วันที่ 26 เมษายน 2024

เดินหน้าปลูกกัญชา 6 ต้น! “อนุทิน”ปลื้ม! 3 เดือนปิดจ็อบรถไฟฟ้า-แบน 3 สารพิษ

People Unity : “อนุทิน”มั่นใจโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินไปลิ่ว ไร้อุปสรรค เผย สธ.ไม่ยุ่งเรื่องสารทดแทนแต่หากพบมีอันตรายก็ต้องแบน โชว์ความคืบหน้า 3 เดือน นโยบายกัญชาย้ำพอใจ หลาย รพ.ใช้รักษาโรค ยันไม่ทิ้งนโยบาย 6 ต้น เผยกฎหมายถึงสภาฯแล้ว ลั่นภูมิใจไทยพร้อมผลักดันสุดกำลัง

วันที่ 25 ต.ค.2562 จากการลงนามสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่าโครงการ 224,544.36 ล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ที่เพิ่งเสร็จสิ้นเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะ กล่าวว่า เป็นนิมิตหมายอันดี ที่แสดงให้เห็นว่าโครงการ EEC ไม่ใช่การขายฝัน แต่เรากำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ และมีความพร้อมในการรับการลงทุนจากทั่วโลก ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน มีความสำคัญ เพราะเป็นตัวจุดประกายความสำเร็จให้กับโครงการ EEC หลังจากการเซ็นสัญญาจะมีการจ้างงาน จะเกิดการใช้จ่ายมหาศาล เศรษฐกิจจะขยายตัว มีเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบ และจะเกิดโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามมา

“การเจรจาจบแล้ว ถึงได้มีการลงนาม การลงนามที่มีนายกฯ เป็นประธาน มันต้องเอาจริง ต้องทำให้เสร็จ จะมาเล่นๆไม่ได้ โครงการไปได้แน่นอน และคิดว่าน่าจะเปิดใช้งานได้ตามกำหนดเวลา อย่างที่ผมเคยบอก อะไรที่ช่วยกันได้ ไม่ผิดกฎหมาย ก็ให้ช่วยเหลือกัน การตีความกฎหมาย อย่าไปตีหาอุปสรรค แต่ให้หาทางออก เพราะยิ่งทำได้เร็ว ยิ่งเกิดประโยชน์กับคนไทย”

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า การสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โครงการกรุงเทพฯขึ้นเชียงใหม่ และกรุงเทพ ลงไปสุราษฎร์ธานีล้วนอยู่ในแผนการพัฒนา แต่ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม อย่างไรก็ตามตอนนี้ ต้องจัดการเรื่องท่าเรือ และสนามบินอู่ตะเภา เพื่อผลักดันโครงการ EEC ก่อน

เผย สธ.ไม่ยุ่งเรื่องสารทดแทนแต่หากพบมีอันตรายก็ต้องแบน

นายอนุทิน กล่าวถึงข้อสงสัยเรื่องสารทดแทน ที่จะให้ใช้แทน 3 สารที่ถูกแบน หรือ พาราควอต ไกรโฟเซต คลอร์ไพริฟอส โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้หาทางรับมือไว้แล้ว แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ ต้องเรียนให้เข้าใจก่อน เราต้องดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งถ้าสารทดแทน มีอันตรายต่อชีวิตประชาชน ก็ปล่อยให้ใช้ไม่ได้

ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขร่วมแรงร่วมใจในการแบนสารพิษ แสดงพลังขึ้นป้ายต่อต้านการใช้ โดยไม่ได้นัดหมาย คิดว่าบุคลากรทางการแพทย์ น่าจะเคยเห็น เคยรักษาผู้ที่ป่วยจากสารพิษ ซึ่งบางคนเนื้อเน่า ไปถึงเป็นมะเร็ง และตระหนักว่าจะปล่อยให้ใช้ต่อไปไม่ได้ นี่เป็นหลักการ ดังนั้น สารที่มาใช้แทน ถ้าเกิดมีผลกระทบกับสุขภาพคนไทย เราเดินหน้าลุยแน่ มันเป็นหน้าที่ ที่ต้องทำ

เมื่อถามถึงความกังวลเรื่องกลุ่มต้านการแบนสารพิษ นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติออกมาแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ยกเว้นศาลจะมีคำสั่งเป็นอื่น พร้อมยอมรับ ส่วนกระทรวงสาธารณสุข หน้าที่ของเรายังไม่จบ ต้องดูแลคนไทยต่อไป ให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสุขภาพที่ดีที่สุด

ลั่นไม่ชี้แจงสถานทูตสหรัฐฯขอไทยทบทวนมติแบนสารพิษ

นายอนุทิน ยังกล่าวถึงกรณีที่กรณีสถานทูตสหรัฐอเมริกา ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยเพื่อขอให้ทบทวนการแบนสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะสารไกลโฟเซต โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า จริงๆ แล้วสภาหอการค้าสหรัฐอเมริกา ลงนามตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2562 แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการประชุมพิจารณาแบนสารเคมีเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำไมมีการออกหนังสือล่วงหน้ามาถึง 11 วัน เช่นนี้แสดงว่า เป็นการกดดันหรือไม่ จะมาบอกว่าจะมีปัญหาเรื่องการนำเข้า ตนคงไปว่าเขาไม่ได้ เพราะเขาห่วงเรื่องกระเป๋าของเขา ไม่ได้ห่วงสุขภาพของคนไทย เพราะฉะนั้นเราต้องมีมาตรการ ถ้ากังวลว่าจะมีสารตกค้างก็ต้องมาพิสูจน์ว่าจะนำเข้ามาโดยไม่มีสารตกค้าง แต่นี่กลัวขายของไม่ได้เลยมาบอกให้รัฐบาลยกเลิกการห้ามสารพิษเพื่อให้ใช้ได้ แล้วเราจะยอมหรือไม่

นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายประชุมภายใต้กฎหมายของประเทศไทยใช่หรือไม่ หรือประชุมภายใต้กฎหมายต่างชาติ เพราะฉะนั้นกฎหมายไทยให้อำนาจคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาการใช้หรือห้ามใช้ ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายจำนวน 29 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีความรู้ทั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาเรียกประชุมในวันเดียว แต่มีการเตรียมมาเป็นปี และมีมติการห้ามใช้สารเคมีเหล่านี้ ไม่ได้มีการกดดันใดๆ ทางการเมืองแม้แต่น้อย มติที่ออกมาให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้ก็เป็นไปตามสำนึกความห่วงใยต่อพี่น้องและสุขภาพประชาชน

เมื่อถามว่า สถานทูตสหรัฐฯ ส่งหนังสือโดยแนบท้ายหนังสือของสภาหอการค้าสหรัฐฯ ขอให้ไทยมีการทบทวนมติแบนสารเคมี โดยเฉพาะไกลโฟเซต ไทยจะยืนยันตามมติเดิมหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนของกระทรวงสาธารณสุขยืนยันตามมติเดิม ส่วนกระทรวงอื่นก็ต้องแล้วแต่เจ้ากระทรวง เราก้าวก่ายกันไม่ได้ จริงๆ ก็ไม่ควรก้าวก่ายกัน กฎหมายใครกฎหมายมัน เมื่อถามต่อว่าจะต้องชี้แจงปหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็แล้วแต่ เพราะไม่ได้ส่งหนังสือมาถึงตน และตนก็ไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปชี้แจง แต่หน้าที่ของ สธ.คือรับผิดชอบสุขภาพประชาชน อะไรก็ตามที่บริโภคเข้าไปแล้วเป้นอันตรายต่อร่างกาย สัมผัสแล้วเกิดแผลพุพอง สูญเสียอวัยวะ ตรงนี้เป็นคนละเรื่องกับการค้า ซึ่ง สธ.เกี่ยวข้องกับสุขภาพชีวิตคน เรื่องการค้าไม่ใช่เรื่องที่ สธ.จะให้ความเห็นอะไรได้ หรือจะมาเปลี่ยนแปลงจุดยืนของ สธ.ได้

โชว์ความคืบหน้า 3 เดือนนโยบายกัญชายันไม่ทิ้งนโยบาย 6 ต้น

นายอนุทิน กล่าวถึงนโยบายกัญชา ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า ได้ผลักดันนโยบายนี้มาเป็นเวลา 3 เดือนเต็ม ซึ่งผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ จากที่กัญชาต้องอยู่ใต้ดิน ไม่มีโอกาสที่จะขึ้นมาบนดิน วันนี้จะเห็นว่าหลายโรงพยาบาลมีคลีนิคกัญชา ให้บริการใช้กัญชารักษาโรค องค์การเภสัชกรรม มีสารสกัดจากกัญชา ส่งไปยังหลายโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้รักษาประชาชน

สำหรับโรงพยาบาลเอกชน สามารถประสานขอใช้ได้เช่นกัน โดยแพทย์ที่จ่ายยา ต้องผ่านการอบรมอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้น หมอพื้นบ้าน มีโอกาสนำสูตรยากัญชามาขึ้นทะเบียน ระหว่างการใช้รักษา ได้มีการจดบันทึกผลการรักษาอยู่ตลอด นี่คือรูปธรรมที่เกิดขึ้น เป็นความพยายามเปลี่ยนกัญชาจากผู้ร้ายให้เป็นพระเอก ส่วนกัญชง ได้ออกประกาศ ให้ขึ้นมาอยู่บนดินแล้ว เราพยายามทำอย่างเต็มที่

นายอนุทิน กล่าวต่อว่าเรื่อง 6 ต้นที่เคยหาเสียงไว้ จำเป็นต้องมีการแก้กฎหมาย เพราะมันไม่เหมือนเรื่องการใช้ทางการแพทย์ ที่สามารถใช้อำนาจของรัฐมนตรีแก้ไขได้เลย แต่นโยบาย 6 ต้น เกี่ยวพันกับหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ต้องแก้กฎหมาย ผ่านสภา ซึ่งได้นำกฎหมายเข้าไปแล้ว 2 ฉบับ นายชวน หลักภัย ประธานสภา มารับเรื่องด้วยตนเอง เท่ากับนับ 1 แล้ว จากนี้ กระบวนการจะเป็นไปตามขั้นตอน เราเดินหน้าอย่าวรัดกุม รอบคอบ มันมีเรื่องต้องพิจารณามากมาย เราลุยแน่ ขอให้ใจเย็น

“สมมุติ ถ้าทำนโยบายกัญชาแบบไม่รอบคอบ ปล่อยให้ประชาชนพกสารสกัดกัญชาไปไหนมาไหน แล้วพกไปต่างประเทศแบบไม่มีความรู้ เผลอนำเข้าไปในประเทศที่ยังให้กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ หากถูกจับได้ แม้จะอธิบายว่าไม่ตั้งใจ แต่ก็ต้องโดนโทษหนักมาก ถ้าเราไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนี้ มันต้องทำนโยบาย และวางมาตรการอย่างรอบคอบที่สุด แต่ขำย้ำว่า ถึงมันจะยาก แต่พรรคภูมิใจไทยต้องพยายาม”

นายอนุทิน กล่าวทิ้งท้ายว่า นโยบายกัญชา หลักใหญ่คือต้องเป็นไปเพื่อการรักษาโรค เมื่อทำสำเร็จ กัญชากลายเป็นพระเอก การดำเนินนโยบายต่อไปจะง่ายทันที ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ นโยบายนี้ ไม่ใช่แค่ฝ่ายการเมืองขยับ แต่ข้าราชการก็ทำงานเต็มที่ ไม่มีเกียร์ว่าง เพราะรัฐมนตรีมาด้วยความวางใจของประชาชน ต้องตอบแทนประชาชน ต้องทำงาน ให้เกิดผลจับต้องได้ โดยอาศัยการขับเคลื่อนของข้าราชการอีกต่อหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่มีข้าราชการที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามแน่นอน

ขอเชิญร่วมทำบุญทอดกฐินสามัคคีสมทบทุนสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิ 2 หลวงปู่ดังบึงกาฬ-หนองคาย

People Unity : ขอเชิญร่วมทำบุญทอดกฐินสามัคคีสมทบทุนสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิ 2 หลวงปู่ดังบึงกาฬ-หนองคาย ที่วัดโนนสำราญบึงกาฬ

ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี เพื่อสมทบทุนสร้างเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุ พร้อมอัฐิ 2 หลวงปู พระธรรมปริยัติมุนี(หลวงปู่ เขมจารี) พระครูภาวนานุศิษย์ (หลวงปู่คำสิงห์ สุภทฺโท) ที่วัดโนนสำราญ ต.โสกก่าม อ.เซกา จ.บึงกาฬ ระหว่างวันที่ 9-10 พ.ย.2562

“ธนาธร”ขอโทษพาดพิง”ทักษิณ”ไม่เหมาะสมในศาลรธน.

People Unity : “ธนาธร”โพสต์เฟซบุ๊ก ขอโทษพาดพิง”ทักษิณ” ไม่เหมาะสมในศาลรธน. ขณะที่ “หมวดเจี๊ยบ” สุดข้องใจถามทำไมต้องพูดแขวะ

วันที่ 18 ต.ค.2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว”Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ขอโทษที่มีการพูดพาดพิงถึงอดีตนายกฯ นายทักษิณ ชินวัตร โดยมีเนื้อหาว่า เมื่อกลับมาฟังสิ่งที่ผมพาดพิงถึงคุณทักษิณในระหว่างการไต่สวนในศาลวันนี้ ผมยอมรับว่าตนเองกระทำไม่เหมาะสมที่กล่าวถึงบุคคลที่สามเช่นนั้นผมเองเจตนาจะบอกว่า ผมตั้งใจที่จะออกจากธุรกิจเมื่อตัดสินใจเข้าสู่การเมือง และทราบดีว่าสังคมจ้องจับตาเรื่องนี้ จึงพยายามสร้างมาตรฐานให้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ด้วยบรรยากาศในศาลทำให้ผมสื่อสารออกมาผิดพลาด ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

“หมวดเจี๊ยบ”สุดข้องใจถามทำไมต้องพูดแขวะ

ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใด นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงต้องกล่าวพาดพิงถึงอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ให้ได้รับความเสียหาย ทั้งๆ ที่ในการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ นายธนาธร ควรต้องเอาพยานหลักฐานไปแสดงต่อศาล เรื่องการถือหุ้นสื่อ แต่ก็แปลกเพราะพอเป็นเรื่องของตัวเอง นายธนาธร กลับอ้างว่า จำเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ได้เลย แม้แต่เรื่องง่ายๆ ที่คนมีสติสัมปชัญญะ โดยเฉพาะคนที่คิดการใหญ่ถึงขั้นเสนอตัวเป็นแคนดิเดต นายกฯ ควรต้องจดจำ เพราะเป็นเรื่องกติกาในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เช่น ตัวเองโอนหุ้นก่อนหรือหลังกำหนดวันหาเสียง นายธนาธร กลับอ้างว่าจำไม่ได้ว่าตัวเองทำอะไรก่อน-หลัง แต่นาย ธนาธร กลับรู้ดีว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ คิดอะไรหรือทำอะไร

ที่สำคัญ นายธนาธร ย่อมต้องเล็งเห็นล่วงหน้าอยู่แล้วว่า สิ่งที่นายธนาธรพูดในศาลเกี่ยวกับอดีตนายกฯทักษิณ จะต้องกลายเป็นประเด็นให้ทีมงานโซเชียลเอาไปโพสต์ โจมตี อดีตนายกฯ ทักษิณ ในโลกออนไลน์ ซึ่งตนไม่เข้าใจว่า นายธนาธร ทำแบบนี้เพื่ออะไร ทั้งนี้ ตนเองไม่ได้พูดในฐานะรองโฆษกพรรค แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว โดยไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพรรคฝ่ายค้าน และตนกำลังพูดถึง นายธนาธร ไม่ได้พูดถึงพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก็ต้องขออภัยผู้บริหารพรรคล่วงหน้า หากทำให้พรรคไม่สบายใจ แต่ที่พูดเพราะสงสัยจริงๆ ว่า นายธนาธร พูดถึงแต่เรื่องของตัวเองไม่ได้เหรอ ทำไมนายธนาธร จึงกล่าวพาดพิง อดีตนายกฯ ทักษิณให้ได้รับความเสียหาย ทั้งๆ ที่ นายธนาธร ควรใช้เวลาในศาลเพื่อชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แล้วนายธนาธร จะพูดแขวะอดีตนายกฯ ทักษิณ เพื่ออะไร

“ไพศาล”ตบะแตก! ฉะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอภิปรายส่งเดช แหกตาปชช.

