People Unity News : “ประยุทธ์” กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยระบบอาหารโลก (Food Systems Summit 2021) ย้ำเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร พลิกโฉมระบบอาหารให้ยั่งยืน เป็นธรรม

24 กันยายน 2564 เวลา 03.15 น. (ซึ่งตรงกับวันที่ 23 กันยายน 2564 เวลา 16.15 น. ณ นครนิวยอร์ก) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยระบบอาหารโลก (Food Systems Summit 2021) ณ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

ไทยในฐานะประเทศที่มีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ตระหนักถึงความสำคัญของระบบอาหารต่อความอยู่รอดของทุกชีวิต โดยสถานการณ์โควิด-19 ช่วงที่ผ่านมาได้เผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความเปราะบางของระบบอาหาร ไทยจึงขอผลักดันให้ประชาคมโลกร่วมมือกันพลิกโฉมระบบอาหารให้ยั่งยืนและสมดุลในทุกมิติ สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

หนึ่งในโครงการที่สำเร็จด้านการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการในพื้นที่ทุรกันดาร คือ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ การพลิกโฉมระบบอาหารทั้ง 5 ด้าน ตามข้อเสนอของสหประชาชาติ สอดคล้องกับแนวทางของไทย นโยบายเกษตรและอาหาร “3S” ประกอบด้วย 1. ความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) 2. ความมั่นคง (Security) และ 3. ความยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศการเกษตร (Sustainability)

ประเทศไทยอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อการพัฒนาอย่างสมดุล ยั่งยืนและครอบคลุม ตลอดจนให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ผ่านการร่วมมือกับสหประชาชาติจัดตั้ง “วันดินโลก” และร่วมกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มอบรางวัลให้แก่ ประเทศ องค์กร หรือบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาหรือจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคีเครือข่ายภายในและระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบอาหารโลก นำไปสู่การพลิกโฉมระบบอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ FoodSystems4SDGs ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อนึ่ง การเข้าร่วมการประชุมฯ ร่วมกับประมุขของรัฐ ผู้นำรัฐบาล และหัวหน้าคณะตัวแทนจากประเทศต่างๆ เป็นโอกาสให้ไทยที่ได้นำเสนอแนวคิดในการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารให้มีความยั่งยืน เป็นธรรม และดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น ตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภค และแสดงความมุ่งมั่นในการเป็น “ครัวของโลก ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ร่วมกับนานาประเทศขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี ค.ศ.2030

Advertising