People Unity News : “ธนาธร”เปิดคำแถลงปิดคดีถือหุ้นสื่อ ย้ำสาระสำคัญวีลัคไม่ใช่บริษัทสื่อแล้ว-การโอนหุ้นสมบูรณ์ตามกฎหมายก่อนสมัครรับเลือกตั้ง-ไม่ขัดคุณสมบัติตามเจตนารมณ์ รธน.-กระบวนการร้องต่อศาลไม่สุจริต ย้ำความผิดเดียวของ “ธนาธร” คือต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ที่สำนักงานพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เปิดแถลงปิดคดีถือหุ้นวีลัคต่อสาธารณะผ่านสื่อมวลชน ก่อนฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ โดยนายธนาธรระบุว่าต่อคดีดังกล่าว ตนมี 4 ประเด็นที่ต้องการแถลงด้วยกัน คือ หนึ่ง บริษัทวีลัคเป็นสื่อหรือไม่ สองตนยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทวีลัคในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562หรือไม่ สาม การถือหุ้นวีลัคของตนผิดตามเจตนารมย์ของรัฐธรรรมนูญหรือไม่ และสี่ กระบวนการพิจารณาคดีนี้ ถูกต้อง เที่ยงธรรม และเป็นธรรมแก่ตนหรือไม่

ประเด็นแรก คือ เรื่องการวินิจฉัยว่าบริษัทใดเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ เรื่องนี้เริ่มต้นจากกรณีที่ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีการเลือกตั้งให้พิจารณาคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ของนายภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่เขต 2 จังหวัดสกลนคร ซึ่งศาลฎีกาไม่ได้ไต่สวนพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงว่า ห้างหุ้นส่วนของนายภูเบศวร์ทำกิจการรับเหมาก่อสร้าง และไม่เคยประกอบกิจการสื่อใดๆ เลย แต่เห็นว่าดูแค่หนังสือบริคนธ์สนธิของบริษัทซึ่งระบุวัตถุประสงค์การประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์ ก็เพียงพอแล้วที่จะตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของนายภูเบศวร์

เมื่อศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้เช่นนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2562 จึงมีการยื่นคำร้องจากหลายภาคส่วนให้พิจารณาสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล รวมถึงของสมาชิกวุฒิสภา รวมกันมากกว่า 100 คน ที่อาจเข้าข่ายถือหุ้นสื่อ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้แล้วจำนวน 32 รายและไม่รับคำร้อง 9 ราย แต่ไม่สั่งให้ใครยุติการปฏิบัติหน้าที่เลย เพราะศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีแต่เพียงหนังสือบริคนธ์สนธิกับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยว่าถือหุ้นสื่อหรือไม่ ต้องดูเอกสารอื่นประกอบด้วย เช่น ต้องดูงบการเงินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ถูกร้องว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด จึงตัดสินได้ว่าถือหุ้นสื่อหรือไม่ นี่คือจุดต่างระหว่างคำวินิจฉัยของสองศาล

ในกรณีของบริษัทวีลัค ข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้คือ ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 บริษัทวีลัคได้ยุติกิจการไปแล้ว ไม่ได้ผลิตสินค้าและ/หรือบริการใดๆแล้ว โดยแต่เดิมบริษัทวีลัคมีผลิตภัณฑ์และบริการอยู่ 3 อย่าง คือ หนึ่ง ผลิตนิตยสารของตัวเองภายใต้ชื่อ WHO?, สอง รับจ้างทำนิตยสารJibJib ให้กับบริษัทนกแอร์, และสาม รับจ้างทำนิตยสาร Wealthให้กับธนาคารไทยพานิชย์

ทั้งนี้ นิตยสาร Who?ฉบับสุดท้ายคือฉบับเดือนตุลาคม 2559 Wealthฉบับสุดท้ายคือฉบับไตรมาสที่ 4 ปี 2559 และ JibJib ฉบับสุดท้ายคือฉบับเดือนธันวาคม ปี 2561 ส่วนพนักงานกองสุดท้ายที่เหลือในบริษัทวีลัคก็ทำงานวันสุดท้ายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561หลังปิดต้นฉบับของ JibJib ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาบริษัทวีลัคไม่มีพนักงาน ไม่มีผลิตภัณฑ์ ไม่มีบริการใดอีกแล้ว จะมีรายได้แต่เงินรับค้างจ่าย ส่วนรายได้ในปีบัญชี 2562 คือยอดขายจากการขายทรัพย์สินเพื่อปิดกิจการ เช่น เฟอร์นิเจอร์โต๊ะเก้าอี้ และคอมพิวเตอร์ บริษัทเช่นนี้จะเป็นสื่อตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้อย่างไร

“ดังนั้น ถ้าเราดูหลักฐานแวดล้อมประกอบ ทุกท่านจะเห็นว่า บริษัทวีลัคไม่เหลือความเป็นสื่อแล้ว เป็นบริษัทที่ไม่มีการปฏิบัติการใดๆ รอเพียงแต่การชำระบัญชี ซึ่งก่อนพิจารณาเรื่องอื่น เราต้องมาพิจารณาเรื่องนี้ว่าบริษัทวีลัคยังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ ถ้าไม่เปฺ็นสื่อ ทั้งหมดที่เราพูดคุยมาไม่มีความหมาย จบไปเลย” นายธนาธรกล่าว

