People Unity News : “นิพนธ์้”เปิดรับฟังความเห็น ขานรับ WHO ขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนทุกระดับทั่วประเทศ

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 18 พ.ย. 2562 ณ ห้องกมลมาศ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) เป็นประธานการประชุมนำเสนอผลและรับฟังความคิดเห็นต่อรายงานทบทวนสถานะประเทศไทยโดยใช้กรอบเป้าหมายโลกดำเนินการด้านความปลอดภัยทางถนน โดยมี นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายนิกร จำนง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาความปลอดภัยทางถนนและคมนาคม , นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. พร้อมผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วม

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพ และสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยมาก ถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา และความสามารถในการแข่งขัน จากการรายงานฉบับล่าสุดขององค์การอนามัยโลก พบว่า ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 22,491 ราย และอีก 4 หมื่นคนต้องเป็นผู้พิการใหม่ หากนับรวมถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้พิการ จะมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทั้งหมด กว่า 2 แสนราย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้งที่
ความสูญเสียเหล่านี้สามารถป้องกันได้ รัฐบาลตระหนักถึงปัญหานี้ จึงกำหนดให้ทำโครงการสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งทำให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว โดยมีกลไกการขับเคลื่อนเพื่อป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนให้คลอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะในระดับตำบลเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในชุมชน

ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย เน้นการสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมความปลอดภัย การเฝ้าระวังและลดปัจจัยเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงการพัฒนากลไกและสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนทุกระดับ พร้อมผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการความเร็วในพื้นที่ การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทุกรายเมื่อมีการเกิดอุบัติเหตุ โดยสนับสนุนเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมาย สนับสนุนให้มีการบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้มีเอกภาพ และให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และท้องถิ่น(ศปถ.อำเภอ) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมทั้งต้องปรับแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ให้เหมาะสมและสอดคล้องเป็นพลวัตรกับสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป