People Unity News : ชัดเจนอีกรอบ! “อนุทิน” ยัน สธ.หนุนแบนสารพิษ วอนทุกฝ่ายตัดสินใจเดินหน้าบนประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่มีวาระซ่อนเร้น พร้อม ชู “ศูนย์จัดการความขัดแย้งฯ” และ “หน่วยรับเรื่องร้องทุกข์ ม.50(5)” รักษาสิทธิ์ประชาชน

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 จากกรณีที่กรมวิชาการเกษตร เสนอให้การแบนสารพิษ หรือ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกรโฟเซต เลื่อนจากวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ไปอีก 6 เดือน หลังจากการทำประชาพิจารณ์ พบว่าประชาชน 75% ยังสนุบสนุนให้ใช้สารเคมีทางการเกษตรต่อไป นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่า อะไรก็ตามที่เป็นอันตรายต่ิสุขภาพ ไม่สมควรให้ใช้ต่อไป ส่วนเรื่องสารทดแทน เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น สำหรับกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่รักษาพยายาบาล ที่ผ่านมา เราเห็นผลกระทบจากการใช้สารพิษที่เลวร้าย ดังนั้น ตัวแทนของกระทรวงฯ ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงตัดสินใจแบน

และถ้าดูภาพรวมของมติคณะกรรมการฯทั้งคณะจะพบว่า ฝ่ายที่แบนมีมากกว่าด้วยสัดส่วน 3 ต่อ 1 ถือว่าชัดเจนแล้วว่าผลออกมาเป็นอย่างไร ส่วนจะเลื่อนไป 6 เดือน ทำได้หรือไม่ อยากให้ไปดูกฎหมาย แต่ขอวิงวอนว่าการจะทำอะไรต่อจากนี้ ขอให้ตั้งอยู่บนประโยชน์สูงสุดของประชาชน เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ทุกฝ่ายทำงานบนความซื่อสัตย์ ไม่มีวาระซ่อนเร้น พืชผักผลไม้เป็นเรื่องที่ประชาชนบริโภคทุกวัน ต้องคิด ต้องตัดสินใจกันให้ดี

“ผมมั่นใจว่าคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีมติให้แบน 3 สารพิษ ต่างคิดมาดีแล้ว ส่วนใครที่ยกผลการทำประชาพิจารณ์มาสนับสนุนให้ใช้สารพิษต่อ ผมจะถามกลับว่า ในสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ยกมือสนับสนุนให้แบนสารพิษ 423 ต่อ 0 เห็นชอบกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการพิจารณาผลกระทบการใช้สารเคมีการเกษตร ซึ่งผลการศึกษาระบุชัดว่า ต้องแบนสารพิษ และให้มีการเตรียมความพร้อมประเทศไทย เป็นเกษตรอินทรีย์ 100 % ในปี 2573 เสียงของผู้แทนประชาชนออกมาแบบนี้ แล้วจะเอาอย่างไร ที่สุดแล้ว เรื่องแบนสารพิษจะเดินหน้าไปทางไหน ก็ต้องรอดูการตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย”

นำ สธ.แถลงจุดยืน ย้ำ 1 ธันวา 62 ต้องแบนสารพิษ

พร้อมกันนี้ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน นำทีมผู้บริหาร อาทิ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวง, นายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวง ร่วมประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ แถลงจุดยืนสนับสนุนการแบนสารพิษ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นไปตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขทราบถึงผลกระทบของการใช้สารเคมี อาทิ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกรโฟเซต ซึ่งไม่ได้เพียงสร้างผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกร เกิดแผลพุพอง ทุกข์ทรมาน แต่ยังตกต้างในผักผลไม้ กระทบต่อผู้บริโภค มีผลวิจัยยืนยันข้อมูล ทั้งนี้ สารดังกล่าวเมื่อถูกชะลงน้ำ จะเข้าไปปนเปื้อนในพืชผักผลไม้ สร้างอันตรายเป็นวงกว้าง

“จุดยืนของเรามีเพียงอย่างเดียวคือแบนสารพิษ และต้องแบนในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เป็นไปตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ไม่เห็นควรให้เลื่อนออกไปอีก ขอให้รับทราบโดยทั่วกัน”

ด้านนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การใช้สารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด เกิดผลกระทบต่อสุขภาพแก่ประชาชนอย่างมากมาย ดังเช่นผู้ป่วยที่มีการรายงาน รวมทั้งมีผลกระทบต่อประชากรรุ่นใหม่ของประเทศ จุดยืนกระทรวงสาธารณสุขคือสนับสนุนการยุติการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้ง 3 ชนิด เพื่อสุขภาพทรดีขึ้นของคนไทย

ด้านนายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2561 พบผู้ป่วยโรคจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้อมูลวิชาการพบว่า พาราควอต เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง ปัจจุบันไม่มียาถอนพิษ สำหรับไกลโฟเซต สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศภายใต้องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งได้ ส่วนคลอร์ไพริฟอส งานวิจัยต่างประเทศพบว่าเป็นสารที่รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ระบบไทรอยด์ กระตุ้นการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งลำไส้ มีผลต่อความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองของเด็กที่แม่ได้รับสารระหว่างตั้งครรภ์

ชู”ศูนย์จัดการความขัดแย้งฯ” และ “หน่วยรับเรื่องร้องทุกข์ ม.50(5)” รักษาสิทธิ์ประชาชน

ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ นายอนุทิน เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมรวมพลังกลไกขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่” ภายใต้แนวคิด “Empowering & Deepening Connectivity สร้างเสริมพลังเชื่อมโยงเครือข่าย” พร้อมมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตร แก่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการดีเด่นประจำปี 2561 และ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรฐาน 50(5) ต้นแบบ จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นายอนุทิน กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นนโยบายสาคัญที่รัฐบาลให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้นอกจากการบริหารจัดการที่ส่วนกลางโดยคณะกรรมการหลักประกันขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขแล้ว ยังต้องอาศัยการขับเคลื่อนผ่านกลไกระดับพื้นที่ ทั้งกลไก อปสข, อคม, สำนักงานเขตสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข และอปท. โดยแต่ละส่วนต่างมีบทบาทและหน้าที่สำคัญ ที่สนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“นอกจากนี้ ยังมีกลไกสำคัญที่คอยทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิ์ประชาชน หรือผู้ป่วย คือ ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการ และ หน่วยรับเรียงร้องเรียน อันเป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) คอยประสานงานเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเข้ารับบริการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ ซึ่งที่ผ่านมาหลายแห่งดำเนินการได้อย่างดีิมีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับการให้บริการ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สปสช.ได้คัดเลือกศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป ประกอบไปด้วย

อันดับ 1. โรงพยาบาลพุทธโสธร จ. ฉะเชิงเทรา อันดับ 2. โรงพยาบาลปัตตานี และอันดับ 3. โรงพยาบาลพุทธชินราช จ. พิษณุโลก ส่วนประเภทโรงพยาบาลชุมชน อันดับ 1. โรงพยาบาลรือเสาะ จ.นราธิวาส อันดับ 2. โรงพยาบาลน้ำพอง จ. ขอนแก่นและอันดับ 3. โรงพยาบาลพนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่น ที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนต้นแบบ 11 แห่ง ได้แก่ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ จ.เชียงราย หน่วยรับเรื่องร้องฯ จ.กำแพงเพชร หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ จ.กาญจนบุรี หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ จ.ขอนแก่น หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ จ.หนองบัวลำภู

หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ จ.สุรินทร์ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ จ.นครศรีธรรมราช หน่วยรับเรื่องร้องเรียน จ.สตูล หน่วยรับเรียงร้องเรียนฯ ศูนย์ประเด็นเดรือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ ภาคกลาง จ.ปทุมธานี หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ เครือข่ายผู้รับเชื้อเอชไอวี / เอดส์ จ.ศรีสะเกษพ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ โซนเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร

ในการประชุมข้างต้น มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน ประกอบด้วยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณะ คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานระดับเขตพื้นที่ (อคม.)

ผู้แทนคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องฯ ระดับจังหวัด ผู้แทนสำนักงานเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิ์ใน สสจ. ผู้แทนหน่วยบริการ ผู้รับผิดชอบงานศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ ผู้แทนภาคประชาชน และศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น