วันที่ 12 กรกฎาคม 2025

“เศรษฐา” ยันไม่ล้มพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 กุมภาพันธ์ 2567 เบตง – “เศรษฐา” ยืนยันไม่ล้มการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ หลังครบ 11 ปี จากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่พามาเที่ยวเพื่อสร้างโอกาส และย้ำว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับ จชต. เผยนัดกับนายกฯ มาเลเซียมาเที่ยวด้วยกัน แต่ติดภารกิจ หวังพบกันปีหน้า

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่วันนี้ครบรอบ 11 ปี การพูดคุยสันติภาพ ที่เริ่มต้นจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการลงนามในข้อตกลงทั่วไประหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพของไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2566 จนมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการพูดคุยต่อเนื่องจนถึงรัฐบาล นายเศรษฐา ที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการสันติสุข JCPP กับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งจะมีการหาข้อสรุปในการหยุดยิง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยตั้งเป้าให้มีการหยุดยิงภายในปี 2567

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังดำเนินการตลอด แต่การลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ มีความตั้งใจที่จะพูดเรื่องโอกาส และอนาคตที่ดีที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันว่า การพูดคุยไม่ล่ม ส่วนจะมีการยกเลิก พรก.ฉุกเฉินหรือไม่ เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงจะพิจารณา

“มาวันนี้ไม่อยากพูดเรื่องความไม่มั่นคง อยากพูดเรื่องโอกาสและศักยภาพ อยากให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า พี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้รับความเท่าเทียมกับเรา ที่ผ่านมารัฐบาลมีงบประมาณมาที่นี่มากใส่เงินไปแล้ว ไม่สำเร็จเท่าการใส่ใจ”

นายเศรษฐา เปิดเผยด้วยว่า การลงพื้นที่มาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 วัน 2 คืน มีความประทับใจมาก และดีใจที่เป็นนายกรัฐมนตรีในรอบ 10 ปีที่มานอนค้างคืน ถือเป็นการแสดงเจตจำนงว่ารัฐบาลชุดนี้จะนำความเสมอภาค ความเท่าเทียมและโอกาสมาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขอให้ไว้วางใจรัฐบาลนี้ ซึ่งอีกไม่นานจะเริ่มเข้าเดือนรอมฎอนแล้ว ก็จะถือศีลอด อดทน อดกลั้นไปด้วยกัน รัฐบาลจะเชื่อมประชาชนกับประชาชนทั่วประเทศ มาให้ความสำคัญกับโอกาสกับพี่น้องใน จชต. ส่วนความมั่นคงที่ผ่านมา 1 ปี ฝ่ายความมั่นคงก็ทำงานมาด้วยดี ความรุนแรงลดลงไปเยอะมาก จึงอยากเห็นทุกคนมีเงินในกระเป๋าด้วย เชื่อว่า ถ้าเศรษฐกิจดี การศึกษาดี ทุกคนได้รับสิทธิที่เท่ากัน ความสงบสุขก็เกิดขึ้น

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า เดิมได้นัดหมายกับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มาเที่ยวด้วยกันที่ อ.เบตง จ.ยะลา แต่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ติดภารกิจที่ออสเตรเลีย มีการหารือทวิภาคกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งมีการส่งภาพถ่ายมายืนยันว่าไม่ได้เบี้ยว และหวังว่าในปีหน้าจะมาเที่ยวด้วยกัน ซึ่งมาเลเซียก็มีความตั้งใจดีที่จะช่วยแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยซึ่งประชาชนสองประเทศก็มีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม​

Advertisement

นายกฯ ย้ำรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ปกป้องอธิปไตย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 มิถุนายน 2568 นายกฯ ขอบคุณกองทัพและทุกคน ย้ำรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการปกป้องรักษาอธิปไตยของเรา

ที่องค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบถุงยังชีพเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ตัวแทนชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งเป็นราษฎรอาสาสมัครในพื้นที่ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กำหนดในการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบของประชาชนในพื้นที่

