วันที่ 24 เมษายน 2024

“บวรศักดิ์” แถลงความคืบหน้าปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ให้เร่งจัดตั้ง 1 นักกฎหมาย 1 ตำบล

People unity news online : เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ศ.ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย แถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ ในหัวข้อ “กฎหมายยุคใหม่ เท่าเทียมและเป็นธรรม” มีสาระสำคัญ ดังนี้

การกำหนดกรอบการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายพิจารณาจากเรื่องที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้มีการกำหนดกลไกที่สำคัญไว้หลายประการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายโดยเฉพาะหลักการตามมาตรา 77 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 โดยจะมีปรับเปลี่ยนกฎหมายที่มีความล้าหลัง เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ดี และสอดคล้องกับสภาพความต้องการที่แท้จริงของสังคมปัจจุบัน

อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและติดตามตรวจสอบทั้งในขั้นตอนของการจัดทำร่างกฎหมายและการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย และสร้างการรับรู้และเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย เพื่อสื่อถึงความต้องการของสังคมและเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจถึงสาระของกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับประเด็นการปฏิรูปและผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายนั้นมุ่งเน้นการสร้างเพื่อให้เกิดการพัฒนาตามหลักการ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาสู่ THAILAND 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยกำหนดประเด็นปฏิรูปด้านกฎหมายเพื่อรองรับตามหลัก “ทวิยุทธศาสตร์” ทั้งในเรื่องของการกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายกล่าวย้ำว่า เป้าหมายหรือผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 10 ประการ ดังต่อไปนี้ 1. มีกลไกให้การออกกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็นรวมทั้งมีกลไกในการทบทวนกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2. ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน 3. มีกลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม 4. มีกลไกให้มีการตรากฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 5. พัฒนากระบวนการจัดทำและตรวจพิจาณาร่างกฎหมายให้ รวดเร็ว รอบคอบ และสอดคล้องกับเงื่อนเวลาในการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 6. มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญ และจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน 7. มีกลไกให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายโดยสะดวกและเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย 8. ปฏิรูปการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อพัฒนานักกฎหมายให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ดี 9. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายได้โดยสะดวก และ 10 มีกลไกส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้รู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย โดยได้กำหนดให้เร่งดำเนินการตั้งยุติธรรมชุมชนในระดับท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศ ซึ่งจะมี 1 นักกฎหมาย ต่อ 1 ตำบล ช่วยให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ต้องการคำปรึกษาด้านกฎหมายให้เข้าใจได้โดยง่าย เนื่องจากปัจจุบันอาจจะมีสภาทนายความฯ สำนักอัยการสูงสุด และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งอาจจะมีการช่วยเหลืออยู่แล้วแต่อาจจะเข้าไปไม่ทั่วถึงยังประชาชนทุกตำบล โดยจะมีการจัดอบรมให้แก่ยุติธรรมชุมชนในเรื่องของกฎหมายใหม่ๆ 1 ตำบล 1 นักกฎหมาย เพื่อส่งเสริมและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

People unity news online : post 3 เมษายน 2561 เวลา 07.30 น.

รมต.คมนาคมเผยรัฐบาลกำลังเชื่อมโยงระบบคมนาคมบก-ราง-น้ำ-อากาศทั่วประเทศ

People unity news online : รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยในงาน Meet the Press เตรียมเชื่อมระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบทางบก ราง น้ำ และอากาศ ไปสู่ระบบคมนาคมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อความสุขของคนไทย

8 มีนาคม 2561 เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าวในงาน Meet the Press หัวข้อ “ทุกเรื่องที่อยากรู้เกี่ยวกับระบบราง” เพื่อเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศไปสู่ One Transport for All คมนาคมรวมเป็นหนึ่งเพื่อความสุขของคนไทยทุกคน

