People Unity News : สำนักงานเศรษฐกิจการคลังสรุปรวมมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2564 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

15 ตุลาคม 2564 นายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยการพักชำระหนี้และสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ธนาคารออมสิน

  1. มาตรการพักชำระหนี้ โดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือนสำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภท สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
  2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน

2.1 สินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี ในปีแรก ปลอดชำระคืนเงิน 3 เดือนแรก และระยะเวลาผ่อนชำระ 3 – 5 ปี

2.2 สินเชื่อเคหะ วงเงินกู้รายละไม่เกิน 1,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี ในปีแรก ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 40 ปี

2.3 สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) วงเงินกู้สูงสุดร้อยละ 10 ของวงเงินกู้เดิม แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 ต่อปี ในปีแรก ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ระยะผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี

ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอสินเชื่อภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศภัยพิบัติหรือวันที่ประสบภัยพิบัติ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

  1. มาตรการพักชำระหนี้ โดยการพักชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยปรับ
  2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 3 ปี

ธนาคารอาคารสงเคราะห์

  1. สำหรับลูกค้าเดิมที่หลักประกันได้รับความเสียหาย สามารถขอรับการลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 เดือน
  2. สำหรับลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่ประสงค์ยื่นขอสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างทดแทนอาคารเดิม หรือเพื่อซ่อมแซมอาคาร วงเงินกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ในปีแรก และ MRR – 3.5 ต่อปีหรือร้อยละ 3 ในปีที่ 2 – 3
  3. ลูกหนี้มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ที่หลักประกันได้รับเสียหาย สามารถขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยใน 4 เดือนแรก และเดือนที่ 5 ถึงเดือนที่ 16 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
  4. ลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี
  5. ลูกหนี้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี ตลอดระยะเวลาคงเหลือ
  6. หลักประกันเสียหายทั้งหลังไม่สามรถซ่อมแซมได้ สามารถขอรับปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินคงเหลือเท่านั้น
  7. สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ จะพิจารณาจ่ายเงินสินไหมให้แก่ลูกค้าอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ

ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

  1. มาตรการพักชำระหนี้

1.1 สำหรับลูกค้าที่มีการกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) จะได้รับการพักชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน

1.2 สำหรับลูกค้าที่มีสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) จะได้รับพักชำระดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน

  1. มาตรการสินเชื่อฉุกเฉิน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.99 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลากู้สูงสุด ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

2.1 หากลูกหนี้มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท จะได้รับวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 5 แสนบาท

2.2 หากลูกหนี้มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได้รับวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท

2.3 หากลูกหนี้มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 5 ล้านบาท จะได้รับวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมวงเงินเดิมแล้วไม่เกิน 15 ล้านบาท

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) พร้อมให้การช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นพิเศษ โดยสามารถติดต่อสายด่วน Hotline ของ ธสน. โทร. 02 037 6099

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไรเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระ และยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ (Late charge) โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

  1. มาตรการช่วยเหลือลูกค้า SMEs สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าของ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และหนังสือค้ำประกันสินเชื่อลงวันที่ตั้งแต่ 15 ตุลาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2564 จะได้รับการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน (ถ้ามี) เป็นระยะเวลา 3 เดือน
  2. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย.

2.1 มาตรการลดค่างวด โดยการผ่อนจ่ายร้อยละ 20 หรือจ่ายขั้นต่ำ 500 บาท สูงสุด 3 เดือน และการพักดอกเบี้ยเกิดใหม่ หรือ

2.2 มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้า บสย. ที่ค้างชำระหนี้ไม่เกิน 3 เดือน โดยการพักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน และพักดอกเบี้ยเกิดใหม่

ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2564 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า ทำให้มีเงินหมุนเวียน ช่วยฟื้นฟูกิจการ รวมถึงปรับปรุงและซ่อมแซมอาคาร เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  1. ธนาคารออมสิน โทร. 02 299 8000 หรือ 1115
  2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02 555 0555
  3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02 645 9000
  4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02 265 3000 หรือ 1357
  5. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02 271 3700 หรือสายด่วน Hotline 02 037 6099
  6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02 264 3345 หรือ 1302
  7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02 890 9999

Advertising