People Unity News : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือสภาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ลุยบัณฑิตอาสาอุดรธานี นำร่อง ”บ้านห้วยสำราญ” แหล่งปลูกไม้ดอกใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน “ยกระดับเกษตรพื้นบ้าน สู่เกษตรปลอดสาร มาตรฐาน GAP”

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ลงพื้นที่เพื่อประชุม “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ร่วมกับมหาวิทยาลัย ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นโยบายและชี้แจงถึงความจำเป็นในการปลดล็อคมหาวิทยาลัย เพื่อปรับลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยตามกลุ่มยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) มหาวิทยาลัยที่จะต้องไปแข่งขันระดับโลก 2) มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 3) มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์และพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Economic Model โดยอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับงบประมาณทุนวิจัยของมหาวิทยาลัย และโครงการต่างๆของ อว. ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

จากนั้น ดร.สุวิทย์ ได้ประกาศเจตนารมณ์การสร้างคนผ่านโครงการยุวชนสร้างชาติ ว่า โครงการยุวชนสร้างชาติ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นโครงการสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทยเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้ยุวชนนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีไปพัฒนาพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคใหม่อีกด้วย โครงการยุวชนสร้างชาติ ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการยุวชนอาสา : สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) เรียนรู้และพักอาศัยในชุมชนเป็นเวลา 1 ภาคเรียน (4-5 เดือน) และได้รับหน่วยกิตเทียบเท่าการเรียนในชั้นเรียนทั้งภาคเรียน 2.โครงการบัณฑิตอาสา : สำหรับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) ลงพื้นที่พักอาศัยและทำโครงการในชุมชนเป็นระยะเวลา 12 เดือน และ 3.โครงการกองทุนยุวสตาร์ทอัพ : สำหรับนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ที่มีความสนใจเป็นผู้ประกอบการ และต้องการรวมกลุ่มกันจัดตั้งสตาร์ทอัพ (Startup)

ต่อมา ดร.สุวิทย์ ได้นำคณะผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่สู่เส้นทางยุวชนสร้างชาติบัณฑิตอาสาอุดรธานี พื้นที่นำร่องบ้านห้วยสำราญแหล่งปลูกไม้ดอกใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ต.หนองไฮ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ภายใต้กิจกรรม “ยกระดับเกษตรพื้นบ้าน สู่เกษตรปลอดสาร มาตรฐาน GAP” ซึ่งบ้านห้วยสำราญ เป็นแหล่งผลิตไม้ดอกเพื่อการท่องเที่ยว ซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่มีปัญหาพันธุ์ไม้ดอกกลายพันธุ์ โรคโคนเน่า ใบแห้ง การระบาดของแมลงเพลี้ยไฟ ขาดแรงงาน ระบบน้ำในแปลงไม่ทั่วถึง มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมากและเกษตรกรไม่ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบของการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ทั้งยังมีต้นทุนการผลิตสูง ถูกกดราคา ขาดการวางบแผนการผลิต สินค้าล้นตลาด รวมกลุ่มไม่ได้ ตลาดชุมชนไม่เป็นระบบ มีปัญหาด้านการจัดการขยะมูลฝอย

ดร.สุวิทย์ เปิดเผยว่าหลังการเยี่ยมชมว่า บ้านห้วยสำราญจะเป็นโครงการนำร่องที่จะนำบัณฑิตอาสาลงมาแก้ปัญหา อาทิ โครงการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต การแปรรูป การตลาด และยกระดับภาคเกษตรสู่เกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น โดยทุกโครงการจะมุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นระบบภายใต้ศักยภาพและปัญหาที่สำคัญของแต่ละพื้นที่ เน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสำคัญ โดยที่บ้านห้วยสำราญ อว.จะร่วมกับสภาอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยพื้นที่ขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ โดยมีบัณฑิตอาสาเป็นฟันเฟืองในการทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

ด้าน นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (สอก.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็น Service Organization เพื่อให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย และเชื่อมโยงความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ด้วยสภาฯเรามีเครือข่ายเชื่อมโยง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม  12 คลัสเตอร์ และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ให้บริการผู้ประกอบการสมาชิกของสภาอุตสาหกรรม ทั้งบริษัทใหญ่ และ SME นอกจากนี้ในส่วนกลาง เรายังมีสถาบันต่างๆให้บริการช่วยเหลือผู้ประกอบการเฉพาะด้านด้วย ในส่วนของตนจะดูแลอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ที่ช่วยเหลือสนับสนุนทั้งนโยบายภาครัฐ และแนวทางตลาดของเอกชน ทำงานบูรณาการงานจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการสภาอุตสาหกรรมฯ  ที่ผ่านมาเราได้ทำงานช่วยเหลือพัฒนาผู้ประกอบการภาคเกษตร พัฒนาสู่การเกษตรนักธุรกิจเกษตร ยกระดับการเกษตร ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม เชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ใช้แนวทางการตลาดนำการผลิต เชื่อมโยงความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร ให้กับการเพาะปลูกของเกษตรกร รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศ และการส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งการดำเนินงานโครงการยุวชนสร้างชาตินี้ ที่มุ่งเน้นการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อประโยชน์แก่พื้นที่นี้ เป็นแนวคิดที่เยี่ยมมาก และสามารถทำให้เห็นผลได้จริงต่อยอดให้ยั่งยืนได้  ทางสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็พร้อมและยินดีที่จะสนับสนุนให้เกินการพัฒนายกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ เราจึงได้เสนอ การพัฒนายกระดับเกษตรพื้นบ้าน สู่เกษตรปลอดสาร มาตรฐาน GAP ในพื้นที่บ้านห้วยสำราญนี้ เพื่อพัฒนาสร้างรายได้ และแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมี สร้างความรู้ สร้างโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปลดล๊อคการตลาดที่ผูกขาด เชื่อมจากฟาร์มไปสู่ผู้บริโภค เรายินดีและพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานครั้งนี้ ร่วมสร้างความเข้มแข็ง สร้างความเติบโต พัฒนาสู่ความยั่งยืน

โฆษณา