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงภาพรวมเกี่ยวกับความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามนโยบายรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นที่ฐานเป็นระยะเวลามานาน ทำให้เกิดปัญหาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการเดินทางที่ไม่สะดวก และมีปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองหลวงและเมืองหลักในภูมิภาคต่างๆของประเทศ จึงทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆ โดยหากเทียบการลงทุนโลจิสติกส์ในอาเซียนประเทศไทยจะอยู่ในอันดับที่ 3 ทุกเรื่อง รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงให้เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การประหยัดพลังงาน และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น โดยมีการเชื่อมต่อการขนส่งคมนาคมทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ อย่างเป็นระบบ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่จะเร่งขับเคลื่อนพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครให้ครบทั้งระบบว่า รัฐบาลได้มีการเตรียมการในเรื่องนี้มาโดยตลอดเริ่มตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือ สายสีม่วง สีม่วงใต้ สายสีส้มตะวันออก สายสีแดงเข้ม สายสีแดงอ่อน ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่ารัฐบาลจะสามารถอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯได้ครบภายในปี 2561 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถประหยัดพลังงาน ประชาชนเดินทางได้สะดวก และมีเวลาให้กับครอบครัวได้มากขึ้น อันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น

สำหรับการขับเคลื่อนระบบรางจะมีการเชื่อมกรุงเทพฯกับจังหวัดต่างๆ โดยจะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนรถไฟทางคู่ เนื่องจากปัจจุบันมีเพียง 9% เท่านั้น จากระยะทางรถไฟทั้งหมด 4,000 กิโลเมตร โดยระยะที่1 จะเร่งดำเนินการให้รถไฟทางคู่จาก 9% เพิ่มขึ้นมาที่ 33%  ระยะที่ 2 รถไฟทางคู่เชื่อมเมืองต่างๆจำนวน 9 โครงการ ซึ่งจะมีการนำเสนอในปี 2561 และหากปีนี้มีการอนุมัติเพิ่มเติมก็จะทำให้รถไฟทางคู่เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 67% ของระยะทางรถไฟทั้งหมด 4,000 กิโลเมตร และที่เหลือจะดำเนินการในระยะที่ 3 อยู่ในระหว่างการวางแผนดำเนินการ โดยได้มีการกำหนดรถไฟทางคู่ในเส้นทางหลักทั้งเส้นทางที่จะไปทางเหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามแผนที่กำหนดไว้ นอกจากนี้จะมีการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่สายเด่นชัย-เชียงราย และเส้นทางบ้านไผ่ – นครพนม อีกทั้งยังมีการพิจาณาศึกษาที่จะดำเนินการเชื่อมต่อเส้นทางบ้านไผ่-นครสวรรค์ หรือพิษณุโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเลือกเส้นทางที่เหมาะสม และจากเส้นทางนครสวรรค์หรือพิษณุโลกจะเชื่อมต่อไปยังจังหวัดตากและแม่สอด ทำให้มีทั้งเส้นทางรถไฟและถนนเชื่อมระหว่างตะวันตกกับภาคตะวันออกตามกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับอาเซียน

ขณะเดียวกันจะมีการดำเนินการพัฒนารถไฟความเร็วสูงระยะทางทั้งหมด 2,506 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือกและอำนวยความสะดวกในการเดินทางที่รวดเร็วขึ้นสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเส้นทางที่ 1 คือ เส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย จากหนองคายเชื่อมไปประเทศลาวและต่อไปยังคุนหมิงประเทศจีน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน เพื่อเชื่อมโยงระบบรถไฟระหว่างประเทศ และเส้นทางที่ 2 คือ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 672 กิโลเมตร เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ ทั้งจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย เป็นต้น

ส่วนการดำเนินการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) โดยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม. สนามบินอู่ตะเภาสามารถเชื่อกรุงเทพฯได้ใน 45 นาที (เทียบกับ 2-3 ชั่วโมงโดยรถยนต์) ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถนำโครงการดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม 2561 จากนั้นคณะกรรมการ TOR จะออก TOR ประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2561 และประมาณเดือนมิถุนายน- เดือนกรกฎาคม 2561 จะสามารถประกวดราคาได้

รวมทั้งได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนต่างๆที่มีอยู่เดิมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถมีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ และถนนที่มีการก่อสร้างเพิ่มใหม่ในเส้นทางยุทธศาสตร์และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียน และกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ

อีกทั้งจะมีการเชื่อมถนนสู่ประตูเศรษฐกิจ เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยผลักดันทางหลวงเศรษฐกิจระหว่างเมือง 3 สายทาง ได้แก่ สายบางประอิน-นครราชสีมา สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งจะสามารถเพิ่มความสะดวกของการเดินทางไปสู่เมืองท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกและพื้นที่ EEC

สำหรับการแก้ไขปัญหาสนามบินแออัดนั้น จะมีการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค ได้แก่ การก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ (ท่าอากาศยานเบตง) การพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับผู้โดยสาร 3 แห่ง (โครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก การพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ การพัฒนาท่าอากาศยานสกลนคร) การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) และเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของประเทศ รองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคน/ปี รวมทั้งมีโครงการพัฒนาท่าอากาศสุวรรณภูมิระยะที่ 2 (ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ลานจอดอากาศยานประชินอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ทิศใต้) แผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 2 เชน เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารอาคาร 2 รวมทั้ง เตรียมการปรับปรุงสนามบินในภูมิภาค 28 แห่ง เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการสัญจรทางน้ำ จะดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบับ (เปิดบริการในปี 2561) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพคือ ต้องมีการเชื่อมต่อทั้งระบบอย่างครบวงจรทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ โดยทุกสถานีของรถไฟ ท่าเรือ และสนามบินจะต้องมีรถขนส่งสาธารณะรองรับสำหรับบริการผู้โดยสาร ประชาชน และนักท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมต่อไปยังจุดต่างๆ เช่น ในเมือง ท่าเรือ หรือแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

People unity news online : post 10 มีนาคม 2561 เวลา 12.40 น.

ก.แรงงานเตรียมฝึกอาชีพคนจน สร้างเป็นช่างในชุมชน เป้าหมาย 80,000 คนทั่วประเทศ

People unity news online : “ปลัดแรงงาน” เผย กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ช่วยเหลือคนจนระยะที่ 2 ฝึกอาชีพเร่งด่วน ปั้นช่างชุมชน เป้าหมาย 80,000 คนทั่วประเทศ ฝึกอาชีพเสริม หลักสูตร 18 ชม.30 ชม. และ 60 ชม. พร้อมนำตู้งานจับคู่คนกับงานบริการในพื้นที่ ตั้งเป้า 1 ล้านคน มีงานทำ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

18 มกราคม 2561 นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ 2561 แก่หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานส่วนภูมิภาค 26 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นหน้าที่ของข้าราชการทุกคนและทุกกระทรวงที่จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในส่วนของกระทรวงแรงงานโครงการที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาคนจนระยะที่ 2 ได้แบ่งเป็น 3 โครงการ คือ 1) การส่งเสริมและฝึกอาชีพหลักสูตรฝึกอาชีพเร่งด่วนให้เป็นช่างเอนกประสงค์ หรือ ช่างชุมชน เป้าหมาย 80,000 คน ทุกชุมชนทั่วประเทศ 2) ฝึกอาชีพเสริม 3 หลักสูตร ระยะเวลาการฝึก 18 ชั่วโมง 30 ชั่วโมง และ 60 ชั่วโมง และ 3) บริการค้นหาตำแหน่งงานจับคู่คนกับงานผ่านตู้งาน (Job Box)

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า โครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้และมีความมั่นคงในชีวิต สนับสนุนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและส่งเสริมระบบเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายประชารัฐในระดับชุมชน ผ่านกลไกการจัดฝึกอบรม ส่งเสริมทักษะอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้มีความรู้ ทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้น มีงานทำ มีความมั่นคงในชีวิต ได้รับความคุ้มครองทางสังคมอย่างทั่วถึง และนำสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้งเป้าหมายไว้ว่า โครงการฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนของกระทรวงแรงงาน จะทำให้คนไทยมีงานทำอย่างน้อย 65 % โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว

People unity news online : post 18 มกราคม 2561 เวลา 22.10 น.

 

ก.ศึกษาฯเตรียมมอบของขวัญปีใหม่ “Hi-Speed Internet” เร็วแรงส่งตรงถึงโรงเรียนทั่วไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้พบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนและสถานศึกษาสังกัด ศธ. ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายสำคัญที่จะเริ่มต้นปรับปรุงระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทุกโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ สามารถใช้ Hi-speed Internet ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยบริหารจัดการเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการใช้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งจากภาครัฐ (UniNet, เน็ตประชารัฐ) ภาครัฐวิสาหกิจ (TOT, CAT) และภาคเอกชน (TRUE, SAMART, TELECOM, AIS, 3BB) พร้อมจะยกเลิก MOENet ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service provider) แต่เป็นผู้ซื้อสัญญาณจากเอกชนส่งไปยังสถานศึกษาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้โรงเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น แถมยังใช้งานได้ไม่คุ้มค่าและไม่เต็มศักยภาพด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัยครั้งนี้ จึงต้องการมาพบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากผู้บริหารและครูในพื้นที่เอง มาดูให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของโรงเรียนและสถานศึกษา หลังจากที่ไปดูโรงเรียนบ้านประชาสุขสันต์เป็นจุดแรก และถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างขนาดเล็กที่ดี ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนให้ความสำคัญและมีข้อมูลในการบริหารงาน รู้สภาพปัญหาอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนอย่างแท้จริง พร้อมหาแนวทางแก้ไข และเลือกสิ่งที่ดีทีสุดต่อการเรียนการสอนของโรงเรียน

ดังนั้น ตั้งแต่ปีใหม่ปี 2561 เป็นต้นไป จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของโครงการ “Hi speed Inernet” ด้วยการบริหารจัดการอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศอย่างถูกต้องก่อน คือการให้ผู้อำนวยการโรงเรียน/สถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้รู้ข้อมูลในพื้นที่มากที่สุด มีอำนาจตัดสินใจเลือกเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดต่อนักเรียนและโรงเรียน และช่วยให้สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเติมเต็มความรู้แก่บุคลากรเกี่ยวกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเบื้องต้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ดีขึ้น, การจัดหาอุปกรณ์รับและกระจายสัญญาณ เช่น Router Access point เพื่อแปลงสัญญาณให้มีความแรงและเร็วมากขึ้น ตลอดจนหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างทันท่วงที โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้กำกับช่วยเหลือ พร้อมกำหนดให้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหนึ่งของการทำงาน ที่จะต้องรู้ข้อมูลด้านอินเทอร์เน็ตในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ของตนเอง, โรงเรียนใช้บริการอะไรอยู่บ้าง, โรงเรียนสามารถใช้ของผู้ให้บริการรายใดได้บ้าง เป็นต้น

ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ จะเร่งวางรากฐานก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยจะเสนอโครงการขยายรากฐานเครือข่าย UNINet  ไปยังโรงเรียนอีก 20,000 แห่ง งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท  เพิ่มเติมจากที่ UNINet  ได้วางรากฐานไปยังโรงเรียน สพฐ. กว่า 10,000 แห่ง และในสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้ง 426 แห่งแล้ว เพื่อให้เป็น High way internet ที่มีความเร็วและแรงเพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็กไทยทุกคน ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อดีทันสมัย องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ช่วยลดช่องว่างและสร้างโอกาสในชีวิต ให้ไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นคง สำหรับประชาชน ศธ.มีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ UNINet เพื่อร่วมใช้หนังสือและสื่อ e-Book ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น เช่น Smart farmer, การค้าขายออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งจะได้มีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

และขอยืนยันว่า การยกเลิก MOENet  ไม่เพียงจะช่วยประหยัดงบประมาณถึงกว่า 1,000 ล้านบาท แต่จะช่วยให้ ศธ. บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ให้เกิดคุณค่าสูงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งการประหยัดงบประมาณไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เมื่อเทียบกับโอกาสที่เด็กไทยทุกคนจะได้รับ ที่คาดว่าจะมีค่ามากกว่าเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานของโรงเรียนและสถานศึกษาตลอดจนหน่วยงานในสังกัด ศธ.ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ทั้ง 452 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียน สพฐ. 328 แห่ง สถานศึกษา สอศ. 16 แห่ง และหน่วยงาน สถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ของสำนักงาน กศน. 108 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่ใช้บริการจากอินเทอร์เน็ตจากทั้งของภาครัฐ (UNINET, MOENET) ดาวเทียม ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เช่น TOT Triple CAT 3BB เป็นต้น โดยปัญหา/อุปสรรคส่วนใหญ่เกิดจากความเร็วของอินเทอร์เน็ต ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้บริการจากผู้ให้บริการหลายราย, บุคลากรขาดความรู้ความชำนาญในการบริหารงานเครือข่าย และขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกเช่าสัญญาณจากผู้ให้บริการ (ISP) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุดในพื้นที่ให้บริการ, ขาดช่องทางการสื่อสารกับผู้รับผิดชอบในการดูและรักษาระบบ, เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้งาน เป็นต้น

People unity news online : post 25 ธันวาคม 2560 เวลา 14.10 น.