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับ ชรบ.ต่อการปฏิบัติหน้าที่ดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้รับมอบดอกกุหลาบสีแดงจากส่วนราชการ และประชาชนที่มาให้การต้อนรับเพื่อให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี ในการทำงานเพื่อประเทศชาติและเพื่อประชาชน

จากนั้น นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปยังฐานปฏิบัติการมรกต ตำบลโดมประดิษฐ์ เพื่อพบปะกำลังพลกองกำลังสุรนารีและมอบสิ่งของบำรุงขวัญ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ความมั่นคง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงพื้นที่มาพบปะทหารทุกนายในวันนี้ ตั้งใจมาให้กำลังใจทหารที่ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ด้วยความกล้าหาญ ด้วยความอดทน อดกลั้นต่อสิ่งที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน ขอชื่นชมในความเสียสละ ที่ต้องห่างไกลบ้าน ห่างไกลครอบครัว และสิ่งสำคัญต้องขอขอบคุณ แม่ทัพภาคที่ 2 รวมถึงผู้บังคับบัญชา ทหารทุกนาย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทำหน้าที่ปกป้องประชาชน ปกป้องประเทศชาติ ปกป้องอธิปไตยอย่างแน่วแน่ ด้วยความมุ่งมั่น อย่างต่อเนื่อง

“ขอให้คำมั่นว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนกองทัพอย่างเต็มที่ ทุกคนคือคนไทย แผ่นดินนี้คือแผ่นดินไทย จะต้องช่วยกันรักษา ทหารเปรียบเสมือนรั้วของชาติ รัฐบาลต้องการให้รั้วของชาติมีสุขภาพดี ทั้งแรงกาย และแรงใจ มีความสุขในการทำหน้าที่ อะไรที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน รัฐบาลยินดีและพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในนามรัฐบาลขอขอบคุณ และขอส่งกำลังใจให้ทหารทุกนาย พร้อมทั้งขอนำกำลังใจจากประชาชนทุกคนมามอบให้ในวันนี้” นางสาวแพทองธาร กล่าว

Advertisement

แห่ให้กำลังใจทหารฐานปฏิบัติการปราสาทตาเมือนธม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 มิถุนายน 2568 หยุดยาว นักท่องเที่ยวแห่ให้กำลังใจทหารฐานปฏิบัติการปราสาทตาเมือนธม พร้อมมอบสิ่งของ เป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงวันหยุดยาวสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (31 พ.ค.-3 มิ.ย.) นักท่องเที่ยวชาวไทย ทยอยเดินทางขึ้นมาท่องเที่ยวบนปราสาทตาเมือนธม ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ กันอย่างคึกคัก ซึ่งการเดินทางมาในครั้งนี้ ต่างไปจากครั้งก่อนๆ ที่ขึ้นมาแล้วเดินชมปราสาทก่อนเข้าไปขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับนำสิ่งของ เครื่องใช้ ข้าวสารอาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และน้ำดื่ม มามอบให้กับทหารกองพันทหารราบที่ 21 หน่วยเฉพาะกิจที่ 2 กองกำลังสุรนารี ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำฐานปฏิบัติการปราสาทตาเมือนธม พร้อมถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก เพื่อเป็นกำลังใจกับทหารผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

ทั้งนี้ ปราสาทตาเมือนธมเป็นหนึ่งในสามปราสาท ที่อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ขอมติจากรัฐสภากัมพูชายื่นต่อศาลโลกเพื่อให้ตัดสินว่าทั้งสามปราสาทนี้เป็นของประเทศไทยหรือของกัมพูชา

Advertisement

“ปณิธาน” ชี้ “ประชามติแยกดินแดน” เป็นบทเรียนสำคัญของภาครัฐ

People Unity News : 13 มิถุนายน 2566 “ปณิธาน” ระบุ กรณีขบวนการ นศ.แห่งชาติทำประชามติแยกดินแดน เป็นบทเรียนสำคัญของทุกหน่วยงานรัฐ ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ หาต้นเหตุของแนวคิด ชี้การแสดงออกขัดหลักจริยธรรมงานวิจัยทางวิชาการ ทำให้ถูกตีความผิด กม. กระทบความมั่นคง

นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีขบวนการนักศึกษาแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ จัดกิจกรรมเสวนาและจัดทำกระดาษให้ลงประชามติ แยกตัวเป็นเอกราช ว่า ประเด็นทางกฎหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาว่าเป็นการกระทำผิดกฏหมายหรือไม่ ทั้งในระดับพื้นที่ กอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งต้องดูเรื่องการขัดกับกฎหมาย โดยเฉพาะขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึงต้องดูว่ามีประเด็นทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่

“เท่าที่ทราบเบื้องต้นมีกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงคงต้องตรวจสอบว่ามีความยึดโยงกับการกระทำผิดกฏหมายหรือไม่ และเรื่องนี้ต้องดูเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการปกป้องเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และเรื่องทางวิชาการที่ต้องแยกแยะให้ดี หากเป็นการทำแบบจำลองงานวิจัยที่ผ่านมาก็เคยทำมาหลายครั้ง ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือยึดโยงทางการเมืองในที่สาธารณะ ในรูปแบบของการแสดงพลัง การแสดงจุดยืนทางการเมือง” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวว่า ถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของเอกราชอธิปไตย แต่เป็นเรื่องของการกำหนดวิถี การกำหนดใจตนเอง การกำหนดลักษณะพหุวัฒนธรรม ซึ่งหลายประเทศก็มี ทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ที่ให้คนท้องถิ่นกำหนดวิถีของตนเอง โดยไม่ขัดกับหลักกฏหมายของประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็มีแนวนโยบาย มีข้อเสนอและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไปแล้ว ให้ใช้นโยบายพหุวัฒนธรรมเพื่อท้องถิ่นกำหนดวิถีของตนเองได้ โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดวิถีทางการเมือง การปกครอง ทางวัฒนธรรมทางศาสนา ดังนั้น ต้องพิจารณาว่ากลุ่มของขบวนการนักศึกษามีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร  ถ้าดูเพียงคำแถลงการณ์ที่ออกมาอย่างเดียว อาจทำให้หลายคนวิตกกังวล จึงต้องไปดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

“ในภาพรวมการประกาศเอกราช การพยายามลงประชามติเพื่อแยกตนเองออกไปตั้งเป็นรัฐใหม่ การใช้ศัพท์เหล่านี้ขัดกับหลักกฏหมายชัดเจนอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง สุดท้ายคงต้องหาทางพูดคุยกันว่าแนวทางที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร การให้เสรีภาพส่วนหนึ่ง การปฏิบัติตามกฏหมายเป็นอีกส่วนหนึ่ง และต้องดูเรื่องความปะทุความแตกแยกเพิ่มขึ้น เพราะมีหลายกลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ อาจต้องควบคุมตรงนั้น ไม่ให้บานปลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย การเมือง เรื่องท้องถิ่น เหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญมากสำหรับทุกฝ่ายหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานทางปกครอง ฝ่ายมหาวิทยาลัย อาจารย์ และนักศึกษาต้องทำงานร่วมกันมากกว่านี้ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งมีข้อสังเกตมานานเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวลักษณะนี้ ที่อาจทำให้สถานการณ์ผกผัน ตึงเครียดทั้งที่ไม่ควรจะเป็น เรามีนโยบายเรื่องพหุสังคมที่ดีอยู่แล้ว มีท้องถิ่นที่สนับสนุนที่ดีอยู่แล้ว

เมื่อถามย้ำว่าหากทำในเชิงวิชาการถือว่าไม่ผิดใช่หรือไม่ เพียงแต่เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนอาจเกิดข้อถูกเถียงในสังคมเป็นวงกว้าง นายปณิธาน  กล่าวว่า ในเชิงวิชาการเมื่อสำรวจความคิดเห็น จะปกป้องคนที่ให้สัมภาษณ์ โดยไม่เปิดเผยเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของบุคคล ซึ่งเป็นข้อบังคับในการทำวิจัย ทางวิชาการอย่างเข้มงวด เพราะบางเรื่องหากเปิดออกไปสู่สาธารณะ อาจถูกตีความว่าผิดกฎหมาย กระทบกับความมั่นคง งานวิชาการจะไม่ทำลักษณะนี้ เพราะจะปกป้องคนที่มาแถลงการณ์ จะไม่ประกาศแบบนั้น

“งานวิชาการยังมีข้อบังคับอีกมาก ไม่ใช่จะบอกว่าเป็นงานวิชาการแล้วจะทำได้ อันนั้นเป็นความคลาดเคลื่อน  ไม่ใช่ว่ามหาวิทยาลัยจัด  มีอาจารย์นั่งอยู่หนึ่งคน เชิญฝ่ายการเมือง และปล่อยให้ประกาศอะไรที่หมิ่นเหม่ทางวิชาการ เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะมีข้อกำหนดเรื่องจริยธรรมของการทำงานวิชาการ ที่ทุกคนต้องเซ็นรับทราบไว้ก่อน ก่อนจะถามประเด็นละเอียดอ่อนแบบนี้ และที่ผ่านมาทำไปแล้วหลายโครงการ ซึ่งไม่เคยมีปัญหา เพราะอยู่ในกรอบข้อบังคับเชิงจริยธรรมที่ต้องปกป้องอัตลักษณ์บุคคล” นายปณิธาน กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า รัฐควรเร่งกระบวนการสร้างความเข้าใจหรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า หน่วยงานในภาครัฐต้องเร่งทำความเข้าใจ เพราะครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับ อาจารย์ คณะ และมหาวิทยาลัยที่จัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ต้องพูดคุยถึงกรอบการจัดงาน หากระมัดระวังและทำตามกรอบคงไม่เลยเถิดไปถึงการลงประชามติ และนำออกสู่สังคมออนไลน์ งานวิชาการมีความละเอียดอ่อน จะไม่ถ่ายทอดหรือใช้สื่อแบบนี้ ซึ่งต้องไปดูกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยและใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนแนวโน้มของกลุ่มเยาวชนหรือบุคคลในพื้นที่จะเป็นอย่างไร นายปณิธาน กล่าวว่า ตนกำลังทำงานวิจัยที่สำรวจความคิดเห็นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และคนในพื้นที่ต่อความรุนแรงแบบสุดโต่ง ซึ่งได้รับความสนับสนุนงบประมาณจากสำนักการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งความรุนแรงแบบสุดโต่งมีหลายรูปแบบในเชิงวัฒนธรรม เชิงครอบครัว เชิงการเมืองและเชิงศาสนา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับบุคคลจำนวนมาก

“การแบ่งแยกดินแดนเป็นความสุดโต่งด้านหนึ่ง ผมกำลังลงลึกกับงานวิจัยเรื่องนี้มากขึ้น โดยประเมินการพูดคุย การกำหนดใจตัวเอง ซึ่งเป็นความคิดที่พูดกันมากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงข้อกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ จึงทำให้หลายคนเริ่มสงสัยว่าแนวความคิดแบบนี้พัฒนาอย่างไร เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร เพราะโดยทั่วไปในต่างประเทศมีสองแบบ คือต้องการแยกประเทศตั้งเป็นรัฐเอกราช จับอาวุธต่อสู้บางพื้นที่ หรือเป็นเรื่องของชนเผ่าที่อยากกำหนดวิถีของตนเอง ไม่เกี่ยวกับการแยกรัฐ แยกประเทศ เพราะผิดกฏหมายของประเทศนั้น ของเราก็มีข้อสงสัยว่าการเคลื่อนไหวเป็นแบบไหน ความคิดต้นตอเหล่านี้มาจากไหน คงต้องไปถามบุคคลที่สอนและทำเวิร์คช็อปว่าคิดเห็นอย่างไร” นายปณิธาน กล่าว

Advertisement

นายกฯชวนคนไทยร่วมทำความดีแบบไทยนิยม

People unity news online : นายกฯ ชวนคนไทยร่วมทำความดีแบบไทยนิยม เรียนรู้จากอดีต นำพาบ้านเมืองให้ก้าวหน้า พร้อมย้ำรัฐเคารพสิทธิเสรีภาพภายใต้กฎหมาย วอนสังคมประคับประคองการเปลี่ยนผ่านประเทศให้ราบรื่น

11 กุมภาพันธ์ 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชวนคนไทยรวมพลังขับเคลื่อนการกระทำความดีแบบไทยนิยม โดยย้ำว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงสำคัญของบ้านเมืองที่จะก้าวพ้นจากความขัดแย้งในอดีต ด้วยการเรียนรู้ความผิดพลาดจากบทเรียนที่ผ่านมา และช่วยกันนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญก้าวหน้าเพื่อลูกหลานของเรา

“แนวทางสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน ทุกคนจะต้องมีความรักสามัคคี ไม่ทอดทิ้งกัน สร้างชุมชนให้เข้มแข็งอยู่ดีมีสุข อย่างพอเพียง รู้สิทธิหน้าที่ของตนเอง รู้กลไกของราชการ รู้รักประชาธิปไตย รู้เท่าทันเทคโนโลยี ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาเสพติด โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันตามหลักประชารัฐ”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเข้าใจดีว่า พี่น้องประชาชนคาดหวังต่อรัฐบาลอย่างไร โดยเฉพาะการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน การแก้ไขปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจฐานราก การจัดระเบียบบ้านเมืองใหม่ การปฏิรูปหน่วยราชการที่เอาเปรียบประชาชน การปราบปรามยาเสพติด และเตรียมการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การเมืองที่ดีขึ้น จึงขอให้เชื่อมั่นว่าการปฏิบัติงานทุกอย่างนั้น เป็นไปเพื่อตอบสนองความคาดหวังของประชาชน ลบรอยแผลที่บอบช้ำของประเทศ และฟื้นฟูเยียวยาให้สังคมเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในระยะยาว”

สำหรับการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพนั้น รัฐบาลไม่เคยปิดกั้นความคิดและการกระทำ โดยขอให้คำนึงถึงขอบเขตของกฎหมาย ไม่สร้างความเดือดร้อน หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง ดังนั้น การทำกิจกรรมต่างๆของประชาชนทุกกลุ่มจึงควรพิจารณาด้วยหลักเหตุและผล ใคร่ครวญถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้บุคคลบางกลุ่มฉวยโอกาสนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง มุ่งสร้างความวุ่นวายขึ้นในประเทศ

นายกฯยังขอให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมายด้วยความระมัดระวัง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง พร้อมทั้งขอให้สังคมช่วยกันประคับประคองการเปลี่ยนผ่านประเทศไปให้ได้อย่างราบรื่น

People unity news online : post 12 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.30 น.

โฆษก กห. เผยผลการพูดคุยแนวทางปรองดองกับภาคประชาสังคม 11 องค์กร

People unity news online : เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง แถลงภาพรวมประจำสัปดาห์ ตลอด 3 วันตั้งแต่วันที่ 20-22 มีนาคม 2560 ในการพูดคุยแนวทางปรองดอง ต่อคณะอนุกรรมการ ป.ย.ป.ในส่วนภาคประชาสังคมว่า ขณะนี้มีองค์กรเข้ามาร่วมเสนอแนวทางปรองดองแล้ว 11 องค์กร ได้แก่ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย/ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ/ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา/ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์/ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา/ เครือข่ายยุวทัศน์แห่งประเทศไทย/ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา/ ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น/ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งชาติ/ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร/ มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งภาพรวมบรรยากาศเป็นไปด้วยดี และสร้างสรรค์ โดยทุกองค์กรมีความเข้าใจและมั่นใจในการเสนอข้อมูล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งมองเรื่องปรองดองว่าทุกฝ่ายต้องเป็นกลาง เปิดใจตัวเองโดยไม่มีอคติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ พร้อมมองถึงความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องปกติของสังคม แต่บนความขัดแย้งต้องไม่มีเรื่องรุนแรง และทุจริต โดยมุ่งไปที่คนที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น การแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องแก้ที่คน เน้นปฏิรูปการศึกษา กระตุ้นจิตสำนึก ยอมรับสิทธิผู้อื่น รัฐเองต้องให้ความรู้ประชาชนมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสเท่าเทียมกันพร้อมจำเป็นต้องสร้างเด็กรุ่นใหม่ ให้ตระหนักประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