People Unity : “ไพศาล”ตบะแตก! ฉะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอภิปรายส่งเดช แหกตาปชช. ยันกู้เงินชดเชย 5 แสนล้านไม่เกี่ยวขาดทุนจากการรับจำนำข้าว

วันที่ 19 ตุลาคม 2562 นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี โพาค์เฟซบุ๊ก ระบุว่า น่ารำคาญการอภิปรายส่งเดช

อภิปรายไปได้อย่างไร ว่าที่ต้องกู้เงินชดเชยงบประมาณเกือบ 5 แสนล้าน เพราะขาดทุนจากการรับจำนำข้าว!
มันไม่ได้เกี่ยวกันเลย
เหตุที่ ต้องกู้เงินชดเชยงบประมาณเกือบ 500,000 ล้าน เพราะตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ 3.2 ล้านบาท แต่หารายได้ ทุกประเภทรวมกันไม่พอ
ยังขาดอีกเกือบ 5 แสนล้าน จึงต้องกู้ยืมเงิน มาชดเชยงบประมาณ
เรื่องมันก็เท่านี้
อภิปรายส่งเดชแหกตาประชาชนแบบนี้
แย่มากๆๆ

ศรัทธาล้น! ทอดกฐินสามัคคีวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ “ม.สงฆ์ มจร”

People Unity : ศรัทธาล้น! ทอดกฐินสามัคคีวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ “ม.สงฆ์ มจร” สมทบทุนสร้างศาสนสถาน พระสงฆ์นานาชาติจากจตุรทิศประกอบสังฆกรรม อธิการบดีเผยเป็นจิ๊กซอตัวสุดท้ายที่แสดงออกถึงการเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพระพุทธศาสนาโลก

วันที่ 26 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินสามัคคีที่วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มียอดบริจาคร่วมทั้งสิ้นประมาณ 12 ล้านบาท

พระราชปริยัติกวี ได้พูดถึง มจร และวัดไว้ว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายให้ มจร เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว เป็นแหล่งศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่ กราบไว้บูชา สักการะ และเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาระดับโลก ซึ่งวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ ถือเป็นจิ๊กซอตัวสุดท้าย ที่แสดงออกให้เห็นถึงการเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพระพุทธศาสนาโลก

“มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สร้างขึ้นเพื่อดูแลด้านวิชาการ ส่วนวัดมหาจุฬา ได้สร้างขึ้นเพื่อดูแลด้านวิชาชีวิต เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัย และวัด ต้องรวมเป็นอนึ่งอันเดียวกัน” อธิการบดี มจร กล่าว

ขณะที่พระเทพปวรเมธี,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการสร้างศาลาการเปรียญซึ่งใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาว่า ที่มาของการสร้างวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศได้ดำเนินตามนโยบายพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร.กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร สมัยดำรงตำแหน่งอธิการบดี การสร้าง มจร ต้องสร้างวัดอยู่ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ จึงจำเป็นต้องทำสังฆกรรม ต้องมีที่อยู่จำพรรษา จึงเป็นนโยบายหลัก ต้องสร้างวัดในมหาวิทยาลัย จากนั้น ได้รับความเมตตาโดยพระพรหมมังคลาจารย์ หลวงพ่อปัญญา ได้ทำการสร้างอุโบสถ์กลางน้ำแต่ว่าสร้างเสร็จแล้ว ยังไม่ได้ดำเนินการยกเป็นวัด เนื่องจากยังสร้างอาคารต่างๆในมหาวิทยาลัยไม่สมบูรณ์ ต้องสร้างมหาจุฬาให้เกือบสมบูรณ์ก่อนจึงค่อยสร้างวัด การสร้างมหาจุฬา

พระเทพปวรเมธี กล่าวต่อว่า บัดนี้ มจร เกือบจะครบเสร็จสมบูรณ์แล้ว สิ่งต่อไปที่จะทำคือการปลูกต้นไม้เป็นพื้นที่สีเขียว จากนั้นจึงดำเนินการสร้างวัด โดยขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ด้วยพื้นที่ 53 ไร่เศษ และเสนอมหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบ ก็จะเป็นวัดที่สมบูรณ์ ถูกต้องตามกฎหมายในเร็วๆนี้

การสร้างวัดนั้น ไม่ได้แยกโฉนดที่ดินจากวัดมหาจุฬาฯและจำเป็นจะต้องขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ในการสร้างวัด เพราะไม่ต้องการให้วัดแยกส่วนกับมหาวิทยาลัย ที่ดินได้มาจากผู้บริจาคสร้างวัด 15 ไร่ คือคุณทองเล็ก ไม้ตราวัฒนา

การสร้างศาลาการเปรียญในครั้งนี้ อาคารมีชื่อว่า ศาลาการเปรียญ ดร.อุไรศรี คนึงสุขเกษม ซึ่งมีที่มาของชื่อวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ แห่งนี้ ความหมายคือ สร้างวัดขึ้นเพื่ออุทิศถวายล้นเกล้ารัชกาลที่ 5