รัฐบาลระบุหน่วยงานรัฐเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎรได้เฉพาะที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

People unity news online : โฆษกรัฐบาลชี้แจงเพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ระบุหน่วยงานของรัฐสามารถเชื่อมโยงและนำข้อมูลตาม ร่าง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. …. ไปใช้ได้ต้องเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานเท่านั้น

17 ตุลาคม 2560 เวลา 15.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงเรื่องที่ ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ เพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนโดยเฉพาะในลักษณะที่ระบุว่าหน่วยงานต่างๆของรัฐสามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทยได้และรัฐสามารถที่จะรู้เรื่องเกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งหมดว่า การที่แต่ละกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานของรัฐ จะสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลเหล่านั้นไปได้ ต้องเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานเท่านั้น จึงขอแจ้งเกี่ยวกับการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

People unity news online : post 17 ตุลาคม 2560 เวลา 23.10 น.

รมว.ศึกษาฯเผย 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เตรียมเปิดสอนในไทย

People unity news online : รมว.ศึกษาธิการ เผยมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 2 แห่ง “คาร์เนกีเมลลอน” จากสหรัฐอเมริกา และ “มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน” เตรียมเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) จากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆของโลก อาจมีขนาดไม่ใหญ่ แต่มีชื่อเสียงเป็นอันดับหนึ่งทางด้าน Robotics และอันดับสองด้าน Computer Science จะเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย ซึ่งจากการได้ไปพบปะกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยดังกล่าวเมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนยืนยันถึงความประสงค์ดังกล่าว เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับนักเรียนไทย ประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัว ไม่ต้องขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฯ

โดยจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 ซึ่งในปีแรกนี้จะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 3 คน ระดับปริญญาตรี จำนวน 10 คน และในปีต่อไปจะเปิดรับระดับปริญญาเอก 10 คน ระดับปริญญาโท 25 คน และจะค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นต่อไป โดยนำหลักเกณฑ์การรับนักศึกษา ระบบการเรียนการสอน และการประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนทั้งหมด ทั้งนี้ เมื่อเรียนจบนักศึกษาจะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ซึ่งเป็นปริญญาที่มีศักดิศรีเทียบเท่ากับที่คาร์เนกีเมลลอนมอบให้นักศึกษาของตนในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการใช้สถานที่และอาจารย์ร่วมกัน โดยอาจารย์ของไทยที่จะสอนนั้นต้องไปร่วมสอนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องได้ใบรับรองก่อนจึงจะสามารถสอนได้

ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนนี้ จะนำข้อเสนอหลักเกณฑ์การจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทย เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ต้องกังวลว่าจะมาเปิดแข่ง เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่ประเทศไทยยังไม่เปิดสอน ซึ่งการเปิดการเรียนการสอนในสาขาดังกล่าว มีภาคเอกชนรายใหญ่หลายรายพร้อมสนับสนุนด้วย เนื่องจากเป็นสาขาที่เป็นนวัตกรรมชั้นสูง ตอบโจทย์การผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยได้ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University : NTU) สนใจที่จะมาเปิดการเรียนการสอนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เมืองการศึกษาอมตะนคร จ.ชลบุรี

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนมีสาขาหลายประเทศทั่วโลก เช่น ที่ประเทศรวันดา โปรตุเกส กาต้าร์ เหตุที่สนใจมาเปิดที่ประเทศไทยเนื่องจากรักและชื่นชอบนักศึกษาไทย ทั้งนี้มีนักศึกษาไทยที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จำนวน 342 คน ถือเป็นโอกาสในการระดมทุนจากอดีตนักศึกษามาสนับสนุนมหาวิทยาลัย ซึ่งในเดือนมกราคม 2561 จะมีการจัดการประชุมครั้งใหญ่สำหรับศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนจากทั่วโลกในประเทศไทย ถือเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่ลูกหลานจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพระดับโลกทั้งสองแห่ง ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสเข้าศึกษาในสถานศึกษาที่มีศักยภาพสูงดังกล่าว อันเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการผลิตและพัฒนาทรัพยากรบุคคลในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน และมีความสำคัญต่อการรองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน

People unity news online : post 16 ตุลาคม 2560 เวลา 10.10 น.

นายกฯเผยต้องปฏิรูปตำรวจให้ประชาชนยอมรับและไว้วางใจตำรวจ

People unity news online : เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 เวลา 14.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการฯอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันถึงการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อต้องการให้ตำรวจได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม ประชาชน และเป็นตำรวจที่มีศักดิ์ศรี มีความสง่างาม ซึ่งวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันปรับปรุงองค์กรตำรวจให้ดียิ่งขึ้น โดยทำงานให้ยึดหลักสายกลางคือคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายทั้งของประชาชนและตำรวจ เพื่อให้การปฏิรูปเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง รวมทั้งเป้าหมายของการปฏิรูปให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และตำรวจเป็นที่พึ่งสำหรับประชาชนได้ในทุกโอกาส สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตลอดจนอัยการและศาล โดยบูรณาการหน่วยงานของรัฐ ลดภาระบางส่วน แยกภารกิจและพันธกิจให้ชัดเจน พร้อมย้ำกำหนดโรดแมปการปฏิรูปให้ชัดและเป็นไปตามห้วงเวลาที่กำหนด โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาฯฉบับอื่น ๆในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี รวมถึงสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด และ 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ ภูมิภาคในบริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล และส่วนการกระจายอำนาจจะต้องเป็นการกระจายทั้งอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ รวมทั้งการแก้ปัญหาเดิมจะต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ได้เปิดเผยถึงผลการหารือของคณะกรรมการฯสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) มีจำนวน 36 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ (ที่ไม่ใช่ฝ่ายตำรวจ)  จำนวน 1 คน คือ พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเข้าใจงานตำรวจ และงานที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบองค์กร และความมั่นคง ส่วนกรรมการประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุด กรรมการฝ่ายตำรวจ จำนวน 15 คน กรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ (พลเรือน) จำนวน 15 คน ทั้งนี้ โครงสร้างของการแต่งตั้งกรรมการดังกล่าวเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนด และเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ และสื่อมวลชน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้คณะกรรมการฯสรุปเรื่องที่คณะกรรมการหรือคณะบุคคลต่างๆได้ทำการศึกษาวิจัยการปฏิรูปตำรวจไว้แล้วนำมาประกอบการพิจารณาของที่ประชุมในครั้งต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ประเด็นเกี่ยวกับองค์กร โดยให้พิจารณาว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะสังกัดหน่วยใด เช่น ให้อยู่แบบเดิม หรือจะไปอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม จังหวัด ท้องถิ่น รวมถึงการตั้งเป็นกระทรวง หรือทบวง ตลอดจนพิจารณาถึงความเหมาะสมในเรื่องที่ควรจะกระจายออกไป หรือควรมารวมอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ  ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ 2) เรื่องกระบวนการยุติธรรม เป็นการพิจารณาอำนาจสอบสวนว่าควรจะอยู่เช่นเดิม หรือควรแยกออกไป รวมถึงการประสานงานของตำรวจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ควรจะทำงานเชื่อมโยงหรือแยกกันอย่างไร และ 3) เรื่องการบริหารงานบุคคล เช่น การแต่งตั้ง โยกย้าย การคัดบุคคลเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลักสูตรโรงเรียนนายร้อยเหมาะสมทันสมัยหรือไม่ การเลื่อน ลด ปลด ย้าย วินัย การให้ตำรวจมีเครื่องแบบ การโอนตำรวจไปอยู่กระทรวงอื่นจะเทียบกันอย่างไร รวมถึงการจัดสรรพกำลังเสริมการทำงานของตำรวจ เป็นต้น

สำหรับการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ครั้งนี้เป็นเพียงการหารือเบื้องต้น โดยการประชุมครั้งแรกกำหนดจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยที่ประชุมจะมีการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ รวมถึงคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น โดยจะเชิญอดีตอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาร่วมให้ความเห็นต่อที่ประชุมด้วย พร้อมไปรับฟังความเห็นจากข้าราชการตำรวจ  สื่อมวลชน และประชาชนกลุ่มต่างๆ จากนั้นการประชุมครั้งต่อไปจะประชุมสัปดาห์ละ 1 หรือ 2 ครั้ง โดยจะพิจารณาหมุนเวียนไปตามสถานที่ต่างๆตามความเหมาะสมต่อไป

People unity news online : post 11 กรกฎาคม 2560 เวลา 12.00 น.

