบาลเมืองบ้านสวน จังหวัดชลบุรี และเทศบาลตำบลคลองชะอุ่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเมืองสุขภาพดีขององค์การอนามัยโลก (WHO Healthy Cities Network)

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ของประเทศไทยต่อองค์การอนามัยโลก ซึ่งความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างกัน มีรากฐานมาจากความเสมอภาค ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า “สุขภาพเป็นสินค้าสาธารณะระดับโลก” รวมถึงพร้อมสนับสนุนการปฏิรูประบบขององค์การอนามัยโลกและแสดงความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าบนเส้นทางนี้ร่วมกัน

อนึ่ง การประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 78 เป็นเวทีขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคม ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยในปีนี้จัดระหว่างวันที่ 19-27 พฤษภาคม 2568 ภายใต้หัวข้อหลัก คือ “One World for Health” โดยมีผู้แทนจาก 194 ประเทศสมาชิกเข้าร่วม เพื่อกำหนดนโยบายด้านสุขภาพระดับโลก รวมถึงวางแนวทางการรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพระดับโลก เช่น โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยมุ่งหวังให้ทุกประเทศร่วมมือกันสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืนและเท่าเทียมสำหรับประชาชนทั่วโลก

Advertisement

นายกฯเผยผลหารือกัมพูชา ทุกมิติประสบความสำเร็จ ปราบอาชญากรรมออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์ ฝุ่นควัน และพัฒนาแรงงาน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 25 เมษายน 2568 มิตรภาพ ไทย-กัมพูชา 75 ปี รัฐบาลกัมพูชาให้การต้อนรับผู้นำไทยอย่างสมเกียรติ ด้านการหารือทุกมิติประสบความสำเร็จ ทั้งการร่วมมือปราบอาชญากรรมออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์ ฝุ่นควัน และพัฒนาแรงงานร่วมกัน คาดกลางปีนี้ เปิดสะพานมิตรภาพแห่งใหม่ที่สระแก้วได้พร้อมจัดประชุมต่อเนื่องแก้ปัญหาในทุกมิติ

วานนี้ (24 เมษายน 2568) เวลา 10.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเวลาในกรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงผลการเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ในโอกาสครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างไทย – กัมพูชา ระหว่างวันที่ 23 – 24 เมษายน 2568 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปการให้สัมภาษณ์ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความประทับใจ ในการให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติของรัฐบาลกัมพูชา รวมทั้งในปีนี้เป็นปีครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ไทย – กัมพูชาที่ทั้ง 2 ประเทศพร้อมสานความสัมพันธ์อันดีนี้ต่อไป

หลังจากพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ วิมานสันติภาพ  นายกรัฐมนตรีได้หารือร่วมกับสมเด็จฯ ฮุน มาแนด นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในหลายประเด็นรวมถึงประเด็นกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไทยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จึงเห็นได้ว่าการที่ไทยเลือกติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในทุกๆมิติ ว่ามีความเคลื่อนไหวและความต้องการเพิ่มเติมใดบ้างเพื่อเตรียมข้อมูลให้ดีที่สุดในการเจรจาต่อไป

“ที่ผ่านมายังไม่ถึง 30 วัน มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เชื่อว่าสหรัฐฯ เองมีการติดตามดูการตอบรับจากทั่วโลกด้วย เพราะเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ทุกฝ่ายต้องจับตาดูสถานการณ์ก่อน ทั้งนี้ ไทยมีการเตรียมข้อมูลอย่างรอบคอบ และดูว่าจะอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง ในการหารือกับสมเด็จฯ ฮุน มาแนด นายกรัฐมนตรี ก็ได้หารือความร่วมมือในกรอบอาเซียน โดยมีแนวคิดว่าอาเซียนมีทรัพยากรที่โดดเด่นและมีจุดแข็งมากมาย อาเซียนจึงควรร่วมมือกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง โดยทั้งสองฝ่ายก็เคยพูดคุยกับผู้นำประเทศอาเซียน และเห็นตรงกันว่า การร่วมมือในกลุ่มอาเซียน จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ และเพิ่มอำนาจต่อรอง โดยไทยและกัมพูชาพร้อมร่วมมือกัน เพื่อรับมือกับประเด็นดังกล่าวไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง โดยต้องเป็นการต่อรองให้เข้มแข็งร่วมกัน แบบ win-win situation ที่ผ่านมาไทยได้ปรึกษากับทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคเอกชน เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและดำเนินการอย่างรอบคอบ”

