ผู้แทน “ทรัมป์” พบ “บิ๊กตู่” ยันพิจารณาตัด GSP ถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนไทย ยาหอมบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียน พร้อมกระชับความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ขณะที่วงถก “อาเซียน-สหรัฐฯ” ยันร่วมสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 10.00 น. ณ ห้อง Sapphire 108 ชั้น 1 อาคารอิมแพค ฟอรั่ม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พบหารือกับนายโรเบิร์ต ซี โอไบรอัน (Robert O’Brien) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ผู้แทนพิเศษของนายโดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐอเมริกาในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าไทยพร้อมร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัน และเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ เช่น การลงทุน การต่อต้านการค้ามนุษย์ และการสนับสนุนบทบาทของสหรัฐฯ ในการเพิ่มพูนความร่วมมือกับภูมิภาค พร้อมฝากความระลึกถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ และภริยา โดยหวังว่าจะมีโอกาสได้ต้อนรับที่ประเทศไทย

ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐฯ แสดงความขอบคุณในการต้อนรับอย่างอบอุ่นของไทย และกล่าวว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ฝากหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อย้ำว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับไทยในฐานะมิตรประเทศอันใกล้ชิด ชื่นชมการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ และยืนยันว่าสหรัฐฯ พร้อมมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการร่วมมือกับไทยและอาเซียนเพื่อประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคต่อไป

ทั้งสองฝ่ายชื่นชมความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ มีความใกล้ชิดและครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง รวมถึงความท้าทายในรูปแบบใหม่ ไทยมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายยินดีที่การประชุม Indo-Pacific Business Forum ในวันนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะสาขาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน ดิจิทัล ทั้งนี้ระหว่างการหารือได้มีการหยิบยกประเด็นการประกาศพักสิทธิ GSP บางส่วนของไทย ซึ่งสหรัฐฯ รับไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนไทย

อาเซียน-สหรัฐฯ ร่วมสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

ต่อมาเวลา 10.30 น. ณ ห้อง Sapphire 203 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอกประยุทธ์ และผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน และนายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 7 ภายหลังเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 7 มีขึ้นเพื่อทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-สหรัฐฯ ในมิติการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรมในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ในอนาคต และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยมีผู้แทนจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และนายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมประชุม

นายกรัฐมนตรีกล่าวให้การต้อนรับนายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ในฐานะประธานอาเซียน ชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคซึ่งช่วยให้อาเซียนได้พัฒนาเป็นประชาคมที่มีพลวัตและความเจริญรุ่งเรือง และขอบคุณที่สหรัฐฯ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนผ่านกลไกสำคัญรวมไปถึง กรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) เออาร์เอฟ และเอดีเอ็มเอ็มพลัส และในปีนี้ อาเซียนและสหรัฐฯ ได้ร่วมกันจัดการฝึกร่วมทางทะเล เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

สหรัฐฯ ยังมีบทบาทสนับสนุนมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงาน รวมถึงการมีบทบาทของนักลงทุนสหรัฐฯ ที่เป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญต่อการเจริญเติบโตในภูมิภาคที่ครอบคลุมและยั่งยืน ในการนี้ ผมยินดีที่ภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯ ร่วมกันริเริ่มจัดการประชุม Indo-Pacific Business Forum ครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทย ในวันนี้ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการประชุมในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่อาเซียนและสหรัฐฯ จะได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ และหวังที่จะเห็นพัฒนาการในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน-สหรัฐฯ ในทุกมิติ เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ของประชาชนอาเซียนและสหรัฐฯ อย่างก้าวหน้าและยั่งยืน

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนนักลงทุนสหรัฐฯ ให้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค รวมถึงสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งบทบาทที่แข็งขันของสหรัฐฯ นี้จะช่วยต่อยอดการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดหลักของการประชุมอาเซียนในปีนี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกส่วนที่มีส่วนร่วมในการแสดงวิสัยทัศน์ และขอบคุณ สปป.ลาว ที่ทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ อย่างมีประสิทธิภาพตลอดปีที่ผ่านมา