People Unity : รมว.พลังงาน แจงปมเลิกอุดหนุนแก๊สโซฮอล์-ไบโอดีเซล มั่นใจยกบี10 แทนบี7 แก้ปัญหาปาล์มน้ำมันทั้งระบบอย่างยั่งยืน เหตุน้ำมันไทยต่างเพื่อนบ้านเพราะโครงสร้าง พร้อมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าอาเซี่ยน พ้องบน้อยแต่จะใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 19 ตุลาคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร กรณีที่สมาชิกมีความเป็นห่วงต่อพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะมีการยกเลิกสนับสนุนเรื่องแก๊สโซฮอล์หรือไบโอดีเซลในอีก6 ปีข้างหน้าว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่งก็ตระหนักถึงปัญหานี้ และกระทรวงพลังงานจะต้องดำเนินการในการขับเคลื่อนให้สามารถดำเนินการได้อย่างไร สาเหตุที่พ.ร.บ.ตัดกองทุนน้ำมันออกไปเพราะประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเรื่องไบโอดีเซล แก๊สโซฮอล์ในอดีต ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ขับเคลื่อนเอาน้ำมันบี10 เป็นน้ำมันพื้นฐานของไบโอดีเซล โดยจะเริ่มวันที่ 1 ม.ค.2563 ซึ่งการใช้บี10 เป็นพื้นฐานขับเคลื่อนไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์ของจุดเริ่มในการแก้ปัญหาที่จะพิสูจน์ว่าเป็นการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันทั้งระบบอย่างแท้จริง

ประเทศไทยประสบปัญหาปาล์มน้ำมันมา 20-30 ปี เราไม่สามารถหาทางออกได้เพราะเรามีตัวซัพพลายมากกว่าความต้องการในตลาดในประเทศ 4-5 แสนตันต่อปี ไม่มีความสามารถในการแข่งขันที่จะส่งออกปาล์มน้ำมันไปสู่ประเทศอื่นเพราะเราเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันของโลก เพียงแค่ประมาณ 5% เทียบแล้วเรามีขนาดเล็กมาก และมีต้นทุนของเกษตรกรสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทางออกเดียวที่จะรักษาเสถียรภาพปาล์มน้ำมัน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 5 พืชเศรษฐกิจสำคัญคือการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง

“กระทรวงพลังงานได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยการให้บี10 เป็นน้ำมันพื้นฐานจากบี7 คาดว่าไม่เกินไตรมาสที่ 2 เราสามารถที่จะเพิ่มปริมาณการใช้ CPO ขึ้นมาประมาณ 4 แสนตัน โดยจะใช้มาทำบี10 บี20 ประมาณปีละ 2.2 ล้านตันต่อปี ถือเป็น 2 ใน 3 ของผลผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศ และเป็นครั้งแรกของประเทศที่ซัพพลายของปาล์มน้ำมันจะสมดุลย์กับดีมาน และเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาสเถียรภาพของราคาปาล์มน้ำมัน”

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานจะให้ความใส่ใจในการดูแลสต๊อกB100 เพราะจะเป็นพื้นฐานในการนำมาผลิต บี7 บี10 บี20 โดยการที่จะใส่มาร์กเกอร์ลงไปในB100 ว่า CPO ทุกลิตรจะถูกควบคุมไม่ให้มีการลักลอบ ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้จะมีโอกาสในการแก้ปัญหาผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เป็นปัญหาเรื้อรังอย่างชัดเจน ดังนั้นความสำเร็จเหล่านี้มีความสำคัญมากในการเป็นเครื่องพิสูจน์ที่จะให้กระทรวงพลังงานหาทางแก้กฎหมายกองทุนให้ได้รับการสนับสนุนอย่างเดิม

นายสนธิรัตน์กล่าวว่าเรื่องของไบโอฟูเอล หรือเชื้อเพลิงชีวภาพ ไม่ได้เป็นเพียงช่วยเกษตรกร แต่ตอนนี้ไทยพบปัญหาที่ใหญ่มากคือPM2.5 ซึ่งจะเป็นเรื่องของไบโอดีเซล หรือเอทานอลก็ดีที่มาใช้กับแก๊สโซฮอล์ เป็นนโยบายที่กระทรวงพลังงานจะขับเคลื่อนเพื่อให้ผลประโยชน์ตกกับเกษตรกรต่อไป

ส่วนเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันที่มีคำถามว่าทำไมราคาน้ำมันในไทยถึงแพงกว่าราคาน้ำมันในมาเลเซีย เพราะไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันเกือบจะ 90% หมายความว่าทุกบาททุกสตางค์ต้องสูญเสียเงินออกนอกประเทศ มีการคำนวณราคาน้ำมันแบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกคือเนื้อน้ำมันที่เราอิงราคามาตรฐานของโลก ซึ่งในเนื้อน้ำมันก็มีคุณภาพของน้ำมันยกตัวอย่างไทยใช้ยูโร4 มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่ใช้ยูโร5 แต่พม่า อินโดนีเซีย ลาว เขมร หรือแม้แต่มาเลเซีย ตัวน้ำมันดีเซลก็ยังเป็นยูโร3 ส่วนที่ 2 เนื่องจากเราเป็นประเทศนำเข้า ได้อาศัยโครงสร้างของน้ำมันซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีท้องถิ่น ในภาษีเหล่านี้ก็คือรายได้ของรัฐบาลที่ใช้ในงบประมาณแผ่นดิน เพราะเราต่างจากมาเลเซียที่ผลิตและส่งออกน้ำมัน ดังนั้นจึงไม่มีโครงสร้างเหล่านี้

ส่วนที่3 เรามีกลไกในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันโดยมี 2 กองทุนใหญ่ๆคือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะใช้รักษาสมดุลช่วงเกิดวิกฤตราคาน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงานซึ่งจะใช้ในการส่งเสริมเรื่องพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน และส่วนที่ 4 ค่าการตลาด ซึ่งในยุคของตนจะเข้าไปดูแลเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามที่โครงสร้างแตกต่างจากเพื่อนบ้าน ไทยก็ไม่ได้ราคาสูงอย่างที่เข้าใจ มีสิงคโปร์ ลาว ฟิลิปปินส์ กัมพูชา หรือแม้แต่อินโดนีเซีย ที่เป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันก็ยังมีราคาดีเซลสูงกว่าเรา ส่วนที่ต่ำกว่าเราจริงๆนั้นก็มี พม่า เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน

“อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ส่วนเวียดนามโครงสร้างราคาน้ำมันคล้ายของไทย ในอดีตที่ราคาน้ำมันของไทยเทียบเท่ามาเลเซีย เพราะรัฐชดเชย ผมตระหนักดีว่าราคาน้ำมันมีผลกับประชาชน เราจะดูแลโครงสร้างเหล่านี้”

ส่วนเรื่องความสามารถในการแข่งขันค่าไฟฟ้า ไทยจะแข่งขันได้จะต้องมีต้นทุนราคาพลังงานที่แข่งขันได้ ซึ่งเราเรียกว่า Competitive Energy ซึ่งเรามุ่งมั่นจะทำเรื่องค่าไฟให้ได้มาตรฐาน มีราคาที่แข่งขันได้ ประเทศไทยมีจุดอ่อนคือไม่มีแหล่งพลังงาน เช่น นิวเคลียร์ หรือถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดได้ยากมากในไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเหล่านั้นได้ แต่ก็มีแผนPDP 2018 ที่จะสร้างโครงสร้างสมดุลใน 20 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายให้มีต้นทุนราคาไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและแข่งขันได้ในอนาคต มีเป้าหมายทำไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้าไฟฟ้าภูมิภาคอาเซี่ยน โดยใช้จุดแข็งคือการเป็น Center of Asean และพยายามพัฒนาเรื่องพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนถูกลงในอนาคต

“กระทรวงพลังงานมีงบน้อยมาก 2,100 กว่าล้าน เทียบกับงบประมาณ 3.2 ล้านล้าน คิดเป็น 0.06% แต่เราจะใช้งบเหล่านี้อย่างมีคุณภาพและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยให้ได้มากที่สุด” นายสนธิรัตน์กล่าว