ประเด็นที่สอง คือ ตนยังเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทวีลัคหรือไม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ในคำร้องของ กกต. ระบุว่า ตนยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทวีลัคถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562 โดยอ้างอิงถึงเอกสาร บอจ.5 หรือสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่กระทรวงพานิชย์ ทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติจริงในโลกธุรกิจหรือในทางนิตินัย บอจ. 5ไม่ใช่หลักฐานแห่งการโอนหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 แต่อย่างใด เป็นเพียงหนังสือที่บริษัทแจ้งกระทรวงพาณิชย์ถึงรายชื่อผู้ถือหุ้น การจะดูว่าการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเกิดผลสำเร็จหรือธุรกรรมเกิดขึ้นเรียบร้อยเมื่อไร เขาอ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 1129 และมาตรา 1141 ซึ่งในวันที่ 8 มกราคม 2562 ตนได้โอนหุ้นให้คุณสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เรียบร้อยแล้ว โดยได้ทำตราสารโอนหุ้นโดยมีพยานสองคนรับรองลายมือชื่อต่อหน้าทนายความโนตารี และส่งมอบเช็คชำระเงินค่าหุ้น พร้อมทั้งได้จดแจ้งการโอนและรับโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทวีลัคในวันเดียวกันครบถ้วนสมบูรณ์ความตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 1129 และมาตรา 1141

ดังนั้น สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจึงไม่ใช่หลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น หากผู้ร้องไม่มีหลักฐานอื่นมาสนับสนุนข้ออ้างตามคำร้อง ศาลจึงพึงรับฟังข้อเท็จจริงไปตามสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นว่า ตนได้โอนหุ้นให้แก่นางสมพรไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ผู้ร้องไม่อาจนำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) มาใช้เป็นหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ว่าตนได้โอนหุ้นของบริษัทวีลัคภายหลังจากวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ได้

“ดังนั้นก็ต้องบอกว่า ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นอื่น ถ้าไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักพอหรือเป็นวิทยาศาสตร์พอ ซึ่งผู้ร้องคือ กกต. ไม่มี ก็ต้องถือว่าธุรกรรมถูกทำสำเร็จ เสร็จสิ้นครบถ้วนตั้งแต่วันที่มีการทำธุรกรรมเรียบร้อยแล้ว จนถึงวันนี้ยังเป็นหน้าที่ของผู้ร้องในการหาหลักฐานมาหักล้างการทำธุรกรรมที่สำเร็จเสร็จสิ้นในวันนั้น” นายธนาธรกล่าว

ประเด็นที่สาม การถือหุ้นของตนนั้นผิดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

เพื่อชี้แจงเรื่องนี้ นายธนาธรได้อธิบายที่มาของมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญว่า บทบัญญัตินี้เริ่มมีขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถ้าดูรายงานการประชุมของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 24/2550 นายชูชัย ศุภวงศ์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อภิปรายไว้ว่า มาตรานี้เกิดขึ้นมาเพราะในสถานการณ์ที่ผ่านมา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กุมอำนาจรัฐได้แทรกแซงสื่อ ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่เพียงเท่านั้นยังกว้านซื้อสื่อ เป็นเจ้าของสื่อ แล้วการที่นักการเมืองไปเป็นเจ้าของสื่อก็ทำให้เกิดการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของสื่อ ทำให้กลไกการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญต้องพิกลพิการ และที่สำคัญคือไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างที่ควรจะรับรู้

“ผมอยากชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง 2 ประการ เกี่ยวกับเจตนารมย์ของผม ว่าผิดเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) หรือไม่ นิตยสาร 3 เล่มที่อยู่ในมือผมนี้ ตั้งแต่วันที่มันเกิดขึ้นจนถึงวันที่มันตายลง ไม่เคยให้คุณทางการเมืองกับผม และไม่เคยให้โทษทางการเมืองกับคู่แข่งทางการเมืองของผมเลย ผมพูดอีกครั้งนะครับ เจตนารมย์บอกว่า ไม่ให้นักการเมือง ไม่ให้ผู้มีอำนาจถือหุ้นสื่อ เพื่อให้คุณให้โทษกับตัวเองและคู่แข่ง แต่นิตยสาร 3 เล่ม ตั้งแต่เกิดจนถึงวันตายของมัน ไม่เคยให้คุณกับผม ไม่เคยให้โทษกับนักการเมืองคู่แข่งของผมเลยแม้แต่นิดเดียว” นายธนาธรกล่าวและว่า

อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน ที่จะแสดงเจนารมย์ของผมได้ดี คือ วันที่นิตยสารปิดตัวลง 26 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งมีหลักฐานอย่างดีว่าบริษัทไม่มีผลิตภัณฑ์ ไม่มีพนักงาน ไม่มีรายได้แล้ว เกิดขึ้นก่อนที่จะมีใครรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ และจะมีเมื่อไร เพราะ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ประกาศเมื่อ 23 มกราคม 2562 ไม่มีใครรู้ก่อนวันที่ 23 มกราคม ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่เมื่อไร แต่บริษัทปิดไปแล้วตั้งแต่ 26 พฤศจิกายน 2561

ประเด็นที่สุดท้ายที่นายธนาธรอยากชี้แจงในการปิดแถลงคดี คือ กระบวนการพิจารณาคดีถูกต้อง ยุติธรรม และให้ความเป็นธรรมกับตนหรือไม่

นายธนาธรชี้ว่าคดีนี้ กกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ทั้งๆที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. เองยังดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงไม่เสร็จสิ้น กล่าวคือเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 พยานทั้งสองคนที่ลงลายมือชื่อในตราสารโอนหุ้นและทนายโนตารีซึ่งรับรองการลงลายมือชื่อในตราสารโอนหุ้นฉบับดังกล่าว ยังได้รับหนังสือขอเชิญไปให้ถ้อยคำจากนายปรีชา นาเมืองรักษ์ ประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 6 ของ กกต.อยู่เลย การที่ กกต. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยที่กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ในชั้นคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. เองยังไม่เสร็จสิ้น แสดงให้เห็นว่าการรวบรวมพยานหลักฐานของ กกต.มีความเร่งรัดผิดปกติ และตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบให้สิ้นกระแสความเพื่อกลั่นแกล้งตนในทางการเมืองหรือไม่

“ทุกท่านครับมันทำให้เกิดข้อสงสัยว่ากรณีนี้เกิดขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมืองกับผมหรือไม่ เป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ เป็นการฟ้องโดยไม่สุจริตหรือไม่ เพราะขณะที่กรรมการสืบสวนไต่สวนยังทำงานอยู่ กกต.ชุดใหญ่มิได้มีรายงานจากกรรมการสืบสวนไต่สวนข้อเท็จจริง ท่านเอาข้อมูลที่ครบถ้วนกระบวนความจากไหนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญความบกพร่องในรูปแบบและกระบวนการในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะกระบวนการที่อยู่ในชั้นของศาลรัฐธรรมนูญต่างจากศาลอื่นๆ ศาลรัฐธรรมคือศาลชั้นเดียว ดังนั้นไม่มีการให้ความเป็นธรรมกับผมอย่างอื่น นอกจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการที่ไม่ถูกต้อง กระบวนการที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้ถูกร้อง แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็มีน้ำหนักเพียงพอแล้วที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งหรือคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องนี้เสีย” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรได้ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า หากถามว่าตนกระทำผิดอะไร ความผิดของตนย่อมไม่ใช่ถือหุ้นสื่อ ไม่ใช่เรื่องให้เงินพรรคกู้ ความผิดฐานเดียวของนายธนาธรคือต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.

“ทุกท่านครับ พวกเรามีความฝัน พวกเราฝันเห็นประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตย พวกเราฝันเห็นประเทศไทยที่คนเท่าเทียมกัน ประเทศไทยที่เป็นนิติรัฐนิติธรรม ที่คนทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน ที่คนทุกคนไม่ว่ามีอำนาจหรือไม่มี เมื่ออยู่ต่อหน้ากฎหมายแล้ว ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เราฝันเห็นประเทศไทยที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ประเทศไทยที่ดอกผลของการพัฒนาได้รับการกระจายแจกจ่ายไปให้กับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อย่างยุติธรรม ประเทศไทยที่ไม่มีรัฐประหารอีกในอนาคต ความฝันเช่นนี้มันผิดบาปมากนักหรือครับในประเทศนี้”

ดังนั้น นี่จึงเป็นเวลาที่เราต้องมาทบทวนกันว่า หลายฝักหลายฝ่ายมีส่วนทำให้สังคมไทยมาถึงจุดนี้ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง, สื่อมวลชน, เอ็นจีโอ, นักวิชาการ, กระบวนการยุติธรรม, กลุ่มทุนขนาดใหญ่, องค์กรอิสระ, และกองทัพ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะกลับไปมองอดีตเพื่อเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องพาสังคมไทยกลับสู่ความปกติ

“สังคมวันนี้มีเส้นทาง ความแตกต่างทางความคิดอย่างเห็นได้ชัดอยู่ 2 กระแส หนึ่งคือ เส้นทางที่จะพาประเทศไปข้างหน้าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน อีกเส้นทางหนึ่งต้องการพาประเทศไปข้างหน้าด้วยอำนาจนิยมและอนุรักษนิยม ผมคิดว่า คนที่จะตัดสินเรื่องนี้ได้ดีที่สุดไม่ใช่ศาล คนที่จะตัดสินเรื่องนี้ได้ดีที่สุดควรจะเป็นประชาชนผู้ทรงสิทธิ์ ผู้ทรงอำนาจ มีเสรีภาพในการเลือกอนาคตประเทศไทยด้วยตัวเอง” นายธนาธรกล่าวปิด