พรุ่งนี้นายกฯลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ภาคอีสาน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

People unity news online : นายกรัฐมนตรีเตรียมลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ด้วยการศึกษาวิจัย พร้อมตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปราชการจังหวัดขอนแก่น ในวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560 เพื่อกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ “วิจัยและนวัตกรรม มข. เพื่อ Thailand 4.0” และเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วยการศึกษาวิจัย ตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” รวมทั้งเพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลในด้านการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ผ่านระบบสหกรณ์ของจังหวัดขอนแก่น และการพัฒนาการเกษตรด้านอื่นๆ อันจะนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต การยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกร โดยมีกำหนดการ ดังนี้

ช่วงเช้า ณ ศูนย์ประชุมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อน ไทยแลนด์ 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” จากนั้นจะเยี่ยมชมนิทรรศการ “วิจัยและนวัตกรรม มข. เพื่อ Thailand 4.0” ประกอบด้วย ด้านเกษตรและอาหาร ผลงานวิจัยด้านสุขภาพ ด้านวัสดุและพลังงานในอนาคต ผลการวิจัยด้านการศึกษา ผลงานวิจัยด้าน Bio economy ผลงานวิจัยด้านนวัตกรรม ICT การดำเนินโครงการ Smart City เป็นต้น

ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะเดินทางไปที่สหกรณ์โคนมขอนแก่นที่บ้านซำจาน ตำบลบ้านค้อ อำเภอเมืองขอนแก่น เพื่อติดตามผลงานของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีจะมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01) จำนวน 5 แปลง และมอบโรงรวบรวมผลิตน้ำนมดิบและโรงผสมอาหารสัตว์ให้กับสหกรณ์โคนม ขอนแก่น จำกัด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะมอบงบประมาณสนับสนุนโครงการธนาคารโคนมทดแทน พร้อมมอบเงินสนับสนุนโครงการยางพาราในหน่วยงานภาครัฐพื้นปูพื้นโรงเรือนโคนม จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะกล่าวปราศรัยพบปะกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการประกอบด้วย ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร ผลงาน Young Smart Farmer การบริหารจัดการน้ำ การ Zoning by Agri – map และการทำเกษตรแปลงใหญ่ ดูโครงการผักปลอดสารพิษ รวมทั้งชมการจัดตั้งบริษัทประชารัฐสามัคคีขอนแก่น เวลาประมาณ 16.10 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

People unity news online : post 20 มิถุนายน 2560 เวลา 13.16 น.

ที่ประชุมสภากลาโหมเดินหน้าปฏิรูป-พลิกโฉมกองทัพ ลดตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิลง 50%

People unity news online : 29 พฤษภาคม 2560 พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงหลังการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 5/2560 ณ ศาลาว่าการกลาโหม เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2560 ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการปฏิรูปกองทัพในระบบโครงสร้างและอัตรากำลังให้เหมาะสม เพื่อพัฒนากองทัพให้มีความคล่องตัว ทันสมัย และสามารถปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

โดยการแก้ไขโครงสร้างการจัดและอัตราของส่วนราชการในกระทรวงกลาโหม เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคง กับ กอ.รมน. ซึ่งเป็นการบริหารจัดการภายในของกระทรวงกลาโหมในด้านการปรับเกลี่ย ปรับโอนและยุบรวมอัตราตำแหน่ง ตามอนุมัติหลักการของนายกรัฐมนตรี โดยให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ 1 ต.ค.2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้ยังให้ดำรงการปรับลดอัตรากำลังพลตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนายทหารปฏิบัติการประจำหน่วยให้เหลือร้อยละ 50 ภายใน 30 ก.ย.2572