ศาลาหลังนี้มีต้นแบบอาคาร จากวัดนวมินทราชูทิศ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ได้รับการออกแบบโดย ศ.สมศักดิ์ ธรรมเวชวิถี และมี ดร.อุไรศรี เป็นเจ้าภาพในการสร้างศาลาหลังนี้ งบประมาณการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งสิ้น 77 ล้าน มีระบบสาธารณูปโภคครบ สายไฟลงใต้ดิน และมี รศ.ดร.อุไรวรรณ เป็นเจ้าภาพสร้างหมู่กุฏิเจ้าอาวาส น้องสาวด้วยงบประมาณ 12 ล้านบาท ส่วนหมู่กุฏิ คือแม่ชีทองสุข นามเจ็ดสีและคณะงบประมาณ 12 ล้านบาทเช่นกัน จากนั้นจะจัดพื้นที่สีเขียวเป็นลานธรรม เพื่อตอบสนองพันธกิจ ด้านงานบริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาแก่สังคม

พระเทพปวรเมธี กล่าวด้วยว่า ต่อมาดร.อุไรศรี คนึงสุขเกษม เจริญศรัทธาจึงได้ขอเป็นเจ้าภาพ สร้างพระพุทธนิมิตองค์ใหญ่ สูง 198 นิ้ว หน้าตัก 129 นิ้ว สร้างถวายไว้เป็นอนุสรณ์ ให้ได้กราบไหว้บูชา งบประมาณ สร้างพระพุทธรูป และ เครื่องใช้ในวัด จำนวน 5 ล้านบาท และคุณอริสา จะสร้างสะพานเชื่อมที่สระน้ำ ที่สามารถถ่ายภาพ เป็นแลนด์มาร์คของมหาวิทยาลัยและวัดได้ หมู่กุฏิจะขุดสระล้อมรอบ และส่วนสุดท้ายที่กำลังจะสร้างคือรั้วรอบบริเวณวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ ล็อกละ 3 หมื่นห้าพันบาท ยังรับเจ้าภาพ กำแพงหน้าวัด และประตูหน้าวัดเป็นทางเข้า หน้าอุโบสถ์กลางน้ำ เป็นลานธรรม นั่งสมาธิ สวดมนต์ เจริญศรัทธา นี่คือ ที่มาคร่าวๆ ของการสร้างวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ

สธ.เชิญชวนประชาชนร่วมสร้างกุศลบริจาคอวัยวะให้ชีวิตใหม่เพื่อนมนุษย์

People Unity News : กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนประชาชนร่วมสร้างกุศลบริจาคอวัยวะ ให้ชีวิตใหม่เพื่อนมนุษย์ ลดความพิการแก่ผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะโดยผู้บริจาค 1 คนจะช่วยผู้ป่วยได้ถึง 8 คน

วันที่ 27 ต.ค.2562 นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสภากาชาดไทย ได้จัดทำโครงการบริจาคอวัยวะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 รณรงค์ให้ประชาชนร่วมแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะและดวงตา เพื่อช่วยชีวิตและลดความพิการแก่ผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งผู้บริจาค 1 คนจะช่วยผู้ป่วยได้ถึง 8 คน

นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทารวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญในการดำเนินงานระบบบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะให้มีความเข้มแข็งพัฒนาระบบบริการสุขภาพ(Service Plan) สาขาการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ร่วมมือกับสภากาชาดไทยจัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ และพัฒนาทีมจัดเก็บอวัยวะในทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด มีโอกาสเข้าถึงบริการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไตและดวงตา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ผมและชาวกระทรวงสาธารณสุข ขอชื่นชม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ท่านเป็นต้นแบบที่ดีของผู้บริจาคอวัยวะ จิตอาสาช่วยเหลือขนส่งอวัยวะด้วยการขับเครื่องบินส่วนตัว และสนับสนุนงานบริจาคอวัยวะช่วยชีวิตผู้ป่วยที่รอความหวัง” นายแพทย์สุขุมกล่าว

ทั้งนี้ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับการบริจาคอวัยวะจำนวน 6,311 ราย มีผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคเพียงร้อยละ 9.1 หรือผู้รอรับอวัยวะ 10 คน มีโอกาสได้อวัยวะ 1 คน เท่านั้น และผู้รอรับดวงตา 13,510 ราย ปัจจุบันสามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ปีละ 500 – 700 ราย และปลูกถ่ายกระจกตา ได้ปีละ 700 – 800 ราย ผู้มีจิตศรัทธาต้องการบริจาคอวัยวะและดวงตา ติดต่อได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย โทร. 02 256 4045, 02 256 4046 ในวันและเวลาราชการ และศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย โทร. 02 256 4039, 02 256 4040 ในวันและเวลาราชการ

โฆษณา

“ม.สงฆ์ มจร” มุ่งพัฒนา “MCU TV” ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกสื่อสารในยุคปัจจุบัน

People Unity : “ม.สงฆ์ มจร” มุ่งพัฒนา “MCU TV” ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกสื่อสารในยุคปัจจุบัน กำหนดประชุมคณะกรรมการบิหาร 2 เดือนต่อครั้ง เพื่อประเมินผลของการพัฒนาสถานี

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ. วังน้อย จ. พระนครศรีอยุธยา พระครูโสภณพุทธิศาสตร์ ,ผศ.ดร.รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ ในฐานะประธานคณะกรรมการบิหารสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาและเผยแผ่ธรรมะ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาฯ (MCU TV) เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการขับเคลื่อนกลยุทธ์เชิงรุก และจัดทำแผนพัฒนาสถานีโทรทัศน์ MCU TV 5 ปี

โดยมีคณะกรรมการเข้าร่วมกระชุม อาทิ พระสุวรรณเมธาภรณ์, ผศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พระเมธีธรรมาจารย์,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตรายการโทรทัศน์มาร่วมให้คำแนะนำใน เช่น พระเทพสุวรรณเมธี นายมานพ จีรกาญจน์ไพศาล นางขวัญเรือน แก้วพิจิตร โดยที่ปีะชุมได้ให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะใน การผลิตโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเนื้อหาออกอากาศให้ทันเหตุการณ์และเผยแพร่ควบคู่ไปกับสื่อออนไลน์ ปรับปรุงอุปกรณ์ให้มีความทันสมัย

จัดการบริหารเป็นสัดส่วน เน้นบุคลากรภายใน และสร้างเครือข่ายจากวิทยาเขตวิทยาลัยสงฆ์ ในเครือของมหาวิทยาลัย และประสานความร่วมมือจากบุคลากรภายนอก ในการผลิตรายการ รวมถึงงบประมาณจัดสรรในการผลิตรายการ นอกจากนี้ ต้องเน้นกลยุทธ์ ปรับผังรายการให้เข้ากับยุคสมัยและหารายได้จากภายนอกเข้ามาสนับสนุนการผลิตรายการในสถานีโทรทัศน์ MCU TV และได้กำชับในการใช้ลิขสิทธิ์ในถูกต้อง พร้อมทั้งเน้นเนื้อหาด้านข่าวให้มีความรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ นำออกเผยแพร่ทั้งทางดาวเทียมและสื่อออนไลน์ เพื่อกระจายให้สังคมรับรู้ข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยและของคณะสงฆ์ โดยให้ผู้บริหารนำไปพิจารณา ปรับปรุงแล้วนำเสนอในการประชุมต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร ระยะเวลา 2 เดือนต่อครั้ง เพื่อประเมินผลของการพัฒนาสถานีต่อไป

“สุวิทย์”แจงสภาฯ เร่ง Re-skill Up-skill คนรับดิสรัปชั่น

People Unity : “สุวิทย์” แจงสภาฯ อว.เร่งพัฒนาคนทั้งการศึกษา ในและนอกระบบ รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

วันที่ 19 ต.ค.2562 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงภารกิจสําคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือ การเตรียม ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 โดยมีภารกิจสําคัญสามเรื่อง คือ การสร้างและพัฒนาคน การวิจัยเพื่อสร้างความรู้ และการสร้างและพัฒนานวัตกรรม เรื่องการสร้างคน ภารกิจ อว. ไม่ได้เน้นการผลิตบัณฑิตอย่างเดียวแล้ว ซึ่งการผลิตบัณฑิตแต่ละปี ประมาณ 2.5 ล้านคน แต่ต้องขยายไปถึงคนที่อยู่ในการทํางาน จําเป็นต้อง Re-skill Up-skill เพราะโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน แรงงานที่มีอยู่อาจตกงาน และต้องมีการเปลี่ยนงานมากกว่า 38 ล้านคน ประเด็นที่หลายท่าน ได้อธิบายไปแล้วเรื่องคนสูงวัยนั้น ภารกิจ อว. คือ การทํางานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ เพื่อการศึกษาและเรียนรู้ ของคนสูงวัยจํานวน 11 ล้านคน บทบาทนี้ไม่เพียงแต่การศึกษาเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต อีกประเด็น หนึ่งซึ่งมีสมาชิกบางท่านห่วงใยเรื่องการเปิดหลักสูตรจํานวนมาก ซึ่งหลักสูตรจํานวนหนึ่งเป็นหลักสูตรที่ตอบ โจทย์อาชีพ เช่น บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ไม่เพียงแต่การเรียนการสอนในระบบ Degree แต่มี Non-degree ด้วย

นอกจากนี้เรื่องการสร้างองค์ความรู้ การลงทุนวิจัยและพัฒนา 5 ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วน 0.48% ต่อ GDP วันนี้ ได้ขยับขึ้นเป็น 1.1% ต่อ GDP และจะเพิ่มขึ้นไปต่อเนื่อง โดยภายใน 5 ปี ควรขยับจาก 1.1% เป็น 1.5% ต่อ GDP หรือ 280,000 ล้านบาท ซึ่งงบวิจัย 80% จะมาจากเอกชน เป็นตัวคูณสมทบเพิ่มไปอีก 4-5 เท่า ของงบ วิจัยภาครัฐ 24,000 ล้านบาท

ส่วนประเด็นคําถามที่ว่างานวิจัยจะไปสู่จุดไหนนั้น จากเดิมเป็นเบี้ยหัวแตก ต่างคนต่างทํา แต่ อว. มุ่งเน้นว่าการวิจัยต้องตอบโจทย์ประเทศ โจทย์เอกชน โจทย์จากชุมชน โดยแบ่งงานเป็น 4 ส่วน คือ 1) การ พัฒนาคน (Brain power และ Man power) 2) การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 3) การลดความเหลื่อมล้ํา พัฒนาพื้นที่ ให้ความสําคัญกับเศรษฐกิจฐานราก และ 4) การวิจัยตอบโจทย์ท้าทายสังคม เช่น ปัญหาขยะ ภาวะ โลกร้อน ซึ่งได้แบ่งเป็น 16 โปรแกรม

