People Unity News : 18 กรกฎาคม 2566 3 เขื่อน กฟผ.น่ากังวล ปริมาณน้ำน้อยกว่าระดับปกติ ผลกระทบปี 66 อยู่ในระดับที่บริหารจัดการการใช้น้ำได้ แต่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในปี 2567

นายจรัญ คำเงิน  รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย  กฟผ.ติดตาม พายุตาลิมว่าจะส่งผลกับสถานการณ์น้ำในเขื่อนอย่างไร โดยปัจจุบันพายุยังไม่ขึ้นฝั่ง ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป  โดยพายุตาลิมพัดมาจากทางฝั่งเวียดนาม หากขึ้นฝั่งอาจช่วยเติมน้ำในเขื่อนทางฝั่งอีสานได้  อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำในเขื่อน น่าเป็นห่วงมี  3 แห่ง ที่ต่ำกว่า Lower Rule Curve (เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนจุฬาภรณ์)

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณฝนปี 2566 มีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ย รวมถึงสถานการณ์เอลนีโญ คาดว่าจะส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำในเขื่อน อยู่ในระดับที่บริหารจัดการการใช้น้ำในปี 2566 นี้ได้ แต่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในปี 2567 และจากปัญหามีโอกาสทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะ 2 ปีและเตรียมแผนการจัดการน้ำระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว รองรับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต

ล่าสุด  สถานการณ์น้ำเขื่อน กฟผ. ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งรวมกัน 32,236 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52% ของความจุเขื่อน น้ำใช้งานได้รวมทั้งสิ้น 9,192 ล้าน ลบ.ม. หรือ 24% ของความจุเขื่อน ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าปี 2565 ประมาณ 2,235 ล้าน ลบ.ม. และ มีอ่างเก็บน้ำของเขื่อนที่ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติระหว่าง Upper Rule Curve (URC)  –  Lower Rule Curve (LRC) 7 แห่ง น้ำสูงกว่า URC เล็กน้อย 1 แห่ง คือ เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร และเขื่อนที่ปริมาณน้ำน้อย ต่ำกว่า LRC 3 แห่ง คือ เขื่อนสิริกิติ์  จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี และ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ

Advertisement