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความสำเร็จในการเยือนกัมพูชาครั้งนี้ว่า ผู้นำไทยและกัมพูชา ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงร่วมกัน 7 ฉบับ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  อาทิการลงนามในความตกลง ในด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการปัญหา PM2.5 และการไม่เผา   โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติของไทยในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ประเทศก็จะมีความร่วมกันอย่างใกล้ชิด และมีความร่วมมือในด้านการข่าว การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า “โดยในช่วงกลางปีนี้ ผู้นำไทย-กัมพูชา จะเป็นประธานร่วมกันในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย – กัมพูชาแห่งแรก ที่บ้านหนองเอี่ยน ซึ่งอยู่ที่ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ ตรงข้ามกับ บ้านสตึงบท ตำบลปอยเปต จังหวัดบันเตียนเมียนเจย กัมพูชา อย่างเป็นทางการพร้อมทั้งจะจัดการประชุมร่วมกันกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) ที่บริเวณชายแดนของไทย ที่จังหวัดสระแก้ว เพี่อติดตามความคืบหน้าในการหารือร่วมกัน ในครั้งนี้และติดตามความร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ในทุกประเด็นต่อไป”

Advertisement

นายกฯเข้าพบสมเด็จฯ ฮุน เซน ย้ำความสัมพันธ์ไทย – กัมพูชาที่ใกล้ชิด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 เมษายน 2568 นายกฯเข้าหารือสมเด็จฯ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ย้ำความสัมพันธ์ไทย – กัมพูชาที่ใกล้ชิด พร้อมเดินหน้าผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

วานนี้ (วันพุธที่ 23 เมษายน 2568) เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงพนมเปญ ซึ่งเท่ากับกรุงเทพฯ) ณ วุฒิสภาราชอาณาจักรกัมพูชา (Senate House) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมคารวะสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน (Samdech Akka Moha Sena Padei Techo HUN SEN) ประธานวุฒิสภาและประธานองคมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีขอบคุณสมเด็จฯ ฮุน เซน สำหรับการเข้าเยี่ยมคารวะในวันนี้ และการต้อนรับที่อบอุ่น   และรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการและได้เข้าพบหารือกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ถือเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนแนวความคิดและประสบการณ์ระหว่างกัน โดยไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการเยือนในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการเยือนกัมพูชาครั้งที่สองของนายกรัฐมนตรีไทย นับตั้งแต่สมเด็จฯ ฮุน มาแนด เข้ารับตำแหน่ง และยังเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – กัมพูชา

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้หารือประเด็นความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน โดยย้ำความมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ทั้งสองประเทศ ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน เพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน

ในระยะต่อไป นายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากสมเด็จฯ ฮุน เซน ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาต่อไป เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี ความปลอดภัย และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งสมเด็จฯ ฮุน เซน พร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับไทย เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอื่น ๆ ต่อสถานการณ์ในภูมิภาค และเน้นย้ำความสำคัญของการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ

Advertisement

นายกฯ เตรียมเยือนพนมเปญ ฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – กัมพูชา ครบรอบ 75 ปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีเตรียมเยือนกัมพูชา ตามคำเชิญอย่างเป็นทางการของรัฐบาลกัมพูชา ในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ 75 ปี 23 – 24 เมษายน นี้

วันนี้ (วันที่ 20 เมษายน 2568) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันพุธ 23 – พฤหัสฯ 24 เมษายน 2568 ณ กรุงพนมเปญ ตามคำเชิญของสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนด (H.E. Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

ทั้งนี้  นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการสำคัญในการเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ สำนักนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา พร้อมหารือเต็มคณะร่วมกับนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองจะเป็นประธานในพิธีเปิดตราสัญลักษณ์ ครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – กัมพูชา และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารสำคัญต่าง ๆ ร่วมกัน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร  มีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและประธานองคมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา สมเด็จมหารัฐสภาธิการธิบดี ควน โซะดารี ประธานรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

“การเยือนในครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี และเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือด้านความมั่นคง การแก้ปัญหาข้ามแดน เศรษฐกิจ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาค” นายจิรายุกล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics