People Unity News : เพื่อไทยเผยรัฐบาลกระเป๋าฉีกวิ่งขาหวิดหาเงินโป๊ะนโยบายแก้ปัญหาราคาเกษตรตกต่ำ ยันนโยบายประกันรายได้ไม่ตอบโจทย์ เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการมากกว่า

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 เวลา10.0 น. นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม. ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาเรื่องข้าว เปิดเผยว่า การพิจารณาจากนโยบายรัฐบาลพบว่าการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่รัฐบาลประกาศนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ในอดีตเคยเกิดปัญหาทุจริต หวั่นใจว่าหากนำมาใช้เกิดปัญหาการทุจริตอีกครั้ง

ที่ว่านโยบายนี้ทำไม่ได้เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณจะมาดำเนินโครงการ ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่งหนังสือมาถึง คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หรือ คสช.เพื่ออกรอบวงเงินจำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งทาง คชก.ไม่สามารถอนุมัติได้เพราะไม่มีระเบียบที่ให้ไว้ นอกจากนี้ที่ผ่านมาให้แล้วหายทางคณะกรรมการหวั่นว่าจะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

นายอุบลศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกร เป็นนโยบายที่ไม่ตอบโจทย์ของเกษตรกร เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการมากกว่า สถานการณ์ในปัจจุบันพ่อค้ารับซื้อข้าวกดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกร แล้วให้เกษตรกรไปกินส่วนต่างราคาจากรัฐบาลแทน ตามราคาที่ประกาศจากหน่วยงานรัฐ อาทิ ข้าวขาวปัจจุบันราคารับซื้อจากเกษตรกรที่ 5,000 บาทต่อตันส่วนหากมีการตั้งราคาที่ 12,000 บาทต่อตันที่เหลืออีก 7,000 ให้เกษตรกรไปเอาจากรัฐแทน แบบนี้มันเป็นการช่วยเกษตรกรหรือช่วยพ่อค้ากันแน่

“เงินคชก.ที่รัฐบาลมาขอกรอบวงเงินนั้น หากมีการทุจริต รัฐมนตรีจะยอมติดคุกหรือไม่ ในอดีตเคยมีการนำเข้าสู่ศาลมาแล้ว ทั้งนี้การทำนโยบายแบบไม่ดูฐานะของตัวเอง ไม่มีเงินประกาศนโยบายสวยหรู ก็ไม่ต่างกับการหลอกเกษตรกร ที่รอความหวังจากรัฐบาลที่ไม่รักษาคำพูดสุดท้ายเกษตรกรรับกรรมในที่สุด”
นายแพทย์ จาตุรงค์ เพ็ง นรพัฒน์ ส.ส. ศรีษะเกษ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ระยะที่ 1 สรุปล่าสุด กำหนดช่วยเหลือเกษตรกรที่มีสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยกำหนดราคาประกันยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กก. น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. แบ่งสัดส่วนการจ่ายเงินให้กับเจ้าของสวนยาง 60% และคนกรีดยาง 40% ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. แต่ขายจริงได้แค่ 14 บาท ทั้งนี้อยากให้การยางรับซื้อเพื่อดึงราคาขึ้น และให้นำยางไปใช้ทำถนน รวมทั้งกำหนดให้กรมชลประทาน นำยางพาราไปใช้ทำฝาย หรือพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งกีดขวางเข้าไปสร้างความเสียหายในแหล่งน้ำ ทำทุ่นพลาสติก HDPE ปูด้วยแผ่นยางกันลื่น ใช้ในกรณีเกิดอุทกภัย ถนนตัดขาด ทำเรือนวัตกรรมกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก และรางวัดปริมาณน้ำ เป็นต้น
นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ สส.จังหวัดชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยประมาณ 400,000 คน มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 11 ล้านไร่ แต่ในปัจจุบันประสบปัญหาราคาอ้อยตกต่ำมาก ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำ มาถูกซ้ำเติมด้วยการใช้ ม.44 ของรัฐบาล คสช.ยกเลิกโควต้า ก. หรือยกเลิกโควต้าการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลแต่ละแห่ง ทำให้ราคาน้ำตาล ทรายในประเทศลดลง มีผลต่อการคำนวนราคาอ้อย ในปัจจุบัน และปีนี้เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะลำบากจากนโยบายให้โรงงานน้ำตาลซื้ออ้อยไฟไหม้ได้ไม่เกิน 50% ในราคาที่ต่ำกว่าอ้อยสดตันละ 30 บาท

รัฐบาลปัจจุบันยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่แตกต่างจากปีที่แล้วแต่อย่างใด ดังนั้นอยากให้รัฐบาล เร่งรัดแก้ไขเร่งด่วนคือ 1.ขอให้รัฐบาลเสนอแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับ พศ.2527 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นจากอ้อยที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล พลาสติคชีวภาพ เครื่องสำอางค์ เวชภัณฑ์ และปรับปรุงสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เป็นธรรม พร้อมทั้ง ขอให้รัฐบาลผ่อนปรนระเบียบเกี่ยวกับอ้อยไฟไหม้ แก้ปัญหารถบรรทุกอ้อย ลดข้อกำหนดของระยะห่างของโรงงานน้ำตาล เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไป