People Unity : ศุลกากร เผยมาตรการเร่งด่วน แก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก

4 กรกฎาคม 2562 : นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าวเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย

นายกฤษฎา กล่าวว่า  จากเดิมจีนเป็นประเทศที่นำเข้าเศษขยะรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ (พิกัด 84 และ 85 ที่มีการกำหนดรหัสสถิติเป็น 800 และ 899) และเศษพลาสติก (พิกัด 3915) ต่อมาจีนเริ่มมีนโยบายในการห้ามการนำเข้าเศษขยะหลายชนิด ประกอบกับผลการประชุมสนธิสัญญาบาร์เซล (Basel Convention) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีมติให้เพิ่มความเข้มงวดของชนิดขยะที่สามารถนำเข้าส่งออกระหว่างกันได้ รวมทั้งต้องได้รับความยินยอมในการนำเข้าจากประเทศปลายทางด้วย ส่งผลให้ประเทศอุตสาหกรรม เช่น ประเทศญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป เปลี่ยนจุดหมายการส่งออกเศษขยะมายังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ซึ่งทำให้มีการนำเข้าเศษขยะมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มมีมาตรการตอบโต้การนำเข้าเศษขยะ โดยเฉพาะเศษพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ห้ามหรือลดการนำเข้าเศษพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับกรณีขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยนั้น ผู้นำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนการนำเข้า แต่เนื่องจากคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2561 มีมติให้ระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอนุสัญญาบาเซล ทำให้เหลือผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าเพียง 1 รายเท่านั้น นอกจากนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 มีมติเห็นชอบมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้วเข้ามาในประเทศ โดยได้อนุมัติร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดและแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่จะทำมาใช้ในโรงงาน พ.ศ. …. เพื่อกำหนดนิยามและข้อห้ามไม่ให้โรงงานใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตของโรงงาน พร้อมมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดการออกประกาศห้ามนำเข้าซึ่งสินค้าอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้วที่จะนำมาถอดแยก เพื่อนำโลหะกลับมาใช้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา มีการลดโควตาการนำเข้าของเศษพลาสติกจากหลายแสนตัน เหลือเพียง 70,000 ตัน เท่านั้น จากข้อมูลสถิติการนำเข้าของขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการนำเข้าเศษพลาสติก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบันของประเทศไทย พบว่ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมีแนวโน้มลดลงในปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากมีการควบคุมการนำเข้าอย่างเข้มงวดจากภาครัฐ

อย่างไรก็ดี คาดว่าความต้องการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศยังคงมีอยู่ และอาจมีการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ ซึ่งจากข้อเท็จจริงดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และมีแนวโน้มในการนำเข้าโดยไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน กรมศุลกากรจึงมีมาตรการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้

1.กรมศุลกากรได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์เกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ดำเนินการติดตาม กำหนดเป้าหมายต้องสงสัยที่จะกระทำความผิดทางศุลกากร และเข้าตรวจสอบเพื่อติดตามและขยายผลอย่างต่อเนื่อง

2.สั่งการให้ กอง สำนักงาน และด่านศุลกากรทุกแห่ง เข้มงวดในการตรวจสอบของประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก หรือของที่มีการสำแดงพิกัด หรือมีรูปลักษณ์ ใกล้เคียงกับขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเพื่อป้องกันการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงทางศุลกากร

3.กรณีที่ตรวจพบการกระทำความผิดทางศุลกากรที่เกี่ยวกับของประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก กรมศุลกากรจะดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป โดยไม่เปรียบเทียบงดการฟ้องร้องในชั้นศุลกากร

ทั้งนี้ ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ถึง 2562 กรมศุลกากรสามารถจับกุมคดีลักลอบและหลีกเลี่ยงนำเข้าเศษพลาสติกได้ทั้งสิ้น 103 คดี คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 17.5 ล้านบาท (น้ำหนักรวม 4,043 ตัน) โดยในปีงบประมาณ 2561 จับกุมได้ถึง 86 คดี คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 14.5 ล้านบาท (น้ำหนักรวม 3,664 ตัน) และในปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561 – พฤษภาคม 2562) สามารถจับกุมได้แล้วถึง 17 คดี คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3 ล้านบาท (น้ำหนักรวม 379 ตัน)

สังคม : ศุลกากรเอาจริงส่งดำเนินคดีทุกรายลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-เศษพลาสติก

People Unity : post 5 กรกฎาคม 2562 เวลา 10.20 น.