จุดสําคัญคือ งานวิจัยต้องมีเป้าหมาย นายกรัฐมนตรีจึงเน้นเศรษฐกิจ BCG ซึ่งรวมด้านเกษตร อาหาร การแพทย์ สุขภาพ พลังงาน วัสดุชีวภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เน้นเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สร้างมูลค่า ได้ 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21% GDP และจะขยับเป็น 4.4 ล้านล้านบาท ใน 3-4 ปีข้างหน้า ประชาชน 18 ล้านคน จะได้ประโยชน์ เช่น จากการยกระดับเกษตรกรเป็น Smart farming การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สร้าง งานเพิ่มขึ้น รายได้เกษตรกร เพิ่มขึ้น

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะเรียนเพิ่มเติมคือ อว. ขับเคลื่อนงานรองรับโดยการยกเครื่องมหาวิทยาลัย ภารกิจที่ผ่านมา คือ การเดินหน้าปลดล็อกข้อจํากัดของมหาวิทยาลัย แบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 Track หรือ ลู่วิ่ง มหาวิทยาลัย จะตอบตัวเองว่าจะวิ่งลู่ไหน ลู่วิ่งที่ 1 มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้แข็งนานาชาติ/ระดับโลก ลู่วิ่งที่ 2 มหาวิทยาลัยซึ่งเน้นเทคโนโลยีและภาคอุตสาหกรรม ลู่วิ่งที่ 3 ซึ่งต่อไปจะมีความสําคัญมาก คือ มหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่

“มนัญญา”ลั่นเดินหน้าดูแลเยียวยาเกษตรกรได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม

People Unity : “มนัญญา” น้อมคารวะ คกก.วัตถุอันตราย แบน 3 สารพิษเกษตร มีผลทันที 1 ธ.ค.นี้ ขอบคุณมอบสิ่งที่ดีที่สุดกับคนไทย ลั่นเดินหน้าดูแลเยียวยาเกษตรกรได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม”

วันที่ 22 ตุลาคม 2562 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังรับทราบมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร ให้มีผลวันที่ 1 ธ.ค.2562ว่า ขอน้อมคารวะ คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีมติตามความเห็นของ 3 กระทรวงให้แบน 3 สารเคมี ขอขอบคุณที่มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนไทย ซึ่งเรื่องนี้ไม่อยากให้พูดว่าเป็นชัยชนะของใคร มองว่าทุกฝ่ายเป็นคนไทยด้วย ต้องทำให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดกับประเทศไทยและปลอดภัยทุกกลุ่ม ทั้งเกษตรกร และผู้บริโภค

หลังจากนี้กระทรวงเกษตรฯจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ว่าต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาดูว่า ปุ๋ยอินทรีย สารชีวะภัณฑ์ ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาการขึ้นทะเบียนไม่ได้ จะมีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฏหมายได้ รวมถึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเกษตรกร เช่นควรมีการเก็บตัวอย่าง พืชสมุนไพรไทย ที่มีฤทธิ์จำกัดศัตรูพืช ในแต่ละช่วงของพืชสมุนไพร ดูว่าช่วงไหนให้ประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อนำมากำหนดเงื่อนเวลา มาตรฐานการผลิต มาตรฐานการใช้ได้ ซึ่งจะเป็นการเปิดกว้างให้เกษตรกร ได้มีทางเลือกใช้ทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้แม้จะไม่มีสาร3ตัว แต่ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตร ได้อนุญาตให้นำเข้าตามกฏหมาย อยู่แล้วหลายร้อยชนิด ซึ่งเกษตรกรใช้อยู่กันเป็นประจำ

“ใครต้องการเสนอสิ่งที่ดีในการทำเกษตร มาหาพี่ได้ ให้มาร่วมมือกันทุกอย่างเพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ประเทศ พร้อมดูแลเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าชนิดพืชใด จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูแลเกษตรกร เพื่อให้ตรงกับความต้องการ ส่งไปตรวจสอบความเป็นอยู่เกษตรกร ให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่เกษตรกรต้องการให้ช่วยเหลือ นอกจากนี้จะเปิดกว้างให้ขึ้นทะเบียน ปุ๋ยอินทรีย์ สารทดแทน สารชีวภาพ ยังมีหลายตัวให้มาขึ้นทะเบียน จากที่ไม่เคยผ่านการอนุญาตให้จดทะเบียน โดยจะมาหารือกันทำอย่างไรให้สูตรต่างๆถึงเกษตรกร สามารถนำไปทำเองใช้ได้แพร่หลายด้วย” น.ส.มนัญญา กล่าว

รมช.เกษตรฯกล่าวว่าถ้าถามความรุ้สึกวันนี้ ไม่เป็นชัยชนะฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใด ซึ่งจะให้บอกความรู้สึกบอกไม่ถูก จริงๆแล้วพี่เป็นคนของพี่น้องประชาชน จะดีใจ หรือเสียใจ คงไม่ได้ ถ้าถามว่ามาตรการเดินหน้าต่อไปคือดูแลผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด

“วันนี้พี่ชาดา ไทยเศรษฐ์ ห่วงสถานการณ์ไม่ค่อยปกติ ได้เรียกตัวให้กลับบ้าน จ.อุทัยธานี ท่านอยากดูแล” น.ส.มนัญญา กล่าวและว่า

วันนี้ประชุมครม. ไม่ได้ไปนั่งเฝ้าหน้าห้องประชุมคก.วัถตุอันตราย ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้ คงไม่ใช่ตัวเราคนเดียว มาจากพี่น้องประชาชนทุกคนทุกฝ่าย ใครๆก็อยากทานอาหารปลอดสารปลอดภัย ไม่ใช่ชัยชนะของใคร ขอบคุณทุกฝ่ายอีกครั้ง ทุกหน่วยงานร่วมกันสนับสนุนการแบนสาร

แหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่าที่ผ่านมาในการขึ้นทะเบียนให้เกษตรกรมาเข้ารับอบรมการใช้สารเคมี ตามมาตรการจำกัดการใช้ มีเพียง 4-5 แสนคนเท่านั้น หากเทียบเคียงกับเกษตรกร ผู้ปลูกสวนยาง 1.4 ล้านราย มีพื้นที่ปลูกยาง 17ล้านไร่ ผู้ปลูกอ้อย 8แสนราย พื้นที่ปลูก8ล้านไร่ และเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง 1.8 ล้านไร่ ปลูกข้าวโพด 4 ล้านไร่ ปาล์มน้ำมัน7ล้านไร่ แต่การที่มีเกษตรกรมาขอขึ้นทะเบียนอบรมใช้สาร เพียงเท่านี้ หมายถึงว่าเกษตรกรส่วนใหญ่กว่า 30 ล้านราย ไม่จำเป็นต้องใช้สาร 3 ตัวนี้ นอกจากนั้นในการใช้พาราควอต จำกัดหญ้า จะใช้เริ่มปลูกต้นยางในช่วงอายุต้นยาง 1-4 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่ใช่ เมื่อเปิดกรีดได้ และผู้ปลูกยางรายใหม่ ถ้าพิจารณาจากโครงการส่งเสริมของรัฐปลูกยางใหม่ ทดแทนสวนยางเก่า มีพื้นที่ปีละ 4 แสนไร่ ทำให้เห็นว่าปริมาณนำเข้าสารเคมีที่ผ่านมามากเกินกว่าจำนวนพืชไร่ พืชสวน ที่จะใช้สาร ที่มีความจำเป็นต้องใช้

“SPCG”หนุน “สนพ.” ดึงองค์ความรู้พลังงานหมุนเวียนต่อยอดธุรกิจ

People Unity : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ผู้แทน SPCG ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในโครงการ THE ENERGiST2 by EPPO ภายใต้หัวข้อ “Renewable Energy Policy or Business Driven?”ณ อาคาร True Digital Park

เมื่อวันที่ 27ตุลาคม 2562ที่ผ่านมา ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” มอบหมายให้ นางนรินพร มาลาศรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนขึ้นบรรยายในโครงการTHE ENERGiST2 by EPPO ภายใต้หัวข้อ “Renewable Energy Policy or Business Driven?”หรือ “นโยบายทางด้านพลังงานหมุนเวียน หรือธุรกิจทางด้านพลังงานหมุนเวียน อะไรคือตัวนำในการขับเคลื่อนระบบนิเวศทางด้านพลังงานของประเทศไทย” จัดขึ้นณ อาคาร True Digital Parkโดยโครงการครั้งนี้

มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการ ผู้ประกอบธุรกิจพลังงาน ผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยี นิสิตและนักศึกษา รวมทั้งประชาชนได้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมกันสร้างสรรค์นโยบายเพื่อต่อยอดธุรกิจด้านพลังงานไทย และร่วมกำหนดนิยามความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายและการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์และต่อยอดระบบนิเวศด้านพลังงานของประเทศไทยให้พัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นางนรินพรได้กล่าวว่าบริษัท SPCG ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟรายแรกของประเทศไทยและประชาคมอาเซียนด้วยโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้งในและต่างประเทศรวมกำลังการผลิตทั้งสิ้นกว่า 300 เมกะวัตต์ซึ่งธุรกิจของเรานอกจากจะเป็นธุรกิจด้านพลังงานสะอาดแล้ว ยังสามารถช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่ากับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 200,000 ตัน CO2ต่อปี อีกด้วย

ในส่วนของการบรรยายนั้น นางนรินพร กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีเงินสนับสนุนส่วนเพิ่มพิเศษจากค่าไฟฟ้าปกติ (Adder) และ Feed in Tariff (FIT) ทำให้ภาคธุรกิจ ทางด้านพลังงานหมุนเวียน มีการเติบโต สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหลักร้อยเป็นหลักพัน โดยในปี 2564 จะมีปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 3,272 เมกะวัตต์ และจากแผน PDP 2018 รัฐบาลประกาศให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี ทั้งหมด 1,000 เมกะวัตต์ โดยเริ่มดำเนินโครงการในปี 2562 เป็นต้นไป รวมถึงจะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ในช่วงปี 2561-2580 กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 10,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน จะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจการลงทุน ในโครงการที่รัฐบาลมีนโยบาย หรือกลไกสนับสนุนที่เหมาะสม สมเหตุสมผล จูงใจแก่นักลงทุน สนใจมาลงทุนโดยไม่ลังเลใจหรืออยู่บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่ารูปแบบการสนับสนุนไม่จูงใจให้เกิดการเข้าร่วมโครงการ โดยจะเห็นได้จากผลการดำเนินโครงการช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการในจำนวนที่น้อย และผลที่ได้มีขนาดรวมไม่ถึงเมกะวัตต์ จาก 121 หลังคาเรือน ห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้ 15,000หลังคาเรือนหรือ 100 เมกะวัตต์ ในปี 2562

Verified by ExactMetrics