People Unity News ลูกดื้อจังเลย ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ นอนก็ดึก ตื่นก็สาย ให้กินข้าวก็ไม่ยอมกิน คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเคยประสบปัญหาแบบนี้ และทำให้ต้องเสียอารมณ์หรือไม่ บางท่านอาจบอกว่าทุกวัน และบางท่านอาจบอกว่านานๆลูกถึงจะออกฤทธิ์ จะมีวิธีรับมืออย่างไรดี

1 เมษายน 2565 นายแพทย์ไพโรจน์  สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การได้เลี้ยงลูกง่ายก็อาจบอกว่าโชคดีมีบุญที่ทำมาแต่ปางก่อน แต่จริงๆแล้วถ้าเข้าใจพัฒนาการเด็กก็อาจจะเลี้ยงได้แบบสนุกและทำตามอย่างที่ต้องการได้ไม่ยากเลย เด็กแต่ละวัยมีความเข้าใจและความต้องการแตกต่างกัน วัยที่มีความสำคัญมากต่ออนาคตของเด็ก และมักประสบปัญหาเรื่องพฤติกรรมบ่อยๆ คือช่วงปฐมวัย หรืออายุก่อน 6 ปี โดยเฉพาะช่วง 2-3 ขวบ เด็กจะมีอารมณ์แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและยึดเอาตัวเองเป็นสำคัญ ถ้าบอกว่าไม่ หรืออย่า จะทำทันที หรือแอบทำให้ได้ แต่ถ้าบอกให้ทำจะไม่ยอมทำเด็ดขาด ฉะนั้น คำเหล่านี้จะเป็นคำต้องห้าม ที่จะพูดกับเด็กเวลาอยากจะให้เข้าทำอะไรหรือห้ามทำอะไร

นายแพทย์อภิชัย  สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มว่า เด็กๆจะรู้สึกมีความสุข มีความภูมิใจและอยากทำ ถ้าเขาได้เป็นคนจัดการเองหรือเป็นคนที่ตัดสินใจทำด้วยตัวเอง นอกจากนี้เด็กๆจะชอบเลียนแบบสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ เช่น เห็นผู้ใหญ่นั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ เขาก็จะอยากกดคอมพิวเตอร์ด้วย เห็นผู้ใหญ่ถูบ้าน เขาก็อยากถูบ้านด้วย ฉะนั้นวิธีการสอนลูกที่ดีที่สุดก็คือเป็นตัวอย่างให้ลูกดู ไม่ใช่สอนโดยการบ่น หรือสั่ง เช่น สอนให้ลูกพูดจาไพเราะ แต่พ่อแม่เวลาลืมตัวโมโหเสียงดังแล้วพูดหยาบคาย ลูกก็คงไม่มีวันพูดจาสุภาพอ่อนหวานได้

แพทย์หญิงอินท์สุดา แก้วกาญจน์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม กล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญอย่าเอาชนะคะคานกับลูก แต่ก็ไม่ใช่ยอมลูกไปเสียทุกอย่าง เช่น ต้องพาลูกไปธุระที่ต้องแต่งตัวเรียบร้อย แต่ลูกไม่ยอม จะใส่แต่เสื้อตัวเก่งที่สีสะดุดตาลายการ์ตูนตัวโปรดไม่เหมาะกับกาลเทศะ ควรหาวิธีที่จะทำให้เหมือนลูกเป็นคนเลือกเอง แต่ตัวเลือกที่ผู้ปกครองหยิบมาให้ลูกเลือก เป็นเสื้อที่ดูแล้วเหมาะกับงานทุกตัวเลือก ลูกก็จะรู้สึกว่าลูกเป็นคนจัดการเองไม่ใช่โดนบังคับ แนะนำเคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง 3 ข้อให้ดูแลเลี้ยงลูกในวัยนี้

1) พ่อแม่และทุกคนในครอบครัวต้องคิดไว้เสมอว่าสิ่งที่เราแสดงออกนั้นเด็กๆจะมองเห็นและเรียนรู้ที่จะทำตามตลอดเวลา อย่าคิดว่าเขาเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่รู้เรื่องเด็ดขาด

2) ควรมีความสม่ำเสมอในกิจวัตรประจำวัน เช่น กินป็นเวลา นอนเป็นเวลา ระยะเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการดูหน้าจอต่างๆไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน การจะทำกิจวัตรเหล่านี้ให้ได้เป็นเวลาส่ำเสมอต้องอาศัยความแน่วแน่และความเข้มแข็งทางใจของพ่อแม่ ไม่ใช่เจอลูกอ้อน ร้องไห้หรือลูกดื้อหน่อยก็ยอมลูก แต่ก็ไม่ควรใช้อารมณ์กับลูก

3) ปรับพฤติกรรมเด็กด้วยกันเป็นทีมเวิร์คโดยทุกคนในบ้านต้องร่วมมือกันมีความเห็นตกลงไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่พ่อห้ามทำพฤติกรรมแบบนี้แต่ปู่กับย่าบอกไม่เป็นไร เด็กจะสับสนและคิดว่าเราทำอะไรก็ได้มีคนเข้าข้างแน่นอน เขาจะไม่เรียนรู้ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ท้ายนี้พ่อแม่ไม่ต้องเครียด ทำอารมณ์ให้สดชื่นเสมอ มองโลกในแง่ดีคิดเสียว่าลูกดื้อ หมายความว่าลูกเราเก่งพอที่จะมีความคิดเป็นของตัวเองแล้ว ก้าวไปสู่วัยที่โตขึ้นไปอีกก้าว

Advertisement