ทั้งนี้ยอมรับว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ต้องอาศัยเวลา และความเข้าใจ ให้อภัยกัน และสร้างความไว้ใจ ส่วนการเลือกตั้ง ยังมองว่าเป็นเพียงกระแสสังคมที่พูดกันไปเอง ขณะนี้สังคมยังมีปัญหา ความรุนแรงอยู่ โดยเฉพาะความรุนแรงทางใจ พร้อมเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.ให้มีการเจรจา เปิดเวที ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทำความเข้าใจกันมากขึ้น และบริหารความขัดแย้งของโครงสร้างทุกองค์กร อย่างไรก็ตาม เน้นย้ำว่า คณะกรรมการ ป.ย.ป  มีความตั้งใจ และพร้อมเปิดกว้างพูดคุย รับฟังความเห็นทั้งส่วนกลาง และภูมิภาคได้พูดคุย เพราะการให้ความเห็นเป็นประโยชน์ต่อความขัดแย้งที่ผ่านมา วอนทุกฝ่ายอย่าสร้างเงื่อนไขแนวทางสร้างความปรองดอง

People unity news online : post 24 มีนาคม 2560 เวลา 01.41 น.

รัฐบาล-กทม.พร้อมทำงานร่วมกันเพื่อ ปชช.

People Unity News : 17 มิถุนายน 2565 นายกฯ จับมือ “ชัชชาติ” ถ่ายรูปหลังแถลง ศบค. ย้ำพร้อมทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่เพื่อประชาชน ประเทศต้องเดินหน้าไปด้วยกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่ออนุมัติการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในส่วนของผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงแล้ว และเป็นโอกาสอันดีที่ได้พบปะกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยา ซึ่งได้พูดคุยและยืนยันจะทำงานร่วมกันทุกเรื่อง ได้รู้จักกันดีทุกคนอยู่แล้ว ยืนยันไม่มีปัญหาในการทำงาน และช่วยกันทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั่วประเทศ วันนี้เชิญนายกเมืองพัทยามาเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว ส่วนผู้ว่าฯ กทม.ต้องเข้าร่วมการประชุมตามวาระปกติอยู่แล้ว ทุกฝ่ายเข้าใจกันดี ไม่มีปัญหา เพราะวันนี้ประเทศต้องเดินหน้าไปด้วยกัน

นายชัชชาติ กล่าวว่า พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ ต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว มติ ศบค.ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สะท้อนว่าสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง และพร้อมร่วมทำงานกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า จากการประชุมได้รับทราบถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด ซึ่งในส่วนของเมืองพัทยา ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะนำเสนอผ่าน ศบค.ต่อไป

จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้เชิญนายชัชชาติและนายปรเมศวร์กลับขึ้นไปบนตึกไทยคู่ฟ้า และนำเดินชมภายในตึกภักดีบดินทร์และบริเวณโดยรอบ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยว พร้อมชักชวนทุกคนร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน สนิทกัน พี่น้องกันทั้งนั้น จำได้ว่าเจอกันมานานแล้ว พร้อมชมนายชัชชาติว่า พอมาเจออีกทีแต่งเครื่องแบบดูหล่อ จากนั้นได้ถ่ายรูปร่วมกันบริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า โดยนายกรัฐมนตรีจับมือนายชัชชาติและนายปรเมศวร์ระหว่างถ่ายรูปด้วย

Advertisement

รมว.กลาโหม รับเสียใจคดีตากใบ ย้ำให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม บูรณาการทุกภาคส่วน ลดความรุนแรงในพื้นที่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 ตุลาคม 2567 รองนรม./รมว.กห.เสียใจกับคดีตากใบพร้อมย้ำให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมและบูรณาการทุกภาคส่วน ลดความรุนแรงในพื้นที่

พลตรี ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 67 ช่วงเที่ยงที่ผ่านมาว่า ตามที่มีกระทู้ถามสดจากนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ได้ตั้งกระทู้ถาม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนรม./รมว.กห. ถึงการดำเนินคดีกับผู้ทีเกี่ยวข้องเหตุการณ์ตากใบซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.67นั้น ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว รองนรม./รมว.กห. ได้ชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าท่านเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและจากการตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ที่ต้องพิจารณาหลากหลายมิติทั้งการลำเลียงคนและการจัดระเบียบผู้ชุมนุม ซึ่งไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อความสูญเสีย จากสถานการณ์ในขณะนั้นมีความสับสนอลหม่านต่อการปฏิบัติเพราะมีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก หากไม่มีการแยกย้ายอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตทรัพย์สินผู้ชุมนุมในภาพรวมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้มีการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียโดยผู้เสียชีวิตได้รับเงินจำนวน 7 ล้านบาทเศษและผู้ได้รับบาดเจ็บจะได้รับเงินลดหลั่นกันลงไป ซึ่งได้ดำเนินการแล้วในรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นรม./ รมว.กห.

ต่อเรื่องดังกล่าวการดำเนินการเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม สำหรับผู้ต้องหาทั้งหมดที่ยังหาตัวไม่พบให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการ ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาที่ยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็จะต้องนำตัวเข้ามาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป

สำหรับกรณีเหตุการณ์ตากใบ ที่ผ่านได้มีการถอดบทเรียนและนำมาปรับใช้เป็นวิธีการปฏิบัติไม่ใช่อารมณ์ในการแก้ไข ควรใช้บทเรียนในการสร้างสรรค์แก้ไขปัญหา ต้องใช้สติไม่ใช้อารมณ์ มาทำลายกันด้วยอารมณ์ที่รุนแรง ควรนำบทเรียนมาปรับวิธีการทำงานให้กับพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกับประชาชนในพื้นที่ 3 จว.ชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และอ.สะบ้าย้อย) ทั้งการปรับวิธีคิดและวิธีการต่าง ๆ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก และการสนับสนุนให้ลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยการเจรจาอย่างสันติวิธี

ที่ผ่านมา อาจมีบางกลุ่มได้นำประเด็นดังกล่าวมาสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งมากกว่าที่จะช่วย กันแก้ไข เพื่อสร้างความแตกแยกและโจมตีรัฐบาลจนทำให้ประชาชนในพื้นที่สับสนจากความเป็นจริง โดยที่ผ่านมารัฐบาลพยายามปรับวิธีการนำไปสู่สันติสุข อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาที่เกิดขึ้นอันเกิดจากความหลากหลายมิติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ปัจจุบันในพื้นที่ 3 จว.ชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของสงคราม (อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย) พยายามลดความรุนแรงจะการก่อเหตุ โดยมีการบูรณาการการทำงานของทุกส่วนราชการทั้ง กอ.รมน., ศอ.บต. , เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและหน่วยงานราชการในพื้นที่ร่วมกันหาทางออกและทำงานอย่างประสานสอดคล้อง โดยจะนำบทเรียนจากเหตุการณ์ตากใบมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สร้างสันติสุขให้กลับมา และทำให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและเขตเศรษฐกิจในการสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ

Advertisement

 

