People Unity News : นายกรัฐมนตรีย้ำบอร์ดอีอีซี เน้นกระจายการลงทุนในพื้นที่ EEC ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก เชื่อมโยงทุกระเบียงเศรษฐกิจในประเทศสู่สากล

เมื่อวานนี้ (1 มี.ค.64) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บรูพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2564 โดยภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ก็มีความก้าวหน้าการเตรียมพื้นที่โครงการ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค เร็วกว่าเป้าหมาย

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC เพื่อติดตามความก้าวหน้ามีผลปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด – 19 ขณะนี้มีการลงทุนในด้านต่างๆกว่าร้อยละ 50 วันนี้มีประเทศญี่ปุ่น จีน เนเธอร์แลนด์และอีกหลายประเทศกำลังสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกด้วย ทั้งอุตสาหกรรมดิจิตอล 5G ที่ไทยทำได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยมีการลงทุนในโครงสร้างและมีการใช้งานแล้วในอำเภอบ้านฉาง รวมทั้งเตรียมพร้อมระบบ Cloud และระบบต่างๆสำหรับภาคอุตสาหกรรม ได้มีการใช้แพลตฟอร์มต่างๆด้วย เพื่อลดภาระต้นทุน สนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังกำชับให้ดูแลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องส่งมอบให้กับการดำเนินการสาธารณูปโภคพื้นฐาน พร้อมย้ำรัฐบาลเผชิญหน้าอุปสรรคและเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำแนวทางสำคัญในการสร้างความสมดุลการลงทุน เน้นเปิดกว้างให้เกิดการกระจายการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความรู้ ดึงความชำนาญและนวัตกรรมจากทั่วโลก โดยเฉพาะการลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อยกระดับการพัฒนา ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับนักลงทุนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ Startup ไทยที่มีศักยภาพ เพื่อให้เม็ดเงินถูกดึงออกมาใช้ลงทุนช่วยแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งทุกโครงการต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส  มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้ EEC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมทุก 1-3 เดือน เพื่อให้นักลงทุนต่างๆ และประชาชน รับทราบถึงการลงทุนในระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะอีอีซีเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย

สำหรับการประชุมบอร์ดอีอีซีวันนี้ ยังได้รับทราบความคืบหน้าโครงการ EFC ขับเคลื่อนห้องเย็นทันสมัย ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีห้องเย็นที่ทันสมัยสำหรับผลไม้ อาทิ ทุเรียน และอาหารทะเล โดยตั้งเป้าสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 – 30 สร้างรายได้ดีต่อเนื่องให้เกษตรกร รวมทั้งความก้าวหน้าพัฒนา 5G ในอีอีซี ก้าวสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านสัญญาณ ด้านข้อมูลกลาง จะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) รวมทั้งการผลักดันให้บ้านฉางเป็นต้นแบบชุมชนอนาคต (Smart city) ทั้งการใช้เทคโนโลยี 5G ดิจิทัลเพื่อการเกษตรอัจฉริยะ และการดูแลสุขภาพชุมชน  ร่วมมือพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) แหลมฉบังด้วย

Advertising