People Unity News : กระทรวงสาธารณสุขยันไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนการแบน 3 สารเคมี ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ห่วงสุขภาพประชาชน พบผู้ป่วยจากสารเคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ที่กระทรวงนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงจุดยืนกระทรวงสาธารณสุขต่อการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ว่า คณะกรรมการฯ ที่เป็นผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวานนี้ (27 พฤศจิกายน 2562) ยืนยันตามมติเดิมในการประชุมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ให้แบนสารเคมีอันตราย 3 สาร มีการรับรองมติการประชุมไปแล้ว และได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรและประชาชน รวมทั้งจากการประชุมทางไกลกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล และนายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ทุกคนมีความห่วงใยที่พบผู้ป่วยจากสารเคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด เช่นที่โรงพยาบาลน่านจากเดิมพบผู้ป่วยปีละ 40 คนเพิ่มเป็นเดือนละ 25 คน

สำหรับการเฝ้าระวังพืชผักผลไม้ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบสารเคมีตกค้างหลายชนิด เช่นที่จังหวัดพิษณุโลกพบสารพาราควอตตกค้างในกะหล่ำปลี 0.21 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถึง 20 เท่า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งมีผลต่อทารกในครรภ์

กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มมาตรการดูแลสุขภาพประชาชน โดยให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พัฒนาศักยภาพ อสม. 80,000 คน ให้เป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจพืชผักผลไม้ แหล่งน้ำธรรมชาติ ตรวจหาสารพาราควอตด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น และเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากสารพิษ โดยประสานกับศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้มข้นความปลอดภัยของผัก ผลไม้ อาหารในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ด่านตรวจผ่านแดน 52 ด่าน

“จุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยเปลี่ยนแปลง ต่อการแบน 3 สาร ต่อจากนี้ไปจะเน้นการดูแลสุขภาพประชาชนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับเยาวชนรุ่นหลัง ทั้งจากพัฒนาการล่าช้า และโรคต่าง ๆ เช่น โรคสมองเสื่อม มะเร็ง” นายแพทย์สุขุมกล่าว

สำหรับการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขได้ยืนยันต่อที่ประชุมหลายครั้งว่า ยังคงยืนตามมติเดิมแบน 3 สาร และขอให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนตามข้อมูลที่มีจำนวนมากและชัดเจน ที่เคยได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว พร้อมขอให้คงมติคณะกรรมการในการแบนสารเคมีอันตราย 3 สารเหมือนเดิม

นายแพทย์ไพศาล กล่าวถึงการลงมติว่า ในส่วนคณะกรรมการไม่มีการลงมติ หรือยกมือลงมติแต่อย่างใด

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า “อัปยศประเทศไทย กลับมติเดิมได้”” ขอถามทุกๆท่านว่า ถ้ามีผัก 2 กอง กองที่หนึ่งมีสารเคมี อีกกองไม่มีสารเคมี (เกษตรอินทรีย์) จัดมาให้คณะกรรมการทุกท่านเลือกทาน ท่านเลือกทานกองใด ถ้าคิดไม่ได้ ตอบไม่ถูก แนะนำไปทานกองที่ 3 คือ ทานหญ้าแทนข้าว (Cr.https://www.isranews.org/isranews/82958-moph-82958.html?fbclid=IwAR2IaYnNBjrojuIC_Qg0cQhpMmtgHe16cPMZPRyGxxl33nSdk3aXTCh9wRQ)

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่รับรองมติที่ประชุมให้แบนสารเคมี 3 ชนิด ส่วนการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ไม่มีการให้ยกมือ หรือลงมติรายบุคคลให้ยกเลิกมติเดิม ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขยืนยันในมติเดิม

ส่วนความเห็นกรณีที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย มติเอกฉันท์ 24 เสียง ยืดเวลา 6 เดือน แบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จำกัดการใช้ “ไกลโฟเซต” นั้น

ส่วนนายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในเมื่อไม่สามารถพึ่งรัฐ เรื่องอาหารปลอดภัย สิ่งที่ต้องช่วยกันคือใช้อำนาจผู้บริโภคโดยหน้าที่ของเรา

1) เดินหน้าช่วยกันให้ความรู้ผู้บริโภคด้วยกัน ผู้ขายติดฉลากหรือป้ายมาจากแปลงเคมีหรือไม่

2) ช่วยกันเดินหน้าสร้างตลาดเกษตรอินทรีย์

3) พัฒนา ชุดตรวจ ขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สสส. และ 9 มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร. พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล กำลังประเมิน ชุดตรวจ 10 ชุด จากกลุ่มต่างๆ ในการตรวจ พาราควอต ไกลโฟเซต และกลุ่มฆ่าแมลง (ซึ่งรวมคลอไพริฟอส) ได้แก่ ออแกโนคลอรีน ออแกโนฟอสเฟต คาบาร์เมต และไพรีทรอยภายในปลายมกราคม จะได้ชุดตรวจน้ำ ที่สะดวก ถูก รวดเร็ว และในมีนาคม จะได้ชุดตรวจในพืช ผัก ผลไม้

นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ไม่นานนัก เราจะสร้างเกราะป้องกันภัยให้ตนเองและครอบครัวได้ เหล่านี้ ยังหมายความถึงทุกเรื่องในประเทศไทย ถ้าเราไม่ร่วมกัน ช่วยกัน หวังพึ่ง ลมๆ แล้งๆ เราเองและลูกหลาน คงจะประสบเคราะห์กรรมไปมากขึ้นกว่านี้ อีกเป็น สิบเป็นร้อยเท่า

“กรรมการวัตถุอันตราย และกรมวิชาการเกษตร รวมกระทั่งถึงกระทรวงอุตสากรรม และอื่นๆที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะยัดเยียดสารเคมีพิษเหล่านี้ให้คงอยู่ในประเทศไทย โดยที่ไม่เคยคำนึงถึงอันตรายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและสุขภาพโดยที่กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงตัวเลข ผู้ป่วยที่เสียชีวิตทั้งเฉียบพลันและที่เกี่ยวเนื่องกับการได้รับสารเคมีเหล่านี้ต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรเองหรือเป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่”