8 องค์กรภาคธุรกิจ-เกษตร-แรงงาน เข้าให้ข้อคิดเห็นสร้างความสามัคคีปรองดอง

People unity news online :  เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 พล.อ.ต.รังสรรค์ เยาวรัตน์ อนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เปิดเผยว่า ผู้แทนองค์กรภาคธุรกิจ เกษตร และแรงงาน  8 องค์กร ประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง  ณ ศาลาว่าการกลาโหม สรุปดังนี้

ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกรเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรมีการถือครองที่ดินลดน้อยลง และได้รับการจัดสรรรายได้ที่ไม่เป็นธรรม โดยรายได้ไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน นำไปสู่การขายหรือจำนองที่ดินที่มีอยู่ให้กับนายทุน จนต้องสูญเสียที่ดินทำกินในที่สุด จึงเห็นว่ารัฐควรให้ความสำคัญกับภาคเกษตรมากขึ้น โดยการจัดสรรที่ดินทำกินให้เกิดความเป็นธรรม ควรมีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม

สำหรับในส่วนของภาคธุรกิจเห็นว่าปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนเป็นปัญหาพื้นฐานที่ภาครัฐควรดูแลด้วยการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น โดยที่ภาคธุรกิจเอกชนจะเป็นส่วนช่วยเสริม เช่น กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร เป็นต้น ขณะที่ภาคธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาการขาดแคลนเงินทุนรวมทั้งการเข้าถึงแหล่งทุน ตลอดจนปัญหาเรื่องการหาตลาดยาก ดังนั้น การจัดทำแผนงานของภาครัฐในการส่งเสริมธุรกิจ SMEs จึงควรมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง

ขณะที่องค์กรภาคแรงงานเห็นว่ารัฐวิสาหกิจเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความปรองดอง และต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดอง ซึ่งที่ผ่านมาภาคแรงงานมักถูกมองว่าเป็นพวกที่เรียกร้องแต่ผลประโยชน์ เนื่องจากยังขาดการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง ภาครัฐจึงไม่ควรละเลยและควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะแรงงานปัจจุบันที่เป็นแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ และเห็นว่าควรได้รับผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรกำหนดทิศทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ชัดเจน โดยไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และมองว่ารัฐสามารถใช้ประโยชน์รัฐวิสาหกิจเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่งได้ ทั้งนี้ องค์กรภาคแรงงานสนับสนุนการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังในทุกด้าน รวมทั้งการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งผู้นำทุกคนจะต้องยึดถือในการบริหารประเทศตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้

People unity news online : post 4 เมษายน 2560 เวลา 15.33 น.

นายกฯขอให้ประชาชนช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน”

People unity news online : นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนช่วยกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” ระบุรัฐบาลต้องการให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2561) เวลา 13.40 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลได้เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าต้องการอะไร มีความเดือดร้อนอย่างไรบ้าง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลในการจัดทำฐานข้อมูล Big Data ของรัฐบาล จึงขอให้ประชาชนช่วยกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ โดยรัฐบาลจะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อไป

สำหรับการลงพื้นที่ตามโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” จะมีการลงพื้นที่เพื่อดูความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสร้างความเข้าใจ เน้นสร้างการรับรู้ รับทราบปัญหา รวมถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่โดยตรง รวมทั้งนำข้อมูลที่รัฐบาลดำเนินการตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาไปแนะนำเพื่อให้พื้นที่เกิดความเข้มแข็งตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยการดำเนินโครงการต้องมีความโปร่งใสในการจัดทำงบประมาณ รับฟังมติของคนส่วนใหญ่ผ่านการทำประชาคม หากพบมีการทุจริตโดยเฉพาะจากส่วนราชการต้องลงโทษ ขอให้ประชาชนช่วยกันรักษาสิทธิ์ ช่วยกันตรวจสอบ ซึ่งรัฐบาลจะไม่ยอมให้ส่วนราชการเข้าไปมีผลประโยชน์จากโครงการนี้โดยเด็ดขาด และขอให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเพื่อเป็นการทำความดีร่วมกัน เพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

People unity news online : post 20 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 18.00 น.

Verified by ExactMetrics