รวมถึงได้ร่วมกันพิจารณาการแก้ไข พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการ สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2552 เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างใหม่ ให้มีความคล่องตัวและสอดรับกับภารกิจที่ปฏิบัติอยู่จริง โดยเพิ่มหน่วยงานและอำนาจหน้าที่กองเลขานุการและศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กระทรวงกลาโหม ด้วยการปรับเกลี่ย ปรับเพิ่มและปรับลด เพื่อรองรับภารกิจการร้องเรียนร้องทุกข์จากประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ทำให้งบประมาณและอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กองทัพพร้อมเป็นผู้นำในการปฏิรูปหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อเป็นหลักประกันให้กับประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันภัยคุกคามทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งเป็นการยกระดับความมั่นใจให้กับประชาชน

People unity news online : post 29 พฤษภาคม 2560 เวลา 20.23 น.

โปรดแสดงความคิดเห็นด้วยคำสุภาพ ใช้เหตุผล ทางกองบรรณาธิการจะไม่รับผิดชอบต่อความเห็นที่ละเมิดกฎหมาย

นายกฯ ชู ป.ย.ป. จะทำให้ประเทศก้าวหน้าเหมือนจีน

People unity news online : วันนี้ (21 เมษายน 2560) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ครั้งที่ 1/2560 เพื่อติดตามความก้าวหน้าแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป. ทั้ง 4 คณะ คือคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการเพื่อความสามัคคีปรองดอง  โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป ทั้ง 4 คณะ

คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อการเร่งรัดผลักดันการปฏิรูปให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมก่อนการเลือกตั้ง และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้กระบวนการปฏิรูป การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ดำเนินงานอยู่โดยรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อส่งต่อภารกิจไปสู่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งได้อย่างราบรื่นและเกิดความต่อเนื่องของการดำเนินงาน เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุข และตอบสนองต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ระดับสูงเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และสร้างความสุขของคนไทย สร้างสังคมให้มีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ

โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมขนาดใหญ่ เพราะประเทศจะเดินหน้าได้ด้วยงานของรัฐบาลที่ทำอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาและเดินหน้าประเทศระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรกเมื่อวานนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก สนช. สปท. โดยส่วนตัวเห็นว่าข้อเสนอหลายอย่างนั้นมีประโยชน์ แต่อาจจะต้องหารืออีกครั้ง เพื่อให้มีความมั่นใจว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถบังคับใช้ได้ในอนาคต ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการปิดกั้นการทำงานของฝ่ายใดแต่เพื่อวางกรอบการทำงาน ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอาจจะดูยาวนานแต่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่นานนัก เพราะถือว่าเป็นระยะแรกในการวางรากฐานและปฏิรูปประเทศเหมือนกับประเทศจีน ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 10 ปีในการยกระดับรายได้ของประเทศ จนสามารถยกระดับจนรายได้เป็นอันดับสองของโลก ในส่วนของประเทศไทยนั้นคงจะต้องใช้เวลานานกว่านั้น แต่เชื่อว่าใน 5 ปีแรกนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการวางรากฐานของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ ภาคประชาชนในรูปแบบของประชารัฐ ขณะเดียวกัน หากใครที่มีความคิดเห็นหรือข้อเสนอทางรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังแนวความคิดที่เป็นประโยชน์ของทุกคน

“ขอให้คณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป.ทั้ง 4 คณะให้ทำงานประสานสอดคล้องกันแบบบูรณาการอย่างเต็มที่ให้เกิดเป็นรูปธรรม สร้างความชัดเจนให้กับประชาชน และจัดคณะกรรมการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจต่อประชาชน พร้อมทั้งขอให้กำหนดความสำคัญของแผนการดำเนินงาน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน นำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในพื้นที่และในสังคมให้รับรู้สร้างแนวคิดใหม่ๆขึ้นมา เกิดวิสัยทัศน์ในการทำงานอย่างถูกต้อง พร้อมขอความร่วมมือภาคเอกชนช่วยกันสร้างความเข้าใจต่อนักลงทุนให้เกิดการลงทุนในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มในทางที่ดีทั้งเรื่องความเชื่อมั่น และมูลค่าการส่งออก”

People unity news online : post 21 เมษายน 2560 เวลา 16.03 น.

Verified by ExactMetrics