People Unity News : กระทรวงการคลังนำดิจิทัลสร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน “กมธ.ดีอีเอส” เชิญ”กสทช.-ทีโอที” แจงโครงการ “เน็ตประชารัฐ” หลังไม่เสร็จตามกำหนด

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้ร่วมเป็นประธานในพิธี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานของกระทรวงการคลัง คือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง และ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ในการดำเนินงานโครงการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในระบบงานของหน่วยงาน ใน 3 โครงการ ด้วยการใช้ Digital Platform อย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับ โครงการแรก คือ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว (VAT Refunds for Tourists) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมสรรพากร กรมศุลกากร และธนาคารกรุงไทย โดยจะเป็นการคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยว ผ่านแอพพลิเคชั่น

ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประมาณปีละ 2 ล้านคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 2 แสนราย มีมูลค่าการซื้อสินค้าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นนักท่องเที่ยวจีนถึงประมาณร้อยละ 70 ซึ่งชาวจีนมักไม่นิยมใช้เงินสดในการท่องเที่ยว แต่นิยมใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นแทน

ทั้งนี้การคืนภาษีผ่านแอพฯ จะช่วยให้การทำงานของหน่วยงาน มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะมีผลพวงในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน โดยโครงการนี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 พ.ย.นี้

โครงการที่ 2 ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Government Procurement : e-GP) ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการย่อย คือ 1) e-LG การออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการในระบบ e-GP ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและการตรวจสอบหลักประกันของผู้ประกอบการ 2) e-Credit Confirmation การรวบรวมข้อมูลประวัติของผู้ประกอบการนิติบุคคล รวมถึงระบบ Rating ของผู้ประกอบการตามผลงานในการทำงานกับภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดระยะเวลา และภาระในการจัดเตรียมเอกสาร ในการขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการและการยื่นเสนอราคา

จากข้อมูล ปี2562 ภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 3.6 ล้านโครงการ วงเงินรวมกว่า1.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นโครงการนี้จะลดภาระให้ผู้ประกอบการกว่า 270,000 ราย สร้างความโปร่งใสของระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ช่วยผลักดันให้การใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่รากหญ้าให้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในเดือน ธ.ค. 62 ผู้ประกอบการสามารถขอหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่อ ของธนาคารกรุงไทยผ่านระบบ e–GP ได้ในทันที

โครงการที่ 3 การออมผ่านพันธบัตรรัฐบาล (DLT Scripless Bond) จะช่วยให้การออกพันธบัตรรัฐบาล การจำหน่าย รวมถึงการรับฝากหลักทรัพย์มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงการออมได้อย่างทั่วถึง มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยระบบจองก่อนได้ก่อน (First Come First Serve) ในการจัดจำหน่าย และช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ลดระยะเวลาในกระบวนการออกใบพันธบัตร จาก 15 วันเหลือไม่ถึง 2 วัน โดยจะเริ่มออกพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลผ่านระบบบล็อกเชนในช่วงเดือน พ.ค. 2563

สำหรับทั้ง 3 โครงการที่ผมกล่าวมานี้ ถือเป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีบล็อกเชน เข้ามาเป็นพื้นฐานในการสร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและประเทศชาติ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless society) ซึ่งภาครัฐจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเป็นหัวหอกสำคัญ ก่อนที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านี้ไปสู่พี่น้องประชาชนในลำดับต่อไป

“กมธ.ดีอีเอส” เชิญ”กสทช.-ทีโอที” แจงโครงการ “เน็ตประชารัฐ” หลังไม่เสร็จตามกำหนด

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส โดยได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มาชี้แจงกรณีการดำเนินโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ทุรกันดาร (เน็ตประชารัฐ) หลังจากเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 62 เป็นวันสิ้นสุดตามกรอบเวลาที่บริษัททีโอทีขอขยายเวลามาจาก 27 ก.ย.61 ที่ผ่านมา แต่ยังมีหลายพื้นที่ติดตั้งไม่เสร็จ และกสทช. ได้มีการยกเลิกสัญญากับบริษัททีโอทีฯ ไปแล้ว

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานกรรมาธิการ ดีอีเอส แถลงว่า ทางตัวแทนของ กสทช. ได้มาชี้แจงถึงโครงการเน็ตประชารัฐว่าจะมีแนวทางดำเนินการต่อไปอย่างไร หลังจากที่ยกเลิกสัญญากับบริษัท ทีโอทีฯ ทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรอตรวจรับงานที่ บ.ทีโอที ทำไว้ว่ามีความคืบหน้าแค่ไหนอย่างไร เหลืองานอีกมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจะมีการเปิดประมูลรับผู้ดำเนินการรายใหม่ ซึ่งกสทช. คาดว่าภายในเดือนเมษายนปี 2563 จะสามารถเปิดประมูลได้ ทั้งนี้ทางกรรมาธิการฯ เรามีความาห่วงใยกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลต้องเสียโอกาส การได้ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดโลกด้วยการทำธุรกิจออนไลน์หรืออีคอมเมอร์ซ บริการทางการแพทย์ที่เชื่อมโยงกับนโยบาย Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และจะเป็นประโยชน์ด้านการศึกษาที่เด็กๆ สามารถหาความรู้หรือเรียนออนไลน์ได้ ที่สำคัญคือมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ที่จะพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

ประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ทางกรรมาธิการฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการดำเนินโครงการไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนดมีผลกระทบต่อประชาชนผู้รอใช้บริการ ดังนั้นทางกมธ.ดีอีเอส จึงได้กำชับไปยัง กสทช. และฝากไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส เร่งดำเนินการให้โครงการเน็ตประชารัฐสำเร็จโดยเร็ว เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ ซึ่งทางกรรมาธิการฯ จะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด โดยมีพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกมธ.อีดีเอส ในฐานะเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จะได้ทำหน้าที่ในการติดตามและรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอให้คณะกรรมาธิการฯ ทราบต่อไป

อย่างไรก็ตามทางกมธ.ดีอีเอส มีแผนที่จะลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการอินเทอร์เน็ตชายขอบ ในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยจะลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย และหนองบัวลำภู ทั้งนี้กรรมธิการฯ​ ต้องการที่จะไปสัมผัสพื้นที่จริงที่มีการติดตั้งจุดปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ต ว่าสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ ความเร็วเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ตอบโจทย์ของประชาชนในพื้นที่หรือไม่ เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการดังกล่าวในอนาคตอย่างมาก